Image
ช่างภาพสัตว์ป่า
เด็กรักป่า และ มนุษย์แม่
เรื่อง : ลลิตา ตันติมูรธา
ภาพ : ด.ช. ธรรมบุญ อุยยานนวาระ
ฉัน อาชีพแม่เต็มเวลา กับบุ๊น เด็กชายร่างเล็ก ผมยาว ผิวคล้ำ ท่าทางทะมัดทะแมง แก่นเซี้ยว ผู้ก้าวเข้าสู่วัยทีนหมาด ๆ  พวกเราเคยมาเยือนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หลายครั้ง ด้วยทั้งพื้นที่บรรยากาศ และผู้คน ล้วนทำให้รู้สึกเหมือนที่นี่คือ “บ้าน” ที่เรารักอีกหลังหนึ่ง
ยามเช้าในสายหมอกจาง ๆ บริเวณทุ่งกะมัง กับตากล้องสองวัย
เราออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าปางม่วง (ทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว) ใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมงครึ่ง การเดินทางแบบต๊ะต่อนยอน แวะพักเติมพลังคนและพลังรถบ้างย่อมใช้เวลาเกินเลยไปอีกเป็นชั่วโมง  ระหว่างเดินทางว่ารื่นรมย์แล้ว แต่เมื่อถึงด่านตรวจฯ ฉันสัมผัสได้ถึงพลังงานความสุขที่แผ่ออกมาจากตัวบุ๊นอย่างชัดเจน ยิ้มกว้างขึ้น พูดเยอะขึ้น และดูกระตือรือร้นอย่างยิ่ง

หลังชำระค่าธรรมเนียมที่ด่านตรวจฯ จากจุดนี้เข้าไปด้านในเขตฯ แทบจะไร้สัญญาณโทรศัพท์ บุ๊นขอให้ปิดแอร์และเปิดหน้าต่างรถ กลิ่นป่าไม้สองข้างทาง เสียงนกทักทายราวต้อนรับ ผีเสื้อโบยบินให้เห็นเป็นระยะ บางครั้งพบเกาะกลุ่มกลางถนน ดูดกินอาหารซึ่งมักเป็นมูลสัตว์ป่า อึช้างก็มี

รถเคลื่อนด้วยความเร็วต่ำกว่า ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดระยะทางประมาณ ๒๕ กิโลเมตร เด็กชายคอยมองเผื่อพบเจอนกหรือสัตว์ป่า  เราเคยพบเหยี่ยวเกาะนิ่งเป็นสง่าบนกิ่งไม้ไม่สูงนัก เก้งเดินอยู่ริมถนนก่อนตื่นวิ่งเข้าพงไพร ฝูงลิงวิ่งตามกันข้ามถนนอย่างรวดเร็ว ฝูงนกแก๊กเกาะเต็มต้นไม้ใหญ่ส่งเสียงแก๊ก แก๊ก แก๊ก เจี๊ยวจ๊าวไปทั่ว กระทิงหยุดยืนกลางถนน มองมาทางเราที่กำลังตื่นเต้นครู่หนึ่งก่อนเดินข้ามไป

เราไปถึงด่านฯ ประมาณบ่าย ๓ โมง เป็นวันที่ฟ้าไร้เมฆแสงแดดจัดจ้า ผีเสื้อบินทักทายประปรายระหว่างทาง กับลม กลิ่น และเสียงของป่า ฉันรู้สึกได้รับการต้อนรับทักทาย ฉันก็ยิ้มทักทายด้วยเช่นกัน

หลังจากติดต่อที่สำนักงานเขตฯ และกำลังเก็บของเข้าห้องพัก พี่เบ-ณรงค์ สุวรรณรงค์ ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่ามืออาชีพที่เรานัดหมายกันไว้ก็กลับมาจากการถ่ายภาพ ส่งเสียงทักทายจากห้องพักข้าง ๆ กัน  พวกเราเคยพบพี่เบมาก่อนหน้านี้ห้าถึงหกครั้งแล้ว ผ่านเวิร์กช็อปบ้าง ด้วยความบังเอิญบ้าง บุ๊นจึงคุ้นเคยและกล้าพูดกล้าคุยกับชายร่างสูงใหญ่ ใจดี ซึ่งคอยให้คำแนะนำในการถ่ายภาพด้วยความกระตือรือร้นเสมอ

ค่ำวันนั้นพวกเรานั่งพูดคุยกับพี่เจ้าหน้าที่ที่หน้าบ้านพัก พี่เบขนนิตยสารหลายเล่มมาชวนกันดูภาพ ชวนสังเกตลักษณะของการเล่าเรื่องราวผ่านภาพในหนังสือ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนทำงานภาคสนามในวันพรุ่ง  ไม่แน่ใจนักว่าบุ๊นรับข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด หนุ่มน้อยดูสบาย ๆ มีความสุขกับการพูดคุย อาหารการกิน และผู้คนที่คุ้นเคย

ฉันเองก็สนุกไม่น้อย แต่ก็มีบางจังหวะเวลาสั้น ๆ ที่แอบเผลอกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ลืมอยู่กับความสุขที่ส่งผ่านมาจากรอยยิ้มของบุ๊นและผู้คนตรงหน้า
มิตรภาพ
และมุมมอง

บุ๊นเป็นเด็กรักธรรมชาติและชอบถ่ายภาพ หนึ่งในแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่นั้นมาจากพี่อาเฌอ-ประสิทธิ์ คำอุด เจ้าหน้าที่แห่งทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว พี่ชายใจดีท่านนี้เป็นครูคนสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายภาพของบุ๊น

เด็กน้อยชื่นชอบการดูนกตามพี่ชายตั้งแต่วัยอนุบาลตัวเล็กจ้อย เห็นนกก็ตื่นเต้น ยิ่งได้ส่องผ่านกล้องสองตายิ่งตื่นตาตื่นใจ โตขึ้นนิดก็ชอบพกกล้องอัตโนมัติตัวเล็ก ๆ ป๊อกแป๊ก ๆ ของแม่ เจอนกก็ถ่าย แม้เห็นนกเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในภาพ บุ๊นก็ภูมิอกภูมิใจมากมาย มีความสุขในการได้เห็นนกและได้ถ่ายภาพมาให้แม่ดู ใฝ่ฝันอยากจับกล้องตัวโต ๆ บ้าง

ความสุขของบุ๊นมีออร่าแจ่มชัดทุกครั้งเมื่อได้เข้าป่า อยากอยู่ในป่านาน ๆ วันหนึ่งในวัย ป. ๓ ก็เอ่ยปากว่าอยากเป็นเด็กโฮมสกูล บุ๊นชัดเจนในทางเลือกของตัวเองเสมอ  ช่วงที่ทำบ้านเรียนเป็นช่วงที่การเรียนรู้เติบโตและมีพลังอย่างเห็นได้ชัด และเกือบทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติ ในวัย ๙ ขวบปี เด็กตัวจิ๋วตื่นเต้นดีใจยิ้มไม่หุบเมื่อได้สัมผัสกล้องตัวโต Canon 700D กับเลนส์ EF-S55-250mm  บ้านเราไม่มีใครถ่ายภาพเป็นแม้สักคน การเรียนรู้เกิดขึ้นผ่านการสอบถามและลงมือ เมื่อเห็นภาพหลังกล้องของใครที่ถูกใจ เด็กชายจะถามวิธีการถ่ายภาพและเรียนรู้ทดลองด้วยตนเอง

ทุกครั้งที่เยือนทุ่งกะมัง บุ๊นจะเด้งตัวตื่นแต่เช้ามืด ตามติดพี่อาเฌอไปถ่ายภาพเสมอ

ภาพบุ๊นในวัย ๙ ขวบกว่ายังแจ่มชัด ในฤดูฝน ภาพเนื้อทรายสะบัดขนเห็นหยดน้ำกระเซ็นกระจายของพี่
อาเฌอเป็นภาพที่เด็กชายประทับใจมากและอยากจะเก็บภาพแบบนั้นได้บ้าง ยามฝนเริ่มซาลง เธอใส่เสื้อกันฝน กอดกล้องตัวเก่งเดินตามพี่อาเฌอต้อย ๆ ค่อย ๆ ไปนั่งเฝ้าเนื้อทราย

“แม่ พี่อาเฌอเก่งมากเลย พอนับ ๓ ๒ ๑ นะ เนื้อทรายสะบัดน้ำพอดีเป๊ะเลยนะแม่ !”

