Image

“เมื่อชนชั้นนำไม่ยอมปรับเปลี่ยน
นี่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าขึ้นเรื่อย ๆ” 
รองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ

Future

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ณภัทร เวชชศาสตร์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ภาพถ่ายเก่าปี ๒๕๕๐ / เนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙

งานวิชาการ
ใต้รัฐบาลประชาธิปไตย 
VS ทหาร

สิทธิเสรีภาพคือสิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลเผด็จการไม่ว่าที่ไหนบนโลก ไม่อยากให้สื่อหรือนักวิชาการมีเสรีภาพมาก ขณะที่รัฐบาลประชาธิปไตย จริง ๆ ก็อาจมีการควบคุม แต่ไม่สามารถจำกัดเสรีภาพได้เหมือนรัฐบาลทหาร เพราะถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทรกแซงสื่อหรือนักวิชาการ ก็โดนประชาชนด่า อย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ เขาก็ชอบออกมาทะเลาะกับนักวิชาการ อย่างมากก็โต้คารม ไม่เหมือนรัฐบาลทหารที่ข้ามเส้นเสรีภาพ เช่น ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย เรียกไปปรับทัศนคติ หรือไม่ก็มาอุ้มหรือยุติงานเสวนา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในรัฐประหารปี ๒๕๕๗ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผมเคยโดนตอนไปเป็นวิทยากรในงานที่นักศึกษาจัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ตอนนั้นเป็นช่วง ๕-๖ เดือนแรกหลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ พองานเริ่มได้ไม่กี่นาที อยู่ดี ๆ ทหารก็บุกเข้ามาบริเวณที่เราจัดงานเสวนา เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นตำรวจและทหารบุกเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมแจ้งให้ยุติ เราไม่ยอม สุดท้ายเขาดึงปลั๊กออก ทำให้ไมโครโฟนและเครื่องเสียงใช้ไม่ได้ แล้วไล่ทุกคนกลับบ้าน เป็นการใช้อำนาจที่ค่อนข้างอุกอาจมาก ในชีวิตการเป็นอาจารย์ของผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ หลังจากนั้นเขาพาผมไปสถานีตำรวจพร้อมอาจารย์ท่านอื่น ๆ ถูกสอบสวน ๕-๖ ชั่วโมง กว่าจะได้รับการปล่อยตัว

รองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิ่งเหล่านี้ยังสืบทอดถึงทุกวันนี้ เราเห็นนายกฯ หรือทนายนายกฯ พยายามควบคุมสื่อ ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของเหล่าดารา นักแสดง ทหารกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ เขาต้องการให้ความจริงมีชุดเดียว ต้องการควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต่างจากเกาหลีเหนือ

๑๕ ปี การเมืองไทย

สิ่งที่เรากำลังเผชิญคือการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างร้าวลึก (deep polarization) ที่ทำให้คนแบ่งแยกเป็นสองฝั่ง มีความคิดและอุดมการณ์ รวมถึงความฝันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถบรรจบกันได้ ช่องว่างนี้ห่างขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดเสถียรภาพ และยากจะหาพื้นที่ตรงกลาง แม้จะมีรัฐธรรมนูญหรือกฎกติกาก็ไม่อาจตกลงกันได้

ไม่น่าแปลกใจที่ช่องว่างทางอุดมการณ์นี้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในโครงสร้าง เราเลยเห็นการเมืองบนท้องถนน อย่างในสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือในอังกฤษก็มีเรื่อง Brexit ซึ่งประเทศที่มาติดกับดักนี้มีปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแปลงของสื่อ อย่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงก็จะมีความแตกแยกสูง อย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษถึงจะมีความเจริญก็จริง แต่มีความเหลื่อมล้ำสูง  ขณะฝั่งสแกนดิเนเวีย สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น รัฐสวัสดิการตอบโจทย์ผู้คน ทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่สูงมาก ส่งผลให้การเมืองไม่แตกแยกมาก

