“คนเราเมื่อตื่นรู้แล้ว 
จะไม่กลับไปจุดเดิมอีก”
ตูน-ชนกนันท์ รวมทรัพย์ 
Activist
สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ชนกนันท์ รวมทรัพย์
Image
ตูน-ชนกนันท์ รวมทรัพย์ 
ผู้ลี้ภัยการเมืองจากกรณีมาตรา ๑๑๒

/ ๑ /
“คนที่ทำให้เราสนใจการเมืองคือพ่อ พ่อขับรถส่งเราไปโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมฯ อยู่ในรถจะได้ฟังข่าววิทยุ พ่อเล่าหลายเรื่องให้ฟัง พ่อยังสะสมหนังสือ เลยได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ มีคำถามก็ถามพ่อ สมัยเรียนมัธยมฯ ต้นคนรอบตัวเป็นเสื้อเหลือง (กลุ่มพันธมิตรฯ) ที่โรงเรียนเพื่อนก็มาจากชนชั้นกลาง ข้อมูลที่ได้จึงมาจากฝั่งเสื้อเหลืองทั้งหมดโดยไม่สงสัย รู้แค่ต่างกัน อยู่คนละสังคม บ้านเราอยู่แถบดอนเมือง เพื่อนบ้านในซอยเสื้อแดงหมด บ้านเราเหลืองอยู่หลังเดียว จำได้ว่าพ่อต่อลำโพงเปิดช่อง ASTV (เคเบิลทีวีของสื่อเครือผู้จัดการ) อัดข้างบ้านจนแม่ต้องเตือน แต่พ่อก็ไม่หยุด เปิดทุกวัน ตอนขับรถไปส่งที่โรงเรียนก็เปิด

“ร้องเพลงพันธมิตรฯ ได้ทุกเพลง มีสติกเกอร์ไอ้หน้าเหลี่ยม ผ้าโพกหัว ‘กู้ชาติ’ เต็มบ้าน รู้สึกว่าเป็นเสื้อเหลืองมันคูล มันเท่ พ่อก็ไม่ทำงาน แต่ไปกางเต็นท์นอนในม็อบ พอเกิดรัฐประหาร ๒๕๔๙ ก็ดีใจไม่ต้องไปโรงเรียน มองว่าคณะรัฐประหารเป็นฮีโร่ ตอนนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครแล้วที่โรงเรียนบอกสนธิ (พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช.) ที่ทำรัฐประหารเป็นรุ่น ๑ ทุกคนก็ภูมิใจ หลังจากนั้นพ่อยังฟัง ASTV ต่อ พันธมิตรฯ ชุมนุมก็ยังไปร่วม

“ช่วงปี ๒๕๕๒ กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน เราอยู่ระหว่างเข้าโครงการแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา อินเทอร์เน็ตสมัยนั้นไม่ดี เราแทบตัดขาดจากข่าวสาร ตอนปิดสนามบิน เจ้าหน้าที่ที่ดูแลก็คุยกับครอบครัวที่รับอุปการะเราว่า ขอให้นักเรียนไทยได้อยู่ต่อสักพักได้ไหม เพราะกลับตอนนั้นจะอันตราย พอเรารู้ยังเอาภาพไปให้โฮสต์ (ครอบครัวที่ดูแล) ดู บอกว่าไม่เป็นไร กลับได้ พวกเราทั้งนั้น ‘This is my people you know. We are so safe. My dad will be there, too.’ มานึกย้อนไปก็โอมายก็อด (หัวเราะ)

“ช่วงมีม็อบคนเสื้อแดงปี ๒๕๕๓ เราเชื่อตามสื่อที่บอกว่าเป็นม็อบคนต่างจังหวัด คนจน คนรักทักษิณ แม้ซอยที่บ้านมีแต่เสื้อแดง เขาก็รู้ว่าคุยกับบ้านเราไม่ได้ เราจึงไม่เคยสื่อสารกับคนเสื้อแดงเลย  ตอนที่รัฐสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เราอยู่บ้านดูทีวีกับแม่ ก็รู้สึกว่าทำไมรุนแรง เป็นครั้งแรกที่สะเทือนใจและตั้งคำถาม

