Image

บ้านน้อย-จออู หมู่ที่ ๗ บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดต่อผ่านเฟซบุ๊กเพจ โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง

บันทึกตกฟาก 
“บ้านน้อย-จออู”

hidden (in) museum

เรื่องและภาพ พิณ คืนเพ็ญ

Image

สี่สิบนาทีจากบ้านแม่สามแลบ 
นั่งเรือขึ้นเหนือตามน้ำสาละวิน
จะถึงบ้านท่าตาฝั่ง

พ่อเฒ่าจออู ศรีมาลี เป็นผู้ลงเสาตั้ง
“บ้านหลังแรก” บนผืนดินนี้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๕

ย้อนสมัยเด็กหนุ่มกะเหรี่ยงสะกอทำงานด้านจิตอาสายามชายแดนพม่า-ไทย รับผิดชอบเขตหมื่อตรอ (ผาปูน) ถึงรัฐคะยาและรัฐกะเหรี่ยง ทั้งเป็นเสมียนป่าไม้ยุคที่สาละวินเฟื่องฟูเรื่องสัมปทานไม้สัก

เวลานั้นคนกะเหรี่ยงและพม่าเรียกเวิ้งกว้างในห้วงแขนของน้ำล้อมดินแห่งนี้ว่า “ดาเขว่” หรือ “ด๊า-กวิน” ตามลักษณะของแม่น้ำสาละวินที่ไหลอ้อมหมู่หินและแผ่นดินจนเห็นเป็นรูปเคียวโค้งขนาดใหญ่ ที่นี่มีบทบาทเป็น “ท่า” ขนถ่ายสินค้าเศรษฐกิจอย่างแร่ ไม้ วัวควาย ฯลฯ เช่นเดียวกับฝั่งตรงข้ามที่เป็นเมืองหน้าด่านทางฝั่งตะวันตกของไทยเป็นเมืองท่า เส้นทางค้าขายระหว่างอําเภอแม่สะเรียงกับเขตหมื่อตรอ (ผาปูน)

แผ่นดินไทยมีสถานีตำรวจตั้งอยู่บนหาดริมน้ำสาละวิน จออูมองเห็นความสมบูรณ์ของทรัพยากร ลงน้ำก็มีปลา ปู กุ้ง หอย ขึ้นดอยก็มีพืชผลไม้ป่า ในยามพี่น้องกะเหรี่ยงฝั่งพม่าเดือดร้อนจะได้อาศัยพึ่งพา จึงพาครอบครัวข้ามฝั่งมาตั้งบ้านใกล้โรงพัก  ต่อมามีชาวกะเหรี่ยงตามสมทบเรื่อย ๆ จออูจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เรียกขานในชื่อ “บ้านน้อย-จออู” ก่อนยกเป็นชุมชน “บ้านท่าตาฝั่ง” ในปี ๒๕๑๘

บ้านน้อยนี้ความจริงหลังใหญ่ ปลูกด้วยเสาไม้แงะไม้พลวงกว่า ๓๐ ต้น ใต้ถุนยกสูงพอลอดได้ ฝาไผ่ขัดสาน มุงหลังคาใบตองตึงกว่า ๑,๕๐๐ ตับ ไม้ทุกต้น ตอกทุกเส้น ตองทุกใบ ล้วนเคลือบเหงื่อไคลของหนุ่มกะเหรี่ยง และยังแข็งแรงมั่นคงจวบปัจจุบันอายุบ้านล่วงสู่ปีที่ ๘๐

ความที่รับการศึกษาถึงชั้นมัธยม-ศึกษาปีที่ ๓ และเป็นผู้นำศาสนา สั่งสมความรู้จากนิสัยช่างคิดและชอบเรียนรู้ทำให้จออูเป็นดั่งเสาหลักของท่าตาฝั่ง วันว่างยังชอบบันทึกเรื่องราวของหมู่บ้านตั้งแต่ยุคบุกเบิก กลายเป็นตำราประวัติ-ศาสตร์ชุมชนให้ลูกหลานได้สืบรากเหง้า

“…บ้านท่าตาฝั่งเป็นจุดล่อแหลม เนื่องจากการสู้รบระหว่างเคเอ็นยูกับทหารพม่า เคเอ็นยูตั้งฐานอยู่อุสุทะ ทหารพม่าตั้งฐานตรงข้ามกับบ้านท่า-ตาฝั่ง จากการยิงต่อสู้กันทำให้เศษลูกปืนกระเด็นพลัดตกเข้ามาในหมู่บ้าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน หมู่บ้านป้องกันได้เพียงหลุมหลบภัย…”

คือบางส่วนของลายมือที่จดไว้เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ทว่ายังร่วมสมัย

นอกจากประวัติส่วนตัว-บ้านท่าตาฝั่ง ในสมุดยังบันทึก “การเกิด” สิ่งต่าง ๆ ในอดีตอย่างการสู้รบ อพยพลี้ภัย ที่ทำกิน ฯลฯ ที่นำมาสู่ปัญหานานาของหมู่บ้าน ผ่านการแสดงความเห็นไว้อย่างแหลมคม

“เมื่อพ่อตาย ฝังร่างพ่อไว้ที่หมู่บ้านนี้ได้ไหม”

ประโยคสุดท้ายที่ปราชญ์ชุมชนเขียนฝากลูกผู้ดูแลบ้านรุ่นต่อไป ก่อนสละลมหายใจในวัยชรา

ปัจจุบัน “บ้านไม้หลังแรก” ที่ประกอบขึ้นด้วยจิตวิญญาณของผู้ปลูกยังคงได้รับการเก็บรักษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น มีฐานะไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่ลูกหลานเต็มใจเปิดบ้านนำชมแก่ผู้สนใจ

เช่นเดียวกับ “บันทึกลายมือ” ที่มีคุณค่าเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ปากคำของผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู