“เราสร้างจุดยืนว่าเนื้อหาเรา
เป็นเรื่องของกลไกเสรี 
แต่ต้องไม่เบียดเบียนใคร”
เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย 
Media
สัมภาษณ์ : ชยพล มาลานิยม
ภาพ : วริศ โสภณพิศ
เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทวอยซ์ทีวี จำกัด (Voice TV)

“คุณปิดกั้นเขา แต่คุณกำลังสร้างภาระให้ประเทศ คุณเลื่อนปัญหาออกไปแทนที่ควรปล่อยให้เป็นกลไกตลาด คุณควรส่งเสริมให้สังคมเคารพการตัดสินใจของส่วนรวมก็เท่านั้นเอง”
ท่ามกลางความขัดแย้ง
ทางการเมืองในประเทศ วอยซ์ทีวี
วางบทบาทและจุดยืนไว้อย่างไร

วิสัยทัศน์แรกสุดของวอยซ์ทีวี คือเราประเมินว่าประเทศไทยก้าวข้ามวิวัฒนาการทางการเมืองแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จนเมื่อถึงช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๔๙ ประเทศก็เจริญเติบโตมาด้วยดี มีพัฒนาการก้าวกระโดด แต่พอเกิดรัฐประหาร ประเทศถูกเหวี่ยงกลับไปที่เดิมก่อนปี ๒๕๔๐ สื่อที่ตั้งหลักว่าจะมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของสังคมและอุตสาหกรรมก็ถูกเหวี่ยงกลับไปมีประเด็นคู่ขนาน คือประเด็นของหลักนิติธรรม ดังนั้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ เนื้อหาของเราจึงเริ่มมีน้ำหนักไปทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างเข้มข้น และช่วงปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา สื่อก็ถูกกำกับ จำกัด และกดดันหลายอย่าง

พอเหตุการณ์เป็นไปในลักษณะนี้ก็เกิดความแตกแยกในระดับหนึ่งทีเดียว แต่บทบาทของเรายังเหมือนเดิม คือมุ่งมั่นจะทำให้คนได้รับรู้ทุกซอกมุมของความเคลื่อนไหว ในขณะเดียวกันความเชี่ยวชาญของเราคือกลไกตลาดเสรี ซึ่งเป็นทั้งอุตสาหกรรมและหลักนิติธรรม เรายืนหยัดตรงจุดนี้ตลอด ๑๒ ปีที่ก่อตั้งขึ้นมา พอประเทศเกิดประเด็นทางการเมืองก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีประชาธิปไตยอยู่กับเรามากมาย แต่กลับกลายเป็นว่า วอยซ์ฯ เคยถูกผลักให้ไปอยู่ในฐานะอื่น ถ้าแรง ๆ เลยก็ “ควายแดง” แต่ความจริงวันนี้มันไม่ใช่ ทุกคนก็รู้ว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดเสรีประชาธิปไตย

จุดยืนเราเหมือนเดิม ในแง่เนื้อหาเราก็เปิดเวทีให้คนมีความสามารถ แต่สังคมกลับชี้เป้าว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มีปัญหา จึงเกิดรัฐประหารขึ้นมาและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้ง ผมไม่อยากสรุปเองว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ดีที่สุด แต่ในฐานะของผู้สร้างสรรค์เนื้อหาที่เชี่ยวชาญด้านกลไกตลาดเสรี เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญหรือนิติธรรมมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๔๐
Image
ความเชื่อมโยงของวอยซ์ทีวีกับตระกูล “ชินวัตร” ถือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่สื่อหรือไม่
ทุนก็คือทุน ผู้ลงทุนเขาตั้งโจทย์มาแบบไหนก็ทำแบบนั้น โจทย์ที่ผู้ถือหุ้นให้มาคือสร้างเวทีเสรีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เพราะคนเหล่านี้จะสร้างสังคมที่มีพลังมากกว่าคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ได้เร็วกว่า พวกเขาควรก้าวกระโดดไปไกลกว่า ถ้าสังคมได้คนมีความสามารถเป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หรือรัฐบาล ก็ส่งผลดีทั้งนั้น แต่ถ้าได้คนไม่มีความสามารถก็จะแย่ ผู้ถือหุ้นมองว่าวอยซ์ฯ เป็นกิจการเพื่อสังคม โดยไม่ได้สนใจจะแสวงหาผลกำไร แต่มุ่งสร้างโอกาสให้คนมากที่สุด สุดท้ายสังคมจะเลือกคนเก่งไปทำงานด้วยเสียงส่วนใหญ่และเขาจะทำให้สังคมนั้นเจริญขึ้น ปรัชญาที่ผู้ถือหุ้นให้มามีแค่นี้

ส่วนประเด็นที่คนมองว่าเราเป็นเครื่องมือโจมตีชาวบ้าน ผมเฉย ๆ ไม่มีอะไร ผมมองว่าผู้ดำเนินรายการและนักวิชาการของวอยซ์ฯ ไม่ใช่คนที่ใครจะสั่งเขาได้ คนเหล่านี้มีความเป็นผู้นำสูงมาก สูงกว่าหัวหน้าองค์กรหรือหัวหน้าสถาบัน เขาต้องคาดการณ์ได้ว่าใครจะทำอะไรต่อ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ต้องแสดงความคิดเห็นในทันทีทันใดต่อเรื่องต่าง ๆ ต้องคอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่รวบรวมมา แล้ววิเคราะห์ตามทัศนะที่เขาเห็นหรือเชี่ยวชาญ ดังนั้นไม่ใช่ใครจะมาซื้อหรือจ้างเขาได้

ส่วนผสมของวอยซ์ฯ ที่วางไว้คือสื่อมวลชนกับนักวิชาการ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เปิดสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นต่าง เป็นกลไกตลาดเสรีเสมอ
นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา วอยซ์ทีวีถูกภาครัฐกำกับและจับตาอย่างเข้มงวด สังเกตได้จากการถูกสั่งปิดหรือระงับการออกอากาศหลายต่อหลายครั้ง ในฐานะผู้บริหารองค์กร คิดว่าควรวางตัวอย่างไร
เราโดนสั่งปิดมา ๒๘ หน ตั้งแต่ผมอยู่วอยซ์ฯ มา ๖ ปี เข้ามาหลังรัฐประหารไม่นาน ตอนนี้สถานการณ์ของสื่อแย่หมดมีสองมิติด้วยกัน มิติแรกคืออุตสาหกรรมแย่ด้วยตัวมันเอง ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างมาก อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศขนาดนี้ควรจะถูกทำให้มีผลประกอบการและพัฒนาการก้าวหน้า แต่นอกจากจะมีสถานการณ์เทคโนโลยีพลิกผัน (disruptive technology) อุตสาหกรรมสื่อยังถูกกำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือโดยรัฐบาล จนทั้งอุตสาหกรรมนี้ไม่มีการเจริญเติบโต นี่เป็นการเสียโอกาสของประเทศ อีกมิติหนึ่งคือการปิดกั้น ยิ่งปิดกั้นก็ยิ่งเลื่อนปัญหาออกไปเรื่อย ๆ การปิดกั้นไม่ให้เสียงส่วนใหญ่รู้สึก แล้วคุณฟันธงว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเปิดกว้างให้เข้าถึงข้อมูลจนเข้าใจได้ว่าอันไหนดีหรือไม่ดี เขาก็ต้องเลือกตามที่ถูกจำกัดไว้ มันจึงไม่ได้ของที่ก้าวหน้าที่สุด นี่คือปัญหาที่ผมเห็น
Image
ถ้าถามว่าเราถูกปิดกั้นไหม ผมพูดชัด ๆ เลยว่าโดน แต่แอบทำกันแบบไหนบ้างก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ผลก็คือคุณปิดกั้นเขาแต่คุณกำลังสร้างภาระประเทศ คุณเลื่อนปัญหาออกไปแทนที่ควรปล่อยให้เป็นกลไกตลาด คุณควรส่งเสริมให้สังคมเคารพการตัดสินใจของส่วนรวมก็เท่านั้นเอง แต่ถ้าเกิดคุณบังคับให้คนตัดสินใจทำตามเฉพาะอย่าง โดยคุณคาดหวังว่ามันจะดี แต่ถ้ามันไม่ดีขึ้นมา ผลก็เหวี่ยงกลับเละเทะ ผมจึงบอกว่ากลไกเปิดดีที่สุด เพราะไม่ว่าอย่างไรสังคมจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดอยู่ดี เราแค่สร้างจังหวะให้มัน อีก ๔ ปีค่อยว่ากันจะเอาต่อหรือไม่เอา ก็แค่นั้นเอง

ตอนอยู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล คือช่วงต้นปี ๒๕๖๒ วอยซ์ฯ ถูกสั่งปิดเป็นครั้งที่ ๒๘ โดยที่ร้องเรียน กสทช. ไม่ได้ ด้วยกรอบกฎหมายระบุว่า กสทช. เป็นองค์-กรอิสระ ดังนั้นวิธีที่ผมจะอุทธรณ์ได้คือต้องไปที่ศาลปกครองอย่างเดียว ผมบอกเขาว่าคุณไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพนี้มาเคาะว่าผิดถูก แต่คุณใช้ดุลยพินิจตัวเอง ผมพูดตรง ๆ ต่อหน้าในที่ประชุม ผมบอกเขาว่าเราไม่ผิด แต่จะพยายามให้ความร่วมมือ ผมก็ลดเวลาอาจารย์คนนั้นคนนี้ เตือนเขา บอกว่าผมขอให้คุณทำให้ถูกใจเขาหน่อย ไม่ได้ถูกต้องนะ แต่ถูกใจเขา ที่เขามีการบ้านส่ง ระหว่างที่เราปิด ประชาชนก็ไปหาในกูเกิล “จะดูช่องวอยซ์ฯ ได้ที่ไหน” “จากนี้ไปจะเป็นยังไง” เต็มไปหมด แล้วถ้าสมมุติสั่งปิดไปเลย ผมก็เปิดใหม่ได้อีก เปลี่ยนชื่อได้อีก ทำได้หมดเลย แล้วจะสั่งปิดไปทำไมก็ไม่รู้ 

