Image
“ยังมีคนไม่ได้รับความยุติธรรม 
ยังมีเด็กถูกยิงกลางถนนในเมืองหลวง” 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
Killed
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล 
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของ สมาพันธ์ ศรีเทพ 
หรือ “เฌอ” ผู้เสียชีวิตในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ 
ระหว่างเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

“เฌอ” จากม็อบเสื้อเหลือง
สู่ม็อบเสื้อแดง

“ช่วงปี ๒๕๔๙ ผมทำงานอยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ทางเครือข่ายเอ็นจีโอกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรวมกลุ่มกันขับเคลื่อนประเด็นการทำสัญญาเอฟทีเอของรัฐบาลที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร คนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมาก ผมทำงานรณรงค์ เฌอมีเวลาว่างก็ติดสอยห้อยตามไปร่วมกิจกรรม เด็กวัยนั้นประมาณ ม. ๒ - ม. ๓ จะรู้สึกสนุกที่มีคนมากันเยอะ ๆ ชอบกิจกรรมที่มีแอ็กชันมากกว่าครอบครัวเราไม่ได้แอ็กทีฟทางการเมืองนัก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าการเมืองฉันไม่ยุ่ง เวลาพูดคุยกันก็กล้าแสดงทัศนะ

“ช่วงม็อบพันธมิตรฯ เป็นจังหวะเดียวกับที่เฌอขาดเรียนบ่อยและทำท่าจะไม่มีสิทธิ์สอบ ผมคาดคั้นให้เขาไปเรียน แต่เขาหนีออกจากบ้านไปเป็นการ์ดของกองทัพธรรมอยู่ตรงสะพานชมัยมรุเชฐ เขาสัญญาว่าจะกลับบ้าน แต่ขออยู่กับม็อบก่อน ต่อมาเขาก็กลับไปเรียน

“หลังจากนั้นมีม็อบ นปช. เฌอไปม็อบครั้งแรก เพราะผมเป็นคนชวน คือวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่พยายามสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว มีการปะทะกันแล้วคนตายจำนวนมาก วันรุ่งขึ้นเพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กก็ชวนไปจัดกิจกรรมไว้อาลัย เราเป่าลูกโป่งถุงมือยางสีขาวขึ้นไปแขวนบนอนุสาวรีย์ประชา-ธิปไตย จัดกิจกรรมอยู่ในม็อบเสื้อแดงแต่แยกจากกลุ่มเสื้อแดง เพราะเราแต่งชุดดำ เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดงเลย เพราะไม่ได้ร่วมชุมนุมกับเขา แต่เมื่อมีคนตายจากการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธ มันต้องแสดงออกอะไรสักอย่าง ขณะที่ทาง นปช. ก็แห่โลงศพรอบอนุสาวรีย์

“ต่อมาเฌอถามว่าจะเข้าไปในม็อบ นปช. ได้ไหม ตามประสาเด็กเขากลัวหากคนเสื้อแดงจำหน้าได้ว่าเขาเคยเป็นการ์ดเสื้อเหลืองจะถูกทำร้าย กลัวมีปัญหา ผมบอกไม่มีใครจำได้หรอกเพราะเขาเป็นการ์ดใส่หมวกสกีตลอดเวลา ถ้าไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหรือมีพฤติกรรมพิเศษก็ไม่มีคนจำได้ ถ้าอยากไปก็ไปแล้วรีบกลับ ไม่ต้องอยู่นานไม่ต้องค้าง เพราะต้องฝึกงาน หลังจากนั้นเขาก็แบ่งเวลาไปร่วมกิจกรรม ไปสังเกตการณ์การชุมนุม

“ในความคิดของเฌอ ม็อบเสื้อแดงกับม็อบเสื้อเหลืองก็คือม็อบไล่รัฐบาลเหมือนกัน เป็นม็อบไล่รัฐบาลที่ไม่ดีในมุมมองที่เขาได้ยินจากที่ชุมนุม”
“พ่อน้องเฌอ” 
จากคนธรรมดาสู่นักกิจกรรม

