Image
Blockchain บล็อกเชน 
นวัตกรรมความเชื่อใจ
กับโลกยุคใหม่ที่ไร้ “ตัวกลาง”
scoop
เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ : 123rf.com
“สิ่งที่เรานำเสนอคือระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจอีกต่อไป”

ประโยคที่แสนจะอหังการนี้ถอดความจากบทสรุปของเอกสารความยาว
เพียงเก้าหน้าชื่อว่า “บิตคอยน์ : ระบบเงินตราอิเล็กทรอนิกส์แบบเพียร์ทูเพียร์” (Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System) โดย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” นามสมมุติของบุคคลปริศนาที่ยังไม่มีใครทราบตัวจริง

เอกสารที่โผล่ขึ้นแบบไร้ที่มานี้คือจุดกำเนิดของบิตคอยน์ (bitcoin) สกุล
เงินเข้ารหัส (cryptocurrency) ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีค่าเพียงเศษสตางค์ แต่เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ราคาพุ่งทะยานแตะที่ ๒ ล้านบาทต่อ ๑ บิตคอยน์และมูลค่าเงินหมุนเวียนในระบบรวมราว ๓๓ ล้านล้านบาท สร้างกระแสตื่นทองในหมู่นักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้กระโดดเข้าซื้อขาย หวังกลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน

แต่ก่อนจะข้ามไปแตะเรื่องยุ่งยากอย่างจุดกำเนิดของบิตคอยน์หรือกลไกและการทำงานของบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของสกุลเงินเข้ารหัส รวมถึงนวัตกรรมมากมายที่ถือกำเนิดจากเทคโนโลยีดังกล่าว และด้านมืดที่หลายคนคาดไม่ถึง  ขอเริ่มต้นด้วยการชวนผู้อ่านคุยเรื่องสบาย ๆ ในชีวิตประจำวัน นั่นคือเรื่อง “ความเชื่อใจ” ซึ่งเป็นความท้าทายหลักที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมบล็อกเชน

ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ เราต่างก็ต้องใช้ความเชื่อใจเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ เชื่อใจคนขับรถก่อนจะเปิดประตูขึ้นไปนั่ง เชื่อใจแม่ครัวก่อนตักอาหารเข้าปาก เชื่อใจระบบธนาคารก่อนหย่อนเงินเข้าตู้ฝากเงินอัตโนมัติ เชื่อใจบริษัทหลักทรัพย์ก่อนทุ่มเงินที่เก็บหอมรอมริบทั้งชีวิตให้ดูแล  ความเชื่อใจจึงเปรียบเสมือนน้ำมันที่ช่วยหล่อธุรกรรมให้ลื่นไหล  หลายครั้งความเชื่อใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีบุคคลที่ ๓ ซึ่งได้รับความไว้วางใจทั้งภาครัฐ ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอีกขั้นหนึ่ง

หนึ่งในประดิษฐกรรม “ความเชื่อใจ” ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือ “เงินตรา” กระดาษพิมพ์ลวดลายภายใต้การบริหารจัดการและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของธนาคารกลาง ที่แทบจะไร้มูลค่าหากปราศจากความเชื่อใจของมนุษย์


หากย้อนกลับไปอ่านประโยคที่แสนจะอหังการของ “นากาโมโตะ” อีกครั้งจะพบว่าเขาหรือเธอเข้าใจผิดถนัด ถึงแม้บิตคอยน์จะหลุดพ้นจากการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกลาง แต่สกุลเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงขยะข้อมูลไร้ค่าหากไม่มีมนุษย์คนไหนบนโลก “เชื่อ” ว่าบิตคอยน์มีมูลค่าเทียบเท่าเงินตราในโลกจริง


บิตคอยน์จึงมิใช่สกุลเงินที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจ เพียงแต่ย้ายตำแหน่งของความเชื่อมั่นจากบุคคลที่ ๓ สู่บล็อกเชนนวัตกรรมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของระบบ
นวัตกรรมบนซากปรักหักพัง
วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑ เกิดเหตุไม่คาดฝันคือการประกาศล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์ส (Lehman Brothers) บริษัทวาณิชธนกิจอายุ ๑๕๘ ปี นับเป็นสัญญาณชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังฉุดพาเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างรุนแรง

ต้นเหตุทั้งหมดเกิดจากมายากลทางการเงินเจ้าปัญหาที่ชื่อว่าตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (mortgage-backed securities) เกิดจากการมัดรวมสินเชื่อจำนองบ้านเพื่อนำมาจำหน่ายให้นักลงทุนทั่วไป ความเสี่ยงที่ผู้กู้จะบิดพลิ้วไม่จ่ายเงินจึงถูกถ่ายโอนจากธนาคารสู่สาธารณชน สร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยวให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่เลือกหน้า แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกหนี้ไม่มีปัญญาจ่าย

การปล่อยสินเชื่อแบบไล่ล่าลูกค้ากระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายก็เผชิญกับภาวะฟองสบู่แตกเมื่อลูกหนี้ส่วนใหญ่ผ่อนไม่ไหวและตัดสินใจทิ้งบ้านให้ถูกยึด เกิดเป็นวัฏจักรที่ส่งผลให้ราคาบ้านดิ่งเหว นักลงทุนเรียกร้องให้บริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระตามสัญญา แต่หันไปทางไหนก็ไม่มีใครมีเงินในกระเป๋า แม้กระทั่งเอไอจี (AIG) บริษัทประกันใหญ่ที่สุดในโลกยังเอาตัวแทบไม่รอด

นี่คือวิกฤตซับไพรม์ที่สุดท้ายรัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่ออุ้มบริษัทในอุตสาหกรรมการเงินที่ “ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม” ทั้งที่บริษัทเหล่านั้นกอบโกยกำไรมหาศาลเข้ากระเป๋าในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะต้องพังทลาย

สิ่งสำคัญที่สุดที่สังคมสูญเสียจากวิกฤตครั้งนี้คือ “ความเชื่อใจ” ของประชาชนที่มีต่อสถาบันการเงินผู้กระหายผลกำไรโดยไม่สนใจผลกระทบต่อสาธารณะ ธนาคารกลางผู้ปล่อยปละละเลยแม้ว่าจะเห็นสัญญาณก่อนเกิดวิกฤต และรัฐบาลที่ตัดสินใจอุ้มชูบริษัทยักษ์ใหญ่แทนที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ตกเป็นเหยื่อ

ท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจและสังคม แนวคิดบิตคอยน์โดย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” เริ่มถูกส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ เอกสารความยาวเพียงเก้าหน้าเสนอทางเลือกใหม่ของระบบการเงินที่ไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน ธนาคารกลาง หรือกระทั่งรัฐบาล ฉายแสงแห่งความหวังและความเป็นไปได้ในโลกที่ความเชื่อใจต่อสถาบันเหล่านั้นถูกทำลายราบคาบ
Bitcoin
Number

1936
มูลค่าของบิตคอยน์เพิ่มขึ้น ๑,๙๓๖ เท่าระหว่างปี ๒๕๕๕ ถึง ๒๕๖๓
7,555%
มูลค่าของเหรียญ dogecoins เพิ่มขึ้น ๗,๕๕๕ เปอร์เซ็นต์ภายใน ๕ เดือน นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๔
304
ปี ๒๕๖๓ มีคอมพิวเตอร์ถูกโจมตี
ด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่
ด้วยสกุลเงินเข้ารหัส ๓๐๔ ล้านครั้ง 
กำเนิดบิตคอยน์
หลายคนอาจเข้าใจว่าบิตคอยน์หรือบล็อกเชนคือนวัตกรรมใหม่แกะกล่อง แต่ความจริงแล้วทุกอย่างคือเทคโนโลยีเก่าที่ “นากาโมโตะ” หยิบนำมาประกอบขึ้นใหม่ นั่นคือนวัตกรรมการเข้ารหัส แนวคิดเรื่องสกุลเงินดิจิทัลและระบบโครงข่ายแบบไร้ศูนย์กลางเพื่อรังสรรค์เทคโนโลยีที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน

บิตคอยน์ประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการเข้ารหัส (cryptography) ซึ่งใช้กันทั่วไปในการยืนยันธุรกรรมบนโลกออนไลน์ เช่น การจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตบนเว็บไซต์ ข้อมูลแต่ละชิ้นจะถูกแปลงด้วยสูตรคณิตศาสตร์จนกลายเป็นชุดตัวเลขกำกับที่เรียกว่า “แฮช” (hash) ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าข้อมูลชิ้นนั้นไม่ได้ถูกดัดแปลงหรือแก้ไขโดยผู้ไม่หวังดี คล้ายกับเป็นลายนิ้วมือดิจิทัลของข้อมูลแต่ละไฟล์

ส่วนข้อเสนอเรื่องระบบเงินตราดิจิทัลซึ่งหมายถึงสกุลเงินที่ไม่มีธนบัตรหมุนเวียน แต่ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ เดวิด ชอม (David Chaum) เผยแพร่แนวคิดนี้ก่อนการถือกำเนิดของบิตคอยน์ร่วม ๔ ทศวรรษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำไป ชอมพยายามผลักดันเพื่อเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลกังวลว่าเงินตราดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจใต้ดิน

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อผลักดันเงินตราดิจิทัล แต่สกุลเงินดิจิทัลที่ถือกำเนิดก่อนบิตคอยน์ทั้งหมดยังเป็นระบบรวมศูนย์ เสี่ยงต่อการถูกปิดระบบโดยหน่วยงานกำกับดูแลหรือถูกโจมตีโดยเหล่าแฮกเกอร์ฝีมือดี

“นากาโมโตะ” ใช้กระบวนการเข้ารหัสปิดจุดอ่อนแบบรวมศูนย์ของสกุลเงินดิจิทัล พัฒนาระบบโครงข่ายกระจายศูนย์ที่ชื่อว่า “บล็อกเชน” ซึ่งตั้งอยู่บนเครือข่ายสาธารณะที่หน่วยประมวลผลจากทั่วทุกมุมโลกทำงานร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ตโดยที่ไม่ต้องรู้จักกัน

ทุกธุรกรรมจะได้รับการยืนยันโดยการลงคะแนนเสียงของหน่วยประมวลผลในระบบ หากได้รับการโหวตให้ผ่านเกินครึ่งหนึ่ง ข้อมูลของธุรกรรมนั้นจะถูกสร้างเป็น “บล็อก” (block) แล้วนำไปต่อกับบล็อกข้อมูลก่อนหน้าเป็นห่วงโซ่หรือ “เชน” (chain) ซึ่งเปิดให้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังธุรกรรมแรกตั้งแต่เปิดระบบจนถึงธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันล่าสุด

บล็อกเชนจึงเป็นระบบบันทึกธุรกรรมที่โปร่งใส น่าเชื่อถือทุกคนตรวจสอบได้ แต่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุมได้ “บล็อกต้นกำเนิด” (genesis block) ข้อมูลการทำธุรกรรมครั้งแรกของบิตคอยน์โดย “นากาโมโตะ” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๒

นี่คือสิ่งยืนยันว่าสกุลเงินเข้ารหัสไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป
Image
เดวิด ชอม
บิตคอยน์ทำงานอย่างไร
การอธิบายการทำงานของบิตคอยน์และบล็อกเชนคงหลีกเลี่ยงสารพัดคำศัพท์เทคนิคในแวดวงเทคโนโลยีได้ยาก แต่เพื่อให้ผู้อ่านพอจินตนาการออกว่าบิตคอยน์ทำงานอย่างไร ขอใช้กรณีสมมุติโดยยกตัวอย่างระบบการชำระเงินในชุมชนร่วมสมัยที่ใช้ “เบี้ย” เป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่ไม่มีธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ และทุกคนในหมู่บ้านจะมีสมุดบัญชีติดตัวตั้งแต่แรกเกิด

แรกเริ่มเดิมทีชุมชนร่วมสมัยถูกผูกขาดระบบการชำระเงินโดยธนาคารเชื่อใจ ใครต้องการจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการก็ต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคารเพื่อแจ้งความประสงค์โอนเงิน เช่น ลุงสมชายต้องการซื้อข้าวมันไก่จากร้านเจ๊หนู ก็ต้องไปโอนเงิน ๔๐ เบี้ยที่ธนาคาร แล้วนำหลักฐานมายืนยันกับเจ๊หนูเพื่อแลกข้าวมันไก่

หากหยิบสมุดบัญชีของลุงสมชายมาดูจะพบว่ามีเงินโอนออกไป ๔๐ เบี้ย ส่วนสมุดบัญชีของเจ๊หนูก็จะได้รับเงิน ๔๐ เบี้ยโดยธนาคารเชื่อใจเป็นศูนย์กลางเก็บข้อมูลบัญชีของทั้งสองคนไว้อีกชุดหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครแก้ไขบัญชี สร้างหลักฐานการทำธุรกรรมปลอม หรือโอนจ่ายเงินทั้งที่ในบัญชีไม่มีเหลือสักเบี้ย แต่ผู้ใช้บริการทุกคนต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคารเชื่อใจเพื่อซื้อความเชื่อมั่นดังกล่าว

นี่คือการทำธุรกรรมที่เราคงคุ้นชิน คือต้องพึ่งพาบุคคลที่ ๓ ซึ่งได้รับความไว้วางใจเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

วันหนึ่ง “นากาโมโตะ” ทนไม่ไหวกับระบบผูกขาดของธนาคารเชื่อใจ จึงเสนอทฤษฎีใหม่เริ่มจากติดตั้งระบบเสียงตามสายในชุมชนร่วมสมัย พร้อมกับรับสมัครสมาชิกชุมชนผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์มาช่วยประมวลผล หากใครต้องการทำธุรกรรมก็แค่ประกาศผ่านเสียงตามสาย เช่นกรณีของลุงสมชาย เขาก็เพียงเดินไปที่ไมโครโฟนแล้วพูดว่า “สวัสดีครับ ขอโอนเงิน ๔๐ เบี้ยเข้าบัญชีเจ๊หนู ร้านข้าวมันไก่”

เมื่อสิ้นเสียง นักคณิตศาสตร์ก็จะแข่งกันเข้ารหัสคำขอดังกล่าวผ่านการแก้โจทย์ที่ยุ่งยากซับซ้อน พร้อมกับตรวจสอบว่าเงินในบัญชีของลุงสมชายเพียงพอทำธุรกรรมหรือไม่ เมื่อนักคณิตศาสตร์ที่คิดเลขเร็วที่สุดแก้โจทย์ได้สำเร็จ เขาก็จะแจ้งต่อทีมงานนักคณิตศาสตร์ว่า “ลุงสมชายจ่าย ๔๐ เบี้ย เจ๊หนูได้รับ ๔๐ เบี้ย รหัสธุรกรรม ๑๑๑๕” ทุกคนก็จะวางมือจากโจทย์ แล้วยืนยันธุรกรรมดังกล่าวโดยวิธีลงฉันทามติ หากนักคณิตศาสตร์เกินกว่าครึ่งหนึ่งในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันก็จะประกาศต่อไปยังระบบเสียงตามสาย

