Image
SIAM. 
กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
s o u v e n i r  &  h i s t o r y
เรื่องและภาพ : สุเจน กรระพฤทธิ์
ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา นอกจากแท่นหินสลักชื่อ Thailand ที่อนุสรณ์สถานสงครามเกาหลี (ในฐานะหนึ่งในชาติที่ส่งทหารไปร่วมรบ) พื้นที่ National Mall and Memorial Park สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ยังมี “ของที่ระลึก” จากเมืองไทยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่คนไทยอาจคาดไม่ถึง

ของที่ระลึกดังกล่าวส่งไปจากสยามในปี ๒๔๒๕/ค.ศ. ๑๘๘๒ และถูกติดตั้งไว้ในอนุสาวรีย์วอชิงตัน (Washington Monument) ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง จอร์จ วอชิงตัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศ และประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ-อเมริกา (ดำรงตำแหน่งปี ๒๓๓๒-๒๓๔๐/ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๗)

อนุสาวรีย์วอชิงตันปรากฏตัวในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง ด้วยลักษณะที่โดดเด่น คือเป็นเสาหินสูงชี้ขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยในความเป็นจริงที่นี่มีฐานะเป็นแท่งหินที่สูงที่สุดในโลกด้วยความสูง ๑๖๙.๐๔๖ เมตร โดยมีน้ำหนักมากถึง ๔ หมื่นตัน สร้างจากหินอ่อน หินแกรนิต และหินไนส์สีฟ้า (bluestone gneiss)

เมื่อสร้างเสร็จในปี ๒๔๒๗/ค.ศ. ๑๘๘๔ อนุสาวรีย์วอชิงตันกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก ก่อนจะเสียตำแหน่งให้แก่หอไอเฟล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี ๒๔๓๒/ค.ศ. ๑๘๘๙

หลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพ (๒๓๑๙/ค.ศ. ๑๗๗๖) และรบชนะอังกฤษ (๒๓๒๖/ค.ศ. ๑๗๘๓) ก็เคยมีข้อเสนอในการสร้างอนุสาวรีย์ของ จอร์จ วอชิงตัน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบอื่น เพื่อระลึกถึงผู้ก่อตั้งประเทศท่านนี้ ต่อมายังต้องผ่านการถกเถียงเรื่องความเหมาะสม ลักษณะตำแหน่งที่ตั้ง อีกหลายสิบปี

ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ โรเบิร์ต มิลล์ส (Robert Mills) ชาวอเมริกันจากเมืองชาร์ลส์ตัน รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยได้ต้นแบบจากแท่งหินโอเบลิสก์ (Obelisk) ของอียิปต์โบราณ โดยภายในกลวงและมีบันไดวนขึ้นไปยังจุดสูงที่สุด (มีทั้งหมด ๕๐ ชั้น) ๘๙๗ ขั้น แต่กว่าการก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้นต้องรอถึงปี ๒๓๙๑/ค.ศ. ๑๘๔๘ 

ระหว่างปี ๒๓๙๗-๒๔๒๐/ค.ศ. ๑๘๕๔-๑๘๗๗ การก่อสร้างหยุดชะงักเนื่องจากขาดแคลนเงินทุนและสงครามกลางเมือง รวมไปถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการ หลังจากได้รับงบประมาณจากรัฐจึงมีการก่อสร้างต่อโดยปรับแก้แบบอนุสาวรีย์จากร่างแรก กระทั่งสร้างเสร็จในปี ๒๔๒๗/ค.ศ. ๑๘๘๔ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ของสยาม) และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปีถัดมา ส่วนการตกแต่งภายนอกดำเนินต่อมาจนถึงปี ๒๔๓๑/ค.ศ. ๑๘๘๘

ภาพของอนุสาวรีย์วอชิงตันจึงเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน คือเป็นแท่งหินปลายแหลมชี้ตรงขึ้นไปยังท้องฟ้า มีเสาธงชักธงชาติสหรัฐฯ ๕๐ ต้นล้อมรอบเป็นวงกลม

หากมองจากแผนที่จะเห็นความเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญโดยรอบ ด้านทิศเหนือคือตำแหน่งของทำเนียบขาว (White House) ทางตะวันตกคืออนุสาวรีย์ลินคอล์น (Lincoln Monument) ส่วนทางตะวันออกคืออาคารรัฐสภา (Capitol Hill)