“เมื่อก่อนสปอตไลต์ไม่ได้หันมาทางนี้ ถ้าลูกไม่ตาย เราคือคนธรรมดาที่เดินอยู่ในม็อบ พอลูกตาย เหมือนเราแอ็กทีฟ ซึ่งจริง ๆ เราก็อยู่อย่างนี้ จับพลัดจับผลูที่การเมืองเข้ามาแล้วมีเหตุร้ายเกิดกับคนในครอบครัว  โดยรวมแล้วต้องไปงานเยอะขึ้น  บางกิจกรรมเราถูกเชิญ บางกิจกรรมจำเป็นต้องไป ส่วนหนึ่งเพราะมีเรื่องการบริหารประเทศของรัฐบาลซึ่งเกี่ยวพันกับการหาความยุติธรรมคืนให้แก่ลูก

“เขารัฐประหารมา จุดมุ่งหมายหนึ่งคือล้มคดี ในวันแรก ๆ ของการรัฐประหารเขาบอกจะรื้อคดีสลายการชุมนุมมาทำใหม่ ตอนนั้นทำท่าจะเป็นข่าวใหญ่ แล้วเขาก็เบรกตัวเอง คดีหกศพในวัดปทุมวนาราม ที่ไต่สวนการตายไปแล้วก็พยายามทำให้เรื่องเงียบ จนแม่น้องเกด (พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ กมนเกด อัคฮาค อาสาสมัครพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิต) กลัวจะถูกล้มคดี ก็มาชวนให้ไปร่วมกิจกรรม เราก็ไป
Image
“ผมนัดกับอานนท์ (ทนายอานนท์ นำภา) นัดทำกิจกรรมที่หอศิลป์ตั้งแต่เขาประกาศกฎอัยการศึก ปรากฏว่าวันนั้นเขาทำรัฐประหารแล้วประกาศเคอร์ฟิว อานนท์เลยบอกให้แยกย้ายกันก่อน เดี๋ยวดึก ๆ ค่อยนัดหมายใหม่ อานนท์ชวนไปบ้านเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเราไม่ได้รู้จักเขา ไปนั่งคุยแล้วตกลงกันว่าวันรุ่งขึ้นจะทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารที่สกายวอล์กร่างรายละเอียดแล้วก็โพสต์นัดหมาย

“ตอนนั้นเราจะใช้กินลาบต้านรัฐ-ประหาร เชิญชวนทุกคนหิ้วข้าวหิ้วลาบมานั่งกินที่สกายวอล์กให้เต็มพื้นที่ นั่งกินเงียบ ๆ ปรากฏว่ามีคนมาร่วมชุมนุมตั้งแต่บ่ายโมง มากันเป็นม็อบด่าทหาร เราไม่เคยรับมือคนจำนวนมาก โทรโข่งก็ไม่มี จากเดิมคิดว่าจะทำกิจกรรมเงียบ ๆ แสดงออกเงียบ ๆ เราก็งง แล้วมีทหารติดอาวุธมาแบบเตรียมปะทะเต็มที่  เราจัดการอะไรไม่ได้อีก เป็นม็อบธรรมชาติจริง ๆ ที่ไม่ได้ถูกจัดตั้ง แล้วทุกคนก็พร้อมจะบวกกับทหารมาก สุดท้ายมีบางคนโดนจับไปเข้าค่ายทหาร”
จากคดีฆาตกรรม
สู่ปมอํานาจทางการเมือง

“ถึงตอนนี้คดียังไม่คืบไปไหน จากที่ดีเอสไอเป็นเจ้าของคดีทุกคดี ทาง สน. พญาไทก็บอกว่ากำลังจะขอโอนคดีของน้องเฌอมาทำ เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเวลาไต่สวนการตายต้องไต่สวนด้วยท้องที่ ดีเอสไอไม่มีอำนาจนี้ ตอนนั้นมีคดีที่เริ่มทยอยขึ้นศาล คือคดีหกศพวัดปทุมฯ หลายคดีตายเพราะลูกกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร ขณะบางคดีศาลไต่สวนก็ไม่รู้ว่าลูกกระสุนมาจากฝั่งไหน ตัดสินไม่ได้

