Image
Quantum Technology
จากแมวสุดพิศวง…
สู่เทคโนโลยีควอนตัม EP.01
scoop
เรื่อง : บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
ในบรรดา deep tech ต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นร้อนแรงในปัจจุบัน หลายอย่างใช้งานแล้ว เช่น ปัญญาประดิษฐ์ในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ และบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังคริปโตเคอเรนซี  แต่ที่ดูไกลตัวสักหน่อยคือการคำนวณเชิงควอนตัมหรือพูดถึงตัวฮาร์ดแวร์ก็คือ ควอนตัมคอมพิวเตอร์
การคำนวณเชิงควอนตัมเป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีควอนตัมซึ่งเกิดขึ้นได้เนื่องจากมนุษย์มีความรู้ที่ลึกซึ้งมากเพียงพอจะอธิบายว่าองค์ประกอบของสสารทำงานอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับแสงอย่างไร  ที่สำคัญคือสามารถประยุกต์หลักการและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไปใช้ออกแบบอุปกรณ์  

ความรู้ดังกล่าวเรียกว่ากลศาสตร์
ควอนตัม (Quantum Mechanics) ซึ่งถือกันว่าเป็นทฤษฎีทางกายภาพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทฤษฎีหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ และมีบทบาทสำคัญในวิทยาการสาขาอื่น ๆ เช่น เคมี ชีววิทยาฟิสิกส์ของนิวเคลียส ฟิสิกส์ของอะตอมอุณหภูมิต่ำ ฟิสิกส์ของอนุภาค และจักรวาลวิทยา รวมทั้งการตีความทางปรัชญา

แต่แง่มุมที่น่าพิศวงก็คือ หลักการและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในกลศาสตร์
ควอนตัมล้วนแต่ขัดกับสามัญสำนึกอย่างเหลือเชื่อเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าถ้าคุณผู้อ่านเป็นอนุภาคควอนตัม คุณจะสามารถอยู่ในสถานที่สองแห่งได้พร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกัน ! เคลื่อนที่ฝ่ากำแพงที่เกินกว่าศักยภาพหรือพลังงานที่คุณมีอยู่ !

หรือถ้าคุณเกิดการพัวพันกับเพื่อนที่เป็นอนุภาคควอนตัม จะพบว่าแม้คุณสองคนจะอยู่ห่างไกลกันคนละกาแล็กซี แต่อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณก็จะทำให้เพื่อนของคุณรับรู้ได้ในทันที (ไม่ใช้เวลาแม้แต่น้อย !) 
นักฟิสิกส์คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้ จนกระทั่งค้นพบกฎที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์มานานหลายสิบปีแล้ว เรียกความเข้าใจนี้ว่าการปฏิวัติทางควอนตัมครั้งที่ ๑ และนำความรู้เหล่านี้ไปประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่าเทคโนโลยีควอนตัม ๑.๐ ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๒๐ จนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มใหญ่เรื่องหนึ่งคือ วิศวกรต้องการย่อขนาดสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีให้เล็กลงไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งหลักการและกฎเกณฑ์ในกลศาสตร์ควอนตัมจึงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่ากลศาสตร์ควอนตัมเปิดโอกาสให้เรายกระดับสมรรถนะของสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จนถึงระดับที่ธรรมชาติยอมให้มีได้ และนี่คือกำเนิดของเทคโนโลยีควอนตัม ๒.๐ ซึ่งนักฟิสิกส์และวิศวกรนักประดิษฐ์สามารถควบคุมและใช้งานกฎเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัมในการออกแบบและสร้างอุปกรณ์สุดแสนไฮเทคแต่ก่อนที่ผมจะพาคุณผู้อ่านท่องโลกเทคโนโลยี เราควรจะเข้าใจเบื้องหลังที่มาของกลศาสตร์ควอนตัมเท่าที่จำเป็นเสียก่อน

หมายเหตุ 
บทความนี้ใช้เลขอารบิกสำหรับหน่วยทางควอนตัม เคมี และคอมพิวเตอร์ ใช้เลขไทยสำหรับการแสดงปีและจำนวนทั่วไป

