ภาพกะเหรี่ยงบนจิตรกรรมฝาผนังวัดใหม่เทพนิมิต คาดว่าวาดในสมัยอยุธยา น่าจะเป็นภาพกะเหรี่ยงที่เก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่ง
ภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

“ก่อทู เล” 
พงศาวดารฉบับกะเหรี่ยง
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
“กะเหรี่ยงตั้งชื่อแผ่นดินนี้ว่า ก่อลา (Kaw-Lah) หมายถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ พวกเราหักร้างถางพง แรงงานผลิดอกออกผลเรามีความสุขมาก เปลี่ยนนามแผ่นดินเป็น ‘ก่อทูเล’ แปลว่าดินแดนที่ปราศจากสิ่งชั่วร้าย ความอดอยาก และการแก่งแย่งชิงดี”
เอกสารเผยแพร่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union, KNU)
The Karens and Their Struggle for Freedom (ค.ศ. ๑๙๙๒)

รายการ Sarakadee Live Karen Talk
จากก่อทูเลถึงบางกลอย สุเจน กรรพฤทธิ์
นักเขียนเรื่อง “ก่อทูเล”
พงศาวดารฉบับกะเหรี่ยง ชมทั้งรายการคลิกลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=6GVPzEf0roo

ทุกครั้งที่เดินทางตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา สังเกตการณ์การเดินสวนสนามของกองกำลังชนกลุ่มน้อย นอกเหนือเอกลักษณ์ชุดประจำเผ่าของคนที่เข้าร่วมพิธี คำถามที่มักปรากฏในความคิดของผมคือ คนเหล่านี้เล่าเรื่องของตนเองอย่างไร ?

การยืนหยัดสู้รบกองทัพเมียนมาเกือบ ๑ ศตวรรษ ในทางประวัติศาสตร์ พวกเขาหลงเหลือหลักฐานอะไรที่เล่าเรื่องบรรพบุรุษ พวกเขาสืบสานถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองแบบไหน ฯลฯ

เพื่อนนักประวัติศาสตร์เคยบอกผมว่า การเขียนประวัติ-ศาสตร์ชนกลุ่มน้อยยากกว่าเขียนประวัติศาสตร์กลุ่มชนที่มีประเทศหลายเท่าด้วยข้อจำกัดด้านหลักฐานและการลงพื้นที่

กลุ่มชนที่คนภายนอกเรียกพวกเขาว่า “กะเหรี่ยง” (Karen) ก็ไม่พ้นข้อจำกัดดังกล่าว

นานถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของผู้อาวุโสสู่ลูกหลานรุ่นสู่รุ่น เรื่องราวของพวกเขาจะเริ่มมีหลักฐานจับต้องได้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ อันเป็นรอยต่อระหว่างการล่มสลายของรัฐในโลกยุคโบราณกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมัยใหม่แบบที่คนรุ่นเรารู้จัก

ย้อนไป ๗ ปี (๒๕๕๗) ผมเห็นความพยายามเล่าเรื่องตัวเองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในนิทรรศการที่พวกเขาติดตั้งบนเสาไม้ไผ่ปักไว้ข้างซุ้มประตูทางเข้าสู่บริเวณที่ใช้สวนสนาม

ซุ้มนี้ทำหน้าที่ต้อนรับและให้ข้อมูลกับคนที่ข้ามแม่น้ำเมยจากฝั่งไทย (และเส้นเขตแดนสมมุติ) มาร่วมงานวันชาติกะเหรี่ยงในฝั่งพม่า

เป็นนิทรรศการเรียบง่าย แต่เรื่องเล่าที่ดูน่างงงวยไม่เป็นระบบกลับน่าสนใจยิ่งสามภาพที่ผมจำได้แม่นคือ ซอบาอูจี-ชายหนุ่มหนวดงาม, แผนที่รัฐกะเหรี่ยง (ติดชายแดนไทย) และกฎสี่ข้อที่ใช้เจรจากับรัฐบาลเมียนมามาตลอด

ทั้งหมดทำเพื่อแผ่นดินที่คนกะเหรี่ยงเรียกว่า

“ก่อทูเล” (Kawthoolei-ดินแดนแห่งแสงสว่าง)
ดินแดน “ทีแซะแมะยวา” ที่คนกะเหรี่ยงเชื่อกันว่าเป็นดินแดนดั้งเดิมของบรรพชน 
ภาพ : หนังสือ The Karens and Their Struggle for Freedom

“เม็ดทรายที่ไหลริน”
แผ่นดินบรรพบุรุษ
เรื่องเล่าของกะเหรี่ยงก็ไม่แตกต่างกับเรื่องเล่าชนชาติอื่นเมื่อกล่าวถึงบรรพบุรุษและถิ่นกำเนิด คือมีลักษณะเป็นนิทานปรัมปรา สืบทอดต่อกันแบบปากต่อปาก กล่าวโดยรวมคือเป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” (oral history) มากกว่าจะเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร

เอกสารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union, KNU) องค์กรนำทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยงในการต่อสู้กับรัฐบาลพม่าระบุว่า ดินแดนต้นกำเนิดของพวกเขาคือ “ทีแซะแมะยวา” (Htee Set Met Ywa - “ดินแดนที่เม็ดทรายไหลริน”)

เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องเล่าเดียวกับที่ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงในหลายหมู่บ้านทั้งในไทยและพม่าเล่าให้ผมฟัง

นักมานุษยวิทยาชาวตะวันตกจำนวนมากยังกล่าวถึงตำนานกะเหรี่ยงเรื่องการอพยพข้ามแม่น้ำที่มีทรายไหลริน (river of running sand) มุ่งลงใต้ ซึ่งน่าจะนำพวกเขามาสู่เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน 

มีการตีความว่าเรื่องเล่านี้บ่งชี้ถึงพื้นที่บางแห่งเป็นการเฉพาะ มีข้อเสนอมากมายว่าอาจหมายถึงทะเลทรายโกบี (อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน), แม่น้ำสาละวิน (ด้านตะวันออกของเมียนมา), แม่น้ำเหลือง (ฮวงโห ภาคกลางของจีน) และแม่น้ำจินชา (Jinshajiang/Jinsha River/Golden Sand River-ต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)

