Image

“หน้าที่ของเราคือพิสูจน์ว่า
การยุบพรรคไม่มีความหมาย”
พรรณิการ์ วานิช

Political Party

สัมภาษณ์ : นิสากรม์ ทองทา
ภาพ : วริศ โสภณพิศ

ย้อนกลับไปเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว “อนาคตใหม่” คือพรรคที่ผู้คนต่างจับตามองเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยแนวคิดและการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่
จนเป็นปรากฏการณ์หนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ภายในระยะเวลาปีกว่า ๆ อนาคตใหม่กลับถูกยุบพรรคในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ท่ามกลางความร้อนระอุและเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ทำให้อนาคตใหม่ต้องสานต่ออุดมการณ์ผ่าน “คณะก้าวหน้า” มาจนวันนี้

พรรณิการ์ วานิช ผันตัวจากสื่อมวลชนในยุคสมัยการรัฐประหารครั้งที่ ๑๓
ของประเทศไทยมายืนอยู่บนเวทีการเมือง เธอเป็นอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่
และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า  เธอทิ้งท้ายบทบาท ส.ส. ไว้ในการอภิปรายในสภาโดยกล่าวถึงยุคมืดแห่งเสรีภาพสื่อและการส่งเสียงของประชาชน

อดีต-กับบทบาทสื่อ

ช่วงชีวิตเราลงล็อกพอดีกับการเมืองไทย เข้ามหาวิทยาลัยปี ๒๕๔๙ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เรียนจบปี ๒๕๕๓ ช่วงเดียวกับเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓ และไปเรียนต่ออังกฤษ กลับมาไทยช่วงยิ่งลักษณ์เข้าสู่ตำแหน่งและเรามาทำงานสื่อ เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น สื่ออังกฤษขับเคลื่อนสังคมมาก เพราะว่ามีเสรีภาพ รับใช้ประชาชน กลับมาเมืองไทยเราสนุกกับเสรีภาพของสื่ออยู่ได้สักพักเดียวก็เกิดรัฐประหารปี ๒๕๕๗

Voice TV สถานีที่ทำงานอยู่ติดกับสโมสรทหารบก ก่อนเกิดรัฐประหาร ตั้งแต่เขาประกาศกฎอัยการศึก ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผลกระทบวิ่งเข้าหาเรา จนเกิดรัฐประหารก็เห็นได้ชัดว่าฟ้ากับเหวเป็นอย่างไร ยุคที่เราสัมผัสกับเสรีภาพของสื่อ พูดประเด็นทางสังคมได้หมด สังคมยุคนั้นก้าวหน้ากว่ายุคนี้มาก หลายคนอาจลืมไปแล้ว มันผ่านไปนานมากแล้ว

ตอนเกิดรัฐประหาร เราอ่านข่าวอยู่ในสตูดิโอ มีทหารถือปืนยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม เหมือนภาพในประเทศด้อยพัฒนาอีกมุมหนึ่งของโลก สุดท้ายประเทศด้อยพัฒนาที่ว่าคือประเทศเรา ช่วงรัฐประหารใหม่ ๆ สถานีมีทหารเดินตรวจตรา ปิดปากสื่ออยู่เป็นเดือน ทางเลือกที่ใหญ่มากของชีวิตนักข่าว คือ คุณจะเลือกเซนเซอร์ตัวเองเพื่อรักษาชีวิต หรือพูดไปเลย ตายเป็นตาย ไม่สามารถทำอาชีพนี้ได้อีก หรืออาจจะตายจริง ถามตัวเองทุกวันว่าจะทำอย่างไรในเวลาที่ประชาชนต้องการความจริงมากที่สุด สุดท้ายเราไม่ใช่เจ้าของกิจการและถูกกดดันด้วยภาระรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงาน คุณจะแหลม จะกามิกาเซ่ ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่ซวย แต่คุณจะพาเพื่อนร่วมงานเป็นร้อยชีวิตตกงาน

พอเวลาผ่านไปสถานการณ์ดีขึ้น เราพยายามขยับ ดันเพดานไปเรื่อย ๆ เวลาขยับก็จะโดนเรียกเข้าค่าย ไปกินกาแฟ ทหารจะบอกว่าคุณพูดอะไรผมรู้หมด นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผลักดันให้เราตัดสินใจย้ายจากการทำงานนักข่าวมาเป็นนักการเมือง ประเทศนี้ต้องแก้ปัญหาการเมืองให้ได้ก่อน เพดานของประเทศคือเรื่องของกฎหมาย ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถปลดแอกประเทศนี้ได้

Image

คนส่วนหนึ่ง
เห็นด้วยกับรัฐประหาร

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเทศไทยมีรัฐประหาร ๑๒ ครั้งในห้วงเวลา ๘๙ ปี เราถูกฝังหัวว่านักการเมืองเลว นักการเมืองชั่วและรัฐประหารเป็นทางลัด รู้ว่ามันไม่ดี แต่จำเป็นต้องทำเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลัง

คนที่อินกับเรื่องเล่านี้ที่เสียงดังมาก มักเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลาง และรู้สึกว่าต้องมาอยู่ภายใต้รัฐบาลชั่ว ๆ เพราะพวกคนจนโง่ ๆ กลุ่มคนชนชั้นกลางจึงเป็นพลังหลักของการสนับสนุนรัฐประหาร สมาทานความคิดเผด็จการ โดยที่พวกเขารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม  ยกตัวอย่างตอนทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี และทำนโยบายถูกใจคนชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนรากหญ้ารู้สึกว่านี่คือครั้งแรกที่พวกเขาได้รับการตอบสนองจากนักการเมือง และมันทำลายเรื่องราวของนักการเมืองโกง เลว ชนชั้นกลางจึงสร้างวาทกรรมที่ว่าไอ้คนจนพวกนี้ ถ้านักการเมืองทำประโยชน์ให้พวกคุณได้ คุณก็ยอมว่านักการเมืองจะโกงนิดโกงหน่อยก็ไม่เป็นไร

นี่คือเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ตั้งพรรคการเมือง เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาและสร้างประเทศที่ดีกว่านี้ได้ เพราะมีรถเมล์คันเดียวที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจรัฐได้ คือรถเมล์ที่ชื่อว่าพรรคการเมือง

อนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคใหม่ เราต้องทำงานหนักมากชดเชยกับประสบการณ์เมื่อเทียบกับพรรคอื่น ปัจจัยสำคัญ
คือเราชัดเจนแต่แรกว่าเราต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพในการหาเสียงเลือกตั้ง ห้าปีที่คนอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร คนเริ่มเข้าใจว่ากองทัพมีปัญหาจริง นโยบายปฏิรูปกองทัพสร้างความแตกต่างระหว่างพรรคเรากับพรรคอื่น เรามองที่ปัญหาโครงสร้าง

การยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นภายในเวลา ๑ ปีกว่า ๆ ยืนยันว่าพรรคเราประสบความสำเร็จมากจนเกินไป ชัดเจนว่าเขาคงไม่ปล่อยให้เราเติบโตมากกว่านี้ ไม่ได้พูดอย่างอหังการ แต่ถ้าเราล้มเหลวเขาคงไม่ต้องยุบพรรคเรา

หน้าที่ของเราคือพิสูจน์ตัวเองว่าการยุบพรรคไม่ได้มีความหมาย พรรคก้าวไกลยังทำงานในสภา คณะก้าวหน้ายังทำงานนอกสภา คุณยุบพรรคอนาคต-ใหม่ไป สปิริตของพรรคก็ยังอยู่

แต่ครั้งหน้าก็หวังว่าจะไม่ต้องพิสูจน์ หวังว่าจะไม่มีพรรคใดถูกยุบอีก เพราะไม่ว่าพรรคไหนถูกยุบก็ไม่มีผลดีต่อประชาธิปไตยของประเทศไทยทั้งนั้น