Max Planck
ประวัติย่อของ “ควอนตัม”
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักฟิสิกส์รู้สึกฉงนกับปรากฏการณ์หลายอย่างที่ไม่สามารถอธิบายด้วยฟิสิกส์ที่มีอยู่ในขณะนั้น (classicalphysics) เช่น ในเมื่อเชื่อว่าแสงเป็นคลื่น ก็ย่อมน่าจะมีตัวกลาง แต่เมื่อหาเท่าไรก็ไม่พบตัวกลางนั้น ประกอบกับทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของแมกซ์เวลล์ทำนายว่าแสงมีความเร็วคงที่ ปมปัญหานี้ทำให้นักฟิสิกส์หลายคนพยายามเสนอคำอธิบาย แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นคนแรกที่เข้าใจอย่างถูกต้อง อันนำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษในค.ศ. ๑๙๐๕ และต่อมาขยายผลเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความโน้มถ่วง คือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๑๕

ทฤษฎีสัมพัทธภาพนับเป็นการปฏิวัติทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของฟิสิกส์ขณะนั้น !

อีกการปฏิวัติหนึ่งเริ่มต้นมาจากปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่าฉงน เช่น เหตุใดเมื่อฉายแสงไปที่ก๊าซแล้วก๊าซจึงดูดกลืนหรือปลดปล่อยคลื่นแสงออกมาเฉพาะบางความยาวคลื่นเท่านั้น ?  เหตุใดอิเล็กตรอน (ซึ่งมีประจุลบ) จึงไม่สูญเสียพลังงานขณะเคลื่อนที่ไปรอบนิวเคลียส และถูกนิวเคลียส (ซึ่งมีประจุบวก) ดูดเข้าไป ?  ในปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (photoelectric effect) เมื่อฉายแสงลงบนโลหะ เหตุใดโลหะจึงปลดปล่อยอิเล็กตรอนออกมาเมื่อแสงมีความถี่สูงเกินค่าหนึ่งเท่านั้น ? ฯลฯ

ช่วงเวลานานถึง ๒๕ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๐ ถึง ๑๙๒๔ นักฟิสิกส์พยายามเสนอคำอธิบายปริศนาต่าง ๆ ที่ว่ามา

จนมาถึงการค้นพบโลกควอนตัม ซึ่งเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้ค้นพบเรียกว่า “การกระทำด้วยความสิ้นหวัง” (an act of desperation) คือใน ค.ศ. ๑๙๐๐ มัคส์ พลังค์ (Max Planck) “จำใจต้อง” อธิบายการแผ่รังสีของวัตถุดำโดยสมมุติว่าวัตถุสามารถดูดกลืนและปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาได้เฉพาะความถี่ (หรือพลังงาน) บางค่าเท่านั้น พลังค์เรียกลักษณะที่ธรรมชาติมีได้เฉพาะบางค่าว่าควอนตัม (quantum)

คำว่า quantum มาจากคำในภาษาละตินว่า quantus แปลว่ามีมากแค่ไหน มีรูปพหูพจน์คือ quanta (ควอนตา) ต่อมาเกิดคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องขึ้นเช่น หากปริมาณบางอย่างมีได้เฉพาะบางค่า ก็จะเรียกว่าปริมาณดังกล่าวถูก “ควอนไทซ์” (quantized) หรื อการทำให้อะไรสักอย่างมีได้เฉพาะบางค่าก็เรียก “ควอนไทเซชัน” (quantization)

อีก ๕ ปีต่อมา คือ ค.ศ. ๑๙๐๕ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกโดยใช้สมมุติฐานว่าแสงเป็นอนุภาค แต่ละอนุภาคมีพลังงานขึ้นกับความถี่ของแสง ภายหลังอนุภาคของแสงเรียกว่าโฟตอน (photon) 
Image
ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก
ใน ค.ศ. 1913 นีลส์ โบร์ (Niels Bohr) เสนอแบบจำลองสำหรับอะตอมไฮโดรเจน โดยมีข้อกำหนดสาคัญคืออิเล็กตรอนที่วิ่งวนอยู่รอบนิวเคลียสสามารถอยู่ในวงโคจรได้เฉพาะบางวงโคจร และมีโมเมนตัมเชิงมุมได้เฉพาะบางค่าเท่านั้น

อย่างไรก็ดีกว่านักฟิสิกส์จะหมดข้อกังขาว่าคลื่นแสง (และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ทำตัวเป็นอนุภาคได้จริงก็ต้องรอจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อ อาร์เทอร์ ฮอลลี  คอมป์ตัน (Arthur Holly Compton) อธิบายปรากฏการณ์เมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตกกระทบอิเล็กตรอนในอะตอมแล้วทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมา และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็จะมีทิศทางและความยาวคลื่นเปลี่ยนไป  คอมป์-ตันใช้แบบจำลองว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำตัวเป็นอนุภาควิ่งเข้าชนอิเล็กตรอน (ลองนึกถึงการเล่นสนุกเกอร์) โดยมีการอนุรักษ์พลังงานและโมเมนตัม

อีกหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของทฤษฎีควอนตัมเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เมื่อ ลูย เดอ บรอย (Louis de Broglie) เสนอแนวคิดในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกว่า หากคลื่นแสงสามารถแสดงสมบัติของอนุภาคได้ อนุภาคก็น่าจะแสดงสมบัติของคลื่นได้เช่นกัน เขายังเสนอด้วยว่าความเป็นคลื่นของอนุภาค เช่น อิเล็กตรอน อาจสังเกตได้จากการเลี้ยวเบน (diffraction) เมื่ออิเล็กตรอนตกกระทบผลึกวัสดุ 
Image
สมบัติของคลื่น
อย่างไรก็ดีแม้ว่าทฤษฎีต่าง ๆ ที่เล่ามานี้ใช้อธิบายแต่ละปรากฏการณ์ได้ แต่นักฟิสิกส์ก็ยังคงขัดข้องใจ เนื่องจากแต่ละทฤษฎีเกิดจากการ “แปะ” แนวคิดทางควอนตัมเข้าไปแบบเฉพาะกิจเป็นกรณี ๆ ไป ทฤษฎีเหล่านี้ต่อมาถูกเรียกแบบเหมารวมว่าทฤษฎีควอนตัมยุคเก่า (The Old Quantum Theory)

ในที่สุดก็เกิดก้าวกระโดดครั้งประวัติศาสตร์ในเวลาไม่ถึง ๑ ปี นับจากเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๗  คือการกำเนิดทฤษฎีควอนตัมที่นักฟิสิกส์ปรารถนาถึงสามรูปแบบด้วยกัน !  

รูปแบบแรกคือ กลศาสตร์เมทริกซ์ (Matrix Mechanics) โดย แวร์เนอร์ ไฮเซินแบร์ค (Werner Heisenberg) ชาวเยอรมัน รูปแบบที่ ๒ คือพีชคณิตควอนตัม (Quantum Algebra) หรือพีชคณิตเลขคิว (q-number Algebra) จากมันสมองของ พอล ดิแร็ก (Paul Dirac) ชาวอังกฤษ และรูปแบบที่ ๓ คือกลศาสตร์คลื่น (Wave Mechanics) จากฝีมือของ แอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ (Erwin SchrÖdinger) ชาวออสเตรีย 

ในบรรดากลศาสตร์ควอนตัมทั้งสามรูปแบบ ปรากฏว่ากลศาสตร์คลื่นของชเรอดิงเงอร์โดนใจนักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ โดยพฤติกรรมของอนุภาคหรือระบบทางควอนตัมจะอธิบายด้วยสมการคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า “สมการคลื่น”  ในสมการคลื่นมีฟังก์ชันคลื่น (wave function) ซึ่งบรรจุข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับอนุภาคหรือระบบที่กล่าวถึง
สำหรับอนุภาค ความน่าจะเป็นที่จะพบอนุภาคที่ตำแหน่งหนึ่ง ๆ ณ เวลาหนึ่ง ๆ จะแปรผันกับขนาดของฟังก์ชันคลื่นของอนุภาคยกกำลังสอง เรียกว่ากฎของบอร์น (Born’s rule)
Image
Paul Dirac
Werner Heisenberg

Image
Erwin SchrÖdinger
แบบจำลองอะตอมตามแบบฟิสิกส์คลาสสิก (ซ้าย) และฟิสิกส์ควอนตัม (ขวา)
อาจมีคำถามว่าทำไมกลศาสตร์ควอนตัมจึงมีได้หลายรูปแบบ ? 

คำตอบอย่างง่ายคือการเปรียบเทียบว่าต้นไม้ต้นหนึ่งย่อมมีชื่อเรียกและคำอธิบายแตกต่างกันไปในคนละภาษา แต่แท้จริงแล้วย่อมสื่อถึงความจริงหนึ่งเดียวของต้นไม้นั้น กลศาสตร์ควอนตัมทั้งสามรูปแบบต่างก็ใช้ “ภาษาคณิตศาสตร์” ที่แตกต่างกันในการอธิบายสิ่งเดียวกันนั่นเอง

อีกคำถามหนึ่งคือ ทำไมจึงเรียกว่า “กลศาสตร์” ควอนตัม (Quantum “Mechanics”) คำตอบคือทฤษฎีเหล่านี้อธิบายพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของอนุภาค เช่น อิเล็กตรอนในอะตอม

แต่ต่อมานักฟิสิกส์ได้ขยายขอบเขตของทฤษฎีออกไปโดยผนวกกลศาสตร์ควอนตัมเข้ากับทฤษฎีสนามแบบคลาสสิกและทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ เรียกแบบรวม ๆ ว่า ทฤษฎีสนามควอนตัม (Quantum Field Theory) โดยมองว่าอนุภาคหนึ่ง ๆ เป็นสถานะถูกกระตุ้น (excited states) ของสนามควอนตัมของอนุภาคนั้น  

ตัวอย่างทฤษฎีสนามควอนตัม เช่น ควอนตัมอิเล็กโทรไดนามิกส์ (Quantum Electrodynamics) ใช้อธิบายอันตรกิริยาระหว่างแสงกับสสาร และควอนตัมโครโมไดนามิกส์ (Quantum Chromodynamics) ใช้อธิบายแรงนิวเคลียร์อย่างเข้มซึ่งเป็นผลจากอันตรกิริยาระหว่างอนุภาคควาร์ก (quark) กับกลูออน (gluon) ภายในนิวเคลียสของอะตอม
ปรากฏการณ์ประหลาดในทฤษฎีควอนตัม
ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของควอนตัมส่วนใหญ่จะขัดกับสามัญสำนึก แต่ทั้งหมดได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเป็นจริง ! “คลื่นหรืออนุภาค” ทวิภาพของคลื่นอนุภาค (wave-particle duality)  

แนวคิดที่ว่าอนุภาคอาจประพฤติตัวเป็นคลื่นได้ และคลื่นก็อาจประพฤติตัวเป็นอนุภาคได้  พูดภาษาชาวบ้านได้ว่าวัตถุควอนตัมสามารถ “ตีสองหน้า” ได้นั่นเอง

ความน่าพิศวงของทวิภาพของคลื่นอนุภาคอาจแสดงให้เห็นด้วยการทดลองสลิตคู่ (slit คือช่องเปิดแคบ ๆ) เมื่อยิงอิเล็กตรอนออกไปทีละตัวอย่างต่อเนื่องที่สลิตคู่ และตรวจวัดที่ฉากด้านหลัง จะพบว่าเกิดรูปแบบการแทรกสอดขึ้น (ภาพ A) ทำให้สรุปได้ว่าอิเล็กตรอนทำตัวเป็นคลื่น   

แต่เมื่อทำการทดลองคล้ายกัน แต่ตรวจวัดอิเล็กตรอนที่สลิตก่อน จะพบว่าอิเล็กตรอนทำตัวเป็นอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านช่องสลิตช่องใดช่องหนึ่ง โดยไม่มีรูปแบบการแทรกสอดเกิดขึ้นที่ฉากหลัง (ภาพ B) ทำให้สรุปได้ว่าอิเล็กตรอนทำตัวเป็นอนุภาค

แล้ววัตถุใหญ่สุดแค่ไหนที่ยังคงแสดงพฤติกรรมแบบคลื่น ?  

ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ อันโทน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger) และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเวียนนาในออสเตรีย ได้แสดงให้เห็นว่าบักกีบอล (buckyball) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม ทำตัวเป็นคลื่นได้  พอถึง ค.ศ. ๒๐๐๓ โมเลกุลที่ใช้ก็ใหญ่ขึ้นอีก ได้แก่ เตตระฟีนิลพอร์ฟิริน (tetraphenylporphyrin, TPP) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับคลอโรฟิลล์ และฟลูออโรฟุลเลอรีน (fluorofullerene) มีสูตรเคมี C60F48  

