อุทยานสันติภาพสาละวิน 
: ความจริงและความฝัน
‘‘uD>olvhR’’
เรื่อง : สายพร อัสนีจันทรา
ภาพ : อุทยานสันติภาพสาละวิน, สายพร อัสนีจันทรา
Image
ตัวแทนอุทยานสันติภาพสาละวินกับต้นไม้ขนาดใหญ่
ในป่าแห่งหนึ่งบนพื้นที่หมื่อตรอ ส่วนหนึ่งของการ
สำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อบันทึกข้อมูลเบื้องต้น 
เช่น ชนิดพืชพรรณ ขนาด ปริมาณ ที่ตั้ง เป็นต้น

ความฝันกลายเป็นจริงได้ฉันใด 
ความจริงก็กลายเป็นฝันได้ฉันนั้น 
เหตุการณ์มันเกินขีดความสามารถที่นักพยากรณ์
คนใดจะคาดเดาได้

หลังฤดูเก็บเกี่ยวคือห้วงเวลา
แห่งการพบปะเครือญาติที่ปวาเกอญอรอคอย
เช่นเดียวกับผู้พลัดถิ่นไปแดนไกล
อย่างฉันก็เฝ้ารอโอกาสนี้เพื่อกลับบ้าน
มาอยู่และกินกับน้าบนแผ่นดินบรรพบุรุษที่จากกันนาน

วันแรกของที่นี่หมดไปกับการหาปูปลากบเขียด
จากลำน้ำที่ไหลผ่านกระท่อมที่พัก ด้วยการทำ “ตะปว่า”
ฝายกั้นน้ำขนาดเล็กจากหิน ดิน ทราย 
รวมถึงเศษไม้ใบหญ้ากั้นขวางทางน้ำเพื่อชะลอ
ความเร็วและลดปริมาณให้ง่ายต่อการจับปูปลา
มักทำบริเวณที่กระแสน้ำไหลแยกเป็นสองทาง
โดยกั้นทางใดทางหนึ่งไว้ให้น้ำไหลรวมทางเดียว

จำได้ไม่ลืมว่าทุกครั้งที่จะเปลี่ยนจุดกั้นน้ำใหม่
น้าจะย้ำแล้วย้ำอีก “อย่าลืมรื้อที่กั้นเก่าปล่อยน้ำ
ให้ไหลเหมือนเดิมนะ ไม่งั้นตายไปจะกลายเป็นคนหูหนวก !”

แม้ไม่เข้าใจความหมายคำเตือน
แต่ก็ทำตามโดยไม่ค้าน
ใครจะอยากเสี่ยงเป็นคนหูหนวกล่ะ...เนาะ

ความทรงจำช่วงหนึ่งเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้วเกิดขึ้น
ในผืนป่าเหนือแผ่นดิน (Kawthoolei) หรือก่อทูเล
ในเขตจังหวัดหมื่อตรอ ที่ตอนนี้ปวาเกอญอ
ท้องถิ่นเปลี่ยนให้เป็น
“อุทยานสันติภาพสาละวิน” เป็นที่เรียบร้อยแล้วจ้า

หมายเหตุ : คำว่า ปวาเกอญอ, ปกาเกอญอ, ปกาเกอะญอ, 
ปะกะญอ เป็นคำทับศัพท์จาก ySRunD  ผู้เขียนเลือกใช้ “ปวาเกอญอ” 
เพราะออกเสียงคล้ายคำในสำเนียงของผู้เขียนมากที่สุด

Image
โลโก้อุทยานสันติภาพสาละวิน
ชีวิต จิตวิญญาณ 
และผืนป่า
ความจริงแรกเริ่มที่บรรพบุรุษปลูกสร้างและส่งต่อกันมา

ySRunD” ทับศัพท์เสียงคล้าย “ปวาเกอญอ” ความหมายคือความเรียบง่ายที่บอกมุมมองชีวิตและความคิดปวาเกอญอได้ไม่น้อย

ชีวิตและจิตวิญญาณที่ผูกไว้กับ “น้ำและดิน” ไม่ซับซ้อนเกินเข้าใจ ชัดเจนอยู่ในวิถีและความเชื่อ รวมไปถึงคำเรียกประเทศหรือแผ่นดินก็มีความหมายเช่นเดียวกับสองสิ่งนี้

xH uD>” หรือ “ที-ก่อ” ภาษาปวาเกอญอที่ใช้เรียกพื้นที่อาณาเขตหรือประเทศ เป็นคำง่ายที่ใครก็พูดได้ แต่ลึกซึ้งในความหมายมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ

“ที” คือน้ำ สิ่งที่ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น ชีวิตเติบโต  “ก่อ” คือ (ผืน) ดิน หล่อเลี้ยงลมหายใจและจิตวิญญาณ เกิดจากจารีตประเพณีเดิมของปวาเกอญอ มีโครงสร้างการใช้และจัดการเป็นระบบสมดุลระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติ

ในฐานะปวาเกอญอเจ้าของภาษา ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “ทีก่อ” ใจสัมผัสได้ถึงความร่มเย็น ความสงบ และความเกื้อกูล ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนคำว่า “บ้าน” โลกของครอบครัว

บรรพบุรุษปวาเกอญอหยิบสองสิ่งนี้เรียงเป็นภาษิตสอนลูกหลานให้สำนึกในคุณค่าและความหมายของน้ำและดินที่หล่อเลี้ยงชีวิตและวิญญาณเผ่าพันธุ์ว่า 
ytDxHb.uwDRxH< ytD.uD>b.uwDRuD>I  uwDRtDRvhRwk>vhRwDR< qlngurkmxHrkmuD>I

“เราดื่มน้ำต้องรักษาน้ำ เรากินจากก่อ (ดิน) ก็ต้องรักษาก่อ รักษาจนสมดุลมั่นคง แผ่นดินจะร่มเย็นเป็นสุข” คือคำแปลภาษิตที่หลายคนมักยกมาอธิบายรากเหง้าและตัวตนปวาเกอญอ

เช่นเดียวกับ พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปวาเกอญอแห่งบ้านหนองเต่าในเชียงใหม่ และ ซอพอลเส่งทวา หรือซอพอล นักสิ่งแวดล้อมแห่งลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งสองอยู่คนละประเทศตามรอยขีดแดนบนกระดาษ แต่กลับใช้คติธรรมข้อนี้อธิบายบางอย่างเหมือนกัน ทำให้มั่นใจระดับหนึ่งว่าปวาเกอญอไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็มีรากเหง้าความคิดความเชื่อที่ยึดโยงสัมพันธ์กับผืนน้ำและแผ่นดินไม่ต่างกัน และสิ่งนี้เป็นสะพานสำคัญเชื่อมปวาเกอญอกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล

เพราะเชื่อว่าที่ใดมี “น้ำกับดิน” ที่แห่งนั้นย่อมมีป่า สัตว์ พืชพรรณ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางชีวิต และที่สำคัญสุดคือมีทางเลือกเพื่อเป้าหมายที่สงบอิสระของตัวเองได้ น้ำและดินจึงสำคัญเท่าชีวิตและจิตวิญญาณของปวา-เกอญอ  การใช้และรักษาต้องเดินคู่ขนานในเวลาเดียวกัน

“ปวาเกอญอมองทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ‘โค’ หรือทางโลก หมายถึงชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ และอีกส่วนคือ ‘ปลือ’ หรือทางจิตวิญญาณ หมายถึงชีวิตหลังความตาย...ณ ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก ปวาเกอญอจะมีการคิดและวางแผนจัดการเผื่อชีวิตหลังความตายด้วย โดยเฉพาะการแบ่งเขตแดน...” ซอพอลกล่าวถึงมุมมองที่สัมผัสผ่านคืนวัน ๔๘ ปีของชีวิตบวกคำบอกเล่าผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดมากว่า ๒๐ ปี

การแบ่งพื้นที่ว่าส่วนไหนใช้หาอยู่หากิน ส่วนไหนให้วิญญาณโลกหลังตาย และส่วนไหนเป็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ คือความคิดที่บอกว่าปวาเกอญอมองตัวเองเป็นผู้อาศัย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพยากรธรรมชาติทั้งในโลกปัจจุบันและหลังจากไป

“ไม่ว่าจะอยู่โลกใบไหนหน้าที่ของเราก็อย่างเดียวกัน ก็คือต้องปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ให้อยู่รอดปลอดภัย หากใครต้องการใช้ประโยชน์จะต้องขออนุญาตเสียก่อน และภายหลังการใช้ก็จะต้องขอบคุณด้วย”

ความคิดและความเชื่อนี้แจ่มชัดอยู่ในวิถีการทำไร่หมุนเวียน ก่อนจะฟันไร่ เผาไร่ หยอดข้าว ไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทุกขั้นตอนต้องทำพิธีขออนุญาต ขอบคุณ และขอขมาหลังเสร็จงาน เพื่อบอกสิ่งที่มองไม่เห็นว่า “ฉันให้เกียรติและเคารพเธอเสมอนะ”

“...ปวาเกอญอมีความรู้ชุดหนึ่งเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและยั่งยืนในการใช้และจัดการที่ดินควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ” ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการรุ่นใหญ่ทำงานใกล้ชิดกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๕๐ ปี แสดงความเห็นและกล่าวเพิ่มเติมว่า “กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐจารีตของไทยมานาน มีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงกลุ่มอื่น ก็คือมีความรู้ในการอยู่กับป่าอย่างชัดเจน เชื่อในเรื่อง ‘ขวัญ’...”

