สัญชาตญาณแรก
แม่นแค่ไหน
วิ ท ย์ คิ ด ไ ม่ ถึ ง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ทุกคนอาจเคยตอบคำถามตามสัญชาตญาณ ต่อมามีเหตุให้ต้องตัดสินใจอีกครั้งก่อนจะยืนยันเป็น “คำตอบสุดท้าย” ซึ่งเราก็มักจะไม่ค่อยกล้าเปลี่ยนคำตอบ ไม่ว่าลังเลแค่ไหนก็ตาม และแน่นอนว่าต้องมีอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตที่อยากรู้ขึ้นมาจริง ๆ ว่า...
คำตอบแรกสุดนั้นแม่นยำแค่ไหน !
คำถามที่ดูเล็กน้อยแบบนี้เองที่งานวิจัยของฝรั่งชอบทำกันมาก มีคนไปไล่ตามเก็บสถิติไว้ทำให้รู้ว่าตลอด ๗๐ ปีที่ผ่านมามีการศึกษาด้วยวิธีการแบบต่าง ๆ และตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องทำนองที่ว่า “คำตอบแรกสุดแม่นแค่ไหน” ไม่น้อยกว่า ๓๓ ชิ้นแล้ว
ผลที่ได้น่าสนใจดีด้วยคือ คำตอบเกินกว่าครึ่งหนึ่งมักจะผิด แต่เราอาจมีวิธีทำให้การตอบส่วนใหญ่ถูกต้องได้
เอ๊ะ อย่างไรกัน
ก่อนอื่นควรจะรู้ข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งคือ การเปลี่ยนคำตอบแรกสุดไปเป็นอย่างอื่นแล้วเกิดผิดขึ้นมา เราจะเกิดความสับสนรุนแรงระดับที่แทบยอมรับไม่ได้ คิดว่าตัวเองโง่เง่าเต่าตุ่นที่เลือกทำแบบนั้น !
อันนี้ไม่ได้พูดลอย ๆ มีงานวิจัยจากทีมมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนาและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ยืนยันเรื่องนี้อยู่ พวกเขาพบว่าเป็นเรื่องพิลึก แต่จริงที่แม้ว่าคำตอบแรกสุดจะผิดก็ยังรู้สึกไม่แย่นัก หากเทียบกับการเปลี่ยนจากที่เคยตอบถูกแต่แรกแล้วเปลี่ยนไปตอบผิด และความรู้สึกที่ “รุนแรง” แบบนี้เองที่ทำให้การเปลี่ยนคำตอบจากที่เคยถูกกลายเป็นผิดเป็นเรื่องที่จดจำฝังแน่นมากกว่า จนดูว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า
แต่ความรู้สึกดังกล่าวนั้นไม่จริงเลย !
จะเห็นได้ชัดเจนว่าปฏิกิริยาการตอบสนองแบบ “อสมมาตร” เช่นนี้ จะคอยฉุดรั้งไม่ให้เราเปลี่ยนแปลงคำตอบ เพราะกลัวจะเป็นการเปลี่ยนจากที่ถูกอยู่แล้วให้กลายเป็นผิด
ตัวอย่างที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันก็คือ การเปลี่ยนแถวรอจ่ายเงินในซูเปอร์-มาร์เกตหรือตามช่องจ่ายเงินของทางด่วนที่เรามักจดจำประสบการณ์ของการเปลี่ยนแถวแล้วทันทีทันใดแถวที่เข้าไปต่อใหม่ก็เคลื่อนช้าลง จนช้ากว่าแถวเดิมที่เคยรอ !
