Karen Talk
วุฒิ บุญเลิศ
โผล่ง ปกากะญอ เราคือคน
Inteview
สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ถ่ายภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
Image
วุฒิ บุญเลิศ เป็นกะเหรี่ยงราชบุรี สายตระกูลของเขาตั้งรกรากอยู่ที่สวนผึ้งไม่น้อยกว่าห้าชั่วอายุคน  
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ในจังหวัดบ้านเกิด ช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เขาไปเป็นครูอาสาอยู่บนดอยที่จังหวัดเชียงใหม่ ท า ํ ให้ได้รู้จักปกากะญอ พี่น้องร่วมชาติพันธุ์ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่เขาเคยคุ้นในแถบถิ่นเกิด ท า ํ ให้เขาเริ่มสนใจศึกษาเรื่องกะเหรี่ยงในเชิงวิชาการอย่างจริงจัง

ต่อมาวุฒิได้ท า ํ หน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (เขตงานตะนาวศรี) ซึ่งเป็นองค์กรเชื่อมโยงพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ในถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ส่วนในถิ่นเกิด ช่วงหนึ่งวุฒิเคยทำโครงการวิจัยเรื่อง “เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 

เมื่อพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์นี้ทั้งในภาพกว้างระดับประเทศและนอกประเทศ ลงมาจนถึงระดับท้องถิ่นตะนาวศรี วุฒิ บุญเลิศ จึงน่าจะเป็นผู้รู้ลึกรู้จริงคนหนึ่งเรื่องกะเหรี่ยงในฐานะ-คนใน
กะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน
“ด้านตะวันตกตั้งแต่ประจวบฯ ไปจนถึงภาคเหนือ ตรงไหนเป็นป่า เป็นพื้นที่สีเขียว ตรงนั้นมีคนกะเหรี่ยงอยู่ทั่วหมดทุกจุด อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิมเลย”

“ฟังดูขัดแย้งกับคำกล่าวที่ว่าชนเผ่าทำไร่เลื่อนลอย เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง ?”

“แต่เมื่อรัฐรู้สึกว่าพื้นที่ป่าลดลง ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า ก็นำพื้นที่ป่าสงวนที่เคยมีคนอาศัยประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ การจะอพยพชุมชนทั้งหมดออกจากป่าไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีที่จะรองรับ แต่คนในป่าก็ไม่สามารถทำกิจกรรมดำรงชีพในวิถีชีวิตได้ดังเดิม นี่เป็นปัญหาสากล  นโยบายรัฐและกฎหมายอนุรักษ์ครอบคลุมแบบเหวี่ยงแหรวมถึงคนพื้นราบด้วย แต่ชนเผ่าส่วนใหญ่อยู่ในป่ามาแต่ดั้งเดิม พอมีการใช้กฎหมายก็มักได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง”

ป่าอนุรักษ์ทั้งหลายนั้นไล่มาตั้งแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ป่าต้นน้ำชั้น ๑เอ (1A) จนถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

“การเพิ่มพื้นที่ป่า อย่างการประกาศเป็นพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า ตรงที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ในการหาของป่าเพื่อยังชีพก็ทำได้ยากขึ้น เพราะมีกฎหมายควบคุม ไม่สามารถพึ่งพา
ป่าได้อีกต่อไป  อย่างล่าสุดการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ายางน้ำกลัดเหนือ ที่หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี ทับที่ชาวบ้านทั้งตำบล เขาเคยดูแลป่าผืนนี้อยู่เป็นพันไร่ ทำแนวกันไฟ อาศัยหาของป่า คล้าย ๆ เป็นป่าชุมชน พอประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ก็กลายเป็นป่าอนุรักษ์ที่ไม่มีมิติเกี่ยวข้องกับชุมชนดั้งเดิม”
“ดูย้อนแย้งนะ ผืนป่าที่เหลืออยู่ในตอนนี้ล้วนอยู่ในถิ่นของชนเผ่า แต่การเข้ามาทำป่าอนุรักษ์ของรัฐทำให้ชุมชนที่อยู่กับป่ามาแต่เดิมต้องเดือดร้อน ?” 
“เขาอยู่กับป่ามาแบบรักษาด้วยและใช้ด้วย การที่ป่าเหลืออยู่รอดมาได้ก็ต้องดูว่าเขาใช้อย่างไร  ถ้าเขาใช้พื้นที่เพื่อปลูกมัน ข้าวโพด ป่าก็คงไม่เหลือแล้ว เพราะปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องใช้เครื่องมือพลิกพรวนหน้าดิน ป่าจะไม่ฟื้นคืนเลย”

“คนอยู่กับป่า สำคัญที่วิธีการใช้  คนกลุ่มนี้ใช้ป่าอย่างไร ?”

“อยู่ที่ว่าคนมองป่าแบบไหน เจ้าหน้าที่รัฐถ้ามองป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ก็คงไม่เห็นรุกขเทวา ไม่เห็นแม่พระธรณี ไม่เห็นพระภูมิเจ้าที่ ผีขุนน้ำขุนเขา การมองป่าแบบรัฐหรือแบบฝรั่งจึงไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีมิติความเชื่อ มองแต่ว่าเนื้อไม้มีค่าเท่าไร ป่าตรงไหนน่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว มองเป็นทุนเป็นสินทรัพย์ การให้ค่าก็จะเป็นอีกมิติหนึ่ง  แต่กะเหรี่ยงมองป่าว่ามี ซ่งทารี่หรือแม่พระธรณี  ต้นไม้ต้นข้าวมีขวัญ จะเกี่ยวข้าวต้องเรียกขวัญ เกี่ยวเสร็จต้องเรียกขวัญเครื่องมือเก็บเกี่ยว สิ่งที่คนทั่วไปมองว่าไม่มีชีวิต ข้าวเรากินเพื่อเติบโต แต่คนกะเหรี่ยงมองว่าทุกอย่างมีชีวิต มีขวัญ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับมนุษย์ ต้องปฏิบัติในลักษณะที่เคารพดูแล”
“ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยี มิติจิตวิญญาณเหล่านี้ยังมีอยู่ไหมในหมู่ชนเผ่า ?”

“ที่บางกลอย เพชรบุรี  ไล่โว่ กาญจนบุรี จิตวิญญาณนี้ ยังอยู่ เห็นได้จากการทำไร่ข้าวยังมีพิธีกรรม มีข้อห้าม ข้อปฏิบัติ  พื้นที่ไหนที่คนยังผลิตอาหารแค่เพื่อยังชีพ มิติของการมองธรรมชาติจะต่างจากคนที่ต้องการเพิ่มผลผลิตเพื่อนำรายได้มาให้  ป่าในถิ่นคนกะเหรี่ยงอย่างที่บางกลอยฟื้นขึ้นมาได้เพราะเป็นวิถีการผลิตเพื่อยังชีพ ไม่ใช่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว”

“จะมีวันที่ป่าตรงนั้นกลายเป็นไร่ข้าวโพดอย่างบางแห่งในจังหวัดภาคเหนือไหม ?”

“ถ้าเป็นเขตป่าอนุรักษ์ การผลิตแบบนั้นเกิดขึ้นไม่ได้”

“ศาสนาสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนบ้างไหม ?”

“อยู่ที่ว่าผู้นำศาสนาแต่ละคนตีความพระคัมภีร์อย่างไร ผมเองก็เป็นคริสเตียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ พื้นเพครอบครัวเป็นพุทธ แต่ผมไปเรียนศาสนาที่เชียงใหม่แล้วกลับมาทำงานที่โบสถ์ในอำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี ศาสนาคริสต์บอกว่าพระเจ้าสร้างสรรพสิ่งให้มนุษย์ใช้และดูแลรักษา แม้ไม่บอกว่าธรรมชาติมีวิญญาณ แต่ถ้าคุณศรัทธาต่อพระคัมภีร์ก็ต้องดูแลรักษาต้นไม้ หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างอุทยานสันติภาพสาละวินที่อยู่ในพื้นที่ปกครองของกองพลที่ ๕ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ผู้นำส่วนใหญ่ก็เป็นคริสต์ทั้งนั้น เขาก็รักษาป่าไว้ได้ มันขึ้นอยู่กับการตีความพระคัมภีร์”

“การเพิ่มขึ้นของประชากรในวันข้างหน้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนกังวลกันว่าจะกระทบกับพื้นที่ป่า ?”

“ผมว่าคนลดลงนะ ไม่ใช่แต่บางกลอย ไล่โว่หรือบนดอยตามภาคเหนือ คนหนุ่มสาวออกมาทำงานสร้างบ้านข้างนอก คนดอยไปเป็นเขยเป็นสะใภ้อีสานเยอะมาก ตั้งรกรากต่างถิ่นบนดอยคนลดลง การเกิดก็ลดลงจากการวางแผนครอบครัว ลูกหลานรุ่นใหม่ออกไปเรียนหนังสือและทำงานในเมือง การที่จะไปทำไร่มาก ๆ แบบเดิมแรงงานมีไม่พอ”
Image
“แล้วภาพรวมจำนวนประชากรกะเหรี่ยงในเมืองไทยเพิ่มหรือลด ?”

“เดิมก็อาจมีอยู่ประมาณนี้แหละ แต่ยังไม่อยู่ในทะเบียนราษฎร ตัวเลขจากศูนย์ชาวเขาเมื่อปี ๒๕๔๖ ประมาณ ๔ แสนกว่าคน พอมีช่วงของการลงทะเบียนสัญชาติ ผ่านการพิสูจน์ตามเกณฑ์ จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นจากการได้รับสัญชาติ  ก็เหมือนการเพิ่มพื้นที่ป่านั่นแหละ ความจริงก็เป็นพื้นที่เดิมที่ชาวบ้านดูแลใช้สอยอยู่ แล้วรัฐไปประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ก็กลายเป็นได้พื้นที่ป่าเพิ่มมาจากการขึ้นทะเบียนจำนวนประชากรก็เหมือนกัน คนมีอยู่เท่านี้ แต่จากการลงสถานะบุคคล พอได้สัญชาติตัวเลขประชากรก็เพิ่มขึ้น”
เรียกเรา
ด้วยนามอันแท้จริง

เมื่อถามว่า อยากให้คนอื่นเรียกเขาอย่างไร

วุฒิตอบว่า “เราเป็นใคร อยู่ที่เรายอมรับว่าเราเป็น-ตามที่คนอื่นให้เป็น  อย่างรัฐให้เราเป็นกะเหรี่ยง โดยเอกสารราชการ โดยอำนาจที่เหนือกว่า ถ้าทำให้เราได้ประโยชน์เราก็ยอมรับมัน แต่ถ้าเราไม่พอใจ เราก็ไม่ยอมรับการเรียกนั้น”

เขาเล่าย้อนจากเอกสารโบราณว่า คำว่ากะเหรี่ยงปรากฏในคำเรียกของสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ใน นิราศสุพรรณ
ของสุนทรภู่  ขุนช้างขุนแผน  และในหนังสือพิมพ์บางกอก
รีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเลย์ ทั้งสามแหล่งนี้อยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ ใช้คำว่าเกรี่ยง ยังไม่มีกะนำหน้า  ฝรั่งเรียก Karen ก็คงมาจากเกรี่ยง หรือหะเรียงที่คนมอญเรียก หรือคะยินตามที่
คนพม่าเรียก

“กะเหรี่ยงเป็นชื่อเรียกรวมของทุกกลุ่มย่อย ได้แก่ จกอว์หรือสะกอ โผล่ง ปะโอหรือต่องสู้ และอีกกลุ่มคือคะยา”

เขาให้รายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละกลุ่มว่า
ในดินแดนล้านนา คนเมืองเรียกกะเหรี่ยงกลุ่มที่เรียก
ตัวเองว่าปกากะญอว่ายาง  ตามศัพท์ ปกาคือพวกเรา
กะญอคือคน  ฝรั่งเรียกกลุ่มนี้ว่าจกอว์ ไทยออกเสียงว่าสะกอ

โผล่งมีความหมายว่าคน เช่นเดียวกับคำว่าปกากะญอ
ซึ่งยังไม่แยกว่าเป็นชาติพันธุ์ใด คนโผล่งจึงมักเรียกตัวเองว่า โผล่งซู คือคนซู  เขาเรียกปกากะญอว่าส่างหรือส่อง ก็คือสะกอ

ปะโอ คนอื่นเรียกเขาว่าต่องสู้ แปลว่าคนภูเขา 

คะยา พม่าเรียกเขาว่าคะยินนีหรือกะเหรี่ยงแดง 

“ทั้งสี่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ที่นักภาษาศาสตร์จัดอยู่ในกลุ่มกะเหรี่ยง  แต่ทั้งหมดนี้พวกเขาเองอาจไม่ยอมรับ เพราะแต่ละกลุ่มมีชื่อที่เขาเรียกตัวเอง กะเหรี่ยงเป็นชื่อคนอื่นเรียกเขา”

“กะหร่างเป็นใคร อยู่ในกลุ่มนี้ไหม ?”

“สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่พบคำนี้เลย ผมเจอคำว่ากะหร่างใน สมุดราชบุรี พ.ศ. ๒๔๖๘  พระยาคทาธรบดี จางวางโท (เทียม อัศวรักษ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เป็นผู้รวบรวมเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยว ประชากร กลุ่มชาติพันธุ์ในมณฑลราชบุรี  หนังสือเล่มนี้ถือเป็นเอกสารราชการ ตอนหนึ่งบอกว่า ในมณฑลราชบุรีมีกะเหรี่ยงและกะหร่าง หนังสือราชการเอาคำนี้มาจากไหน ทราบว่าตอนที่ทำหนังสือเล่มนี้พระศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย) เป็นนายอำเภออยู่ พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๖๗ จึงสันนิษฐานว่าคนที่ทำหนังสือเล่มนี้คงถามข้อมูลจากท่าน เรื่องกะเหรี่ยงจึงปรากฏชัด ต่อมาใครที่พูดถึงกะเหรี่ยงก็อ้างจากหนังสือเล่มนี้ พระศรีสุวรรณฯ เป็นกะเหรี่ยงโผล่ง  สันนิษฐานว่าคำว่ากะหร่างก็มาจากพระศรีสุวรรณฯ เพื่อแยกแยะโผล่งกับปกากะญอ แยกว่าสองกลุ่มนี้เป็นกะเหรี่ยงเหมือนกัน แต่ว่าเป็นคนละกลุ่มย่อย คำว่า กะหร่างก็คือคำเรียกคนปกากะญอในเขตพื้นที่ราชบุรี” 
Image
“กะเหรี่ยงทั้งสี่กลุ่มต่างกันที่ไหนบ้าง ?” “ลักษณะเสื้อผ้าการแต่งกาย พื้นที่อาศัย โผล่งถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายางน้ำ ปกากะญอถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายางดอย นี่เรียกตามพื้นที่อาศัย  โผล่งทางภาคเหนือถูกเรียกว่ายางเปียง แปลว่าที่ราบ เรียกปกากะญอว่ายางดอย นี่เรียกตามภูมินิเวศ บางทีสะกอถูกเรียกว่ายางขาวตามสีเสื้อที่ใส่ หรือเรียกยางกะเลอยางเด๊าะแด๊ะ ก็มี  แต่การเรียกตามเสื้อผ้าที่ใส่อาจจะไม่ค่อยชัด คนโผล่งต่างพื้นที่รายละเอียดเสื้อผ้าก็ต่างกัน คนที่ยังไม่แต่งงานจะใส่สีขาว พอโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิงเปลี่ยนสีเสื้อผู้ชายใส่ทรงกระสอบ ยาวถึงหน้าแข้ง”

