Image
มองคนเสื้อแดง
ผ่านชีวิตและอิสรภาพ
ของ 
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 
Demonstrator
สัมภาษณ์ : ธีรเมธ ทองสง
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ
เหตุการณ์รัฐประหารปี ๒๕๔๙ สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนหลากหลายกลุ่ม จนก่อให้เกิดการรวมตัวต่อต้านในเวลาต่อมา เป็นเวลาเดียวกับที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก้าวสู่เวทีการเมือง ขึ้นปราศรัยต่อต้านรัฐประหารครั้งแรกบนเวทีของ PTV ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ต่อมาเขารับบทบาทเป็นแกนนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พามวลชนคนเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถูกปราบปรามโดยรัฐบาลในการชุมนุมใหญ่ปี ๒๕๕๓  

นปช. ถูกตีตราว่าเป็นขบวนการไร้การศึกษาขบวนการรับจ้าง เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง และเป็นคะแนนเสียงไร้คุณภาพเมื่อมีการเลือกตั้ง วันนี้ณัฐวุฒิยังคงเดินบนเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองแม้จะผ่านคุกตะรางมาหลายครั้ง

จุดเริ่มต้นของ นปช.
มันเป็นความต่อเนื่องของขบวนการภาคประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เวลานั้นมีประชาชนหลายกลุ่มเคลื่อนไหว พวกผมไปตั้งเวทีชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในนามของกลุ่ม PTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม  เมื่อแต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวกันไปได้ระยะหนึ่ง ก็เห็นว่าควรรวมพลังในลักษณะแนวร่วม เพื่อให้ทุกกลุ่มได้มาขับเคลื่อนการต่อสู้ร่วมกัน ทำให้มีพลังในการต่อสู้มากขึ้น มีทิศทางมีเป้าหมายเดียวกัน มีเอกภาพทางความคิดมากขึ้น ก็เลยรวมตัวกันแล้วตั้งเป็นองค์กรชื่อแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.  

นปก. สู้ไปจนถึงมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วก็ลงประชามติ บังคับใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ หลังจากนั้น สมาชิกใน นปก. เห็นว่าภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องในระยะยาวแล้ว เพราะเผด็จการ คมช. กำลังจะพ้นจากอำนาจ แต่จะมีการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญที่เป็นแผนบันไดสี่ขั้นของ คมช. ซึ่งพลเอกสนธิประกาศไว้  เมื่อเห็นตรงกันจึงคิดว่า การเดินทางไกลในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะใช้ชื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ก็อาจไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะวันหนึ่งเราอาจต่อสู้กับรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่แท้จริงเป็นการสืบทอดอำนาจ หรือเกิดขึ้นโดยอิทธิพลของอำนาจนอกระบบ จึงเปลี่ยนชื่อองค์กรเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช.
คนเสื้อแดง 
หลังการเลือกตั้งปี ๒๕๕๐ เมื่อเกิดรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ความเคลื่อนไหวของ นปช. ก็ไม่ได้เข้มข้นเหมือนเดิม เพราะส่วนใหญ่เรามองว่า เมื่ออำนาจรัฐกลับมาอยู่ในมือของฝ่ายประชาธิปไตย ก็น่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลเป็นหลัก แต่พอมีการกดดันโค่นล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แล้วมีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้อิทธิพลของกองทัพ ได้อิทธิพลของกลไกอำนาจนอกระบบ ไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอย่างที่มีการพูดเปรียบเทียบกัน ขบวนการ นปช. จึงกลับมาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

