ข้อเสนอที่เป็นไปได้ในระบบ 
จะสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลง 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 
กับร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์
Law
สัมภาษณ์ : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
Image
หนึ่งในตัวแปรของการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๖๓ นอกเหนือจากการชุมนุมบนท้องถนน คือการยื่นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) ผ่านแคมเปญ “ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ตั้งโต๊ะให้คนเข้าชื่อระหว่างการจัดชุมนุมแต่ละครั้ง ทำให้นอกเหนือจากที่คนออกมาแสดงความคับข้องต่อรัฐบาล ยังมีข้อเสนอต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสูงสุดของประเทศอีกด้วย

ไอลอว์รวบรวมรายชื่อได้ถึง ๑๐๐,๗๓๒ รายชื่อภายในเวลาไม่นาน (จากความต้องการผู้เสนอเข้าชื่อ ๕ หมื่นรายชื่อขึ้นไป) 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ทำงานที่นี่มาตั้งแต่เริ่มต้น คือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการรณรงค์ดังกล่าว ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ทำให้เขาเติบโตร่วมกับองค์กร เปลี่ยนทัศนคติจากความผันผวนทางการเมืองที่ผ่านมา และมองอนาคตถัดจากนี้
๑๕ ปี รัฐประหาร
๑๒ ปี ไอลอว์

“สมัยรัฐประหารปี ๒๕๔๙ คืนนั้นเปิดดูทีวีอยู่บ้าน ยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ปี ๓ เคยไปชุมนุมพันธมิตรฯ ไล่ทักษิณ พอรัฐประหารมาก็รู้ว่ามันไม่ถูก แต่ไม่ได้ทำอะไร เห็นมีบางกลุ่มต้านรัฐประหาร คิดว่ารัฐประหารคงอยู่ไม่นาน คงไม่ได้ผลอะไร ซึ่งก็ไม่ได้ผลจริง ๆ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะส่งผลมานานได้ขนาดนี้”

ไอลอว์ก่อตั้งในปี ๒๕๕๒ ช่วงเริ่มต้นเน้นการช่วยผลักดันให้ประชาชนและเครือข่ายภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอหรือแก้กฎหมายในประเด็นต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เริ่มเป็นที่รู้จักจากการจับประเด็นการรณรงค์ต่อต้านข้อกฎหมายใน พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๖๐ หากมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็จากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง

“ตอนรัฐประหารปี ๒๕๕๗ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกยกเลิกไป การจับคนมาดำเนินคดีก็หนักขึ้น เราเลิกทำเรื่องเข้าชื่อแล้วตามบันทึกข้อมูลการจับกุมการดำเนินคดีประชาชน บันทึกข้อมูลว่าภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. มีการออกกฎหมายยังไง มีผลกระทบยังไง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗-๒๕๖๑ เป็นงานแบบนั่งดูบันทึก เขียน ๆ”

หากผลตอบรับนั้นกลับทำให้ไอลอว์ได้รับความสนใจมากกว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ข้อวิจารณ์การผ่านกฎหมายถึง ๔๔๔ ฉบับ รวมถึงการชี้ให้เห็นปัญหาตั้งแต่ช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๙ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการวางยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี หรือการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ๒๕๐ ชื่อโดย คสช. เอง

“ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๙ ร่างฯ ของบวรศักดิ์ (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) จนถึงร่างฯ นี้ เรารู้แล้วว่ามันคือรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจแน่นอน แต่มองว่าเราตัวเล็ก ไม่มีพลังที่จะแก้ได้ แค่เขียนสรุปทำความรู้ไป แล้วก็เพราะความเป็น NGO ต้องเขียนโปรเจกต์เพื่อเสนอขอทุนแต่ละปี ปี ๒๕๖๒ ก็คิดการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเรามีความรู้เรื่องกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ถือว่ามีประสบการณ์มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร แต่ยังไม่ได้ทำอะไรนอกจากลงบทความออนไลน์

“ช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมาเราสูญเสียกระบวนการนิติบัญญัติ สูญเสียระบบกฎหมายทั้งระบบเลย อย่างปี ๒๕๕๐ สภาผ่านกฎหมายเร็วมาก เป็นร้อยฉบับในช่วงปีกว่า ๆ พอใกล้จะหมดวาระก็ออกวันเดียว ๔๐ ฉบับ นึกอยากจะออกอะไรก็ออก เพราะเป็นสภาทหาร ขณะที่สมัยนายกฯ สมชาย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) หรืออภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ออกกฎหมายได้น้อยมาก อยากแก้อะไรก็แก้จนเละเทะ จนตอนนี้ไม่มีองค์กรนิติบัญญัติ ไม่ได้ให้คนมีความรู้ความเข้าใจจริง ๆ มาแก้กฎหมาย”
Image
ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง 
ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๓

“พอมกราคม ปี ๒๕๖๓ ก็คิดว่าเราต้องเริ่มแล้ว ก่อนหน้านั้นเราทำเรื่องเข้าชื่อยกเลิกคำสั่งประกาศ คสช. จำนวน ๑ หมื่นชื่อมาปีเศษ ๆ มีปัญหากับการระดมคนมาเซ็น เหนื่อยมาก เพราะเราต้องไปทุกที่ ที่ไหนมีประชุมกันสัก ๑๐-๒๐ คนก็ต้องไป ทีนี้พอจะแก้รัฐธรรมนูญต้องเสนอชื่อ ๕ หมื่นชื่อ เยอะกว่าเดิมห้าเท่า  แล้วมันมีความหมายทางการเมืองด้วยหากเราหามา ๕ หมื่นชื่อไม่ได้ จะหมายความว่าประชาชนไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญจริง เราก็ลังเลมาก จนโควิด-๑๙ มาก็พักไว้ก่อน”

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มีการชุมนุมที่จัดโดย Free YOUTH หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งชีพเห็นว่าม็อบต้องมีข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม จึงไปเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๑๐ ข้อกับฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หนึ่งในแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเห็นด้วยในระหว่างการจัดชุมนุม แม้ต้องมีทั้งการกรอกแบบฟอร์มและหลักฐานยืนยันตัวบุคคล แต่ก็รวบรวมรายชื่อได้ถึง ๑๐๐,๗๓๒ ชื่อ และส่งมอบให้กับรัฐสภาในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓

“โดยรวมมันเป็นบรรยากาศของความหวัง เป็นครั้งแรก ๆ ที่คนลุกขึ้นมาเข้าชื่อกันครั้งใหญ่ และเข้าชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญนี้ครั้งแรก คนมาเซ็นเพื่ออยากจะเห็นอะไรในวันข้างหน้าประมาณ ๓ หมื่นชื่อได้จากไปรษณีย์ คนดาวน์โหลดเอกสารและจากที่ส่งหลักฐานมา ๒ หมื่นชื่อโดยใครก็ไม่รู้ที่อาสาตั้งโต๊ะให้ มีจุฬาฯ, ม. เกษตร, ม. ศิลปากร ฯลฯ ผมไม่รู้จักพวกเขาเลยเขาแชตมาบอกว่าอยากจะช่วยตั้งโต๊ะ ส่วนที่เราตั้งโต๊ะเองตามม็อบตามกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ๕ หมื่นชื่อ”

อย่างไรก็ตามเมื่อไอลอว์ส่งมอบรายชื่อให้รัฐสภา ความพยายามครั้งนี้กลับจบลงอย่างน่าผิดหวัง ร่างฯ ฉบับนี้ถูกปัดตกในวาระพิจารณาโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกเมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ไม่ผ่านการเห็นชอบ โดยมีคะแนนผู้เห็นชอบ ๒๑๒ เสียง ไม่เห็นชอบ ๑๓๘ เสียง และงดออกเสียง ๓๖๙ เสียง