ทำไมเราซวยนัก...คำตอบอาจจะไม่ใช่เรื่องความซวย แต่อันที่จริงคือ เราก็เคยย้ายแถวแล้วเร็วขึ้น แต่ประสบการณ์ไม่ได้รุนแรงชวนให้จดจำเท่ากับที่ย้ายแถวไปแล้วช้าลง
วิธีการทดลองเขาทำกันแบบนี้ นักวิจัยนำข้อสอบวิชาจิตวิทยากลางภาคของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมา ๑,๕๖๑ ชุด แล้วดูร่องรอยการลบเพื่อเปลี่ยนคำตอบ พร้อมกับบันทึกจำนวนครั้งที่เปลี่ยนคำตอบไปมา
ผลคือ ๕๑ เปอร์เซ็นต์ของการเปลี่ยนคำตอบเป็นการเปลี่ยน “จากที่ผิดอยู่ให้กลายเป็นถูก” ขณะที่ราว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นการเปลี่ยนจากที่ถูกอยู่แล้วให้กลายเป็นผิด และอีก ๒๓ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นการเปลี่ยนจากที่ผิดอยู่ไปเป็นอันที่ผิดอีกอัน
เห็นได้ชัดเจนว่าการเปลี่ยนจากผิดเป็นถูกมีจำนวนมากกว่าจากถูกเป็นผิดในอัตราส่วนราวสองต่อหนึ่ง
แต่เมื่อสุ่มถามนักศึกษา ๕๑ คนว่า พวกเขารู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงคำตอบจะเป็นแบบไหน (ผิดไปถูก ถูกไปผิด หรือผิดไปผิด) ปรากฏว่ามี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ที่เดาว่าน่าจะเปลี่ยนจากถูกอยู่แล้วเป็นผิดแน่ ๆ ซึ่งสวนทางกับผลการทดลอง
การระบุระดับความเชื่อมั่นสำหรับคำถามแต่ละข้อช่วยให้รู้ได้อย่างรวดเร็วว่ามีโอกาสตอบ
ถูกแค่ไหน และมีประโยชน์ ใช้ช่วยการตัดสินใจในภายหลังได้ว่า จะเปลี่ยนคำตอบดีหรือไม่
“ใครอยากเป็นเศรษฐี (Who wants to be a millionaire ?)” ที่มีช่วงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนคำตอบได้ สังเกตได้ชัดเจนว่าเกิดความตึงเครียดกับทีมอาสาสมัครมาก หากคนในทีมเลือกเปลี่ยนคำตอบใหม่ เพื่อนในทีมจะแสดงออกถึงความสับสนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน กลับกันกับเวลาเพื่อนในทีมยืนยันคำตอบเดิม คนในทีมจะรู้สึกว่ากำลังจะมีโชคและตอบถูก
แต่ความจริงก็คือ โดยสถิติแล้วทั้งสองทางเลือกทำให้ถูกหรือผิดเท่า ๆ กัน ไม่มีแบบใดแม่นยำกว่าเลย ดังนั้นคำตอบแรกจึงไม่ได้เลวร้ายด้วยตัวของมัน แต่ความมีอคติของคนเรานี่เองที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงคำตอบทำได้ยากมาก และไม่อยากเปลี่ยนด้วยเชื่อว่าจะทำให้ผิด ซึ่ง...ไม่จริงเลย
นักวิจัยมองว่าผลการทดลองนี้มีประโยชน์ เอาไปใช้กับเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่เลือกซื้อรถ เลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง รวมไปถึงคู่เดตที่มีโอกาสจะได้แต่งงานกัน เป็นต้น เพราะในสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้คนก็ยึดติดกับสัญชาตญาณแรกไม่แตกต่างกัน จึงอาจทำให้ตัดสินใจโดยไม่ได้ใช้หลักเหตุผลหรือหลักฐานมาประกอบอย่างเต็มที่นัก
คำถามสำคัญข้อหนึ่งจึงน่าจะได้แก่ เราจะแก้ปัญหาอคติทำนองนี้อย่างไรให้ประสบผลสำเร็จได้ดีที่สุด