ศาสตราจารย์ชาร์ล เอฟ. คีย์ส (Charles F. Keyes) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ยังเคยเสนอว่าคนกะเหรี่ยงอยู่ในภาคตะวันออกของเมียนมาราว ๗๐๐ ปีแล้ว โดยอยู่ร่วมกับชาวมอญในพื้นที่ราบและบางส่วนไปอยู่อาศัยบนพื้นที่สูง

ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงและค้นคว้ากันมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยหลักฐานเกี่ยวกับคนกะเหรี่ยงในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นั้นแทบไม่มี

แต่ข้อมูลหนึ่งที่คนกะเหรี่ยงเองเล่าและตรงกับข้อมูลในหลักฐานจำนวนมากคือ พวกเขามีปัญหากับอำนาจรัฐของเมียนมาตั้งแต่อดีตมาจนยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กะเหรี่ยงกับเมียนมาเป็นราว “น้ำ” กับ “น้ำมัน”
ยากที่จะมีวันเข้ากันได้ 
Image
ซอบาอูจี ผู้วางรากฐานการต่อสู้ปฏิวัติปลดปล่อยรัฐกะเหรี่ยง
ภาพ : หนังสือ The Karens and Their Struggle for Freedom
“กะเหรี่ยง” 
ในหลักฐานเมียนมา-ไทย
ในหลักฐานหลายชิ้น กษัตริย์สยามนั้นอ้างมานานว่าพระองค์นั้นเป็นใหญ่ครอบครองพระราชอาณาจักรแวดล้อมด้วยประเทศราชจำนวนมาก อันรวมถึง “...บ้านเมืองกะเหรี่ยงบางเหล่าแต่ทิศประจิมจดพายัพ” อันหมายถึงสยามนั้นรับรู้การมีอยู่ของชาวกะเหรี่ยงทางด้านตะวันตกของอาณาจักรมานานแล้ว

จากการสำรวจหลักฐานจำพวกพงศาวดาร ที่ปลายแดนด้านนี้ชาวกะเหรี่ยงปรากฏตัวระหว่างศึกพม่ากับสยามอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมกำลังคนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า (เขียนขึ้นหลังเสียกรุงครั้งที่ ๒) ในฐานะเมือง (หรือบ้าน) “ละวะกะเหรี่ยง”

มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า เล่าว่าในสงครามปี ๒๓๑๘/ค.ศ. ๑๗๗๕ กรุงธนบุรีได้ข่าวจาก “เกรียง” (กะเหรี่ยง) ที่ชายแดน ทำให้ทราบข่าวกองทัพกรุงอังวะยกเข้ามาทางด้านท่าไร่ (กาญจนบุรี) 

ศึกใหญ่ที่สุดที่คนกะเหรี่ยงเข้ามามีบทบาทคือสงครามที่นักประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า “สงคราม ๙ ทัพ” ศึกระหว่างกรุงอมรปุระกับกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๒๘/ค.ศ. ๑๗๘๕ โดยสมรภูมิสำคัญคือบริเวณทุ่งลาดหญ้า (เขาชนไก่) เมืองกาญจนบุรี ที่เป็นจุดตัดสินแพ้ชนะ

หลักฐานพม่าระบุว่าสงครามคราวนี้สยามใช้กองกำลังกะเหรี่ยงต่อสู้ ในระหว่างรบสยามส่ง “งะกัน” เชลยพม่าที่จับได้ในคราวศึกอะแซหวุ่นกี้ (ปี ๒๓๑๘/ค.ศ. ๑๗๗๕) ให้มาเจรจาหย่าศึก โดยงะกันกราบบังคมทูลพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า (ครองราชย์ปี ๒๓๒๕-๒๓๖๒/ค.ศ. ๑๗๘๒-๑๘๑๙) ที่ยกทัพมาว่า สยามได้เชลยพม่าไปสามคน จากฝีมือของ “ชาวกะเรี่ยง (กะเหรี่ยง) แขวงสังขละ”
ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า ระบุว่า กองกำลังกะเหรี่ยงที่ว่านี้น่าจะอยู่ในบริเวณคยอกกอง (Kyauk Kaung-สันนิษฐานว่าเป็นตำบลหนึ่งในกาญจนบุรี) เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดแถบแม่น้ำสมิ (อยู่ในเขตพม่าติดกาญจนบุรี) โดยชาวกะเหรี่ยงแขวงสังขละ (ปัจจุบันคืออำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) ยังมีบทบาทต่อเนื่องในการเฝ้าระวังชายพระราชอาณาเขตด้านนี้
ร่องรอยความทรงจำเรื่องภัยจากอังวะ ยังคงปรากฏอยู่ในความทรงจำของชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันตกของไทย รองศาสตราจารย์ ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุในงานวิจัย ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมืองศึกษากรณีชุมชนในทุ่งใหญ่นเรศวร ว่า มีตำนานกะเหรี่ยงเรื่องการใช้คาถาอาคมและวิธีมากมายในการหนีจนกระจายเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มแรก ถูกกวาดต้อนไปพม่าเรียงแถวยาวได้เจ็ดโค้งแม่น้ำ กลุ่มที่ ๒ ไปกับเรืออังกฤษเจ็ดลำ กลุ่มที่ ๓ ข้ามมาฝั่งสยามเจ็ดกลุ่มใหญ่ จากนั้นกระจายไปตามเมืองแถบภาคกลางและตะวันตก
ศึกใหญ่ที่สุดที่คนกะเหรี่ยงเข้ามามีบทบาทคือสงครามที่นักประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า “สงคราม ๙ ทัพ” ศึกระหว่างกรุงอมรปุระกับกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๒๘/ค.ศ. ๑๗๘๕ โดยสมรภูมิสำคัญคือบริเวณทุ่งลาดหญ้า (เขาชนไก่) เมืองกาญจนบุรี ที่เป็นจุดตัดสินแพ้ชนะ
กะเหรี่ยงสามเผ่าที่เข้ามาในสยาม คือ โพล่วง (โปว์), ส่อง (สะกอ) และต่องสู้ (ต่องตู่) มาอยู่ร่วมกันและสัญญาว่าจะเอื้อเฟื้อกัน แต่ต่อมาเข้าใจผิดกันจนเผ่าต่องสู้หนีไปทางเหนือเหลือเพียงสองเผ่าในป่าทุ่งใหญ่ฯ