“จริง ๆ เริ่มตั้งคำถามกับหลายเรื่องตั้งแต่อยู่สหรัฐฯ เพราะไปอยู่ในครอบครัวที่เคร่งศาสนามาก ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์และวันพุธตอนเย็น จนเราอึดอัด ขอย้ายไปช่วยงานในโรงเรียนวันอาทิตย์ (Sunday school) ซึ่งแบ่งห้องตามอายุเด็ก เห็นเลยว่านี่คือสายพานผลิตความเชื่อ เด็กไม่มีโอกาสเลือก พอกลับถึงไทยขอแม่เปลี่ยนสถานะในบัตรประชาชนว่า ‘ไม่นับถือศาสนา’ ทะเลาะจนแม่ยอม เราให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะรัฐไทยอ้างว่าคนร้อยละเท่านั้นเท่านี้นับถือพุทธทั้งที่จริง ๆ อาจไม่ถึง”
/ ๒ /
“พอจบมัธยมฯ ปลายพ่อบอกให้เรียนสายสังคม ให้เรียนนิติศาสตร์ แต่เราเลือกทุกอย่างตรงข้าม เด็กทุกคนจะต่อต้านเวลาโดนห้าม ถ้าบอกว่าอย่ากินของทอด จะถามว่าทำไม เราเห็นแม่ทำงานบัญชีเหนื่อยก็ไม่อยากเรียนบัญชี เลยเลือกเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเหตุผลแค่นั้น

“มีวิชาหนึ่งอาจารย์ถามว่าไอ้ตูน รู้ไหมทำไมต้องใส่ชุดนิสิต ก็ตอบว่าไม่ต้องคิด สะดวกดี  แกถามต่อว่าเข็มพระเกี้ยวไม่สำคัญหรือ เราว่าไม่ แกว่างั้นเอามา เราบอกว่าให้ แกไม่ได้เอาไป แต่ก็บอกว่าคุณเป็นคนแรกที่ยอม แล้วบอกให้อ่านหนังสือของ มิเชล ฟูโกต์ (นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศส) เรื่องอำนาจของเครื่องแบบ มารู้ตอนหลังว่าแกคืออาจารย์นิติ ภวัครพันธุ์ ไปเจออีกว่ามีกลุ่มครก. ๑๑๒ (คณะรณรงค์แก้ไขกฎหมายมาตรา ๑๑๒) จึงรู้จักกฎหมายนี้เป็นครั้งแรก  ต่อมายังไปฟังงานเสวนาต่าง ๆ ทำกิจกรรมกับกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (Chulalongkorn Community for the People - CCP) เป็นกลุ่มเดียวในจุฬาฯ ที่สนใจการเมือง

“ช่วงที่ กปปส. shutdown กรุงเทพฯ จุฬาฯ เกณฑ์คนไปร่วม คณะรัฐศาสตร์เป็นคณะเดียวที่ไม่บังคับ ไม่ตัดคะแนนถ้าไม่ไป ตอนนั้นเราโดนเพื่อนในคณะรังเกียจ มองว่าเราหัวรุนแรง พวกเขามาชวนไปม็อบ กปปส. บอกเห็นชอบการเมือง ก็ตอบไปว่านี่ไม่รู้อะไรเลยหรือ และไม่ได้ไป ช่วงนั้นพ่อก็เป่านกหวีด มีของที่ระลึกเกี่ยวกับ กปปส. ทุกอย่างที่ไปดูม็อบ กปปส. จริง ๆ คือตอน CCP นัดไปสำรวจว่า กปปส. ปราศรัยเรื่องอะไร และเราก็รับไม่ได้ ประเมินกันแล้วว่าจะนำไปสู่การรัฐประหารอีก

“พอเกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ก็ไม่ออกไปไหน ๘ เดือน เพราะรู้สึกแย่ คนใกล้ตัวหลายคนโดนจับจนไม่อยากตามข่าว ไปหาจิตแพทย์ก็พบว่าหมอเป็นสลิ่ม โทร. ไปกรมสุขภาพจิตเขาแนะนำว่าอย่าตามข่าว ให้อ่านเฉพาะหน้าเฟซบุ๊กตัวเอง จนปีถัดมาจัดงาน ‘ดูนาฬิกา รำลึก ๑ ปี รัฐประหาร’ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครถูกจับครั้งแรกพร้อมเพื่อนอีก ๓๘ คน กลัวมาก ตำรวจใช้จิตวิทยาให้เซ็นเอกสารตลอด แต่เราไม่ยอม จนได้รับการปล่อยตัวตอน ๑๐.๐๐ น. วันถัดมา ช่วงนั้นเครียด เพราะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร พอจะกลับบ้าน พ่อแม่มารับ ความสัมพันธ์ดีขึ้น เพราะเขาห่วงเรา แม่รู้สึกแย่มากกับตำรวจ หลังจากนั้นทหารไปวนเวียนขู่ที่บ้านแทบทุกเดือน”
“พอถึงบ้านประมาณ ๑ ชั่วโมงทหารก็มา บอกว่านายไม่พอใจ ให้ลบ เราตัดสินใจไม่ลบ เพราะมองว่าเราสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าพูดไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายทำสำเร็จ”
/ ๓ /
“กรณีที่ทำให้ต้องลี้ภัยเกิดในปี ๒๕๕๙ ขณะอยู่ค่ายนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่ประเทศบราซิล ในเฟซบุ๊กแชร์ข่าวบีบีซีเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ ที่ที่ไปอยู่สัญญาณมือถือน้อย มีก็ไม่ต่อเนื่อง เราก็แชร์ข่าว พออีก ๑ สัปดาห์ก่อนจะกลับ มีข่าวว่า ‘ไผ่ ดาวดิน’ โดนจับจากการแชร์ข่าวนี้ แม่โทร. หาบอกว่าทหารขู่ขอให้ลบ ไม่อย่างนั้นจะจับเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ เราไม่ได้อยากลี้ภัย เลยติดต่อเพื่อนและทนายให้เตรียมตัวมารับที่สนามบิน แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่พอถึงบ้านประมาณ ๑ ชั่วโมงทหารก็มา บอกว่านายไม่พอใจ ให้ลบ เราตัดสินใจไม่ลบ เพราะมองว่าเราสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าพูดไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายทำสำเร็จ

“พอได้หมายคดี ๑๑๒ เย็นแล้ว ติดต่อทนาย เพื่อนนักกิจกรรม มีผู้แนะนำว่าให้ออกนอกประเทศทันที ถ้ารอข้ามวันอาจมีข่าว มีหมายจับ ให้ไปประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่า มีหน่วยงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตั้งอยู่

“มีตัวเลือกสามที่ คือ ฮ่องกง แต่ค่าครองชีพสูงอยู่ได้ไม่เกิน ๒ เดือนแน่ ฟิลิปปินส์เป็นรัฐบาลดูเตอร์เตที่ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน เกาหลีใต้ดูดีที่สุด เราใช้เวลาเก็บของไม่กี่ชั่วโมง ลงไปบอกพ่อกับแม่ เอาหมายเรียกให้ดู พ่อเงียบเพราะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม่ถามว่าจะไม่ได้กลับมาแล้วใช่ไหม จากนั้นไม่ได้คุยอะไรอีก แม่ขับรถไปส่ง แต่พอถึงสนามบินไม่ลงจากรถเพราะกลัวกล้องวงจรปิดจับภาพได้ เลยต้องลากันในรถเพื่อนสนิทมารับไปที่ร้านอาหาร พยายามไม่ร้องไห้ เพราะกลัวผิดสังเกตตอนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พอเครื่องบินขึ้นเราเศร้า แต่ก็ท่องบทพูดที่เพื่อนเขียนให้ไปตอบ ตม.เกาหลีใต้ว่าจะไปเที่ยวไหน ที่นั่นมีนักศึกษาปริญญาโทคนไทยมารับ ช่วงแรกย้ายไปสามที่ก่อนจะเข้าไปอยู่หอพักขององค์กร ‘May 18’ ซึ่งช่วยเหลือผู้ลี้ภัยการเมือง
Image
“ถึงตอนนั้นทนายสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ก็เข้ามาช่วยเรื่องลี้ภัยการเมือง ขั้นตอนที่ยากคือเตรียมหลักฐาน  ตม. เกาหลีใต้โดนคนหลอกเยอะจึงอนุมัติยาก  คนที่ยื่นเรื่องหลายคนไม่มีหลักฐาน แต่เราหาได้ง่าย เพราะมีข่าวในสื่อเยอะ ต้องนั่งแปลเป็นภาษาอังกฤษกว่า ๒๐๐ หน้า  สามเดือนแรกจะยุ่งเรื่องเอกสารมาก แม่พยายามหานักแปลที่ไทยช่วยสามที่ ปรากฏว่าถูกปฏิเสธหมดพอรู้ว่าเป็นเรื่องของเรา สุดท้ายต้องแปลเอง ช่วง ๖ เดือนแรกทำงานไม่ได้เลย ต้องใช้เงินที่ติดตัวไปจากเมืองไทยเท่านั้น