บุ๊นเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ประทับใจขั้นสุด

จากนั้นทุกครั้งที่ฝนตกฉันจะเห็นคนตัวจิ๋วใส่เสื้อกันฝน ค่อย ๆ เดินช้า ๆ ไปหาเนื้อทรายซึ่งนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บน
ผืนหญ้า เฝ้ารออยู่ตรงนั้นจนฝนหยุด สังเกตและถ่ายภาพ ทำเช่นนี้อยู่ทุกวันที่เราอยู่ที่นั่น และแล้ว...

“พอฝนหยุดนะแม่ สักพักมันจะยืนขึ้น เลียตัวบ้าง
ไซ้ขนบ้าง พอมันเริ่มย่อตัวนะ แบบเอาหัวไปข้างหน้า
หลังโก่ง ๆ นั่นแหละ มันจะสะบัดน้ำแล้วนะแม่” บุ๊นเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจพร้อมพลังความสุข

“บุ๊นนับแบบพี่อาเฌอได้แล้วนะแม่ แบบ ๓ ๒ ๑ อะ พอเขาเริ่มหยุดไซ้ขน เริ่มย่อ ก็นับเลย สะบัดน้ำพอดี” ยิ้มกว้าง ๆ เปื้อนหน้าบุ๊น ยิ้มเปื้อนหน้าแม่ด้วย

ผ่านมากว่า ๔ ปี กล้องและเลนส์ตัวโตขึ้น บุ๊นยังคงสนุก มีความสุข และมีที่ทางของตนเองเสมอเมื่อได้อยู่ในธรรมชาติ



เนื้อทรายสะบัดน้ำ เป็นภาพที่พบเห็นได้ในช่วงฤดูฝน เมื่อฝนซา เนื้อทรายจะลุกขึ้นยืนและสลัดน้ำออกจากขน เมื่อเฝ้าสังเกตบ่อยครั้งขึ้น ก็สามารถจับจังหวะการสลัดน้ำได้แม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ
ทุ่งกะมังเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เป็นพื้นที่หากินของสัตว์หลายชนิด พบเนื้อทรายเดินตาหวานเล็มหญ้าอย่างมีความสุขอยู่ทั่วไป ในยามเช้าแสงสีทองค่อย ๆ ส่องพ้นขอบป่าทางด้านหลังทุ่ง เสียงนกหลายชนิดทักทายเริ่มต้นวันใหม่ ชะนีส่งเสียงดังก้องจากป่าทึบ ต้นเหมือดโลดยืนโดดเด่นบนเนินกลางทุ่ง ร่องรอยการใช้ชีวิตของสัตว์หลายชนิดปรากฏให้เห็น รอยตีนสัตว์ เช่น กีบของเนื้อทราย หมูป่า อุ้งตีนของหมาจิ้งจอก แมวดาว รอยคล้ายตีนไก่ของนกทุ่ง ฯลฯ มูลสัตว์หลากชนิดหลายรูปร่าง เช่น อึเม็ดกลม ๆ ของเนื้อทราย อึกองเล็ก ๆ ของหมาจิ้งจอก อึคล้ายฝักถั่วลิสงของเม่น หรืออึที่มีเส้นขนเยอะหน่อยของหมาใน บางครั้งพบขนเม่นแข็งเรียวยาวปลายแหลม สีขาวมีแถบคาดสีดำ และหากมาในช่วงปลายปีอาจพบเขาเนื้อทรายเพศผู้ที่ผลัดไว้อีกด้วย

แดดอ่อน ๆ ยามเช้าละมุนละไมผ่านสายหมอกและวับวาวยามกระทบน้ำค้างบนใบหญ้า ด้วยสายตามากประสบการณ์ ช่างภาพมืออาชีพมองปราดเดียวก็ชี้ให้ดูเนื้อทรายในไอหมอกกลางทุ่ง คาดเดาทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มที่ห่างออกไปรวมถึงเล็งตำแหน่งที่จะไปยืนถ่ายภาพ

“ดูท่าพวกมันน่าจะเดินไปทางนั้นแล้วข้ามถนน  ไปบุ๊น”

ว่าแล้วพี่เบก็ชวนออกเดิน  ทางดินชื้น ๆ ตัดผ่านทุ่งหญ้า มุ่งไปทางสายหมอก บางครั้งเราหยุดดูท่าทีของเนื้อทรายสังเกตพฤติกรรม ยืนรอจังหวะเก็บภาพเนื้อทรายเดินกึ่งวิ่งข้ามทางดินนั้น

พี่เบชักชวน ให้คำแนะนำบุ๊นเป็นระยะ ๆ และชวนพูดชวนคุยสนุกสนาน

ยามเฝ้ามองสัตว์ป่าอยู่ด้วยกัน คำถามลักษณะเช่นนี้ดังขึ้นเสมอ

“มันจะไปทางไหน บุ๊น”
“แล้วเราจะไปรอตรงไหนดี”
“มันเดินทางนั้นเพราะอะไร”
“ทำไมมันต้องวิ่งข้ามน้ำด้วย”

คำถามของพี่เบชวนคุย คิด สังเกต บุ๊นตอบได้บ้างบางครั้ง มั่วบ้างหลายครา เมื่อถูกซักถามบ่อย ๆ เข้าความรู้สึกชวนสงสัยในสิ่งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นในตัวบุ๊นมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว และเรียนรู้ได้เองว่าคำตอบนั้นมาจากการเฝ้ามอง การทดลองและการสังเกต

“แสงแบบนี้ถ่ายยังไงดี บุ๊น”

คำตอบของบุ๊น บางครั้งแม่ก็ไม่เข้าใจนัก ภาษาช่างภาพบางทีก็เกินกำลังสมองของแม่

“เพราะอะไร ทำไมจะถ่ายแบบนี้” พี่เบยิงคำถามต่อมา

หากบุ๊นมีเหตุผลของตัวเอง พี่เบก็จะปล่อยให้ทดลองทำ แต่หากไม่มีก็จะชวนให้มอง ลอง ทำ ปรับแบบนี้ดูมั้ย แบบนั้นดูบ้าง แล้วถามความเห็น ความรู้สึกเมื่อดูภาพหลังกล้อง เป็นการเรียนรู้ผ่านการฝึกฝนและลงมือทำ ทำบ่อยเข้าก็จะเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ในบางครั้งช่างภาพมากประสบการณ์ก็เพียงยืนมองและสังเกตบุ๊นอยู่เงียบ ๆ หลายคราที่เด็กชายรั้นและอยากทดลองบางอย่างจนดูเหมือนจะเมินเฉยคำแนะนำ ภาพที่บุ๊นถ่ายใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้าง แม้ส่วนมากจะเป็นกรณีหลัง พี่เบก็ยังคงยิ้ม ด้วยสายตาเอ็นดูปนมันเขี้ยว ฉันสัมผัสได้ถึงความเมตตาในนั้น
เนื้อทรายใช้ชีวิตอย่างอิสระกลางดงดอกหญ้า เมื่อเราเคารพระยะสบายใจของพวกเขา เราต่างมีความสุขบนพื้นที่ร่วมกัน
ยามเช้าที่ทุ่งกะมัง ดวงตะวันสาดแสงจากด้านหลังทุ่ง ขับให้เห็นกิ่งก้านสวยงามเฉพาะตัวของต้นเหมือดโลดบนเนินกลางทุ่ง ทุกครั้งที่มาเยือน ฉันจะเข้ามาทักทายและกอดต้นไม้ทรงสวยนี้ และใช้เวลาอยู่ตรงนี้พักใหญ่

มาถึงทุ่งกะมังจะไม่กล่าวถึงต้นเหมือดโลดก็เกรงว่าจะเหมือนมาไม่ถึง

ต้นไม้กลางเนินทุ่ง รูปทรงพุ่มกิ่งที่ดูรวม ๆ มีความกลม ๆ มน ๆ น่าเอ็นดู ยามเช้าภาพเงาย้อนแสงตะวันขึ้นจากเบื้องหลัง ขับให้เห็นความงามของลักษณะกิ่งก้านบิดงอหักมุมอย่างมีเอกลักษณ์ เป็นงานศิลปะของธรรมชาติโดยแท้

ทุกครั้งที่มาเยือนฉันจะเดินไปทักทายต้นไม้แลนด์มาร์กต้นนี้ และใช้เวลาอยู่ตรงนั้นพักใหญ่

ต้นเหมือดโลดต้นนี้เป็นที่พักพิงให้ร่มเงาแก่ผู้คน มีนกมาหากินและเกาะพัก มีแมลงและแมงมุมหากินและวางไข่ บางครั้งพบหนอนผีเสื้อสีสดกระดืบไปมา บริเวณใต้ต้นมีพืชคลุมดินหลายชนิดซึ่งคงต้องการแสงแดดพอดี ๆ แทรกผ่านศิลปะแห่งร่มเงาของกิ่งก้านใบ ทั้งยังเป็นบ้านที่ปลอดภัยของมดตัวสีดำ ที่ก้นจะเห็นขนเล็ก ๆ สีทองชัดเจน โดยเฉพาะยามต้องแสงอาทิตย์ ทองเป็นประกายเลยทีเดียว  บนลำต้นมีโพรงรูเล็ก ๆ ที่มดพากันเดินเข้า ๆ ออก ๆ  ที่สำคัญพวกเขาให้ความเป็นมิตรกับฉันมาก แม้สองแขนของฉันจะโอบกอดต้นเหมือดโลดและอาจขวางทางเดิน แต่มดก็ไม่เคยกัดฉันเลยสักครั้ง ฉันรู้สึกอุ่น ๆ ในใจและขอบคุณเสมอสำหรับมิตรภาพที่ได้รับทั้งจากต้นเหมือดโลด คุณมด และสารพัดชีวิต ณ ที่นั้น

ใยแมงมุมพันกันยุ่งเหยิงเหมือนพรมผืนเล็กสีขาวพบกระจายทั่วไปบนผืนหญ้าเรี่ยพื้นดิน เมื่อมองใกล้ ๆ จะเห็นหยดน้ำค้างเกาะพร่างพราว  ตรงกลางพรมขาวนั้นมีรูกลม ๆ หากลองนั่งเฝ้ามองนิ่ง ๆ สักพัก แมงมุมตัวน้อยจะโผล่ขึ้นมาดูลาดเลารอบตัว

บุ๊นดูจะถูกใจและอยากเก็บภาพแมงมุมที่กำลังโผล่หน้าเป็นพิเศษ

ไม่ไกลนักมีนกยูงสามตัวเดินไปมามองผืนดินผืนหญ้าหาอาหารจิกกิน เหมือนเป็นเพื่อนกันกับบุ๊นซึ่งก็กำลังเดินไปมามองผืนหญ้าผืนดินอยู่เช่นกัน เมื่อเห็นใยพรมขาววับวาวถูกใจ เด็กชายก็คุกเข่าลงบนพื้นชื้น ๆ นั้น บางครั้งเอาศอกค้ำตัวกับพื้นดิน มือประคองกล้อง ตาเล็งผ่านช่องมอง อยู่นิ่งเช่นนั้นสักพักแมงมุมก็ออกมาสบตา

ภาพที่บุ๊นเก็บได้ไม่รู้ว่าดีหรือไม่อย่างไรในมุมมองของช่างภาพ สำหรับฉัน บุ๊นได้รับของขวัญเป็นมิตรภาพเล็ก ๆ จากแมงมุมตัวน้อยนั้นแล้ว ขอบคุณนะที่ไว้วางใจเรา แม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ

ฉันนึกถึงคำของหม่อมเชน-หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่ามืออาชีพ

“ทุกรูปที่ถ่ายสัตว์ป่าได้ เพราะสัตว์อนุญาตให้ถ่าย”

Image
ทุ่งกะมังมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ มากมาย แสงสีทองยามเช้าขับให้แมงมุมและเส้นใยเปล่งประกายงดงาม
ในช่วงเย็น ตะวันเริ่มคล้อย เราเฝ้ารอฝูงนกจาบคาหัวสีส้มซึ่งจะบินกลับมานอนพักผ่อนบริเวณใกล้ ๆ ทุ่ง

เสียง ฮวิด ฮวิด ฮวิด เจี๊ยวจ๊าวมาแต่ไกลและแจ่มชัดขึ้นพร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของฝูงนก  นกตัวน้อยสีสดใสเมื่อบินสูงมองไกล ๆ เหมือนฝูงแมลงตัวเล็กสีดำ ๆ จนเมื่อเข้ามาใกล้จึงเห็นรูปร่างลักษณะว่าเป็นนก พี่เบพบว่าต้นนอน (ต้นไม้ที่นกมาอาศัยนอนยามค่ำคืน) อยู่บริเวณนี้ และนกจะทยอยบินกลับเป็นฝูง ๆ ในช่วงราว ๆ ๔ โมงกว่าถึง ๖ โมงเย็น แล้วแต่วันไป

นกจาบคาหัวสีส้มตัวเพรียว ปากเรียวยาวโค้งนิด ๆ ปีกสีเขียวสด ลำตัวออกเขียวอ่อน ใต้ปากสีเหลือง และหัวสีส้มสดสมชื่อ ด้วยสภาพแสงยามตะวันใกล้ลับฟ้า สิ่งที่ฉันเห็นคือเงานกมืด ๆ อยู่บนฟ้า ไม่ได้มีสีสันสดใสอันใด แต่พี่เบกลับสังเกตเห็นความงามยามนกบินร่อนตีโค้งวนอยู่เหนือต้นนอนด้วยมุมที่พอเหมาะ แสงที่พอดี แอ็กชันที่บิน และจังหวะที่ใช่ สีสด ๆ ของตัวและปีกก็แจ่มชัด

ว้าว ! ฉันยิ้มตื่นเต้นเมื่อเห็นภาพหลังกล้องพี่เบ แสงยามเย็นสีทองอมส้มกระทบตัวนกสีสดตัดกับฟ้าสีฟ้า

“สวยจัง” ฉันพูดเบา ๆ รู้สึกขอบคุณพี่เบที่ทำให้เห็นมุมมองความงามที่นึกไม่ถึง ภาพของพี่เบได้ทำงานส่งสารความสุขให้ผู้ชมอย่างฉันเรียบร้อยแล้ว

“ถ่ายยังไงให้สวย บุ๊น” พี่เบตั้งคำถาม หลังจากชวนให้ดูภาพที่ถ่ายไว้วันก่อน

“ก็ตอนมันบิน เห็นท้องนก สีสวย เจ๋งดี” เด็กชายตอบตามสไตล์ตนเอง

“จังหวะไหน ยังไง” พี่เบถามต่อ

“น่าจะตอนมันตีโค้ง ข้างหลังสว่าง น่าจะต้องปรับ over หน่อย” (บุ๊นบอกแม่ว่ามันคือการชดเชยแสง)

“ลองปรับ under ไว้หน่อย เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ไปไกลแล้ว เดี๋ยวเอาภาพไปปรับดึงสีได้ ฟ้าจะไม่สว่างเกิน ลองดู”

เด็กชายฟัง มีท่าทีคิดตาม และดูทีจะเห็นด้วย ทดลองทำตามด้วยความเต็มใจ จนเห็นผลด้วยตนเอง

บุ๊นเป็นเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อคำแนะนำมาพร้อมเหตุผลและไม่กดดันหรือบังคับให้ทำ เธอจะรับฟังและพิจารณา ฉันรู้สึกขอบคุณพี่เบ ช่างภาพใจดีท่านนี้มาก ที่เข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของบุ๊น
เส้้นผมบังภูเขา
เส้นทางระยะไม่ไกลนัก เพียง ๑ กิโลเมตรจากถนนหลัก พี่เบพาเรานั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไป ระหว่างทางมีหล่มดินยวบบางจุด เรามาตามหากระโถนพระฤๅษี พืชวงศ์เดียวกับบัวผุด มองเผิน ๆ คล้ายเป็นพืชที่ขึ้นบนผิวดิน แต่แท้จริงแล้วเป็นพืชกาฝากดูดกินอาหารจากรากของพืชอาศัยจำพวกเถาวัลย์ เช่นเถาวัลย์น้ำ

ช่วงปลายฝนต้นหนาวบนเส้นทางไปบึงมน ดอกกระโถนพระฤๅษีเริ่มทยอยบาน กลีบสีแดงสดประดับด้วยจุดประสีเหลือง สวยงามโดดเด่นบนผืนดิน สมฉายา “ราชินีแห่งกาฝาก”

บุ๊นเคยไปดูกระโถนพระฤๅษีในช่วงปลายปีแบบนี้มาแล้ว และจำได้ว่าใกล้ ๆ กันมีจอมปลวกขนาดใหญ่อยู่ แต่นั่งรถเข้ามาก็ไม่เห็นสักที  เมื่อพี่เบชะลอรถ ฉันเห็นดอกกระโถนพระฤๅษีหลายดอกหลายขนาด ทั้งดอกตูมเป็นตุ่มกลมสีแดงอมชมพูซีด ๆ ดอกบานกลีบสีแดงสดสวย ดอกคล้ำดำเหี่ยวเฉา อยู่ใกล้ ๆ กันเป็นกลุ่มบนผืนดินริมเส้นทาง แต่บุ๊นมองไม่เห็น คงเพราะเอาแต่มองหาจอมปลวกจนตาบอดกระโถนพระฤๅษีไป เมื่อชี้ให้ดูบุ๊นก็ร้อง “อ๊าว !” เสียงดัง สร้างเสียงหัวเราะให้พวกเรา

เมื่อลงรถไปดูใกล้ ๆ สองหนุ่มเดินหามุมถ่ายภาพ ฉันลองก้มดมกลิ่น ไม่รู้สึกเหม็นอย่างที่เคยอ่านพบมาว่าคล้ายเนื้อเน่า ฉันอาจต้องก้มลงดมให้ใกล้กว่านี้ โอกาสหน้าจะลองใหม่ จะได้รู้ว่าแมลงที่ถูกดึงดูดมาช่วยผสมเกสรนั้นได้กลิ่นแบบไหนกันนะ

กระโถนพระฤๅษีเป็นพืชที่ค่อนข้างหาดูได้ยากและยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อมัวมองหาแต่จอมปลวก คิดแต่ว่าเมื่อเจอจอมปลวกจะเจอกระโถนพระฤๅษี เงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นเองกลับกลายคล้ายเป็นเส้นผมบังภูเขา

เรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างการเดินทางนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องราวในชีวิตที่มองว่ายากเย็น อาจเกิดจากเงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นเองโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
Image
เนื้อทรายกำลังตกใจกับบางสิ่ง หางตั้งชี้ วิ่งไปอีกฟากของทุ่งกะมัง การถ่ายภาพที่รู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของเนื้อทรายเช่นนี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนซ้ำ ๆ

ภาพ : ณรงค์ สุวรรณรงค์
ง่่ายๆ สบายใจ
ทุกค่ำคืนพี่เบจะชวนบุ๊นมองหาสัตว์กลางคืนบริเวณใกล้ครัวของสำนักงานเขตฯ

ไฟฉายที่มีกำลังแสงแรงเพียงพอถูกคาดบนศีรษะหรือถือไว้ในระดับสายตา ค่อย ๆ สาดแสงส่องไปยังแนวขอบป่า พี่เบเห็นแววตาสัตว์เป็นจุดวาวสีขาวอยู่ชายป่าด้านหลังครัว สักพักก็พบว่าเป็นหมาจิ้งจอก พยายามตามถ่ายภาพ แต่ไม่ง่ายเลยกับสภาพแสงยามค่ำคืนเช่นนี้ หมาจิ้งจอกอยู่ไกลและแอบซ่อนหลังต้นไม้ แอบดูลาดเลาเราอยู่เช่นกัน

มีคืนหนึ่งแมวดาวมาเดินด้อม ๆ อยู่บริเวณลานหญ้าใกล้ครัวกลาง ขนาดประมาณแมวบ้านตัวใหญ่ ๆ ขนสีน้ำตาลมีลายสีดำเป็นเอกลักษณ์ แมวดาวเดินไปมาบ้าง หยุดมองเราบ้าง บางครั้งก็นั่งลงอยู่บริเวณลานหญ้าหลังครัว

นี่เป็นครั้งแรกที่บุ๊นเห็นแมวดาวตัวเป็น ๆ เด็กชายดีใจมาก เฝ้ามองและถ่ายภาพอยู่สักพัก แล้วคุณแมวดาวก็เดินหายเข้าไปในป่า

วันถัด ๆ มาบุ๊นลองส่องไฟหาทุกวัน แต่ไม่พบอีก

“ไม่เจอเลยอะแม่ มันไม่มาเลย...ไม่เป็นไร ไปกันเถอะแม่”

แม้รู้สึกเสียดายนิด ๆ แต่ก็ดูสบายดี ไม่เจอก็คือไม่เจอ ก็เดินไปคุยเล่นกับพี่เจ้าหน้าที่ พอเข้าห้องพักหัวถึงหมอนก็หลับสนิท เมื่อยอมรับสิ่งที่เป็นไปในธรรมชาติ ใจก็เบาสบาย

ความสุขง่าย ๆ ของเด็กชาย ได้ทำในสิ่งที่สนใจ ได้เล่นสนุก กินอิ่ม หลับสบาย เพียงนี้เอง
Image
แมวดาวเป็นสัตว์หากินกลางคืน กินสัตว์เล็กเป็นอาหาร พบออกมาหากินบริเวณชายป่าใกล้สำนักงานเขตฯ
บุ๊นนอนราบถ่ายภาพผีเสื้อในระดับสายตาอย่างมีความสุข

ภาพ : ณรงค์ สุวรรณรงค์
Image
Image
ลิงวอกจับแมลงเม่ากินอย่างสนุกสนานและเอร็ดอร่อย “ความสุขกับสิ่งตรงหน้า” 
ระหว่างทาง
และความใส่ใจ

หน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรมอยู่ระหว่างทางเข้าไปสำนักงานเขตฯ ด้านใน ห่างจากด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าปางม่วงประมาณ ๘ กิโลเมตร มีบึงน้ำใหญ่ มีเนินเล็ก ๆ ที่มักพบฝูงกวางหากินอยู่เป็นประจำ พี่เบเล่าว่าพบค่างแว่นถิ่นเหนือหากินอยู่ในบริเวณนี้ จึงชวนบุ๊นไปเฝ้าดูติดกันถึง ๒ วัน

จากบ้านพักถึงหน่วยฯ ศาลาพรม ระยะทางราว ๑๘ กิโลเมตร ระหว่างทางเราพบกลุ่มผีเสื้อดูดกินอาหารอยู่กลางถนนเป็นระยะ แน่นอนยามรถวิ่งมาใกล้ผีเสื้อย่อมตกใจ บินแตกฮือกระจายออกไป หากรถวิ่งมาด้วยความเร็วโดยมิได้ใส่ใจสิ่งมีชีวิตปีกบอบบางเหล่านี้ พวกเขาก็มักจะหนีไม่ทันไม่ถูกชนก็ถูกทับตายบนถนนอยู่บ่อยครั้ง

ทุกครั้งที่พบกลุ่มผีเสื้อกลางถนน พี่เบจะชะลอและเบี่ยงรถหลบจนขอบล้อแทบจะชิดขอบถนน

ความใส่ใจในคุณค่าของชีวิตเล็ก ๆ นี้ชวนให้ฉันทบทวนตัวเองอยู่ไม่น้อย ฉันขับรถช้าไม่เกิน ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนนเส้นนี้ แต่ไม่เคยขับรถหลบผีเสื้อเลย เพียงชะลอรถและขับคร่อมกลุ่มผีเสื้อไปช้า ๆ คุณผีเสื้อคงตกใจไม่น้อย บินชนใต้ท้องรถบาดเจ็บบ้างเป็นแน่ ฉันรู้สึกผิดและขอโทษเหล่าคุณผีเสื้อในใจที่ไม่ละเอียดลออพอ สิ่งที่เราคิดว่าดีพอแล้วอาจไม่เพียงพอก็เป็นได้

ในบางครั้งพี่เบหยุดรถและชักชวนบุ๊นถ่ายภาพ แม้ลังเลอยู่บ้าง แต่ก็ปีนจากท้ายกระบะลงมาพร้อมอุปกรณ์ในมือ บุ๊นลงนอนราบบนพื้นถนนถ่ายภาพผีเสื้อในระดับเดียวกับสายตาสองขาแกว่งไปมาในบางที ดูเบิกบานรื่นรมย์อย่างยิ่ง ฉันชอบมองอิริยาบถและอารมณ์แบบนี้ของบุ๊นมาก มีออร่าความสุขเผื่อแผ่มาถึงฉันเสมอ ในขณะที่ฉันเพียงยืนมอง ช่างภาพสัตว์ป่าก็ยกกล้องเก็บภาพเด็กชายชอบป่าในขณะนั้นไว้ให้เป็นความทรงจำ

ภายในรถขับเคลื่อนสี่ล้อฉันพูดคุยกับพี่เบไปเรื่อย ๆ สายตาพี่เบยังคงทำงานอยู่ตลอด คือสอดส่ายสังเกตรอบตัวตลอดทาง เด็กชายบุ๊นนั่งอยู่กระบะท้าย เห็นปากขยับมุบมิบร้องเพลงมีความสุข สายตาคอยมองรอบ ๆ เช่นกัน บางจังหวะพี่เบชวนให้ฉันหันไปมองบุ๊นที่กำลังเอามือสองข้างป้องหลังหูคล้ายกำลังเงี่ยฟังบางสิ่ง เป็นภาพที่น่าเอ็นดูมาก

ระหว่างทางมีต้นกระทุ่มสูงชะลูด รูปทรงกิ่งก้านสวยงามโปร่งตา กำลังออกผลค่อย ๆ ทยอยกันสุก พี่เบเล่าว่าช่วงนี้พบชะนีบ้าง ค่างบ้างมากินผลกระทุ่ม ให้คอยสังเกตเผื่อว่าเราจะผ่านไปในจังหวะเดียวกันกับที่พวกเขาหากิน แล้วก็พบจริง ๆ “ชะนีมือขาว” ตัวสีดำ ใบหน้าดำขอบขาว กำลังกินผลกระทุ่มอย่างเพลิดเพลินบนกิ่งก้านไม้สูงลิ่ว ตีนสีขาว มือสีขาวสมชื่อ  ฉันเห็นไม่ถนัดนัก แต่คาดว่าน่าจะมีสามถึงสี่ตัว ย้ายจากกิ่งหนึ่งเดินไปอีกกิ่งหนึ่ง เก็บลูกไม้กินเอร็ดอร่อย ตัวหนึ่งมีลูกน้อยเกาะอยู่ด้านหน้าด้วย น่ารักน่าชังอย่างยิ่ง เฝ้ามองดูได้สักพักพวกเขาก็โหนตัวหายลับเข้าไปในป่า
ค่างแว่นถิ่นเหนือกินยอดไม้เป็นอาหาร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรม มีต้นกระถินอยู่หลายต้น ยอดอ่อนกระถินเหล่านี้คงจะโอชะไม่น้อย กิ่งก้านของต้นกระถินจึงโกร๋นแทบไม่เหลือใบเช่นนี้
ผิดพลาด เรียนรู้ 
เมื่อถึงหน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรม พวกเรานั่งเล่นนอนเล่นกันในศาลา ลมโกรกเย็นสบาย รอคอยค่างแว่นถิ่นเหนือปรากฏตัว รอโดยไม่รู้ว่าจะได้พบหรือไม่ แต่เราก็รอ 

ระหว่างรอพี่เบชวนบุ๊นดูภาพที่ถ่ายมา พูดคุยกัน ดูภาพถ่ายสัตว์ป่าจากนิตยสารต่าง ๆ จากนั้นสิ่งที่เราทำมีเพียงการ “รอคอย” และ “สังเกต” เด็กชายบุ๊นเดินไปมาอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อยังไม่พบค่าง บุ๊นก็มีที่มีทางของตัวเองได้อย่างมีความสุขโดยธรรมชาติ หาไม้ ขุดหลุม เล่นตีกอล์ฟใส่หลุมที่ขุดเอง และเดินไปเดินมาสนุกสนานอยู่ได้ลำพัง

สักพักพี่เบได้ยินเสียงค่างและเห็นค่างแว่นถิ่นเหนือตัวหนึ่งบนต้นกระถินกิ่งก้านเกือบเปลือยเปล่าไม่ไกลจากจุดที่เราเฝ้านัก เสียงค่างเป็นอย่างไรฉันไม่ทันสังเกตแม้สักนิด เมื่อมองเห็นตัวก็ไม่ส่งเสียงร้องเสียแล้ว ได้แต่ยืนมองคุณค่างเด็ดยอดกระถินเข้าปากเอร็ดอร่อย

“อ้าว มันไปซะแล้ว” เสียงผิดหวังของบุ๊นดังขึ้น เมื่อมีคนเดินเข้าใกล้เกินระยะสบายใจของคุณค่างโดยไม่รู้ตัว

แม้จะผิดหวังอยู่บ้าง แต่ไม่หนักหนา เรายังคงวนเวียนเฝ้ารออยู่ในบริเวณนั้น

“บุ๊น เสียงค่าง ทางโน้น เดินไปหาดูเร็ว” พี่เบส่งเสียงเรียก

บุ๊นเดินกึ่งวิ่งไปตามทิศทางที่พี่เบบอก จากนั้นเพียงแป๊บเดียวก็กลับมาคว้ากล้องกับขาตั้งเดินจ้ำ ๆ นำฉันไป ค่างแว่นถิ่นเหนืออย่างน้อยสามตัวกำลังเพลิดเพลินอยู่กับยอดกระถินอันโอชะ

บุ๊นเดินไปมาหามุมถ่ายภาพ เมื่อค่างย้ายกิ่งย้ายต้นก็ต้องลองหามุมถ่ายภาพใหม่ หลังจากเอร็ดอร่อยอยู่พักใหญ่ ค่างเริ่มทยอยเคลื่อนมาในทิศทางเดียวกัน พักที่ต้นไม้ต้นเดียวกัน

“มันจะกระโดดข้ามต้นไม้แล้ว บุ๊น” พี่เบเอ่ย

จริงดังนั้น ค่างตัวหนึ่งกระโดดข้ามถนนเล็ก ๆ ไปยังต้นไทรใหญ่อีกฝั่ง กระโดดทีละตัวสองตัว และจู่ ๆ ก็มีค่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทยอยตามกันมา พักที่กิ่งเดียวกัน กระโดดจากจุดเดียวกัน ทีละตัว ๆ รวม ๆ แล้วน่าจะประมาณ ๑๐ ตัวเลยทีเดียว

บุ๊นพยายามจับจังหวะภาพขณะค่างกระโดดลอยอยู่ในอากาศโดยตั้งค่าปรับโฟกัสเอง แม้พี่เบจะแนะนำให้ใช้โฟกัสอัตโนมัติ แต่เด็กวัยทีนยืนยันจะทำในแบบของตนเองและก็ได้เรียนรู้ผ่านความผิดพลาดนี้ด้วยตัวเอง

“โธ่ พลาดซะได้ โฟกัสไม่เข้าเลยอะ” เสียงเจือความผิดหวังเล็ก ๆ ดังขึ้นขณะกำลังเช็กภาพที่ถ่ายมา

แม้ฉันออกจะรู้สึกขัดใจและเสียดายอยู่บ้าง แต่ก็ต้องปล่อยให้การเรียนรู้เป็นไปโดยธรรมชาติในจังหวะของบุ๊นเอง เมื่อวางใจได้ ใจก็เบาสบายขึ้น พี่เบก็คงเช่นกัน บ่น ๆ แซว ๆ บุ๊นด้วยรอยยิ้ม

“บุ๊นเอ๊ย บางทีโอกาสมันก็ไม่ได้มาบ่อย ๆ นะบุ๊น”

ค่างแว่นถิ่นเหนือฝูงนี้ใช้เวลาอยู่บนต้นไทรสักพัก บางตัวหาของกิน เดินไปมาบนกิ่งก้านบ้าง ไต่กิ่งไม้ใหญ่ไม้เล็กบ้างห้อยโหนตัวจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่งบ้าง บางตัวหาเห็บให้กัน บางตัวก็เพียงนั่งนิ่ง ๆ พวกเรายืนมองหลากหลายอิริยาบถนั้นอยู่ไม่ไกลนักจนพวกเขาจากเข้าไปในป่าทึบ

ขอบคุณนะที่มาพบหน้ากัน ฉันยิ้ม
Image
กวางป่าที่กำลังแช่น้ำเกิดความสงสัย และลุกขึ้นยืนจ้องมาที่บุ๊นเป็นทางเดียว มีตัวหนึ่งกระทืบน้ำขู่แล้วพากันจากไป เป็นประสบการณ์ของบุ๊นเมื่อ ๒ ปีก่อนที่จำได้ไม่ลืม
Image
ในบริเวณนั้นมีโป่งสองชนิดอยู่คนละฝั่งของห้างบังไพร คือ โป่งดินและโป่งน้ำซับ เราสามารถมองเห็นได้ทั้งสองฝั่งจากบังไพร ในภาพคือโป่งดิน ที่มีร่องรอยการมาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ
เฝ้ารอ...
“พี่อาเฌอ ช่วงนี้มีอะไรลงโป่งบ้างฮะ” เป็นคำถามที่บุ๊นมักจะถามทุกครั้งที่มาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