คราวนี้เรากลับมาด้วยรูปลักษณ์เข้มแข็งกว่าเดิม ด้วยฐานมวลชนที่มีแนวร่วมเพิ่มมากกว่าเดิม มีการปรากฏตัวตามต่างจังหวัดทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ หนึ่ง พัฒนาการของเหตุการณ์ช่วงหลายปีนั้นทำให้ผู้คนทั้งประเทศมองเห็นและเข้าใจสถานการณ์การเมืองมากขึ้น สอง น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญก็คือ ผม คุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ได้จัดรายการ “ความจริงวันนี้” ทางช่อง ๑๑  จากการติดตามของผู้ชมจำนวนมากเวลานั้น ก็แสดงออกมาเป็นมวลชนที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมความจริงวันนี้สัญจร เราก็คิดทำของที่ระลึกรายการ ซึ่งจะทำให้รายการมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ชมได้มากขึ้น เราจึงผลิตเสื้อ โดยเลือกใช้สีแดง เนื่องจากในช่วงการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มีการใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยมาก่อน จึงเกิดเป็นพลังของคนเสื้อแดง หมายถึงคนใส่เสื้อสีแดงเหมือนกัน เป็นเสื้อสีแดงของรายการ “ความจริงวันนี้” ไปรวมตัวกันที่ธันเดอร์โดมเป็นครั้งแรก แล้วเพิ่มเป็นหลายหมื่นคนเต็มพื้นที่ราชมังคลากีฬาสถานในครั้งต่อมา เหตุการณ์นั้นคือปลายปี ๒๕๕๑ 
Image
“เผาบ้านเผาเมือง”
ในปี ๒๕๕๒ ก็มีเหตุเพลิงไหม้อยู่บ้าง แม้ไม่ใช่เหตุเพลิงไหม้ตึกรามบ้านช่องหรืออาคารที่ทำการของรัฐที่เกิดเป็นความเสียหายใหญ่หลวง แต่ก็มีเหตุเพลิงไหม้อยู่หลายจุด มีการเผายางรถยนต์ เผาทำลายทรัพย์สินข้าวของบางที่บางแห่ง ซึ่งวาทกรรมว่าการเผาบ้านเผาเมืองมันเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ตอนนั้นเป็นการเผายางรถยนต์กลางถนน เผาเครื่องกีดขวาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน ไม่ได้เกิดกับตึกรามบ้านช่อง แต่ว่ามันเห็นกองไฟ  เหตุที่เกิดเผายางรถยนต์แบบนั้นคงเป็นความพยายามป้องกันตัวของผู้ชุมนุมหรือแสดงการต่อต้านไม่พอใจที่มีการใช้กำลังเข้ามากดดัน แล้วผมเชื่อแน่ว่ามีการสร้างสถานการณ์จากคนบางกลุ่มเพื่อให้ภาพลักษณ์ของการต่อสู้เกิดเป็นขบวนการรุนแรง ขบวนการที่สร้างความเสียหายด้วย มันมีการจุดไฟเผารถเมล์ของ ขสมก. ด้วยจำนวนหนึ่ง แล้ววาท-กรรมนี้ก็ถูกใช้อย่างเป็นระบบเป็นกระบวนการจากอิทธิพลของรัฐหลังสลายการชุมนุมหลังปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีเหตุเพลิงไหม้สถานที่ของรัฐและเอกชนอีกหลาย ๆ จุด  
“ไพร่-อํามาตย์”
การประกาศต่อสู้กับระบอบอำมาต-ยาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๐ แล้ว เราพูดกันหลายครั้งบนเวทีการต่อสู้กับ คมช. เราพูดกันหลายครั้งก่อนจะเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสา-เทเวศร์ ว่าปัญหามันไม่ใช่แค่คณะของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ปัญหามันไม่ใช่รัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่มันคือขบวนการอำนาจ ซึ่งประกอบด้วยกลไกราชการ อิทธิพลของกลุ่มทุน อิทธิพลของกลุ่มคนที่อยู่ในฐานะผู้ได้เปรียบในฐานะชนชั้นนำในสังคมไทยมารวมตัวกัน เรียกว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย เราพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนนั้น แต่การใช้วาทกรรมอำมาตย์กับไพร่มาปรากฏชัดขึ้นช่วงก่อนชุมนุมใหญ่ ๒๕๕๓ และตลอดการชุมนุมใหญ่