อีกปัจจัยที่มีส่วนเร่งปฏิกิริยาคือการเปลี่ยนแปลงของสื่อ การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้คนรับรู้ข่าวสารมากขึ้นและเร็วขึ้น ซึ่งแน่นอนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ เรามีเสรีภาพมากขึ้น มีทางเลือกในการรับสาร แต่ถ้าเราไม่ประคับประคองให้ดีก็ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอันร้าวลึกได้ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก

ในเมื่อโลกอินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่าย ทุกคนใช้ได้ ประชาชนใช้ได้ รัฐบาลก็ใช้ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างหนังสารคดีที่สะท้อนออกมาได้ดีคือเรื่อง The Social Dilemma กล่าวถึงปัจจัยของสื่อที่ส่งผลให้ความคิดของคนตกเข้าไปอยู่ในฟองสบู่ (bubble) หรือพื้นที่แห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) ซึ่งสมัยนี้สื่อมีบทบาทมากขึ้น ด้วยทุกคนมีเสรีภาพมากขึ้นในการเข้าถึงข้อมูล  มันยากที่รัฐจะควบคุมได้เบ็ดเสร็จ เว้นแต่จะปิดประเทศ เมื่อปัจจัยดังกล่าวบรรจบกันก็ไม่แปลกที่จะเร่งให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างร้าวลึกในสังคมต่าง ๆ ในประเทศไทยเราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๕๐ อย่างการแบ่งแยกของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งสื่อเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

“วิกฤตการณ์โควิดเป็นบทเรียนให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้วการเมืองที่ดีที่สุดจะต้องเห็นคุณค่าของชีวิตคน รัฐเป็นสิ่งนามธรรม เข้ามาแล้วก็จากไป เขามีหน้าที่เข้ามาอยู่ในอำนาจและทำงานรับใช้ประชาชน”

Image

ยิ่งกว่านั้นมุมมองเชิงเศรษฐกิจก็สะท้อนให้เห็นว่าในรอบ ๑๕ ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำแย่ลง คนจนมาก ๆ กับคนรวยไม่มีทางต้องการนโยบายที่เหมือนกัน ผลประโยชน์ต่างกันราวฟ้ากับเหว คนจนย่อมต้องการรัฐสวัสดิการที่ตอบโจทย์ชีวิตเขา ซึ่งก็แลกมาด้วยการที่ชนชั้นกลางและคนรวยต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะยอมรับ คนรวยไม่อาจจินตนาการได้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนจน โดยเฉพาะช่วงโควิด บางคนมีบ้าน มีห้อง มีที่ออกกำลังกาย ก็ได้แต่พร่ำบ่นว่าทำไมคนไม่ยอมกักตัวที่บ้านขณะหลายครัวเรือนยังหาเช้ากินค่ำ ออกมาซื้ออาหารกินเอง

ประเทศไทยเราแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองแบบผิดทางมาตลอด ถึงแม้ปัจจัยต่าง ๆ จะมีส่วน แต่ถ้าเราออกแบบกฎกติกาที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งก็คงไม่เลวร้ายขนาดนี้ 

การทำรัฐประหารถึงสองครั้งภายในเวลาไม่ถึง ๑ ทศวรรษยิ่งทำให้เราตกลงไปในวงจรอุบาทว์ ในเมื่อไม่มีการสู้กันภายใต้กติกา มันจึงเกิดการแตกแยกที่ร้าวลึกจนถึงทุกวันนี้

ความเคลื่อนไหว
ในสองขั้วการเมือง

ธรรมชาติของฝั่งซ้ายคือมีความเป็นอิสรเสรีสูง เนื่องจากธรรมชาติขบวนการฝ่ายซ้ายต้องการความเป็นประชาธิปไตยสูง ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้ ถ้ามีใครมาผูกขาดความคิดก็จะเป็นเผด็จการในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นขบวนการฝ่ายซ้าย ทั่วโลกจึงแตกแยกง่าย เพราะไม่ได้ทำงานบนฐานที่ว่ามีผู้นำมาสั่ง จะเห็นความเคลื่อนไหวในปัจจุบันเป็นแนวราบ คือแตกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ซึ่งต่างจากสมัยก่อน ถ้าเขาเห็นไม่ตรงกันก็แตกเป็นกลุ่มใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรเดียว เพราะไม่ต้องการถูกครอบงำ

