Image
๖ เดือน /๗ ปี /๗๐๐ + คดีสิทธิฯ 
ในมือ
ทนายแอน
Law
สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง  
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
รัฐประหารแต่ละครั้งทำให้เกิดหลายสิ่งตามมา  สองวันหลังรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็เกิดขึ้น
“ช่วงนั้นมีคนถูกจับเกือบทุกวันจากการชุมนุม มีกฎอัยการศึกให้อำนาจทหารสามารถควบคุมตัว พวกเราที่เป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนก็มานั่งคุยกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง จึงตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ให้ความช่วยเหลือคนถูกละเมิดสิทธิจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในระหว่างรัฐประหาร”

ภาวิณี ชุมศรี หรือที่รู้จักกันในชื่อ
ทนายแอน เล่าย้อนจุดเริ่มต้นเมื่อ ๗ ปีก่อน

ศูนย์ทนายฯ เริ่มต้นง่าย ๆ จากทนายความด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ที่โดนคดีทางการเมือง โดยมีแผนคร่าว ๆ ว่าคงทำในระยะสั้น ๆ ราว ๖ เดือน 

ก่อนนั้นแอนเป็นทนายความของมูลนิธิประสานวัฒนธรรมในโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ทำงานช่วยเหลือเหยื่อในคดีถูกซ้อมทรมาน ถูกอุ้มหาย การควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การวิสามัญฯ จากกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งใจว่าจะมาช่วยงานนี้เพียงชั่วคราว แต่งานช่วยเหลือเหยื่อการเมืองยังติดพันต่อเนื่องจนเธอต้องลาออกจากองค์กรเดิมมาทำงานในศูนย์ทนายฯ เต็มตัวเมื่อเห็นแนวโน้มการจับกุมทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนาน

“ตอนแรกคิดว่าศูนย์ทนายฯ คงอยู่กันสัก ๖ เดือน ตอนนี้เข้าปีที่ ๗ แล้ว การดำเนินคดีมีแต่จะเพิ่มขึ้น”

งานของศูนย์ทนายฯ เริ่มต้นจากเปิดเบอร์โทรฯ รับร้องเรียนให้คำแนะนำทางกฎหมาย เปิดรับอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำงาน ช่วงแรกเป็นองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นทางการอาศัยชื่อสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ในการรับทุน

“หลัง ๖ เดือน เราก็มองเห็นแล้วว่าสถานการณ์ยังอีกยาวแน่ จึงลาออกจากงานเดิมมาตั้งสำนักงาน จดทะเบียนเป็นมูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรมเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เพื่อทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนในระยะยาว รวมถึงการผลักดันกฎหมาย ทำข้อมูล การศึกษาวิจัยด้านกฎหมายสิทธิฯ”
Image
ศูนย์ทนายฯ เป็นส่วนงานหนึ่งอยู่ในมูลนิธิฯ เน้นการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยทนายแอนอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคดี

การขยายตัวขององค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน ด้านหนึ่งก็อาจสะท้อนถึงปัญหาการละเมิดที่กว้างขวางขึ้นด้วย

“การมีคดีเยอะแสดงว่าคนออกมาแสดงออกทางการเมืองเยอะ”

และผู้กุมอำนาจรัฐก็เลือกตอบโต้ประชาชนด้วยกฎหมาย

“ทุกการชุมนุมมีคนถูกดำเนินคดี เป็นคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กับมาตรา ๑๑๒ ข้อหาชุมนุมก็มีมาตรา ๑๑๖  นอกนั้นเป็นคดีมั่วสุม มาตรา ๒๑๕ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามชุมนุม”

“คดีเหล่านี้ผิด-ถูกไม่ชัดเจนอย่างอาชญากรรม ทนายเอาอะไรไปยืนยันความบริสุทธิ์ของลูกความ ?”

“ใช้ตัวกฎหมายนี่แหละ เรายืนบนพื้นฐานหลักรัฐธรรมนูญรวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม ซึ่งโดยปรกติประชาชนก็มีสิทธิออกมาเรียกร้อง ใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นต่อรัฐได้อยู่แล้ว แต่ในเมืองไทยตอนนี้กลายเป็นถูกใช้กฎหมายดำเนินคดี”

“ฝ่ายที่กล่าวหาอ้างว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ?”

“คนมาชุมนุมน่ะ มันไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในไทยก็ชุมนุมกันมาตลอด เป็นเรื่องปรกติมาก สิ่งนี้ต้องอยู่คู่กับสังคมประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ในบางการชุมนุมนั้นมีการพูดที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา ๑๑๒ หรือไม่ ทำลายทรัพย์หรือร่างกายของใครหรือไม่ อันนั้นต้องดูเป็นรายเฉพาะของการกระทำ หรือมีคนพกอาวุธ นั่นก็ไม่ใช่ว่าการชุมนุมทั้งหมดเป็นความรุนแรง ต้องดูที่หลักใหญ่ของการชุมนุมนั้น คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก็มีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การถูกจับกุมต้องมีหมายจับ เขามีสิทธิจะมีทนายความ สิทธิประกันตัวสิทธิในการต่อสู้คดี”
ทนายแอนให้ข้อมูลเชิงสถิติด้วยว่า แม้หลังการเลือกตั้ง ๒๕๖๒ แล้วจำนวนคดีของผู้ที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองก็ยังพุ่งสูง  โดยเฉพาะนับจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และหลัง ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก คดียิ่งเพิ่มขึ้นมาก

“ตอนแรกเราเหมือนคนกลุ่มน้อย แรงสนับสนุนก็น้อย จนเมื่อปี ๒๕๖๓ คนในสังคมตื่นตัวสูงมาก หลังเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ที่ฉีดน้ำสีใส่ม็อบ มีคน
บริจาคเยอะ อย่างกลุ่มเคป็อปเขาเปิดระดมทุน จัดคอนเสิร์ตให้ศูนย์ทนายฯ หลายแสนบาท หน้าที่ของเราจึงยังอยู่ที่การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นหลัก”

นับตั้งแต่ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งมา มีคดีที่ได้รับการช่วยเหลือราว ๗๐๐ คดี ตัดสินสิ้นสุดแล้วไม่ถึงครึ่ง

“ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นอกนั้นเป็นคดี ม. ๑๑๖ ซึ่งถ้าจำเลยสู้คดีเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ยกฟ้อง  คดี ม. ๑๑๒ เปอร์เซ็นต์การลงโทษมีสูงกว่า คดีการเมืองไม่ใช่คดีปรกติ เรารับประกันผลของคดีไม่ได้ด้วย แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนที่โดนคดีรู้สึกว่ามีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีทนาย มีกองทุนประกันตัว ทำให้เขามั่นใจต่อการใช้สิทธิในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น ยืนยันต่อสิ่งที่เชื่อมั่น ถ้าเป็นคดีเราช่วย และให้ข้อมูลคำแนะนำทางกฎหมาย เราเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในการเคลื่อนไหวของคนที่ตื่นตัวทางการเมือง”

“ในสายตาทนาย ปัญหาสิทธิด้านไหนเกิดขึ้นมากที่สุดในเมืองไทย ?”

“สิทธิพื้นฐานด้านการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย ส่วนการไม่ยอมรับรัฐประหารนั่นเบสิกมาก ๆ ถ้าเรามองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์สิทธิอื่น ๆ ก็ไม่ถูกมอง การมองว่าคนเท่ากัน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่สุดในสังคมไทย พอสังคมไม่ให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการใช้กฎหมายปราบปรามดำเนินคดีกับคน พอสังคมไม่ให้ฉันทามติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ที่เป็นคุณค่า เป็นแก่นแกนหลักของสังคมประชาธิปไตย จึงเกิดการออกมาเรียกร้อง รัฐก็ใช้วิธีการทางกฎหมายทำให้เกิดคดีการเมือง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง”
Image
“การดำเนินคดีจึงไม่ใช่กลไกที่ถูกต้อง ต้องใช้กลไกทางการเมือง รัฐบาลจะต้องปรับตัวมากๆ ฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มคนให้มาก ไม่งั้นเขาก็จะชุมนุมกันอีกไม่จบ”
“ประเมินจากคดีการเมือง แนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ?”

“ยาวแน่ ยังไม่มีที่สิ้นสุด การออกมาแสดงออกทางการเมืองมีสูงมาก มีการจับกุม ศาลจะตัดสินว่าถูกหรือผิด ก็มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอยู่แล้วโดยที่ศาลยังไม่ตัดสินก็ยังได้ อย่างที่อานนท์ (อานนท์ นำภา) พูดเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ สำหรับคนที่เชียร์ต่อให้ศาลตัดสินว่าผิดเขาก็ไม่คิดว่ามันผิด การดำเนินคดีจึงไม่ใช่ทางออก  หากเป็นภาระของประเทศที่ต้องใช้กำลังทรัพยากรที่ควรได้นำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์จริง ๆ การดำเนินคดีจึงไม่ใช่กลไกที่ถูกต้อง ต้องใช้กลไกทางการเมือง รัฐบาลจะต้องปรับตัวมาก ๆ ฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มคนให้มาก ไม่งั้นเขาก็จะชุมนุมกันอีกไม่จบ คนนี้ถูกจับก็จะมีคนใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ แล้วประเทศเราจะไปดำเนินคดีคนเหล่านี้ทำไม คนที่ออกมาเพื่อสาธารณะ เพื่อบ้านเมือง สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือกลับมาตั้งหลักกันใหม่ จะประชามติหรืออะไรก็ตาม ที่นำมาสู่ทางออกของสถานการณ์ในตอนนี้ กลไกทางกฎหมายเพียงลำพังไม่ใช่เครื่องมือแก้ไขปัญหา การดำเนินคดีก็ไม่ใช่ทางออกอยู่แล้ว”

จากที่คาดในตอนต้นว่าจะทำงานกันแค่ ๖ เดือน ตอนนี้ผ่านมา ๗ ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าคดีการเมืองจะลดลง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนงานยังชุกชุม ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ทนายความกลุ่มนี้ต้องการ คนอาจมองว่าคดีความเป็นรายได้ของทนาย แต่ไม่ใช่สำหรับนักกฎหมายสิทธิฯ กลุ่มนี้  พวกเขาให้บริการโดยไม่ได้คิดค่าทนาย เฉพาะทีมสำนักงานที่รับเงินเดือนประจำ ทนายอาสารับเป็นค่าตอบแทนจากเงินบริจาคซึ่งคลุมถึงการช่วยเหลือคดีด้วย

นอกจากนี้ปริมาณคดีของศูนย์ทนายฯ อาจเปรียบเหมือนปรอทการเมืองทางหนึ่งด้วย ซึ่งใช้วัดจำนวนคดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

หากบรรยากาศการเมืองไทยยังไม่ดีขึ้นกว่าช่วง ๗ ปีที่ผ่าน ก็ยากที่คดีสิทธิมนุษยชนจะลดลงได้  
วันสัมภาษณ์ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