“สถานะผู้ลี้ภัยในเกาหลีใต้ถ้ายื่นเรื่องอยู่จะเป็น G1 ถ้าผ่านจะได้ F2 พอได้ F2 สถานะเหมือนคนเกาหลี ได้รับบริการทางการแพทย์ ต้องเสียภาษี”
/ ๔ /
“เรากลายเป็นคนไทยคนแรกที่ลี้ภัยด้วยเหตุผลการเมืองในเกาหลีใต้ ก่อนหน้ามีกรณีคนคะฉิ่นที่เกิดในไทยลี้ภัยไปก่อนแล้วแต่ด้วยเหตุอื่น ปรกติพยายามเลี่ยงที่จะเจอคนไทยเพราะเคยไปช่วยทำวิจัยเรื่องแรงงานไทยในเกาลีใต้ ต้องไปเก็บข้อมูลตามร้านอาหารไทย พอบอกว่ามาลี้ภัย เขาเอาขวดเบียร์ไล่ตี บอกล้มเจ้า เราเลยฝังใจตั้งแต่นั้น จนถึงตอนนี้สถานทูตไทยยังคงรายงานเรื่องเรากลับไปให้รัฐบาลไทยอยู่ช่วงมีข่าวอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยก็เครียด นอนไม่หลับเป็นเดือน

“เราวิจารณ์ UNHCR ในไทยมาหลายปีแล้ว ล่าสุดเขานำเนื้อหาเกี่ยวกับเราออกจากหนังสั้นผู้ลี้ภัย เพราะทีมงาน UNHCR ทางเกาหลีไปคุยกับศูนย์ภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ทางนั้นบอกว่าถ้าเอาเราไปรวม อาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของเรา เรารับตรงนี้ไม่ได้ เพราะคุณก็ช่วยผู้ลี้ภัยจากที่อื่นหลายคนเช่นกัน

“เราพยายามบอกว่าผู้ลี้ภัยมีศักดิ์ศรีและทำประโยชน์ได้ไม่ใช่ต้องขอเงินตลอดเวลา เรามีศักยภาพในการทำงาน เรียนอยากให้มองเราเป็นคน เราสู้เรื่องนี้มาก แต่ UNHCR ในไทยทำให้งานเราพังหมด ผู้กำกับฯ จึงแยกเรื่องของเราออกไปถ่ายด้วยทุนเขาเอง เราเลยตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำงานเรื่องนี้ให้ดีกว่าเขา”
/ ๕ /
“เราตามข่าวการเมืองไทยเป็นระยะ บางช่วงก็จัดชุมนุมประท้วงเรื่องการเมืองไทยที่เกาหลี ต้นปี ๒๕๖๓ เห็นนิสิตจุฬาฯ ประท้วงเราร้องไห้เพราะตื้นตันใจ เพราะที่ผ่านมาชอบล้อเล่นกับเพื่อนว่าอายุความคดี ๑๑๒ มี ๑๕ ปี กว่าจะได้กลับบ้านคงอายุ ๓๙  พอมีประท้วงแบบนี้เพื่อนบอกอาจได้กลับก่อน

“เทียบม็อบไทยกับม็อบฮ่องกง ฮ่องกงสถานการณ์แย่กว่าเพราะกำลังรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มีมาก แต่ของไทยเห็นการจัดตั้งทางความคิดยังทำงานอยู่ เป็นการสู้ระยะยาว สิ่งที่รุ่นอาจารย์เราทำมาตลอด ๓๐ ปีกำลังออกผล คนเราเมื่อตื่นรู้แล้วจะไม่กลับไปจุดเดิมอีก

“เราไม่โอเคกับคนที่เคยเป็น กปปส. แล้วเปลี่ยนฝั่ง ถ้าเราเป็นแกนนำผู้ชุมนุมก็ต้องรับคนพวกนี้ให้ได้มากที่สุด แต่ส่วนตัวไม่เคยอภัย เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องลี้ภัย ไม่ได้อยู่กับครอบครัว

“จนถึงตอนนี้เราไม่เสียใจและไม่เสียดาย ภูมิใจที่เป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ก็ภูมิใจที่เราเป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราอาจไปเป็นข้าราชการ แต่คงตอบไม่ได้นะว่าถ้าตายหรือโดนอุ้มจะพูดแบบนี้ไหม ครอบครัวเราจะยังภูมิใจหรือบอกว่าไม่เสียใจไหม

“เราอยากกลับบ้านเสมอ เพราะสุดท้ายพ่อแม่ เพื่อนครอบครัวอยู่ที่ไทย ไม่จำเป็นต้องกลับไปอยู่ถาวร แต่ควรได้ไปเยี่ยมเพื่อน เยี่ยมครอบครัวอย่างปลอดภัย ไม่ถูกจับ” 
วันสัมภาษณ์ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