ถ้าผมหมิ่นประมาทใครก็บอกผมมา ผู้ดำเนินรายการช่องเราหมิ่นประมาทใครก็ฟ้องเราได้ แล้วเราก็สร้างจุดยืนว่าเนื้อหาเราเป็นเรื่องของกลไกเสรี แต่คำว่า “เสรี” นั้นต้องไม่เบียดเบียนใคร เราเปิดเวทีให้คนมีความสามารถและคนรุ่นใหม่ เพราะคนเหล่านั้นจะทำให้สังคมเจริญที่สุด แต่ถ้าคนรุ่นเก่าทำได้ดีกว่า เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็ตามนั้นเลย เพราะสังคมจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดอยู่ดี
คิดว่าสถานการณ์ในประเทศไทย
ควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เคยมีคนบอกว่า ๘๐ ปีถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการต่าง ๆ แต่ผมมองว่ามันสั้นลงกว่านั้นเยอะ ผมเห็นภาพรัฐสวัสดิการ เห็นนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) ผมมองว่ารัฐบาลมีหน้าที่เริ่มสิ่งที่ยังไม่มาและอุดสิ่งที่หายไป รัฐบาลมีหน้าที่แค่นี้ ตรงกลางเป็นหน้าที่เอกชน รัฐบาลต้องมีขนาดเล็กและเก่งจึงจะไม่เป็นอุปสรรคของสังคม และรัฐบาลต้องเปลี่ยนการนำเข้าให้เป็นส่งออกได้ คือซื้อของเขามาใช้ จนกลายเป็นผลิตเอง แล้วก็นำไปแลกทรัพยากรมา ที่สำคัญรัฐบาลต้องทำให้การหมุนเวียนในประเทศดี ไปหยิบทรัพยากรจากต่างประเทศมาได้ แล้วเอาไปจัดสรรให้คนในประเทศ ผู้บริหารประเทศจะสำคัญมาก หมดยุคที่ใครก็ไม่รู้ กเฬวราก มาเป็นรัฐมนตรีแล้ว คือถ้ายังอยู่ในโลกนี้อีก คุณก็สร้างภาระให้ประเทศและทำให้ประเทศล้าหลัง
หากเกิดรัฐประหารอีกครั้ง 
จะทำอย่างไร

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร ทั้งวอยซ์ฯและสื่ออื่น ๆ ควรต้องพัฒนาตามความถนัด ไม่ว่าสื่ออนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมก็ตามแต่ คุณต้องพัฒนาและสร้างข้อมูลที่แตกฉานสู่สังคม สังคมจะได้รู้ว่าควรมีรัฐประหารดีไหม เวลาจะมีหรือไม่มี จะได้มีเสียงสะท้อนให้เห็น ถ้ามีรัฐประหารอีกวอยซ์ฯ ก็ทำเหมือนเดิม เราก็โดนจำกัดมากขึ้น โดยธรรมชาติที่ผมประสบมา เขาไม่ปล่อยให้เราพูด เวลามีปัญหาว่าสังคมไม่ร่วมมือหรือต่อต้าน รัฐซึ่งถือเงินภาษีหลักของประเทศมีหน้าที่ต้องสื่อสารให้คนเหล่านั้นเข้าใจ ไม่ใช่มีหน้าที่ปิดกั้น

โดยรวมผมว่าทุกคนทำเหมือนเดิม แต่ถ้าไม่มีรัฐประหารระยะหนึ่ง แล้วเป็นลักษณะของระบบตัวแทนที่เป็นกลไกตลาดโปร่งใส มันจะเปลี่ยนประเด็นจากหลักนิติธรรมไปเป็นพัฒนาการได้ ถ้ามัวแต่รัฐประหารก็จะชักเย่อกันไปอย่างนี้ ผมอยากให้เรามาแข่งขันกันทางการเงิน ทางพัฒนาการ ไม่ใช่แข่งกันเรื่องของหลักนิติธรรมว่าใครถูกใครผิด มันน่าเบื่อและจะเสียไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ผมคุยกับลูกว่าอีกหน่อยจะมีหุ่นยนต์ มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ว่าเรายังอยู่ในบ่วงของหลักนิติธรรมอยู่เลย ก็อธิบายให้เขาฟังว่า ความสุขของคนรุ่นผมคือความสำเร็จของคนรุ่นเขา voice of new generation กำลังจะเปลี่ยนเป็น voice of next generation ผมต้องทำหน้าที่ new generation แบบนี้ถึงจะทำให้คนกินดีอยู่ดีและศิวิไลซ์ 
วันสัมภาษณ์ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