อานนท์ นําภา
ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ผู้เปิดประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ

“ถ้าต้องเลือกสาธารณรัฐ
แต่เสียเพื่อนร่วมทางนับพัน
กับสถาบันกษัตริย์ที่ปรับตัว
เข้ากับระบอบประชาธิปไตย 
ผมเลือกอย่างหลัง”
อานนท์ นําภา

Activist

สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ

“ผมอยากให้ฝ่ายอนุรักษนิยมมองเราเป็นพี่น้องในสังคมเดียวกันที่เห็นต่างกัน เราไม่ทำร้ายกัน ไม่รบรากัน แต่ต้องพูดคุยกัน สุดท้ายเราก็ต้องยกมือแข่งกันอยู่ดีแหละครับว่าจะเอาแบบไหน”

/ ๑ /

“ผมเคยเรียนที่ธรรมศาสตร์เทอมเดียวที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีกลุ่มกิจกรรมชื่อ ‘วัชพืช’ รุ่นพี่ในกลุ่มคุยกันเรื่องการเมือง สถาบันกษัตริย์ ผมเข้าร่วม ต้องด่าพวกนี้ที่พาเข้าวงการ (หัวเราะ) จากนั้นเข้าชุมนุมวรรณศิลป์ก็ได้อ่านหนังสือการเมือง  ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยผมเลือกคณะนิติศาสตร์สามอันดับ แต่ติดอันดับ ๔  ต่อมาลาออก เพราะอยากเรียนกฎหมาย ก็ไปเรียนที่รามคำแหงในคณะที่อยากเรียน

“ตอนพันธมิตรฯ จุดเทียนขอนายกฯ มาตรา ๗ ผมไปขายหนังสือในม็อบ ได้ยินสนธิ (สนธิ ลิ้มทองกุล) พูด ผมตกใจ วันนั้นมีประชุมในหมู่นักศึกษา ผมตามรุ่นน้องที่เป็น สนนท. ไปประชุม ส่วนมากถอนตัว รู้สึกเหมือนโดนหลอก แต่มีบางส่วนยังไปต่อ

“ตอนเกิดรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ผมกำลังฝึกงานที่สำนักงานกฎหมาย ทำคดีเรื่องค้ามนุษย์ ทำวิจัย ไปสัมภาษณ์อาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ วันที่ ๑๘ กันยายน แกยังบอกว่าคงล้มกระดาน ผมก็ไม่เชื่อ แต่วันต่อมาก็รัฐประหาร เมื่อกลุ่มอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ชูป้ายต้านรัฐประหารที่สยามพารากอน ผมโดนขอให้นั่งกินกาแฟอยู่ฝั่งตรงข้าม เขาบอกว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะได้ไปประกันตัวพวกเขาได้

“หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ มีการเอาอำนาจประชาชนออกจากการเมือง จะดีจะชั่วคุณทักษิณมาจากการเลือกตั้ง แทนที่จะสร้างระบบกลั่นกรองที่ดีกลับทำลายเสียงประชาชน ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ เกิดระบอบใหม่ที่น่ากลัวมาก ดึงอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เปลี่ยนระบบเลือกผู้นำกองทัพทหารกลับมามีอำนาจอีก แม้พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่การให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีเป็น ชัดเจนมากว่าทหารจับมือกับชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ตอนนั้นองค์ความรู้และมวลชนไม่พอ ก็กล้อมแกล้มไป ส่วนมากมองเป็นปรากฏการณ์ แต่ถ้าวิเคราะห์จะรู้อยู่แก่ใจ

“มันนำไปสู่ปรากฏการณ์เสื้อแดง นปช. และการชุมนุมใหญ่ปี ๒๕๕๓ การชุมนุมของเสื้อแดงคือการชุมนุมของคนสามัญ แต่ไม่คิดว่าจะมีการล้อมฆ่ากันกลางเมือง ตอนนั้นผมต้องไปว่าความ ขึ้นรถทัวร์ที่สายใต้ ยังเห็นควันลอยจากราชประสงค์ มารู้ทีหลังด้วยซ้ำว่าคนเสื้อแดงมองปัญหาระดับโครงสร้าง เคยคุยกับพี่ไม้หนึ่ง (“ไม้หนึ่ง ก. กุนที” กวีเสื้อแดงผู้วายชนม์) แบบเปิดใจ ก็เสียดายว่าควรร่วมตั้งแต่แรก หลังจากนั้นคนเสื้อแดงไม่ได้หายไป เขารู้สึกว่าแพ้ ผมทำคดีเผาศาลากลางจังหวัด ตกใจมากที่ผู้ต้องหาน่าจะเป็นแพะชายชุดดำมีแน่