ปวาเกอญอเชื่อว่ารอบตัวและในทุกพื้นที่มีขวัญอาศัยอยู่ ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เช่นเรื่อง “นกขวัญข้าว” ที่มองว่าขวัญของข้าวอยู่ที่นก  การที่ข้าวงอกงามเป็นผลผลิตได้เพราะมีนกดูแล หลังเก็บเกี่ยวจึงมีการทิ้งข้าวส่วนหนึ่งไว้ให้นกในไร่หมุนเวียนกิน
‘‘ytDxHb.uwDRxH<
ytD.uD>b.uwDRuD>I
uwDRtDRvhRwk>vhRwDR< 
qlngurkmxHrkmuD>
I’’
“เราดื่มน้ำต้องรักษาน้ำ 
เรากินจากก่อ (ดิน) 
ก็ต้องรักษาก่อ 
รักษาจนสมดุลมั่นคง 
แผ่นดินจะร่มเย็นเป็นสุข”
“บรรพบุรุษของเรามองว่าต้นไม้ในป่าเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ปลูก ไม่ได้รดน้ำ เช่นเดียวกับสัตว์ป่าที่เราไม่ได้เลี้ยง ไม่ได้ให้อาหาร ฉะนั้นจะต้องพึ่งพาและอยู่ร่วมไปพร้อมกับการดูแลปกป้อง” ซอพลาทู ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าพื้นเมืองปวาเกอญอกล่าว พร้อมยกตัวอย่างสัตว์ต้องห้ามตามจารีตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวเมียที่ท้องอยู่หรือสัตว์ตัวผู้ที่มีตัวเดียว โถ่ขลื่อ (นกเขา) โถ่ชอเช (นกกระจิบ) รวมถึงชะนีที่อาศัยอยู่ตามขอบไร่หมุนเวียน

เหตุผลการห้ามมีเพียงว่าหากทำร้ายสัตว์กลุ่มนี้จะทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขได้ เพราะเป็นการกระทำผิดต่อเจ้าป่าเจ้าเขาหรือเจ้าที่เจ้าทาง

การอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้รู้สึกถึงความลึกลับน่าเกรงขาม แต่ความจริงแล้วเข้าใจง่ายนิดเดียว หากสัตว์ที่ท้องอยู่ถูกฆ่า สัตว์ชนิดนั้นก็เสี่ยงสูญพันธุ์ หากสัตว์ตัวผู้ที่มีตัวเดียวถูกฆ่า ก็จะไม่มีพ่อพันธุ์คอยผสมพันธุ์ หรือหากว่านกเขากับนกกระจิบที่กินหนอนและแมลงเป็นอาหารถูกฆ่าหมด พืชพรรณที่เพาะปลูกก็จะได้รับความเสียหายจากการรุกรานของหนอนและแมลง  เช่นเดียวกับชะนีที่อยู่ใกล้พื้นที่ไร่หมุนเวียน ถ้าหากหายไปหมด ฝูงลิงก็จะมาแทนที่และสร้างความเสียหายให้ต้นข้าวได้

เมื่อนึกย้อนกลับไปวันเก่าที่เคยใช้เวลากับน้า ตอนนี้เดาออกแล้วว่าทำไมแกถึงให้รื้อฝายปล่อยน้ำให้ไหลเหมือนเดิม คงไม่ใช่แค่กลัวว่าตายแล้วหูจะหนวกหรอกนะ แต่เป็นเพราะถ้าไม่ทำให้เหมือนเดิม สิ่งมีชีวิตจำนวนมากตามซอกหินดินทรายจะต้องตายทั้งหมดเพราะขาดน้ำ

ความแยบยลของกุศโลบายรักษาความสมดุลและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศให้คงอยู่ได้ยาวนานมากกว่าที่คิด หากตอนนี้กลับไปกั้นฝายหาปลาที่เดิมก็ยังสามารถทำได้ไม่ต่างจาก ๑๐ กว่าปีที่แล้วมากนัก  การมีอยู่ของกฎเกณฑ์ข้อห้ามจึงทำให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าก็อยู่ได้

ไม่เพียงอยู่ร่วมเกื้อกูล แต่ยังเคารพเป็นสิ่งมีค่าความหมาย หากยังไม่ลืมจะจำได้ว่าความเชื่อเรื่องนกขวัญข้าวนั้นนกเป็นเสมือนเทพเจ้าให้อาหาร ทำนองเดียวกับเรื่องเล่าบรรพบุรุษปวาเกอญอที่มีพลังวิเศษได้เพราะสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นพือมอต่อ หรือเถาะแมป่า

ว่ากันว่าพือมอต่อหรือปู่มอต่อคือบรรพบุรุษปวาเกอญอ เป็นคนเอื้อเฟื้อที่รักสงบ ชอบทำไร่หมุนเวียนอยู่ในป่าลึก แม้มีสัตว์ป่าจำนวนมากรุกรานทั้งกินและทำลายพืชผลในไร่ ต้องสู้รบปรบมือกันนับครั้งไม่ถ้วน แต่ท้ายสุดเขาก็เป็นคนแรกที่ตีกลองมโหระทึกวิเศษของฝูงลิง หนึ่งในสัตว์ป่าที่อาศัยข้าวไร่ของเขาเป็นอาหาร หลังตีกลองคุณปู่ก็กลายเป็นคนวิเศษ ทุกคำพูดที่เปล่งออกมากลายเป็นจริงได้ในพริบตา
Image
แผนที่อุทยานสันติภาพสาละวิน
ความใกล้ชิดกับสัตว์ป่าทำให้พือมอต่อได้ครอบครองของวิเศษจำนวนมาก นอกจากกลองมโหระทึกจากลิง ของสำคัญอีกชิ้นคือหวีวิเศษจากเขี้ยวหมูป่าที่เก็บมาจากรังหมูป่าเมื่อคราวยังทำไร่และส่งต่อเป็นมรดกให้เถาะแมป่าผู้เป็นบุตรชาย  หวีวิเศษนี้เปลี่ยนคนกลับสู่วัยหนุ่มพร้อมเติบโตใหม่ได้ตลอดเวลา ขนาดเผลอวางบนง่ามไม้ ณ ตำแหน่งรอยวางยังเกิดยอดอ่อนแตกใบให้โลกชื่นชม คือที่มาของเถาะแมป่า ชายหนุ่มผู้ไม่ยอมแก่ด้วยหวีจากเขี้ยวหมูป่า

แง่มุมนี้ปวาเกอญอไม่ได้มองสัตว์ป่าเป็นสิ่งธรรมดา แต่คือบางอย่างที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายไม่แพ้สิ่งใดในป่า สำคัญเหมือนน้ำ ดิน และป่า ที่หนุนนำชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองได้

ชีวิต จิตวิญญาณ และผืนป่า คือสิ่งเดียวกันในแรกเริ่มของปวาเกอญอ และมั่นใจว่าในส่วนลึกก็ยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอมา อาจจางตามกาลเวลาและทิศทางลมที่พัดผ่านไปบ้าง แต่ความชัดเจนก็นับได้ว่ายังมีอยู่ เพราะ...

ฉันยังคงได้ยินเสียงพ่อบอกว่าช้างคือเจ้าของแผ่นดินที่คนต้องให้เกียรติและเคารพ เพราะที่ไหนมีช้าง ที่นั่นจะมีป่า มีน้ำสะอาด และที่นั่นจะมีชีวิต

ฉันยังคงได้ยินเสียงแม่บ่นและเตือนเสมอว่า “ห้ามตะโกนโหวกเหวกพูดคุยเสียงดังหรือพูดคำหยาบคายในเวลาเข้าป่านะ” เพราะเชื่อว่าจะรบกวนเจ้าป่าเจ้าเขา ซึ่งอาจเคืองใจดลบันดาลให้ป่วยไข้ได้

ฉันยังคงเห็นพี่เขยงดเข้าป่าล่าสัตว์ในวันที่พี่สาวท้อง เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดลำบาก

ฉันยังคงเห็นอาไม่ฟันไร่หมุนเวียนในบริเวณที่ได้ยินเสียงเก้งร้อง เพราะเชื่อว่าเป็นลางร้าย

ฉันยังคงเห็นน้ารื้อที่กั้นตะปว่าออกหลังจากจับปูปลา เพราะกลัวว่าหมดลมหายใจไปแล้วจะกลายเป็นคนหูหนวก

ฉันยังคงได้ยินป้าห้ามให้กลิ้งหินลงเขา เพราะเกรงว่าหลังตายไปแล้วจะต้องใช้ศีรษะเข็นหินกลับมาที่จุดเดิม

ฉันยังคงเห็นคนข้างบ้านเรียกขวัญคืนทุกครั้งที่ออกจากป่า

ฉันยังคงเห็นว่าทุกปีก่อนฤดูไฟป่ามา เรายังต้องทำแนวกันไฟรอบป่าช้า เพื่อให้ทุกชีวิตในโลกหลังความตายได้อยู่อย่างสงบ

และอีกจำนวนมากที่ตอนนี้เริ่มจำไม่ได้แล้วว่ามีอะไรอีกบ้าง แต่มั่นใจว่ามีอีกเป็นร้อยพันที่คนอยู่กับป่ายึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

มากความคิดและความเชื่อคือปวาเกอญอเป็นชนเผ่าที่เคารพในธรรมชาติ มองสิ่งรอบตัวเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มีพลังเกื้อกูลเลี้ยงลมหายใจและจิตวิญญาณได้ และเป็นจารีตให้การอยู่ร่วมกับป่าเป็นไปอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนกันเกินไป ชีวิตและจิตวิญญาณของปวาเกอญอจึงสามารถยึดโยงอยู่กับผืนป่า แผ่นดิน และสายน้ำได้ ทั้งอดีตในความทรงจำ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นอยู่ และคงจะมีต่อไปในอนาคต
Image
Image
นาข้าวและการลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวบ้านในหมื่อตรอ และการเอามื้อเอาแรงดายหญ้าในไร่หมุนเวียนของชาวบ้านชุมชนมีหม่อเดอ อำเภอลูซอร์ จังหวัดหมื่อตรอ คือส่วนหนึ่งของวิถีที่สร้างชุมชนให้แข็งแรงเกื้อกูล
จากสันติสู่สงคราม
เมื่อสันติภาพถูกกัดกร่อนให้กลายเป็นฝัน

แม้จะสัมผัสได้ทั้งในความทรงจำและปัจจุบันที่เป็นอยู่ ว่าปวาเกอญออยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีโอกาสเสมอไป  คนจำนวนมากไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมที่ต้องการได้อย่างปรกติสุข เพราะถูกสิ่งที่เรียกว่า “สงคราม” ผลักไสให้อยู่ใต้ความดำมืดกับความหวาดกลัวและความไม่แน่นอน

บนพิกัดตะวันออกของเมียนมาที่รู้จักกันในชื่อ “รัฐกะเหรี่ยง” หรือ “ก่อทูเล” ตามนิยามปวาเกอญอ เป็นดินแดนที่บรรพบุรุษปวาเกอญอลงหลักปักฐานมายาวนาน

