Image

วาดฝัน วาดหวัง 
เมื่อคราวธงสีรุ้งโบกสะบัดกลางมวลชน
วาดดาว - ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

Activist

เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ : วริศ โสภณพิศ

“วาดดาว” ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความเป็นธรรมทางเพศและความหลากหลายทางเพศ ผู้ซึ่งอยากเปลี่ยนเพศกำเนิดเป็นเพศกำหนด อยากเปลี่ยนยุคสมัยเก่าสู่ยุคสมัยใหม่ อยากเปลี่ยนการกดทับ กดขี่ เป็นการให้เกียรติกันอย่างเท่าเทียม อยากเปลี่ยนประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยสมชื่อของมันจริง ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมาพร้อมกับธงสีรุ้งผู้ซึ่งแฝงอยู่ทุกหลืบมุมของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน

วาดดาว

สิบสี่ปีก่อน วาดดาวเป็นเพียงนักศึกษาจบใหม่ และมีแฟนที่มีเพศกำหนดหญิงเช่นเดียวกับเธอ การเคลื่อนไหวเรื่องต่าง ๆ ต่อการเรียกร้องทางการเมืองยังไม่ได้อยู่ในหัวมากนัก หากแต่อาศัยฟังเสวนาตามโรงแรม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จนเริ่มตั้งคำถามเหตุการณ์ทางการเมืองกับตัวเอง

“ตอนนั้นจำได้ว่าก่อนปี ๒๕๔๙ เราก็ไปร่วมกับพันธมิตรฯ คือไปฟัง สนธิ ลิ้มทองกุล และสนใจเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบทักษิณ แต่หลังจากที่มีการบอกว่าต้องใช้มาตรา ๗ มาพระราชทาน เรารู้สึกไม่โอเค แต่ก็ไม่ได้แสดงออก”

หลังการรัฐประหาร วาดดาวยังไม่มีบทบาทเด่นชัดต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพียงแค่เข้าฟังเสวนาต่าง ๆ ราวปี ๒๕๕๒ หลังร่วมทำงานในสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน วาดดาวก็มีโอกาสเข้าร่วมการชุมนุมเล็กใหญ่บ่อยครั้ง ได้ลงพื้นที่พบผู้คนเพื่อไปดู ไปเห็น และไปเข้าใจข้อเรียกร้องต่าง ๆ

วาดดาวเล่าว่าจุดเปลี่ยนจริง ๆ คือปี ๒๕๕๓ ช่วงเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อรู้ว่าเฌอ เยาวชนอายุ ๑๗ ปี ถูกทหารยิงในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เขาเป็นคนที่วาดดาวเคยพบ เคยพูดคุย เคยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ

“มันมีสภาวะล่มสลายเกิดขึ้น เพราะว่าคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตก่อนหน้านั้นเราไม่รู้จัก แต่นี่เป็นคนที่เรารู้จักแล้วมันช็อก”

จากนั้นการเรียกร้องต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อยืนยันให้ยุติการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายทหาร และเป็นครั้งแรกที่วาดดาวขึ้นปราศรัยกับเหล่าแกนนำ เริ่มมีบทบาทและประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เหตุการณ์ความรุนแรงก็เกิดขึ้นอีกครั้งจากการล้อมสังหารประชาชนกลางมหานคร

“เราเห็นควันคลุ้งจากการสลายการชุมนุมหน้าเวที เห็นการขว้างปาสิ่งของจากความโกรธของคน เห็นความไม่พอใจ เห็นความเจ็บปวด จำได้ว่าเราไปที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสเตียน เขาบอกเป็นเขตอภัยทาน แต่พอรู้ว่าเราเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษา กลุ่มจัดเวที เขาไล่เราออกเลย เราก็หลบหนีไปกับเพื่อน ๆ แต่ความรู้สึกค้างใจยังคงอยู่”

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นวาดดาวยังคงร่วมการชุมนุมระยะสั้น “วันอาทิตย์สีแดง” กับ “ที่นี่มีคนตาย” พร้อมกับหนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ เพื่อรำลึกถึงการจากไปของคนเสื้อแดง ก่อนจะเดินทางกลับบ้านไปจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ เพื่อเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำต่อเหตุการณ์อันโหดร้ายของเมืองหลวง

