Image
“จุดหมายปลายทางคือ
สถาบันกษัตริย์ไม่ต้องมาแบกภาระ
ให้หนักหนาวุ่นวาย”
ศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร
Future
สัมภาษณ์ : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ
ในแต่ละประเทศ ช่วงเวลาการเปลี่ยนรัชกาลทำให้การรับรู้ประชาชนเปลี่ยนไป
เราจะเห็นว่ากษัตริย์สมัยใหม่ทุกประเทศมีอายุยืน หากไม่สละราชสมบัติก็จะอยู่นาน ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้และความเคยชินแก่ประชาชน ได้รับการยอมรับและความเห็นจากประชาชนว่าภาพกษัตริย์ควรเป็นแบบนี้ที่เคยเป็นมา พอเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ เปลี่ยนการรับรู้ใหม่ อาจต้องมีการปรับตัวกันทุกฝั่ง แต่อาจไม่มีปัญหา ถ้าบางครั้งมกุฎราชกุมารหรือมกุฎราชกุมารีทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือปรากฏตัวทำงานใกล้ชิดประชาชนตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ใช่ กรณีเกิดคำพูดที่ว่า สู้ไม่ได้ หรือบารมีไม่ได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดา เทียบกับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตก็เหมือนกัน พอเปลี่ยน ลูกบ้านก็มีคำถามในตอนแรก จนกว่าเขาจะแสดงผลงานจึงเกิดการยอมรับ เป็นเรื่องปรกติ

สำหรับประเทศไทยเรายังอยู่แค่จุดเริ่มต้นของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างสวีเดนหรือเดนมาร์กเปลี่ยนกษัตริย์มาหลายพระองค์แล้ว จนประชาชนเข้าใจได้ว่าการเปลี่ยนรัชกาล เปลี่ยนบุคลิกภาพ คนเขาก็ยอมรับว่ามีขึ้นมีลง

รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่อย่างเต็มตัว เพราะรัชกาลที่ ๗ ทรงครองราชย์อยู่มา ๓ ปีก็สละราชสมบัติ จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นรัชกาลที่ ๘ ซึ่งยังทรงพระเยาว์ และยังไม่ได้ครองราชย์ชัดเจน มีแต่รัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงวางรากฐานของกษัตริย์ไทยภายใต้ระบอบใหม่ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญว่ากษัตริย์จะต้องวางตัวอย่างไร และมาถึงรัชกาลปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นถ้านับจริง ๆ เพิ่งมีแค่สองรัชกาลเอง คำถามคือจะไปไม่รอดแล้วหรืออย่างไร ถ้าไปไม่รอดก็แสดงว่าเราไม่รู้จักประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็แสดงว่าเป็นพวกสาธารณรัฐนิยมแบบสุดโต่ง ต่อให้เปลี่ยนไปกี่รัชกาลก็ไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามีคนที่เขาเห็นต่าง คำถามคือจะอยู่กันอย่างไรมากกว่า ใช้ความเข้าใจกัน
ศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีคนเห็นว่าระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสามารถพัฒนาไปได้มากกว่าเพียงการใช้คำว่า “ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
นักวิชาการทางรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ Juli F. Minoves, Alfred Stepan และ Juan J. Linz เห็นว่ารูปแบบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาราชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตย (democratization of monarchies) ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน  พวกเขาจึงกำหนดตัวแบบของขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้สามแบบ คือ “ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองอย่างเต็มที่” (ruling monarchy) ต่อมา “ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและพระราชอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) และสุดท้าย “ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระราชอำนาจถูกกำหนดขอบเขตไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย” (democratic parliamentary monarchy)