แสดงให้เห็นว่าวัตถุที่มีมวลมากกว่าอนุภาคเดี่ยว ๆ (อย่างอิเล็กตรอนหรืออะตอม) ก็แสดงทวิภาพคลื่นอนุภาคได้
Image
Image
“ได้อย่าง-เสียอย่าง” หลักความไม่แน่นอนของไฮเซินแบร์ค 
ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ แวร์เนอร์ ไฮเซิน-แบร์ค ค้นพบว่า ไม่ว่าเราจะใช้อุปกรณ์ในการวัดที่สุดแสนไฮเทคขนาดไหน ธรรมชาติก็จะไม่มีวันยอมให้เราวัดค่าตำแหน่งและโมเมนตัมได้อย่างแม่นยำมาก ๆ “พร้อมกัน” เช่น ยิ่งเรารู้ว่าอนุภาคหนึ่ง ๆ เคลื่อนที่เร็วแค่ไหน (คือมีโมเมนตัมเท่าไร) อย่างแม่นยำ เราจะยิ่งไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหนด้วยความมั่นใจ 
“เป็นหลายอย่างในขณะเดียวกัน” การทับซ้อนของสถานะ (superposition)
ในโลกคลาสสิก หากเหรียญบาทวางหงายหน้าหัวขึ้นอยู่บนโต๊ะ เราจะพูดว่าสถานะ (state) ของเหรียญคือ “หัว” และหากหงายหน้าก้อยขึ้น สถานะของเหรียญก็คือ “ก้อย” แต่หากเหรียญกำลังปั่นหมุนอยู่บนโต๊ะ แล้วถามว่าเหรียญมีสถานะอะไร คำตอบคือระบุไม่ได้ เพราะว่ายังไม่มีหน้าไหนหงายนิ่ง ๆ บนโต๊ะ

ระหว่างที่เหรียญกำลังปั่นหมุนอยู่ ถ้าเราใช้มือตะปบเหรียญแบบสุ่ม ๆ จนเหรียญหยุดนิ่ง คราวนี้เรามั่นใจแล้วว่าสถานะของเหรียญถูกกำหนดชัดเจนแล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่รู้จนกว่าจะยกมือออกมาดูว่าออกหัวหรือก้อย

มาดูโลกควอนตัมบ้าง  

อิเล็กตรอนมี
สปิน (spin) ซึ่งมีได้สองทิศทาง เรียกว่า สปินขึ้น (spin up) กับสปินลง (spin down) (ซึ่งอาจเทียบกับทิศทางของสนามแม่เหล็กแวดล้อม) หากเรายังไม่ได้ตรวจวัดก็จะไม่ทราบสถานะของสปินว่าขึ้นหรือลง ซึ่งอาจเทียบได้กับเหรียญบาทขณะปั่นหมุนอยู่ 

พูดแบบควอนตัมก็คือ สถานะสปินขึ้นเกิด “การทับซ้อน” กับสถานะสปินลง

แต่เมื่อเราตรวจวัดสปินก็จะพบว่าสปินอยู่ในสถานะใดสถานะหนึ่งเท่านั้น เช่น ขึ้น (หรือลง) การตรวจวัดอาจเทียบได้กับการตะปบเหรียญบาทให้หยุดหมุนปั่น คือทำให้เหลือเพียงแค่สถานะเดียว

ในกรณีทั่วไป วัตถุหรือระบบทางควอนตัมอาจอยู่ในสถานะทับซ้อนได้มากกว่าสองสถานะ เช่น สามหรือสี่สถานะ หรือมากกว่าก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของวัตถุหรือระบบควอนตัมแต่ไม่ว่าจะมีสถานะทับซ้อนกันมากแค่ไหน ผลรวมของความน่าจะเป็นทั้งหมดที่จะเกิดแต่ละสถานะต้องเท่ากับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เสมอ 

ปรากฏการณ์ทับซ้อนทางควอนตัมยังอาจพบได้ในวัตถุที่มองเห็นด้วยตาเปล่า !  

ค.ศ. ๒๐๑๐ นักวิจัยได้สร้างแผ่นโลหะยาว ๐.๐๖ มิลลิเมตร หรือ ๖๐ ไมครอน และทำให้เย็นยิ่งยวดพบว่ามีการสั่นและไม่สั่นในเวลาเดียวกันเนื่องจากสถานะทางควอนตัมที่ทับซ้อนกัน (เส้นผมของคนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในช่วง ๑๗-๑๘๑ ไมครอน ค่ากลาง ๆ คือราว ๗๕ ไมครอน)
สปิน (spin) เป็นสมบัติของอนุภาคควอนตัม ซึ่งอาจชวนให้คิดถึงการหมุน แต่จริง ๆ แล้วไม่อาจตีความว่าอนุภาคมีการหมุนแบบวัตถุขนาดใหญ่ตามที่เราเข้าใจ  สปินใช้แบ่งอนุภาคเป็นสองประเภท ได้แก่ โบซอน (boson) และเฟอร์มิออน (fermion) โบซอนเป็นอนุภาคที่มีสปินเป็นจำนวนเต็ม เช่น 0, 1, 2 เช่น โฟตอน มีซอน  ส่วนเฟอร์มิออนเป็นอนุภาคที่มีสปินแบบครึ่ง ๆ เช่น ½, 3/2, 5/2 เช่น อิเล็กตรอน โปรตอน นิวตรอน
“ไกลแค่ไหนก็เชื่อมโยงถึงกัน” การพัวพัน (Entanglement)
ปรากฏการณ์ทางควอนตัมที่อนุภาคคู่หนึ่งเชื่อมโยงทางกายภาพกันในลักษณะที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสถานะทางควอนตัมของอนุภาคหนึ่งจะมีผลกระทบ “ทันทีทันใด” กับอีกอนุภาคหนึ่ง ไม่ว่าอนุภาคทั้งสองจะอยู่ห่างกันแค่ไหนก็ตาม 