กลุ่มชาติพันธุ์อยู่กันมาก่อนเส้นพรมแดนและเชื่อมโยงถึงกันด้วยสายใยทางวัฒนธรรม ซึ่งวุฒิขีดวงให้เห็น ข้ามเส้นเขตแดนประเทศ แนวเขตจังหวัด เส้นแบ่งภูมิภาค กระทั่งระหว่างฝั่งแม่น้ำ

โผล่งมีถิ่นอาศัยตั้งแต่แถวปากแม่น้ำอิรวดี เมืองพะสิม ย่างกุ้ง หงสาวดี มีชุมชนคนโผล่งแทรกอยู่ ในรัฐกะเหรี่ยงตองอู ผาอัน อยู่ปนกับปกากะญอ แต่กลุ่มหลังมักอยู่บนภูเขา

ในไทย กะเหรี่ยงเคยมีที่นครปฐม แถวกำแพงแสน ดอนตูม สมัยรัชกาลที่ ๕ กลับจากเสด็จประพาสไทรโยค เจอกะเหรี่ยงที่สระสี่มุม ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ นามสกุลลูกผักชี จ้อยร่อย เป็นปกากะญอ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคนทุ่ง มองภายนอกดูไม่ออกแล้วว่าเป็นชนเผ่า

นอกนั้นอยู่ตามแนวชายแดนตะวันตก ตั้งแต่ประจวบฯ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ต่อเนื่องไปถึงอุทัยธานี สุพรรณบุรี ส่วนมากเป็นโผล่ง  ขึ้นไปทางตาก มีทั้งโผล่งและปกากะญอแม่สอด แม่ระมาด สบเมย เป็นปกากะญอ ท่าสองยาง อมก๋อย มีทั้งโผล่งและปกากะญอ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นปกากะญอ  ลำปางมีทั้งโผล่งและปกากะญอลำพูน แพร่ โผล่งเยอะกว่า

“กลุ่มปะโอกับคะยาในไทยมีไหม ?”

“ที่แม่ฮ่องสอนมีครบสี่กลุ่ม  คะยามีรัฐของตนเองอยู่ตรงข้ามขุนยวม เคยสู้กับอังกฤษแล้วอพยพเข้าไทย  ปะโออยู่แถวอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปาย โผล่งอยู่แถวสบเมย ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นปกากะญอ”

“ทำไมปกากะญอภาคเหนือไม่ชอบถูกเรียกว่ากะเหรี่ยง ?”

“อาจเพราะเขารู้สึกว่าคำว่ากะเหรี่ยงมาจากกรุงเทพฯ มาจากราชการ  ซึ่งบางทีคนเรียกก็ไม่ได้มีเจตนา แต่เขาก็ไม่รู้”

“ในเอกสารโบราณของกรุงเทพฯ ใช้คำว่ากะเหรี่ยงกับกลุ่มไหน ?”

“ในนิราศของสุนทรภู่ใช้กับกะเหรี่ยงสุพรรณบุรี ที่ด่านช้าง ซึ่งต้องเป็นโผล่ง เพราะปัจจุบันก็ไม่มีปกากะญออยู่แถวนั้น”

“คนโผล่งไม่รู้สึกอะไรกับการถูกเรียกว่ากะเหรี่ยง ?”
“ไม่รู้สึก เรียกฉันว่ากะเหรี่ยง ใช่ ฉันเป็นกะเหรี่ยงโผล่ง แต่ถ้ามาเรียกเราว่าปกากะญอ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนถูกเรียกมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรียกผมซึ่งเป็นโผล่ง ผมก็ยอมรับ เพราะปกากะญอคือคน”
แต่บางคนอาจบอกว่าเรียกปกากะญอไม่ได้ เพราะฉันเป็นโผล่ง หรือบางทีคนที่อยู่ในหมู่บ้านลึก ๆ เขาอาจไม่เคยได้ยิน เขาไม่รู้ว่าคนข้างนอกเรียกเขาอย่างไร แต่บางทีก็ใช้คำว่ากะเหรี่ยงเมื่อต้องการสื่อสารในภาพรวม เพื่ออธิบายว่าปกากะญออยู่ตรงนี้ โผล่งอยู่ตรงนี้ อย่างการสร้างเครือข่ายเมื่อปี ๒๕๔๒ เพื่อเชื่อมโยงคนกะเหรี่ยงในเมืองไทย เกิดขึ้นครั้งแรกที่เชียงใหม่ ใช้คำว่าเครือข่ายปกากะญอเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม แล้วมาเชื่อมโยงคนกะเหรี่ยงทางภาคกลาง พวกเราก็บอกว่าใช้คำว่าปกากะญอไม่ได้ พวกเราเป็นคนโผล่ง หลังจากนั้นก็ตกลงกันได้ว่าใช้คำว่ากะเหรี่ยง เป็นคำที่ทางการเรียกกัน ปรากฏในหนังสือ งานวิจัย และเอกสารอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ฝรั่งก็ใช้คำว่า Karen ซึ่งคลุมหมดทุกกลุ่ม เราใช้คำนี้เพื่อพูดกับรัฐ สัมพันธ์กับสากล จึงเป็นเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม ๑๕ จังหวัด  ต่อเนื่องมาถึงการผลักดัน พ.ร.บ. ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง เมื่อ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓”
ระหว่างฟากฝั่งสาละวิน
“กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่มมีสำนึกร่วมว่าเป็นชาติพันธุ์เดียวกันไหม ?”