“ก่อทูเล” ยังอยู่ในฐานะแผ่นดินในฝันปวาเกอญอที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง มีการให้ความหมายที่หลากหลาย  แผ่นดินที่มีแต่ความสว่างไสวบ้าง แผ่นดินสีทองบ้าง แผ่นดินที่มั่นคงดั่งหินผาบ้าง และบางคนก็ปฏิเสธทุกนิยาม แต่บอกว่าคำว่า “ก่อทูเล” มีรากศัพท์มาจาก “ซูเล” ชื่อพืชที่ดอกบานต้นฝน กับ “กอเว” ชื่อแมลงที่ส่งเสียงในฤดูต้นข้าวออกดอกตั้งท้อง ก่อซูเลจึงหมายถึงแผ่นดินที่มีความเจริญงอกงามสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์

อาจบอกไม่ได้ว่าความหมายไหนจริงแท้ แต่มองเห็นชัดว่าทุกความหมายเชื่อมอยู่กับทรัพยากรและธรรมชาติที่สามารถบอกกล่าวลักษณะก่อทูเลได้อย่างดี

ก่อทูเลมีชื่อทางการว่าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) เป็นหนึ่งในพื้นที่ของเมียนมาที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเขตจังหวัดหมื่อตรอหรือผาปูน ติดแม่น้ำสาละวินและพรมแดนไทยบริเวณอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพเป็นป่ามากกว่าร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หลากหลาย รวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างช้างป่า เสือดาว เสือโคร่ง หมีดำเอเชีย เสือลายเมฆ กวางป่า ตัวนิ่ม และอื่น ๆ

“หุบเขาที่มีแสงอาทิตย์สาดส่อง” คือความหมายของคำว่า “หมื่อตรอ” หนึ่งในจังหวัดของเคเอ็นยู ที่มี ซอเทนเดอร์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และอยู่ใต้การดูแลของกองพลน้อยที่ ๕ กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ที่มีพลตรี ซอหมื่อแฮ เป็นผู้บัญชาการดูแลรับผิดชอบ

มองจากมุมสูงจะเห็นชัดเจนว่าพื้นที่หมื่อตรอเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีสีเขียวเข้มและอ่อนปกคลุม พื้นล่างหุบเขาปรากฏแม่น้ำไหลผ่านเป็นจุด ๆ มีผืนนาขนานยาวตามลำน้ำไกลสุดสายตา และมีสวนหมากกับไร่หมุนเวียนประปราย

ลึกเข้าไปด้านในพื้นที่ส่วนมากเป็นป่าใหญ่ มีชุมชนกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ทั้งตามป่า ตามหุบ และกลางดอย  ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกิดใหม่ของชาวบ้านที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในถิ่นเกิดบ้านเดิมได้  เหตุเพราะความไม่สงบและการมีอยู่ของสงครามที่เป็นมรดกตกมาจากอังกฤษ พ่วงท้ายกับการมอบเอกราชให้เมียนมาใน ค.ศ. ๑๙๔๘ โดยไม่สร้างความเป็นธรรมที่ชัดเสียก่อน นำมาสู่การกำเนิดเคเอ็นยูลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชเหนือดินแดนชนชาติปวาเกอญอในปีถัดมา

การเริ่มต้นของสงครามในวันนั้นจนวันนี้เดินทางเข้าปีที่ ๗๓ นานเท่ากับชั่วชีวิตของคนหนึ่งคนแล้ว แต่เสียงปืนยังไม่หาย เสียงร่ำไห้ยังดังต่อไป เปลวไฟยังเผาไหม้แผ่นดิน และผู้คนยังต้องวิ่งหนี หลบซ่อน อยู่กับความกลัวที่คาดเดาอะไรแทบไม่ได้ ทั้งหมดนี้ทำให้การลงหลักปักฐานถาวรเป็นเรื่องยากดั่งฝันไม่ต่างจากการตามหาสันติภาพ

พอลเส่งทวา เล่าประวัติศาสตร์ก่อทูเลฉบับย่อให้ฟังว่า สถานการณ์บ้านเมืองบังคับให้วิถีและชีวิตเริ่มดำเนินอย่างผิดแผกไม่ตามแบบแผนบรรพชนนับแต่หลัง ค.ศ. ๑๙๖๕ เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๕ ที่เข้าสู่ช่วงวิกฤตพลิกผัน กองทัพเมียนมาเข้ายึดครองพื้นที่  ส่วนจุดที่ถือว่าเลวร้ายสุดอยู่ในช่วง ค.ศ. ๑๙๙๗ ถูกโจมตีโดยเครื่องบินจากกองทัพทหารเมียนมา จากนั้นอ่อนลงใน ค.ศ. ๒๐๑๒ เมื่อเริ่มพูดคุยเรื่องสัญญาการหยุดยิงทั่วประเทศ นำไปสู่การลงนามในสัญญาฯ ค.ศ. ๒๐๑๕ ปัจจุบันกำลังกลับมาเลวร้ายอีกครั้ง และมีทีท่าว่าครั้งนี้จะยิ่งกว่าทุกคราวที่ผ่านมา

การเดินทางวนเวียนอยู่ในสนามรบ ทำให้ทรัพยากร ความรู้ และภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่สั่งสมมายาวนานจำนวนมากหล่นหายระหว่างทาง และแทนที่ด้วยความยากจนแร้นแค้น บังคับให้ผู้คนโยนทิ้งระเบียบข้อห้าม ทำลายเขตแดนระหว่างชีวิตกับจิตวิญญาณ ความเกื้อกูลระหว่างชีวิต จิตวิญญาณ และผืนป่ากระด้างไม่เหมือนเดิม

การวิ่งหนีเข้าป่าเพื่อเอาชีวิตรอดไม่เหมือนการไปแค้มปิงดมกลิ่นป่าอาบธรรมชาติ แต่คือการออกจากบ้านที่ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้กลับมาหรือเปล่า ไม่ได้เป็นแค่การทิ้งบ้านเรือนถิ่นเกิด แต่คือการทิ้งวิถีและที่ทำกินด้วย  และการเริ่มต้นใหม่ในป่าที่แม้ไม่ถาวร แต่แน่นอนว่าไม่มีวันเหมือนเดิม เช่นเดียวกับผืนป่าที่พลอยถูกรบกวนเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ชีวิตและลมหายใจในสงครามเต็มไปด้วยการดิ้นรนทุกวัน ไม่มีเวลาและโอกาสสำหรับการดูแลรักษาความรู้สึกให้อ่อนโยน ผู้คนจำนวนมากที่เคยมีเรือกสวนที่นากลับต้องโค่นป่าฟันไร่เพื่อปลูกข้าวประทังชีวิต การทำไร่ไม่หมุนตามวิถีและการเลือกที่ดินไม่ตามประเพณี ไม่มีพิธีรีตองในการทำมาหากิน  ขอเพียงรอดวันต่อวันก็เกินพอ  หลายครั้งและหลายคนเมื่อเข้าตาจนต้นน้ำยอดเขาก็ฟันไม่เว้น เจอสัตว์ต้องห้ามหรือใกล้สูญพันธุ์ก็ต้องเลือกว่าจะให้ตัวเองหรือสัตว์สูญพันธุ์ก่อนกัน ชีวิตที่ถูกผลักให้ผิดแผกทำลายความสัมพันธ์คนกับป่าระส่ำระสายไม่เหมือนเคย  วิถีเดิมกลายเป็นอดีตในฝันที่ปวาเกอญอหมื่อตรอทำได้เพียงโหยหาในปัจจุบัน
Image
ชาวบ้านริมน้ำสาละวินและพื้นที่อื่น ๆ 
ในหมื่อตรอ รวมตัวร่วมงานกิจกรรม 
“วันหยุดเขื่อนโลก” เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน
การสร้างเขื่อนจากนายทุน

“บ้านเมืองเราตอนนี้ยังอยู่ในสงครามแค่นี้ก็หนักหนาพอแล้ว เรายังต้องวิ่งหนีอยู่เลย ถ้ามีเขื่อนก็จะยิ่งซ้ำเติมไปอีก เราไม่ต้องการเขื่อน เราไม่เอา...”
ไม่ง่ายเลยที่จะเป็นคนดีใจงามในวันที่ถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน เพราะขณะที่สงครามพรากสันติภาพไปจากชีวิต  จิตวิญญาณ ประเพณี และวัฒนธรรมก็ถูกทำลายไปด้วย

ใช่เพียงสงครามที่ทำร้าย แต่ยังมีนักฉวยโอกาสมาทำลาย ขณะที่วุ่นวายกับการเอาชีวิตรอดให้ผ่านไปวันต่อวัน กลับมีคนอีกกลุ่มเข้ามาซ้ำเติมให้หนักกว่าเก่าด้วยสายตาที่มองทุกอย่างเป็นสินค้าและกำไร  โยนทุนเข้าครอบทั้งค้าไม้ ทำเหมือง สร้างถนน ไปจนถึงการสร้างเขื่อน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความกังวลสูงสุดของชาวบ้านในหมื่อตรอ

“บ้านเมืองเราตอนนี้ยังอยู่ในสงคราม แค่นี้ก็หนักหนาพอแล้ว  เรายังต้องวิ่งหนีอยู่เลย ถ้ามีเขื่อนก็จะยิ่งซ้ำเติมไปอีก เราไม่ต้องการเขื่อน เราไม่เอา...”