แม้แต่คนละฟากฝั่งของเอกภพ !

บางคนนำเปรียบเล่น ๆ กับคู่รักที่รักกันหวานชื่น คือแม้ตัวจะอยู่ห่างไกลกันสุดขอบฟ้า แต่จิตใจผูกพันกันราวกับว่าอยู่ใกล้ ๆ กัน…ว่าไปนั่นเลย !

สมมุติว่าเดิมอนุภาคควอนตัมตั้งต้นซึ่งมีสปินเท่ากับ 0 สลายตัวกลายเป็นอนุภาคสองตัวซึ่งเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน เนื่องจากอนุภาคที่เกิดใหม่คู่นี้มาจากต้นกำเนิดเดียวกันจึงเกิดการพัวพันกัน  อนุภาคที่เกิดใหม่อาจมีทิศทางของสปินได้สองทิศทาง เช่น สปินขึ้น กับสปินลง 

หากเรายังไม่ได้ตรวจวัดว่าอนุภาคแต่ละตัวมีสปินอย่างไร เราจะบอกได้เพียงแค่ว่าอนุภาคแต่ละตัวมีสปินอยู่ในสถานะทับซ้อนกัน คือ มีสปินชี้ขึ้นโดยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง และมีสปินชี้ลงด้วยความน่าจะเป็นอีกค่าหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่เราตรวจวัดสปินของอนุภาคตัวหนึ่ง เช่น ตัวที่อยู่ทางซ้าย และพบว่ามีสปินขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคืออนุภาคตัวที่อยู่ทางขวาจะมีสปินลง “ทันที” 
Image
ปรากฏการณ์การพัวพัน หรือ entanglement
“ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างน่าพิศวง” การทะลุอุโมงค์เชิงควอนตัม (Quantum Tunneling)
สมมุติว่าคุณมีความสามารถในการกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางที่สูงสุดได้ ๑ เมตร หากพบกับกำแพงสูงสัก ๒ เมตร คุณย่อมกระโดดข้ามไม่ได้ 

แต่ในโลกควอนตัม แม้ว่าอนุภาคจะมีพลังงานต่ำกว่าพลังงานที่ต้องใช้ในการข้ามสิ่งกีดขวาง มันยังมีโอกาสที่จะไปปรากฏอยู่อีกฝั่งหนึ่งได้ด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การทะลุอุโมงค์เชิงควอนตัม”

ธรรมชาติใช้ปรากฏการณ์ทะลุอุโมงค์นี้ในหลายรูปแบบ เช่น นิวเคลียร์ฟิวชันของดวงอาทิตย์ (ทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสง) และการเร่งปฏิกิริยาเคมีของเอน-ไซม์  ส่วนมนุษย์ก็ใช้ปรากฏการณ์นี้ออกแบบกล้องจุลทรรศน์แบบสแกนนิงทันเนลิง 
Image
ปรากฏการณ์การทะลุอุโมงค์เชิงควอนตัม
แนวคิดและปรากฏการณ์สำคัญในทฤษฎีควอนตัมยังมีอีกหลายอย่าง เช่น หลักแห่งความสอดคล้อง (Correspondence principle) ของ นีลส์ บอร์ (Niels Bohr) ซึ่งกล่าวว่าพฤติกรรมของระบบที่อธิบายด้วยกลศาสตร์ควอนตัม หรือแม้แต่ทฤษฎีควอนตัมยุคเก่า จะต้องสอดคล้องกับฟิสิกส์คลาสสิกเมื่อเลขควอนตัมมีค่าสูงมากและหลักการกีดกันของเพาลี (Pauli’s Exclusion Principle) ที่กล่าวว่า “ในระบบหนึ่ง ๆ จะไม่อาจมีอนุภาคแบบเฟอร์มิออนสองตัวใด ๆ (เช่น อิเล็กตรอน โปรตอน นิวตรอน ฯลฯ) มีสถานะทางควอนตัมที่เหมือนกันได้” ฟังคล้าย ๆ กับสำนวนไทย “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้” หลักการกีดกันของเพาลีสามารถใช้อธิบายการจัดเรียงตัวของธาตุในตารางธาตุ นอกจากนี้ยังอาจใช้กับเรื่องอื่น ๆ เช่น อธิบายว่าเหตุใดดาวนิวตรอนจึงไม่ยุบตัว เป็นต้น
Quantum Technology1.0
เมื่อนักฟิสิกส์และวิศวกรรู้กฎเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัมและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้น แต่ยังไม่ได้เข้าควบคุมระบบทางควอนตัมทีละระบบ หรืออนุภาคทีละอนุภาค เทคโนโลยีลักษณะนี้จะเรียกว่าเทคโนโลยีควอนตัม ๑.๐