“จริง ๆ ก็ไม่เกินความคาดหมายนะที่ไม่ผ่าน แต่ก็มีเรื่องที่เราโกรธเยอะแยะระหว่างทาง จะพิจารณาก็เลื่อน ขยายเวลาออกไป ตั้ง กมธ. ศึกษา มันเพี้ยนไปหมด  ส.ว. บางคนโจมตีเราในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง แล้วช่วงนั้นทุกอย่างเข้ามาเร็วมาก รัฐบาลเองก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญ เราก็รีบยื่นแล้วมันถูกปัดตก ไม่มีแก้อะไรอีกต่อไป กลายเป็นหลายสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้”

การรณรงค์ครั้งนี้ยังถูกครหา ลดค่าจากกลุ่มขั้วตรงข้ามทางการเมือง เช่น เนื้อหาการแก้ไขที่ไม่มีอะไรใหม่ การหาทางล้มรัฐธรรมนูญปราบโกง การรับเงินต่างชาติมาสร้างสถานการณ์วุ่นวายในประเทศ ฯลฯ

“ต้องยอมรับว่าในขบวนชุมนุมเองก็ไม่ได้เข้าใจเหมือนกันทุกคน เรื่องรัฐ-ธรรมนูญแกนนำก็ไม่ได้พูดถึงด้วย” ส่วนหนึ่งเพราะเนื้อหาทางกฎหมายพูดปลุกเร้าคนค่อนข้างยาก และทำให้ช่วงหนึ่งเขาพยายามฝึกปราศรัยให้คนฟังสนุก
“รัฐธรรมนูญนี้มีกลไกปราบโกงไหม ก็มี อย่างการห้าม ส.ส. ถือหุ้นสื่อ หรือการกำหนดคุณสมบัติ ส.ส. ให้เคร่งครัดมากขึ้น เข้มงวดวินัยการเงินการคลังมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่างนะ มันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เลือกใช้ปฏิบัติกับบางคน เช่น กรณีธนาธรถือหุ้นสื่อ และหลายอย่างที่อ้างกันทางไลน์ก็ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
ขอคนละชื่อ
รื้อระบอบประยุทธ์ ๒๕๖๔

แม้จะจบลงด้วยความผิดหวัง แต่รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ก็ได้รับการสานต่ออีกครั้งในปีต่อมาโดยการนำของกลุ่ม Re-solution ที่ก่อตั้งโดยคณะก้าวหน้า ซึ่งเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” เชิญชวนให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๔ 

“ช่วงแรกของการรวบรวมรายชื่อ เราทำในรูปแบบออฟไลน์เหมือนที่เคยเป็นมา แต่สถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ทำให้ไม่สามารถไปตั้งโต๊ะรับลงชื่อได้มากตามที่ตั้งใจไว้ รายชื่อส่วนใหญ่ช่วงแรกจึงมาทางไปรษณีย์ แต่หลังจาก พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ๒๕๖๔ มีผลบังคับใช้ ได้เปลี่ยนขั้นตอนให้ส่งแบบฟอร์มทางออนไลน์ได้ ไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนอีกต่อไป” เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ ประกอบกับการออกทุนสร้างเว็บไซต์ลงชื่อให้โดยคณะก้าวหน้า ทำให้ไอลอว์ได้รายชื่อที่ส่งมาทางออนไลน์ ไม่ว่าจะทางอีเมล ไลน์ เฟซบุ๊ก ถึง ๑๕๐,๙๒๑ รายชื่อ และยื่นต่อสภาเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ อีกครั้ง

ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่สภา ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและรายชื่อทั้งหมดที่ส่งเข้ามา เมื่อเสร็จสิ้นแล้วทางสภาจะประกาศรายชื่อบนเว็บไซต์ของรัฐสภา โดย พ.ร.บ. เข้าชื่อฯ ฉบับใหม่ได้ยกเลิกการเปิดโอกาสให้คัดค้านการเข้าชื่อ (กฎหมายเดิมจะส่งจดหมายไปตามที่อยู่ในบัตรประชาชน เพื่อให้ผู้ไม่สมัครใจเข้าชื่อคัดค้านได้ภายใน ๓๐ วัน) ทำให้ขั้นตอนหลังจากตรวจสอบรายชื่อเสร็จสิ้น คือการรอบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของสภา

ยิ่งชีพมองว่าแม้ครั้งนี้จะพลาดหวังอีก เขาก็จะรณรงค์เข้าชื่อครั้งใหม่ต่อไป ไม่ว่าความฝันของเขาและไอลอว์จะสำเร็จหรือไม่ ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“กระแสความโกรธแค้น ความขัดแย้งมีแต่จะมากขึ้น และมันฝังอยู่ในคน การชุมนุมใหญ่เป็นไปได้สูงมาก อาจมีที่กลัว ไม่กล้ามา เพราะกลัวโดนจับบ้าง แต่ยังไงก็มากพอ ปีที่แล้ว (๒๕๖๓) เหมือนมีอะไรเกิดขึ้นเต็มไปหมดแล้วเรารู้สึกว่าเป็นพลังรูปแบบใหม่ พอสถานการณ์นิ่งก็เริ่มเห็นว่าเราไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น ต้องค่อย ๆ กอบกู้พลังกัน อย่างไรเสียมันจะเปลี่ยนแน่ ๆ แต่ไม่เร็วเลย 

“ตามข่าวลือว่าจะยุบสภาปีนี้ ยังไงประยุทธ์ก็กลับมา พอปี ๒๕๖๗ ส.ว. จะต้องหมดอายุ มีการเปลี่ยน ส.ว. แล้ว อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ก็จะหมด หลังจากนั้นจะเป็นระบบที่ประยุทธ์ยังแทรกแซงได้ แต่จะมีความหลากหลายมากขึ้น ถ้าปี ๒๕๗๐ มีการเลือกตั้ง ประยุทธ์ก็อาจจะไม่ได้ง่าย ๆ แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ กลไกอื่น ๆ หรือองค์กรอิสระยังเป็นของเขาอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นก็คาดการณ์ไม่ได้ แต่คนแก่ก็จากไป คนรุ่นใหม่ก็ตามมา คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะไม่เอาประยุทธ์สูงกว่าเดิม ยังไงมันก็จะเปลี่ยน ผมไม่เชื่อว่าเขาจะอยู่ได้ ๒๐ ปีจริง ๆ”  
วันสัมภาษณ์ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
และ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๐
ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ฉบับไอลอว์
(เรียกย่อว่า “๕ แก้ไข ๕ ยกเลิก”)

-๑-
ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก
ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
-๒-
ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี
ที่ คสช. เขียนขึ้น ซึ่งส่งผลกับรัฐบาลทุกชุด
-๓-
ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่ คสช. เขียนขึ้น
ซึ่งยังเปิดช่องให้ คสช. มีอำนาจสืบเนื่อง
-๔-
ยกเลิกผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รูปแบบพิเศษ ที่เปิดช่อง
ผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
-๕-
ยกเลิกการเขียนนิรโทษกรรมตนเองของ คสช.
ที่ช่วยคนทำรัฐประหาร ทำอะไรไว้ไม่มีทางผิด
-๖-
แก้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ที่ต้องเขียนให้ชัดเจน
ว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. 
-๗-
แก้การเลือก ส.ว. ๒๕๐ คน
ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.
เป็น ส.ว. จากการเลือกตั้งของประชาชน
-๘-
แก้ไขที่มาองค์กรที่ไม่ทำงาน
สร้างระบบสรรหาองค์กรอิสระแบบใหม่
ให้คนที่นั่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง
-๙-
แก้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา
ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษของ ส.ว.
ต่างจากวิธีแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
ที่เขียนไว้ให้แทบแก้ไขไม่ได้เลย
-๑๐-
แก้วิธีการสรรหาสมาชิก
สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดใหม่ ๒๐๐ คน
จากการเลือกตั้งทั้งหมด
เปิดทางสร้างการเมืองแบบใหม่
สังคมแบบใหม่