แต่บางทีก็เป็นจุดอ่อน คือขาดความเป็นเอกภาพ ยิ่งถ้าไม่มีวัฒนธรรมการคุยกันที่ดีอาจก่อให้เกิดเผด็จการทางความคิดแล้วถ้าไปผิดทางแล้วทุกคนตามกันหมดก็อาจพากันลงเหวแต่ถ้าไปได้ดีก็เกิดการเรียนรู้ทางการเมือง (political learning) ซึ่งความเคลื่อนไหวไม่ได้สำเร็จภายใน ๖ เดือนหรือปีหนึ่งมันใช้เวลา สุดท้ายเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าการทำงานร่วมกันแบบไหนถึงดีที่สุด และตกตะกอนว่าควรใช้วิธีอะไรเพื่อหาแนวร่วม

ทั้งหมดทั้งปวงต่างจากฝ่ายขวาที่ยึดคุณค่าหลักคือความสามัคคี เวลาฝ่ายขวาเคลื่อนไหวจะมีผู้นำชัดเจน ทุกคนต้องเคารพการตัดสินใจของผู้นำ ด้วยวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมจึงเคลื่อนไหวเป็นเอกภาพ ความแตกแยกน้อย

ความเป็ นไปได้
ของความรุนแรง

หากมองความรุนแรงจากอดีตตั้งแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มันก็เหี้ยมโหด ซึ่งคนสมัยนั้นก็คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่ต่อมาก็มีพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ คนรุ่นนั้นก็คิดว่าจะไม่เจออีก จนกระทั่งล้อมปราบคนเสื้อแดงปี ๒๕๕๓ ซึ่งจริง ๆ จำนวนผู้เสียชีวิตครั้งนั้นสูงสุดนับตั้งแต่การชุมนุมที่ผ่านมา สะท้อนว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้เลย มีคนเสียชีวิตมากขึ้น ต่างจากช่วงปี ๒๕๑๙ ที่สู้รบกันในป่าเขา ยังไม่มีสื่อมากมายเหมือนตอนล้อมปราบคนเสื้อแดง ที่ถึงแม้จะมีสื่อเข้ามาดูก็ยังมีเหตุการณ์กราดยิงที่กรุงเทพฯ

ถ้าจะตอบคำถามนี้ผมก็ตอบว่าไม่เคยประมาทและไม่เคยดูเบา เพราะมีความเป็นไปได้ ถ้ารัฐรู้สึกไม่มั่นคง ถูกท้าทายจนสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ เขาก็ไม่มีเครื่องมือในมือเหลือแล้ว นอกจากใช้กำลังความรุนแรง

Image

การเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็เริ่มมีความรุนแรงเกิดขึ้น สะท้อนว่าแม้แต่เด็กรัฐก็ไม่ยั้งมือ แม้จะไม่รุนแรงเหมือนสมัยก่อน เพราะตอนนี้รัฐคิดว่าคุมอยู่ แต่ถ้าในอนาคตถึงจุดตึงเครียดมาก ๆ แล้วผู้นำรัฐจะหลุดออกจากอำนาจ เราก็อาจเห็นการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อให้เขารักษาอำนาจไว้ได้

การปฏิรูปกองทัพ
และสถาบัน

จริง ๆ แล้วต้องเริ่มจากรัฐจากผู้นำก่อน ในอดีตผู้ที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงที่สุดคือรัชกาลที่ ๕ สิ่งที่พระองค์ทรงทำคือการปฏิรูปสถาบันของพระองค์เอง เพราะทรงรู้ว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ ซึ่งเป็นความสำเร็จของรัชกาลที่ ๕ และสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรปี ๒๔๗๕ เพราะไม่เกิดการสานต่อการปฏิรูปสถาบันในรัชกาลรุ่นต่อมา