โป่งที่พูดถึงนี้มีชื่อเรียกกันว่า “โป่งไฮ” เป็นแหล่งแร่ธาตุของสัตว์ป่า อยู่ในป่าลึกเข้าไปจากริมถนนหลักประมาณเกือบ ๒ กิโลเมตร เดินขึ้นเนินลงเนินพอเหงื่อซึม ๆ ก็ถึง

“พี่อาเฌอ” ประสิทธิ์ คำอุด ชายร่างเล็ก เสียงเบา ถ่อมตนเป็นมิตร และใจดี เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชา-สัมพันธ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นช่างภาพสัตว์ป่าได้รับรางวัลมาแล้วหลายรางวัล เป็นเจ้าของเพจ “อาเฌอ” ที่มีผู้ติดตามมากมาย เป็นที่รักและเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หลายคน สำหรับบุ๊น พี่อาเฌอเป็นทั้งไอดอลและพี่ชายใจดีที่บุ๊นรักมาก เป็นครูถ่ายภาพคนแรกของบุ๊น พี่อาเฌอจะเป็นคนนำพาเราเข้าไปที่โป่งไฮในครั้งนี้

ทักษะหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็นของคนเดินป่าเป็นประจำอย่างพี่อาเฌอ คือ ช่างสังเกต หูไว ตาไวเป็นอย่างยิ่ง เพียงเห็นร่องรอยและรอยตีนสัตว์ บางครั้งถึงกับเล่าได้เป็นฉาก ๆ ว่าตัวอะไรเดินไปทางไหน น่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และตัวนี้น่าจะหนีไปทางไหน ทั้งได้ความรู้ สนุก และตื่นเต้น เพราะอย่างนี้เด็ก ๆ ที่ได้เดินป่าด้วยถึงได้ติดพี่อาเฌอเป็นตังเม

ระหว่างทางพี่อาเฌอชี้ให้ดูรอยตีนสัตว์หลายรอย บางรอยเป็นรอยเก่า มีมาหลายวันแล้ว สังเกตจากใบไม้ที่ร่วงทับถม บางรอยเกิดขึ้นใหม่  เราพบรอยตีนช้างที่ดูสดใหม่ในบางจุด พี่อาเฌอบอกพวกเรา พลางเอาใบไม้มาโยน ๆ ทับรอยใหม่นั้นเล็กน้อย พอให้รู้ว่าเป็นรอยที่เห็นแล้ว หากขากลับมีรอยเพิ่มเติมก็จะรู้ได้ทันที

พวกเราเดินไปคุยกันไปด้วย ขึ้นเนินลงเนินบ้าง เดินข้ามธารน้ำบ้าง เดินง่ายไม่ลำบากอะไร ฉันรู้สึกทึ่งกับความสามารถของพี่อาเฌอในการจำเส้นทางเดินในป่าได้ราวกับจำถนนหนทางในเมือง สำหรับฉันมองไปทางไหนป่าก็ดูจะเหมือนกันไปเสียหมด ต้นไม้ ต้นไม้ และต้นไม้

เราหยุดพักเล็กน้อยบริเวณเนินก่อนถึงโป่งไฮประมาณ ๓๐๐ เมตร  จากจุดพักนี้ เรางดการพูดคุยส่งเสียงโดยสิ้นเชิง ด้วยใกล้บริเวณโป่งเข้าไปทุกที เสียงของเราอาจทำให้สัตว์ป่าตื่นตกใจ ส่งเสียงเตือนกันถึงอันตราย และไม่มาเข้ากินโป่งได้ เราเดินกันเงียบ ๆ และตั้งใจฟังเสียง เมื่อถึงบริเวณโป่งไฮฉันสัมผัสบางสิ่งที่บอกไม่ถูก รู้สึกว่าพื้นที่แห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์และมีพลัง ฉันขออนุญาตและขอบคุณพื้นที่ที่เมตตาให้ฉันได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแห่งนี้ด้วยความเคารพ และเดินเข้าไปเงียบ ๆ

บังไพรถูกสร้างขึ้นบนต้นไม้ สูงจากพื้นดิน ๔-๕ เมตร มีบันไดไม้ทำง่าย ๆ พาดไว้ให้ปีนได้ไม่ยากนัก ออกแรงสักนิดก็ขึ้นไปนั่งบนห้างได้อย่างสบาย  ก่อนปีนขึ้นห้างพวกเราไหว้ขออนุญาตด้วยความเคารพและให้เกียรติธรรมชาติในพื้นที่ บุ๊นปีนก่อนเป็นคนแรกด้วยความคล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง ตัวฉันที่ออกจะสมบูรณ์หน่อย ๆ ก็ค่อย ๆ ก้าวขึ้นช้า ๆ อย่างมั่นคง ห้างไม่ใหญ่ไม่เล็ก นั่งสามคนกำลังสบายพอดี ๆ พื้นห้างเป็นไม้กระดานแผ่นเรียงกัน มองลอดช่องระหว่างแผ่นไม้เห็นพื้นด้านล่าง ด้านบนคลุมไวนิลไว้กันฝน ด้านข้างมีสแลนสีดำปิดเกือบรอบ เจาะช่องไว้สำหรับเฝ้ามองหรือเลนส์กล้อง มองลงมาเห็นโป่งทั้งสองฝั่ง คือ โป่งดินและโป่งน้ำซับ

เราอยู่บนห้างตั้งแต่สายจนเย็นย่ำ สิ่งที่ทำคือนั่งเงียบ ๆ และเฝ้ารอ...ไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีสัตว์ป่ามาใช้บริการโป่งให้เราดูหรือไม่  บุ๊นพกหนังสือมาอ่านระหว่างรอ สลับกับการมองโป่งเป็นระยะ ๆ เสบียงทั้งข้าวกล่องและขนมที่เตรียมไว้ค่อย ๆ ถูกจัดการไปเรื่อย ๆ บางครั้งก็หลับกันบ้างเป็นเรื่องปรกติ

สิ่งหนึ่งที่ฉันสัมผัสได้ในตัวพี่อาเฌอเสมอมาคือความนิ่งและความใจเย็น  หลายปีที่รู้จักกันไม่เคยเห็นพี่อาเฌอหงุดหงิดแม้สักครั้ง ฉันยังจำครั้งแรกที่บุ๊นมาโป่งไฮได้ดี อายุราว ๙ ขวบปี นั่งบนห้างเฝ้ารออยากเห็นสัตว์ป่ามากินโป่ง รออยู่นานโขก็ยังไม่มีสัตว์เข้ามา อาจด้วยความสงสัยว่าสัตว์ป่าไปอยู่ไหนกันหมด จู่ ๆ บุ๊นก็ยื่นหน้าเล็ก ๆ โผล่ออกไปดูจากช่องบังไพร  เพียงแวบเดียวเสียงกระรอกร้องดังก้องป่าและมีกระรอกตัวอื่นส่งเสียงรับต่อไปอีกเป็นทอดสองทอด คุณกระรอกได้ส่งสารเตือนเพื่อนพ้องในป่าใหญ่ถึงการมาเยือนของคนแปลกหน้าเรียบร้อยแล้ว พี่อาเฌอเองย่อมรู้ดีกว่าใครว่าแม้นั่งรอต่อไปก็ไม่น่าจะมีโอกาสเห็นสัตว์ป่ามาที่โป่งแล้ว แต่กลับเลือกที่จะไม่พูดอะไรที่บั่นทอนกำลังใจ อดทนนั่งอยู่กับเรา ให้เราได้ใช้เวลาเฝ้ารอต่อไปจนบ่ายคล้อยก่อนจะชวนกันกลับออกมา
ห้างบังไพรถูกสร้างไว้ง่าย ๆ บนต้นไม้บริเวณใกล้ ๆ โป่ง หลังจากขออนุญาตพื้นที่ เราปีนขึ้นไปนั่งเงียบ ๆ และเฝ้ารอ สัตว์ป่าจะออกมาให้เราเห็นเมื่อเขารู้สึกปลอดภัย
ฉันและบุ๊นเรียนรู้ได้เองผ่านประสบการณ์นั้น เป็นการสอนที่แยบคายโดยไม่ต้องพูดอะไร เพียงอดทน รอคอย และวางใจให้ธรรมชาติบอกกับพวกเราเอง แทนที่จะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้พบสัตว์ป่า ฉันกลับรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกและขอบคุณพี่อาเฌอเสมอมา

