Image
ลูกนกตกรัง
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
อาจเพราะอุบัติเหตุหรือธรรมชาติคัดสรรแล้วว่า “ไม่ได้ไปต่อ” บนโลกใบเดียวกันจึงพบลูกนกตกรัง ไร้พ่อแม่ดูแลหลายชีวิต
ทั้งแบบ “แรกเกิด” ตัวแดง ๆ หรือมีแต่หนัง ยังไม่มีขนแบบ “หัดบิน” จึงพลั้งพลาดพลัดจากพ่อแม่ และแบบ “กำพร้า” โตแล้ว แต่ยังหากินไม่เป็น มีเหตุให้พ่อแม่จากไป

หากไม่มีคนช่วยฟูมฟัก เจ้าลูกนกจะอดตายในไม่ช้า เพราะโดยธรรมชาตินกจิ๋วจะหิวทุกชั่วโมงหรือ ๓-๔ ชั่วโมง นกเด็กต่างต้องการโปรตีน ขาดไปโตขึ้นอาจบินไม่ได้ ผู้เลี้ยงต้องป้อนอาหารที่เหมาะสม กว่าตัวน้อยจะหัดกินอาหารอื่นเป็นก็เมื่อพ้นวัย ๓-๕ เดือน

การเลี้ยงลูกนกตกรังไม่ง่าย ยิ่งเป็นนกอ่อนที่ขนยังไม่ขึ้นจะสูญเสียความร้อนง่าย ต้องช่วยกกไฟในอุณหภูมิ ๓๐-๓๗ องศาเซลเซียส ทดแทนไออุ่นจากอกพ่อแม่

ไม่ควรเลี้ยงในกรง หากถูกลมโกรกจะหนาวสั่นจนป่วย และผิวหนังลูกนกบางมาก 
ยุงอาจกัดเป็นตุ่มปูดบวมจนอักเสบ ร้ายกว่านั้นคือเจ้าจิ๋วอาจพลัดตกซี่กรงจนขาหัก ง่ายสุดคือ หากล่องปูรองพื้นด้วยกระดาษเส้นฝอยหรือฟางแห้งให้ลูกนกซุกขาหาไออุ่น พลางใช้ยึดเกาะออกกำลังตีน ไม่ต้องยืนขาถ่าง

เมื่อเด็กตาแป๋วเริ่มโตอาจตระหนก-ระแวงง่ายตามสัญชาตญาณระวังภัย ความเมตตาอ่อนโยนต่อสัตว์น้อยจะสร้างความคุ้นเคยจนวางใจยอมให้อุ้ม ลูบ สัมผัส

ครั้นถึงวันแรกบิน หากเกรงเจ้าตัวป้อมเตลิดหลง อาจตัดปีกใต้ปีกใหญ่สองข้างให้ฝึกบินระยะใกล้ก่อน จนกว่าจะเติบใหญ่และชำนาญการบิน


สิ่งสำคัญคือตระหนัก “การลาจาก” คือ “การเติบโต” เมื่อลูกนกพร้อมเรียนรู้โลกกว้าง 
ก็ถึงเวลาคืนเสรีให้เจ้าของหัวใจได้ทำหน้าที่เอง แม้การเติบโตนอกรัง-บ้านจะเสี่ยง แต่ก็คือชีวิต

ในสังคมมีเด็กโชคร้ายอีกมากที่เราสามารถช่วยให้เขา “ได้ไปต่อ”