ความเป็นเพศ-
เกมการเมือง

สมัยเป็นนักข่าว ในวงนักข่าวเขามีความเชื่อว่านักข่าวผู้หญิงได้เปรียบกว่าผู้ชาย เพราะแหล่งข่าวรู้สึกเปิดใจมากกว่า ซึ่งก็เป็นการเหยียดเพศประมาณหนึ่ง เพราะมาจากความคิดว่านักข่าวผู้หญิงหรือนักข่าวเด็ก ๆ ไม่มีพิษสง แต่เราไม่เจอปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ ตอนนั้นยังคิดว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในไทยไม่มีปัญหา ซึ่งคิดผิดมาก เพราะพอมาทำงานการเมือง มันหนักมาก

ตอนเปิดสภา วินาทีที่เรายกมือขึ้นในสภาก็เกิดการประท้วง วันนั้นทุกคนได้ยิน ส.ส. พลังประชารัฐผู้ชายสั่งว่าพวกผู้หญิงลุกขึ้นประท้วงให้หมด เขาอาจรู้สึกว่าผู้ชายประท้วงไม่เหมาะ หรือเป็นการดิสเครดิตภาพลักษณ์ และเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐต่อเนื่องยาวนาน

เราเป็นกรรมาธิการด้านการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รองกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน แต่แทบไม่มีใครจดจำ และเราต่อสู้เพื่อลบภาพจำที่เพศหญิงถูกดิสเครดิต แต่สุดท้ายภารกิจนี้ไม่เกิดขึ้น เหมือนเราคิดอยู่คนเดียวว่าเรามีภารกิจร่วมกับ ส.ส. หญิงคนอื่น (หัวเราะ)

“การยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นภายในเวลาปีกว่า ๆ ยืนยันว่าพรรคเราประสบความสำเร็จมากจนเกินไป ชัดเจนว่าเขาคงไม่ปล่อยให้เราเติบโตมากกว่านี้  ไม่ได้พูดอย่างอหังการ แต่ถ้าเราล้มเหลวเขาคงไม่ต้องยุบพรรคเรา”

Image

พรรคก้าวไกล

พรรคอนาคตใหม่มีจุดอ่อนคือยังชูตัวบุคคลเป็นหลัก ยอมรับว่าเราตั้งใจเสนอภาพลักษณ์ของธนาธรเมื่อลงสนามเลือกตั้งใหญ่และเป็นแคนดิเดตนายก-รัฐมนตรี แต่ก็เฝ้ามองด้วยความกังวลใจ เพราะพรรคการเมืองที่เราอยากเห็นคือพรรคของทุกคน อยากขายว่า ส.ส. เรามีความหลากหลาย มาจากชาวนา แรงงาน นักวิชาการ กลุ่ม LGBTQ+

ผ่านมา ๑ ปีกว่าเราเห็นความสวยงามที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ แต่ทำไม่สำเร็จ การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้เราไม่ได้เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่เติบโตไปเรื่อย ๆ ไม่มีโอกาสเห็นว่าพรรคจะไปในทิศทางไหน แต่เมื่อพรรคก้าวไกลเติบโตขึ้นมาในวันนี้ ก็ไม่มีอะไรที่น่าเสียดายแล้ว

คณะก้าวหน้า
ปัจจุบันและอนาคต

น่าตื่นเต้นมาก เป็นครั้งแรกที่เราได้อยู่ในสมรภูมิท้องถิ่นทำให้สิ่งต่าง ๆ นโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงได้ ตอนนี้โครงการใหญ่ที่สุดของเราคือทำน้ำประปาดื่มได้ที่ร้อยเอ็ด ถ้าทำตรงนั้นนำร่องได้จะขยายไปอีกหลายที่  ถ้าน้ำประปาดื่มได้จะช่วยแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมาก ลดค่าครองชีพ ลดการใช้ขวดพลาสติก  ชัดเจนว่าการเมืองคือเรื่องที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น

เลือกตั้ง อบจ. เราไม่ได้รับชัยชนะเลยสักจังหวัดเดียว และได้เรียนรู้ว่าจะต้องใช้เวลาทำงานในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โอเค อบจ. ไม่ได้ใช่ไหม เราต้องได้เทศบาลก่อน ค่อย ๆ ทำจากระดับฐานล่าง เราคาดหวังผลในระยะ ๑๐-๑๕ ปีประเทศจะเปลี่ยนดีขึ้น ทำให้โครงสร้างโดยรวมของประเทศดีขึ้น