หลังจากได้ยินคำประกาศยืนยันของทีมงานนักคณิตศาสตร์ ชาวชุมชนร่วมสมัยก็จะจดลงในสมุดบัญชีประจำตัวว่า “ลุงสมชายจ่าย ๔๐ เบี้ย เจ๊หนูได้รับ ๔๐ เบี้ย รหัสธุรกรรม ๑๑๑๕” ส่วนใครที่ไม่ทันฟังก็มาอัปเดตสมุดได้ในภายหลัง เพราะทุกธุรกรรมจะถูกติดประกาศไว้ที่กระดานประชาสัมพันธ์กลางหมู่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดถูกบันทึกอยู่ในสมุดบัญชีของทุกคนในชุมชนร่วมสมัย
Image
บล็อกเชนทำงานอย่างไร
> ทำธุรกรรมโอนเงิน > ธุรกรรมเข้าสู่เครือข่ายในรูปของบล็อก > เผยแพร่ให้ทุกคนในเครือข่าย > สมาชิกในเครือข่ายยืนยันและบันทึก > บล็อกที่ได้รับการยืนยันจะนำไปต่อในสายโซ่ของบล็อก > ธุรกรรมสำเร็จโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับ

Image
14,000
ตู้เอทีเอ็มบิตคอยน์มีทั้งหมด ๑๔,๐๐๐ แห่งทั่วโลก 
7,555%
มูลค่าบิตคอยน์ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ คิดเป็น ๑.๘ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเงินตราในระบบทั้งหมดของโลก 
บทบาทของตัวละครต่าง ๆ ในชุมชนร่วมสมัยสามารถเปรียบเทียบกับระบบบิตคอยน์ได้ดังนี้

ลุงสมชาย เจ๊หนู และประชาชนทุกคนในชุมชนร่วมสมัยคือโหนด (node) เสมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องหนึ่งที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย แต่ละโหนดจะมีสมุดบัญชี (ledger) ของตนเอง ระบบกระจายบัญชีคือหัวใจของบล็อกเชน เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน อีกทั้งยังเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง เนื่องจากแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขสมุดบัญชีของทุกคนในเครือข่ายพร้อมกัน

ส่วนนักคณิตศาสตร์จะเป็นโหนดชนิดพิเศษซึ่งแวดวงเทคโนโลยีจะเรียกว่านักขุดเหมือง (miner) คนเหล่านี้อาจใช้คอมพิวเตอร์ในบ้านหรือลงทุนซื้อระบบประมวลผลล้ำสมัยเพื่อร่วมกับนักขุดเหมืองจากทั่วโลกแข่งขันกันเข้ารหัสและยืนยันธุรกรรมเพื่อสร้างบล็อกข้อมูล ก่อนจะนำมาต่อในห่วงโซ่

แน่นอนว่าเหล่านักขุดเหมืองไม่ได้ช่วยประมวลผลธุรกรรมแบบฟรี ๆ เพราะอัลกอริทึมของบิตคอยน์จะ “เสก” เงินเข้ากระเป๋าผู้ที่ประมวลผลแต่ละบล็อกสำเร็จ เช่น ๕๐ บิตคอยน์สำหรับช่วงแรกเริ่ม โดยผลตอบแทนจะลดลงครึ่งหนึ่งทุก ๔ ปี  วิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่จะเพิ่มจำนวนบิตคอยน์ที่หมุนเวียนในระบบ คล้ายกับการที่รัฐบาลค่อย ๆ ทยอยพิมพ์ธนบัตรแล้วหาทางยื่นใส่มือประชาชนให้นำไปจับจ่ายใช้สอย

บิตคอยน์จึงเป็นเงินตราเข้ารหัสสกุลแรกที่ปราศจากบุคคลที่ ๓ สามารถทำธุรกรรมได้ด้วยการประมวลผลของเครือข่ายที่กระจายทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็มีความปลอดภัยสูงและยังไม่เคยมีใครเจาะระบบเพื่อเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้

ความน่าตื่นตาตื่นใจของนวัตกรรมทำให้ผู้เชื่อมั่นในบิตคอยน์ฝันหวานว่าสกุลเงินเข้ารหัสที่ไร้หน่วยงานกำกับดูแลจะมาแทนที่สกุลเงินที่พิมพ์ออกมาโดยรัฐบาล

แต่พวกเขาต้องผิดหวัง เพราะถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสกุลเงินเข้ารหัสใดที่เข้าใกล้ความฝันดังกล่าว
พิซซ่าหมื่นล้าน
เชื่อไหมว่ามีคนเคยเสียเงินซื้อพิซซ่าสองถาดในราคาหลักหมื่นล้านบาท

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ขณะที่บิตคอยน์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก มูลค่า ๑ บิตคอยน์ ยังมีราคาไม่ถึง ๑ บาทโปรแกรมเมอร์หนุ่มนาม ลาสซโล แฮนเยกซ์ (Laszlo Hanyecz) ขอใช้ ๑ หมื่นบิตคอยน์แลกกับพิซซ่าสองถาด  เวลาผ่านไป ๑๐ ปี บิตคอยน์จำนวนดังกล่าวมีมูลค่าพุ่งทะยานเป็น ๑.๑ หมื่นล้านบาท !

โลกออนไลน์จึงกล่าวกันว่านี่คือพิซซ่าที่ราคาแพงที่สุดในโลก พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๒๒ พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันพิซซ่าบิตคอยน์เพื่อระลึกถึงบทเรียนราคาแพง

นี่คือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้บิตคอยน์ขาดศักยภาพที่จะมาแทนที่เงินตราสกุลหลักทั่วโลก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูงมากจนตลาดหลักทรัพย์ยังชิดซ้าย ทำให้หลายคนไม่กล้าควักบิตคอยน์ออกมาจับจ่ายใช้สอย สุดท้ายสกุลเงินเข้ารหัสทั้งหลายจึงกลายเป็นเพียงสินทรัพย์ที่ซื้อและถือไว้เพื่อเก็งกำไร ไม่ใช่ตัวกลางแลกเปลี่ยน

ปัญหาอีกประการหนึ่งของสกุลเงินเข้ารหัสคือการประมวลผลเชื่องช้า เช่นบิตคอยน์ที่ประมวลผลได้น้อยกว่า ๑๐ ธุรกรรมต่อวินาที ขณะที่ตัวกลางการชำระเงินระดับโลกอย่างวีซ่าประมวลผลได้ราว ๑,๗๐๐ ธุรกรรมต่อวินาที ความล่าช้านี้เองที่ทำให้บิตคอยน์ไม่เหมาะต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากบางธุรกรรมอาจต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะสำเร็จ

กรณีที่ผู้ใช้ต้องการเร่งให้ธุรกรรมเร็วขึ้นก็ต้อง “แซงคิว” โดยแนบเงินเพิ่มเติมเป็นแรงจูงใจในการประมวลผล แต่การกระทำเช่นนั้นไม่สมเหตุสมผลในโลกที่มีทางเลือกอื่นที่รวดเร็วกว่าและแทบไม่มีค่าธรรมเนียม จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขการใช้บิตคอยน์ซื้อสินค้าและบริการจริง ๆ มีเพียงราว ๑.๕ หมื่นรายการต่อวันเท่านั้น นับว่าห่างไกลจากคำว่าเงินสกุลหลัก
Image
เทคโนโลยี
เพื่อโลกใต้ดิน

ในเมื่อสกุลเงินเข้ารหัสทั้งผันผวนสูงและเชื่องช้า แล้วใครกันคือเหล่าผู้ทำธุรกรรมโดยใช้เงินสกุลบิตคอยน์