แต่ก็มีข้อแตกต่างเล็กน้อยระหว่าง “พระราชอำนาจอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” กับ “พระราชอำนาจถูกกำหนดขอบเขตไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย” คือแบบ constitutional monarchy การจัดตั้งและการสิ้นสุด รัฐบาลขึ้นอยู่กับสภาและสถาบันพระมหากษัตริย์ การจัดตั้งและสิ้นสุดของรัฐบาลจะชอบธรรมได้ก็ต้องมีองค์ประกอบทั้งสภาและสถาบันพระมหากษัตริย์จึงจะสมบูรณ์ ขณะที่แบบ democratic parliamentary monarchy มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่เสรี สภากำหนดการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจะสิ้นสุดลงโดยสภาเท่านั้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ ไม่ใช่ว่าพระราชอำนาจจะหายไปทันที กว่าจะคลี่คลายจนทุกอย่างลงตัวต้องใช้เวลานานพอสมควร การเปลี่ยนแปลงการปกครองเดนมาร์กเกิด ค.ศ. ๑๘๔๙ กษัตริย์เดนมาร์กอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจพระองค์เลือกใครในสภามาเป็นฝ่ายบริหารได้  นาน ๆ เข้าสภาขุนนางหรือสภาสูงก็หมดอำนาจ สภาผู้แทนฯ ทำงานได้ดี สภาสูงไม่จำเป็นอีกต่อไป อย่างเราเปลี่ยนแปลงมาได้เกือบ ๙๐ ปี มักมีคนวิจารณ์ว่าทำไมไม่เป็นพระมหากษัตริย์แบบอังกฤษ สวีเดน เดนมาร์กในปัจจุบัน ก็ลองไปดูในช่วง ๑๐๐ ปีแรกของการปกครองของเขา เราจะตัดเป็นแบบประเทศยุโรปที่ระบอบกษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญพัฒนามาจนถึงต้นศตวรรษที่ ๒๑ ได้ทันทีเลยหรือ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานขนาดเขาแต่ถ้าจะเปลี่ยนอย่างฉุกละหุกก็เป็นการไม่เข้าใจบริบทประวัติศาสตร์และการวิวัฒนาการทางการเมือง
“หากวันหนึ่งรู้สึกสภาไม่ตอบโจทย์เรื่องพระราชอำนาจ และถ้าลงถนนแล้วไม่ได้ตามหวัง คุณก็ไปตั้งพรรคการเมืองมาสู้ ถ้ามีหลักการและเหตุผล คนก็รับฟังมากขึ้น”
Image
แสดงว่าวิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเดินไปข้างหน้าได้
แน่นอน จุดหมายปลายทางคือสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ต้องมาแบกภาระให้หนักหนาวุ่นวาย อย่างเช่นเหตุการณ์ปี ๒๕๓๕ มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายประชาชนรุนแรงมาก ในที่สุดในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้ทุกอย่างสงบลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีความขัดแย้งรุนแรงแบบสุดโต่ง พระมหากษัตริย์ก็อยู่โดยไม่ต้องแบกภาระ ไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง เหมือนที่หลายคนอยากให้เป็นแบบอังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก แต่เมื่อพระองค์ทรงเข้ามายุติความขัดแย้ง คนได้ก็เฮ คนเสียก็ไม่พอใจ เก็บความไม่พอใจนั้นไว้  โดยรวม ๆ อะไรที่คลุมเครือทางการเมืองก็มักโยนมาที่พระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถตอบโต้ชี้แจง คนผิดตัวจริงที่ได้ประโยชน์จากการปล่อยให้ผู้คนคิดโทษกษัตริย์ก็สบายไป
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องพูดถึง ๓ ข้อเรียกร้อง และ ๑๐ ข้อในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ช่วงแรกกลุ่มปลดแอกไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีแค่ “หยุดคุกคามประชาชน” “แก้รัฐธรรมนูญ” สุดท้าย “ยุบสภา” ส่วนกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเรียกร้อง ๑๐ ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ให้แก้มาตราที่บอกว่า ฟ้องร้องสถาบันไม่ได้ และให้ตรวจสอบการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งประชาชนเขามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง ตอนนั้นผมไม่เห็นว่าข้อเสนอ ๑๐ ประการจะกลายเป็นการล้มล้าง ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยทุกข้อ แต่บอกว่าทุกข้อต้องเข้าสู่สถาบันนิติบัญญัติ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องเข้าไปสู่สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา แต่บางข้อที่กฎหมายจำเป็นต้องมีไว้ปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐ หลายประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขเขาก็มีมาตราแบบนี้แทบทั้งสิ้น

ประเด็นคือเยาวชนมองไปที่เรื่องส่วนตัวของพระองค์มากกว่า ไม่ได้มองไปที่สถาบัน มองที่ข้อครหาหรือข้อสงสัย เช่น การเสียชีวิตของผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา ๑๑๒ ภายหลังจับได้ว่าอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาประโยชน์ใส่ตัว หรือผู้ต้องหาเสียชีวิตติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้คนก็ตั้งข้อสงสัยว่ามีอะไรเคลือบแคลง รัฐบาลหรือสภาก็ควรนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และอธิบายว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ หรือเรื่องการใช้จ่าย เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ประทับในประเทศไทย จริง ๆ แล้วตามกติกาแล้วควรส่งเรื่องนี้ให้ทางสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ตรวจสอบ

