จากไทยรักไทยถึงวาระรัฐประหาร
และจุดเปลี่ยนการเมืองไทย
จาตุรนต์ ฉายแสง
Political Party
เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ
“จากประวัติศาสตร์หลายสิบปีมานี้ ทำให้เห็นว่าไม่มีทั้งทฤษฎีและข้อเท็จจริงที่จะพูดได้ว่า ประเทศไทยจะไม่มีการรัฐประหารอีก เมื่อมีเงื่อนไขก็ยังมีโอกาสเกิดได้อีก”
“ทุกอย่างทำงาน เพียงแต่ว่าการรัฐประหาร ๒๕๔๙ ไม่ประสบความสำเร็จถึงที่สุด เนื่องจากถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไร ฝ่ายประชาธิปไตย ประชาชนก็จะเลือกพรรคที่เขาต้องการจึงไม่เป็นไปตามความประสงค์ของคณะที่ยึดอำนาจและทำการรัฐประหาร”
สุดท้ายการรัฐประหารนั้นถูกเรียกโดยสื่อและนักวิชาการว่า “เสียของ” เพราะไม่สามารถขจัดอำนาจทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย หลังการเลือกตั้งปลายปี ๒๕๕๐ พรรคพลังประชาชนที่สืบต่อจากพรรคไทยรักไทยกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีก หรือแม้ต่อมาจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนด้วยข้อหาการทุจริตในการเลือกตั้ง และหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้เป็นรัฐบาลไม่ครบเทอมประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีก โดยในปี ๒๕๕๕ หลังครบเวลาการเพิกถอนสิทธิ์ จาตุรนต์กลับมามีบทบาททางการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รัฐประหาร ๒๕๕๗
“ก่อนหน้าจะเกิดการรัฐประหาร ผมอยู่ในจุดที่พยายามยืนยันว่าต้องทำเรื่องต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่าจะช่วยรักษาความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมืองไว้ ลดความเสี่ยงและโอกาสในการเกิดรัฐประหาร เมื่อจะมีการเลือกตั้ง ผมคาดว่าพรรคการเมืองบางส่วนจะไม่ลงสมัครอีกครั้ง และจะมีบอยคอตเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง และสุดท้ายการเลือกตั้งจะถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ
“ขณะเดียวกันก็มีการชุมนุมจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและประชาธิปไตย ผมก็ไปร่วมชุมนุมเพื่อพูดเตือนว่าไม่ควรมีการรัฐประหาร ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับประชาชน ต่อมาพอมีการประกาศกฎอัยการศึก ผมก็ทักท้วงว่าการประกาศกฎอัยการศึกน่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีการหารือกันในการประชุม ครม. ชุดเล็กว่าน่าจะตรวจสอบว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่อีก ๒ วัน ผบ.ทบ. ก็เชิญไปประชุม ผมได้รับเชิญจากทาง ครม. และพรรค ผมปฏิเสธและเสนอว่าไม่ควรไปรัฐมนตรีก็ไม่ควรไปเช่นกัน หลังการประชุม คสช. ก็ยึดอำนาจ (๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางการเมืองโดนหมายเรียกและให้ไปรายงานตัว
“ผมตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว ต้องหาที่หลบ ก็มีประกาศออกมาว่า ถ้าใครไม่มาจะมีคดี ทำให้อยู่ในจุดที่มีทางเลือกไม่กี่ทาง ทางแรกหลบซ่อนต่อไป ซึ่งผมก็เคยสู้แบบใต้ดินในอดีตสมัยเป็นนักศึกษา (เหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ) แต่ว่ามันไม่มีประโยชน์ ทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว ทางเลือกที่ ๒ ไปต่างประเทศ ก็คิดว่าไปแล้วจะทำอะไรได้ หากอยู่ในประเทศยังต่อสู้ได้มากกว่า แต่คำถามคือจะทำยังไงกับการรายงานตัว มีแค่สองทางเลือก คือ ไปรายงานตัว หรือไม่ก็ให้เขามาจับ แต่ให้จับอย่างไรมันก็มีทางเลือก เช่น ไปยืนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วบอกว่ามาจับสิก็ได้
“ผมตัดสินใจไปที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ติดต่อขอแถลงข่าว แล้วรอให้เขามาจับ ซึ่งเขาก็มาจับจริง ๆ การที่ผมไม่ไปรายงานตัวทำให้เห็นว่าอย่างน้อยไม่ใช่ทุกคนที่ยอม โดยเฉพาะผมที่เป็นรัฐมนตรีและมีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ และไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร”
ถอดบทเรียน
การ “เสียของ”
จาตุรนต์มองว่าเพื่อไม่ให้การรัฐ-ประหาร ๒๕๕๗ ครั้งนี้ต้อง “เสียของ” อีก คณะรัฐประหารจึงน่าจะถอดบทเรียนจากการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ มาเรียบร้อยแล้ว
