Image
Image
ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
ผมเคยไปเดิมตามชาวบ้านในเครือข่ายวนเกษตร อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ดูต้นไม้ที่เป็นตัวยา-อาหาร ในเขตป่าโปร่งย่านนั้น จำได้ว่าประหลาดใจมาก ที่พวกเขาช่างรู้จักและรู้รายละเอียดต้นไม้เกือบทุกต้น ว่าเอามาเข้ายาสมุนไพรอะไรได้ยังไงบ้าง แอบคิดว่าถ้าเรารู้จักพืชอาหารในป่าหรือริมทางได้มากกว่าที่รู้อยู่นี้ก็คงสนุกดี ดังนั้นเวลารู้จัก "ไม้แดก" ชนิดใหม่ๆ จึงตื่นเต้นเหมือนเด็กได้ของเล่นทุกครั้งไป
เช่นเมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กของคุณสิทรา พรรณสมบูรณ์ นักโภชนาการที่ผมแอบนับถือ ได้แนะนำพืชกินได้ริมทางชนิดหนึ่ง นั่นคือ "หญ้ายาง" (Mexican fire plant) ซึ่งเมื่อเห็นหน้าค่าตาแล้ว ใครๆ ก็ต้องจำได้ว่า นี่มันวัชพืชที่เราเคยถางทิ้งชัดๆ เลยนี่นา
หญ้ายางในสารบบพืชของโลกภาษาไทยมีข้อมูลไม่มากนัก ในอินเทอร์เน็ตล้วนคัดย่อลอกเลียนกันต่อๆ มา จึงทราบเพียงว่ากินใบสดจำนวนน้อยเป็นยาระบายอ่อนๆ ได้ และรากผิวเปลือกต้นนั้น แก้อาการต่างๆ เช่น กระทุ้งพิษ รักษาพิษนาคราช (แต่ไม่เคยบอกว่าทำยังไง) อย่างไรก็ดีในฐานะผู้เก็บเกี่ยว (forager) เมื่อรู้ว่ากินได้ก็ต้องลองดูกันครับ

เราพบหญ้ายางได้ตามข้างทาง แถมมันมักขึ้นอยู่รวมๆ กันกับพืชอาหารอื่นๆ ใร "ศักดิ์" เดียวกัน เช่น ผักโขมหัด ผักโขมหนาม ผักเบี้ยหิน ผักเบี้ยเล็ก กะทกรก จิงจ้อขาว ผักเสี้ยนผี ดังนั้นถ้ากินผักพวกนี้เป็น เจอเข้าไปสักสองสามหย่อมก็เก็บเอาไปแกงป่า แกงส้ม แกงเลียงได้หม้อใหญ่ละครับ
หญ้ายางนี้มี "ยาง" มากสมชื่อ ยางสีขาวที่มีฤทธิ์คันจะทะลักล้นออกมาตามรอยหักตัดทันที แต่เมื่อเก็บอย่างระวังใส่ถุงกลับมาล้างให้สะอาดก็ไม่มีปัญหาอะไร

ผมลองทำ "เลียงหญ้ายาง" แบบสูตรโบราณ โดยตำหอมแดง กะปิ กุ้งแห้ง พริกไทยเข้าด้วยกัน ละลายในหม้อน้ำ ต้นจนเดือด ใส่ใบหญ้ายางอ่อนต้นให้สุก ปรุงด้วยเกลือหรือน้ำปลา เป็นแกงผักแนวทดลองงได้รสชาติอร่อยแปลกลิ้นดีครับ

สูตรนี้นับว่าเป็นพื้นฐานที่สุดแล้วครับ ถ้ามีกุ้งสดก็ใส่ให้หรูหราขึ้นได้ครับ...แต่ว่าควรต้มใบหญ้ายางราว 10 นาทีให้นุ่มก่อนนะ...
Image