แห้ง-พิเศษ
(ไม่ธรรมดา)
สนทนาสารคดี
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ชื่อเรื่องไม่ใช่สั่งก๋วยเตี๋ยวหรือเมนูอาหาร
หากแต่ต้องการสื่อสารว่า “ข้อมูลแห้ง” ถึงแม้ชื่อจะฟังดูแห้ง ๆ เหมือนไม่มีชีวิตชีวา แต่ความจริงแล้วเป็นส่วนประกอบสำคัญชนิดขาดไม่ได้ เพราะข้อมูลชนิดนี้ช่วยสร้างสีสันและความน่าเชื่อถือให้แก่งานสารคดีได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ข้อมูลสด”
อธิบายในเบื้องต้น คำว่า “ข้อมูลแห้ง” คือชื่อเล่น ชื่อจริงคือ “ข้อมูลทุติยภูมิ” (secondary data) ถ้าแปลย้อนกลับก็น่าจะหมายความว่า “ข้อมูลชั้นสอง” โดยนัยแล้วเป็นข้อมูลที่มีผู้ทำไว้ก่อน นักเขียนสารคดีค้นคว้าแล้วหยิบยกมาใช้
แม้ได้ชื่อว่าเป็นข้อมูลชั้นสอง แต่ส่วนใหญ่นักเขียนสารคดีมักค้นคว้าข้อมูลชนิดนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ลองนึกว่าเมื่อได้รับมอบหมายให้เขียนสารคดีสักเรื่องหนึ่ง เพิ่งประชุมเสร็จ ยังไม่ทันจะก้าวออกจากห้อง นักเขียนสามารถเข้าเว็บไซต์ไปสืบค้นข้อมูลชนิดนี้ได้ก่อนแล้ว บ่อยครั้งข้อมูลแห้งจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมก่อนลงพื้นที่ด้วย
ข้อมูลแห้งมีความสำคัญและแยกย่อยได้หลายกลุ่ม ถ้าแบ่งตามยุคสมัยก็อาจเป็นข้อมูลออฟไลน์กับข้อมูลออนไลน์ หรือจะแบ่งตาม “แหล่งที่มา” ของข้อมูลก็ได้
โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงข้อมูลแห้งคนส่วนใหญ่จะนึกถึงการ “อ่าน” ก่อนเป็นอันดับแรก
ไม่ว่าอ่านหนังสือ ตำรา เอกสาร แผ่นพับ หรือแม้แต่แผ่นป้ายที่ติดอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ถือเป็นข้อมูลแห้งเช่นกัน และน่าจะเป็นกลุ่มที่สืบค้นง่ายที่สุดผ่านการอ่าน
แต่ในจักรวาลข้อมูลของงานสารคดี ยังมีเนื้อเพลง บทสวด อาขยาน ที่ต้องอาศัยการ “ฟัง” ถือเป็นข้อมูลแห้งชนิดหนึ่งเช่นกัน ตามนิยามว่าข้อมูลแห้งเป็นข้อมูลชั้นสองที่มีผู้ทำมาก่อนแล้ว
บทเพลงบางเพลงเนื้อหาเต็มไปด้วยข้อมูลแห้ง ยกตัวอย่างเพลงที่คนไทยทั่วไปรู้จักมากที่สุดอย่างเพลง “รำวงลอยกระทง” ประพันธ์คำร้องโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล และทำนองของครูเอื้อ สุนทร-สนาน เพลงที่คุ้นหูคนไทยมานานนี้เต็มไปด้วยข้อมูลแห้งที่เป็นข้อเท็จจริง
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง
น้ำนองเต็มตลิ่ง”
ตั้งแต่ประโยคแรกก็บ่งบอกถึงวันเวลา สถานที่ สภาพภูมิประเทศที่เชื่อมโยงกับฤดูกาลบ้านเรา ว่าในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือน ๑๒ คือช่วงที่น้ำในแม่น้ำหรือลำคลองมีระดับสูง
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ ละคร ที่ต้องอาศัยการ “ดู” ก็เป็นแหล่งข้อมูลแห้งได้
ถึงบรรทัดนี้ต้องทำความเข้าใจว่าถึงแม้หนังหรือภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะมีสถานะเป็น “เรื่องแต่ง” (fiction) แต่บางฉากบางตอนนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะแม้โดยรวมจะเป็นเรื่องแต่ง แต่รายละเอียดปลีกย่อยต้องอิงข้อเท็จจริงเพื่อความสมจริง สมบูรณ์
หากนักเขียนเป็นคนชอบดูหนังดูละคร หูตากว้างไกลก็จะได้เปรียบ เมื่อพบว่าหนังบางเรื่อง หรือความบันเทิงบางอย่าง สอดแทรกข้อมูลแห้งที่น่าสนใจ เก็บมาใช้ได้
ยกตัวอย่างจากการเขียนสารคดีเรื่องไตรกีฬา (“คนเหล็กไตรกีฬา ว่าย ปั่น วิ่ง” สารคดี ฉบับ ๓๕๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗) หลังจากค้นคว้า ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์นักไตรกีฬาแล้วผมได้พบกับข้อมูลแห้งที่น่าสนใจชุดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของตอน “ปั่น” (สารคดีเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสามตอน ตามลำดับขั้นของการแข่งไตรกีฬา คือ ว่าย ปั่น วิ่ง) จากภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง Shakariki ! สิงห์นักปั่น เรื่องราวของตัวละครในชมรมจักรยานที่ต้องลงแข่งขันกับทีมจากโรงเรียนอื่นเพื่อรักษาชมรมไว้ไม่ให้ถูกยุบ (ทราบภายหลังว่าสร้างจากหนังสือการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่น)
ยกตัวอย่างจากการเขียนสารคดีเรื่องไตรกีฬา (“คนเหล็กไตรกีฬา ว่าย ปั่น วิ่ง” สารคดี ฉบับ ๓๕๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗) หลังจากค้นคว้า ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์นักไตรกีฬาแล้วผมได้พบกับข้อมูลแห้งที่น่าสนใจชุดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของตอน “ปั่น” (สารคดีเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสามตอน ตามลำดับขั้นของการแข่งไตรกีฬา คือ ว่าย ปั่น วิ่ง) จากภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง Shakariki ! สิงห์นักปั่น เรื่องราวของตัวละครในชมรมจักรยานที่ต้องลงแข่งขันกับทีมจากโรงเรียนอื่นเพื่อรักษาชมรมไว้ไม่ให้ถูกยุบ (ทราบภายหลังว่าสร้างจากหนังสือการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่น)
มีฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้สอนเรื่องการขี่จักรยานแบบทีมเรียกว่า “โรดเรซ” (road race)
ก่อนหน้านั้นผมนัดสัมภาษณ์ สรานนท์ จันทราช นักไตรกีฬาดาวรุ่งระดับทีมชาติไทย ที่เคยพบกันในสนามไตรกีฬา เขาเล่าว่าหลังขึ้นจากน้ำ เข้าสู่ช่วงปั่น นักไตรกีฬาในกลุ่มหัวแถวที่เคยเป็นคู่แข่งกันในช่วงว่ายน้ำมาก่อนจะต้องมาช่วยเหลือกันเพื่อให้สามารถปั่นจักรยานได้เร็วที่สุด ทิ้งห่างคู่แข่งขันคนอื่น ๆ ที่กำลังไล่หลัง
สรานนท์กล่าวถึงเทคนิค “จี้บัง” หรือที่เรียกว่า “ดราฟต์” (draft) เขาอธิบายว่าคนที่ขี่จักรยานด้วยความเร็วสูงจะต้องดวลกับแรงดันลมอันมหาศาล น้ำหนักตัวและน้ำหนักจักรยานประมาณร้อยละ ๘๐ จะต้านลม ถ้าขี่เรียงแถวกันคนที่ขี่นำคือผู้แบกรับภาระหนักอึ้งกว่าใคร ลดหลั่นกันลงไปจนถึงปลายแถว ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีทักษะฝีมืออยู่ในกลุ่มเดียวกันจึงมักจะตกลงกันเพื่อผลัดกันปั่นเป็นผู้นำและผู้ตาม ถนอมร่างกายไม่ให้เหน็ดเหนื่อยหรือบอบช้ำมากจนเกินไป เพราะยังเหลือระยะทางต้องขับเคี่ยวกันอีกไกล ไหนจะยังมีช่วงวิ่งรออยู่
สรานนท์เล่าว่า “พอไล่ขึ้นมาทันกันในช่วงขี่จักรยาน เราทั้งสามคนก็ต้องมาช่วยกันดราฟต์” และอธิบายถึงข้อตกลงระหว่างตนและเพื่อนสามคนในกลุ่มหัวแถว
“ใครจะอยู่หน้า ใครจะอยู่หลัง ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี ถ้ามัวแต่เกี่ยง ไม่ช่วยกัน ผลัดขึ้นไปขี่นำแล้วไม่ออกแรง กลุ่มที่ตามมาทำงานร่วมกันดี มีทีมเวิร์กมากกว่า ก็อาจจะไล่ทันพวกเราได้”
ผมพอจะเข้าใจสิ่งที่สรานนท์อธิบาย แต่ยังต้องการให้คนอ่านเห็นภาพชัดเจนมากที่สุด จึงเดินหน้าค้นข้อมูลเพิ่ม จนได้มาพบกับ Shakariki ! สิงห์นักปั่น ฉากหนึ่งในหนังอธิบายเรื่องแรงดันลมได้กระจ่างชัดเหลือเกิน
ตัดฉากภาพยนตร์ไปในช่วงที่อาจารย์โค้ชเริ่มสอนสมาชิกชมรมจักรยานให้รู้ซึ้งถึงวิธีการปั่นจักรยานแบบทีม โค้ชสั่งให้ทุกคนไปเจอกันที่ริมลำธาร ให้ผู้จัดการทีมวางก้อนหินขนาดใหญ่สี่ก้อนไว้กลางลำธาร เรียงแถวก้อนหินแบบตอนลึก จากนั้นโปรยกลีบดอกไม้ลงไปในน้ำ กระแสน้ำพัดกลีบดอกไม้ให้ไหลผ่านก้อนหินไปทางท้ายน้ำทันที กลีบดอกไม้ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านก้อนหินทีละก้อน ๆ
ผมประทับใจฉากนี้มาก เปิดดูซ้ำหลายรอบ โดยเฉพาะฉากที่อาจารย์โค้ชสอนเรื่องแรงดันลมกลางลำธาร สุดท้ายก็นำแนวทางการสอนของโค้ชที่อยู่ในหนังมาไว้ในงานเขียนของตัวเอง ผมเขียนว่า
“สมมุติว่าก้อนหินคือจักรยาน กลีบดอกไม้และกระแสน้ำแทนแรงดันลม กระแสน้ำพุ่งชนหินแต่ละก้อน คือสิ่งที่นักขี่จักรยานต้องเผชิญยามอยู่ในสนาม กับการว่ายน้ำ และการวิ่งก็เหมือนกัน คนที่ว่ายน้ำคือคนที่แหวกมวลน้ำหรือดันน้ำออกไป คนที่ว่ายอยู่ข้างหลังจะว่ายได้ง่ายขึ้น คนที่ ๒ ว่ายง่ายกว่าคนที่ ๑ คนที่ ๓ ก็ว่ายง่ายกว่าคนที่ ๒ กับการวิ่งเองก็เช่นกัน”
และผมบรรยายต่อไปอีกว่า “จากนั้นโค้ชก็สั่งเลื่อนหินก้อนหน้าไปไว้ข้างหลังสุด หินก้อน ๒ ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนำ สักพักก็สั่งให้เลื่อนหินก้อน ๒ ไปอยู่ข้างหลังสุด ทำซ้ำแบบนี้กับหินทุกก้อนที่เหลือ นี่คือการเปลี่ยนสลับของหัวแถว แบ่งผลัดกันรับในทีมจักรยานโรดเรซ หัวแถวจะเบี่ยงทางลมและรั้งกลุ่มเอาไว้ หลังจากนั้นคนข้างหลังที่สะสมพลังไว้ก็จะขึ้นมาเป็นหัวแถวแทน เวียนไปแบบนี้”
ถึงแม้ไตรกีฬาจะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แข่งขันกันแบบทีม แตกต่างจากการขี่จักรยานแบบโรดเรซ แต่ข้อความข้างต้นเป็นคำอธิบายเทคนิคการเปลี่ยนสลับของกลุ่มหัวแถวที่ผมนำมาชี้แจงกับคนอ่าน
เป็นตัวอย่างของ “ข้อมูลแห้ง” จากภาพยนตร์ที่มีสีสันระดับพิเศษ (ไม่ธรรมดา)