ผมเป็นคนจับคู่คำสองคำนี้ เป็นคำเก่าทั้งคู่ทั้งคำว่าอำมาตย์กับไพร่ เพียงแต่ผมเจตนาจะชูขึ้นเป็นคู่ต่อสู้ คู่เผชิญหน้ากัน เพื่ออธิบายว่ากลุ่มคนที่เราเรียกว่าอำมาตย์คือกลุ่มชนชั้นนำที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่า สูงส่งกว่า ได้เปรียบกว่า ฉลาดกว่า รักชาติมากกว่า ทุกอย่างดีกว่าทั้งหมด นั่นคือวิธีคิดของคนกลุ่มหนึ่ง กับคนที่ถูกมองจากคนกลุ่มนั้นว่าเป็นพวกไร้การศึกษา ไม่มีความรู้ ไม่พร้อมเข้าถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่พร้อมกำหนดอนาคตของประเทศ ถ้าเป็นคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นคะแนนไร้คุณภาพ เป็นคะแนนที่ถูกซื้อ ถูกล้างสมอง ผมก็เลยแทนที่คนกลุ่มนั้นด้วยคำว่าไพร่ เพื่อบอกคนที่ผมเรียกว่าอำมาตย์ว่า เมื่อคุณคิดว่าคุณสูงมาก เราก็จะต่ำมากให้ดูเราจะสู้กับคุณ เพื่อยืนยันว่าความเป็นมนุษย์ของเราเท่ากัน 

ผมคิดว่าใครก็ตามที่มองว่าตัวเองสูงกว่าเหนือกว่ามาก ๆ คงรับไม่ได้ที่วันหนึ่งต้องมาสู้กับคนที่เขาคิดว่าต่ำมาก ๆ ไม่มีราคาในสายตา เพราะเขาคิดว่าคนพวกนี้ต้องหมอบราบคาบแก้ว ต้องเชื่อ ต้องเคารพนบนอบ ต้องมอบทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอนาคต แม้กระทั่งที่เป็นของตัวเองเช่นความชอบธรรมของการเป็นเจ้าของอำนาจในอธิปไตย ให้กับคนพวกนั้น บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต้องให้พวกเขาคิด ตัดสินใจ ให้พวกเขากำหนดกำกับ เพราะฉะนั้นเวลามีคนที่เขามองว่ามันต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ ลุกขึ้นมาสู้ ผมก็ว่านี่เป็นความย้อนแย้งเป็นแรงเสียดทาน ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นความแหลมคมอย่างหนึ่งที่เราใช้ในการต่อสู้
Image
สลายการชุมนุมครั้งแรก
กลางวันนั้นพวกผมอยู่ที่เวทีราช-ประสงค์ เราประเมินกันว่าท่าทีของรัฐบาลอยากสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์มาตลอด เพราะเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกลับไปเหลือเวทีเดียวที่ผ่านฟ้า เลยเฝ้าระวังกันตรงนั้น แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ พบว่าปฏิบัติการที่ผ่านฟ้า ที่ถนนราชดำเนิน เป็นปฏิบัติการจริง มีการใช้กำลังทหาร ใช้อาวุธจริง กระสุนจริง มีคนถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงบ่าย ใช้แก๊สน้ำตาโยนจากเฮลิคอปเตอร์ใส่เวทีชุมนุม ผมเลยเดินทางจากราชประสงค์มาที่ผ่านฟ้า ทราบเหตุการณ์แล้วก็ขึ้นประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลยุติปฏิบัติการ ตลอดทั้งคืนมีแต่ความสูญเสีย มีผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย มีญาติพี่น้องมาร้องห่มร้องไห้ ทุกอย่างเกิดขึ้นในคืนดังกล่าว 

สำหรับผม ช่วงเวลาหนักหนาที่สุดตั้งแต่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองคือคืนวันที่ ๑๐ เมษายน ผมไม่ได้นอนเลย เพราะเต็มไปด้วยสถานการณ์กดดัน ความโกลาหล รวมทั้งข่าวสารสารพัดที่เราต้องประเมินและตัดสินใจ  คืนวันที่ ๑๐ เมษายน เป็นครั้งแรกที่เราเห็นมีการใช้อาวุธปืนติดลำกล้องยิงระยะไกลจากตึกสูง ซึ่งกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐใช้กับประชาชน แล้วทุกชีวิตที่สูญเสียไม่มีใครมีอาวุธ ไม่มีใครมีคราบเขม่าดินปืนที่มือที่ตัว
การปรากฏตัวของ “ชายชุดดํา”
ขบวนการ นปช. เรายึดหลักสันติวิธีในการต่อสู้ ไม่มีการจัดตั้งกองกำลัง ไม่มีการติดอาวุธ การ์ด นปช. ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกจุดตรวจ  การกล่าวอ้างว่ามีชายชุดดำปรากฏตัวขึ้นเป็นการกล่าวอ้างด้วยภาพวิดีโอที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในคืนวันที่ ๑๐ เมษายน แล้วก็ไม่เคยจับกุมบุคคลเหล่านั้น แม้จะมีการกล่าวหาคนบางกลุ่มเป็นชายชุดดำ ศาลก็พิพากษายกฟ้อง ล่าสุดก็ยกฟ้องคดีชายชุดดำกลุ่มสุดท้ายด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อไม่นานมานี้ หลังคืนวันที่ ๑๐ เมษายน ก็ยังไม่ปรากฏกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่าชายชุดดำอีกเลยจนเรายุติการชุมนุม แต่ยังคงมีคนเจ็บ คนตายต่อเนื่องจากปฏิบัติการของรัฐ แล้วทุกคนยังคงเป็นคนมือเปล่าเช่นเดิม
ยุติการชุมนุมสู่ความสูญเสียอีกครั้ง
มันมีความสูญเสียเกิดขึ้นมาก แล้วก็มีปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ มียานยนต์หุ้มเกราะ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ราวกับทำสงคราม ปิดล้อมแล้วกระชับวงล้อมเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม พวกผมประเมินว่ามันจะนำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ แล้วเราไม่สามารถจะรับความสูญเสียแบบนั้นได้อีก เลยขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุม พวกผมแกนนำไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาก็ควบคุมตัวพาไปที่ค่ายนเรศวร เราไม่รู้เลยว่าในบ่ายวันนั้นพี่น้องหลายพันคนออกจากบริเวณนั้นไม่ได้ ต้องหลบภัยอยู่ในวัดปทุมวนารามซึ่งถูกประกาศเป็นเขตอภัยทานก่อนหน้า แล้วตอนเย็นมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตอีกหกศพ หลายพันชีวิตผ่านคืนนั้นด้วยความอกสั่นขวัญแขวน เพราะไม่รู้ว่าปฏิบัติการของฝ่ายรัฐจะทำอะไรอีก ไม่รู้ใครจะเป็นรายต่อไป มันเป็นสภาพที่โหดเหี้ยมและเจ็บปวดมากสำหรับประชาชน

ภายหลังเหตุการณ์เหล่านั้นก็มีการดำเนินคดี ไต่สวนสาเหตุการตาย ยี่สิบกว่ารายแล้วที่ศาลชี้ว่าเสียชีวิตจากกระสุนปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ หลังการยึดอำนาจปี ๒๕๕๗ การไต่สวนสาเหตุการตายไม่เคยมีอีกเลยจนวันนี้ คดีความที่ประชาชนถูกฆ่าตายเป็นร้อยเดินไม่ถึงศาลจนปัจจุบัน
Image
นิยามใหม่ของการต่อสู้ในอดีต
ผมอยู่ในเรือนจำได้ยินว่ามีนิสิต นักศึกษานำคำปราศรัยบางเวที บางช่วงเวลาของผมไปพูดถึงไปขยายความ ความรู้สึกแรกที่ได้ยินก็คือประหลาดใจว่าเขาเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ผมรู้สึกว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงถูกนำกลับมาอธิบายใหม่ สื่อสารใหม่ ถูกนำกลับมาหยิบยื่นความเข้าใจ ความชอบธรรม จนกระทั่งหยิบยื่นความเห็นใจโดยคนหนุ่มสาว ซึ่งในช่วงเวลาที่ผมยืนอยู่กลางถนนเราเรียกหาคนกลุ่มนี้มาตลอด เราเคยตั้งคำถามหลายครั้งว่าพลังของนิสิตนักศึกษา พลังของคนหนุ่มสาวอยู่ที่ไหน ภายหลังเราก็รู้ว่าพวกเขากำลังมองพวกเราด้วยสายตาไม่เข้าใจ เชื่อว่าพวกเราคือขบวนการไร้การศึกษา ขบวนการรับจ้าง ขบวนการทำลายชาติบ้านเมือง