กลศาสตร์ควอนตัมสามารถอธิบายพฤติกรรมการนำไฟฟ้าของโลหะ สารกึ่งตัวนำและฉนวน ได้ด้วยทฤษฎีแถบพลังงานของของแข็ง (Band Theory of Solid) โดยที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือสารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) ซึ่งได้รับการดัดแปลงสภาพการนำไฟฟ้าด้วยการโด๊ปธาตุที่เหมาะสม แล้วออกแบบและผลิตเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ไดโอดเปล่งแสง (lightemitting diode) หรือแอลอีดี (LED) รวมทั้ง “ทรานซิสเตอร์” (transistor) อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของไมโครชิป (microchip) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ 
Image
สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ 
นั่นคือยุคสารสนเทศ (Information Age) ซึ่งมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือพื้นฐานนั้น ลึก ๆ แล้วมีรากฐานส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจพฤติกรรมของสารกึ่งตัวนำด้วยกลศาสตร์ควอนตัมนั่นเอง

อุปกรณ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีควอนตัม ๑.๐ ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ ที่น่ารู้จัก เช่น

กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope) ใช้ความเป็นคลื่นของอิเล็กตรอนทำให้ได้กำลังขยายและกำลังแยกแยะเชิงระยะที่ดีกว่าแสงที่ตามองเห็น และยังใช้การเลี้ยวเบนของอิเล็กตรอนศึกษาโครงสร้างผลึกของสสาร 

แม่เหล็กที่ใช้สภาพการนำไฟฟ้ายิ่งยวด (superconducting magnet) เป็นแม่เหล็กกำลังสูงที่ใช้ในแม็กเลฟ (maglev) รถไฟที่ยกตัวด้วยแรงผลักแม่เหล็ก และเครื่อง Large Hadron Collider ที่เซิร์น (CERN) ซึ่งมีแม่เหล็กแบบนี้ราว ๑ หมื่นชิ้น ควบคุมทิศทางของกระแสอนุภาคโปรตอนให้เคลื่อนที่เป็นวงรอบในเครื่องเร่งอนุภาคตามเส้นทางที่ออกแบบไว้  สภาพการนำไฟฟ้ายิ่งยวด (superconductivity) ต้องอธิบายด้วยกลศาสตร์ควอนตัมเท่านั้น
Image
กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope) 
Image
แม่เหล็กที่ใช้สภาพการนำไฟฟ้ายิ่งยวด (superconducting magnet)
Image
superconductivity คือปรากฏการณ์ที่วัสดุบางชนิดมีความต้านทานไฟฟ้าเป็นศูนย์เมื่ออุณหภูมิลดลงตํ่ากว่าค่าวิกฤตค่าหนึ่ง วัสดุที่มีสมบัติเช่นนี้เรียกว่าวัสดุตัวนํายิ่งยวด หรือ superconductor
เอ็มอาร์ไอ (magnetic resonance imaging, MRI) ใช้การจัดการกับสปินของโปรตอนหรือนิวเคลียสของไฮโดรเจนที่อยู่ในโมเลกุลของน้ำในร่างกาย เอ็มอาร์ไอมีประโยชน์ในทางการแพทย์ คือใช้ตรวจอวัยวะภายในได้หลายระบบ เช่น สมอง หัวใจ  อวัยวะในช่องท้องทั้งหมด กระดูก กล้ามเนื้อและข้อ เป็นต้น
Image
กล้องจุลทรรศน์แบบสแกนนิงทันเนลิง (scanning tunneling microscope, STM) ใช้ศึกษาพื้นผิวของวัตถุที่นำไฟฟ้าได้ในระดับอะตอม โดยควบคุมอิเล็กตรอนที่ “ทะลุอุโมงค์” ออกมาระหว่างหัวโพรบโลหะของกล้องกับพื้นผิววัตถุ เช่น โลหะ หรือสารกึ่งตัวนำ