“เกี่ยวกับเขื่อนในตอนนี้เราไม่ต้องการเลย ไม่เลยเด็ดขาด...และเราจะไม่ได้ใช้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ด้วย  มันเป็นแค่ของคนใหญ่โตไม่กี่คน และจะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ด้วย เพราะมันจะทำร้ายเรา ทำลายวิถีชีวิตเรา ทำลายทั้งหมดเลย”

“...เราไม่อยากให้สร้างเขื่อน เพราะมันจะทำลายแม่น้ำ ทำลายเรา มันจะสร้างความเดือดร้อนมหาศาล”

เสียงคัดค้านการสร้างเขื่อนดังขึ้นในกิจกรรมเนื่องใน “วันหยุดเขื่อนโลก” ริมน้ำสาละวินที่ผ่านมา ย้ำชัดว่าไม่มีใครต้องการเขื่อน ไม่ว่าจะเว่ยจี ดา-กวิน หรือฮัตจี หนำซ้ำยังเป็นความกังวลใหญ่หลวงของทุกคนด้วย

โดยเฉพาะเว่ยจีกับดา-กวินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจับมือคุยกับนายทุนจีนตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๔ เป็นต้นมานั้น หากเกิดขึ้นจริงวันวิปโยคจะมาสู่พื้นที่หมื่อตรอ และคงจะเลวร้ายไปสู่การล่มสลายลงของชีวิตลูกสาละวิน

“พวกสร้างเขื่อนเขาก็มองว่า แม่น้ำไหลลงทะเลไร้ค่าไม่เกิดประโยชน์ ทำไมไม่กักเก็บน้ำไว้ ทำไมไม่เอามาสร้างไฟฟ้าหรืออะไรอย่างนี้ แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังคือผลประโยชน์ทั้งนั้น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง...” เพียรพร ดีเทศน์ หรือพี่ไผ่ เผยเรื่องต้องห้ามที่ซ่อนอยู่ด้านหลังการสร้างเขื่อน ที่รับรู้มาจากการทำงานในองค์การแม่น้ำนานาชาติ

เธอทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำมานานกว่า ๒๐ ปี เห็นการเดินทางผจญภัยของแม่น้ำไม่น้อย พี่ไผ่บอกว่า “ลำน้ำสาละวินตลอด ๒,๘๐๐ กว่ากิโลยังไม่มีเขื่อนใดปิดกั้น และมีการรบกวนจากมนุษย์น้อยมากเมื่อเทียบกับแม่น้ำโขงที่มีการสร้างเขื่อนแล้วหลายแห่ง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเสียหายทางระบบนิเวศและนิเวศบริการ ระดับน้ำผันผวน พันธุ์ปลาสูญหาย ฯลฯ คนจำนวนมากที่ใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงถูกเบียดขับออก และทรัพยากรถูกพรากไปจากชุมชน ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงได้อีก ซึ่งเราก็ไม่อยากเห็นแบบนี้ที่สาละวิน”

เข็มเวลาที่หมุนจาก ค.ศ. ๒๐๐๒ มาจนถึง ค.ศ. ๒๐๒๑ แม้ทุนขนาดใหญ่จ่อเข้ามาไม่ขาดสาย แต่ความเข้มแข็งของลูกสาละวินก็ช่วยชีวิตแม่น้ำสาละวินให้เป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ยังไหลอิสระไร้เขื่อนกั้นตลอดการเดินทางได้

สงครามมีมายาวนาน แต่ก่อทูเลก็ยังอยู่ ปวาเกอญอก็ยังสู้  เป็นความจริงและความฝันว่าการตามหาสันติภาพบนก่อทูเลเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ทุกวันที่มาก็ยังมีหวังให้ก้าวต่อไป
Image
การประชุมสมัชชาใหญ่ประจำ ค.ศ. ๒๐๒๐
ระหว่างตัวแทนสมาชิกอุทยานสันติภาพสาละวิน
จากฝ่ายท้องถิ่น องค์กรประชาสังคม 
เคเอ็นยูส่วนกลาง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

กำเนิดอุทยาน 
หนทางสู่สันติภาพ
ความจริงที่กลายเป็นฝัน จะกลับเป็นจริง
เมื่อหยุดฝันแล้วลงมือสร้างให้เป็นความจริง

สงครามดำเนินเรื่อยมาถึงจุดที่นักรบเหนื่อยล้า การต่อสู้ชะลอลง ทหารพักการฆ่า หันมาพูดคุยสันติภาพ เพื่อเดินไปหาสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement, NCA) ให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้

เสียงปืนเบาลง ชาวบ้านที่กระจายพลัดหลงอยู่ตามป่าเขาลำธารก็หอบข้าวของและชีวิตที่บอบช้ำออกจากป่าสู่ชุมชน เริ่มลงมือสร้างบ้านแปงเมืองกันใหม่ คล้ายว่าฝันที่จะกลับบ้านและหวังที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบที่สงครามพรากจากไปนานกำลังเริ่มคืนกลับมาเป็นจริงอีกครั้ง

เพื่อให้คืนวันแห่งสันติภาพกลับมาอยู่ในชีวิต  การผลักดันช่วยเหลือชุมชนในก่อทูเลให้ฟื้นวิถีเดิมจากหลายฝ่ายจึงเริ่มขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยงหรือเคซาน (Karen Environmental and Social Action Network, KESAN) ที่ทำสิ่งนี้อยู่ก่อนมานานแล้ว

หัวใจที่อยากปกป้องแผ่นดินบรรพบุรุษของเยาวชนปวาเกอญอวัย ๒๐ ต้น ๆ ทำให้เคซานเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๒๐๐๑

“ตอนเริ่มเรามีเงินในกระเป๋ากางเกงแค่ ๒๐ เองมั้ง แต่เพราะยังไม่มีการทำงานด้านนี้ และทุนก็เข้ามาทำลายชุมชน เราก็เลยเริ่มลงมือทำ...” ซอพอล ผู้ชักชวนกลุ่มเพื่อนสร้างเคซานพาย้อนกลับไปวันเก่าให้ภาพเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วว่า ทุกอย่างเริ่มจากการอยากรักษาบ้านและชุมชนที่ตกอยู่กลางสงครามสู้รบและทุนขนาดใหญ่ ที่เข้าทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมบรรพชน  ท่ามกลางความยากแค้นและการสูญเสียมหาศาลนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของเคซาน

การเดินทางเพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของปวาเกอญอกลุ่มนี้เกิดก่อนสัญญาหยุดยิงมากกว่า ๑๐ ปี เริ่มด้วยการค้นหาข้อมูลทั่วไปจากหน้ากระดาษสู่การเดินเข้าสนามดูชุมชน แล้วสร้างพื้นที่แบ่งปันความรู้กับชาวบ้านและกลุ่มต่าง ๆ พร้อมทั้งผลิตสื่อประกอบเพื่อให้สื่อสารง่าย และไม่ลืมที่จะปลูกดอกไม้แห่งการตระหนักให้ผู้คนมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นไปด้วย แม้สงครามจะยังไม่จบก็ตาม

เพื่อรักษาแผ่นดินแม่ กลุ่มอนุรักษ์ปวาเกอญอขนาดเล็กกลุ่มนี้จึงมุ่งและทุ่มกับการฟื้นพื้นที่ป่าและสิ่งแวดล้อมด้วยความจริงใจ จนสร้าง “ป่าชุมชน” ผืนแรกขึ้นได้ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ซึ่ง “ดูเซอถู่” ก็คือป่าผืนนั้น อยู่ในพื้นที่ของกองพลน้อยที่ ๑

สถานะที่เปลี่ยนเป็นป่าชุมชนมาพร้อมข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ ภายใต้ระเบียบที่ชุมชนตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติร่วมกัน ให้การใช้พื้นที่คงความเกื้อกูลและยั่งยืนต่อไป

เวลาผ่านไปหลายปี การเมืองยังไม่แน่นอนและการรุกล้ำของทุนที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น งานสิ่งแวดล้อมต้องค้นหาทางใหม่เพื่อก้าวต่อไป เพราะเริ่มมองเห็นแล้วว่าป่าชุมชนอย่างเดียวไม่เพียงพอให้ชุมชนกลับมาพึ่งพาตัวเองได้  ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองและการเบียดขับของทุนที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และในที่สุดปัญหานี้ก็นำมาสู่การฟื้นฟูระบบ “ก่อ” ซึ่งเป็นรูปแบบการถือครองและจัดการที่ดินตามประเพณีปวาเกอญอโบราณ เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิและเสรีภาพในการจัดการพื้นที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่มากกว่าป่าชุมชน

ไม่กี่ปีหลังต่อมาสัญญาหยุดยิงก็เกิดขึ้น คนทำงานสิ่งแวดล้อมจับมือขับเคลื่อนงานได้สะดวกและง่ายขึ้น โดยเฉพาะความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยในการเดินทางนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด

บวกเข้ามาลบก็ตามมาด้วย ขณะที่เสียงปืนเบาลงทุนก็ไหลเข้าเป็นว่าเล่น งานฟื้นฟูก่ออย่างเดียวไม่ทันการณ์อีกแล้ว ไม่คลุมพื้นที่ตามประสงค์ต้องการ หากฝืนใจค่อยเป็นค่อยไปมีหวังไม่ถึงปลายทางเป็นแน่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าระหว่างทางจะสะดุดหกล้มหรือเหยียบกับระเบิดเมื่อใดก็ได้ จนในที่สุดการเดินทางก็นำพาสู่ความคิดเรื่องการจัดตั้ง “อุทยานสันติภาพ” หลังมีการลงนามในสัญญาหยุดยิงได้ ๑ ปี เพื่อให้สามารถจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งจังหวัดหมื่อตรอได้ในเวลาเดียวกัน
“ไม่ว่าจะอยู่โลกใบไหนหน้าที่ของเราก็อย่างเดียวกัน ก็คือต้องปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ให้อยู่รอดปลอดภัย หากใครต้องการใช้ประโยชน์จะต้องขออนุญาตเสียก่อนและภายหลังการใช้ก็จะต้องขอบคุณด้วย”
Image
 “ทีโพก่อเกอจ่า” ผู้มีตำแหน่งสูงสุด
ในระบบที่ดินแบบก่อทำพิธีขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ให้ปกป้องคุ้มครองแม่น้ำสาละวิน
ในกิจกรรม “วันหยุดเขื่อนโลก”

“เราล้อมรั้วต้นไม้ด้วยต้นไม้ เราล้อมรั้วต้นไผ่ด้วยต้นไผ่ เกอญอที่มีเลือดเนื้อจะปกป้องตัวเองก็ต้องใช้ความเป็นเกอญอ จะใช้สิ่งอื่นไม่ได้ เราต้องล้อมรั้วให้ตัวเองด้วยตัวเอง...ปวาเกอญอต้องอยู่ร่วมกันกับป่า ต้นไม้ น้ำ ดิน และสัตว์ป่า การอยู่ร่วมกันจะทำให้เรามีอยู่ได้นาน...” พลเอก ซอบอจ่อแฮ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “พือบอ” กล่าวถึงอุทยานสันติภาพสาละวินในเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรกับตัวแทนชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ตามป่าเขาบ้านไพร