ยังมีเรื่องเล่าว่าพวกเขาถูกพม่ากีดกันไม่ให้เข้าถึงการบวชพระในพุทธศาสนา ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนับถือ “ฤๅษี” ในฐานะผู้นำด้านศีลธรรมและต่อสู้กับพม่า นอกจากนี้ยังมองว่ากษัตริย์พม่าไม่มีทศพิธราชธรรม

กะเหรี่ยงที่อยู่ด้านฝั่งตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรีก็รับมรดกความทรงจำนี้มาเช่นกัน เห็นได้ชัดในเอกสาร KNU ที่ระบุว่า “ระบอบศักดินา” พม่านั้น “กดขี่ชนทุกเชื้อชาติ” มองว่าการรุกรานของพม่าในอดีตทำให้กะเหรี่ยงต้องอพยพเข้าไปอยู่ในพื้นที่กันดาร “ตัดขาดจากอารยธรรม” จึงล้าหลังกว่าชาติพันธุ์กลุ่มอื่น (แต่ถ้าหากมองข้อเท็จจริง นี่คือเหตุการณ์ปรกติที่รัฐจารีตในสมัยโบราณทุกรัฐทำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อยุธยา หงสาวดี อังวะ เว้ ฯลฯ)

ต่อมาความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในภูมิภาคแข่งกับเจ้าถิ่นเดิม (คือ พม่าและสยาม) พม่าไม่สามารถต่อต้านอังกฤษได้ ในที่สุดก็ตกเป็นอาณานิคม ในขณะที่สยามโอนอ่อนผ่อนตามและเอาตัวรอดไปได้ ในที่สุดก็เกิด “เส้นเขตแดน” กั้นระหว่างพม่า (ของอังกฤษ) กับสยามขึ้น

เรื่องของชาวกะเหรี่ยงสองฟากเขาตะนาวศรีก็ยิ่งซับซ้อนและแตกต่างกันมากขึ้น
Image
คณะเจรจาของนายพลอองซานที่เดินทางไปเจรจาเรื่องการให้เอกราชกับพม่าในปี ๒๔๙๐/ค.ศ. ๑๙๔๗ โดยไปถึงกรุงลอนดอนหลังคณะทูตของกะเหรี่ยงไม่นาน แต่ได้รับความสำเร็จมากกว่า และนำไปสู่การได้เอกราช 
ชะตากรรม “กะเหรี่ยง” 
ในลุ่มอิรวดี -สาละวิน
ความยากลำบากในการค้นข้อมูลประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง คือเราแทบจะหาหลักฐานถึงความเป็นมาของพวกเขาในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ (ตรงกับช่วงอยุธยาตอนกลาง) ไม่ได้

เพราะกะเหรี่ยงมิได้ก่อตั้งรัฐขนาดใหญ่ การบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรจึงแทบไม่ปรากฏ กรณีของชาวกะเหรี่ยงในพม่าเรื่องราวจะชัดขึ้นในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่าในฐานะอาณานิคม

ช่วงนั้นปรากฏข้อมูลว่ากะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี พะโค (เมืองหงสาวดี) เขตตะนาวศรี (ภาคใต้) ปะปนกับชนชาติอื่น โดยในภาคใต้บริเวณเทือกเขาตะนาวศรีมีคนกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานหนาแน่นที่สุด

อย่างไรก็ตามอังกฤษนั้นปกครองคนหลากหลายชาติพันธุ์ในพม่าแบบ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” (divided and ruled) ใช้ชนกลุ่มน้อยเป็นข้าราชการอาณานิคม ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีฐานะสูงกว่าชาวพม่า

หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์พม่ายังลงรายละเอียดว่าอังกฤษ “แยกหมู่ชนเชื้อชาติต่างกันออกจากกัน” ไม่ฝึกทหารให้คนไทใหญ่และพม่า “ให้สิทธิพิเศษเฉพาะพวกชิน (Chin) คะฉิ่น (Kachin) และกะเหรี่ยง”

เขายังมองว่าอังกฤษบังคับกษัตริย์มินดง (ครองราชย์ปี ๒๓๙๖-๒๔๒๑/ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๗๘) ให้ยอมรับว่ากะเหรี่ยงเป็นรัฐอิสระทั้งที่ “เป็นของพม่ามาโดยตลอด” แล้วรวบแคว้นกะเหรี่ยงไปปกครองโดยตรง แบ่งคนในที่ราบลุ่มเป็นเขตตามชนชาติ ทั้งยังบอกว่าคนกลุ่มน้อยมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษ

เอกสาร KNU ยืนยันเรื่องนี้ว่าคนกะเหรี่ยงได้รับผลดีจากการปกครองของอังกฤษ เพราะ “ถูกสอนให้รู้จักปกครองด้วยกฎหมาย...เข้าถึงการศึกษา” กะเหรี่ยงมองว่าเรื่องนี้ “ทำให้พม่าขุ่นเคืองที่กะเหรี่ยงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับคนพม่า” ทั้งยังฟันธงว่าผลของการปกครองโดยอังกฤษ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ “ชาวกะเหรี่ยงก้าวหน้ากว่าชนกลุ่มอื่น”
ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ ราชา (Ananda Raja) นักมานุษยวิทยาชาวอินเดีย ชี้ว่ากิจกรรมมิชชันนารี “สำคัญยิ่ง” เพราะส่งผลโดยตรงกับการสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่กะเหรี่ยง เกิดการวางระบบโรงเรียน ภาษา (ภาษาสะกอใช้มากที่สุด) อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการเข้ามาของมิชชันนารี

แอนโทนี อาร์. วอล์กเกอร์ (Anthony R. Walker) นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ เขียนในบทความ “Karen and Lahu : ethnic affiliation or Baptists’ imagination ?” ว่า กะเหรี่ยงคนแรกที่เข้ารีตนับถือคริสต์คือ โกตาบิว (Ko Tha Byu) ในปี ๒๓๗๑/ค.ศ. ๑๘๒๘  โดยเขาถูกจ้างเป็นคนรับใช้ของ อโดนิรัม จัดสัน (Adoniram Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในพม่าแล้วถูกส่งไปช่วยงานเผยแผ่ศาสนาในเมืองทวาย หลังจากนั้นศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวกะเหรี่ยง โดยแอนโทนีระบุว่าปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือความเชื่อดั้งเดิมของกะเหรี่ยงหลายเรื่องเข้าได้กับ “พระเจ้า” ในศาสนาคริสต์

ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ ราชา (Ananda Raja) นักมานุษยวิทยาชาวอินเดีย ชี้ว่ากิจกรรมมิชชันนารี “สำคัญยิ่ง” เพราะส่งผลโดยตรงกับการสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่กะเหรี่ยง เกิดการวางระบบโรงเรียน ภาษา (ภาษาสะกอใช้มากที่สุด) อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง
ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๒๐ (ราวปี ๒๔๗๑) ยังมีเซอร์ซาน ครอมบี โป (Sir San Crombie Po) ที่เสนอแนวคิด “ประเทศกะเหรี่ยง” เป็นครั้งแรก โดยมองว่าเขตตะนาวศรีเป็น “ตัวเลือกที่ดี” ในการสร้างประเทศ

ในช่วงเวลาใกล้กัน ขบวนการชาตินิยมเมียนมาเริ่มก่อตัวในนาม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti Fascist People’s Freedom League, AFPFL) นำโดยทะขิ่นอองซาน (ต่อมาคือนายพลอองซาน)

ต่อมาเมื่อเกิด “สงครามมหาเอเชียบูรพา” (ส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเขตเอเชียแปซิฟิก) AFPFL เลือกเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่น โดยหวังว่าญี่ปุ่นช่วยปลดแอกพม่าจากอังกฤษได้ แต่ชาวกะเหรี่ยงเลือกอยู่กับอังกฤษและสัมพันธมิตร

สองชนชาติจึงไม่ถูกกันโดยปริยาย แม้ภายหลังนายพลอองซานจะหันกลับไปร่วมมือกับอังกฤษก็ตาม
ความพยายาม
ของ “ซอบาอูจี ”
๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ (ค.ศ. ๒๐๑๔) พื้นที่โล่งฝั่งตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ในช่วงค่ำนอกจากลานที่เตรียมไว้สวนสนามวันชาติกะเหรี่ยงในวันรุ่งขึ้น รอบบริเวณยังมีชาวกะเหรี่ยงมาออกร้านรวงคึกคักราวกับงานวัดใหญ่ 

ผมใช้เวลายืนคุยกับวัยรุ่นชาวกะเหรี่ยงสองคนจนทราบว่าภาพชายหนวดงามบนบอร์ดนิทรรศการประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงและตามซุ้มต่าง ๆ มีนามว่า ซอบาอูจี (Saw Ba U Gyi) 

สถานะของเขาในสายตาชาวกะเหรี่ยงรุ่นหลังสูงส่งเทียบเท่ากับนายพลอองซาน บิดาเอกราชของเมียนมา เพียงแต่เรื่องนี้ไม่ถูกกล่าวถึงในแบบเรียนของไทยและเมียนมา

ย้อนกลับไปในปี ๒๔๘๘/ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบ นายพลอองซานได้พยายามเจรจากับชนกลุ่มน้อยเพื่อรวมตัวกันประกาศเอกราชจากอังกฤษในลักษณะสหพันธ-รัฐ

ความที่ผู้นำกะเหรี่ยงมองว่าตนมิได้เป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาจึงถอนตัวโดยพฤตินัยจากวงเจรจาที่เมืองปางโหลง (ไปถึงสถานที่เจรจาช้าและไม่เข้าร่วม)  อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนั้นส่งผลให้เกิด “สนธิสัญญาปางโหลง” ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐/ค.ศ. ๑๙๔๗ ที่ให้คำมั่นว่า ๑๐ ปีให้หลังชนกลุ่มน้อยสามกลุ่ม คือ คะฉิ่น ชิน และไทใหญ่ (Tai) มีสิทธิ์เลือกว่าจะแยกตัวเป็นรัฐอิสระหรือยังคงรวมกันเป็นหนึ่งในสหภาพเมียนมา (Union of Myanmar)

เรื่องนี้ยังเขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๔๗ ที่บังคับใช้เมื่อเมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษในเดือนมกราคม ๒๔๙๑/ค.ศ. ๑๙๔๘

น่าสนใจว่าห้วงก่อนเมียนมาได้เอกราช กลุ่มกะเหรี่ยงจัดตั้ง “สมาคมกะเหรี่ยง” (Karen National Association, KNA) องค์กรการเมืององค์กรแรกรวมทั้งองค์กรย่อย เช่น กลุ่มแนวหน้าทางการเมือง (KCO) ที่มีแนวทางสังคมนิยม องค์กรเยาวชนกะเหรี่ยง (KYO)

แต่ผู้นำที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในช่วงนี้คือ ซอบาอูจี

ซอบาอูจี เกิดในปี ๒๔๖๘/ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาจบกฎหมายที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งแล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กลับมาเมียนมาในยุคที่อังกฤษเริ่มผ่องถ่ายอำนาจให้ปกครองตนเองภายใต้รัฐบาลดอกเตอร์บามอ (Dr. Ba Maw/ดำรงตำแหน่งปี ๒๔๘๐-๒๔๘๒/ค.ศ. ๑๙๓๗-๑๙๓๙)

เขารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงข่าวสาร ต่อมาเป็นหนึ่งในแกนนำก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union, KNU) องค์กรนำที่สำคัญที่สุดของกะเหรี่ยงในปี ๒๔๙๑/ค.ศ. ๑๙๔๘ ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ลงนามเรียกร้องเอกราชปีนั้น

ซอบาอูจี และพวกเสนออังกฤษว่า ดินแดนกะเหรี่ยงคือภาคตะนาวศรี (Tenasserim Division ภาคใต้ของเมียนมา), ยองเลบิน (Nyaunglebin), บางส่วนของเขตหงสาวดี (พะโค ภาคกลางของเมียนมา) โดยตั้งแต่ปี ๒๔๘๘/ค.ศ. ๑๙๔๕ มีการยื่นบันทึก “Humble Memoria” เอกสารที่วางขอบเขตรัฐกะเหรี่ยงเป็นครั้งแรก [ต่อมารวมเขตตองอูและอินเส่ง (Insein) เพิ่มเข้าไป]