“มีการวางระบบกลไกต่าง ๆ ทางการเมืองที่เข้มข้นและหนักขึ้น กำหนดล่วงหน้าว่าใครจะเป็นรัฐบาลและจะบริหารประเทศ-ทิศทาง-นโยบายอย่างไร มี ส.ว. ๒๕๐ คน ที่มาจากการแต่งตั้ง มียุทธ-ศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยคณะบุคคลเหล่านี้เชื่อมโยงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม การคิดแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมืองจึงลดความหมายลงไปมากเพราะถูกกำหนดให้ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ต้องนำเสนอว่าใช้งบประมาณเท่าไร ทำให้พรรคการเมืองก็ไม่กล้าเสนอ แล้วที่สำคัญการเลือกตั้งก็มีความหมายน้อยมาก หรืออาจเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมาย
“หากมีคะแนนเต็ม ๑๐ การรัฐ-ประหารปี ๒๕๔๙ ได้คะแนนแค่ ๖ ส่วนรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ได้ ๑๐ เต็ม เพราะ
มีการวางกลไกจัดการขับเคลื่อนในระยะยาว ทำให้เกิดระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการแบบแยบยล ใช้รูปแบบประชาธิปไตยมาตกแต่ง เป็นระบบที่มีภูมิคุ้มกันตัวเองที่เข้มแข็ง สามารถสืบทอดอำนาจและความเป็นเผด็จการต่อไปได้ยาว เพราะฉะนั้นเป็นรัฐประหารที่ไม่เสียของ ได้คะแนนเต็ม
“แต่การสร้างระบอบเผด็จการที่มั่นคงและเข้มแข็งมาก ๆ มาปกครองบริหารประเทศ เป็นผลเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างร้ายแรง และจะเป็นหายนะที่ต่อเนื่องยาวนาน”
“ต้องทำให้กองทัพเป็นกองทัพอาชีพทำหน้าที่ปกป้องประเทศ เรื่องสำคัญที่ขอยืนยันคือกองทัพต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง”
วาระทหาร
และการรัฐประหาร
แน่นอนว่าการรัฐประหารทั้ง ๑๓ ครั้งล้วนเกิดจากอำนาจของกองทัพ และหากจะป้องกันการเกิดรัฐประหาร จาตุรนต์จึงเชื่อว่าทางที่ดีที่สุดคือต้องนำทหารออกจากการเมืองไทยให้ได้
“ในอดีตทหารผู้นำกองทัพมีอำนาจมาก พอยึดอำนาจจากบุคลาการฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ ก็ใช้ปัญญาชน นักวิชาการ เทคโนแครตมาช่วยงาน แต่พอหลังปี ๒๕๕๗ มีปรากฏการณ์พิเศษที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากปี ๒๕๔๙ คือมีการร่วมกันอย่างเข้มแข็งระหว่างผู้นำกองทัพกับชนชั้นนำผู้มีอำนาจที่ไม่นิยมหรือเชื่อถือการเลือกตั้ง และใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตยให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบเผด็จการ
“วันนี้จะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยจัดการกับกองทัพอย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะได้ประชาธิปไตย แต่ถามว่าต้องจัดการกับกองทัพไหม ก็ต้องจัดการ เพราะขณะนี้กองทัพทั้งใหญ่โตเทอะทะ และใช้ทรัพยากรมหาศาลโดยไม่เป็นประโยชน์ แล้วก็เข้ามามีบทบาทมากมายไปหมดในเรื่องที่ไม่ควรเป็นหน้าที่ของกองทัพ ต้องทำให้กองทัพเป็นกองทัพอาชีพ ทำหน้าที่ปกป้องประเทศ เรื่องสำคัญที่ขอยืนยันคือกองทัพต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง”
เขาเสนอว่าวันนี้ดูเหมือนโจทย์การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทัพจะอีกยาวไกล แต่สิ่งที่ใกล้ที่สุดและทำได้คือ “การเปลี่ยนรัฐบาล”
“คงต้องเปลี่ยนรัฐบาลและต้องแก้ไขระบบกติกาด้วย ทำให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งมีความหมายจริง ๆ สภาทำหน้าที่ได้จริง รัฐบาลทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการประชาชนได้จริงและตรวจสอบได้จริง ด้วยระบบที่เที่ยงตรงและยุติธรรม ซึ่งหมายความว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
จาตุรนต์ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคต เขาก็จะยังคงคัดค้าน
“ไม่ว่าบ้านเมืองมีปัญหามากขนาดไหน การรัฐประหารทุกครั้งจะทำให้บ้านเมืองยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีกเสมอ แต่จะคัดค้านด้วยวิธีไหน คงต้องดูสถานการณ์ว่าทำอะไรแล้วจะเป็นประโยชน์”
วันสัมภาษณ์ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