มีนักวิจัยที่เสนอวิธีการแก้ไขที่เรียกว่า “เมตาค็อกนิชัน (metacognition)” หรือ “การฝึกคิดเกี่ยวกับความคิด” และใช้ความคิดทำนองนี้ในการตรวจตราและควบคุมพฤติการณ์หรือการตัดสินใจของเราเอง
ยังไม่ต้องงงคำศัพท์ กำลังจะขยายความเดี๋ยวนี้เลย
มีการทดลองในลิง โดยการป้อนคำถามต่าง ๆ บ้างก็ง่าย บ้างก็ยาก บางคำตอบพวกมันก็ไม่รู้มาก่อนและตอบไม่ได้ สิ่งที่นักวิจัยประหลาดใจคือ พวกมันแสดงอาการว่า “รู้ตัวว่าไม่รู้คำตอบที่ถูกต้อง” ได้เร็วมาก และตัดสินใจตอบคำถามให้ดีที่สุดตามที่รับรู้นั้น
แต่ที่นักวิจัยประหลาดใจพอ ๆ กันกับเรื่องนี้ก็คือ พวกเขาพบว่าบางครั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรีกลับไม่ได้แสดงอาการตระหนักถึงการไม่รู้เช่นนี้เลย และมักประหลาดใจกับคะแนนสอบหรือเกรดที่ตัวเองได้รับ นักศึกษาบางคนก็จะประเมินความสามารถของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงอยู่เสมอ ขณะที่บางคนก็ประเมินต่ำกว่าจริง
แต่สิ่งที่พวกนี้มีเหมือนกันก็คือ พวกเขาเชื่อว่าสัญชาตญาณแรกของตัวเองพิเศษเหนือกว่าคนอื่นหรืออย่างน้อยก็ไม่แพ้คนอื่น
นักวิจัยได้ข้อสรุปเช่นนี้จากการทดลองดังนี้
พวกเขาขอให้นักศึกษาระบุความเชื่อมั่นในการตอบข้อสอบวิชาจิตวิทยาแบบที่เป็นตัวเลือกแต่ละข้อด้วยการระบุว่าเป็นแค่ “เดา” หรือ “รู้คำตอบแน่ชัด” ใน “คำตอบแรกสุด” จากนั้นเมื่อทำข้อสอบจนเสร็จก็ให้ระบุไว้ด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงคำตอบแรกสุดนั้นหรือไม่
ผลก็คือนักศึกษาเปลี่ยนคำตอบกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และก็มักจะได้คำตอบใหม่ที่ถูกต้อง สำหรับคำถามที่รู้สึกไม่มั่นใจมากที่สุดนั้น การยึดถือคำตอบแรกสุดถือเป็นความคิดที่ไม่ได้เรื่องเท่าไร เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคำตอบที่ผิด
วิธีการที่เล่าไปเรียกว่าเป็นการทำ “เมตาค็อกนิชัน” คือการระบุระดับความเชื่อมั่นสำหรับคำถามแต่ละข้อ ซึ่งมีประโยชน์ใช้เป็นตัวทำนายความถูกต้องของการตัดสินใจได้ โดยไม่ขึ้นกับว่าควรจะเปลี่ยนคำตอบหรือไม่
พูดอีกอย่างก็คือ การทำแบบนี้ช่วยให้รู้ได้อย่างรวดเร็วว่ามีโอกาสตอบถูกแค่ไหน และเพราะการเขียนระดับความเชื่อมั่นในการตัดสินใจทันที จึงมีประโยชน์ใช้ช่วยตัดสินใจในภายหลังได้ว่าจะเปลี่ยนคำตอบดีหรือไม่
ในอีกการทดลองหนึ่ง ให้ทำเมตาค็อกนิชันโดยระบุระดับความเชื่อมั่นเป็นตัวเลข ๑-๕ ว่าจะตอบถูกหรือไม่ถูก จากนั้นจึงใช้ระดับความเชื่อมั่นเป็นแนวทางเลือกตอบคำถาม ผลที่ได้น่าทึ่งทีเดียว เพราะแม้นักศึกษาเลือกเชื่อมั่นอยู่กับสัญชาตญาณตั้งต้น แต่พวกเขาก็ได้คำตอบที่ถูกต้องบ่อยมากขึ้น
ดังนั้นอาศัยการระบุความเชื่อมั่นขณะเกิดสัญชาตญาณแรกสุด ร่วมกับการทบทวนคำตอบซ้ำ แล้วจึงตัดสินใจตอบ จึงช่วยให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องได้มากขึ้นกว่าการใช้แค่ความรู้สึกแรก
วิธีการนี้น่าจะเหมาะกับการทำข้อสอบแบบหลายตัวเลือกของนักเรียนนักศึกษามาก ลองใช้กันดู ได้ผลอย่างไรก็เขียนมาเล่าสู่กันฟังได้