Image

นิทาน

บ ท บ ร ร ณ า ธิ ก า ร

เด็กกำพร้า แม่ ยาย ยักษ์ ผี เจ้าเมือง เจ้าฟ้า นก ช้าง เสือ หมู หมา ฯลฯ เป็นตัวละครหลากหลายที่พบได้ในนิทานปกาเกอะญอ

หนังสือชุดนิทานปกาเกอะญอ เล่าความโดยพะตีจอนิ โอ่โดเชา เขียนคำโดย นาโก๊ะลี จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เล่มแรกชื่อ กำพร้าขนนก (ปี ๒๕๔๗)  เล่ม ๒ จอเกอะโดะ คนขี้เกียจ (ปี ๒๕๔๘)  มีนิทานในทั้งสองเล่มรวม ๓๓ เรื่อง และต่อมายังมีเล่ม ๓ แม่เป็นปลา พ่อเป็นน้ำ (ปี ๒๕๕๒) แต่ผมไม่มีในครอบครองจึงไม่แน่ใจว่ามีอีกกี่เรื่อง

สองเล่มแรกซื้อไว้อ่านนิทานให้ลูก ๆ ฟังตั้งแต่หนังสือจัดพิมพ์ออกมาครั้งแรก จนวันนี้ลูกโตแล้วก็ยังจำเรื่องราวในนิทานกันได้หลายเรื่อง

พะตีจอนิบอกว่า “นิทานและบทกวีของปกาเกอะญอมีมากมายดั่งใบไม้ในป่า” นิทานแต่ละเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา แต่ละบ้านก็มีนิทานต่างกัน แต่ละคนก็เล่าต่างกันไปคนละอย่าง อาจเพราะคนเล่าก็ฟังเรื่องมาแล้วตีความ ปรับแต่งเรื่องที่จะเล่าซ้ำให้เข้ากับยุคสมัยและท้องถิ่นตัวเอง

เด็กกำพร้าที่ยากจน แต่ขยัน อดทน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะมีนางฟ้ามาช่วยแก้ไขอุปสรรค ในที่สุดก็พบกับความสุข

คนสุดขี้เกียจที่ไม่ทำการงานใด ๆ ไม่แม้แต่หาข้าวปลาอาหาร เอาแต่นอนทั้งวัน จู่ ๆ ลุกขึ้นกลายเป็นคนขยันขันแข็ง มีพละกำลังทำงานทุกอย่างในไร่หลังจากเผอิญได้ของวิเศษมาติดตัว แถมกินจุแบบพนันแข่งกินควายกินช้างทั้งตัวชนะ

งูเหลือม ยักษ์ ที่คอยจะจับคนกิน แต่ถ้าคนผู้นั้นร้องขอชีวิต แสดงใจมุ่งมั่นขอกลับไปดูแลครอบครัว ก็อาจได้รับเมตตา

นอกจากนิทานปกาเกอะญอจะแฝงคติและแง่คิด ฉากและเรื่องราวต่าง ๆ มักสะท้อนภาพวิถีชีวิตที่แนบอิงธรรมชาติ ผู้คนยังสื่อสารพูดคุยกับสัตว์ป่า ต้นไม้ ภูตผีวิญญาณ เจ้าป่าเจ้าเขา

นิทานเรื่องหนึ่งที่ชอบคือเรื่อง “เจ้าเมืองเสือ” (อยู่ในเล่ม ๒ จอเกอะโดะ คนขี้เกียจ) เล่าถึงอาณาจักรพงไพรป่าพฤกษ์ มีสรรพสัตว์และคนอาศัยอยู่ร่วมกันตามวิถีของตน มีเสือเป็นเจ้าเมืองปกครอง คอยจับสัตว์อื่นเป็นอาหาร และร้องคำรามประกาศอำนาจจนสัตว์อื่นได้แต่นิ่งเงียบ จะมีก็เพียงยุงบินเสียงดังหึ่ง ๆ ที่ไม่กลัวเสือ

วันหนึ่งเสือหลับหลังกินเหยื่ออิ่มหนำ ยุงกัดเสือแล้วเอาเลือดเสือมากองไว้บนใบไม้ ประกาศว่า เสือเบียดเบียนสัตว์อื่นมากไป ส่วนยุงกินเลือดนิดเดียว และขอเสียงประชามติจากเหล่าสรรพสัตว์ให้ยกตำแหน่งเจ้าเมืองแก่ยุง

เจ้าเมืองใหม่แม้จะกินเลือดสัตว์อื่นน้อย แต่ปรากฏว่าทำให้สัตว์ที่ถูกยุงกัดล้มตาย เพราะเชื้อโรคร้ายที่ติดมากับยุง แถมยังตายกันทีละหลาย ๆ ตัว เพราะยุงไม่ได้กินเลือดสัตว์ตัวเดียว  แมงมุมจึงบอกว่ายุงไม่สมควรเป็นเจ้าเมืองอีกแล้ว ยุงแย้งว่าตัวเองไม่มีเชื้อร้าย เพราะถ้ามี ทำไมตัวเองไม่ตาย  แมงมุมจึงแอบชักใยขวางทางทำให้ยุงติดกับและยอมลงจากตำแหน่ง

แมงมุมไม่ยอมรับเป็นเจ้าเมือง เพราะเกรงว่าตัวเองจะกลายเป็นเหมือนเสือและยุง ที่พอมีอำนาจแล้วก็เบียดเบียนชีวิตไปมากมาย  สรรพสัตว์ทั้งหลายเลยพากันเดินทางไปหาพระเจ้าเพื่อขอความช่วยเหลือแต่ระหว่างทางเจอแม่น้ำใหญ่ขวางทาง มีเพียงแมงมุมที่ชักใยไต่ตัวข้ามไปได้ และคนที่เอาไม้ไผ่ทำแพข้ามไป

แมงมุมบอกพระเจ้าว่ามาขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อไปเป็นเครื่องปกครองแทนการมีเจ้าแห่งสัตว์  พระเจ้าจึงมอบของวิเศษให้คนกับแมงมุมคนละอย่าง  คนเก็บซ่อนของไว้ที่เปลือกตา ส่วนแมงมุมกลืนเก็บไว้ในท้อง  ระหว่างทางเจอยักษ์ที่หลอกให้ทั้งสองดื่มเหล้า  พอคนหลับ ของศักดิ์สิทธิ์เลยหล่นออกจากเปลือกตามาให้ยักษ์ขโมยไปได้

หลังจากทั้งสองกลับมาแล้ว คนขอแบ่งของศักดิ์สิทธิ์จากแมงมุม แมงมุมบอกว่าของศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ที่รังของตน

เมื่อคนไปดูจึงได้เห็นลวดลายอันสวยงามของใยแมงมุม และเกิดความคิดนำลายแมงมุมมาเป็นลายผ้าและลายจักสานไม้ไผ่ที่ชาวปกาเกอะญอสืบทอดต่อมา
.
.
.
ย้อนมองตัวละครในสังคมวันนี้ก็ดูจะไม่ต่างไปจากในนิทานเก่าแก่ ทั้งเจ้าเมือง การใช้อำนาจ การเบียดเบียน โรคร้าย ธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

“เรื่องบางเรื่องมันเหมือนไม่จบ เพราะมันไม่จบ เพราะโลกยังไม่จบ” พะตีจอนิบอกไว้ในหนังสือ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

ฉบับหน้า
Next Issue

Image

สู่โลกอนาคตกับ 
Deep Technology