วงสนทนาคนหมื่อตรอเป็นพื้นที่ให้ทุกคนร่วมออกแบบอุทยานสันติภาพฯ ตามต้องการและใฝ่ฝัน เน้นใช้ความรู้ ภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรม เรื่องราวประวัติศาสตร์ นิทาน ตำนาน และทุกอย่างที่เป็นปวาเกอญอเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพปกป้องปวาเกอญอ

“อุทยานสันติภาพฯ เกิดเพราะเราอยากให้มีพื้นที่สันติภาพสำหรับชีวิตและลมหายใจปวาเกอญอ ซึ่งไร้สันติภาพมานานแล้ว” คือคำตอบเมื่อถามว่าอุทยานสันติภาพฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร

เริ่มจากเลือกหมื่อตรอเป็นพื้นที่เป้าหมายแล้วออกแบบร่วมกัน บางคนบอกว่าอยากสร้างเหมือนอุทยานแห่งชาติที่อยู่อีกฝั่งน้ำสาละวิน หลังหารือทุกคนก็เห็นไม่ต่างกันว่าอุทยานแห่งชาติไม่สอดคล้องกับวิถีและชีวิตของปวาเกอญอก่อทูเล

คำตอบสุดท้ายจบลงที่อุทยานสันติภาพฯ รูปแบบที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเอื้อชุมชนท้องถิ่นให้มีสิทธิ์เต็มที่ในการบริหารจัดการและปกป้องตัวเองทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณี โดยให้เคเอ็นยูคอยสนับสนุนและพิจารณารับรองการเกิดขึ้นของระเบียบชุมชนต่าง ๆ

“เพื่อเกิดสันติภาพที่จริงแท้ในก่อทูเลหรือรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ขาแรกที่ต้องสร้างคือสันติภาพและสิทธิในการกำหนดชะตาตัวเอง ให้ชุมชนจัดการตัวเองได้อย่างสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมเหนือที่ดินบรรพบุรุษ  ส่วนขาที่ ๒ คือสิทธิในการอนุรักษ์และการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้พื้นที่หมื่อตรอที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีสัตว์หายากกว่า ๓๐ ชนิดนั้นได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสุดท้ายหรือขาที่ ๓ คือการธำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณี เพราะพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความรู้และภูมิปัญญาเชื่อมคนกับพื้นที่ให้อยู่ร่วมด้วยความเกื้อกูลอย่างสันติ”

หนุ่มผมยาวแววตาอุ่น ผู้ผลักและดันงานสิ่งแวดล้อมให้เติบโตพูดอธิบายสามขาของอุทยานสันติภาพสาละวินที่กำลังสร้างให้ฉันฟัง  ก่อนเผยความกังวลใจว่า “อุทยานสันติภาพฯจะไม่มีวันเป็นจริงได้หากขาดขาข้างใดข้างหนึ่งไป เพราะทั้งสามขาเปรียบเสมือนก้อนเส้าในเตาไฟที่ต้องค้ำยันอยู่ด้วยกันจึงจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ที่มั่นคงได้”

เขาหมายถึงว่า ถ้าการธำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีหาย การอนุรักษ์และการจัดการสิ่งแวดล้อมก็จะพังทลายไปด้วย และการที่สองสิ่งนี้จะมีอยู่ได้นั้น จำเป็นต้องมีสันติภาพและสิทธิในการกำหนดชะตาตัวเองเสียก่อน
“ปวาเกอญอมองทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเป็นสองส่วนส่วนแรกคือ ‘โค’ หรือทางโลก หมายถึงชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ และอีกส่วนคือ ‘ปลือ’ หรือทางจิตวิญญาณ หมายถึงชีวิตหลังความตาย...ณ ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก ปวาเกอญอจะมีการคิดและวางแผนจัดการเผื่อชีวิตหลังความตายด้วยโดยเฉพาะการแบ่งเขตแดน...”
- ซอพอล -
จากความคิดสู่การก่อร่างสร้างตัวเดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของ ค.ศ. ๒๐๑๘ ก็ถึงคราวประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการและบันทึกลงในเรื่องราวประวัติศาสตร์ชนชาติปวาเกอญอที่บ้านเดะปูโหนะ ผู้ร่วมงานเห็นพ้องและลงนามรับรองสามในสี่จากทั้งหมดกว่าพันคน

สักขีพยานมาจากหลายส่วน ทั้งเคเอ็นยู องค์กรประชา-สังคม องค์กรชุมชน และชุมชนท้องถิ่นทั่วหมื่อตรอ รวมถึงชาติพันธุ์กลุ่มอื่นก็มายินดีด้วย ไทใหญ่ คะเรนนี ไปจนถึงปวาเกอญอในเมืองไทย

สาวนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างพี่ไผ่ที่เฝ้าติดตามการไหลของแม่น้ำสาละวินมานานหลายสิบปีเล่าถึงการเกิดขึ้นของอุทยานสันติภาพฯ ว่าเป็นกระบวนการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดที่ชีวิตเธอไม่เคยได้สัมผัสจากที่ไหนมาก่อน

เธอเล่าขยายด้วยภาพที่เคยเห็นกับตาว่า “...ได้เข้าไปเห็นเด็กนักเรียนหารือกันเรื่องนี้ เห็นกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มครู กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านปรึกษากันเรื่องนี้...คือมันมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่แค่ผู้นำ ไม่ใช่คนไม่กี่คนตัดสินใจ แต่ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน...ไม่ใช่ว่ามีหน่วยงานรัฐถือปืนเข้ามาแล้วบอกว่าห้ามทำไร่นะ ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์นะ ไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นแบบทุกคนคิดร่วมกัน แล้วใช้ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ของเขาในการอนุรักษ์”

หากต้นไม้ที่ปลูกด้วยมือปวาเกอญอเจ้าของถิ่นต้นนี้เติบโตอย่างอิสระ ไม่เพียงแค่ท้องถิ่นและก่อทูเลที่จะได้รับประโยชน์ แต่เมียนมาก็จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติด้วยเพราะการมีอยู่ของอุทยานสันติภาพสาละวินจะทำให้เกิดการปกป้องพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์จำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เมียนมาประสบความสำเร็จในการทำตามสัญญาที่ว่าจะเพิ่มหรือปกป้องพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้นร้อยละ ๑๐ ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ และการเกิดขึ้นของอุทยานสันติภาพฯ ก็เท่ากับคำมั่นนี้สำเร็จก่อนกำหนดถึง ๘ ปี

“...การเกิดขึ้นของอุทยานฯ นั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง เพราะสันติภาพคือการมีสิทธิและความสามารถในการตัดสินใจปกครองตัวเอง คือการมีสิทธิและเสรีภาพในการจัดการที่อยู่อาศัย ทรัพยากร พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมถึงปกป้องวัฒนธรรมประเพณีและทำให้เจริญเติบโตในอนาคตได้ นี่คือสันติภาพที่เราคาดหวัง” ความหวังสูงสุดที่ซอพอลตั้งไว้ในวันเปิดตัวอุทยานสันติภาพฯ
Image
Image
เสือดาว ถ่ายจากกล้องดักจับ 
เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๙ ในพื้นที่บือโส่
.
หมีดำเอเชีย ถ่ายจากกล้องดักจับ 
เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๙ ในพื้นที่บือโส่

“...เราได้ยินเรื่องราวของอุทยานฯ แบบนี้ก็ดีใจ เพราะแม้เราตายไปลูกหลานก็จะอยู่ต่อได้อย่างมีสันติภาพ นี่คือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและอยากได้ยินมานานแล้ว” ความในใจคุณแม่วัยเกษียณ หน่อพอลาวา ที่เดินทางจากบ้านลูซอร์มาร่วมงานการก่อตั้งอุทยานสันติภาพฯ

ท่ามกลางความปีติยินดีในวันเฉลิมฉลองการเปิดตัวของอุทยานสันติภาพสาละวิน ทุกคนทราบดีว่าไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น กว่าจะถึงวันนี้แลกด้วยหลายอย่าง นับตั้งแต่แรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์ ไปจนถึงชีวิตและลมหายใจ

หลายชีวิตหล่นหายระหว่างทาง หนึ่งในนั้นก็คือ ซอโอะมู ผู้ขับเคลื่อนอุทยานสันติภาพฯ คนสำคัญที่ถูกฆาตกรรมระหว่างกลับจากการลงพื้นที่เพื่อกลับบ้าน  แม้เขาจากไปก่อนวันเฉลิมฉลอง แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าในฐานะชาวบ้านธรรมดาที่รักชนชาติเผ่าพันธุ์และทุ่มเทชีวิตเพื่อแผ่นดินตัวเองนั้น ซอโอะมูทำหน้าที่ของตัวเองได้สมบูรณ์แบบอย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว

“...ตอนนี้เราได้เพาะปลูกลงในพื้นที่ของเราแล้ว เราอาจจะยังไม่ได้กินผลของมัน แต่เราหวังให้ลูกหลานเราได้กินในภายหลัง” พือบอกล่าวถึงการเกิดขึ้นของอุทยานสันติภาพฯ ในวันประกาศก่อตั้ง พร้อมกล่าวเป็นนัยให้กำลังใจกับทุกความสูญเสียระหว่างทางสู่สันติภาพว่า “อย่างน้อยการลงทุนเพาะปลูกของเราจะเป็นประโยชน์ให้ลูกหลานและเผ่าพันธุ์ของเรา”

แม้สันติภาพยังไม่เบ่งบานออกผลในวันนี้ แต่เส้นทางสู่สันติภาพก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
Image
รางวัล Equator Prize จาก UNDP
Cd.vdm
w>rkmw>ck.u&X>  
: ฟื้นรากสร้างฝันสันติภาพออกแบบได้
?0Ho;plRwb.[JrRwHmwm,Rw*hRA,tJ.'d;
td.rlvXw>rkmw>ck.w>obV vXyS>wbh.tHRtylRvDRI’’
Image
ป้ายแสดงเจตนารมณ์ของชีวิตในอุทยานสันติภาพสาละวิน
บนโขดหินริมน้ำสาละวินเหนือแผ่นดินก่อทูเล

