สัญลักษณ์ เพลงดนตรี
และ “ของที่ระลึก” :
แนวปะทะทางวัฒนธรรม
ใน "ม็อบ"
CULTURE
รวบรวม : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ฝ่ายภาพสารคดี, 123rf.com
นับแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน มนุษย์อาศัยสัญลักษณ์มากมายเพื่อสื่อแสดงความเป็นหมู่เป็นพวกเดียวกัน ตัวอย่างใกล้ตัวและคุ้นเคยกันดีที่สุดคือธงชาติ ซึ่งว่าที่จริงเป็นเพียงผืนผ้าที่มีแถบสีหรือลวดลายต่างๆ แม้กระนั้นธงชาติของทุกชาติล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะและหวงแหน จนอาจทำให้คนยอมกระทั่งสละชีวิตตนเองเพื่อรักษาปกป้องผ้าผืนนั้นไว้
ใน “ม็อบการเมืองไทย” ที่เคลื่อนไหวช่วง ๑๕ ปีมานี้ เต็มไปด้วยรหัสสี สัญลักษณ์ ธง คำขวัญ เพลงดนตรี เสื้อผ้า อุปกรณ์ หรือแม้แต่ “มุทรา” (อาการของนิ้วมือ) จนหลายครั้งกลายเป็นที่มาของ “สมญา” ที่ใช้เรียกแทนขบวนการ
นับแต่ “ม็อบเสื้อเหลือง” “ม็อบเสื้อแดง” “ม็อบนกหวีด” จนถึง “ม็อบสามนิ้ว”
ในที่นี้ได้ทดลองรวบรวม จัดหมวดหมู่สัญลักษณ์ที่แต่ละ “ม็อบ” เลือกใช้ นำเสนอในลักษณะตาราง เพื่อสะดวกต่อการเปรียบเทียบ แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถรับประกันได้ว่าครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ทั้งเพื่อการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ (และเป็นสิ่งสะสม) ของสังคมในวันข้างหน้า
“ม็อบพันธมิตรฯ” /
“ม็อบเสื้อเหลือง”
๒๕๔๙-๒๕๕๔
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
คำขวัญ
Motto
กู้ชาติ/เราจะสู้
เพื่อในหลวง/ลูกจีนรักชาติ
ช่องทางเผยแพร่
Channel
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม
เอเอสทีวี (ASTV)
และเว็บไซต์เอเอสทีวี
People's Alliance for Democracy (PAD)
เพลงประจำ
Theme Song
“ไอ้หน้าเหลี่ยม”
(ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)
สี่เหลี่ยมก็มีสี่ด้าน
ไอ้คนหน้าด้าน
คือไอ้หน้าเหลี่ยม
ไอ้ลิ่วล้อสิงคโปร์โตก
ไอ้ลิ่วล้อสิงคโปร์โตก
มันจะตกนรก
กะลาหัวไม่เจียม
“หนักแผ่นดิน”
(คำร้อง/ทำนอง :
พันเอก บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก)
เพลงปลุกใจ “ขวาพิฆาตซ้าย” จากปี ๒๕๑๘ ถูกนำมาขับร้องและบรรเลงบนเวทีการชุมนุมหลายต่อหลายครั้งเพื่อ “ลดทอน” ความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม
คนใดใช้ชื่อไทยอยู่
กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์
แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย
คนใดเห็นไทยเป็นทาส
ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังฝังทำกินกอบโกยสินไทยไป
เหยียดคนไทยเช่นทาสของมัน
“สู่ฝันอันยิ่งใหญ่”
(แปลจากเพลง “The Impossible Dream” ในละครเพลงมิวสิคัล The Man of La Mancha (สู่ฝันอันยิ่งใหญ่) คำร้องภาษาไทยโดยครูชาลี อินทรวิจิตร นำมาขับร้องบนเวทีการชุมนุมโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง นักแสดงผู้เคยรับบทนำในละครเพลงเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๓๐)
สุดมือ เอื้อมคว้าข้าจะฝัน
กล้าหาญ ราญรบอริร้าย
ชีวิต จะปลิดปลดมิลดละง่าย
จะไป ถิ่นอันคนกล้ายังถอย
วรรคทอง
Quoted
"The food
was excellent,
the music
was excel-
lent."