“มีตำนาน นิทาน อย่างเรื่อง หน่อหมื่อเอ ที่เล่ากันทั้งโผล่ง ทั้งปกากะญอทั้งในไทยในพม่า เป็นนิทานที่บอกถึงการมีสำนึกร่วมความเป็นพวกเดียวกัน ใหม่กว่านั้นก็มี พะวอ วีรบุรุษของกะเหรี่ยงที่ทั้งโผล่งทั้งปกากะญอยกย่อง สำนึกร่วมเกิดจากการมีภาษา ตำนาน วีรบุรุษร่วมกัน เจ็บปวดร่วมกัน”

“กลุ่มที่อพยพหนีการสู้รบข้ามแม่น้ำสาละวินมาที่แม่สามแลบ ท่าตาฝั่ง เมื่อช่วงหน้าแล้งเป็นกลุ่มไหน ?”

“คิดว่าเป็นปกากะญอ ฝั่งตรงข้ามเป็นรัฐกะเหรี่ยง”

“คนกะเหรี่ยงในเมืองไทยมีความรู้สึกว่าต้องไปช่วยเหลือไหม ?”

“สมาคมกะเหรี่ยงแห่งประเทศไทยที่รวมตัวกันเหนียวแน่นทางภาคเหนือ ติดต่อเชื่อมโยงไปมาหาสู่กัน ยามเจ็บป่วย มีสงคราม ก็ระดมความช่วยเหลือกันไป ในยามปรกติที่ไม่มีสถานการณ์สู้รบ คนกะเหรี่ยงระหว่างเส้นพรมแดนยังทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันผ่านทางสถาบันศาสนา กะเหรี่ยงราชบุรีก็ข้ามไปทำบุญที่ทวาย”

“กะเหรี่ยงคิดถึงการสร้างชาติของตัวเองไหม ?”

“กะเหรี่ยงในไทยไม่มีอุดมการณ์เรื่องการจะแยกดินแดน ไม่เคยมีกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐ ส่วนกะเหรี่ยงในพม่านั้นมีประวัติศาสตร์ที่เอื้อต่อการปลุกเร้าความรู้สึกนี้ อังกฤษก็บอกว่ากะเหรี่ยงอยู่ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม ไม่ใช่พม่า เขามีรัฐกะเหรี่ยง ทุกวันนี้เขาก้าวหน้ากว่ากะเหรี่ยงในไทยในแง่เทคโนโลยี เขามีสถานีโทรทัศน์ช่องรายการเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เขาทำหนังสั้น ทำวิดีโอ ก้าวหน้ามาก แต่กะเหรี่ยงในไทยรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยไม่ต้องสร้างรัฐแล้ว”

“ในรัฐชาติไทยคนกลุ่มนี้มีบทบาทความสำคัญอย่างไร ?”