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะผมได้ยินคนหนุ่มสาวปัจจุบันเขาเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังว่า ณ เวลานั้นเขาเห็นคนเสื้อแดงแล้วเขาคิดอะไรอยู่ ได้รับอิทธิพลข้อมูลข่าวสารอย่างไร ผมเลยรู้สึกว่าในฐานะคนเสื้อแดงเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน แม้จะผ่านมาเป็น ๑๐ กว่าปี แต่ว่าตราบเท่าชั่วชีวิตผมและตราบเท่าที่ประเทศนี้ยังมีการบันทึกประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าการอธิบายการต่อสู้ของคนเสื้อแดง การอธิบายการถูกกระทำหรือความชอบธรรมของข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของคนเสื้อแดง ยังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผมอยู่เหมือน ๆ กับเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคนเสื้อแดงทั้งหมดที่เราต้องทำด้วยกัน 

ผมไม่ได้คิดว่าต้องทำให้ความเป็นคนเสื้อแดงดูยิ่งใหญ่ คิดเพียงแต่ต้องทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ของคนเล็ก ๆ คนหาเช้ากินค่ำ ชาวไร่ชาวนา คนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ ที่เขาเห็นเหตุการณ์ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และยอมรับไม่ได้ แล้วก็มารวมตัวกัน เกิดการเรียนรู้ เกิดพัฒนาการไปด้วยกัน นับหนึ่งมาด้วยกัน จนถึงวันเวลาที่ขบวนการนี้ถูกกระทำ ถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่เราก็ยังไม่หยุดนับการต่อสู้ของเรา แล้ววันหนึ่งการต่อสู้ของเราก็ถูกนับใหม่ ถูกให้ความหมายใหม่จากคนหนุ่มสาว 
การเมืองไทย
“ฉบับณัฐวุฒิ”

ผมต้องการให้ประเทศไทยมีกติกาสูงสุดคือรัฐธรรมนูญมีความชอบทั้งเนื้อหา ที่มา และการบังคับใช้  ความชอบธรรมของผมในเรื่องที่มาก็คือรัฐธรรมนูญต้องมาจากอำนาจสูงสุด นั่นคืออำนาจอธิปไตยของประชาชนซึ่งเป็นอำนาจสถาปนา เนื้อหาต้องชอบด้วยหลักการประชาธิปไตยและต้องเป็นสากล ไม่ใช่หลักการประชาธิปไตยที่ชนชั้นนำบางกลุ่มในประเทศไทยกำหนดขึ้นและขีดขึ้นเองว่านี่คือประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ผมว่าวิธีคิดนั้นนำมาซึ่งความขัดแย้ง ส่วนการบังคับใช้ต้องชอบด้วยหลักนิติธรรม ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เรามีรัฐธรรมนูญที่เกิดจากอำนาจเผด็จการ มันจะมีปัญหาทั้งสามเรื่อง คือ ที่มา เนื้อหา และการบังคับใช้ 

เมื่อผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมก็ต้องคาดหวังว่าภายใต้รัฐธรรมนูญทุกกลไกอำนาจ ทุกองค์กร สถาบันทางอำนาจในสังคมไทย จะอยู่ถูกที่ถูกทาง จะมีสถานะและบทบาทที่ต้องตรงตามหลักการที่เรายอมรับร่วมกันว่าเราคือประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทั้งสามประการ แล้วเนื้อหาในรัฐธรรมนูญทำให้ทุกอำนาจ ทุกองค์กร ทุกสถาบันอยู่เป็นที่เป็นทางในบทบาทที่เหมาะสม ก็จะทำให้พัฒนาการทางการเมืองไทยนำพาสังคมเดินหน้าไปสู่วิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริงได้  แน่นอนว่าต้องใช้เวลา ต้องล้มลุกคลุกคลาน บุคคลที่เข้ามามีสถานะเป็นนักการเมืองก็จะถูกคัดกรองด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ตราบเท่าที่ไม่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซง วันหนึ่งมันจะเดินอย่างถูกทาง จะมีที่ทางที่ถูกต้อง