สามชั่วโมงผ่านไปกับโป่งที่มีนกแวะมาใช้บริการเพียงเล็กน้อย และแล้วก็มีลิงวอกภูเขาตัวสีน้ำตาลผอมโทรมตัวหนึ่งลงมาที่โป่งดิน เราสามคนเงียบกริบ ลิงยืนแคะดิน หยิบดินเข้าปากกิน สองหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่จับกล้องถ่ายภาพ ลิงลงกินดินโป่งอยู่ราว ๑๐ นาที เมื่อมีเสียงกระรอกดังมาไกล ๆ ลิงดูตกใจและจากไปอย่างรวดเร็ว แล้วโป่งก็กลับสู่ความนิ่งเงียบอีกครั้ง

หลังจาก ๒ ชั่วโมงในความเงียบ มีไก่ป่าตัวหนึ่งเดินมาลงที่โป่ง ตามด้วยเสียงร้องของสัตว์ป่า

“กระทิง” พี่อาเฌอส่งเสียงกระซิบกระซาบ

เสียงเดินเท้าลุยดงป่าพงดังเข้ามาใกล้มากขึ้น

“ถ้ามันมาถึงโป่ง ปล่อยให้เขากินก่อนสักพักนะค่อยเริ่มถ่ายภาพ” พี่อาเฌอเอ่ยเบา ๆ บอกบุ๊น

แล้วฉันก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวตรงพุ่มไม้ผ่านช่องเล็ก ๆ ในบังไพร กระทิงสีดำขลับตัวแรกมาถึงแล้ว และค่อย ๆ ทยอยเดินต่อกันมาเรื่อย ๆ ลงมาที่โป่งน้ำซับทีละตัว ๆ บุ๊นนับได้รวม ๙ ตัว เดินป้วนเปี้ยนไปมากินโป่งอยู่พักใหญ่ แล้วก็เดินกึ่งวิ่งออกไปจากบริเวณนั้น แต่ไม่นานนักก็ทยอยกลับมากันใหม่ รอบนี้นับได้ถึง ๑๑ ตัวเลยทีเดียว ทั้งบุ๊นและพี่อาเฌอต่างคนต่างถ่ายภาพ ฉันมองด้วยตาเปล่า เหล่าคุณกระทิงดูจะสำราญใจกับโป่งน้ำซับนี้เป็นอย่างมาก กินอยู่นานก่อนจะจากไป  ฟ้าเริ่มมืดลงแล้ว แต่ยังพอมีแสง เราทยอยปีนลงจากห้างทีละคน ฉันไหว้ขอบคุณพื้นที่และชวนให้บุ๊นขอบคุณด้วย เด็กชายบอกว่าได้ขอบคุณกระทิงไปแล้วหลายรอบเลย

เราเดินกลับจากโป่งไฮเพียงไม่นานฟ้าก็มืดลง พี่อาเฌอหยุดเดินและชี้ให้เราดูลิงอ้ายเงี้ยะฝูงหนึ่งที่กำลังเตรียมตัวนอนบนต้นไม้ ลิงนั่งชิดติดกันบ้าง หาเห็บให้กันบ้าง เห็นเป็นเงามืด ๆ บนกิ่งไม้ตัดกับพื้นหลังสีฟ้ายามพลบค่ำ บุ๊นดูจะกังวลกับความมืดที่กำลังย่างกรายเข้ามา ไม่มีกะใจจะถ่ายภาพนัก เด็กชายจินตนาการไปถึงการเจอกระทิงหรือหมูป่าระหว่างทางในความมืด แล้วก็กลัวจินตนาการของตัวเอง จึงดูลุกลี้ลุกลนชวนพี่อาเฌอเดินกลับยิก ๆ พี่อาเฌอยิ้มเอ็นดูและยังคงเดินไปมาใกล้ ๆ หามุมถ่ายภาพ จนแสงหมดจึงเก็บกล้อง ฟ้ามืดแล้วเราออกเดินต่อ ฉันเปิดไฟฉายคาดหัวเดินตามสองหนุ่มมาเรื่อย ๆ ระหว่างทางสังเกตเห็นแสงสะท้อนแวววาวเป็นจุดจิ๋ว ๆ บนพื้นดินและริมทางเยอะแยะเต็มไปหมด

“แมงมุมครับ” พี่อาเฌอกล่าวตอบคำถามของฉัน

“แมงมุมจริง ๆ ด้วย !” ฉันยิ้มตื่นเต้นเมื่อย่อตัวลงสังเกตเห็นตัวแมงมุมชัด ๆ แสงแวววับนั่นสะท้อนมาจากดวงตาของพวกเขานั่นเอง ยังพบด้วยว่าบางแววตานั้นเป็นของผีเสื้อกลางคืนและคงมีอีกหลายเจ้าของแววตาเลยทีเดียว พลันจินตนาการไปว่า หากได้ยืนนิ่ง ๆ สักพัก มองไปรอบ ๆ คงจะคล้ายแสงดาวระยับรอบตัว สวยงามไม่น้อยเลย

เมื่อต้องเดินป่าในยามค่ำมืดฉันปฏิเสธไม่ได้ว่ากลัวเช่นกัน ทุกก้าวเดินฉันขอบคุณและขออนุญาตเป็นระยะ ๆ สวดมนต์ด้วยในบางที บางจังหวะมีความกลัวผุดขึ้นมา ใจอยากไปถึงข้างนอกโดยไว

เมื่อรู้สึกตัวฉันหายใจเข้าลึก กลับมาที่ก้าวเดิน และวางใจให้ไว้ใจพื้นที่ตรงนั้น  หากจะบอกว่าความกลัวหายไปโดยสิ้นเชิงก็คงจะเป็นการโกหก แต่ใจฉันเบาลงมากเมื่อไม่ได้คิดถึงแต่จุดหมายปลายทาง เดินเรื่อย ๆ ไม่เกร็งไม่ตึงก็ถึงปลายทางสบาย ๆ พร้อมรอยยิ้ม 

พี่อาเฌอเล่าให้ฟังว่าเคยมาที่โป่งไฮนี้คนเดียวบ่อย ๆ บางครั้งก็ผูกเปลนอนบนห้างนั้น รอดูสัตว์ป่ามากินโป่งยามค่ำคืน แรก ๆ ก็กลัว เพราะความคิดฟุ้งซ่านของตัวเอง หลายครั้งเข้าความกลัวก็หายไป เดินกลับจากโป่งคนเดียวยามมืดค่ำบ่อย ๆ อีกด้วย

ฉันคิดว่าความกลัวเป็นเรื่องปรกติธรรมดา เมื่อยอมรับด้วยใจว่าเรากลัวและกล้าเผชิญหน้ากับความกลัวนั้น ฝึกฝนเรื่อย ๆ เราน่าจะก้าวข้ามความกลัวไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ
กระทิงเริ่มทยอยลงมากินโป่งน้ำซับในช่วงเย็น เมื่อกระทิงมาถึงโป่ง เราต้องรอให้กระทิงกินโป่งไปสักพักก่อนจึงจะเริ่มถ่ายภาพ ด้วยเสียงชัตเตอร์อาจทำให้กระทิงระแวง จากไปโดยไม่ได้กินอาหารที่โป่ง
ทำให้เห็นเป็นให้ดู
ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่าที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับหลายท่านที่ฉันรู้จัก เริ่มจาก “ใจ” ที่รักธรรมชาติ และมี “ความเพียร” ทำในสิ่งที่รักนั้น ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง  การจะได้ภาพสวยงามเล่าเรื่องราวสักภาพ นอกจากทักษะการใช้อุปกรณ์ให้อยู่หมัด ยังอาศัยทักษะสั่งสมมากมาย ประสบการณ์ การวางแผน มุมมอง การสังเกต ความเข้าใจ ความนิ่ง และการรอคอย

การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนการเดินทางพี่เบชวนให้บุ๊นวางแผนว่าอยากได้ภาพแบบไหนอย่างไรบ้าง  จะวางแผนได้เราต้องรู้จักข้อมูลของสภาพพื้นที่ พฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ป่าในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น รวมถึงสภาพอากาศด้วย บุ๊นเขียนแผนของตัวเองไว้คร่าว ๆ ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์  พี่เบเดินทางมาล่วงหน้าก่อนแล้ว บวกกับประสบการณ์อันยาวนาน ข้อมูลจึงแน่นปึ้ก ทำให้ ๓ วันของเราเต็มไปด้วยประสบการณ์ในหลากหลายพื้นที่ เป็น ๓ วันที่เราใช้เวลาอย่างเต็มที่ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเข้านอน

ทุกวันพี่เบจะตื่นแต่เช้ามืด เตรียมตัวพร้อม และจะออกไปเฝ้าสัตว์ป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย ในเวลาค่ำจะทยอยเช็กภาพและชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับภาพที่ถ่ายมา ก่อนจะแยกย้ายกันพักผ่อน  แม้บุ๊นจะเป็นเด็กพลังงานสูง เริ่มต้นวันใหม่ด้วยความคึกคักทุกวัน แต่เมื่อแบตเตอรี่ในตัวหมดก็พร้อมปิดสวิตช์โดยง่าย ในทุกค่ำหลังจากใช้พลังงานเต็มที่ตั้งแต่เช้ามืด บุ๊นมักอยู่ในสภาพตาปรือ ๆ ไม่ค่อยพร้อมนักในการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีคืนหนึ่งบุ๊นเข้านอนชาร์จพลังงานตั้งแต่ ๑ ทุ่มครึ่งยาวถึงเช้าตรู่ ฉันรู้สึกเอ็นดูตากล้องตัวน้อยและรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสการเรียนรู้ประสบการณ์ของการทำงานสารคดีเช่นนี้
Image
พี่เบขอดูภาพที่บุ๊นถ่ายมา แม้จะพลาดพลั้งเสียมาก พี่เบยังมีรอยยิ้มให้เด็กชายเสมอ
ความสุข
ฉันพบว่าช่างภาพสัตว์ป่าที่เคยพบปะคุ้นเคยมีความสุขได้ง่าย ๆ จากการไปอยู่และได้รับความไว้วางใจจากธรรมชาติ เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากธรรมชาติ มักจะมีคำว่า “ง่าย” เจืออยู่ด้วยเสมอ “อยู่ง่าย” “เรียบง่าย” และ “สุขง่าย”

“ความจริงผมก็อธิบายไม่ได้หรอกว่าความสุขในการถ่ายภาพสัตว์ป่าจริง ๆ คืออะไร ยิ่งหลัง ๆ มานี้ถ่ายภาพน้อยมาก อาจจะ...แค่ได้ไปอยู่ตรงนั้น” พี่เบบอกเล่าฉันเอ่ยถามพี่อาเฌอถึงความสุขในการถ่ายภาพ แม้อยู่ภูเขียวมานาน ไปทุกจุดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังคงไปที่เดิมซ้ำ ๆ ถ่ายภาพอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา

“เป็นความสุขของตัวเองและเป็นความสุขที่ส่งต่อถึงคนอื่น ๆ ด้วย”

พี่อาเฌอตอบเนิบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แล้วเล่าถึงตอนไปเฝ้าช้างในจุดที่อยากพบและเฝ้ารออิริยาบถที่อยากเห็นช้างทำ

“ถ้าช้างไม่ทำก็ไม่เป็นไร ช้างไม่มาก็ไม่เป็นไร มีความสุขแล้วที่ได้มานั่งรอ”

ฉันยิ้มกับคำตอบของพี่อาเฌอและนึกถึงตอนที่บุ๊นได้รับโอกาสไปเฝ้ารอดูนกเงือกหัวแรดมาป้อนอาหารลูกน้อยที่โพรงรังในป่าที่จังหวัดนราธิวาส บุ๊นนั่งเฝ้ารอในบังไพร เหงื่อไหลไคลย้อยอยู่เป็นชั่วโมง แต่นกไม่เข้ามาป้อนลูก เมื่อพี่คนหนึ่งถามว่ารู้สึกอย่างไร

“ไม่เป็นไรเลย ก็เป็นการเฝ้ารอในธรรมชาติ ถ้าไม่เจอก็ถือว่าได้มาแล้ว” เด็กชายตอบยิ้ม ๆ ขณะกินลูกไม้บนต้นละไมแก้มตุ่ย

ฉันพบว่าบุ๊นมีที่มีทางตามความสุขของตัวเอง ที่อยากทำ ณ ตรงนั้น เวลานั้น ไม่ได้กดดันตัวเองในเรื่องการถ่ายภาพ ถ่ายได้ก็ถ่าย ถ่ายได้แค่ไหนก็แค่นั้น ในบางครั้งก็หลุดสมาธิ หลุดความอดทนไปบ้าง ติดเล่นบ้าง มนุษย์แม่อย่างฉันอาจเผลอไผลกดดันลูกไปบ้างโดยไม่ทันรู้ตัว

“แม่ไม่ต้องคาดหวังอะไรในตัวบุ๊นนะ ถ้าบุ๊นจะเป็น บุ๊นก็เป็นเองแหละ”

บุ๊นพูดด้วยน้ำเสียงปรกติธรรมดาในค่ำวันหนึ่ง เป็นประโยคสั้น ๆ ที่กระตุกเตือนใจฉันได้ชะงัดนัก เรากอดและบอกรักกันก่อนนอน
บุ๊น เด็กชายธรรมบุญ อุยยานนวาระ ผู้มีที่มีทางความสุขของตนเองได้เสมอในธรรมชาติ
ความสุขของใคร ๆ ต่างก็มีท่วงทำนองเฉพาะตน จังหวะความสุขจึงแตกต่างกัน

ท่วงทำนองและจังหวะเหล่านี้สอดประสานกลมกลืนเป็นสำเนียงไพเราะได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อเราอยู่ร่วมกันด้วยใจที่เคารพให้เกียรติ ไว้วางใจ และให้อิสระแก่กัน

ลอง “ไว้เนื้อเชื่อใจในธรรมชาติ” และใช้เวลาอยู่กับเขาตรงนั้นอย่างแท้จริง เป็นความสุขง่าย ๆ

และอาจบางที เราจะได้ยินสิ่งที่ธรรมชาติกำลังบอกเราอยู่ในทุกวัน

ฟ้าบอกเธอกี่ครั้งกี่หน ว่าใจคนควรกว้างใหญ่อย่างใจฟ้า
ภูเขาบอกเธอกี่หนกี่ครั้ง ว่าใจคนควรหนักแน่นดั่งภูผา
แม่น้ำบอกเธอหรือเปล่า ว่าใจคนควรเยือกเย็น
ตะวันบอกเธอหรือเปล่า ว่าใจคนควรซื่อตรง

เพลง “บอก”
ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
หมายเหตุ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

หากต้องการพักค้างคืนในเขตฯ ต้องขออนุญาตล่วงหน้าไป
ที่เขตฯ โดยทำหนังสือพร้อมหลักฐาน เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนรถ เป็นต้น (ข้อมูล ณ ธันวาคม ๒๕๖๓)

การเดินทางภายในเขตฯ ความเร็วรถไม่ควรเกิน ๔๐ กิโลเมตร
ต่อชั่วโมง

ผู้มาเยือนควรนำขยะทุกชิ้นของตนเองกลับออกไปด้วย
แม้ภายในเขตฯ มีถังขยะอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากสัตว์ป่าเช่นกวางป่ามักมาค้นหาอาหารจากถังขยะ นอกจากความสุ่มเสี่ยงจากการกินพลาสติกและติดเชื้อโรคที่มาจากนอกเขตป่าแล้ว สัตว์ป่าอาจบาดเจ็บจากขยะเหล่านั้น เคยมีกวางป่าเจ็บปวดเนื่องจากตีนติดอยู่ในกระป๋องอาหาร กวางพยายามเอาออกด้วยวิธีของมันเอง คือการกระทืบ ยิ่งกระทืบยิ่งติด ปากกระป๋องคม ๆ นั้นบาดขากวาง น่าหดหู่ใจไม่น้อยที่เจ้าของบ้านต้องบาดเจ็บจากขยะของผู้มาเยือน การรับผิดชอบจัดการขยะของเราเองย่อมถือเป็นการช่วยดูแลสัตว์ป่าด้วย

ขอบพระคุณเสมอ
พี่เบ-ณรงค์ สุวรรณรงค์
พี่อาเฌอ-ประสิทธิ์ คำอุด
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
ทีมงานนิตยสาร สารคดี
และธรรมชาติ

Image