หากมองในเชิงกองทัพ ทหารมีการปฏิรูปตัวเองในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยุคหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เพราะในกระแสโลกคนไม่ต้องการทหารปกครองแบบเบ็ดเสร็จอีกต่อไป เป็นที่มาของสูตรประชาธิปไตยครึ่งใบ คือให้พื้นที่ประชาชนหรือภาคธุรกิจมีส่วนร่วมด้วย

แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีสัญญาณการปฏิรูปเลย ทั้งที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจมากว่า ๗ ปี นานพอที่จะดูว่าประเทศพัฒนาขึ้นไหม บอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน ท้ายสุดประชาชนมีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า และถ้าจะฝืนต่อจะทำให้แย่ลงไหม

วัดกันตรงนี้ว่าจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เป็นรัฐบุรุษ หรือเป็นทรราชที่โดนขับไล่ เพราะตอนนี้อำนาจก็ผูกขาด เศรษฐกิจก็ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนจำนวนน้อย สื่อก็กำลังถูกผูกขาดความคิดของคนเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เมื่อชนชั้นนำไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรเลย นี่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าขึ้นเรื่อย ๆ

การเมือง
หลังวิกฤตการณ์
โควิด-๑๙

การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เวลาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงเราอาจมองเป็นทศวรรษ แต่ในยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ ความเปลี่ยนแปลงจะมาเร็วมากกว่านี้

โควิด-๑๙ เปรียบเหมือนอุกกาบาตลูกใหญ่ที่ตกมากระแทกเปลือกเปลือยให้เราเห็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ความเหลื่อมล้ำเผยให้เราเห็นทันตาโดยนักวิชาการไม่จำเป็นต้องเอาตัวเลขมาเปิดให้ดู  เราเห็นคนต่อคิวรอรับอาหาร เห็นความเละเทะของระบบราชการที่แม้จะมีวิกฤตขนาดนี้ก็ยังทำงานไม่ประสานกัน เราเห็นภาคการเมืองที่เป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ที่ไม่เหมาะกับวิกฤตแบบนี้ มันเผยให้เราเห็นจุดอ่อนทุกอย่าง

สภาวะที่คนรู้สึกมาก ๆ คือการที่ชนชั้นปกครองไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา เราไม่เห็นคำขอโทษ ไม่เห็นการออกมาทำงาน ๗ วัน พวกเขายังทำงานแบบเดิมคือจันทร์ถึงศุกร์ เราไม่เห็นความเร่งด่วนในการจัดการวิกฤต ไม่เหมือนตอนปราบผู้ชุมนุมอย่างปี ๒๕๕๓ ที่มีแถลงทุกเช้าเย็น มีถ่ายทอดการประชุมถึงแผนปฏิบัติการของ ศอฉ. ตอนนี้เราเห็นคนตายแต่คุณกลับไม่เห็น

สภาวะหลังโควิด คนต้องการความเปลี่ยนแปลง ยังไงก็ต้องออกมาเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่า ณ ตอนนี้คุณจะชอบหรือไม่ชอบ คุณได้รับผลกระทบหมดจากการบริหารงานของรัฐบาล

วิกฤตการณ์โควิดเป็นบทเรียนให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้วการเมืองที่ดีที่สุดจะต้องเห็นคุณค่าของชีวิตคน รัฐเป็นสิ่งนามธรรม เข้ามาแล้วก็จากไป เขามีหน้าที่เข้ามาอยู่ในอำนาจและทำงานรับใช้ประชาชน ความปลอดภัยของประชาชนคือหน้าที่พื้นฐานของรัฐ

อยากฝากไว้ว่าอย่าไปถึงขั้นบูชารัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งไว้เหนือกว่าประ-ชาชนร่วมชาติ ชีวิตประชาชนต้องมาก่อน และการเมืองที่เห็นคุณค่าของชีวิตประชาชนนี่แหละควรเป็นการเมืองที่เราสร้างให้เกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งซ้ายหรือขวา ซึ่งสิ่งนี้ควรจะสำคัญมากกว่าตัวรัฐบาลหรือผู้นำที่คุณเชียร์

วันสัมภาษณ์ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