ซอบาอูจี ยังลาออกจากคณะรัฐมนตรีของอูนุในปี ๒๔๘๘/ค.ศ. ๑๙๔๕ (แต่กลับถูกแทนที่ด้วยคนกะเหรี่ยงที่มีท่าทีประนีประนอมมากกว่า) โดยปีถัดมา (๒๔๘๙/ค.ศ. ๑๙๔๖) เขาเดินทางร่วมกับ “คณะทูตแห่งความปรารถนาดี” (Goodwill Mission) ไปกรุงลอนดอนเพื่อเจรจากับอังกฤษโดยตรง โดยเชื่อมั่นว่าการที่ชาวกะเหรี่ยงร่วมรบกับอังกฤษมาตลอดจะทำให้อังกฤษสนับสนุนการสร้างรัฐกะเหรี่ยง

แต่ทั้งหมดก็ล้มเหลว ด้วยขณะนั้น คลีเมนต์ ริชาร์ด แอตต์ลี (Clement Richard Attlee) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องการถอนตัวจากเมียนมาให้เร็วที่สุดเพื่อลดภาระงบประมาณ ทำให้ต้นปีถัดมาเมื่อนายพลอองซานไปเจรจาที่ลอนดอน จึงเกิด “สนธิสัญญาอองซาน-แอตต์ลี” (Aung San-Attlee Agreement) อันนำไปสู่การให้เอกราชเมียนมา

ศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล ดับบลิว. ชาร์นีย์ (Michael W. Charney) อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ศาสนา และปรัชญา วิทยาลัยบูรพาคดีและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS) ซึ่งเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ระบุว่า ปัญหาใหญ่ของความพยายามตั้งรัฐกะเหรี่ยงคือ มีการเสนอพื้นที่มากมาย แต่ส่วนมากกระจัดกระจาย “ขาดความเชื่อมโยงทางกายภาพ ยากต่อการปกครองและอยู่รอดทางเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ถึงแม้รัฐธรรมนูญเมียนมาจะรับรองให้มี “ก่อทูเล” (รัฐกะเหรี่ยง) ในสหภาพ แต่ KNU ก็มองว่าเมื่อเทียบกับชนกลุ่มน้อยอีกสามกลุ่ม กะเหรี่ยงไม่มีสิทธิ์กำหนดชะตากรรมตนเอง ทั้งขอบเขตรัฐก็ยังไม่ชัด

รัฐบาลเอกราชชุดแรกของเมียนมาภายใต้การนำของอูนุพยายามประนีประนอมด้วยการเสนอให้กะเหรี่ยงปกครองตนเองภายใต้สหภาพ ตั้งคณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตรัฐและกระจายอำนาจปกครองโดยแต่งตั้ง ซอบาอูจี ด้วย

อย่างไรก็ตามปลายปี ๒๔๙๑/ค.ศ. ๑๙๔๘ อูนุก็ปฏิเสธข้อเสนอเรื่องพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงที่จะกินมาถึงภาคกลางของพม่า ความตึงเครียดนี้ทำให้ “ซิวูนดาน” (Sitwundan กองกำลังท้องถิ่นของรัฐบาล) กับ KNDO (กองกำลังทหารของ KNU) เผชิญหน้ากันบ่อยครั้ง

สถานการณ์แย่ลงอีกเมื่อมีการปลดนายทหารกะเหรี่ยงจากกองทัพสหภาพ เกิดกรณีปะทะกันระหว่างตำรวจเมียนมากับคนกะเหรี่ยงระหว่างทำพิธีในโบสถ์จนเสียชีวิตไป ๓๐๐ คน
Image
ซอบาอูจี ในชุดทหาร มีลายธงชาติกะเหรี่ยงเป็นฉากพื้นหลัง ภาพนี้เห็นได้ทั่วไปในเมียนมาเมื่อเข้าสู่เขตที่ KNU มีอิทธิพลหรือไปเยี่ยมบ้านคนกะเหรี่ยง
“กฎ ๔ ข้อ” และ ๗ ทศวรรษ
แห่งการจับปืน
ถึงตอนนี้ ซอบาอูจี วาง “กฎพื้นฐาน” ในการต่อสู้เพื่อเอกราชไว้ว่า
หนึ่ง     ไม่มีการยอมแพ้ 
สอง    สถานะรัฐกะเหรี่ยงต้องได้รับการรับรอง
สาม     ไม่วางอาวุธ
สี่         กะเหรี่ยงต้องตัดสินชะตากรรมของตนเองได
ซอบาอูจี แถลงว่า “...ผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า การปฏิวัติเท่านั้นที่จะทำให้กะเหรี่ยงได้รับชัยชนะ แม้ว่าจะต้องผ่านความยากลำบากก็ตาม”

แต่เขาก็เสียชีวิตกะทันหันในเดือนสิงหาคม ๒๔๙๗/ค.ศ. ๑๙๕๔ ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้ชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สอด ไม่ห่างจากเมืองเมียวดีมากนัก

อูตอง (U Thaung) นายทหารที่ทำงานด้านข่าวในกองทัพเมียนมาบันทึกว่า ซอบาอูจี และแกนนำ KNU ถูกจับโดยกองกำลังของร้อยโท เส่งลวิน (ต่อมาคือพลเอก เส่งลวิน ผู้ออกคำสั่งปราบประชาชนเมียนมาในเหตุการณ์ประท้วงปี ๒๕๓๑/ค.ศ. ๑๙๘๘) โดยพวกเขาถูกจับเป็นและสังหารเมื่อพยายามหนี มีการนำร่างมาให้นักข่าวทำข่าวและ “นำร่างลงเรือออกไปจากชายฝั่ง ๔ ไมล์ จากนั้นทิ้งลงทะเลเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหลุมศพ...”