“ช่วงที่ทำสงครามกับพม่า ไทยให้ความสำคัญกับกะเหรี่ยง มีตำแหน่งด้านการดูแลชายแดน ช่วงต้องหาของป่าส่งเมืองจีนก็ใช้กะเหรี่ยง  พอสินค้าเศรษฐกิจเปลี่ยนไปบทบาทก็ลดลง สมัยนี้เขาเป็นคนไทยเต็มตัว แต่พื้นที่อาศัยเป็นป่าเขา ไปไหนไม่ได้  พื้นที่ตรงนั้นถูกรัฐเข้าไปดูแลควบคุมจัดการ ตรงนี้เกิดผลกระทบกับคนชายขอบ ซึ่งเราอาจลืมนึกถึงบุญคุณกลุ่มชาติพันธุ์ที่ช่วยร่วมสร้างชาติกันมา แม้กระทั่งปัจจุบันถ้าคนกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ฯ ไม่ดูแลป่าต้นน้ำแม่กลองก็อาจไม่มีน้ำประปาไหลเข้ากรุงเทพฯ  ถ้ากะเหรี่ยงบางกลอยไม่ดูแลรักษาป่าแก่งกระจานก็อาจไม่เหลือผืนป่าที่จะเป็นมรดกโลก แม่น้ำเพชรฯ ก็ไม่มีน้ำ เราไม่ควรมองส่วนใหญ่จนลืมส่วนน้อย” 
คน/ป่า/ต้นนา/บางกลอย
“ที่กล่าวกันว่า คนอยู่กับป่า คนกะเหรี่ยงใช้และดูแลป่าอย่างไร ?”
“เป็นการปรับตัวให้เข้ากับภูมินิเวศที่เขาเกิดและอาศัยอยู่ การใช้และดูแลรักษาป่าเริ่มจากความเชื่อว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายต่อชีวิต การให้คุณค่าสู่ความเคารพอย่างการทำไร่ข้าวจะเลือกพื้นที่ ขนาดของไร่ตามจำนวนคนในบ้าน ซึ่งจะไม่เกิน ๕ ไร่ต่อครอบครัว
“ปีต่อไปก็ไปทำที่ใหม่ ตรงไร่เก่ามีพืชผักยังเก็บกินได้ ปีที่ ๓ ก็ขยับไปอีกที่ ตรงแปลงแรกป่าก็ฟื้น ผ่านไป ๗ ปี วนกลับมาทำที่เก่า เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่า ๗ ปีทำลายป่าไป ๗ แปลง ในรอบ ๗ ปี ป่าถูกเปลี่ยนสภาพครั้งเดียว แล้วค่อย ๆ ฟื้นกลับมาในปีต่อไป”
“ชุมชนบางกลอยที่แก่งกระจานมีกี่ครอบครัว ?”

“กลุ่มที่กลับขึ้นไปที่บางกลอยบนราว ๓๐ ครอบครัว พื้นที่ทำไร่ก็จะประมาณ ๑๕๐ ไร่ต่อปี ในรอบ ๗ ปีก็วนเวียนอยู่
ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗๕๐ ไร่ โดยไม่มีโฉนด แต่ละครอบครัวไม่ได้ถือครองพื้นที่ จุดที่คนหนึ่งเคยทำคนอื่นมาทำต่อได้ ถือเป็นที่ส่วนรวม”

“เพียงแต่ไร่หมุนเวียนแบบส่วนรวมนี้ทับซ้อนอยู่กับป่าอนุรักษ์ ?”

“แต่เดิมบ้านบางกลอยกับบ้านโป่งลึกอยู่หมู่ ๗ และหมู่ ๘ ของตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง  ต่อมาเป็นตำบลแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ช่วงก่อนปี ๒๕๑๔ ยังไม่เป็นอุทยานฯ เป็นป่าสงวนยางน้ำกลัดเหนือ-ใต้ มีการสัมปทานตัดไม้เต็มพื้นที่ รัฐให้ความสำคัญกับไม้ซุง คนเคยอยู่ในป่าก็อยู่ไปไม่เป็นไร  ตอนนั้นบ้านบางกลอยยังอยู่ข้างบน จนปี ๒๕๒๔ รัฐประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คนที่อยู่ในป่าเริ่มมีปัญหา  ปี ๒๕๓๙ มีการอพยพชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ๕๗ ครอบครัวลงมาอยู่ตรงข้ามกับบ้านโป่งลึก แต่จุดที่มาอยู่ใหม่เป็นพื้นที่ทำกินของคนบ้านโป่งลึก ก็กลายเป็นการแย่งที่ของคนอีกหมู่บ้านหนึ่ง คนมาอยู่ใหม่ไม่สบายใจ และที่ทำกินก็ไม่อุดมสมบูรณ์ คนบางกลอยจึงกลับขึ้นไปอยู่ที่เดิม จนปี ๒๕๕๓ ก็เริ่มมีการเผาไล่รื้อ”
“ข้างบนพื้นที่เป็นอย่างไร ?”

“บริเวณที่เรียกว่าใจแผ่นดินคือบางกลอยบน เขาอยู่ห่างกันแพรกห้วยละสามถึงสี่หลัง ไม่ได้อยู่เป็นกลุ่ม แต่ชุมชนที่ถูกอพยพเรียกว่าบ้านบางกลอย อพยพลงมาอยู่คนละฝั่งห้วยกับบ้านโป่งลึก ตั้งชุมชนชื่อบางกลอยล่าง ทั้งหมดนี้อยู่ในเขตอุทยานฯ ถ้ามองอย่างเท่าเทียม โรงเรียนและฐาน ตชด. ที่บ้านโป่งลึกก็อยู่ในอุทยานฯ เหมือนกัน และตั้งแต่เข้าเขตอุทยานฯ ที่ด่านแม่ม้าเร็วไปตลอดเส้นทางสู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย มีบ้านคนไทยที่มาจากข้างนอกอยู่กันมากมาย ถ้าจะอพยพกะเหรี่ยงก็ต้องอพยพคนเหล่านี้ด้วย หากรวมพื้นที่ทั้งหมดที่คนกะเหรี่ยงใช้ น้อยกว่าพื้นที่ครอบครองของคนพื้นราบจากข้างนอกมาก แต่ข้างบนอาจเป็นเขตที่รัฐเห็นว่าไม่ควรมีคนอยู่ ทำให้การขอประกาศเป็นมรดกโลกยังไม่ผ่านเพราะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนดั้งเดิมกระทั่งเกิดการไล่รื้อในยุทธการตะนาวศรี เมื่อปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔”

“ความขัดแย้งที่บางกลอยจะมีทางออกอย่างไร ?”