ประเด็นคือคนสงสัยว่าพระราชอำนาจมากไปไหม เป็นการละเมิดอะไรหรือเปล่า สภาที่ออก พ.ร.ก. หรือ สนช. ต้องเอารายงานการประชุมมาตอบคำถามว่าเหตุผลคืออะไร อย่างเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรเอาทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ไปขายต่อในราคาถูกให้พวกพ้อง อย่างลูกน้องจอมพล ป. มีการฉ้อฉล การออกพระราชบัญญัติทรัพย์สินฯ คือการพยายามเอาส่วนนี้คืนมา เหตุผลนี้มาจากฝ่ายที่ปกป้องว่า พ.ร.บ. นี้มีข้อดีอย่างไร แน่นอนว่ามีข้อเสียด้วยถ้าสภาให้มีพระราชอำนาจขนาดนั้น ดังนั้นสภาอย่าหมกเม็ด เปิดเผยเสีย คนที่ต้องเคลียร์คือสภาและ สนช. ว่ามากไปน้อยไปตรงไหน ออกมาอธิบาย
Image
ในประวัติศาสตร์การเมืองของต่างชาติ องค์กรที่ต้องทัดทานหรือลดทอนพระราชอำนาจคือสภา แต่สภาบ้านเราดูจะไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว เช่น บอกจะแก้ มาตรา ๑๑๒ พอเข้าไปสภากลับไม่ทำอะไรเลย ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า เลิกมาตรา ๑๑๒ ได้ แต่ต้องมาพูดคุยกัน ทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศว่า ถ้าเลิกไปดีหรือไม่ดีอย่างไร สถาบันพระมหากษัตริย์ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ช่วงประชาพิจารณ์อาจจะสับสนวุ่นวาย อาจลงเอยด้วยการที่มาตรา ๑๑๒ อาจไม่มีก็ได้ หรือแก้โทษ เปลี่ยนจากติดคุกเป็นปรับเงิน

พอประชาพิจารณ์แล้ว ประชาชนบอกอย่างไรก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ว่าคุณเข้าไปในสภาบอกจะยกเลิกทันที ขอบเขตความพอดี เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตรงไหน อะไรหมิ่นไม่หมิ่น ประชาชนที่จงรักภักดีก็ของขึ้น เราต้องค่อย ๆ คุยกันเรื่องนี้
กลุ่มผู้ชุมนุมนำเรื่องการลดทอน
พระราชอำนาจออกดีไหม

ไม่จำเป็นต้องเอาออก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใจร้อน และสภาควรตอบข้อสงสัยที่พวกเขาสงสัย เช่น มาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญ อธิบายเป็นทางการให้ประชาชนทุกฝั่งรับรู้ รัฐบาลต้องมีเจตนาดีรับฟัง ถ้าคนเห็นว่าไม่ถูกต้องก็มีสิทธิ์พูดตรง ๆ เลยว่าต้องการลดทอนพระราชอำนาจ

อย่ามุ่งไปที่ตัวพระองค์ท่าน แต่ต้องมุ่งไปที่สภา หาคำตอบทางออกว่าด้วยความห่วงใยว่า มีข่าวลือ มีการใช้ภาษีประชาชนเกินเลย เกรงว่าจะเป็นที่เข้าใจผิด ถ้า ส.ส. ไม่ทำอะไรก็แสดงว่าหมกเม็ดอะไรอยู่
บางคนมองว่ามีโอกาสที่ประเทศไทย
จะเปลี่ยนสู่ระบอบสาธารณรัฐ 

คนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ดีและให้ความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเกินไป ในการเปลี่ยนรัชกาล คนส่วนใหญ่ก็ต้องปรับตัวกับรัชกาลที่ ๑๐ ท่านก็มีพระราชกรณียกิจอีกแบบที่ไม่เหมือนรัชกาลที่ ๙ แต่ว่าบางคนอาจจะรู้สึกหวั่นไหวบางอย่าง ส่วนคนที่แอนตี้จริง ๆ ต้องบอกว่าเขายังไม่ศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเราดีพอ การที่จะต่อสู้เพื่อเป็น republic แล้วกลับหยาบคายขนาดนั้น ย่ำยีพระเกียรติยศอย่างนั้น แสดงว่าสารที่ส่งไปผิดพลาดมาก

หลายคนในประเทศเราผูกพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ บูรพกษัตริย์ พระสยามเทวาธิราช ถ้าคุณไปละเมิดสิ่งเหล่านี้ คนไทยหลายคนรับไม่ได้