ข้อความส่วนหนึ่งบนป้ายสีขาวที่มองจากตลิ่งเหนือดินแดนที่กลายเป็นสนามรบมากกว่า ๗ ทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะนั่งเรือทวนกระแสน้ำเยือนดินแดนอุทยานสันติภาพสาละวิน ระหว่างทางเหนือศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยอิตุท่าขึ้นมาหน่อยทางซ้ายมือปรากฏป้ายประกาศเจตนารมณ์ของชีวิตในอุทยานสันติภาพฯ ว่าต้องการอยู่อย่างสงบสุข  ใต้ข้อความภาษากะเหรี่ยงยังมีข้อความภาษาไทยและอังกฤษ ทั้งหมดล้วนมีความหมายเดียวกันว่า “ได้โปรดอย่ามารุกรานฉัน ฉันอยากอยู่อย่างสุขเสรีในผืนป่านี้”

มุมซ้ายของป้ายปักธงชาติปวาเกอญอไว้ และด้านข้างทางขวามีการใช้สีน้ำเงินพ่นกลางลำต้นของต้นไม้ว่า “NO DAM”

“อุทยานสันติภาพสาละวิน” อาจเป็นคำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการได้เพียง ๒ ปีกว่า แต่เนื้อแท้การทำงานก่อร่างสร้างมานานกว่า ๑๕ ปีแล้ว นับแต่วันที่เคซานเริ่มเคลื่อนไหวและผลักดันสร้างป่าชุมชน 

Cd.vdmw>rkmw>ck.u&X> ออกเสียงคล้ายโขะโหละต่าหมึต่าขื่อเกอเหร่อ คือต้นฉบับภาษาปวาเกอญอที่แปลเป็นไทยว่า อุทยานสันติภาพสาละวิน ตรงกับ Salween Peace Park (SPP) ในภาษาอังกฤษ เป็นชื่อพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และอยู่ในการดูแลจัดการของชุมชนท้องถิ่นมากกว่าร้อยละ ๗๐ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดหมื่อตรอทั้งหมด และ ๖.๗ เท่าคือขนาดที่ใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติสาละวินของไทย

เมื่อมีชื่ออย่างเป็นทางการ งานเก่าเดินต่อไปและงานใหม่ก็เริ่มขึ้น ด้วยการสร้างแกนหลักเพื่อขับเคลื่อนงานสู่วัตถุประสงค์องค์กร โดยคัดตัวแทน ๑๐๖ คนจากสมาชิกทั้งหมดเป็นสมัชชาใหญ่ แล้วเลือก ๑๑ คนเป็นแกนหลัก ให้มีสัดส่วนหญิงชายและที่มาหลากหลายเหมาะสม

แกนหลักส่วนใหญ่เป็นรุ่นใหม่ไฟแรงพร้อมลุยงาน แต่ประสบการณ์ยังไม่สมบูรณ์ จึงดึงกลุ่มผู้อาวุโสและนักปราชญ์ชุมชนเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้และคำแนะนำ  มีคำเรียกแทนคนกลุ่มนี้ว่า “คนลิ้นสากฟันคม” หมายถึงผู้มีประสบการณ์ มากความรู้

สิบเอ็ดคนที่เป็นแกนและกลุ่มผู้อาวุโสเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในอุทยานสันติภาพฯ เพราะคนที่ทำให้งานเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นทุกตอนคือคนในหมื่อตรอทุกเพศ วัย ภาคส่วน  ทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันฟื้นรากความคิด ความเชื่อ และความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของการกินและอยู่ร่วมกับแผ่นดิน ผืนป่า และสายน้ำ เพื่อกลับมาสรรค์สร้างให้เป็นจริงอีกครั้ง  แม้หลายอย่างจะนำกลับมาได้เพียงแค่โครง แต่อย่างน้อยก็จะรู้ว่าบรรพบุรุษสร้างอะไรไว้ในคืนวันเก่าบ้าง

“เราจับมือร่วมกัน เพราะอยากสร้างสันติภาพจากความคิดให้เป็นความจริง เรารู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีใครมอบสันติภาพให้ได้  สันติภาพที่จริงแท้ยั่งยืนของชนชาติปวาเกอญอคงต้องมาจากมือของปวาเกอญอเอง”

เพราะเชื่อว่าท้องถิ่นในพื้นที่รู้จักที่ของตัวเองดีสุด ทั้งความรู้ ภูมิปัญญา การบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาเมื่อมีข้อติดขัด  อำนาจหน้าที่เกือบทั้งหมดในอุทยานสันติภาพฯ จึงอยู่ในมือของชุมชนในแต่ละพื้นที่กระจายครอบคลุม

ส่วนองค์กรประชาสังคมเพียงเข้าไปสนับสนุน ให้คำแนะนำ และจัดการขีดเขียนความรู้ชุมชนออกมาเป็นข้อมูลที่ชัดเจน จากนั้นส่งไปส่วนกลางเคเอ็นยูให้รับรองความรู้ชุมชนและออกกฎหมายรองรับระเบียบที่ชุมชนตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติร่วมในการจัดการท้องถิ่นด้วยตัวเอง ทั้งการดำเนินชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากร ไปจนถึงการฟื้นคืนวัฒนธรรมประเพณี

เพื่อไปสู่ปลายทางหมุดหมาย เมื่อมีแกนหลักอุทยานสันติภาพฯ จึงเริ่มออกเดินทางตามแผนที่ที่ขีดไว้  ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ออกแบบการใช้และจัดการที่ดิน สร้างพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า วางทางเดินและกำหนดชะตาตัวเอง และอีกหลายข้อรวมถึงการวิจัยพัฒนาตัวเองด้วย

เริ่มยืนได้เพราะความคิดและแผนงานที่ดีพอ และก้าวต่อด้วยการสร้างทีมที่สอดคล้องกับบริบทแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นของ “นักอนุรักษ์ท้องถิ่น” ทีมแรกในประวัติศาสตร์ของอุทยานสันติภาพฯ หลังอายุได้ ๑ ปีนับจากวันเปิดตัว

คนท้องถิ่น ๑๐ คนที่ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน อุทยานสันติภาพฯ และแผนกป่าไม้ก่อทูเล (Kawthoolei Forestry Department, KFD) คือนักอนุรักษ์ท้องถิ่นทีมที่ต้องรับบทบาทเป็นด่านหน้าสำรวจป่าและสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลและค้นหาปัญหาในพื้นที่ ให้ความรู้ชุมชนและส่งต่อข้อมูลไปยังคนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเดินทางลื่นไหลเติบโตได้

สิบคนนำร่องทำงานยึดอุดมการณ์ “ไม่ใช้อำนาจกำจัดปัญหา แต่คือการยกระดับวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามวิถีบรรพบุรุษและกฎระเบียบของ KFD…” เพื่อพิชิตปลายทางให้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวบ้านแบบดั้งเดิมกลับมาเป็นที่รู้จักและลดปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม

แม้มองจากข้างนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่มั่นใจไม่น้อยว่าอุทยานสันติภาพฯ ไม่เพียงทำให้ชุมชนได้รับสิทธิและโอกาสในการจัดการตัวเอง แต่ชุมชนยังได้ฝึกทำงานเป็นระบบที่เข้มแข็งทั้งทางข้อมูลและการลงมือทำ

ดอกผลสำคัญเฉพาะพื้นที่ที่อุทยานสันติภาพฯ พอทำให้เป็นจริงได้คือการฟื้นฟูระบบการจัดการที่ดินตามจารีตประเพณีของปวาเกอญอดั้งเดิมหรือที่เรียกว่า “ระบบก่อ” เป็นระบบเก่าแก่ใช้จัดการที่ดิน มีมานานพอกับการมีอยู่ของปวาเกอญอ

“ก่อ” ในฐานะปวาเกอญอที่ไม่ได้คิดอะไร อาจนึกเพียงบางอย่างที่คล้ายกับพื้นที่บ้านเมืองหรือที่ดินประเทศ เป็นความหมายธรรมดาทั่วไป แต่ลึกซึ้งกว่าที่อยู่ในภาษาปวาเกอญอคำนี้ คือ “พื้นที่ที่มีระบบการจัดการตนเองโดยเฉพาะ เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมประเพณีของคนกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมด้วยภูมิปัญญา ความเชื่อ ความเคารพ กฎระเบียบ และเรื่องราวประวัติศาสตร์”
Image
โครงสร้างการบริหารจัดการ “ก่อ” 
ระบบก่อเป็นการจัดการที่ดินที่เอื้อให้เกิดการคุ้มครองป่าและสัตว์ป่า
เน้นสายสัมพันธ์ปวาเกอญอกับที่ดิน

Image
โลโก้ KFD (ป่าไม้ก่อทูเล)
ระบบการปกครองของก่อมี “เบลาะ” (Blaw) เป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่เหมือนหอประชุมทางพิธีกรรม  ผู้มีตำแหน่งสูงสุดมีสามคน คือ ทีโข่ (Htee Hko) ก่อโข่ (Kaw Hko) และก่อข่า (Kaw Hka) ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางพิธีกรรมเกี่ยวกับผืนน้ำและแผ่นดิน ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น  ส่วนบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอื่นในระบบการปกครองนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ ประกอบด้วยหมอพิธี (Skilled Diviners), คณะผู้อาวุโส (Elder’Council), คณะผู้ตัดสินคดี (Judges), อนุญาโตตุลาการเขตแดน (Boundary Arbitrators), ผู้นำล่าสัตว์ทางพิธีกรรม (Ceremonial Hunt Leader), ช่างฝีมือ (Skilled Crafts people), หมอรักษา (Healers), ฝ่ายป้องกันชุมชน (Community Defence), องค์กรเยาวชนหญิง (Female Youth Organization) และองค์กรเยาวชนชาย (Male Youth Organization)
การฝึกอบรมทักษะการจักสานให้เด็กรุ่นใหม่
ส่วนหนึ่งของกิจกรรมชาวบ้านที่จัดขึ้น
เพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์วัฒนธรรมด้านต่าง ๆ 

“ชุมชนและที่ดิน” คือส่วนประกอบหลักของก่อที่ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ แต่ละก่ออาจมีชุมชนเดียวหรือหลายชุมชนก็ได้ แต่ทุกก่อจะมีที่ดินสองส่วน คือ ส่วนที่ปกครองโดยบุคคล เช่น พื้นที่นา สวนผัก หรือสวนผลไม้ และอีกส่วนที่ปกครองร่วมกัน คือ พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์และที่ทำกินของคน เช่น ป่าชุมชน ป่าจิตวิญญาณ ป่าอนุรักษ์ ไร่หมุนเวียน ฯลฯ