(อาหารดี ดนตรีไพเราะ)
นายกษิต ภิรมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการชุมนุมระหว่างการสัมมนาที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๑
สื่อ
Media
แผ่น VCD รายการ
“เมืองไทยรายสัปดาห์”
สิ่งพิมพ์
Print
รู้ทันทักษิณ
(เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ๒๕๔๗)
องค์กรการกุศล
Foundation
มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน
เครื่องแต่งกาย
Costume
เสื้อยืดสีเหลือง/ผ้าโพกหัวสีเหลือง การใช้เสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว เชื่อว่าเริ่มจากนัดกันสวมเสื้อยืดที่ระลึกในโอกาสรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี (๒๕๔๙) ซึ่งเป็นของประจำบ้านที่มีกันอยู่แล้ว
สินค้าของที่ระลึก
Merchandise
มือตบ
ของเล่นพลาสติกรูปมือมีด้ามจับ ใช้เขย่าให้ชิ้นที่เป็นรูปฝ่ามือสองข้างกระทบกันเป็นเสียงดัง กล่าวกันว่าเริ่มใช้เพื่อเชียร์กีฬาในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกามาก่อน
เข็มกลัดกลม “กู้ชาติ”
(สั่งผลิตโดยนักแสดงสาว “พริก” กานต์ชนิต ซำมะกุล)
เข็มกลัดสี่เหลี่ยม
“เหลี่ยมจัด Get Out” (ชิ้นละ ๒๐ บาท ผลิตโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย-สนนท.)
จานดาวเทียมเอเอสทีวี
มีทั้งขนาดเล็ก (๑,๖๕๐ บาท)
และขนาดใหญ่ (๒,๑๕๐ บาท)
ประกาศนียบัตร
“มหาวิทยาลัยราชดำเนิน"
หลักสูตรกู้ชาติ กู้แผ่นดิน (๑๐๐ บาท) พร้อมลายเซ็นแกนนำทั้งห้าคน คือ พลตรี จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวกันว่าจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า ๕ หมื่นแผ่น
“ม็อบเสื้อแดง”
๒๕๕๐-๒๕๕๓
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
คำขวัญ
Motto
แดงทั้งแผ่น ดิน/
ฤๅเลือดไพร่ มันไร้ค่า
ช่องทางเผยแพร่
Channel
สถานีโทรทัศน์ People Channel, D-Station และเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชน
United Front of Democracy Against Dictatorship (UDD)
เครื่องแต่งกาย
Costume
เสื้อแดง ปักโลโก้รายการโทรทัศน์
“ความจริงวันนี้ Truth Today”
สิ่งพิมพ์
Print
• 19-19 : ภาพ ชีวิตและการต่อสู้ของคนเสื้อแดง (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)
• กรุงเทพฯ (ไม่) มีคนเสื้อแดง : บันทึกการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกรุงเทพฯ โดย “ปืนลั่นแสกหน้า” (สำนักพิมพ์อ่าน)
เพลงประจำ
Theme Song
“รักคนเสื้อแดง”
(โดย “แป๊ะ บางสนาน”)
อาหารและเครื่องดื่ม
Food & Drinks
เครื่องดื่ม
“ทักษิณ..สู้”
สินค้าของที่ระลึก
Merchandise
เท้าตบหรือ “ตีนตบ”
เพื่อเป็นสัญลักษณ์
ขั้วตรงข้ามกับ “มือตบ”
ของ “ม็อบพันธมิตรฯ”
และหัวใจตบสีแดง
“ม็อบ กปปส.”/
“ม็อบนกหวีด”
๒๕๕๖-๒๕๕๗
คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และเครือข่าย เช่น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
คำขวัญ
Motto
“รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ”/
มวลมหาประชาชน/
ล้มล้างระบอบทักษิณ/
ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
ช่องทางเผยแพร่
Channel
สถานีโทรทัศน์ Blue Sky รายการ “สายล่อฟ้า”
สื่อ
Media
Facebook
People's Democratic Reform Committee (PDRC)
เครื่องแต่งกาย
Costume
นกหวีดคล้องคอ
เพลงประจำ
Theme Song
“สู้ไม่ถอย”
(คำร้อง/ทำนอง : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
เพลงจากยุค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ถูกนำมาขับร้องบนเวทีการชุมนุมเสมอ
สู้เข้าไปอย่าได้ถอย
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
“แสงดาวแห่งศรัทธา”
(คำร้อง/ทำนอง : จิตร ภูมิศักดิ์)
การพลิกกลับตาลปัตรของความหมายจากเพลง “ฝ่ายซ้าย” สู่ม็อบฝ่ายขวา
พร่างพรายแสง
ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราว
ไกลแสนไกล ดั่งโคมทอง
ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำ
จากห้วงทุกข์ทน
วรรคทอง
Quoted
“ถ้าไม่ชนะผมจะไม่กลับไปเหยียบในสภา ถ้าล้มรัฐบาลไม่ได้ผมจะผูกคอตาย”
สุเทพ เทือกสุบรรณ
พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เครือข่ายทัศนศิลป์
Artistic Movement
กลุ่มศิลปิน “อาร์ตเลน” (Art Lane)
โดยแฟชั่นดีไซเนอร์ คณาจารย์บางคน ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง และนักศึกษาปัจจุบัน จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
สิ่งพิมพ์
Print
นิตยสารหลายฉบับ
เช่น ลิปส์ ดิฉัน แพรว ตามกระแสด้วยการใช้ภาพแกนนำ กปปส. เป็นปกและภาพเซตแฟชั่น มีการพิมพ์หนังสือว่าด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หลายเล่ม เช่น อัตชีวประวัติ The power of change : กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ (ลิปส์ พับลิชชิ่ง ๒๕๕๗) และ การ์ตูนประวัติบุคคลสำหรับเยาวชน สุเทพ เทือกสุบรรณ (คำนำโดย ชวน หลีกภัย สำนักพิมพ์นานมี ๒๕๕๗) นอกจากนั้นยังมีหนังสือรุ่น มวลมหาจุฬาชน ซึ่งจัดทำเป็นที่ระลึกของ “ชาวจุฬาฯ” ในการเข้าร่วมม็อบ กปปส. โดยเฉพาะที่น่าสนใจคือหนังสือรวมบทกวี กวีภิวัฒน์ จัดพิมพ์โดย “เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งระบุว่านำรายได้ “ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต จากการเรียกร้องทางการเมืองร่วมกับ กปปส.”
“นกหวีดปฏิวัติ จะตัดสินความเป็นไทย หวีดเสียงประกาศชัย แห่งมวลมหาประชาชน”
(บางส่วนจาก “นกหวีดปฏิวัติ” โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ)
องค์กรการกุศล
Foundation
มูลนิธิมวลมหาประชาชน
“ม็อบสามนิ้ว”
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ มีผู้จัดการชุมนุมหลากหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกัน หรือแม้แต่กลุ่มเดิมก็มีการเปลี่ยนชื่อหรือรวมตัวกัน
ด้วยชื่อใหม่ ที่เห็นชื่อคุ้นตา ได้แก่ คณะประชาชนปลดแอก (เปลี่ยนชื่อจาก “เยาวชนปลดแอก”)/แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม/ คณะราษฎร ๒๕๖๓ (การรวมกันของเยาวชนปลดแอกกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มราษฎร” ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มย่อยๆ เช่น มหานครเพื่อประชาธิปไตย/รีเด็ม (Restart Democracy - REDEM) / นักเรียนเลว / คณะเฟมินิสต์ปลดแอก/เสรีเทย/Spring Movement ฯลฯ
คำขวัญ
Motto
ให้มันจบที่รุ่นเรา
เครื่องแต่งกาย
Costume
เสื้อยืดหลากหลายลวดลาย จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายระดมทุนโดยกลุ่มต่างๆ น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่มักเป็นพื้นสีดำ
สื่อ
Media
ทวิตเตอร์-Twitter
เฟซบุ๊กไลฟ์-Facebook Live
ติ๊กต็อก-Tik Tok
เทเลแกรม-Telegram
สัญลักษณ์
Corporate Identity
การยกแขน มือชูสามนิ้ว
(นิ้วชี้-นิ้วนาง-นิ้วกลาง)
ซึ่งมีต้นแบบมาจากท่าแสดงความเคารพในภาพยนตร์ชุด The Hunger Games เริ่มปรากฏชัดเจนในเวทีการเมืองไทยหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยมีนัยต่อต้านเผด็จการทหาร เช่น ฤทธิพงษ์ มหาเพชร (มิถุนายน ๒๕๕๗), ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และเพื่อนนักศึกษากลุ่มดาวดิน ชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จังหวัดขอนแก่น (พฤศจิกายน ๒๕๕๗), นัชชา กองอุดม ชูสามนิ้วหน้าโรงภาพยนตร์ที่กำลังฉาย The Hunger Games (พฤศจิกายน ๒๕๕๗) จากนั้น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ ชูสามนิ้วอีกหลายครั้งช่วงปี ๒๕๖๒ เพื่อแสดงการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร จนกลายเป็นประติมากรรมบนพานไหว้ครู โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ ช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา ๒๕๖๒ ต่อมาเมื่อการชุมนุมขยายตัว กลางเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศพากันผูกโบขาวที่ข้อมือ พร้อมชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติหน้าเสาธงตอนเช้า จนหลายโรงเรียนตัดสินใจประกาศยกเลิกกิจกรรมการร้องเพลงชาติ และเมื่อเครือข่ายต่างๆ รวมตัวกันตั้งโต๊ะแถลงข่าวจัดตั้ง “คณะราษฎร” ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ หนึ่งในสิ่งที่แกนนำทั้งหมดทำร่วมกันเป็นสัญลักษณ์คือ “ชูสามนิ้ว”
Free YOUTH-Free People / United Front of Thammasat and Demonstration (UFTD) / Restart Democracy (REDEM) / The Ratsadon
อาหารและเครื่องดื่ม
Food & Drinks
มีผู้ให้การสนับสนุนอาหาร/เครื่องดื่มแก่ผู้ชุมนุม หรือที่เรียกว่า “ท่อน้ำเลี้ยง”
หลายราย เท่าที่มีการเปิดเผยตัว เช่น นักแสดงสาว “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ “แม่ยกแห่งชาติ” ถึงขนาดจัดตั้ง “โรงครัวแม่นาก” ในการชุมนุมบางครั้ง และสั่งผลิตสินค้าเพื่อแจกจ่ายในภารกิจ “รันม็อบ” โดยเฉพาะเช่น “น้ำดื่มตาใส” ที่ใช้ตัวการ์ตูนของ “ไข่แมว” เป็นสัญลักษณ์
คุกกี้รูปหมุดคณะราษฎร
ในการชุมนุมบางครั้ง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเพื่อน นำคุกกี้รูปหมุดคณะราษฎรมาจำหน่าย ราคาชิ้นละ ๒๔.๗๕ บาท
ลูกชิ้น CIA
ระหว่างการชุมนุมปี ๒๕๖๓ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างขาย “สตรีตฟู้ด” เช่น ลูกชิ้นทอด ไก่ทอด ขนมจีบ ซาลาเปา ไส้กรอกอีสาน มักเคลื่อนขบวนตามไปขาย ไม่ว่าการชุมนุมจะนัดหมายเคลื่อนย้ายกันอย่างไร จนได้รับสมญาว่า “ลูกชิ้น CIA” ตามชื่อหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพราะสามารถแจ้งข่าวสถานที่ชุมนุมและขี่ตามมาจอดรอลูกค้าอย่างรวดเร็ว
น้ำปลาร้าปรุงสุกตราวีโว่ (WeVo)
มิถุนายน ๒๕๖๔ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้ากลุ่มการ์ดอาสา WeVo (We Volunteer) ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม เริ่มผลิต “น้ำปลาร้าปรุงสุกตราวีโว่ (WeVo) ออกขายในที่ชุมนุม รวมถึงจัดจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Shopee ผู้ผลิตระบุว่า “คนซื้อเขาจะซื้อไปกินหรือซื้อไปปา ผมคงไม่ทราบได้”
ช่องทางเผยแพร่
Channel
ในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์
นำแฮชแท็ก (# hashtag) มาใช้จัดกลุ่ม “ทวีต” (ข้อความ) ซึ่งมีประเด็นร่วมกันหรือคล้ายกัน สร้างแนวร่วมเสมือนเป็น “ชุมชน” อันทรงพลัง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เริ่มปรากฏแฮชแท็กเป็น “ชื่อ” การชุมนุมของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ (มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์) #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ช่วงกลางปีเมื่อมีการชุมนุมถี่ขึ้นจึงเกิดแฮชแท็กต่างๆ อีกมากมาย หลายครั้งมียอดทวีตหลายล้าน ทั้งที่เป็นนามเครือข่ายผู้จัดชุมนุม อย่าง #นักเรียนเลว #เยาวชนปลดแอก #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม #คณะราษฎร2563 เป็นชื่อของการชุมนุมแต่ละครั้ง เช่น #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร #16ตุลาไปแยกปทุมวัน #25พฤศจิกาไปSCB
บางครั้งมีการตั้งชื่อเฉพาะ เหมือนเป็นคำขวัญประจำการชุมนุม เช่น #ให้มันจบที่รุ่นเรา (เยาวชนปลดแอก ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓) #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน (แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓) #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ (คณะประชาชนปลดแอก ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓) #ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ (๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๓) #เลิกเรียนไปกระทรวง (นักเรียนเลว ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๓)