Image

“ในกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีคนดีกับไม่ดีเหมือนทุกสีเสื้อ มุมที่ดีคือเขาต้องการเปลี่ยนแปลง แต่อาภัพ สู้สุดตัว ปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย อำนาจอยู่กับทหาร  จนก่อนรัฐประหาร ๒๕๕๗ เสื้อแดงมาชุมนุมที่ถนนอักษะ แต่ไม่มีพลังเหมือนปี ๒๕๕๓ พอเกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ก็แยกย้าย แกนนำโดนจับ มีคนต่อต้านกลุ่มเล็ก ๆ ถึงปี ๒๕๖๓ คนเสื้อแดงเหมือนได้ฝน ผลิใบอีกครั้ง มันโรแมนติก คนรุ่นใหม่มารับไม้ต่อ ไปม็อบจะเห็นคนเสื้อแดงมาทำอาหาร เป็นการ์ด คอยปกป้อง”

/ ๒ /

“ก่อนผมพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในม็อบ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ผมคิดว่าสังคมไทยพร้อมตั้งแต่นักศึกษาเริ่มชุมนุมตามมหาวิทยาลัย เพียงแต่ยังไม่ชัดเจน ลองคิดย้อนไปว่าตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ ดูป้ายที่ประท้วง คนไม่ได้ด่าศาลรัฐธรรมนูญ เขาสรุปกันแล้วว่าปัญหาคืออะไร เพียงแต่ยังไม่พูดตรง ๆ สิ่งที่ผมทำคือเขี่ยบอล น้อง ๆ เขาก็เตะกันต่อ จริง ๆ ต้องชมศูนย์หน้าที่เข้าไปทำประตูมากกว่า

“การเคลื่อนไหวปี ๒๕๖๓ ปูทางมาดี คนรุ่นใหม่ ฝ่ายประชาธิปไตยรื้อปัญหาบ้านเมืองที่อยู่ใต้พรมออกมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่ามีอะไรบ้าง การขยายพระราชอำนาจกษัตริย์ก็ชัดเจน ความสำเร็จของปีที่แล้วคือเรื่องนี้

“ในปี ๒๕๖๔ เราพยายามเสนอทางออก แก้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และกฎหมายหลายฉบับ โชคไม่ดีที่โควิด-๑๙ ระบาดทำให้รณรงค์ไม่เต็มที่ เราจะทำให้ถูกทางก่อน ทำให้เห็นว่าทำได้ ไม่ได้ก็ใช้วิธีอื่น เสนอไปแล้วไม่ผ่านก็แสดงให้เห็นความเสื่อมทราม ระหว่างทางได้อะไรเยอะ เช่น การล่ารายชื่อลงนามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้ได้มวลชนมากขึ้น เห็นรัฐสภาที่ไม่ทำงาน แต่ที่แน่ ๆ จะไม่มีอะไรสูญเปล่า เต็มที่คือขาดทุน เหมือนตีกันคุณก็ต้องโดนไม้กระบองฝั่งตรงข้ามตีหัวบ้าง ชุมนุมต้องมีคดี แต่พอเราโดนคดีประเด็นจะโดนหยิบขึ้นมาพูด นั่นคือรายได้ เหนื่อยไหม เจ็บตัวไหม ใช่ครับ แต่มีผลผลิตออกมา เหมือนลงแรงทำนาแล้วได้ข้าว

“เรื่องความวุ่นวายในการชุมนุม เลิกแล้วมีกลุ่มไม่อยากกลับ ผมมองว่าต้องหาทางป้องกัน เรื่องกิจกรรมปาไข่ สาดสี เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ผมมองว่ากิจกรรมนี้คนซื้อ (ยอมรับ) แต่ชนชั้นนำกับศาลไม่ชอบ สังคมไทยเข้าใจมาตลอดว่าชุมนุมอย่างสงบคือไปนั่งฟัง แต่ความสงบคือการไม่ใช้ความรุนแรงกับมนุษย์ สันติวิธีสำหรับผมคือภราดรภาพ ไม่มุ่งชีวิตคน ถ้าเขาถือกระบอง ยิงกระสุนยางมาแล้วตอบโต้นี่ไม่แปลก แต่ถ้ามาอย่างสันตินี่ทำเขาไม่ได้

