“ผมอยากให้ทศวรรษนี้
เป็นทศวรรษของความเปลี่ยนแปลง”
เพนกวิน- พริษฐ์ ชิวารักษ์
New Gen
เรื่องและภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
เป็นเวลากว่า ๑ ปีที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งนำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่แค่การลงถนนอย่างที่ผ่านมา และไม่ใช่เเค่การท้าทายต่ออำนาจของรัฐบาลอย่างที่เคยเป็น แต่เป็นการออกมาพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และปัญหาเชิงโครงสร้างบนเวทีปราศรัยที่รายล้อมด้วยผู้คนกว่า ๑,๐๐๐ คน
“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร เป็นหนึ่งในคนที่ได้ออกมาสร้างปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้เล่าถึงเส้นทางที่เดินมาจากเริ่มต้นถึงปัจจุบัน
๑/ ความสนใจ
ในสมัยเด็กผมอาศัยอยู่ที่ลำปาง คุณปู่คุณย่าชอบเปิดข่าวสารบ้านเมือง ผมก็เป็นหนุ่มน้อยตาใสนั่งฟังด้วย เท่าที่จำความได้คือข่าวใหญ่ตอนรัฐประหารปี ๒๕๔๙ แล้วโรงเรียนก็หยุด ไม่ได้ไปโรงเรียน ผมถามที่บ้านว่าทำไมหยุด เขาก็บอกว่าทหารเข้ามาปกครอง เราก็ไม่เข้าใจ หลังจากนั้นไม่นานผมย้ายจากลำปางเข้ากรุงเทพฯ ทำให้ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น ติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น
ส่วนตัวแล้วชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ ผมเริ่มเห็นคำว่าสิทธิ เสรีภาพ ช่วงนั้นเราได้เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะปี ๒๕๕๐ ม็อบพันธมิตรฯ ที่มีการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา พอปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ก็มีม็อบคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังใจผมอยู่ทุกวันนี้นะ
จำได้ว่าบอกพ่อว่าอยากรู้บรรยากาศม็อบ พ่อก็พาผมไปดู วันนั้นเป็นวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงไปกรมทหารราบที่ ๑๑ เห็นคนมาร่วมเยอะแยะ แต่ไปได้แป๊บเดียวพ่อก็พากลับ มีวันหนึ่งที่ไปโรงพยาบาล ตอนออกมามีพี่น้องคนเสื้อแดงมาชุมนุม ป้า ๆ ที่มาร่วมก็แจกตีนตบให้สองอันและผ้าโพกหัวหนึ่งอัน พอกลับถึงบ้านซึ่งอยู่ชานเมืองก็เห็นกลุ่มควันในกรุงเทพฯ ก็ถามพ่อว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อบอกมีการสลายการชุมนุม ผมไม่รู้ว่าสลายการชุมนุมหมายถึงอะไร เหมือนกับที่ครูไล่นักเรียนกลับบ้านหรือเปล่า แต่พอโตมาผมก็รู้ว่าวันนั้นมีคนถูกยิง มีคนเสียชีวิต อดคิดไม่ได้ว่าคนที่ให้ตีนตบกับผ้าโพกหัวแก่ผมวันนั้น วันนี้ไม่รู้ว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไรบ้าง
ระหว่างนั้นผมไปกลับลำปางอยู่บ่อยครั้ง เคยดูรายการ “ความจริงวันนี้” ที่มีพี่ตู่ (จตุพร พรหมพันธุ์) และพี่เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) เป็นพิธีกร ก็เห็นว่าตามต่างจังหวัดคนติดตามการเมืองค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มีความเคลื่อนไหวอีกครั้งคือม็อบ กปปส. ตอนปี ๒๕๕๖ และเกิดการรัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี ๒๕๕๗
ผมโตมาในบรรยากาศแบบนี้ ก็คิดว่าในเมื่อชีวิตของคนในวัยผม คือทศวรรษแห่งความขัดแย้ง ผมก็อยากให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษของความเปลี่ยนแปลง
“ผมอยากให้ประเทศเป็นที่ให้ความหวังกับทุกคน เป็นบ้านที่มีข้าวให้คนกิน มีรัฐสวัสดิการให้คนใช้”
๒/ จุดเริ่มต้น