แต่ที่เราไปไม่ถึงไหน เพราะมีการสร้างเครื่องมือของอำนาจนอกระบบมาคอยขัดขวาง โค่นล้มพัฒนาการของประชาธิปไตยในสังคมไทยมาตลอด ที่เขาเรียกว่าวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ซึ่งมีการรัฐประหารอย่างที่เราเคยเห็นมา
“ผมไม่ได้คิดว่าต้องทำให้ความเป็นคนเสื้อแดงดูยิ่งใหญ่ คิดเพียงแต่ต้องทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ของคนเล็กๆ คนหาเช้ากินค่ำ ชาวไร่ชาวนา คนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ”
Image
สังคมไทยในอนาคต
ไม่มีทางเหมือนเดิม เราดูวันที่ผมออกมาต่อสู้ นี่ก็เกือบ ๑๕ ปีแล้ว ก็จะเห็นว่ามาไกลมาก สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติทางการเมืองเยอะมาก แล้วก็เกิดพลังที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องอนาคตที่ดีกว่า เรียกร้องหลักการที่ถูกต้องอย่างเข้มแข็งแล้วต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นอย่างไร มองจากวันนี้ยังประเมินยาก แต่ไม่มีทางย่ำอยู่กับที่ ต่อให้อำนาจนอกระบบยังคงมีอิทธิพลอยู่ แต่ก็จะเผชิญกับการต่อสู้ การท้าทายที่หนักหน่วง ผมคิดว่าช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่สามารถปิดกั้นได้อีก ซึ่งจะทำให้กระบวนการมัดย้อมทางความคิดที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเคยใช้ได้ผลมาตลอดหลายสิบปีเสื่อมอิทธิพลลงเรื่อย ๆ แล้วจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจ หรือบางทีอาจกลายเป็นเรื่องเหลวไหล ขำขัน สำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้นำมาสู่ความเลวร้ายเสมอไป คนที่คิดแบบนั้นคือคนที่กังวลในอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองที่จะสูญเสียไปต่างหาก การเปลี่ยนแปลงจะนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่าของทุกฝ่ายได้ นำมาสู่สังคมอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายได้ เพียงแต่คนที่ได้เปรียบมาตลอด ได้ประโยชน์มาตลอด คงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ เท่านั้นเอง
ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ 
ผมเคารพในการตัดสินใจ เคารพในข้อเรียกร้องของเขา แล้วผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการโค่นล้มทำลายองค์กรหนึ่ง สถาบันใดในประเทศอย่างที่ถูกกล่าวหากัน เพียงแต่วิธีแสดงพลังของคนหนุ่มสาวในการเรียกร้องอาจดูเข้มข้น ดุเดือด แหลมคมเกินไปบ้างในความรู้สึกของบางคน แต่เราต้องเข้าใจว่า ๑๐ กว่าปีที่บ้านเมืองขัดแย้งได้ทำให้คนยุคนี้ต้องส่งเสียงให้ดังที่สุดเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในวิถีทางที่ถูกต้อง

ผมว่าถ้าทุกฝ่ายพยายามทำความเข้าใจสิ่งนี้ แล้วเห็นว่านี่คือกฎเกณฑ์ปรกติของความเปลี่ยนแปลง มันหาทางออกด้วยสันติวิธีได้ ข้อเรียกร้องเขาเรียกร้องกันมาแล้ว ประกาศยืนยันแล้ว เขาก็จะเดินหน้าต่อไป และนั่นเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นผู้ใหญ่ คนที่อยู่ในอำนาจ จะนำมาขบคิดพิจารณาด้วยการตระหนักรู้ว่า เขาคืออนาคตของประเทศ เขาคือพลังบริสุทธิ์ 

เขาไม่จำเป็นต้องออกมาแบกรับปัญหานี้เลย แต่ที่เขาเดินกันมา แล้วต้องถูกกระทำอะไรแบบนี้ เพราะคนรุ่นเราต่างหากแก้ปัญหากันไม่จบ ไม่เป็นธรรมกับคนหนุ่มสาวเลยนะที่เขาจะต้องมาต่อสู้ ถูกกระทำต่าง ๆ สารพัด เพื่อแก้ปัญหาที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่สร้างไว้  ที่จริงเขาต้องโตมาในสังคมที่อนาคตเป็นของคนหนุ่มสาว สังคมที่พลังของพวกเขาช่วยสร้างสรรค์ต่อยอดสิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่มาเก็บกวาดสิ่งที่มันเสียหายเลวร้ายอย่างที่กำลังเป็นอยู่  
วันสัมภาษณ์ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