Image
ท้ายครัว
เรื่อง : กฤช เหลือลมัย
สถานการณ์ โรคระบาดโควิด-๑๙ ยังไม่ดีขึ้นเลยคิดว่ายังจะขอชวนให้หาเก็บผักหญ้าข้างทางกินกันต่อไปอีกสักหน่อย พให้เป็นทางเลือกสำหรับคนไม่อยากไปตลาดบ่อยนักนะครับ แถมช่วงนี้ก็เป็นฤดูฝน ข้างบ้านใครพอมีที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามริมถนนชานเมือง ตลอดจนย่านชนบท ย่อมพอมีแหล่งให้เก็บของมากิน เป็นผลพลอยได้จากการออกไปเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานออกกำลังกายประจำวันบ้างแน่ๆ
Image
นอกจากผักโขม กระถิน ตำลึงทั้งใบอ่อนและลูกดิบ กะทกรก ผักเบี้ย จิงโจ้ขาว ผักบุ้งนาแล้ว ตามริมทางที่ชื้นๆ หน่อยจะมี (วัช) พืช กินใบอีกชนิดหนึ่ง ที่ดูเหมือนคนจะยังไม่ใคร่รู้จักเก็บมากินนัก แผงผักพื้นบ้านก็ไม่มีขายเสียด้วย นั่นก็คือ "ผักปลาบ" (Benghal day flower)

ผักปลาบชนิดใบกว้างมีใบอ่อนที่ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ก้านอ่อน จึงเก็บเด็ดได้ง่ายหากพบขึ้นเป็นดงอยู่ตามริมทาง เพียงล้างให้สะอาดสักสองน้ำ ก็กินสดๆ หรือต้ม แกง ผัดได้เลย
Image
สรรพคุณทางยาสมุนไพรของผักปลาบ คือช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้อาการคันตามผิวหนัง ที่สำคัญมีงานวิจัยยืนยันว่าผักปลาไม่มีกรดออกซาลิก อย่างเช่นผักพื้นบ้านอื่นๆ มักจะมีมาก จึงกินได้โดยไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้เกิดนิ่วในไต

นอกจากกินสดหรือแกงส้ม ผมพบสูตรที่น่าสนใจ คือเอาใบอ่อนมาเลียงกะทิ โดยใช้พริกแกงเลียงสูตรมาตรฐาน คือ กะปิ พริกไทย กุ้งแห้ง หอมแดง ตำพอหยาบๆ ต้มในหม้อ น้ำกะทิ จนเดือดแล้วใส่ผักปลาบลงไปต้มราว ๕ นาทีให้สุกนุ่ม นี่เป็นสูตรง่ายที่สุดแล้ว ถ้าจะให้ดูหรูหรา จะเพิ่มกุ้งสดด้วยก็ยิ่งอร่อย
Image
"เลียงกะทิผักปลาบ" ได้รสชาติเค็มๆ มันๆ เผ็ดร้อนพริกไทย หอมเครื่องตำกะปิหอมแดง เราแค่เติมหัวกะทิให้ได้ความข้นมันตามต้องการ ปรุงรสให้เค็มพอดีๆ เป็นกับข้าวง่ายๆ ที่อร่อยทีเดียว

ทีนี้เราก็รู้ว่า ไม่ควร ผ่านดงผักปลาบไป เฉยๆ แล้วละครับ...
Image