ยังมีคำถามตามมาด้วยว่า ถ้าเปลี่ยนเป็น republic จะเปลี่ยนเป็นแบบไหน เช่น ปกครองแบบประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ หรือจะเป็นแบบฝรั่งเศสที่มีประธานาธิบดี แต่ก็มีนายกรัฐมนตรี นี่แค่สองตัวอย่างเป็นอย่างน้อย คุณต้องตกลงกันหลังการปฏิวัติสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจจะฆ่ากันตายอีกรอบ หรือแม้จะตกลงกันได้ก็ต้องเริ่มจากศูนย์ เราผ่านมา ๘๐ กว่าปี เปลี่ยนแปลงการปกครองพัฒนามาเรื่อย ๆ ดีเลวยังไงก็ลงรากไปได้แล้ว ควรค่อย ๆ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีสงครามกลางเมืองก็ถือว่าเริ่มจากศูนย์ ถ้ามีสงครามกลางเมืองก็ติดลบ กว่าจะตั้งหลักก็บวกไปอีก ๕๐-๑๐๐ ปี แต่ของดีที่ว่านี้คืออะไรก็ไม่รู้ คุณจะเสี่ยงเหรอ
Image
มองอนาคตการชุมนุมเป็นเช่นไร
มนุมเป็นระยะ ๆ ดูว่ามีความเคลื่อนไหวจากรัฐสภาหรือรัฐบาลหรือไม่ ขยายวงจากแค่นักเรียนไปเป็นประชาชนทั่วไป ถ้าไม่มีค่อยนัดใหญ่ ให้ใหญ่จริง ๆ และสร้างผลสั่นสะเทือน แต่ที่นัดจุดเล็ก ๆ กันบ่อย ๆ อาจเพราะเอาความสะดวกของการเดินทาง โดยมีเป้าหมายเป็นนักเรียนนักศึกษา

เลิกถ่อยเลิกหยาบ เราต้องการหาความจริง หาความยุติธรรมในสังคม ความเท่าเทียม สะสางความคลุมเครือ แต่อย่าเพิ่งไปกล่าวหาโดยไร้หลักฐาน มุ่งไปที่ว่าเราอยากได้ความกระจ่างในความคลุมเครือบางอย่าง ช่วยตอบเราหน่อยได้ไหม

อย่างไรก็ตามทุกคนที่มาชุมนุมเป็นลูกเป็นพี่เป็นน้อง เราต้องเห็นใจเขา ไม่ต้องชุมนุมจนเฝือ แล้วต้องแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดจริง ๆ ไม่ใช่เป็นคนใจร้อน ไม่ต้องแสดงออกว่าเป็นคนเกเร ใคร ๆ ก็จะเห็นด้วย

ตอนนี้ขยับจนเพดานหลุดไปแล้ว ถ้าจะกลับมายังสามารถทำได้ หยุดถ่อยได้ไหม จะกลับมาสำนึกเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ไหม ตัวแกนนำ ผู้นำ หรือใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลัง ประกาศว่าผิดพลาดตรงนี้นะ ทำไม่ถูก แล้วต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ แต่หากรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ข้อเรียกร้องดันจนสุดแล้ว ล้อเลียนก็แล้ว ไปขยับเพดานใช้กำลัง ปิดถนน ชัตดาวน์ ใช้ความรุนแรงจนเกินเลย ถึงตรงนั้นรัฐบาลจะมีความชอบธรรมในการรักษาความสงบและความเป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้คนอื่น ๆ เขาใช้ชีวิตได้ปรกติ  ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง
ทางออกที่เป็นไปได้
ถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตย หากวันหนึ่งรู้สึกสภาไม่ตอบโจทย์เรื่องพระราชอำนาจ และถ้าลงถนนแล้วไม่ได้ตามหวัง คุณก็ไปตั้งพรรคการเมืองมาสู้ ถ้ามีหลักการและเหตุผล คนก็รับฟังมากขึ้น หากพระมหากษัตริย์ทรงมีความประพฤติที่ทำให้คนรู้สึกแย่ เขาก็จะคิดถึงคุณและมาสนับสนุนหลักการของคุณ แต่ถ้าคุณอยากให้พระมหากษัตริย์อยู่ยั้งยืนยงสง่างาม คุณก็ต้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์รับผิดชอบให้น้อยที่สุดใจเย็น ๆ ค่อย ๆ แก้กันไป  
วันสัมภาษณ์ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