“อยู่ที่นโยบายของรัฐ แต่ต้องใช้การเมืองแก้ปัญหามากกว่ากฎหมาย”

“คนกะเหรี่ยง ๓๐ กว่าครอบครัวย้ายกลับไปที่เดิม เพราะอยากอยู่ตรงนั้น พอจะเป็นไปได้ไหม ?”

“ผมคิดว่าชาวบ้านมีความชอบธรรม เพราะจุดที่เขาขึ้นไปอยู่เป็นพื้นที่ดั้งเดิม ไม่ใช่การบุกเบิกพื้นที่ใหม่ และเขาไม่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่ทำลายผืนป่า แต่เป็นไร่หมุนเวียน อยู่ที่ว่าจะวางกฎเกณฑ์เงื่อนไขกันอย่างไร ?”
กะเหรี่ยง
ในป่ามรดกโลก

“มีต้นแบบไหมที่คนอยู่ในป่ามรดกโลก ?”

“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ มีหกชุมชนในหนึ่งตำบลอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ได้ โดยมีการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับป่าให้ได้ ขณะเดียวกันกฎหมายเขตป่าอนุรักษ์ก็ช่วยกีดกันการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไว้ด้วย อย่างไล่โว่ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็อยู่ไม่ได้ ป่าอยู่ได้เพราะการดูแลที่เอื้อซึ่งกันและกัน ป่าผืนนี้มีชุมชนคนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งรัฐก็ยอมรับแล้วว่ามีอยู่ ขณะที่ทางกลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งแต่ป่ากุยบุรีต่อเนื่องมาถึงไทยประจัน ซึ่งมีชุมชนกะเหรี่ยงอยู่เช่นกัน และกำลังจะประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ยังมีความขัดแย้งกับชุมชนดั้งเดิมอย่างที่บ้านบางกลอย บ้านป่าหมาก ก็อาจอยู่ที่ว่ารัฐจะใส่เนื้อหาการยื่นขอเป็นมรดกโลกอย่างไร”

“กรณีทุ่งใหญ่นเรศวรรัฐยอมรับว่ามีคนกะเหรี่ยงอยู่ในป่า ?”
“รัฐต้องยอมรับ เพราะว่ากะเหรี่ยงไล่โว่ สังขละบุรี มีหลักฐานการอยู่มาอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี ๒๓๑๘ ในสงคราม ๙ ทัพ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวกะเหรี่ยงทำหน้าที่หาข่าว ตัดกำลังเสบียง ต่อมาพระศรี-สุวรรณคีรี ผู้นำชาวกะเหรี่ยงได้เป็นเจ้าเมืองสังขละบุรี เรื่องนี้มีบันทึก 
ใครปฏิเสธว่าเขาไม่มีตัวตนก็ไม่ได้  กะเหรี่ยงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองห้าคน บรรดาศักดิ์เป็นพระศรีสุวรรณคีรี มีชื่อกะเหรี่ยงต่อท้าย คนสุดท้ายเป็นนายอำเภอคนแรกของสังขละบุรี รัฐจึงต้องยอมรับในบทบาทฐานะของกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ฯ”
“กะเหรี่ยงแก่งกระจานตั้งถิ่นฐานอยู่มานานอย่างกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ฯ ไหม ?”
“สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมีศึกนางแก้วที่โพธาราม คราวสงคราม ๙ ทัพก็มีข้าศึกผ่านมาจากทวาย เช่นเดียวกับคราวศึกบางกุ้ง แสดงว่าที่สวนผึ้งมีคนอยู่มานานแล้ว แต่มีหลักฐานการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่ชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๓ คราวสยามตกลงเขตแดนกับอังกฤษที่ยึดครองพม่า เจ้าเมืองสวนผึ้งมีบรรดาศักดิ์หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ ที่หนองหญ้าปล้อง บ้านลิ้นช้างที่จะออกไปทางใจแผ่นดิน นายด่านคือหลวงศรีรักษา หลวงประเทศเขื่อนขันธ์ นายกองด่านบ้านบ้องตี้ หลวงพิทักษ์-บรรพต ขุนพิทักษ์ไพรวัลย์ นายกองด่านบ้านยางโทน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีบันทึกการสำรวจแนวชายแดน โดยมีสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเสนาบดีใหญ่ดูแลเรื่องนี้ บันทึกระบุว่าแถวต้นน้ำเพชร มีกะเหรี่ยงและละว้าอาศัยอยู่ คนเหล่านี้ตัดไม้ฝาง มีเจ้าเมืองชื่อหลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งเลี่ยงเฮ่) หลวงพิทักษ์คีรีมาศ (พุ่งทองดิ่ง) เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลหลวงพิทักษ์คีรีมาศ (พุ่งวงลา) เป็นกำนันตำบลสวนผึ้ง เมื่อปี ๒๔๔๔  แสดงให้เห็นว่ากะเหรี่ยงตะวันตกสัมพันธ์กับรัฐไทยผ่านการทำหน้าที่นายด่านและผู้นำท้องถิ่น”

“ลึกเข้าไปในแถบใจแผ่นดินมีบันทึกการอยู่อาศัยชัดเจนไหม ?”