Image

วาดฝัน

วาดดาวเล่าว่าระหว่างทางการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยนั้น ได้ปลดล็อกเรื่องเสรีภาพ อิสรภาพในเรื่องต่าง ๆ ให้กับตนเองซึ่งรวมถึงเรื่องเพศ แต่แล้วการกลับบ้านก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ปลดแอกจากความรู้สึกของเธอ

“ตอนนั้นรู้สึกแย่กับบ้านเมืองในกรุงเทพฯ เลยกลับบ้าน แต่ที่บ้านไม่ยอมรับเรื่องการเป็นเลสเบียนของเรา เรามีแฟนผู้หญิงมาหลายคน และก็มีแฟนที่เป็นผู้ชาย สำหรับแฟนที่เป็นผู้ชายบอกว่าเป็นแฟนได้ แต่แฟนที่เป็นผู้หญิงบอกได้อย่างเดียวว่าคือเพื่อน ก็รู้สึกอึดอัด แล้วเรามีโอกาสเดินทางไปทำงานที่เชียงใหม่เป็นคอลัมนิสต์ ก่อนจะมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง”

วาดดาวออกมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองเต็มตัวเมื่อรู้จักกับมูลนิธิอัญจารี กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเลสเบียน ซึ่งเป็นองค์กรแรกที่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนของ LGBTI หลังจากค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเริ่มจากหนังรักชื่อดัง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย ที่เปิดโลกให้กว้างกว่าเดิม

“พอร่วมกับกลุ่มอัญจารีได้สักพักหนึ่งก็ชักชวนเพื่อน ๆ มาแสดงออกในโจทย์แรกคือเรียกร้องการแต่งงาน เราเคลื่อนไหวทางการเมืองในสไตล์ของพี่หนูหริ่ง คือทำแฟลชม็อบ ซึ่งเราไม่กลัวการประท้วง เพราะผ่านการชุมนุมช่วงปี ๒๕๕๓ มาแล้ว

“แอ็กชันแรกเราเล่นประเด็นเรียกร้องการแต่งงาน เลยต้องไปเขตบางรัก วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ จึงชวนเพื่อนหลาย ๆ คนเพื่อมาจัดงานนี้ และส่งต่อให้กับพี่ที่เป็นกลุ่มหญิงรักหญิงหาคู่ที่ใส่ชุดแต่งงานมา โดยยื่นขอจดทะเบียนที่เขตบางรัก เป็นสิ่งที่สนุกมาก เพราะไม่เคยมีใครแสดงออกแบบนี้มาก่อน ซึ่งเราทำงานในวงการสื่อ รู้ว่าเขตบางรักมีสื่อเยอะมาก แต่อยู่ ๆ เราก็เอาธงรุ้งไปแปะ เอาไมค์อันเล็ก ๆ ไปปราศรัย ซึ่งเมื่อก่อน LGBTQ+ เขาไม่ทำ เพราะชินกับการจัดงานในโรงแรม ไม่กล้าออกมาข้างนอก เขาสะดวกในพื้นที่ปิดมากกว่ากลัวการถูกโจมตี”

จากธงสีรุ้งเล็ก ๆ เรียกร้องให้มีการแต่งงาน คือจุดเริ่มต้นซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวระดับใหญ่ขึ้น วาดดาวยังเล่าอีกว่าการจัดกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก NGO (non governmental organization) ที่ต่างประเทศก็ใช้ธงสีรุ้งในการเรียกร้องปัญหาต่าง ๆ รวมถึงเมืองไทย การนำธงสีรุ้งไปอยู่ทุกที่ล้วนมีความหมายแฝงที่คนหลายคนลืมมอง

“ถ้ามีครั้งหน้า 
เราอาจจะเอาธงรุ้ง
ไปคลุมรถถัง 
เพราะครั้งที่แล้ว
เราไม่กล้าหาญ
มากพอ”