อีกเรื่องที่เราขับเคลื่อนคือการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ จริง ๆ ปีที่แล้ว (๒๕๖๓) ทำคู่ขนานไปกับม็อบ แต่โดนปัดตกไปอย่างรวดเร็วกว่าตอนล่ารายชื่อเยอะเลย (หัวเราะ) แต่การรณรงค์ที่เราออกมาใหม่ปีนี้คือการแก้รายมาตรา เราพยายาม
เข้าตามตรอกออกตามประตูที่เขาเหลือรูเล็ก ๆ ไว้ให้เราลอด เพราะเราเชื่อว่าประเทศไม่สามารถไปต่อได้ ถ้าไม่ปลดรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ซึ่งไม่ได้ร่างขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์

รัฐบาลประยุทธ์

รัฐบาลนี้พยายามใช้นโยบายลดแลกแจกแถม โครงการประชารัฐไม่ได้มีแค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังมีร้านน้ำประชารัฐผลิตน้ำดื่ม สวัสดิการพื้นฐานเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงได้รับการดูแลจากรัฐ แต่ไม่ควรเป็นสังคมสงเคราะห์หรือชิงโชค

การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ผสมระหว่างจีน พม่า เผด็จการเต็มรูปแบบ แต่อาจตอบสนองประชาชนได้ไม่ดีเท่า แต่เขาก็พยายามเอาใจนะ นโยบายประชานิยมออกมาเต็มไปหมด เพื่อรักษาความนิยมของตัวเอง ขณะที่เชิงโครงสร้างจะไปเหมือนกับรัฐบาลเผด็จการพม่า คือกุมรัฐสภาเอาไว้โดยให้โควตาคนภายใต้การควบคุม คุมเสียงสองในสามของรัฐสภา และให้รัฐธรรมนูญผนวกการรัฐประหารเข้าไปเรียบร้อย

รัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศมาแล้ว ๗ ปี อำนาจหยั่งไปถึงทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายของระบบราชการ สร้างรัฐราชการที่ดูแลรับใช้ตัวรัฐบาล ไม่ใช่ดูแลรับใช้ประชาชน อันนี้คือปัญหาใหญ่ เจ็ดปีที่ผ่านมาได้ปลูกฝังสิ่งนี้ลงไปในสังคมไทย และโชคร้ายที่จะต้องบอกว่าเขาปลูกได้งามดีทีเดียว

ม็อบรุ่นใหม่
ภายใต้อํานาจ
พรรคการเมือง/
นักการเมือง ? 

การพูดว่าม็อบรุ่นใหม่นี้จัดตั้งเป็นการดูถูกประชาชน ช่วงปีที่ผ่านมาคือการประท้วงของคนยุคนี้จริง ๆ ยุคของความหลากหลาย sex worker เสรี ทำแท้งเสรี พันธมิตรชานม คุณเห็นกลุ่มศิลปินไปตั้งเต็นท์วาดรูป เพนต์สีบนทางเท้า เต็มไปหมดเลย จัดม็อบพร้อมกันสิบ ๆ จุดทั่วประเทศ เป็นการชุมนุมแกนนอน ไม่ใช่แกนนำ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คนรุ่นนี้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขาไม่มีอนาคต คนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมยุคดิจิทัล เขาเห็นตำตาว่านานวันโลกที่เห็นกับประเทศที่อยู่ห่างกันไปเรื่อย ๆ เขาทนไม่ได้

Image

ถามว่าพรรคการเมืองกับม็อบไปเจอกันเมื่อไร พรรคก้าวไกลวิ่งประกันผู้ที่ถูกจับกุมด้วย ม. ๑๑๒, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, ม. ๑๑๖ อันนี้คือพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง นักการเมืองซึ่งเป็นคนของประชาชนและได้เงินเดือนจากภาษีกำลังทำหน้าที่รับใช้ประชาชนที่ถูกรัฐเอากฎหมายปิดปาก

พรรคที่อยู่เบื้องหลังการทำลายประชาธิปไตยในประเทศที่บอกว่าตัวเองปกครองระบอบประชาธิปไตยต่างหากสมควรถูกวิจารณ์

“ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย” 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับทูตประจำประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่อยู่ในเมืองไทย เขาเห็นว่าประชาชนในประเทศไทยยังยอมรับการรัฐประหาร ถ้าประเทศอื่นจะไปออกหน้าก็เป็นเรื่องประหลาด ได้แต่ทำไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศเขาว่าจะไม่คบค้าสมาคมกับรัฐบาลทหาร แต่จะให้ออกตัวปกป้องเหมือนที่สหรัฐอเมริกาออกตัวกับฮ่องกง เหมือน EU ออกตัวกับเมียนมา เขาไม่รู้จะยืนข้างประชาชนคนไหน สภาพสังคมในตอนนั้น (รัฐประหารปี ๒๕๕๗) มีคนออกมาประท้วงน้อย ไม่มีพลังพอจะทำให้เสียงไปถึงระดับชาติ อย่าว่าแต่ระดับนานาชาติเลย

โอกาสการเกิดรัฐประหาร

คนพูดว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ยุติการรัฐประหาร เพราะว่าได้ฝังเอาระบอบรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญเรียบร้อย แต่เมื่อไรก็ตามที่ทหารรู้สึกว่าผลประโยชน์และอำนาจของเขาอยู่ในภาวะไม่มั่นคง เขาพร้อมเสมอที่จะรัฐประหาร ทำมาแล้ว ๑๓ ครั้ง ถ้าคาดหวังว่าจะไม่มีครั้งที่ ๑๔ คุณก็มองโลกในแง่ดีเกินไป

เมียนมาเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ ประชาชนเขาไม่ได้หยุดต่อต้าน เราได้คุยกับเพื่อนชาวพม่าว่าทำไมคุณต้องต่อสู้ขนาดนี้ ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าไม่มีทางอื่น ต่อให้เหลือโอกาส ๑ เปอร์เซ็นต์ก็ต่อสู้  ถ้าไม่สู้คุณก็ต้องอยู่กับความเฮงซวยกับระบบทหารแบบนี้ต่อไป

ทางออกประเทศไทย

ปัญหาสถานการณ์โควิดครั้งนี้ลึกที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญ ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นกระทั่งเรื่องความเป็นความตาย ระบบราชการที่อุ้ยอ้ายเทอะทะไม่ตอบสนองต่อวิกฤตที่เร่งด่วน ราคาที่เราจ่ายกับความ fail แพงมาก คนตายไปไม่รู้เท่าไร สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือคนโกรธจนไม่รู้จะโกรธยังไงแล้ว มันเป็นไปได้สองทางว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากโควิดทำให้คนหมดแรงและหมกมุ่นกับการทำมาหากิน และในทางตรงกันข้ามคือไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว จำเป็นต้องออกมาเรียกร้อง และเป็นโอกาสที่เราต้องบอกประชาชนว่าจำเป็นแค่ไหนที่เราต้องแก้ไข อย่าปล่อยให้ความเสียหายเกิดขึ้นโดยไม่ฉวยมาใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ

สถานการณ์อาจทำให้เราท้อแท้หมดหวัง ประเทศ fail ได้ แต่ประชาชนต้องไม่ fail ถ้าเมื่อไรที่ประชาชนยอมแพ้แล้ว คือแพ้จริง ๆ 

เมื่อเราเกิดมาในประเทศไทย สิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องยอมรับร่วมกันคือ เราต้องเสียสละเวลาและพลังไปกับการทำหน้าที่เรียกร้องประเด็นสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่น ๆ ที่เขาเสียงเบากว่า

ใครก็ตามที่มีเสียงดัง เสียงของคุณมีค่าเพื่อเรียกร้องให้กับความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม  

วันสัมภาษณ์ ๘ และ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