มหัศจรรย์ “ฟ้าสองสี”
Natural Wonders
เรื่อง บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ช่วงเย็น คนที่อยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เห็นปรากฏการณ์น่าประทับใจอย่างยิ่ง นั่นคือ ท้องฟ้าแบ่งสองบริเวณเป็นสองสีแตกต่างกันชัดเจน เรียกง่ายๆ ว่า “ฟ้าสองสี” ส่วนเพื่อนๆ ของผมในชมรมคนรักมวลเมฆเรียกว่า “ฟ้าเข้าโครงการคนละครึ่ง”
แผนภาพแสดงแบบจำลองการเกิดปรากฏการณ์ฟ้าสองสี ซึ่งมีเมฆก้อนใหญ่บดบังดวงอาทิตย์ที่ขอบฟ้า
ลองดูภาพแรกกันก่อน คุณดวงกมล ผ่องจิต สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ ถ่ายไว้เมื่อเวลา ๑๘.๔๒ น. โดยหันกล้องไปทางทิศตะวันตก มองจากบนสะพานลอยข้ามถนนเทพารักษ์ประมาณ กม. ๗ แถวตลาดวัดหนามแดง มุมมองนี้โดดเด่นอย่างยิ่ง เพราะเส้นนำสายตามีทั้งแนวถนนและแนวรอยต่อบริเวณที่มีสีแตกต่างกัน แถมสุดขอบฟ้ายังใกล้เคียงกับแนวเกาะกลางถนนอีกต่างหาก สังเกตว่าฝั่งซ้ายของภาพสีฟ้าเข้มและฝั่งขวาสีเหลืองส้ม
ฟ้าสองสีที่เทพารักษ์
ภาพ : ดวงกมล ผ่องจิต
อีกภาพหนึ่งเป็นฝีมือของคุณลิลลี่ อรุณวิทยาภรณ์ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ ถ่ายไว้เมื่อเวลา ๑๙.๑๕ น. โดยหันกล้องไปทางทิศตะวันตก มองจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านสนามบินสุวรรณภูมิ จะเห็นว่าแม้จนถึงเวลานี้ท้องฟ้าก็ยังแบ่งสีสันชัดเจน โดยฝั่งซ้ายของภาพสีฟ้าเข้ม ส่วนฝั่งขวาสีเหลืองและสีชมพู
ฟ้าสองสีมองจากบริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพ : ลิลลี่ อรุณวิทยาภรณ์
แท้จริงแล้วปรากฏการณ์ “ฟ้าสองสี” ก็คือเงาเมฆหรือ cloud shadow ขนาดมหึมาที่พาดข้ามฟ้า โดยที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกมีเมฆก้อนใหญ่บดบังแสงอาทิตย์ไว้ส่วนหนึ่งจึงทำให้เกิดเป็นเงาขนาดใหญ่สีฟ้าอมเทา ส่วนฝั่งที่ไม่ถูกเมฆบังเป็นแสงสีเหลืองส้ม หรือสีเหลืองและสีชมพู เพราะเป็นช่วงเย็นและหัวค่ำ
เนื่องจากในช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า จึงทำให้เงาและแสงมีลักษณะยาวพาดข้ามท้องฟ้าจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ดังจะเห็นได้จากภาพถ่ายแบบแพโนรามาฝีมือคุณลิลลี่เช่นกัน
“ฟ้าสองสี” เป็นปรากฏการณ์ที่สวยงามประทับใจ และอาจเกิดได้ในช่วงเวลาอาทิตย์ใกล้ขอบฟ้า (มักเป็นช่วงเย็น แต่ช่วงเช้าก็เกิดได้บ้าง) โดยเฉพาะในฤดูร้อนและฤดูฝนเนื่องจากมีโอกาสเกิดเมฆก้อนขนาดใหญ่นั่นเอง
ภาพแพโนรามาฟ้าสองสี มองจากบริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพ : ลิลลี่ อรุณวิทยาภรณ์
ขุมทรัพย์ทางปัญญา
แนะนำบทความที่อธิบายปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกันต่อไปนี้
เงาเมฆ & รังสีครีพัสคิวลาร์ :
www.matichon.co.th/uncategorized/news_719078
แถบเงาเมฆ & รังสีแอนติครีพัสคิวลาร์ :
www.matichon.co.th/columnists/news_726388