Image

กริชรามันห์
ศิลป์-ศัสตราวุธคาบสมุทรมลายู

Hidden (in) Museum

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ธนิสร หลักชัย

เลื่องลือว่าที่นี่เป็น
หมู่บ้านทำกริชรามันห์
แหล่งใหญ่

มีครูพื้นบ้านที่สืบวิชาทำกริชแบบดั้งเดิม ทั้งยึดเป็นอาชีพและอาสาถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ ที่ชุมชนตะโล๊ะ-หะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

ว่าไปก็เป็นพิพิธภัณฑ์แปลก ไม่มีป้ายให้ความรู้ อยากรู้ให้ถาม ด้วยจุดประสงค์เริ่มจากมีผู้ให้ช่างทำกริช แต่ไม่อาจบอกรายละเอียดว่าต้องการขนาดไหน ลักษณะเช่นไร ช่างจึงรวบรวมรูปแบบหัว ฝัก ใบกริช ฝีมือตนจัดแสดงให้ลูกค้าเลือกรูปแบบที่ชอบก่อน พิพิธภัณฑ์อย่างง่ายจึงเกิดขึ้นในรั้วบ้านเขาเอง 

ครั้นมีนักท่องเที่ยวมาจึงผันตนเป็นภัณฑารักษ์กึ่งปราชญ์ชุมชน เล่าเรื่องครั้งรามันมีฐานะเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองมลายูแยกจากปัตตานี เจ้าเมืองรามันประสงค์มีกริชเป็นอาวุธคู่เมืองและใช้ในพิธีขึ้นครองเมืองจึงขอความช่วยเหลือเจ้าเมืองชวา ได้ช่างหลวงมาประสิทธิ์ประสาทวิชาทำกริชแก่ช่างเมืองตน

ผู้มาเยือนจะได้สัมผัส “ของดี” ครบเครื่อง ด้วยเจ้าบ้านให้เยาวชนผู้สืบสานมรดกวัฒนธรรมร่วมอวดการแสดงรำกริชเน้นกระบวนท่าสง่างามจากกำลังภายใน และสาธิตทำกริชรามันห์ด้วย นานวันที่นี่จึงมีฐานะมากกว่าสถานจัดเก็บสิ่งของแต่เปรียบดั่งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับ

Image

ศัสตราวุธแห่งคาบสมุทรมลายู

ชวนมองหากริชเอกลักษณ์ของชาวรามัน เจ้าถิ่น ว่ามีหลากสกุลหลายรูปแบบ บอกฐานันดรเจ้าของ  หากเป็นสกุลช่างปัตตานีเดิมนิยมทำหัวกริชเป็นรูปสัตว์ โดยเฉพาะ “หัวนกปือกากา” (นกพังกะ, นกกระเต็นกินปลา) ซึ่งมีความคล่องแคล่ว ตะครุบเหยื่อว่องไว และมองการณ์ไกล

ส่วนใบกริชเรียก “ตากริช” สกุลช่างปัตตานีจะมีสันนูนแหลม ตรงกลางคล้ายอกไก่ทั้งสองข้างตลอดเล่ม มองด้านหน้าตัดจะเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบมีดข้างหนึ่งตำแหน่งใกล้โคนจะมีเงี่ยงยื่นออกคล้ายงวงเรียก “หู” อีกด้านเป็นรอยหยักคล้ายฟันปลาเรียก “เคลา”

ตากริชมีทั้งแบบตาตรง-ตาคด จำนวนคดมักทำเลขคี่ เช่น ห้า เจ็ด เก้า แต่ละคดสะท้อนฐานะ ถ้าเป็นพระราช-โอรสหรือเจ้าเมืองเล็ก ๆ จะมีคดเดียว ที่เหลือเป็นใบยาว ส่วนกษัตริย์หรือเจ้าเมืองใหญ่จะมีเก้าคด เทียบเท่าสมมุติเทพปัจจุบันไม่มีระบบเจ้าเมือง ประชาชนจึงสั่งทำกริชเก้าคดเป็นที่ระลึกได้

ยังน่าสนใจหัวกริชรูปเทพ รูปยักษ์ (พระพิราพ ปางดุร้ายของพระศิวะ) ซึ่งกษัตริย์หรือเจ้าเมืองที่นับถือพราหมณ์-ฮินดูนิยมใช้ประกอบพิธีสถาปนาผู้ปกครองเมืองให้เป็นสมมุติเทพด้วย  ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าคนด้วยกันไม่สามารถปกครองกันเองได้ ผู้จะปกครองมนุษย์ต้องเป็นเทพ 

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู  

Image

“ผมเกิดในชุมชนนี้ ปีนี้อายุ ๗๐ โตมากับเสียงโป๊งเป๊งของการตีกริช ญาติผมสืบสายเลือดจากช่างกริชรามันห์  คนรุ่นผมรวมกลุ่มทำกริชเป็นอาชีพในปี ๒๕๓๒ แล้วเริ่มเปิดพิพิธภัณฑ์ปี ๒๕๔๕  ทุกวันนี้ชุมชนเรายังมีช่างตีกริชนับสิบราย สมัยก่อนในกริชหนึ่งเล่มนิยมทำจากไม้ที่ต่างกันสามชนิด สื่อความถึงสามกษัตริย์ โดยเลือกจากไม้เนื้อแข็ง อย่างไม้เสาดำ ไม้แก่นมะม่วงป่า หัวกริชนิยมใช้ไม้ประดู่หอมหรือไม้จัน ฝักกริชใช้แก่นไม้กือนาอุง ด้ามกริชใช้ไม้แก้ว ปัจจุบันใช้แต่ไม้แก้วหรือไม้มะเกลือ เพราะเนื้อไม้มีความงามและแกะสลักง่าย ก่อนเริ่มทำกริชทุกครั้งต้องดูฤกษ์ยามของผู้จะเป็นเจ้าของ ซึ่งผู้สั่งจะระบุฤกษ์มาให้ช่าง  การทำกริชแต่ละเล่มใช้เวลานับเดือน เพราะต้องประณีตทุกขั้นตอน ทั้งตีใบมีด ทำหัวกริช ทำฝักกริช และตกแต่งลวดลายวิจิตร ราคาจึงอยู่ที่หลักพันจนถึงหลักหมื่นบาท”

ตีพะลี อะตะนู  
ครูภูมิปัญญาด้านกริชโบราณ และประธานกลุ่มกริชรามันห์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ
ชุมชนตะโล๊ะหะลอ หมู่ที่ ๕ บ้านบึงน้ำใส ตำบลตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

เปิดทุกวัน ต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
โทรศัพท์ ๐-๗๓๒๐-๓๕๑๑

สนับสนุนการลงพื้นที่เก็บข้อมูล 
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)