ร่องรอย “พยัคฆ์น้อย”
ที่ ๓๘ องศาเหนือ
souvenir & history
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ทุกครั้งที่มีข่าววิกฤตการณ์ขีปนาวุธบนคาบสมุทรเกาหลีพื้นที่หนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเสมอคือ “เขตปลอดทหาร” (demilitarized zone - DMZ) จุดแบ่งระหว่าง “เกาหลีเหนือ” กับ “เกาหลีใต้” สองประเทศที่มีระบบการปกครองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในทางกายภาพ เขตปลอดทหารนี้ตัดผ่านกลางคาบสมุทรเกาหลียาว ๒๕๐ กิโลเมตร ถูกขนานนามว่าเป็น “พื้นที่ที่อันตรายที่สุด” แห่งหนึ่งของโลก เพราะสงครามเกาหลีที่มีการรบรุนแรงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๓ (๒๔๙๓-๒๔๙๖) ยุติลงด้วยการ “หยุดยิง” (ceasefire) โดยมิได้มี “สนธิสัญญาสันติภาพ” (peace treaty) แต่อย่างใด
สงครามเกาหลีเป็นสงครามร้อนในยุคสงครามเย็น (cold war) ที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายโลกเสรี (นำโดยสหรัฐอเมริกา) และค่ายสังคมนิยม (สหภาพโซเวียตและจีนแผ่นดินใหญ่) สภาพนี้เริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีการใช้เส้นขนานที่ ๓๘ องศาเหนือ แบ่งเขตการปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่น โดยทางใต้ของเส้นขนานกองทัพสหรัฐฯ เป็นฝ่ายรับผิดชอบ ขณะที่เหนือเส้นขนานกองทัพโซเวียตรับไปดำเนินการ
ด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกันจึงมีการจัดตั้งรัฐบาลเกาหลีที่มีระบบการปกครองต่างกัน ภาคใต้เป็นประชาธิปไตย ภาคเหนือเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเกาหลีทั้งสองต่างอ้างสิทธิเหนือคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) รับรองรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จัดเลือกตั้งภายใต้กำกับของ UN
สงครามเกาหลีจึงเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสองค่าย เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นในเช้ามืดวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ (๒๔๙๓) เมื่อเกาหลีเหนือบุกโจมตีเกาหลีใต้ ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติให้ชาติสมาชิกช่วยเหลือเกาหลีใต้ป้องกันการบุกรุกของเกาหลีเหนือ
กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ รัฐบาลไทยตอบรับส่งทหารเข้าร่วมหนึ่งกองพัน (ทัพบก) เรือรบหลวงสามลำ หน่วยบินลำเลียงหนึ่งหน่วย กองกำลังชุดนี้ออกจากประเทศปลายเดือนตุลาคม ถึงท่าเรือปูซานช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันโดยช่วงนั้นกองกำลัง UN ตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือจนถอยไปเหนือเส้นขนานที่ ๓๘
ในเดือนพฤศจิกายน กองทัพ UN บุกขึ้นเหนือเส้นขนานที่ ๓๘ ช่วงนี้เอง กองพันทหารไทยซึ่งถูกนำไปสังกัดกับหน่วยอากาศโยธินที่ ๑๘๗ (187th Airborne Regimental Combat Team) ของกองทัพที่ ๘ อเมริกัน ก็เดินทางถึงเส้นขนานนี้ด้วย ก่อนจะได้รับมอบหมายให้อารักขาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ ทว่าเมื่อถึงปลายปีก็ต้องถอยร่นลงใต้เส้นขนานนี้อีก เนื่องจากกองทหารอาสาจีนเข้าร่วมรบกับกองทัพเกาหลีเหนือและตีจนทัพ UN ต้องถอยลงใต้
เส้นขนานที่ ๓๘ จึงเป็นพื้นที่ที่กองทหารไทยคุ้นเคย ด้วยตั้งแต่เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ แนวเผชิญหน้าตรึงไว้ตามแนวที่ต่อมากลายเป็นเขตปลอดทหาร (DMZ) จากทิศตะวันตกสุดถึงตะวันออกสุดของคาบสมุทรเกาหลีตามแนวที่เกาะบริเวณเส้นขนานที่ ๓๘ องศาเหนือ (ก่อนมีการหยุดยิงใน ค.ศ. ๑๙๕๓)
เมืองต่าง ๆ บริเวณแนวเส้นขนานนี้ เช่น อึยจองบู (Uijeongbu), ชอร์วอน (Cheorwon), โปชอน (Pocheon), ยอนชอน (Yeoncheon) คือสถานที่ซึ่งหน่วยทหารไทยเคยไปประจำการ ปัจจุบันเมืองเหล่านี้อยู่ในสองจังหวัดของเกาหลีใต้ คือ คยองกี (Gyeonggi) และกังวอน (Gangwon)
น่าสนใจว่าร่องรอยของทหารไทยยังคงปรากฏชัดเจนที่โปชอนและยอนชอน
ที่โปชอนรัฐบาลเกาหลีใต้สร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกให้แก่ทหารไทยใน ค.ศ. ๑๙๗๔ (๒๕๑๗) ตัวอนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นแท่นยาว ด้านหนึ่งมีแท่งทรงปีกสามแท่งพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกฝั่งมีรูปปั้นทหารไทยและชาวเกาหลียืนกอดคอกัน อนุสาวรีย์แห่งนี้ต่อมากลายเป็นต้นแบบให้ “อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเกาหลี” ที่สร้างขึ้นในค่ายนวมินทราชินี กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี ซึ่งทุกปีจะมีพิธีวางพวงมาลาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม (วันคล้ายวันที่กองทหารไทยออกเดินทางจากแผ่นดินแม่)
ส่วนที่เมืองยอนชอนมีการสร้าง “อนุสาวรีย์ที่ระลึกสำหรับทหารไทยที่สละชีพในสงคราม” (Thai Soldier Monument for the War Dead) ใน ค.ศ. ๒๐๐๘ (๒๕๕๑) เพื่อเป็นที่ระลึกในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-เกาหลีใต้ ครบ ๕๐ ปี โดยเป็นความร่วมมือจากสองหน่วยงานในเกาหลีใต้ คือ ROK-Thai Buddhism Friendly Alliance และ Association of Commemorating Battlefield อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นแท่งหินสามเหลี่ยม บนยอดมีลูกโลกและนกพิราบกางปีกเกาะอยู่ มีสัญลักษณ์รูปคาบสมุทรเกาหลี ธงชาติไทย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และกรีซ ประดับ ด้านหน้าแท่งหินเป็นรูปปั้นทหารสามนาย มีอิริยาบถต่างกัน (ถือปืน กล้องส่องทางไกล และหมวก) สื่อถึงสันติภาพและทหารต่างชาติที่เข้าร่วมรบในสมรภูมินี้
ทั้งนี้ในยอนชอนยังมีอนุสาวรีย์อีกแห่งบริเวณเส้นทางที่มุ่งหน้าขึ้นไปยังเส้นขนานที่ ๓๘ ริมถนนหมายเลข ๓ ที่ผ่านเมืองโชซองรี (Chosong-ri) ที่สร้างอุทิศให้แก่กองทหาร UN ที่ประกอบไปด้วยหน่วยทหารอเมริกัน ไทย และกรีซ ที่ผ่านเส้นทางเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ (๒๔๙๔) ตัวอนุสาวรีย์ส่วนแรกเป็นเสาเหลี่ยมมีอักษรเกาหลีและนกพิราบอยู่บนยอด ส่วนที่ ๒ เป็นทหารสี่นายในอิริยาบถกำลังรุกรบ ส่วนที่ ๓ เป็นเสาที่มีสัญลักษณ์หัวม้าสีดำบนพื้นเหลืองของกรมทหารราบที่ ๑ (1st Cavalry Division) ของอเมริกัน และข้อความจารึกถึงการเดินทางผ่านขึ้นไปสู้รบและเสียสละชีวิต
ป้ายจารึกจากอนุสาวรีย์ในสองเมืองนี้ บางส่วนกล่าวถึงกองพัน “พยัคฆ์น้อย” (Little Tiger) ที่ไปรบในเกาหลีด้วย ความขอบคุณในการเสียสละเพื่อปกป้องเสรีภาพ (liberty) ของคาบสมุทรเกาหลี
ก่อนการระบาดของโรคโควิด-๑๙ การท่องเที่ยวเขตปลอดทหารต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์เป็นการเฉพาะ ด้วยถือเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ยิ่งจุดสำคัญที่ออกข่าวบ่อย อย่างหมู่บ้านปันมุนจอมใกล้เมืองปาจู (Paju City) ที่ผู้นำสองเกาหลีเคยมาใช้เจรจากัน ยิ่งซื้อทัวร์ได้ยากขึ้น แต่ถ้าไปได้จะพบว่าในพื้นที่มีนิทรรศการและของที่ระลึกขายไม่ต่างกับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งอื่น
อย่างไรก็ตามอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวเนื่องกับทหารไทยนั้นเข้าถึงได้ไม่ยาก เพราะอยู่ในเขตพลเรือน
น่าสนใจว่าเรื่องที่อนุสาวรีย์เหล่านี้บอกเล่าผ่านรูปปั้น แผ่นป้าย หรือคำจารึก เป็นเรื่องเล่ากระแสหลักที่รัฐบาลเกาหลีใต้และไทยเห็นชอบ แต่เมื่อเวลาผ่านมา ๗ ทศวรรษ วงวิชาการในเกาหลีใต้ รวมถึงสหรัฐฯ เริ่มตีความสงครามเกาหลีในแง่มุมที่ต่างจากเดิม เช่น การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ อาจสร้างปัญหามากกว่าส่งผลดี การอาศัยทหารต่างชาติมารบก็สร้างปัญหา เป็นต้น ขณะที่ในประเทศไทยคำอธิบายการส่งทหารไปร่วมรบในสมรภูมิเกาหลียังเป็นเรื่องเดิม คือปกป้องเกาหลีใต้และโลกเสรี ที่สำคัญคือต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ “นอกบ้าน” ก่อนจะเข้ามาถึงในประเทศ
หลังโควิด-๑๙ ซา ใครมีโอกาสไปเกาหลีใต้ลองไปเยือน “เส้นขนานที่ ๓๘” สักครั้ง ลองแวะร้านหนังสือ พูดคุยกับคนเกาหลีรุ่นใหม่ นอกจากของที่ระลึกจากพื้นที่ที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ไม่แน่ว่าคุณอาจได้รับมุมมองเกี่ยวกับสงครามเกาหลีที่ต่างไปจากเดิม