รอยต่อระหว่างก่อจะมีการทำสัญลักษณ์เป็นเส้นแบ่งแนวเขต โดยนำก้อนหินวางซ้อนกันหรือปลูกต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ก็ได้ ข้อสำคัญคือแต่ละก่อมีระบบการปกครองเป็นของตัวเอง

“แต่ละก่อมีผู้นำสูงสุดสามคน คือ ก่อโข่ ก่อข่า และทีโข่ ทั้งสามต้องเป็นผู้ชาย...ส่วนบุคคลอื่นในระบบก่อ คือ หมอพิธี คณะผู้อาวุโส คณะผู้ตัดสินคดี และผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ทั้งการล่าสัตว์ การจักสาน-ช่างฝีมือ การรักษา (โรค) การป้องกันชุมชน ฯลฯ มีทั้งชายและหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่” คือโครงสร้างการปกครองฉบับย่อของก่อ

การปกครองแบบระบบก่อมี “เบลาะ” เป็นแกนสำคัญ ความหมายคล้ายหอประชุมที่ผู้อาวุโสใช้ประกอบพิธีกรรม ประชุมหารือ ตัดสินคดีความ ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา และอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับกฎกติกาและคุณค่าความหมายของ “ก่อ” ให้คนรุ่นหลัง

มากกว่าพิธีรีตองภายในระบบก่อ คือความรู้เรื่องการอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูลด้วยกฎระเบียบ ความเชื่อ ความเคารพ และให้เกียรติ  มีข้อห้ามหลากหลาย ตัวอย่างเช่นห้ามตัดทำลายป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าต้นน้ำ ป่าริมน้ำ หรือบริเวณสันดอย เพราะเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของผีน้ำ ผีดิน และเจ้าป่าเจ้าเขา

ระบบก่อเป็นฐานรากสำคัญของชนชาติปวาเกอญอดั้งเดิม ที่อุทยานสันติภาพฯ กำลังมุ่งฟื้นฟูจัดเรียงข้อมูลให้ชัดกว่าเดิม เพื่อปลูกสร้างความสมดุลระหว่างวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี และอำนาจในการเลือกทางเดินให้ตัวเอง

การฟื้นเพื่อคืนชีวิตระบบก่อเริ่มด้วยการลงพื้นที่ ประชุมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชนที่ต้องการร่วมฟื้นฟูกับอุทยานสันติภาพฯ จากนั้นดึงข้อมูลพื้นฐานของชุมชนและพื้นที่ออกมา วัดและบันทึกการใช้พื้นที่แต่ละส่วนว่าใช้และจัดการอย่างไร ขนาดเท่าใด มีข้อตกลงการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

หลังได้ข้อมูลชุดหนึ่งแล้วอุทยานสันติภาพฯ จะยื่นไปยังส่วนกลางระดับต่าง ๆ เพื่อนำเข้าที่ประชุมและออกเอกสารรับรองการมีอยู่ของก่อนั้น ๆ อย่างเป็นทางการ

วันนี้พื้นที่ทั้งหมด ๕,๔๘๕ ตารางกิโลเมตรของอุทยานสันติภาพสาละวินที่มีคนเกือบ ๗ หมื่นดูแล มีก่อ ๒๓๗ ก่อ หรือร้อยละ ๗๑ ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่ารักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวน ป่าชุมชน และที่เหลืออีกประมาณร้อยละ ๗ ยังไม่ได้รับการสำรวจ

ข้อมูลล่าสุดนี้เปลี่ยนได้เมื่อวันผ่านไป เพราะอุทยานสันติภาพฯ อยู่ระหว่างการสำรวจและขึ้นทะเบียนก่อที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

แม้อยู่ระหว่างเดินทางที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่อุทยานสันติภาพฯ ก็พิสูจน์ตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่าไม่ได้มีความสำคัญเพียงเป็นที่อาศัยของชนชาติปวาเกอญอหรือที่คุ้มครองสัตว์ป่าพรรณพืช แต่ยังเอื้อให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกได้ โดยเฉพาะแง่บรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอื่น ๆ
Image
โครงสร้างอุทยานสันติภาพสาละวิน
ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน ๑๑ คน เลือกจากสมัชชาใหญ่ ๑๐๖ คนที่เป็นตัวแทนจากสมาชิกทั้งหมดเกือบ ๗ หมื่นคน ภายในคณะกรรมการต้องมีสัดส่วนผู้หญิงอย่างน้อยรวม ๔ คน จากฝ่ายชุมชนท้องถิ่น องค์กรประชาสังคม และเคเอ็นยูส่วนกลาง  โดยแกนหลักทั้ง ๑๑ คนมาจาก

• ตัวแทนชุมชน ๕ คน (ผู้หญิงอย่างน้อย ๒ คน) เลือกจากสมาชิกทั้งหมด ๕๒ คนใน ๒๖ ตำบล  


• ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) หรือองค์กรชุมชน (CBO) ๒ คน (ผู้หญิงอย่างน้อย ๑ คน) เลือกจากตัวแทน ๑๒ คนใน ๖ องค์กร คือ สำนักงานบรรเทาทุกข์และพัฒนาชาวกะเหรี่ยง (KORD), คณะ
กรรมการเพื่อชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นภายใน (CIDKP), องค์กรเยาวชนกะเหรี่ยง (KYO), เครือข่ายปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN), กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (KHRG) และองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO)  

• ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ๔ คน (ผู้หญิงอย่างน้อย ๑ คน) เลือกจากทั้งหมด ๔๒ คน
ประกอบด้วยตัวแทนระดับจังหวัด (๔ คน) ระดับอำเภอ (๖ คน) ระดับตำบล (๒๖ คน) และแผนกเฉพาะของเคเอ็นยูส่วนกลาง (๖ คน) ได้แก่ แผนกการเกษตรกะเหรี่ยง (KAD), แผนกป่าไม้ก่อทูเล (KFD), แผนกการศึกษากะเหรี่ยง (KED), แผนกการประมงกะเหรี่ยง (KFiD), แผนกความมั่นคงกะเหรี่ยง (KID), แผนก
ยุติธรรมกะเหรี่ยง (KJD) ในการดำเนินงานของทีมงานทั้ง ๑๐๖ คน มีผู้อาวุโสชุมชนและนักวิชาการคอยให้คำปรึกษาแนะนำ

CIDKP : Committee for Internally Displaced Karen People (คณะกรรมการเพื่อชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นภายใน)

KAD : Karen Agriculture Department (แผนกการเกษตรกะเหรี่ยง)

KED : Karen Education Department (แผนกการศึกษากะเหรี่ยง)

KESAN : Karen Environmental and Social Action Network (เครือข่ายปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง)

KFD : Kawthoolei Forestry Department (แผนกป่าไม้ก่อทูเล)

KFiD : Karen Fisheries Department (แผนกการประมงกะเหรี่ยง)

KHRG : Karen Human Rights Group (กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง)

KID : Karen Interior Deparment (แผนกความมั่นคงกะเหรี่ยง)

KJD : Karen Justice Department (แผนกยุติธรรมกะเหรี่ยง)

KNU : The Karen National Union (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง)

KORD : Karen Office of Relief and Development (สำนักงานบรรเทาทุกข์และพัฒนาชาวกะเหรี่ยง)

KWO : Karen Women Organization (องค์กรสตรีกะเหรี่ยง)

KYO : Karen Youth Organization (องค์กรเยาวชนกะเหรี่ยง)

NCA : Nationwide Ceasefire Agreement (สัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ)
Image
การวางก้อนหินซ้อนทับกันเพื่อเป็น
สัญลักษณ์เส้นแบ่งเขตระหว่างก่อส่วนหนึ่ง
ของกิจกรรมฟื้นฟูระบบก่อ

เหล่านี้นำและพาให้อุทยานสันติภาพฯ ไปสู่รางวัล Equator Prize จาก UNDP ในวันสิ่งแวดล้อมโลก ค.ศ. ๒๐๒๐ เป็นที่ยอมรับในฐานะอุทยานแห่งการเสริมสร้างพลังชุมชน บรรเทาความยากจนด้วยวิถีอนุรักษ์ และสามารถดูแลความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืน

“รางวัล” อาจเป็นเพียงของขวัญและกำลังใจระหว่างเดินทาง ไม่ใช่ปลายทางที่ใฝ่ฝัน แต่เป็นก้าวสำคัญของอุทยานสันติภาพสาละวินในก่อทูเล ว่าการยอมรับในระดับนานาชาติได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว เอื้อให้เป้าหมายการทำงานเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น และย้ำให้เห็นว่าชนเผ่าพื้นเมืองหรือคนท้องถิ่นดั้งเดิมมีคุณภาพ

ย้ำให้เห็นว่าปวาเกอญอก่อทูเลที่กำลังวิ่งอยู่ในสงครามตอนนี้เต็มไปด้วยศักยภาพและความรู้ความสามารถไม่แพ้ใคร จะขาดก็เพียงโอกาสและการสนับสนุนที่ดีเท่านั้น

ขณะที่คืนและวันของอุทยานสันติภาพฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีรางวัลรับรอง การทำงานคล่องตัว และเหมือนว่าฝันเข้าใกล้ความจริงทุกที

อยู่ดี ๆ ก็ตู้มมมม ! ! ! !
ฝันมลายวนลูป
กลับจุดเดิม
หากบ้านที่ปลอดภัยกลายเป็นโลกแห่งความตาย
เราจะอยู่ต่อในบ้านได้อย่างไร

“เอาถนนของพม่ากลับไป...เอาฐานทัพของพม่ากลับไป !!!