ช่วงที่บิตคอยน์ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์แห่งหนึ่งเลือกใช้บิตคอยน์เป็นเงินสกุลหลัก ไม่ใช่เพราะศรัทธาหรือต้องการสนับสนุนนวัตกรรม แต่เพราะบิตคอยน์สามารถใช้หลบเลี่ยงการตรวจสอบของภาครัฐ แพลตฟอร์มดังกล่าวชื่อว่าซิลก์โรด (Silk Road) แหล่งซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด อาวุธ รวมถึงของหนีภาษี ดำเนินการได้เพียงราว ๓ ปีก็ถูกปิด โดยสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๕๖ ผู้ก่อตั้งถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

ตลาดออนไลน์ดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากบิตคอยน์ เนื่องจากสถาบันการเงินที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางมีหน้าที่สำคัญคือ “ผู้เฝ้าประตู” ไม่ให้เงินใต้ดินไหลเข้าสู่ระบบผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนลูกค้า (know your customer) เพื่อให้มั่นใจว่าเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงต้องรายงานธุรกรรมน่าสงสัยตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน  ในทางกลับกันทุกคนเปิดบัญชีซื้อขายบิตคอยน์ได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ เพราะสกุลเงินเข้ารหัสไม่มีหน่วยงานใดคอยกำกับดูแล

ชื่อของบิตคอยน์เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้งหลังการระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่วันนาคราย (WannaCry) ที่จะล็อกคอมพิวเตอร์ของผู้ถูกโจมตีและจับเอาข้อมูลเป็นตัวประกันพร้อมเรียกค่าไถ่ในสกุลเงินเข้ารหัส

แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเปิดเผยอย่างโปร่งใสให้ทุกคนตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม แต่สิ่งที่สอบทานได้ก็มีเพียงรหัสบัญชีซึ่งประกอบด้วยตัวเลขและตัวอักษร ๓๔ ตัวที่สร้างขึ้นแบบสุ่ม โดยไม่มีทางทราบได้เลยว่าเจ้าของบัญชีคือใคร ทุกวันนี้แม้จะทราบว่าบัญชีปลายทางของวันนาครายคือ 12t9YDPgwueZ9NyMgw519p7AA8isjr6SMw ก็ยังไม่มีใครตามจับแฮกเกอร์ผู้อยู่เบื้องหลังมัลแวร์ดังกล่าวได้
5,000
ณ ปี ๒๕๖๓ มีสกุลเงินเข้ารหัสทางเลือกนอกจากบิตคอยน์มากกว่า ๕,๐๐๐ สกุล
70,000,000
ณ สิ้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินสำหรับสกุลเงินเข้ารหัสมากกว่า ๗๐ ล้านคน
สกุลเงินเข้ารหัสยังเกี่ยวพันกับหลายกรณีฉาวที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก เช่นกรณีของบริษัท Mt. Gox แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนบิตคอยน์กับเงินตราสกุลหลักที่ล้มละลายเพราะบิตคอยน์ที่ลูกค้าฝากไว้สูญหายเป็นเงินมูลค่ากว่า ๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทคาดการณ์ว่าน่าจะถูกขโมยโดยผู้ไม่หวังดีที่ใช้ประโยชน์จากความบกพร่องทางเทคนิคของบริษัท

นอกจากนี้ความหวือหวาของสกุลเงินเข้ารหัสยังถูกใช้บังหน้าเพื่อหลอกลวงนักลงทุนที่หวังเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน เช่น กองทรัสต์เพื่อการออมบิตคอยน์ (Bitcoin Savings and Trust) ที่เชิญชวนให้ประชาชนฝากเงินบิตคอยน์เพื่อนำไปลงทุนและสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน ๗ เปอร์เซ็นต์ต่อสัปดาห์ แต่ความจริงแล้วเป็นแชร์ลูกโซ่ที่รอวันพังทลาย รวมถึงวันคอยน์ (OneCoin) สกุลเงินปลอมที่ขายฝันให้สาธารณชนว่าจะมาแทนที่บิตคอยน์ แต่เบื้องหลังคือการฉ้อโกงครั้งมโหฬารที่มีเหยื่อทั่วโลก โดยมีความเสียหายรวมกว่า ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อรัฐเดินหน้า
กำกับดูแล

แม้ว่าสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์จะมีทั้งชื่อเสียงและชื่อเสีย แต่ความโด่งดังก็ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้าไปแสวงโชค สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลแก่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนที่วิ่งเข้าซื้อสกุลเงินเข้ารหัสส่วนใหญ่ทั้งไร้ประสบการณ์และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของสกุลเงินเข้ารหัสที่ราคาขยับขึ้นลงรวดเร็วอย่างน่าใจหาย ทำให้หลายคนสูญเสียเงินเก็บทั้งชีวิตได้ในชั่วข้ามวัน  ในเบื้องต้นรัฐบาลแทบทุกแห่งจึงทำได้เพียงออกประกาศเตือน เพราะยังไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับในการกำกับดูแล

ภาครัฐไทยนับว่ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างเร็วโดยมีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ระบุให้สกุลเงินเข้ารหัสเจ็ดสกุลเงินเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เหรียญเหล่านั้นก็ยังไม่นับเป็นเงินตราตามกฎหมายไทย  นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานของตลาดตัวกลางการซื้อขายเหรียญดิจิทัล และกฎเกณฑ์การระดมทุนผ่านการจำหน่ายเหรียญดิจิทัลเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering หรือ ICO) ซึ่งเคยเป็นที่นิยมอยู่ช่วงหนึ่งในแวดวงธุรกิจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือป้องกันผู้บริโภคโดนมิจฉาชีพหลอกลวง แต่เหรียญส่วนใหญ่ก็ยังเปิดให้ซื้อขายอย่างเสรี
Image
ราวกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นต่อเหรียญดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูง โดยประกาศห้ามซื้อขายเหรียญบางชนิด เช่น มีมโทเคน (Meme Token) หมายถึงเหรียญที่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนโดยราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโซเชียลมีเดีย แฟนโทเคน (Fan Token) หมายถึงเหรียญดิจิทัลที่เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนในสกุลเงินเข้ารหัส โดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้สูงลิ่ว เริ่มจากมีรายได้อย่างน้อย ๑ ล้านบาทต่อปี มีสินทรัพย์สุทธิ ๑๐ ล้านบาทขึ้นไป อีกทั้งยังต้องมีประสบการณ์ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างน้อย ๒ ปี เกณฑ์เหล่านี้มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าต้องการกีดกันเหล่านักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ในทางกลับกันเกณฑ์ดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากีดกันให้การลงทุนสกุลเงินเข้ารหัสเป็นเรื่องเฉพาะของคนรวย

แนวทางการกำกับดูแลสกุลเงินเข้ารหัสของไทยอาจนับได้ว่าไม่รุนแรงมากนักหากเทียบกับอีกหลายประเทศที่ “แบน” การซื้อขายสกุลเงินเข้ารหัสแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น ประเทศจีนซึ่งห้ามซื้อขายบิตคอยน์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ต่อมาจึงห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสทั้งหมด นอกจากนี้บางพื้นที่ในจีนยังมีกฎหมายห้ามขุดเหมืองบิตคอยน์เพราะสิ้นเปลืองพลังงาน  นอกจากจีนแล้วยังมีอีกหลายประเทศ เช่น ตุรกี ไนจีเรีย โบลิเวีย เอกวาดอร์ การ์ตา อียิปต์ ที่มีกฎหมายห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินเข้ารหัส
Image
Image
เหรียญเสถียร
และทองคำ
ของมิลเลนเนียล