รอยต่อโจเซฟสัน (Josephson junction) เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยวัสดุตัวนำยิ่งยวด (superconductor) สองชิ้นที่ถูกกั้นด้วยฉนวนบาง ๆ  บริเวณรอยต่อนี้อาจเกิดปรากฏการณ์โจเซฟสันน (Josephson effect) ได้หลายแบบ เช่น แม้จะไม่มีการจ่ายแรงดันไฟฟ้า แต่ก็จะมีไฟฟ้ากระแสตรงไหลผ่านรอยต่ออันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ทะลุอุโมงค์เคลื่อนผ่านรอยต่อ เป็นต้น

SQUID (superconducting quantum interference device) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปรากฏการณ์โจเซฟสันตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความเข้มสนามแม่เหล็ก อุปกรณ์นี้มีความไวสูงมาก สามารถตรวจจับสนามแม่เหล็กที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าในระบบประสาทในสมองหรือหัวใจ และตรวจวัดสภาพแม่เหล็กของวัตถุในงานด้านโบราณคดี เป็นต้น

“ทั้งตาย-ทั้งเป็นในเวลาเดียวกัน” แมวของชเรอดิงเงอร์ (SchrÖdinger’s cat)
Image
Image
Image
ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ชเรอดิงเงอร์เสนอการทดลองในความคิดเพื่อชี้ให้เห็นความไร้เหตุผลของการตีความแบบโคเปนเฮเกน  (Copenhagen Interpretation) การตีความแบบนี้มีแก่นสำคัญอย่างหนึ่งคือ การสังเกตเป็นปัจจัยที่ทำให้เราทราบความเป็นจริงของวัตถุควอนตัมอย่างชัดเจน  ถือเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ควรรู้ด้วยว่ามีนักฟิสิกส์จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย (เช่น ไอน์สไตน์ ชเรอดิงเงอร์) และเสนอการตีความแบบอื่น ๆ ไว้รวมกว่า ๑๐ แบบ

ชเรอดิงเงอร์ชวนจินตนาการถึงกล่องขนาดย่อม ๆ ซึ่งมีแมวอยู่ภายใน
ในกล่องนี้มีกลไกปล่อยก๊าซพิษ ซึ่งขึ้นอยู่กับสารกัมมันตรังสีที่ใส่ไว้ในกล่อง หากสารกัมมันตรังสีสลายตัวปลดปล่อยรังสีออกมาก็จะทำให้กลไกทำงานปล่อยสารพิษออกมาสังหารแมว เนื่องจากการปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีเกิดขึ้นอย่างสุ่ม ๆ ตามกระบวนการทางควอนตัม จึงไม่อาจทำนายเวลาแน่นอนได้ ผลก็คือการปล่อยก๊าซพิษจะเป็นไปอย่างสุ่ม ๆ ด้วยเช่นกัน

การที่กล่องถูกปิดทำให้คนที่อยู่ข้างนอกไม่รู้ว่าแมวยังมีชีวิตอยู่หรือไม่จนกว่าจะเปิดกล่องออกมาดู 


หากเชื่อตามการตีความแบบโคเปนเฮเกน ขณะกล่องยังปิดอยู่นั้น สถานะของแมวจะต้องเป็นแบบทับซ้อน คือแมวมีชีวิตอยู่กับตายแล้วในเวลาเดียวกัน !


จุดนี้เองที่ชเรอดิงเงอร์ต้องการชี้ให้เห็นว่าการตีความแบบโคเปนเฮเกนนั้นไร้เหตุผล  
ตัวอย่างเช่น ก่อนการสังเกตอนุภาคที่เราสนใจ มันอาจมีความน่าจะเป็นอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ได้หลายแห่งตามที่กำหนดโดยฟังก์ชันคลื่น แต่เมื่อเราสังเกต เช่นตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ ก็จะพบอนุภาคนี้อยู่ในบริเวณแคบ ๆ ที่ตรวจพบเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้นักฟิสิกส์เรียกว่าเกิดการยุบตัวของฟังก์ชันคลื่น (wave function collapse)