วาดหวัง

เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ กลุ่มเสรีเทยพลัสจัดกิจกรรม “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” เพื่อประกาศจุดยืนและข้อเรียกร้องสามประการ คือ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เพียงแค่นั้นยังว่าด้วยเรื่องการเรียกร้อง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กฎหมายเพื่อรับรองการแต่งงานของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้เท่าเทียมชายหญิง ซึ่งเป็นแก่นหลักของการชุมนุมครั้งนั้น

แม้การชุมนุมจะถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงมาบนท้องถนน วาดดาวได้บอกเหล่าผู้เคลื่อนไหวให้ช่วยกันนำธงสีรุ้งขนาดใหญ่ซึ่งแขวนไว้บนรั้วกั้นลงมาบนถนน จากนั้นก็สามารถครอบครองพื้นที่สั่งห้ามได้อย่างปลอดภัย

“เราคิดว่าประเด็นสำคัญจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ occupy พื้นที่ ซึ่งนี่คือวิธีนักรบกองโจรแบบเราเลย เราไม่แคร์อย่างอื่น รู้อย่างเดียวว่าต้อง occupy พื้นที่ที่เขาห้ามให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าเราไปพื้นที่ที่เขาห้ามนั่นคือสิ่งที่เขาคิดว่าผิด เราก็เอาธงสีรุ้งไป occupy พื้นที่ทำให้มัน soft มากขึ้น คนก็แห่มาร่วมกับเรา โดยตำรวจไม่มีทางจับพวกเราที่กำลังสนุกสนาน เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งร้ายแรง ไม่ได้เผาอะไร ไม่ใช้รูปแบบการจัดงานแบบลดทอนคุณค่าความเป็นคนอยู่แล้ว

“LGBTQ+ ในไทยเป็นความสนุกสนาน ข้อแรกเป็นเรื่อง soft power แม้เราจะปราศรัยแรงแค่ไหนก็ไม่โดนดำเนินคดี เพราะตำรวจคิดว่า LGBTQ+ ทำอะไรไม่ได้หรอก ข้อ ๒ คือเขาไม่เห็นคุณค่าว่าเราสามารถทะลุทะลวงและสั่นคลอนสังคมได้จริง ๆ”

วาดดาวเล่าต่อเรื่องการเรียกร้อง พ.ร.บ. คู่ชีวิตในมาตรา ๑๑๔๘ ที่เธอพยายามมาหลายปีนั้น ทำให้เธอตระหนักว่าการเรียกร้องผ่าน NGO ที่ได้รับงบต่อปีเป็นล้านนั้น ยังไม่อาจทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่ากับแผ่นกระดาษของเยาวชน

“วันที่แฮชแท็กสมรสเท่าเทียมขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ จำได้ว่าเราขับรถแล้วก็หยุด หลังจากนั้นเราร้องไห้เลย เพราะรู้สึกว่าเราตายตาหลับแล้ว ประเด็นสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องของ NGO อีกต่อไป เราบอกกับทุกคนว่าเรื่องนี้ถูกส่งต่อไปให้มวลชนเรียบร้อย แล้วพวกเขาจะปกป้องสมรสเท่าเทียม

Image

“ทันทีที่มีแฮชแท็กไม่เอา พ.ร.บ. คู่ชีวิต เรื่องทำแท้งก็เหมือนกัน รู้ไหมว่าเยาวชนไม่ใช่แค่อยากจะปลดแอกจากรัฐ เขาอยากจะปลดแอกจาก NGO ด้วย เราเข้าไปควบคุมเขาไม่ได้หน้าที่ของเราคือ feed ข้อมูล และสนับสนุน flexibility ต่าง ๆ ให้พวกเขา”

หลังจากธงสีรุ้งโบกสะบัดอย่างงดงามท่ามกลางมวลชน หลายสิ่งในสังคมเริ่มเปลี่ยนไปมากขึ้น ทั้งการสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับผู้คนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องสิทธิและเสรีภาพต่อการแสดงออกในอัตลักษณ์ของบุคคล เรื่องความเท่าเทียมที่มาพร้อมการให้เกียรติ วาดดาวยังเล่าว่าช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาก็ได้เปิดพื้นที่และบ่อนเซาะจนสำเร็จ