ผมจริงจังขึ้นเมื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ว่ามันเชื่อมโยงมาจากรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ถ้าเปิดช่องทางให้รัฐประหารได้ จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดวัฒนธรรมทางอำนาจขึ้นในรัฐไทย และสุ่มเสี่ยงที่ทหารจะใช้กำลังข่มเหงประชาชนในแบบที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น พอเกิดรัฐประหาร ๒๕๔๙ ผมจึงประท้วงทันทีถึงตรงนี้หลายคนอาจสรุปแล้วว่าบิตคอยน์คือสกุลเงินไร้อนาคตที่มีไว้เก็งกำไรเท่านั้น เพราะนอกจากจะมีชื่อเสียจากการใช้ทำธุรกรรมใต้ดินเป็นหลัก ยังดูไม่มีหวังที่จะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่มีเสถียรภาพพอที่จะใช้เป็นหน่วยวัดมูลค่า แถมยังโดนกีดกันไม่ให้ซื้อขายในอีกหลายประเทศ

อย่างไรก็ดีที่ทางของบิตคอยน์ในโลกการเงินสมัยใหม่ไม่ได้อยู่ในฐานะสกุลเงิน แต่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อการลงทุนโดยมีฉายาว่า “ทองคำของเหล่ามิลเลนเนียล” กระทั่งนักการเงินแนวหน้าอย่าง แลร์ รี ฟิงก์ (Larry Fink) ประธานและผู้บริหารแบล็กร็อก (Black Rock) กองทุนที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริการมากที่สุดในโลก ยังสนใจจะลงทุนในบิตคอยน์และเหล่าสกุลเงินเข้ารหัส

ธรรมชาติของบิตคอยน์ที่คล้ายทองคำคือมีปริมาณจำกัดตามที่อัลกอริทึมกำหนด โดยบิตคอยน์เหรียญสุดท้ายจะถูกผลิตในอีกราวทศวรรษหน้า หลังจากนั้นปริมาณบิตคอยน์ที่หมุนเวียนในระบบเท่ากับ ๒๑ ล้านบิตคอยน์ไม่ขาดไม่เกิน นอกจากนี้การถือครองบิตคอยน์ยังไม่สามารถสร้างดอกเบี้ยหรือเงินปันผล คุณลักษณะเหล่านี้ตรงกับทองคำที่มีปริมาณจำกัดและการครอบครองก็ไม่ก่อให้เกิดรายได้เช่นกัน ต่างแค่บิตคอยน์ไม่ต้องเสียเงินค่าเก็บรักษาและดูแลความปลอดภัย แต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าและมีสภาพคล่องต่ำกว่า

แต่ก็ใช่ว่าเหล่าผู้มีความฝันว่าสักวันสกุลเงินเข้ารหัสจะมาแทนที่เงินสกุลหลักจะยอมล้มเลิก สกุลเงินเข้ารหัสอื่นที่ริเริ่มภายหลังจากการถือกำเนิดของบิตคอยน์ได้พยายามแก้ไขจุดอ่อนทั้งความเร็วในการประมวลผลและความผันผวนของราคา โดยมีกระแสหนึ่งที่น่าจับตามองคือเหรียญเสถียร (stablecoin) ซึ่งหมายถึงสกุลเงินเข้ารหัสที่จะคงอัตราแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินในโลกจริงสกุลหนึ่งไว้ในอัตราหนึ่งต่อหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีสกุลเงินดิจิทัลใดที่ประสบความสำเร็จในทางทฤษฎีเหรียญเสถียรจะเกิดขึ้นได้จากสองแนวทาง หนึ่งคือการใช้อัลกอริทึมกำกับดูแลเพื่อจำกัดปริมาณอุปทานเหรียญที่หมุนเวียนในระบบ หากราคาต่ำเกินไปก็เข้าซื้อเพื่อผลักให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่หากราคาสูงเกินไปก็เทขายเพื่อลดความร้อนแรงของตลาด แนวทางที่ ๒ คือการตั้งหน่วยงานกลางเพื่อจัดเก็บสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ทองคำหรือเงินสกุลหลักของโลกสำหรับหนุน “เหรียญ” ที่ผลิตเข้าสู่ระบบ  แนวคิดดังกล่าวคล้ายกับการตั้งทุนสำรองเงินตราของธนาคารกลางต่างกันเพียงว่าสกุลเงินเข้ารหัสนั้นไม่จำเป็นต้องออกโดยรัฐบาล
Image
แนวคิดที่ดูเป็นไปได้มากที่สุดคือแนวคิดที่ ๒ ซึ่งสมาคมเดียม (Diem Association) พยายามผลักดันให้เป็นความจริง

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อกับสมาคมเดียม แต่หากบอกว่านี่คือกลุ่มใหม่ที่สืบทอดเจตนารมณ์เดิมของสมาคมลิบรา (Libra Association) มีแกนนำหลักคือเฟซบุ๊กที่ร่วมมือกับ ๒๗ องค์กรชั้นนำด้านการเงินและธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น วีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Master Card) และอีเบย์ (eBay) เพื่อสร้างเหรียญเสถียรเหรียญแรกที่ใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อปี ๒๕๖๒ แต่โครงการกลับต้องเจอทางตันเมื่อเหล่าหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกต่างส่งเสียงคัดค้าน โดยมีข้อกังวลหลักคือศักยภาพของเฟซบุ๊กในการทำตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว รวมทั้งเกรงว่าสกุลเงินลิบราจะสั่นคลอนเสถียรภาพในโลกการเงินด้วยจำนวนของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเกือบสองเท่าของประชากรจีน

สุดท้ายสมาคมลิบราจึงเลือกถอยมาตั้งหลัก ปรับลดขนาดและปรับเปลี่ยนอัลกอริทึม พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมเดียม หลงเหลือผู้ร่วมอุดมการณ์แรกเริ่มอยู่ไม่กี่ราย โดยมีเป้าหมายเดิมคือการสร้างเหรียญเสถียร แต่จะเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากในสหรัฐอเมริกาแทนที่จะเป็นทั่วโลก และคาดว่าจะเริ่มทดลองระบบได้ภายในปี ๒๕๖๔

สำหรับเทคโนโลยีที่อายุเพิ่งครบทศวรรษไม่นาน สกุลเงินเข้ารหัสเขย่าวิธีคิดและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีมายาวนานกว่าศตวรรษ ถึงแม้จะเป็นไปได้น้อยมากที่บิตคอยน์จะมาทดแทนสกุลเงินหลักที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ แต่สกุลเงินเข้ารหัสก็เปิดขอบฟ้าความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เราเคยคิดว่าอาจเกิดขึ้นได้จริงแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์ 
มากกว่าเงินตราคือ
นวัตกรรมความเชื่อใจ

น่าเสียดายที่ความหวือหวาในการแสวงหากำไรจากสกุลเงินเข้ารหัสซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความเป็นไปได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชนกลับบดบังศักยภาพของ “นวัตกรรมความเชื่อใจ” ที่ประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย

ความเชื่อใจมีหน้าที่สำคัญคือช่วยหล่อเลี้ยงให้การทำธุรกรรมลื่นไหล แต่ก็มีข้อจำกัดสำคัญคือความเชื่อใจนั้นส่งต่อผ่านกันไม่ได้ หากผมเชื่อใจคุณ และคุณเชื่อใจบริษัท ส. นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะเชื่อใจบริษัท ส.  ความเชื่อใจระหว่างผมกับบริษัท ส. จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่  ยิ่งจำนวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากเท่าไรความซับซ้อนก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะการสร้างความเชื่อใจต้องเกิดขึ้นแบบหนึ่งต่อหนึ่งนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพและต้นทุนการทำธุรกรรมสูงลิ่ว
เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ติดจำนองซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งธนาคาร บริษัทประกัน รวมถึงภาครัฐ โดยแต่ละฝ่ายต่างต้องการข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน แต่ปัญหาคือฐานข้อมูลของแต่ละฝ่ายไม่เชื่อมโยงกัน เช่น หากมีการจดแจ้งซื้อขายสินทรัพย์ที่กรมที่ดิน ข้อมูลอาจไม่ได้อัปเดตในระบบของธนาคาร บริษัทประกัน และองค์กรจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ทุกฝ่ายต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาเพื่อเปรียบเทียบและตกลงว่าข้อมูลใดเป็นปัจจุบันที่สุด รวมถึงเสี่ยงเกิดความผิดพลาดอีกด้วย

ระบบกระจายบัญชีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่แต่ละฝ่าย โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนมองเห็น “ความจริงร่วม” ซึ่งเป็นปัจจุบันจากบัญชีเพียงหนึ่งเดียวที่ทุกคนมีอยู่ในมือโดยไม่ต้องเสียเวลาเปรียบเทียบข้อมูลของทุกฝั่งเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องตรงกัน เทคโนโลยีดังกล่าวจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาประยุกต์กับธุรกรรมหรือระบบที่ซับซ้อนและมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม 
การเงิน
แบบกระจายศูนย์

สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) คือแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนที่ผนวกข้อผูกมัดในสัญญากับการทำธุรกรรมให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันและจะดำเนินการตามลำดับขั้นโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่างเช่น ถ้าผมต้องการทำสัญญากู้ยืมเงินจากบริษัทปล่อยสินเชื่อบนบล็อกเชน ในสัญญาอัจฉริยะจะระบุไว้ว่าเมื่อใดก็ตามที่โอนหลักทรัพย์ค้ำประกันสำเร็จ อัลกอริทึมก็จะจัดการโอนเงินสินเชื่อเข้าสู่บัญชีของผมโดยไม่ต้องมีตัวกลางหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ต่างจากการทำสัญญาทั่วไปที่นอกจากจะต้องเซ็นสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารแล้ว ยังต้องทำธุรกรรมโอนสินทรัพย์ แล้วจึงนำหลักฐานมายืนยันกับธนาคารเพื่อรอตรวจสอบและอนุมัติ ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันกว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น
Image
สัญญาอัจฉริยะเหมาะอย่างยิ่งในบริบทแวดล้อมที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและต่างฝ่ายต่างยังไม่เชื่อใจกัน เช่น การค้าระหว่างประเทศที่ฝั่งผู้ซื้อก็กลัวส่งของแล้วจะไม่ได้เงิน ส่วนฝั่งผู้ขายก็กลัวจ่ายเงินแล้วไม่ได้ของหรือของที่ได้มาไม่เป็นไปตามที่สั่ง สุดท้ายกลายเป็นปัญหาคาราคาซังทำให้เสียทั้งต้นทุนและเวลามหาศาล  กระบวนการจดจำนองที่เชื่องช้าล้าสมัยและเต็มไปด้วยงานเอกสาร  หรือกระทั่งในแวดวงการแพทย์ที่ประยุกต์สัญญาอัจฉริยะเพื่อเปิดเผย จำกัด หรือแบ่งปันประวัติการรักษาแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับที่เหมาะสมและไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย

ตัวอย่างของสัญญาอัจฉริยะซึ่งกำลังได้รับความสนใจมากในแวดวงนักลงทุนไทยคือ “การเงินแบบกระจายศูนย์” (Decentralized Finance หรือ DeFi) ที่เปิดให้ผู้ใช้ฝากสกุลเงินเข้ารหัสเพื่อรับผลตอบแทนได้ในอัตราสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร โดยที่เงินดังกล่าวจะถูกนำไปปล่อยเป็นสินเชื่อผ่านกลไกสัญญาอัจฉริยะ ในขณะเดียวกันระบบก็จะจัดเก็บสินทรัพย์ค้ำประกันไว้และพร้อมจะยึดเพื่อนำมาขายทันทีหากผู้กู้ทำผิดเงื่อนไข ปลายทางของ DeFi คือพัฒนาระบบให้ทำได้ทุกอย่างเสมือนบริการของธนาคาร เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางอีกต่อไป

อย่างไรก็ดีสัญญาอัจฉริยะก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะแพลตฟอร์มนี้ไม่มีการข้องเกี่ยวของมนุษย์ในกระบวนการทำให้ขาดความยืดหยุ่นและไม่สอดรับกับความซับซ้อนในบางภาคธุรกิจ  นอกจากนี้สัญญาอัจฉริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสินทรัพย์ทั้งหมดเปลี่ยนมือกันได้บนโลกดิจิทัลโดยยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับธุรกรรมบนโลกออฟไลน์อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก
ภาพ Everydays : The First 5000 Days ของ “Beeple”
ไฟล์ JPG 
ราคา ๖๙ ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ

คงมีไม่กี่คนที่เชื่อว่ามีมนุษย์สติดียอมควักเงิน ๖๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อกรรมสิทธิ์ไฟล์รูป JPG ที่ใคร ๆ ก็ดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่องได้ แต่การซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้นจริงโดยใช้นวัตกรรมจากเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ชื่อว่า “เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้” (Non-Fungible Tokens) หรือ NFT ที่ใกล้เคียงกับแนวคิดกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อแตกต่างระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินทรัพย์ในโลกออฟไลน์คือความสามารถในการผลิตซ้ำโดยที่คุณภาพยังคงเดิม บนโลกออนไลน์ เราดาวน์-โหลดรูปทานตะวันโดยศิลปินเอกอย่าง วินเซนต์ แวน โกะห์ (Vincent van Gogh) ได้มากเท่าที่ใจต้องการ โดยที่คุณภาพไม่ต่างจากไฟล์ต้นทางและไม่ทำให้ไฟล์เดิมสูญหายแต่อย่างใด ส่วนในโลกออฟไลน์ หากเราต้องการชมภาพดังกล่าวก็ต้องจองตั๋วเครื่องบินไปต่างแดน เสียเงินหลายหมื่นเพื่อได้ชมภาพแบบไกล ๆ และการครอบครองคงเป็นไปได้แค่ในฝัน อย่างมากก็ต้องควักกระเป๋าสตางค์ซื้อภาพเลียนแบบซึ่งไม่อาจถ่ายทอดอารมณ์ผ่านฝีแปรงได้เหมือนกับภาพจริง

เมื่อศิลปะในรูปแบบไฟล์สามารถทำซ้ำได้แบบไร้ข้อจำกัด ศิลปินที่ผลิตผลงานดิจิทัลเป็นหลักจึงทำไปเพื่อความสนุกส่วนตัว ไม่ได้คาดหวังว่าวันหนึ่งผลงานที่สร้างสรรค์จะกลายเป็นงานศิลปะมูลค่ามหาศาล กระทั่งการถือกำเนิดของ NFT