ยิ่งเมื่อการชุมนุมแพร่ขยายไปตามจังหวัดต่างๆ จึงเกิดแฮชแท็กชื่อจังหวัดขึ้นอีก เช่น #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo #สารคามเผด็จการบ่ต้อง #แป้แกนต๋าเผด็จการ #ขอนแก่นพอกันที #อุดรสิบ่ทน #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ #สุราษฎร์จะฟาดเผด็จการ จนถึงระดับภูมิภาค เช่น #อีสานบ่ย่านเด้อ #อีสานสิบ่ทน หลายครั้งเป็นการสื่อสารข้ามพรมแดนรัฐชาติ เช่น #whatishappeninginthailand / #whatshappeninginthailand (เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย-เพื่อให้ชาวโลกหันมาสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศ) #milkteaalliance (พันธมิตรชานม-เครือข่ายต่อต้านรัฐบาลจีนและรัฐบาลเผด็จการ ในฮ่องกง ไต้หวัน และไทย)
อุปกรณ์และสัตว์สัญลักษณ์
Props/Mascot
โบขาว
ใช้กันแพร่หลายในการชุมนุมของนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม “นักเรียนเลว” ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ๒๕๖๓ มีทั้งผูกข้อมือ ผูกหูกระเป๋านักเรียน หรือผูกที่ประตูรั้วกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ ขณะเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎรที่หน้าห้างสยามพารากอน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ Spaceth.co หนึ่งในผู้ชุมนุม เดินเข้าหาตำรวจปราบจลาจล พร้อมยื่นโบขาวสัญลักษณ์ของสันติภาพให้ ก่อนถูกลากตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไป
หมุดคณะราษฎรใหม่
ต้นแบบเป็นแผ่นทองเหลือง ซึ่งมีพิธีฝังหมุดที่ท้องสนามหลวง ตอนเช้าวันที่ ๒๐ กันยายน ต่อเนื่องจากการชุมนุม “๑๙ กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งจัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อคืนก่อน
มือตบชูสามนิ้ว
ผลิตออกจำหน่ายในการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๓ แต่ไม่แพร่หลายนัก
เป็ดเหลือง
เป็ดยางเป่าลมสีเหลืองขนาดยักษ์ปรากฏตัวในที่ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” ครั้งแรกที่หน้ารัฐสภา “สัปปายะสภาสถาน” ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ตามคำประกาศของผู้จัดการชุมนุมที่ว่า “จะปิดล้อมรัฐสภาทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ” เพื่อกดดันให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากวีรกรรมระหว่างการปะทะกับรถฉีดน้ำ จึงมีการ “อวยยศ” เรียกกันว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์”
ภาพ : วริศ โสภณพิศ
สิ่งพิมพ์
Print
1984 (ออร์สัน เวล)
ปีศาจ (เสนีย์ เสาวพงศ์)
ชุดหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เช่น ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา ๒๔๙๑-๒๕๐๐ (ณัฐพล ใจจริง)
รวมการ์ตูน ไข่แมว by ไข่แมว (๒๕๖๑) และ ไข่แมว X (๒๕๖๔)
ยังมีการจัดพิมพ์คำปราศรัยของแกนนำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ซึ่งไม่ระบุนามผู้จัดพิมพ์ โดยแจกจ่ายให้ทั้งตัวเล่มและไฟล์ที่ดาวน์โหลดได้ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ถอดจากคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓
เครือข่ายทัศนศิลป์
Artistic Movement
เพจเฟซบุ๊กกลุ่ม “นักวาดภาพประกอบประชาธิปไตย”/เพจการ์ตูนการเมือง “ไข่แมว”/เพจ “The Art District86”/เพจ “PrachathipaType” ของนักออกแบบตัวอักษร/เพจ pssyppl./เพจนักเขียนการ์ตูนอิสระ “Sa-ard สะอาด”
เพลงประจำ
Theme Song
“ประเทศกูมี”
โดยกลุ่มนักร้องแรปเปอร์คนไทย Rap Against Dictatorship - RAD มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย เริ่มเผยแพร่ผ่าน YouTube ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ภายในสัปดาห์เดียวมียอดผู้เข้าชม ๑๖ ล้านวิว กลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามหาช่องทางเล่นงาน ศิลปิน RAD ยังนำเพลงนี้มาร้องบนเวทีการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกในคืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ไม่กี่วันต่อมา เดชาธร บำรุงเมือง หรือฮอคกี้ Hockhacker หนึ่งในนักร้อง ถูกตำรวจนำหมายจับจากศาลอาญาเข้าจับกุมที่หน้าบ้านต่อหน้าภรรยาและลูก ปัจจุบัน (สิงหาคม ๒๕๖๔) คลิปวิดีโอเพลงนี้ใน YouTube มียอดผู้เข้าชมกว่า ๑๐๐ ล้านวิว
“วิ่งนะแฮมทาโร่”
(ดัดแปลงเนื้อร้องจากเพลงไตเติลการ์ตูนญี่ปุ่นชุด “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย”) ใช้ในการชุมนุมที่เรียกกันว่า “ม็อบแฮมทาโร่” รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓
เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่
ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่
ของอร่อยที่สุดก็คือ…ภาษีประชาชน
“1 2 3 4 5 I HERE TOO”
(แปลงเนื้อร้องจาก “1 2 3 4 5 I LOVE YOU”) แอมมี่ หรือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักร้องนำ The Bottom Blues นำมาขับร้องบนเวทีชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๓ ก่อนจะได้รับความนิยมนำไปขับร้องพร้อมกันตามผับบาร์อย่างแพร่หลาย
“เธอได้ยินผู้คนร้องไหม?”
(แปลจากเพลง “Do You Hear The People Sing?” จากละครเพลง Les Misérables หรือ เหยื่ออธรรม) เพลงนี้เคยใช้ทั้งในการชุมนุมของ พธม. และ กปปส. มาก่อน เริ่มนำมาร้องอีกครั้งระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ในภาคภาษาอังกฤษ ภายหลังนำเนื้อร้องภาษาไทยไปขับร้องบนเวทีการชุมนุมอีกหลายครั้งช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๓
“สีดาลุยไฟ”
[แปลจากเพลงภาษาสเปน “Un violador en tu camino” (“A Rapist in Your Path”) เริ่มนำมาร้องในการชุมนุมของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก พฤศจิกายน ๒๕๖๓]
“เราคือเพื่อนกัน”
เพลงจากปี ๒๕๕๘ ของวงดนตรีสามัญชน ที่แต่งขึ้นในบรรยากาศการคุกคามทางการเมืองหลังรัฐประหาร ด้วยจังหวะดนตรีร็อก ปลุกใจให้ฮึกเหิม เมื่อวงสามัญชนนำไปบรรเลงบนเวทีการชุมนุมหลายสิบครั้งในปี ๒๕๖๓ หลายคนจึงเปรียบเทียบว่านี่คือ “เพลงชาติ” ประจำการชุมนุม
หากเธอได้ยินเสียงเพลงบรรเลง
เธอจงกลับไปเรียกไพร่พล
มันคือท่วงทำนองของสามัญชน
คนธรรมดาอย่างเรา
หากเธอได้ยินเสียงกลองกระหน่ำ
มันคือเสียงเท้าของมวลชน
กระหึ่มด้วยแรงประสานของเสรีชน
คนใต้ฟ้าเดียวกัน
“เพื่อมวลชน”
เพลงของ “จิ้น กรรมาชน” (กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) ตั้งแต่ยุคการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาในปี ๒๕๑๗ ถูกนำมาขับร้องบนเวทีการชุมนุมโดยวงดนตรีสามัญชนเช่นกัน
ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน
ติดปีกบินไปให้ไกล ไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว
เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี
“ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะ
ได้เห็นประเทศชาติปลอดจาก
ระบอบเผด็จการและปลอด
จากระบอบอนาธิปไตย
คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตย
อันพรั่งพร้อมไปด้วย
ความสามัคคีธรรม”
ปรีดี พนมยงค์
มันสมองของคณะราษฎร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภา วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙
ขอขอบคุณ
คุณกฤช เหลือลมัย ผศ. ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
และคุณสุภาภรณ์ อัษฎมงคล สำหรับข้อท้วงติงและความคิดเห็น