“เราต่อสู้เรื่อง LGBTQ+ มาตลอด
ซึ่งก็มีอุปสรรคอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งปี ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาการต่อสู้ของเราเกิดขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าม็อบมันทะลุทะลวงเปิดกว้างทุกพื้นที่ คือที่ต่อสู้มานั้นก็เพื่อจะให้มีพื้นที่ยอมรับ แล้ววันหนึ่งบริษัทต่าง ๆ ก็ยอมรับโดยฉลองเดือน Pride ซึ่งเมื่อก่อนมันยากมากเลยที่จะมีแบบนี้”

เมื่อวาดดาวย้อนกลับมามองตัวเอง นับตั้งแต่เริ่มเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย ตลอดจนการจัดม็อบเล็กใหญ่ก็รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปมากกว่าเดิม

“ความแตกต่างมากที่สุดคือเราสามารถแสดงออกกับครอบครัวได้อย่างใกล้ชิดและมีความสุข โดยเราไม่ต้องมองไปไกลเลย แค่พาคนรักไปรู้จักพ่อแม่ ซึ่งเมื่อก่อนทำไม่ได้ อันนี้มันเป็นเรื่องที่สูงสุดอยู่แล้ว นั่นคือทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย นี่แหละคือการเปลี่ยนแปลงข้างในที่ลึกซึ้งมาก 

“การมีชีวิตที่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย และไม่ต้องหลบซ่อน เริ่มฉายภาพออกมาจากที่เราได้ศึกษาประเด็นความหลากหลายทางเพศที่มีเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราสามารถพูดเรื่องนี้ไม่ว่าจะมิติระดับนานาชาติ หรือแม้แต่โครงสร้างของสังคมและกฎหมายไทยได้อย่างลึกซึ้ง นี่คือการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่เห็นชัดมากที่สุด ซึ่งทำให้เราภาคภูมิใจ

“และมันไม่ได้เกิดจากการถูกกดขี่ แต่เกิดจากการที่เราปลดแอกมันเองนี่”

Image

วาดดาวเล่าว่าประเทศไทยในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ หากสามารถผ่านหลุมพรางสำคัญในเรื่องการเปิดรับสิทธิเสรีภาพทั้งด้านการเมือง การปกครอง และเรื่องเพศไปได้ ประเทศไทยก็จะมีแต่ความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกที่หยิบจับวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่สังคมโลก

“สิ่งหนึ่งที่ประชาธิปไตยเติบโตได้คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกันซึ่งสำคัญมาก

“หนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้นำตัวเองไปทดสอบในเรื่องของการเคลื่อนไหวแล้ว จนเห็นได้ว่าธงสีรุ้ง ธงของ feminism ธงของ LGBTQ+ มันกระทุ้งพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศนั้นจะเป็นธงนำในเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทยในครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นเรื่องจริง

“และเช่นกันหากประเทศไทยหมุนวนกลับมาที่เดิมด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง วาดดาวก็จะออกมาเหมือนเดิม เพื่อคัดค้านการมีอยู่ของผู้บ่อนทำลายอนาคต

“ถ้ามีครั้งหน้า เราอาจจะเอาธงรุ้งไปคลุมรถถัง เพราะครั้งที่แล้วเราไม่กล้าหาญมากพอ แต่ตอนนี้เรามีความกล้ามากขึ้น เรารักและภาคภูมิใจในตัวเอง เราพร้อมจะขึ้นเวทีเพื่อพูดเรื่องของปิตาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน แล้วก็กล้าหาญมากพอที่จะยืนนิ่งให้ตำรวจหิ้วปีกเรา แน่นอนว่าเราอาจจะรีบเย็บธงรุ้งให้เร็วที่สุดเพื่อเอาไปคลุมรถถังให้ได้

“เพราะธงรุ้งถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนถือได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และใหญ่มากพอให้ทุกคนประคองมัน

“เตรียมตัวไว้เลย ทันทีที่มีการรัฐประหาร ธงรุ้งจะคลุมรถถัง”   

วันสัมภาษณ์ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