“ช่วงสยามปักปันแนวเขตกับอังกฤษ ปี ๒๔๐๗ มีหลักฐานชัดเจน ต่อมาปี ๒๔๕๕ มีหลักฐานแผนที่ระบุชื่อหมู่บ้านใจแผ่นดิน หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งเป็นแบบสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูง ปี ๒๕๓๘ ของเจ้าหน้าที่รัฐมีการขึ้นทะเบียนบุคคลไว้แล้ว รวมทั้งปู่คออี้ที่ระบุว่าเกิดปี ๒๔๕๔ ถือเป็นพยานบุคคลที่ยืนยันตัวตนได้ มีหลักฐานหนังสือราชการยืนยัน”

“เทียบเคียงกับกะเหรี่ยงไล่โว่ได้ ?”

“เทียบได้ เพียงแต่หลักฐานลายลักษณ์อักษรจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษหรือพม่า ทางไล่โว่ ด่านเจดีย์สามองค์เป็นทางเดินทัพ บันทึกจึงละเอียดกว่าทำให้หลักฐานเกี่ยวกับคนกะเหรี่ยงหลงเหลือให้สืบค้นได้ ทางราชบุรีไม่ได้เป็นช่องด่านใหญ่อย่างนั้น มีแต่ช่วงสงคราม ๙ ทัพ ที่มีทัพจากทวายมาทางนี้ นอกจากนั้นก็ดูจากสินค้าเศรษฐกิจ ก็มีของป่า ไม้ฝางที่ส่งไปจีน มีบันทึกบอกว่าสมัยรัชกาลที่ ๒ มีใบบอกไปยังราชบุรี ขอให้เจ้าเมืองรวบรวมไม้ฝางให้ได้ตามจำนวน เพื่อลงสำเภาไปส่งเมืองจีน เราสืบค้นความเกี่ยวข้องของคนกะเหรี่ยงได้จากบันทึกเหล่านี้ คนกะเหรี่ยงเป็นไพร่ส่วย มีหน้าที่ต้องหาสินค้าส่งออก มาถึงยุคการทำเหมืองแร่ที่สวนผึ้งสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็มีคนกะเหรี่ยงปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวตะวันตกที่มาทำเหมืองแร่”

“ป่าแก่งกระจานกว้างใหญ่และสมบูรณ์อย่างสมศักดิ์ศรีที่จะเป็นมรดกโลกไหม ?”
“กลุ่มผืนป่าแก่งกระจานต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบฯ ขึ้นมาอุทยานแห่งชาติแก่ง-กระจาน ในอำเภอหัวหิน อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อำเภอปากท่อ อำเภอบ้านคา อำเภอสวนผึ้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จังหวัดราชบุรี 
ลักษณะภูมินิเวศเป็นแหล่งต้นน้ำ แม่น้ำภาชีไหลจากทิศใต้มาทางสวนผึ้งไปลงแม่น้ำแควน้อย  ห้วยแม่ประจันต์ไหลไปทางปากท่อ ผ่านหนองหญ้าปล้องไปบรรจบกับแม่น้ำเพชรฯ ที่ท่ายาง แม่ประ-โดนที่เป็นแม่น้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำเพชรฯ ก็มีต้นน้ำมาจากป่าแก่งกระจาน อีกสายคือแม่น้ำบางกลอย กำเนิดจากใจแผ่นดิน ไหลลงแม่น้ำเพชรฯ ซึ่งกำเนิดจากเขาพะเนินทุ่ง กลุ่มสายน้ำเหล่านี้เป็นถิ่นที่อยู่ของคนกะเหรี่ยง

“ลงไปทางทิศใต้ก็มีห้วยสักเล็ก ห้วยสักใหญ่ ไหลลงรวมกับแม่น้ำปราณบุรี แถบนั้นเป็นถิ่นพี่น้องปกากะญอ ถัดไปถึงกุยบุรี สามร้อยยอด ก็มีบ้านป่าหมาก บ้านสวนทุเรียน แพรกห้วยทั้งหมดในกลุ่มผืนป่าเหล่านี้มีคนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่

“ถัดขึ้นไปทางด้านเหนือ ป่าแก่งกระจานสามารถเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกับผืนป่าตะวันตกในจังหวัดกาญจนบุรีและตาก หากมีการประสานความร่วมมือกับกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งเขาก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ดูแลฝั่งตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรีที่ยังเป็นผืนป่าสมบูรณ์
“ป่าจะเชื่อมกันได้คนต้องเชื่อมกันก่อน ซึ่งหากทำได้ก็จะเห็นการเชื่อมถึงกันของผืนป่า”