ปี ๒๕๕๘ ผมเข้ามาเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นที่จุดประกายให้ผมอยากจะสู้ มันเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ คือมีปัญหากับอาจารย์ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน จำได้ว่าในวิชาหนึ่งเรียนเรื่องทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย อาจารย์บอกว่ารัฐบาลต้องส่งเสริมเกษตรกรมากกว่านี้ ให้ประเทศเป็นประเทศเกษตรกรรม ตอนนั้นผมเห็นแย้งว่าประเทศไทยควรส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมมากกว่า เพียงเพราะอยากแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ผมกลับโดนอาจารย์ตำหนิว่าไม่นึกถึงบรรพบุรุษบรรพชนที่ทำนาปลูกข้าวมาตั้งนาน และผมก็โดนด่าว่าเป็นเด็กใจต่ำ ซึ่งตั้งแต่เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะโดนด่าว่าใจต่ำมาก่อนก็เลยฝังใจ
ช่วงนั้นผมเข้าไปร่วมกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและเริ่มจัดกิจกรรมขึ้นในโรงเรียน ผมจัดเสวนาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ประชาธิปไตยในโรงเรียน มีพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) มาร่วมด้วย แต่สถานการณ์เป็นช่วงหลังการจับกุม ๑๔ นักศึกษา ทหารก็โผล่มา เรียกผมไปคุยทั้งที่เพิ่งอยู่ ม. ๕ สวมกางเกงขาสั้น เสื้อนักเรียน ทหารก็ดูจะไปไม่เป็นและท่าทีนุ่มลง บอกผมว่าขอให้จัดงานเบา ๆ
แต่พอถึงวันงานจริง ทหารไม่ได้มา เป็นตำรวจมาแทน ผมโดนค้นตัวโดยผู้กำกับฯ ผมก็งงว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ ผมเป็นแค่นักเรียน ม. ๕ จัดเสวนาแค่นั้นเอง ผมก็ยิ่งฝังใจ จนตัดสินใจข้ามสะพานครั้งใหญ่ คือเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๘ ในวันที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาปาฐกถาในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ พอปาฐกถาจบพลเอกประยุทธ์ก็ถามคนที่มาร่วมว่าใครมีคำถามไหม ผมจึงยกมือและชูป้ายที่เตรียมมาเพื่อถามคำถามเรื่องวิชาหน้าที่พลเมืองและการบังคับให้นักเรียนท่องค่านิยม ๑๒ ประการ ซึ่งท้ายสุดผมโดนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหิ้วตัวออกไปและคุมตัวที่โรงพักไว้ครึ่งวันก่อนจะปล่อยตัว
ผมกระโดดแล้ว เหมือนข้ามไปอีกฝั่งแล้ว ผมตัดสินใจไปแล้วและเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต ผมไม่สามารถไม่สนใจการเมือง ไม่สามารถจะไม่สู้ ผมคิดว่าผมเลือกที่จะสู้ให้ถึงที่สุดดีกว่า เพราะผมไม่อยากมาเสียใจแล้วบอกตัวเองว่ารู้อะไรไม่สู้รู้งี้
๓/ ปราศรัย
โดยปรกติแล้วผมไม่ค่อยขึ้นปราศรัย ผมชอบจัดเวทีมากกว่าแต่เมื่อสถานการณ์จำเป็น เพราะยังไม่มีคนกล้าเปิดหน้าแล้วถูกดำเนินคดี ก็จำเป็นที่ผมจะต้องพูด ยอมรับว่าไม่ใช่คนพูดเก่ง แต่ก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ผมปรึกษากับคนที่เป็นนักพูด นักสู้ เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันให้คำแนะนำ จึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาจนถึงทุกวันนี้
อีกคนที่อยากให้เครดิตคือ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ เขาเป็นคนที่พูดแล้วน่าฟัง ทำให้ผมเปลี่ยนจากการด่าอย่างเดียวมาใส่โครงเรื่องมากขึ้น คือก่อนหน้านั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องสุภาพกับเผด็จการ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจำฝังใจคือตอนที่หนึ่งในแกนนำเสื้อแดง (ไม่ประสงค์ระบุนาม) บอกว่าสิ่งที่เขาพูดตอนชุมนุมพี่น้องเสื้อแดงไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่ เขาไม่ได้เรียนมาเยอะ ขณะที่กวิ้นเรียนมา กวิ้นก็ควรใส่เนื้อหาสาระมากกว่าที่เขาเคยทำ ผมจึงคิดว่าในเมื่อตำนานที่มีอิทธิพลพูดกับผมแบบนี้ ผมก็พยายามเต็มที่ที่จะพูดให้ดีที่สุด เพื่อชนชั้น เพื่ออุดมการณ์ร่วมกัน
๔/ ดันเพดาน
ผมอยากให้มองว่าสมมุติในห้องมีคนอยู่ ๑๐ คน มี ๑ คนชอบประยุทธ์ในขณะที่อีก ๙ คนไม่ชอบ แต่ไม่พูด แต่พอมี ๑ คนเริ่มพูด ก็จะเกิดการพูดต่อไปเรื่อย ๆ จาก ๑ เป็น ๒ เป็น ๙ ซึ่งก็คือความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
สมัยก่อนการเอาป้ายไปม็อบหรือแม้แต่โพสต์การเมืองในสื่อโซเชียลมีเดียยากมาก แต่พอเริ่มมีคนทำ เราก็เริ่มเห็นคนทำตามมากขึ้นเรื่อย เหมือนกันกับการดันเพดาน ตอนนี้คนก็พูดกันเปิดเผยมากขึ้น ผมอยากให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปรกติ
หลังจากรัฐประหารปี ๒๕๔๙ วันนั้นผมเห็นในจอโทรทัศน์ว่ามีประธานองคมนตรี บรรดาทหารชั้นผู้ใหญ่ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในยามดึก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมเชื่อว่าก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์แต่ในวงเล็ก ๆ สมัยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีการพูดถึงบนเวที แรงกระเพื่อมก็ถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ
ส่วนใหญ่ตอนที่ผมขึ้นเวทีจะมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าห้ามพูดเรื่องนี้ ห้ามพูดคำนั้น แต่ตอนจัดเวทีธรรมศาสตร์ที่ลานพญานาคเมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ก็คุยกันว่าจะทำยังไงให้แตกต่างจากที่อื่น ทางกลุ่มตกลงกันว่านำภาษิตของมหาวิทยาลัยมาเป็นธีมหลักในการจัดเวที คือ “ธรรมศาสตร์มีสิทธิเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” หมายถึงใครจะพูดอะไรก็พูด แต่เราต้องปกป้องเสรีภาพตัวเอง ก็มีการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง เรื่องการเมืองบ้าง ใครชอบก็ปรบมือ ใครไม่ชอบก็โดนโห่ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็มีการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องมากขึ้นของคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น การอ่านคำประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ ๑ จนถึงการประกาศ ๑๐ ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ผมนึกถึงคนหนึ่งเสมอคือพี่ดา (ดาตอร์ปิโด) หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงที่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์จนถูกดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒ ซึ่งหากแกยังมีชีวิตอยู่ ผมอยากบอกว่าการอุทิศของแกในวันนั้นเลยเกิดวันนี้ ถ้าไม่มีแกในวันนั้นก็ไม่มีผมในวันนี้
๕/ โควิด-๑๙
ภายหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ เราก็มีรัฐบาลที่ดูเหมือนว่าจะมาจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เริ่มเห็นบรรยากาศที่ต่างจากรัฐบาลยุค คสช. อย่างตอนกรณีบัตรเขย่งก็เห็นองค์กรนักศึกษาออกแถลงการณ์กว่า ๓๐ องค์กร
ผมเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวก็ตอนที่มีคนมาร่วมในม็อบของคุณธนาธรกว่า ๓,๐๐๐ คน เห็นกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และเริ่มปรากฏแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีแฮชแท็กเกือบทุกมหาวิทยาลัย จนกระทั่งกิจกรรมทุกอย่างมาหยุดลงเพราะโควิด-๑๙
พอโควิด-๑๙ รอบแรกเริ่มคลี่คลายลง ผมรู้สึกว่ารัฐบาลเนียนใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินอยู่ ก็อยากลองยา ผมมองมันเหมือนหม้อต้มน้ำที่เดือด ภายนอกดูไม่มีอะไร แต่พอแง้มฝาหม้อก็จะมีควันพุ่งออกมา แล้วเกิดกรณีการอุ้มหายของพี่ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เริ่มจัดการชุมนุมขึ้น จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ วันครบรอบ ๘๘ ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีคนมาร่วมกว่า ๕๐๐ คน แล้วจำนวนคนก็เพิ่มมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้
การเข้ามาของโควิด-๑๙ แม้จะเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่อีกมุมหนึ่งก็เผยให้เห็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการของรัฐบาล เห็นความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขในบ้านเรา เราเห็นเตียงไม่พอ เห็นวัคซีนไม่มี ผมเชื่อว่ากว่าหนังสือ (สารคดี) จะเผยแพร่ ระบบก็อาจล้มเหลวไปแล้ว
ความเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นอีกจากความไม่พอใจ หน้าที่ของประยุทธ์คือปกครองประเทศเพื่อให้กลุ่มชนชั้นนำสามารถตักตวงฉวยโอกาส คำถามคือเราจะทำให้เขาไม่สามารถทำต่อไปได้อย่างไร ผมอยากให้ระบบเปลี่ยน เชื่อว่าแรงของพี่น้องทำได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีอารยะขัดขืนหรืออะไรก็ตาม
จริง ๆ แล้วในกลุ่มก็ถกเถียงกันว่า เบื้องต้นพวกเราอยากได้รัฐบาลประชา-ธิปไตยกลับมา แต่เชื่อว่าระบอบประยุทธ์อยู่ได้ด้วยเครือข่ายอำนาจสาม ป. ซึ่งก็เชื่อมโยงกับอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม และก็ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ประยุทธ์จึงไม่มีทางออกไปถ้าอำนาจยังสนับสนุน
๖/ ความฝัน
สังคมค่อย ๆ พัฒนาทางความคิด ถ้าเป็นยุคก่อนอาจจะเป็นคนเอากับไม่เอาทักษิณ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นเอาหรือไม่เอาประยุทธ์ เอาหรือไม่เอาทหาร หรือแม้กระทั่งเอาหรือไม่เอาสถาบัน ซึ่งคำตอบก็อยู่กับแต่ละคน ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนคิดอย่างไร ขึ้นอยู่กับฝ่ายอนุรักษนิยมคิดอย่างไร
ผมคิดว่าการต่อสู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากพวกเราเกิดขึ้นจากพวกคุณ ถ้าผมไม่ถูกค้นตัววันนั้น บางทีผมอาจจะนั่งอ่านหนังสือหรือนั่งเล่นเกมอยู่ที่บ้านก็ได้ หรือถ้าการบริหารไม่ล้มเหลวขนาดนี้ คนรุ่นผมก็คงไม่เกลียดขนาดนี้
ผมอยากให้ประเทศนี้เป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนไม่ใช่ไพร่ ไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ฝุ่น ทุกคนมีศักดิ์ศรี อยากให้ทุกคนเดินไปไหนมาไหนอย่างภาคภูมิใจ ผมอยากให้ประเทศนี้เป็นที่ให้ความหวังกับทุกคน เป็นบ้านที่มีข้าวให้คนกิน มีรัฐสวัสดิการให้คนใช้ และทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในกิจการในบ้านตัวเองเท่า ๆ กัน
พวกเราก็คือผลผลิตจากสิ่งที่พวกคุณทำ พวกเราอายุไม่เท่าไรเอง พวกคุณอยู่บนโลกนี้มาก่อน คุณควรมีอะไรให้เรามากกว่านี้
วันสัมภาษณ์ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