ส่วนที่เกี่ยวกับสยาม (ไทย) คือการตกแต่งผนังภายในอนุสาวรีย์ที่รวบรวม “แผ่นหินที่ระลึก” (commemorative stones) จากรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ สมาคม องค์กร รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จำนวนกว่า ๑๙๐ ชิ้น ที่ส่งมาร่วมแสดงเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์แห่งนี้ 
Image
ปัจจุบันอนุสาวรีย์วอชิงตันอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ (National Park Service) ของสหรัฐฯ โดยเว็บไซต์ของหน่วยงานกล่าวว่า มีแผ่นหินจากสยามแผ่นหนึ่งติดตั้งอยู่บนผนังที่ระดับความสูง ๑๙๐ ฟุต ใกล้กับแผ่นหินจากบราซิล กรีซ และสวิตเซอร์แลนด์

ข้อมูลระบุว่าแผ่นหินนี้ถูกส่งมาในปี ๒๔๒๕/ค.ศ. ๑๘๘๒ กว้าง ๒ ฟุต ๒ นิ้ว ยาว ๓ ฟุต ๖ นิ้ว ไม่ทราบชนิดของหิน (not identified) โดยมีอักษรโรมันจารึกว่า SIAM.

นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ ผู้สื่อข่าวของวีโอเอ (Voices of America - VOA) ภาคภาษาไทย รายงานข่าวเรื่องนี้ (๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๒) ว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอนุสาวรีย์ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เป็นที่แน่ชัดว่ามีการส่งแผ่นหินขนาดเล็กจาก “แหล่งหินของราชสำนักที่โคราช” (นครราชสีมา) ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ แต่เนื่องจากขนาดที่เล็กมาก (กว้าง ๖ นิ้ว ยาว ๑๑ นิ้ว) รัฐบาลสหรัฐฯ จึงจัดทำจำลองให้ได้ขนาดที่เหมาะสมอีกชิ้นหนึ่ง โดยติดตั้งในปี ๒๔๒๘/ค.ศ. ๑๘๘๕

รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า ก่อนปี ๒๕๖๒/ค.ศ. ๒๐๑๙ ผนังส่วนที่ติดตั้งแผ่นหินจารึกของสยามปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมมานานกว่า ๔ ทศวรรษ โดยหากจะไปชมก็ต้องขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นบนสุดของอนุสาวรีย์แล้วค่อยเดินลงบันไดมายังผนังบริเวณดังกล่าว

หากเราลองย้อนทวนประวัติศาสตร์ จะพบว่าสยามเริ่มติดต่อกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี ๒๓๖๑/ค.ศ. ๑๘๑๘ จนมีการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์เมื่อปี ๒๓๗๖/ค.ศ. ๑๘๓๓ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ของสหรัฐฯ) โดยเรื่องที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่คนรุ่นปัจจุบันมากที่สุดคือเมื่อรัชกาลที่ ๔ มีพระราชสาส์นไปถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน โดยมีพระราชประสงค์จะพระราชทานช้างหนึ่งคู่ให้แก่สหรัฐฯ แต่กว่าที่พระราชสาส์นจะเดินทางไปถึง ก็ล่วงเลยเข้าสู่สมัยของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งได้ตอบปฏิเสธมาอย่างสุภาพ

ส่วนกรณีแผ่นหินนี้ที่ถูกส่งไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่เคยพบหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุ แต่หากตรวจสอบเหตุการณ์ความสัมพันธ์สยามกับสหรัฐฯ สมัยรัชกาลที่ ๕ จะพบว่าในรัชกาลนี้ สยามเคยส่งสิ่งของไปร่วมงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ (World Fair) ที่สหรัฐฯ หลายครั้ง โดยรัชกาลที่ ๕ พระราชทานศิลป-วัตถุให้สถาบันสมิทโซเนียนนำไปจัดแสดงด้วย

เรื่องแผ่นหินที่สยามส่งไปร่วมสร้างอนุสาวรีย์วอชิงตันจึงยังเป็นประเด็นที่ต้องค้นคว้ารายละเอียดกันต่อไป แต่ที่น่าจะแน่นอนคือ สยามสนใจ ติดต่อ และรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจใหม่ของโลก ตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศมาแล้ว
อ้างอิง 
นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ. พิสูจน์ “แผ่นหิน
จารึกจากแดนสยาม” ในอนุสาวรีย์วอชิงตัน โดยสำนักข่าวเสียงอเมริกา (VOA) ที่ https://
fb.watch/60s4DkdZQR/ (๒๐ ตุลาคม ๒๐๑๙)
เข้าถึงเมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒.