หลายชีวิต 
ในวิกฤตการเมืองไทย
เรื่อง :  สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพวาด : เพชรลัดดา แก้วจีน
Image
ตลอดห้วงวิกฤตการเมืองอันยาวนานนับทศวรรษ

หากเราถอยห่างแล้วมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด จะพบว่านับตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ มี “ตัวละคร” ในเหตุการณ์มากมาย 

ตั้งแต่คนธรรมดาสามัญของทุกฝ่ายที่มาร่วมชุมนุม แกนนำที่ปราศรัยอย่างเผ็ดร้อนบนเวที นักดนตรีที่ขึ้นเล่นเพลงขับกล่อมม็อบ การ์ดที่คอยดูแลความปลอดภัยซึ่งบางครั้งก็ต้องกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง รวมถึงผู้เสียชีวิตและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง

นักการเมืองจากพรรคการเมืองทั้งในซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่บนจุดยืนทางการเมืองต่างขั้ว นักวิชาการที่อาจถือตำราและทฤษฎีอ้างอิงคนละค่าย

รวมทั้งนายทหารและนายตำรวจที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองด้วยการรัฐประหาร

สารคดี พยายามอย่างยิ่งที่จะเก็บปากคำบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ให้มากที่สุดไว้ในฐานะ “บันทึกของยุคสมัย”

ภายใต้เงื่อนไขของเวลา ช่องทางการติดต่อ และข้อจำกัดในสถานการณ์โรคระบาด ขณะที่บางคนไม่สะดวกใจต่อการพูดคุย บางคนมีคดีติดตัว บางคนอยู่ในเรือนจำ บางคนอยู่ต่างประเทศ บางคนป่วยด้วยโรคโควิด และหลายคนยากต่อการเข้าถึง

บุคคลและประเด็นพูดคุยซึ่งปรากฏในนิตยสาร สารคดี ฉบับนี้ จึงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ “ตัวละคร” “ความคิดเห็น” และ “เรื่องเล่า” มากมายบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย  ขณะที่ “ความจริง” ของหลายเหตุการณ์ยังต้องทิ้งไว้ให้เป็นการบ้านของผู้อ่านและ “อนาคต” 

เพียงหวังว่าความคิดเห็นอันหลากหลายในความพยายามจัดสมดุลของทุกกลุ่มทุกฝ่ายมารวมไว้บนหน้ากระดาษที่จำกัดของนิตยสารฉบับเดียว จะมีส่วนช่วยให้สังคมมองเห็นภาพรวมของวิกฤตความขัดแย้งและความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและการตัดสินใจต่อทิศทางที่จะเดินไป

ในฐานะ “ประชาชน” ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในประเทศนี้
หมายเหตุ : ติดตามบทสัมภาษณ์ของบุคคลต่าง ๆ อีกจำนวนมากในวาระ “๑๕ ปีการเมืองไทย” นอกเหนือจากที่ปรากฏในเล่มนี้ ทางเฟซบุ๊ก Sarakadee Magazine และเว็บไซต์ www.sarakadee.com