คนที่รับช่วงจาก ซอบาอูจี คือ ซออูพูโหย่ (S’au Poo Nyo) ที่พยายามผลักดันปัญหากะเหรี่ยงเข้าสู่องค์การสหประชาชาติ เสนอว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ต่างจากชาวยิว (อิสราเอล) ที่โดนข่มเหงและต้องการสร้างรัฐของตนเองในดินแดนแห่งพันธ-สัญญา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก

ช่วงนี้ KNU มีฐานใหญ่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เรียกว่า “มาเนอปลอว์” (ดินแดนแห่งชัยชนะ) ล้อมรอบด้วยหุบเขา ด้านตะวันออกจดแม่น้ำเมยกับสาละวิน ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาซับซ้อน และแบ่งกองกำลังออกเป็นเจ็ดเขตตลอดแนวชายแดน

ในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ ภายใต้การนำของนายพลโบเมียะ (Bo Mya) ที่นำ KNU อย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี ๒๕๑๙/ค.ศ. ๑๙๗๖  KNU ค่อนข้างมีเอกภาพและยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย (อย่างลับ ๆ) ที่มีนโยบายใช้ชนกลุ่มน้อยเป็นรัฐกันชนตามแนวชายแดนในระยะนั้นด้วย

การสู้รบยังดำเนินต่อไปโดยมีชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้าเขตไทยหลายระลอกจนมีการตั้งค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดน ถึงปี ๒๕๓๑/ค.ศ. ๑๙๘๘ การประท้วงเผด็จการของประชาชนเมียนมาถูกปราบอย่างรุนแรง ส่งผลให้คนเมียนมาจำนวนมากหนีมาสมทบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยจับอาวุธสู้กับทหารเมียนมา

ระยะนี้ข้อเสนอของ KNU เอนเอียงไปในทางเรียกร้องให้มีสหพันธรัฐและปกครองตนเอง

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งใน KNU ทำให้มีการแยกตัวของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army, DKBA) มาเข้ากับเมียนมาและนำทหารเมียนมาตีมาเนอปลอว์แตก  KNU ต้องย้ายฐานมาอยู่ที่ค่ายคอมูรา (ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) แต่ไม่นานก็เสียพื้นที่ไปอีกจนต้องปรับแผนเป็นการรบแบบกองโจร

ยังปรากฏว่ามีการตั้งกองกำลัง “เคอเซโด/กองทัพพระเจ้า” (God’s Army) นำโดย “แฝดลิ้นดำ” ลูเทอร์ และ จอห์นนี ฮะตู ในพื้นที่ตรงข้ามอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีกำลังราว ๒๐๐ คน  ทหารในส่วนนี้แตกต่างจากทหารกะเหรี่ยงพื้นที่อื่นตรงที่เคร่งศาสนาคริสต์และมีรูปแบบการรบที่แตกต่างออกไป

แต่เมื่อกองทัพพระเจ้าบุกยึดสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๔๒/ค.ศ. ๑๙๙๙ ยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีในปี ๒๕๔๓/ค.ศ. ๒๐๐๐ ทางการไทยจึงเปลี่ยนท่าทีมากดดันชนกลุ่มน้อยตามชายแดน  ต่อมาก็อดส์อาร์มีมอบตัวต่อทางการไทยและถูกส่งเข้าศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยทั้งหมด

ด้าน KNU ก่อนนายพลโบเมียะจะเสียชีวิตในปี ๒๕๔๙/ค.ศ. ๒๐๐๖ เขาแทบไม่มีอำนาจทางทหารเหลือเนื่องจากความขัดแย้งภายใน  หลังจากนั้นพลเอก มูตูเซโพ ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

ระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๕๓ การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพกะเหรี่ยงยังเป็นไปอย่างรุนแรง โดยมีความพยายามเจรจาหยุดยิงกันเป็นระยะ ครั้งสำคัญคือช่วงที่รัฐบาลทหารเมียนมาในนาม “สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ” (State Peace and Development Council, SPDC) เปลี่ยน
รูปแบบเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือนด้วยการร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๑/ค.ศ. ๒๐๐๘ และจัดเลือกตั้งในอีก ๒ ปีต่อมา โดยพลเอกเต็งเส่งขึ้นเป็นประธานาธิบดี กระบวนการเจรจาหยุดยิงอย่างเป็นระบบจึงเริ่มขึ้น  ในที่สุด KNU ยอมลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงระดับชาติ (National Ceasefire Agreement, NCA) ร่วมกับกองกำลังอีกเจ็ดกลุ่มชาติพันธุ์ในปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕


Image
นายพลโบเมียะ ผู้นำคนสำคัญของ KNU ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ขณะเจรจาสันติภาพกับพลเอก ขิ่นยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีและผู้นำของ SLORC 
"ก่อทูเล" ในจินตนาการ
Image
ธงกองกำลัง "ก่อทูเล"
Image
เป็นเครือญาติสายหนึ่งของกะเหรี่ยง (ไทยเรียก “กะเหรี่ยงแดง”) ในประวัติศาสตร์ปกครองโดย “สอพญา/สอพวา” (Saophya/เจ้าฟ้า) โดยมีเขตย่อยห้าเขต ในปี ๒๓๒๘/ค.ศ. ๑๗๘๕ กษัตริย์มินดงกับอังกฤษยอมรับความเป็นอิสระของรัฐคะเรนนี แต่เมื่อพม่าได้รับเอกราชก็มีการรวมรัฐคะเรนนีเข้าไปด้วย พวกเขาต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าโดยมีองค์กรนำคือ Karenni National Progressive Party, KNPP
Image
เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมียนมาในปี ๒๔๙๐/ ค.ศ.๑๙๔๗ ในฐานะเขตปกครองชาวกะเหรี่ยงเข้ามามีส่วนร่วม แต่ระดับความเป็นอิสระนั้นไม่เท่ากับที่ชาวกะเหรี่ยงต้องการ และไม่มีสิทธิในการแยกตัวจากสหภาพภายหลังเวลาผ่านไป ๑๐ ปี เหมือนกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นที่เข้าร่วมการเจรจาปางโหลง
Image
ต่อมาเมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy, NLD) ชนะเลือกตั้งในปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕  รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ก็พยายามเจรจากับชนกลุ่มน้อยต่อผ่าน “การประชุมสนธิสัญญาปางโหลงแห่งศตวรรษที่ ๒๑” โดยมีเป้าหมายคือแก้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๑/ค.ศ. ๒๐๐๘ สร้างสหพันธรัฐที่ชนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้

แต่ภารกิจนี้ก็ไม่ง่าย เนื่องจาก NLD ควบคุมกองทัพไม่ได้ นโยบาย “หนึ่งประเทศหนึ่งกองทัพ” และสลายกำลังชนกลุ่มน้อยเป็น “กองกำลังพิทักษ์ชายแดน” (Border Guard Force, BGF) ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ 

