เสมอภาค-มั่นคง
จากบรรณาธิการ
ย้อนเวลากลับไปวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คุณกำลังทำอะไร และรู้สึกอย่างไรเมื่อทหารทำรัฐประหารในนามของความมั่นคง
เป็นรัฐประหารที่ห่างจากการทำรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ถึง ๑๕ ปี
ไม่มีใครคาดคิดว่าขณะที่ประเทศกำลังเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยเต็มใบ ทหารจะคิดทำรัฐประหารอีก และเพียงไม่ครบ ๘ ปีดี การรัฐประหารเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ถึงปัจจุบัน มีรัฐประหารที่ทำสำเร็จถึง ๑๓ ครั้ง ถือเป็นประเทศที่ครองอันดับ ๑ ของการมีรัฐประหารมากที่สุดในช่วง ๑๐๐ ปี หรือประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่
น่าทบทวนว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหาร
เจย์ อัลเฟลเดอร์ (Jay Ulfelder) นักวิชาการด้านการเมืองซึ่งศึกษาสถิติเกี่ยวกับการรัฐประหารทั่วโลก ได้จัดอันดับประเทศไทยเป็น ๑ ใน ๑๐ ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการรัฐประหารไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารปี ๒๕๕๗ เขาอธิบายว่าปัจจัยความเสี่ยงสำคัญมีสามอย่าง คือ ความมั่งคั่งของประเทศ โครงสร้างการปกครอง และกับดักของรัฐประหาร
ขณะที่ประเทศที่มั่งคั่งมีโอกาสเกิดรัฐประหารน้อยมาก ไม่ว่าจะปกครองด้วยเผด็จการเต็มตัว หรือประชาธิปไตยเต็มใบ ส่วนประเทศที่เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยก็มีช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความไม่มั่นคงทางการเมืองสูง โดยเฉพาะหากเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบกับการมีพรรคการเมืองที่ไม่เข้มแข็ง และการเมืองเกิดการแบ่งฝักฝ่ายหรือแบ่งขั้วกันหนัก
และหากมีรัฐประหารบ่อยครั้งติด ๆ กันมากเท่าใดก็ยิ่งมีโอกาสเกิดมากขึ้นอีก แต่ประเทศที่ว่างเว้นจากการรัฐประหารยาว ๆ ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยลง
หลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ ไม่นาน อัลเฟลเดอร์เขียนบทความลงใน Business Insider ว่าการรัฐประหารจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยไปอีกหลายปี และเขาจะประหลาดใจถ้าอีก ๒ ปี (๒๕๕๙) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังอยู่ในตำแหน่ง เพราะเขาคาดว่าทหารคงไม่ยึดอำนาจไว้นานและจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน ๒-๓ ปี
ซึ่งในประการหลังเขาคาดผิดถนัด
เพราะกว่าจะมีการจัดเลือกตั้งก็ล่วงเลยมาถึงปี ๒๕๖๒ และด้วยการกำหนดกติกาในรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ประเทศไทยจึงเดินเข้าสู่วังวนประชาธิปไตยครึ่งใบอีกครั้ง ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกับที่เป็นผู้ทำรัฐประหาร พร้อมกับจุดประเด็นความขัดแย้งครั้งใหม่ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากช่วงทศวรรษก่อน เมื่อขบวนเยาวชนคนรุ่นใหม่วาดหวังให้ประเทศหลุดจากวังวนเดิม ๆ ที่พวกเขาเติบโตมา และต้องการระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มใบจริง ๆ
ในท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด แต่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันอย่างหนึ่งว่า ภายใต้การปกครองของรัฐ ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม จะไม่มีความ “มั่นคง” เลยหากประชาชนไร้ซึ่งความ “เสมอภาค”
เสมอภาคในการได้รับโอกาสที่จะเติบโต มีอนาคต เสรีภาพ การศึกษา คุณภาพชีวิต และได้รับความยุติธรรม
หากรัฐปกครองด้วยความเอนเอียง เอื้อประโยชน์และโอกาสต่อพวกพ้อง กลุ่มคนมีอำนาจหรือกลุ่มคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในสังคม แทนที่จะมอบโอกาสและความยุติธรรมให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ย่อมเกิดความไม่เสมอภาคและความไม่พอใจของประชาชนได้ไม่ยาก
นักปรัชญาการเมือง จอห์น รอลส์ (John Rawls) กล่าวว่าความไม่เสมอภาคที่เป็นธรรมนั้น มีอยู่ได้กรณีเดียวคือ เมื่อความไม่เสมอภาคนั้นให้ประโยชน์แก่ผู้เสียเปรียบในสังคม
สารคดี ฉบับนี้ไม่มีคำตอบว่าไทยจะยังติดอยู่ในกับดักรัฐประหารหรือไม่ และไม่มีคำทำนายว่าวิกฤตการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด หรือจะมีโอกาสไปถึงระบอบประชาธิปไตยเต็มใบเมื่อไร
เราได้แต่พยายามเปิดพื้นที่ (ซึ่งมีข้อจำกัด) ให้เสียงของทุกฝ่ายได้มีโอกาสสื่อสารในสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย
เพราะอนาคตของประเทศไทยจะมั่นคงก็ต่อเมื่อเสียงของทุกคน “เสมอภาค” กัน
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
แสงดาวแห่งศรัทธา
พรรคคอมมิวนิสต์ไทย