เสียงลุกขึ้นแสดงจุดยืนของชาวบ้านในพื้นที่ลูซอร์เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับแต่มีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ เพื่อบอกว่าไม่ยอมรับการรุกรานของกองทัพเผด็จการทหารเมียนมาที่เข้ามาตั้งฐานทัพในพื้นที่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะบริเวณใกล้หรือชิดติดชุมชนรวมถึงพื้นที่ทำกิน ประสบการณ์ในอดีตทำชาวบ้านยากที่จะเชื่อใจทหารเมียนมาว่าจะอยู่ร่วมกันได้

เวลาระหว่างสัญญาหยุดยิง NCA สายตาภายนอกอาจมองว่าเป็นโมงยามแห่งการปลูกสร้าง “สันติภาพ” แต่พื้นที่จริงกลับตรงข้าม ในบรรยากาศที่ลมสงบไม่มีเสียงปืน ทหารพม่าเริ่มทยอยส่งกำลังพลเข้ามาในพื้นที่ก่อทูเลตามจุดต่าง ๆ พยายามสร้างถนนตัดผ่านชุมชนและที่ทำกินเข้ามาในหมื่อตรอ

แม้ใช้เหตุผลเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทางเป็นข้ออ้าง แต่น่าแปลก ชาวบ้านในพื้นที่หรือในชุมชนท้องถิ่นกลับมั่นใจไม่ต่างกันว่า “ถนนที่มาจากกองทัพทหารเผด็จการพม่านั้น ไม่ใช่ถนนที่จะพาไปสู่สันติภาพแน่นอน” จึงเรียกร้องขออยู่อย่างสันติในพื้นที่ตนเอง และวอนขอให้กองทัพทหารเมียนมาถอยกลับไป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างใช้ชีวิต ให้เกียรติและไม่เบียดเบียนกันคือทางสู่สันติภาพมากกว่า

“เรายังไม่ต้องการถนน เราจะร่วมกันปกป้องพื้นที่ของเราด้วยใจเดียวกัน ทั้งในคำพูด การกระทำ และในหัวใจ...สันติภาพก็คือสันติภาพ สันติภาพคือเราไม่ควรต้องวิ่งหนี ไม่ต้องพลัดพราก แต่ตอนนี้เรายังต้องหนีแล้วหนีอีก ยังต้องหลบใต้ต้นไม้กอไผ่ ยังต้องหลบอยู่ตามต้นน้ำตีนเขา ยังไม่ได้อยู่ในชุมชนตัวเอง ถ้าจะบอกว่านี่คือสันติภาพจะอธิบายว่าอย่างไร”

ซอโอะมู ผู้นำชุมชนประกาศจุดยืนและตั้งคำถามเกี่ยวกับสันติภาพในวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๘ ขณะที่ทำกิจกรรมเรียกร้องให้กองทัพพม่าหยุดทำถนนและพาฐานทัพถอยกลับไปในที่ที่จากมา  หลังจากวันนั้นเพียงไม่ถึงเดือน ลมหายใจของชายผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญของชุมชนท้องถิ่นก็สิ้นลงขณะเดินทางผ่านทหารเมียนมาที่เสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่เพื่อตัดถนน

การเดินทางของเขาจบลงในวันที่อายุเพียง ๔๓ และยังไม่มีใครตอบคำถามเขาว่า “...เรายังต้องหนีแล้วหนีอีก ยังต้องหลบใต้ต้นไม้กอไผ่ ยังต้องหลบอยู่ตามต้นน้ำตีนเขา ยังไม่ได้อยู่ในชุมชนตัวเอง ถ้าจะบอกว่านี่คือสันติภาพจะอธิบายว่าอย่างไร”

แทนที่จะสร้างความสงบ แต่เหมือนว่าสัญญาหยุดยิงทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งของการสงคราม เอื้อกลุ่มอำนาจใหญ่ให้เติบโตมากกว่าสร้างสันติภาพให้เบ่งบาน “...ใน NCA กำหนดไว้ชัดเจนว่ากองทัพทหารพม่าไม่มีสิทธิ์รุกล้ำเข้าพื้นที่และต้องถอยฐานทัพที่อยู่ในพื้นที่ออกไป...การไม่ทำตาม NCA ของเมียนมาคือการฉีก NCA ทิ้งตั้งแต่เริ่มต้น” ซอหมื่อแฮ กล่าวถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตัวเอง

เพื่อรักษาสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย การปะทะจึงเกิดขึ้นประปรายโต้กันไปตลอดหลายฤดู มาหนักขึ้นหลังการรัฐประหารยึดอำนาจโดยพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ในวันแรกของเดือนแห่งความรัก และแจ็กพอตแตกในวันกองทัพพม่าครบรอบ ๗๖ ปี

บ้านเดะปูโหนะ พื้นที่ที่อุทยานสันติภาพฯ ตั้งใจให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ คือจุดแรกที่รับของฝากจากเครื่องบินทิ้งบอมบ์และดับสองชีวิตในทันที  ตามด้วยระเบิดลูกอื่นกับกระสุนลูกปืนจากเครื่องบินสาดมายังหมื่อตรอติดต่อกันหลายวัน ทำสันติที่สร้างผ่านอุทยานฯ พังลงไม่มีชิ้นดี

“เมื่อสันติภาพถูกทำลาย ผู้คนไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับป่าในพื้นที่บรรพบุรุษอย่างเกื้อกูล...อย่าว่าแต่คนเลือกไม่ได้เลย สัตว์และผืนป่าก็เลือกไม่ได้  การผลักให้พื้นที่หมื่อตรอถอยหลังกลับเป็นสนามรบนั้นไม่ใช่แค่ทำร้าย ‘คน’ ให้หวาดผวา เสียชีวิต หรือไม่สมประกอบ แต่ยังรวมไปถึงสัตว์ป่าและผืนป่าที่ต้องรับกรรมไปด้วย” ซอเซแฮ นายทหารวัย ๓๕ ผู้ทำหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่หมื่อตรอเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังขณะขับรถพาสำรวจร่องรอยความเสียหาย

สงครามผลักการเดินทางของอุทยานสันติภาพฯ ให้หลุดออกจากเส้นทาง คนในหมื่อตรอเกือบทั้งหมดอพยพพลัดถิ่นย้ายหนีความตายไปตามป่าเขา  การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหยุดชะงัก  ในวันวิปโยคแบบนี้อุทยานสันติภาพฯ ทำได้เพียงส่งความช่วยเหลือสมาชิกเท่าที่ได้ สื่อสารสร้างความเข้าใจ และส่งเสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรม

วันไปเยือนอุทยานสันติภาพฯ ที่อยู่ระหว่างถูกโจมตี มองไปทางไหนฉันก็เห็นแต่ซากความเสียหาย เห็นความหมดหวังไร้ฝัน ความอดอยากทุกข์ยาก ความสูญเสียสูญสิ้น ความเศร้าโศกมัวหมอง...ความเป็นคนที่กำลังถูกทำให้ไม่เป็นคน แต่ในอีกด้านมุมหนึ่งก็ยังเห็นความกล้าหาญของเจ้าถิ่นที่ยึดมั่นด้วยใจไม่ยอมจำนน ยังคงเห็นฝันเป็นเป้าหมายและมีหวังที่จะก้าวต่อไป
Image
 การใช้สวิงที่ผลิตเองช้อนสัตว์น้ำจากแม่น้ำ
เพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน
ส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูวิถีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากด้านในอุทยานฯ มายังบริเวณลุ่มน้ำสาละวินที่กลายเป็นที่พักพิงหลบภัยของชาวบ้านก่อทูเลในวันเดือดร้อนไม่มีความปลอดภัยให้ชีวิต  เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งกลับปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้อย่างไม่เข้าใจ และพยายามทำเหมือนว่าบริเวณชายแดนสงบสุข ไม่มีปัญหาผู้ลี้ภัย ไม่มีปัญหาการสู้รบแต่อย่างใด

“เป็นที่น่าสังเกตว่าท่าทีของทหารไทยเราเปลี่ยนไป จากเดิมที่มองว่ากะเหรี่ยงคือรัฐกันชน แต่ครั้งนี้กลับผลักดันกลับอย่างรวดเร็ว เหมือนเขามีสัญญากันบางอย่าง ก็เดาว่าถ้ากะเหรี่ยงได้ครองพื้นที่แถบสาละวิน เขาก็ยากที่จะสร้างเขื่อนได้” สมมุติฐานที่ได้ยินจากวงสนทนาระหว่างนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ฉันหลงเข้าไปร่วม

ตอนนี้ฉันเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมต้อง “อุทยานสันติภาพฯ” แทนที่จะเป็น “อุทยานแห่งชาติ” คงเป็นเพราะ “ความเป็นชาติ” นั้นไม่สำคัญเท่า “สันติภาพ” ในพื้นที่แห่งนี้ เมื่อใดที่มีสันติภาพเมื่อนั้นความเป็นชาติจะเกิดเอง เพราะขณะที่สร้างสันติภาพนั้นชาติก็ได้รับการสร้างขึ้นมาด้วย

อุทยานสันติภาพสาละวินจะสร้างสันติภาพใหม่ให้แผ่นดินก่อทูเลได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ เพราะแม้ไม่มีการฆ่ากันด้วยอาวุธ แต่ก็มีการครอบกันด้วยทุน  แม้ไม่มีศัตรูมาเข่นฆ่า แต่บางครั้งเราก็ฆ่ากันเอง  การสร้างสันติภาพในสนามรบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินไป...ถ้า “สามัคคี” มีพอ

และอย่าลืมว่าสันติภาพไม่สามารถสร้างได้ด้วยคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว แม้คนหมื่อตรอจะสร้างอุทยานสันติภาพฯ ได้งดงามแค่ไหน เครื่องบินมาลำเดียวทุกอย่างก็วายวอดไม่เหลือ

สงครามทำให้ “บ้าน” ที่เป็นโลกของครอบครัวแตกสลาย ทำให้ “ทีก่อ” บ้านเมืองปวาเกอญอกลายเป็นโลกแห่งความตาย และทำให้ “อุทยานสันติภาพฯ” ที่ปวาเกอญอสร้างขึ้นเพื่อรักษาตัวเองทลายได้ในพริบตา

ถ้าแค่สิทธิที่จะหายใจบนแผ่นดินบรรพบุรุษยังเกิดขึ้นไม่ได้ หากปล่อยผ่านให้คนกลุ่มนี้สู้ลำพังต่อไปก็คงไม่พ้นที่จะต้องฟังข่าวร้ายเรื่องเดิมที่ร้ายซ้ำไปมา

เธอยังอยากฟังข่าวร้าย
เรื่องเดิมในทุกเช้าวันใหม่
อยู่หรือ ? 
ขอขอบคุณ
อุทยานสันติภาพสาละวิน (SPP) และเครือข่ายปฏิบัติการทาง
สิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) ที่อนุเคราะห์ข้อมูลและ
ภาพถ่าย รวมถึงผู้ให้สัมภาษณ์และเจ้าของเรื่องราวทุกท่าน