ด้วยชนกลุ่มน้อย รวมถึงกะเหรี่ยง ไม่ยอมวางอาวุธ ทั้งเสนอตั้ง “กองทัพสหพันธ์” แทน ทำให้กองทัพเมียนมากังวลเรื่องเอกภาพและกลัวว่าชนกลุ่มน้อยจะหาทางแยกตัว

การประชุมปางโหลงถูกจัดสี่ครั้งในช่วงระยะเวลา ๔ ปีโดยที่ประชุมพยายามวางหลักการพื้นฐานของสหพันธรัฐเพื่อไปสู่การลงนามใน “สนธิสัญญาสหภาพ” (Union Accord)

แต่ล่าสุดกระบวนการก็ชะงักเมื่อพลเอก มินอ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ และตั้ง “สภาบริหารแห่งรัฐ” (State Administration Council, SAC) ปกครองประเทศ

ตลอดการต่อสู้ยาวนานกว่า ๗ ทศวรรษ กองกำลังกะเหรี่ยงแบ่งเป็นหลายกลุ่ม คือ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF เป็นทหารกะเหรี่ยงที่วางอาวุธเข้าร่วมกองทัพพม่า), กองกำลังสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Force, KPF), กองทัพพิทักษ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNDO/KNLA กำลังทหารหลักของ KNU) และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA)

KNU ยังคงเป็นองค์กรนำทางการเมืองที่สำคัญที่สุด

กองกำลังกะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ประกาศปกป้องประชาชนที่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมา และในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงติดแนวชายแดนไทยมีการต่อสู้กันอย่างหนัก

ด้านตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี การสู้รบของกะเหรี่ยงยังคงดำเนินต่อไป
“กะเหรี่ยง” 
ในสยาม-ไทย
ด้านตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรี เรื่องเล่าของกะเหรี่ยงกลับเป็นอีกแบบ

ภาพจำของกะเหรี่ยงสำหรับคนไทยจำนวนมาก คือ ชาวเขาบนพื้นที่สูง ทำไร่หมุนเวียน ยังไม่นับ “ผู้ร้าย” ในแบบเรียนที่ “ทำไร่เลื่อนลอย” ทำให้ป่าไม้เสียหาย 

มีสถิติของโครงการภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโดยภาควิชาภูมิศาสตร์ในปี ๒๕๔๕/ค.ศ. ๒๐๐๒ ระบุว่าไทยมีชาวกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่ใน ๑๕ จังหวัด มีประชากร ๔๓๘,๑๓๑ คน สี่จังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี

แต่ก็มีการคาดการณ์จากกองทุนกะเหรี่ยงแห่งออสเตรเลีย (Australian Karen Foundation) ว่ามีกะเหรี่ยงในเมียนมาประมาณ ๙ ล้านคน ส่วนในไทยน่าจะมีราว ๑ ล้านคน

การกระจายตัวของคนกะเหรี่ยงในไทยสอดคล้องกับข้อมูลอพยพในหลักฐานต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ก่อนเกิด “เส้นเขตแดน” และ “รัฐชาติ/ประเทศสมัยใหม่” คนกะเหรี่ยงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคใต้ของเมียนมาและภาคตะวันตกรวมไปถึงภาคใต้ตอนบนของไทยแล้ว
การเขียนประวัติศาสตร์ให้กะเหรี่ยง “จงรักภักดี” กับราชสำนักสยาม น่าจะเป็นมุมมองจากยุค “ปัจจุบัน” กลับไปในอดีตเพื่อทำให้กะเหรี่ยงมีอำนาจต่อรองกับรัฐไทยมากกว่า
อาจารย์ปิ่นแก้วยังอธิบายเหตุที่กะเหรี่ยงในไทยไม่มีความรู้สึกชาตินิยมเหมือนกะเหรี่ยงในเมียนมาว่า “ถ้าอิงจากงานของศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล เรื่อง Siam Mapped
จะเห็นว่ายุคนั้นพื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-พม่าเป็น ‘ภูมิภาคกะเหรี่ยง’ หรือพื้นที่ของคนกะเหรี่ยงและเป็นเขตที่หลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว” (Siam Mapped-หนังสือ กำเนิด
สยามจากแผนที่)

กะเหรี่ยงอยู่ในลักษณะขึ้นกับ “สองฝ่ายฟ้า” คือยอมรับอำนาจพม่ากับสยาม “แต่สยามไม่ได้ปกครองโดยตรง ยังให้กะเหรี่ยงปกครองกันเอง การตั้งเจ้าเมืองก็เทียบไม่ได้และอำนาจก็ต่างกับอำนาจของนายอำเภอสมัยนี้” ดังนั้นกะเหรี่ยงในไทยจึงไม่ได้โน้มเอียงไปในทางที่จะสร้างอำนาจรัฐขึ้นมา อีกทั้งกระบวนการกล่อมเกลาในระบบโรงเรียน ระบบสังคมของกะเหรี่ยงไม่ได้เกิดขึ้นในฝั่งไทยเหมือนกับในพื้นที่ที่ KNU มีอิทธิพล

ส่วนการเขียนประวัติศาสตร์ให้กะเหรี่ยง “จงรักภักดี” กับราชสำนักสยาม น่าจะเป็นมุมมองจากยุค “ปัจจุบัน” กลับไปในอดีตเพื่อทำให้กะเหรี่ยงมีอำนาจต่อรองกับรัฐไทยมากกว่า

ไม่ว่าเรื่องเล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ทุกวันนี้ผมพบว่าโครงเรื่องดังกล่าวยังกระจายอยู่ในชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่ง เช่นบ้านสะเนพ่อง มีเรื่องเล่าพระพุทธรูปและลูกประคำที่รัชกาลที่ ๓ พระราชทานแก่คนกะเหรี่ยง คนในชุมชนยังคงนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
Image
จิตรกรรมฝาผนัง แสดงภาพชาวกะเหรี่ยง
วัดบางขุนเทียนนอก
ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ

ส่วนกรณีสยามตั้งกะเหรี่ยงเป็นเจ้าเมืองปลายแดน เช่น กรณี “พระศรีสุวรรณคีรี” เป็นเจ้าเมืองสังขละบุรีที่ปรากฏใน สมุดราชบุรี (ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๗) นั้น อาจารย์ปิ่นแก้วตีความว่า “น่าจะหมายถึงสยามยอมรับการมีตัวตนและถิ่นฐานคนกะเหรี่ยง โดยให้ปกครองกันเอง” ทั้งยังแสดงว่าสยามมีข้อมูลคนกลุ่มนี้ “แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นพลเมืองสยาม”