“น่าแปลกใจว่าคดีที่ไต่สวนการตายแล้วส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งชุมนุมอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์แห่งเดียวยังไม่มีคดีวันที่ ๑๐ เมษายน ถูกหยิบมาไต่สวนการตาย ซึ่งมี นปช. ทั้งที่ราชประสงค์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“ความตายในเดือนพฤษภาคมมีลักษณะเฉพาะ คือถ้าไม่นับหกศพวัดปทุมฯ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นคนอยู่รอบนอกเหตุการณ์  เทียบกับเดือนเมษายนจะเป็นการปะทะโดยตรงกับทหารที่ติดอาวุธแล้วเสียชีวิต คนที่ญาติเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคมเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยและไร้สังกัด รวมกลุ่มกันไม่ได้ เวลาเราไปทำกิจกรรมบางครั้งก็เจอเขามาฝากเขาบอกตัวเองเป็นข้าราชการต่อสู้ลำบาก หรืออย่างช่วงหลังรัฐประหารมีญาติบางคนบอกว่าไม่เอาแล้ว เขากลัวทหาร ซึ่งมาจากเรื่องจับเข้าค่าย ถูกข่มขู่คุกคาม บางคนที่ลูกเสียชีวิต ตัวเองอายุมากแถมป่วยเคลื่อนไหวไม่สะดวกก็บอกว่าไม่มา มาลำบากก็แล้วแต่เขา บางคนรู้สึกว่าเป็นคนตัวเล็ก ๆ ไปเรียกร้องแล้วจะได้อะไร

“ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตวันที่ ๑๐ เมษายน ส่วนใหญ่เป็น นปช. ทางกลุ่ม นปช. ก็จะช่วยเหลือเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าจะขยับเคลื่อนไหวอะไรก็เหมือนต้องฟัง นปช. ด้วย  ส่วนลูกผมตายเดือนพฤษภาคม เราประกาศตัวว่าไม่ใช่คนเสื้อแดง มีพี่น้องเสื้อแดงมางานศพเฌอจะขอเลขบัญชีไปรับบริจาค ผมไม่เอา สุดท้ายเราก็ไม่มีสังกัด ก็ค่อนข้างอิสระในการเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูก

“ถ้ากระบวนการยุติธรรมโปร่งใสต้องรื้อคดีทั้งหมด ถ้ารัฐบาลเป็นประชาธิปไตยและตั้งใจจะจัดการเรื่องความยุติธรรม มันสามารถตั้งคณะกรรมการ ตั้งศูนย์หรือวอร์รูมแล้วลงมากำกับ เหมือนตั้ง ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙) ทำเรื่องโควิด-๑๙ ถ้าลงมาทำเต็มที่ทำได้อยู่แล้ว แต่อย่างที่บอก เรื่องที่จำเป็น เรื่องเร่งด่วนที่ควรทำก็ไม่ทำ
“ถ้าการประท้วงมีคนตาย แล้วคนตายไม่ได้รับความยุติธรรมนี่น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะใช้วิธีนี้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ”
Image
“ถ้าการไต่สวนการตายเสร็จ เหมือนคดีหกศพวัดปทุมฯ ว่าลูกกระสุนมาจากฝั่งทหาร ก็ต้องดูว่าใครในทหารหน่วยนั้นยิง คัดจาก ๓๐๐ คนให้เหลือ ๕-๖ คนที่ทำผิด ซึ่งจะทำให้เกิดการนับหนึ่งเพื่อส่งต่อไปเป็นคดีอาญา แต่คดีของเฌอยังไม่ได้ไต่สวน แล้วก็ถูกรัฐประหาร ทุกอย่างหยุดหมด ฉะนั้นหลังรัฐประหารมี คสช. มีประยุทธ์ขึ้นมา ผมจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะมีผลต่อการเสียชีวิตของลูกเรา

“คนทำรัฐประหารมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีสังหารหมู่ประชาชน ผมเรียกสังหารหมู่ประชาชนนะ ไม่เรียกสลายการชุมนุม เพราะฆ่ากันตั้งแต่ ๑๐ เมษายนจนถึง ๑๙ พฤษภาคม นาน ๑ เดือน ๑๐ วัน  นโยบายการบริหารมีปัญหาแน่ ๆ ไม่ใช่แค่การจัดการภายในที่จะสลายการชุมนุมแล้ว มันคือ ๑ เดือน ๑๐ วันที่มีคนตายเรื่อย ๆ เหมือนโควิด-๑๙ ปีกว่าแล้วก็ยังไม่หยุด ขณะที่มีวัคซีนป้องกันได้หลายประเทศปัญหาเบาลง แต่ประเทศเรายังแก้ไม่ได้ แสดงว่าต้องมีปัญหาการบริหารจัดการที่ผิดพลาด หรือจงใจทำให้ประชาชนเสียชีวิต

“ถ้าประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วคดีเข้าสู่ศาลก็จะมีปัญหาอีก ถ้าจะทวงถามความยุติธรรมก็ต้องให้พวกนี้หลุดจากอำนาจไปก่อน เพราะฉะนั้นใครชวนไปไหนถ้าสะดวกผมไปตลอด”
สิบเอ็ดปี ผ่านไป
“เราทำกิจกรรมรำลึกตรงจุดที่เฌอถูกยิงทุกปี หลักการคือย้ำเตือนให้คนจำได้ว่ายังมีคนไม่ได้รับความยุติธรรม ยังมีเด็กถูกยิงกลางถนนในเมืองหลวง สิบเอ็ดปีผ่านไปไม่ได้คาดหวังว่าสังคมจะพูดเรื่องเฌอตลอดเวลา เพราะมันมีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ยิ่งในยุคดิจิทัลนี่ทุกคนมีเวลาแค่ ๓ นาที เพียงแต่ในภาพรวม เรื่องคนตายจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจะต้องถูกพูดถึง

“ถึงคดีจะมีอายุความ ๒๐ ปี แต่เราก็ยังมองคดีในต่างประเทศ เช่น สงครามสกปรกที่อาร์เจนตินา รัฐบาลเผด็จการทำสงครามกับประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง หรือคดีปราบปรามประชาชนสังหารหมู่ที่เมืองกวางจู เกาหลีใต้ หลังจากทหารยึดครองประเทศมานาน พอเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยก็ถูกกดดันให้รื้อฟื้นคดี เพราะมันผูกพันกับคนจำนวนมาก ต่อให้หมดอายุความก็หยิบขึ้นมาสะสางได้

“เครื่องมือเดียวของประชาชนในการแสดงความไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมคือออกมาประท้วง  ถ้าการประท้วงมีคนตาย แล้วคนตายไม่ได้รับความยุติธรรมนี่น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะใช้วิธีนี้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ

“หากการชุมนุมทางการเมืองมีคนเจ็บคนตาย แล้วคนที่ทำให้คนอื่นเจ็บคนอื่นตายถูกลงโทษเป็นตัวอย่าง ก็จะไม่มีใครกล้ากระทำผิดแบบนี้อีก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มือที่ ๓ คนที่ตั้งใจมาก่อกวน รวมถึงม็อบที่ต้องการความรุนแรงด้วย ยิ่งถ้าคนผิดนั้นถูกลงโทษจริง ๆ จัง ๆ ตามกระบวนการยุติธรรม ก็จะทำให้การออกมาชุมนุมประท้วงของประชาชนปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” 
วันสัมภาษณ์ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