ไฟล์ดิจิทัลหนึ่งผลงาน ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ เพลง วิดีโอ หรือกระทั่งโพสต์บนโซเชียลมีเดีย สามารถนำมาสร้าง NFT ๑ เหรียญเพื่อเป็นตัวแทนกรรมสิทธิ์ของผลงานชิ้นดังกล่าว คล้ายกับโฉนดที่ดิน ซึ่งแต่ละฉบับระบุอย่างชัดเจนทั้งรายละเอียดสินทรัพย์และตัวตนของผู้เป็นเจ้าของ เหรียญ NFT จึงสามารถอ้างความเป็นเจ้าของผลงานดิจิทัลดังกล่าวได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ในขณะเดียวกันคนอื่น ๆ ก็ยังดาวน์โหลดไฟล์ไปเชยชมได้เช่นเดิม
scrollable-image
https://connect.comptia.org/content/research/harnessing-the-blockchain-revolution-comptia-s-practical-guide-for-the-public-sector
เหรียญ NFT เป็นที่สนใจมากขึ้นหลังจากที่ผลงานศิลปะดิจิทัล ทุกวัน :๕,๐๐๐ วันแรก (Everydays : The First 5000 Days) โดย “Beeple” ศิลปินผู้มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ ถูกจำหน่ายผ่านการประมูลด้วยมูลค่าสูงถึง ๖๙.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้การจัดการของคริสตี’ส (Christie's) โรงประมูลศิลปะเก่าแก่ของอังกฤษ งานชิ้นนี้เป็นศิลปะสไตล์คอลลาจที่ประกอบด้วยภาพ ๕,๐๐๐ ภาพซึ่งศิลปินโพสต์เผยแพร่ต่อเนื่องเป็นเวลา ๕,๐๐๐ วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยไม่ขาดตกบกพร่องสักวันเดียว

ปัจจุบันตลาด NFT มีการซื้อขายคึกคักผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างตบเท้าเข้ามาลองตลาด ไม่ว่าจะเป็นมีมเก่าแก่อย่างเด็กหญิงหายนะ (Disaster Girls) ซึ่งเป็นรูปเด็กสาวยิ้มกริ่มหน้าบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ ที่ขายไปในราคา ๕ แสนดอลลาร์สหรัฐหรือแม้แต่ทวีตครั้งแรกของแพลตฟอร์มโดย แจ็ก ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ ได้รับการประมูลไปในราคา ๒.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คนจำนวนไม่น้อยมองเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราว บางคนโจมตีว่าการซื้อเหรียญ NFT เป็นเรื่องงี่เง่าเพราะคงไม่มีมนุษย์สติดีคนไหนยอมจ่ายเงินให้สิ่งที่หาฟังหรือหาดูบนอินเทอร์เน็ตได้แบบไม่เสียสตางค์

อย่างไรก็ดีเหรียญ NFT สอดคล้องกับวัฒนธรรมการสะสมสิ่งของสำหรับผู้คลั่งไคล้ในผลงานหรือศิลปิน โดยเศรษฐีเหล่านี้พร้อมควักกระเป๋าไม่อั้นเพื่อซื้อผลงานที่ตนเองรัก ไม่ว่าจะเป็นการ์ดสะสมหายาก ตัวการ์ตูนจำลองที่ผลิตจำกัด หนังสือคลาสสิกฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นผู้เขียน และอื่น ๆ อีกมากมาย  เหรียญ NFT จึงเปิดโอกาสให้แฟน ๆ “ครอบครอง” ผลงานดิจิทัลเป็นครั้งแรก และยังเป็นการสนับสนุนศิลปินด้วย

นอกจากนี้ชื่อของผู้ถือครองผลงานศิลปะดิจิทัลแต่ละชิ้นจะเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งสร้างความสุขสำหรับคนบางกลุ่มที่ต้องการมีสถานะทางสังคมเป็นผู้อุปการะศิลปิน ไม่ต่างจากการมีชื่อเป็นเจ้าของผู้ใจกว้างที่ให้พิพิธภัณฑ์หยิบยืมผลงานศิลปะชิ้นเอกเพื่อนำมาจัดแสดงต่อสาธารณชน

ทั้งสองตัวอย่างเป็นเพียงหยิบมือของศักยภาพจากบล็อกเชนนวัตกรรมที่อาจทำให้บุคคลที่ ๓ ซึ่งได้รับความไว้วางใจกลายเป็นส่วนเกินในการทำธุรกรรม  แต่กว่าวันนั้นจะมาถึง เราอาจต้องลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อวันหนึ่งเราจะเชื่อใจระบบได้ไม่ต่างจากที่เชื่อใจ “ตัวกลาง” ในปัจจุบัน
Image
โลกใบใหม่ 
สู่อนาคตที่ไร้
“ตัวกลาง”

นับตั้งแต่เอกสาร “บิตคอยน์ : ระบบเงินตราอิเล็กทรอนิกแบบเพียร์ทูเพียร์” โดย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ บิตคอยน์และบล็อกเชนเริ่มเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงในวงกว้าง เกิดโครงการมากมายที่ประกาศกร้าวว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในภาครัฐและภาคธุรกิจโดยการตัดบุคคลที่ ๓ ซึ่งได้รับความไว้วางใจหรือ “ตัวกลาง” ออกจากระบบ

เหล่าสตาร์ตอัปที่หวังเปลี่ยนแปลงโลกจากหน้ามือเป็นหลังมืออาจต้องผิดหวัง เพราะโลกไม่ได้ถือกำเนิดเมื่อวานและการก้าวไปข้างหน้าก็ต้องไม่ลืมโครงสร้างพื้นฐานที่ตกทอดกันมาหลายศตวรรษ เทคโนโลยีใหม่จึงไม่อาจพลิกโลกในชั่วข้ามวัน แต่การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไปผ่านการต่อยอดและร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มเก่าและใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น

ในมุมมองของผม บล็อกเชนเป็นเพียงนวัตกรรมตั้งต้นที่บอกว่าโลกยังหมุนไปข้างหน้าได้แม้ว่าจะไม่มีตัวกลาง คล้ายกับการประดิษฐ์โทรศัพท์ของ อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ที่เสมือนป่าวประกาศว่าเราสามารถติดต่อกันได้แม้ว่าจะไม่เห็นหน้า

เทคโนโลยีดังกล่าวย่อมไม่ใช่คำตอบสุดท้าย บล็อกเชนยังต้องมีการวิจัยและพัฒนาอีกมากก่อนจะทำหน้าที่ทดแทนตัวกลางในการทำธุรกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ส่วนหน้าตาของนวัตกรรม

ในอนาคตจะเป็นเช่นไรก็สุดคาดเดา ไม่ต่างจากคนในศตวรรษก่อนที่คงนึกภาพไม่ออกว่าการสื่อสารทางไกลที่เคยเทอะทะ ยุ่งยาก ราคาแพง จะย่นย่อเหลือเพียงสมาร์ตโฟนเครื่องสี่เหลี่ยมบางเบาที่ทุกคนพกพาได้และมีจำหน่ายในราคาที่เอื้อมถึง

รอย อมรา (Roy Amara) นักอนาคตศาสตร์ระดับตำนานผู้ล่วงลับ ทิ้งวาทะอมตะซึ่งต่อมาถูกเรียกขานว่ากฎของอมรา (Amra’s Law) ว่า “เรามักประเมินผลกระทบจากเทคโนโลยีในระยะสั้นสูงเกินไป แต่ประเมินผลกระทบในระยะยาวต่ำเกินไป”

บล็อกเชนก็หนีไม่พ้นกฎของอมราและกำลังเผชิญความคาดหวังสูงลิ่วจากสาธารณชน แต่กว่าที่นวัตกรรมดังกล่าวจะมีเสถียรภาพและแสดงศักยภาพเต็มที่ก็อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ กระนั้นบล็อกเชนและระบบกระจายบัญชีก็ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ  ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าบล็อกเชนมีศักยภาพเปลี่ยนโลกเทียบเท่ากับอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีฐานราก
แม้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อาจไม่เกิดในช่วงเวลาที่เรายังมีลมหายใจ แต่บล็อกเชนก็เปิดประตูสู่โลกยุคใหม่ซึ่ง “ตัวกลาง” สามารถถูกทดแทนนวัตกรรมความเชื่อใจกระจายศูนย์ที่ปลอดภัยและไม่มีใครมีอำนาจเหนือระบบ
Bitcoin : 
Heads or Tails ?

Image
๑/ บิตคอยน์จะถูกแฮกได้อย่างไร
การโจมตีระบบของสกุลเงินเข้ารหัสนับเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจุดอ่อนสำคัญที่สุดของระบบกระจายศูนย์คือการยึดครองระบบด้วยกำลังประมวลผลที่มากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่าการจู่โจม ๕๑ เปอร์เซ็นต์ (51% Attack)

อัลกอริทึมของบล็อกเชนจะใช้ระบบคล้ายการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ทุก ๆ การประมวลผลธุรกรรมแต่ละบล็อก หน่วยประมวลผลทั้งหมดในระบบจะร่วมลงคะแนนเสียงว่ารายละเอียดธุรกรรมที่กำลังจะนำไปสร้างเป็นบล็อกนั้นถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากกำลังประมวลผลเกินกว่าครึ่งหนึ่งเห็นชอบ บล็อกดังกล่าวก็จะถูกสร้างและนำไปต่อกับห่วงโซ่หลัก นั่นหมายความว่าถ้ามีคนระดมกำลังประมวลผลอย่างน้อย ๕๑ เปอร์เซ็นต์ของที่มีทั้งหมดในระบบโดยการครอบครองเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ หรือเฟ้นหาแนวร่วมและเงินทุนได้มากพอ เขาหรือเธอก็จะสามารถเขียน “ความจริง” ตามใจชอบในการทำธุรกรรมครั้งต่อ ๆ ไป


ความปลอดภัยของสกุลเงินเข้ารหัสจึงขึ้นอยู่กับความนิยมและมูลค่าของเงินสกุล
ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่สกุลเงินเสื่อมความนิยมหรือมีมูลค่าต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แรงจูงใจที่เหล่านักขุดเหมืองจะทุ่มเททรัพยากรเพื่อประมวลผลให้ก็จะต่ำลง ทำให้การจู่โจม ๕๑ เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
Image
๒/ ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของบิตคอยน์
สกุลเงินเข้ารหัสมีต้นทุนแฝงที่หลายคนอาจมองข้ามคือการใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลที่ใช้ในการระดมกำลังประมวลผลในระบบเพื่อยืนยันและเข้ารหัสธุรกรรมหรือการขุดเหมือง (mining)  มีการศึกษาพบว่าบิตคอยน์เพียงสกุลเงินเดียวอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับประเทศนิวซีแลนด์หรืออาร์เจนตินา โดยหนึ่งธุรกรรมบิตคอยน์จะมีรอยเท้าคาร์บอนเทียบเท่ากับการทำธุรกรรมโดยวีซ่า ๗๓๕,๑๒๑ ครั้ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาของบิตคอยน์ที่พุ่งสูงสร้างแรงจูงใจให้มีนักขุดเหมืองหน้าใหม่เข้ามาแสวงโชค

อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการประมาณการที่สูงเกินจริง นอกจากนี้
ในปัจจุบันยังมีทางเลือกอย่างพลังงานหมุนเวียนซึ่งผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อขุดเหมืองเช่นกัน
Image
๓/ เงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง
หลังเกิดกระแสสกุลเงินเข้ารหัส ธนาคารกลางทั่วโลกก็ไม่ได้นิ่งเฉย หลายแห่งพัฒนาสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) เพื่อใช้เป็นเงินจริง ๆ ในโลกออนไลน์ นับเป็นคู่แข่งสำคัญของสกุลเงินเข้ารหัสที่ไม่มีตัวกลางซึ่งหลายคนคาดไม่ถึง

หนึ่งในประเทศผู้นำเทรนด์ CBDC คือประเทศจีน
มีประชากรราว ๑ แสนคนได้รับสิทธิ์ทดลองใช้ระบบหยวนดิจิทัล (e-yuan) ขณะที่สหภาพยุโรปคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวยูโรดิจิทัลภายในปี ๒๕๖๘ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่กำลังตั้งทีมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้  ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าดำเนิน “โครงการอินทนนท์” ทดสอบเทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ โดยคาดว่าจะริเริ่มโครงการนำร่องภายในไตรมาส ๒ ปี ๒๕๖๔  
BLOCKCHAIN 
APPLICATION
Image
BURSTIQ 
ใช้บล็อกเชนบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น การส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษาคนไข้ให้แพทย์โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว สัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชนกำหนดได้ว่าใครจะเข้าถึงข้อมูลมากน้อยแค่ไหน รวมถึงแสดงรายละเอียดแผนการรักษาเฉพาะบุคคลได้อีกด้วย
Image
MEDIACHAIN
Mediachain ใช้สัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชนซึ่งโปร่งใสและประมวลผลแบบกระจายศูนย์ เพื่อให้ศิลปินได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น รวมทั้งได้รับเงินเต็มจำนวนและตรงเวลา ปัจจุบัน Mediachain เป็นบริษัทลูกของ Spotify
Image
HYPR
HYPR แก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ด้วยการใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบกระจายศูนย์สำหรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บพาสเวิร์ดที่ส่วนกลาง แต่ฝากไว้บนระบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูงกว่า
Image
ILLINOIS BLOCKCHAIN 
INITIATIVE

Illinois Blockchain Initiative (IBI) คือโครงการริเริ่มของรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายใช้บล็อกเชนเพิ่มความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูล เช่น สูติบัตร มรณบัตร การลงทะเบียนสิทธิเลือกตั้ง รหัสประจำตัวประชาชน ฯลฯ
Image
TRADELENS
TradeLens คือโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท IBM และ Maersk ใช้บล็อกเชนลดปัญหาความยุ่งยากของเอกสารจำนวนมากในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการส่งสินค้าได้รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการส่งสินค้าได้ทันที
Image
VOATZ
แอปพลิเคชันลงคะแนนบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเข้ารหัสโดยไบโอเมตริกซ์ทำให้ผู้ใช้งานลงคะแนนได้อย่างปลอดภัยจากที่ไหนก็ได้บนโลก โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแฮกหรือข้อมูลถูกแก้ไข  
เอกสารประกอบการเขียน
Schär, F., & Berentsen, A. (2020). Bitcoin,blockchain, and cryptoassets : a comprehensive introduction. Cambridge, Massachusetts : MIT Press.

Tapscott, D., & Tapscott, A. (2016). 
Blockchain Revolution : How the Technology Behind Bitcoin Is Changing Money, Business, and the World.

Werbach, K. (2018). The blockchain
and the new architecture of trustCambridge, MA : MIT Press. 

Is the financial establishment coming
round to bitcoin ? (2021, Janary 7). Retrieved from The Economist : https://www.economist.com/finance-and-economics/2021/01/07/is-the-financial-establishment-coming-round-to-bitcoin

MIT Technology Review Editors. (2018,
April 23). Explainer : What is a blockchain ? Retrieved from MIT Technology Review : https://www.technologyreview.com/2018/04/23/143477/explainer-what-is-a-blockchain/

Tabuchi, H. (2021, April 25). In Coin-
base’s Rise, a Reminder : Crypto-currencies Use Lots of Energy. Re-trieved from The New York Times : https://www.nytimes.com/2021/04/14/climate/coinbase-cryptocurrency-energy.html

The Blockchain Industry Ecosystem.
(2020, May 8). Retrieved from MIT Horizon : https://horizonapp.mit.edu/article/blockchain-industry-ecosystem

The trust machine. (2015, October 31).
Retrieved from The Economist : https://www.economist.com/leaders/2015/10/31/the-trust-machine

Wu, W. (2018). Why Bitcoin Is Not a
Viable Currency Option. Retrieved from Knowledge@Wharton : https://kw.wharton.upenn.edu/kwfellows/files/2018/06/2018-08-30-Bitcoin-Student-Series.pdf