ที่น่าสนใจคือ สมุดราชบุรี ยังให้ที่มากะเหรี่ยงว่ามาจากบ้านเมกะวะ เมืองมะละแหม่ง “มาอยู่ในอำเภอวังกะ (อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี)” อันหมายถึงมีการเคลื่อนที่ไปมาของคนกะเหรี่ยงในพื้นที่
ทั้งนี้สัดส่วนประชากรกะเหรี่ยงในสยามยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มหลัก ขณะที่ในเมียนมาคนเมียนมามีจำนวนมากกว่าคนกะเหรี่ยงไม่มาก ความขัดแย้งจึงมีมากกว่า

อาจารย์ปิ่นแก้วระบุว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อไทยเข้าสู่ยุคสงครามเย็น กะเหรี่ยงในไทยได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ป่าไม้ที่เริ่มต้นในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้ต้นแบบการจัดการพื้นที่อนุรักษ์มาจากสหรัฐอเมริกาที่มองคนในป่าเป็นศัตรูกับการอนุรักษ์

นโยบายนี้ทำให้สถานภาพของคนกะเหรี่ยงเปลี่ยนไปเพราะ “รัฐเข้าไปปกครอง จัดการพื้นที่ สร้างโรงเรียน นำวิธีคิดที่ต่างจากวิถีเดิมเข้าไป ตอนนี้คนกะเหรี่ยงกลายเป็น ‘ชาวเขา’ มีภาพทำลายป่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่มีมาโดนทำให้หายไป สถานภาพนี้อาจแย่กว่ามุสลิมทางภาคใต้ด้วยซ้ำ”

หน่วยงานรัฐที่เข้าไปใช้อำนาจในพื้นที่ ไม่ว่าตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ยังก่อความตึงเครียดจนเกิดกระทบกระทั่งกัน เช่น กรณีกะเหรี่ยงใช้กำลังโจมตี ตชด. ที่บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ ๘ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ หลัง ตชด. ทำลายเจดีย์ของชาวบ้าน

ยังปรากฏข้อมูลว่า กะเหรี่ยงในไทยร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายเกษตรกรยุคหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยังจัดตั้งมวลชนในพื้นที่ของกะเหรี่ยง ทำให้กะเหรี่ยงบางส่วนหันมาสนับสนุน พคท. เพราะไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว

เมื่อ พคท. ล่มสลาย ยุคสงครามเย็นผ่านไป รัฐไทยโดยเฉพาะกำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติและตำรวจทหาร กลับเข้าไปในพื้นที่อาศัยของคนกะเหรี่ยงตามตะเข็บชายแดนอีกครั้ง

พุทธศักราช ๒๕๖๔/ค.ศ. ๒๐๒๑

ถึงตอนนี้ คำถามที่ว่าเราควรเล่าประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ

แต่ที่แน่ ๆ คือที่ฟากเขาตะนาวศรีด้านทิศตะวันตก คนกะเหรี่ยงยังคงต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อ “ก่อทูเล”

ส่วนที่ฟากเขาด้านทิศตะวันออก คนกะเหรี่ยงพบกับความท้าทายในการดำรงวิถีดั้งเดิมในป่าจากการจัดการของรัฐ

อนาคตข้างหน้าของคนกะเหรี่ยงสองฟากเขาเป็นอย่างไร


ยังไม่มีใครกล้าตอบ
กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union, KNU)
จัดพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพเนื่องในวันชาติ  
ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๔ 
บริเวณตรงข้ามกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

เอกสารประกอบการเขียน
ภาษาไทย
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตน-
โกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๔. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๕๕.

นฤมล ธีรวัฒน์ ชำระต้นฉบับ, ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. พระ
ราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยา
ทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ. พิมพ์
ครั้งแรก, ๒๕๓๙.

นายต่อ แปล, สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. มหาราชวงษ์พงษาวดาร

พม่า. กรุงเทพฯ : มติชน. พิมพ์ครั้งแรก, ๒๕๔๕.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณี

ชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร. กรุงเทพฯ : โลกดุลยภาพ.
พิมพ์ครั้งแรก, ๒๕๓๙.

“สู่การแสวงหารากฐานใหม่ในการนิยามธรรมชาติ :

ตัวอย่างจากชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่” ในวารสาร เมืองโบราณ
ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๓, กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๖.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ

เอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๙.

ศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี. สมุดราชบุรี พ.ศ. ๒๔๖๘. พระนคร :

ศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี, ๒๔๖๗.

ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ. “กะเหรี่ยง : ตัวขอบรูป คนขอบโลก” ใน

วารสาร เมืองโบราณ ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๓, กรกฎาคม-กันยายน
๒๕๓๖.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับ

พม่า. กรุงเทพฯ : มติชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, ๒๕๖๑.

หม่องทินอ่อง เขียน, เพ็ชรี สุมิตร แปล. ประวัติศาสตร์พม่า. กรุงเทพฯ :

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑.


ภาษาอังกฤษ
Garbani, Giulia and Matthew J. Walton. Imagine Kawthoolei : Strategies of petitioning for Karen statehood in Burma in the first half of the 20th century. Retrieved from http://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/nana.12613, 4 June 2021. 

Gravers, Mikael. “The Karen and the Ceasefire Negotiations :
Mistrust, Internal Segmentation and Clinging to Arms”, in War and Peace in the Borderlands of Myanmar : The Kachin Ceasefire, 1994-2011. Edited by Mandy Sadan. Copenhagen : NIAS Press, 2016.

Raja, Ananda. Ethnicity, “Nationalism, and the Nation 
State : The Karen in Burma and Thailand”, in Ethnic Groups Across National Boundaries in Mainland Southeast Asia. Edited by Gehan Wijeyewardene. Singapore : ISEAS-Yusof Ishak Institute, 1990.

Roger, Benedict. BURMA a nation at the crossroads. London :
Rider Books, 2015. 

Walker, Anthony R. “Karen and Lahu : ethnic affiliation or
Baptists’ imagination?”,  in The Journal of the Siam Society, Volume 96, 2008 : 217-228.

http://australiankarenfoundation.org.au/karen_people_18.html