“ที่ผมพบคือคนรุ่นใหม่ไม่มี ‘เซลล์ความกลัว’ เวลาเตรียมปราศรัย ผมคิดทุกมุม บิดนิด มีหลักการหน่อย ฝ่ายขวาจะได้รับได้ แต่คนรุ่นใหม่คิดอีกแบบ เชื่อแบบไหนด่าจากจิตใต้สำนึก ไม่มองเรื่องหยาบคาย คิดว่าคนเหมือนกัน วิธีสู้ก็ต่างกับรุ่นผม เรานึกเรื่องตั้งเวทีปราศรัย แต่คนรุ่นใหม่มีวิธีหลากหลาย ตัวจริงคนเหล่านี้น่ารัก เป็นเด็กธรรมดา แต่พอขึ้นเวที โพสต์การเมือง เป็นอีกคนหนึ่ง”

/ ๓ /

“ผมไม่สนับสนุนให้ฆ่ากัน เราจับอาวุธสู้รัฐไม่ได้หรอก เขามีปืนมากกว่า แต่ผมเชื่อว่าถ้าเรามีความชอบธรรมเขาทำอะไรเราไม่ได้  วันที่ไปล้อมทำเนียบฯ (๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓) ผมได้ข่าวว่าทหารจะสลายการชุมนุม ก็ประกาศยุติ นัดใหม่ พอไปที่แยกราชประสงค์คนมามากกว่าเดิมอีก วันที่ตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน (๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓) คนโกรธ ปรากฏว่า ๑๘ ตุลาคม มาเต็มห้าแยกลาดพร้าว นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป การต่อสู้ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำอีก ถ้าต้องมารวมกันผมก็อยากให้เข้ามาช่วย แต่ถ้ายังสุกดิบอยู่ สู้ในจังหวัดตัวเอง เก็บเงินค่ารถไว้ การต่อสู้มันยาว เราต้องรักษาสุขภาพและอย่าป่วย

“ผมเชื่อว่าทุกคนคิดถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ผมไม่อยากไปถึงจุดที่ต้องปะทะรุนแรง ถ้าต้องเลือกระหว่างสาธารณรัฐ แต่ต้องเสียเพื่อนร่วมทางนับร้อยนับพัน กับมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรับตัวเข้ากับระบอบประชาธิปไตย ผมเลือกอย่างหลัง ผมเชื่อว่าทำได้อย่างที่เราเสนอ แค่กังวลว่าต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งคนรุ่นใหม่ ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ตอนนี้รัฐตั้งท่าจะกำจัดเรา เอาเราเข้าคุกอย่างเดียว บรรยากาศเจรจามันเปลี่ยนไป ผมเกรงว่าอาจมีการตอบโต้ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต ถ้าโชคดีความสูญเสียจะไม่มาก ลองคิดดูว่าถ้าขังเพื่อนเขา อาจมีชูสามนิ้วในพิธีรับปริญญา จะอยู่กันอย่างไรหรือ

“ทุกวันนี้ผมมีคดีติดตัวมากกว่า ๒๐ คดี ไปศาลเกือบทุกอาทิตย์ ชุมนุมที่ไหนก็โดนแจ้งความที่นั่น นี่คือสิ่งที่ต้องเจอไม่เครียด แค่เสียเวลา ผมเป็นทนายก็ต้องไปศาล ครั้งที่ต้องใส่ชุดนักโทษ ใส่ครุยทนายทับแล้วว่าความ ก็ย้อนแย้งดี มันไม่เคยเกิดขึ้น คดีนั้นผมเป็นทั้งจำเลยและทนายให้จำเลยที่ ๕ ผมทำหน้าที่เพื่อบอกว่าเราไม่ใช่นักโทษอุกฉกรรจ์ หน้าที่ทนายก็ทำตามปรกติ แล้วก็ไปทำหน้าที่ต่อในคุก เขาขังผมได้ตอนนอนเท่านั้น มันไม่ได้น่ากลัว แค่เปลี่ยนที่อยู่ นักสู้ก็โดนแบบนี้เป็นปรกติ คนที่สู้มาก่อนผมก็ติดคุกกันทั้งนั้น

“ผมอยากให้ฝ่ายอนุรักษนิยมมองเราเป็นพี่น้องในสังคมเดียวกันที่เห็นต่างกัน เราไม่ทำร้ายกัน ไม่รบรากัน แต่ต้องพูดคุยกัน สุดท้ายเราก็ต้องยกมือแข่งกันอยู่ดีแหละครับว่าจะเอาแบบไหน เราไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ถ้าประนีประนอม ปรับตัวเข้าหากันได้ก็จะดี

“ผมมั่นใจว่าถ้าผมไม่ติดโควิด-๑๙ ตายหรือตายก่อนวัยอันควร พวกนี้ตายก่อนผมทั้งนั้น เพราะโดยอายุเขาจะเสื่อมสลายไปทั้งกายภาพและความชอบธรรม” 

วันสัมภาษณ์ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