Urban Forest
ไม้ใบที่รัก
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
Monstera deliciosa Aurea variegate
Monstera deliciosa Thai constellation
ความหลากหลายของรูปใบที่มีสารพัดถือเป็นจุดขายและเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้คนหลงรักไม้ใบ
(foliage plants)
Monstera deliciosa
มอนสเตอรา เดลิซิโอซา
ส ว น จ ตุ จั ก ร
ทรวดทรงองค์เอวของมอนสเตอรา เดลิซิโอซา สวยสะดุดตาผมตั้งแต่แรกพบกันวันนั้น ที่ตลาดต้นไม้สวนจตุจักร
ขอบใบหยักเว้าราวกับถูกฉีก รูประข้างเส้นกลางใบคล้ายรูบนก้อนชีส ไม่เหมือนใคร
ยิ่งรับรู้ที่มาที่ไป เหตุผลกลใดทำให้ทรงใบรูปหัวใจของ “ต้นไม้ปีศาจ” (monstera มาจากคำภาษาละติน monstrum แปลว่าปีศาจ) ผิดแผกแตกต่างจากใบไม้อื่นก็ยิ่งชวนหลงใหล
ว่ากันว่าหลังจากเลื้อยลำต้นทอดยาวโอบกอดต้นไม้ แตกรากแตกใบตามข้อปล้องในเขตป่าดิบเขาของทวีปอเมริกา บ้านเกิดของมอนสเตอรา ทรงใบรูปหัวใจที่ฉีกขาดและมีรูพรุนเกิดจากเหตุผลทางธรรมชาติสองสามประการ
อาจเป็นสายลมพัดผ่าน ทำให้ใบไม้ใหญ่ต้องสร้างพื้นที่ว่างเพื่อลดแรงต้านลม
อาจเป็นสายฝน ทำให้ใบที่อยู่สูงกว่าต้องแบ่งปันน้ำฝนและน้ำค้างให้ไหลลงมาสู่ใบอื่น ๆ จนถึงราก
หรืออาจเป็นเพราะแสงแดด ทำให้ต้องสร้างรูและรอยฉีกเผื่อแผ่วัตถุดิบปรุงอาหารให้ใบที่อยู่ด้านล่างสามารถสังเคราะห์แสง
แม้ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่นักพฤกษศาสตร์ก็ยอมรับว่าเหตุผลทั้งสามข้อเป็นไปได้แต่สำหรับผมแล้ว โลกแห่งไม้ใบก็ยังเต็มไปด้วยคำถามมากมายอยู่ดี
อะไรทำให้ “ไม้ป่า” เหล่านี้กลายเป็น “ไม้ใบ” ที่คนเมืองเสาะแสวงหา เลอค่าถึงขั้น “นับใบขาย”
เหนือสิ่งอื่นใดที่ชวนฉงนสงสัย คือปริศนาว่าหลังจากไม้ใบวิวัฒนาการสร้างรูบนใบแล้ว “น้อง ๆ” ของคนรักต้นไม้จะยังสังเคราะห์ด้วยแสงได้อยู่หมัดหรือ ?
Sansevieria trifasciata
ลิ้นมังกร
Hypoestes phyllostachya Baker
ละอองดาว
Ficus elastica
ยางอินเดีย
ส ห ร า ช อ า ณ า จั ก ร
“ไม้ใบ” (foliage plants) เป็นไม้ประดับประเภทหนึ่ง มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี ในทางวิชาพืชสวน (horticulture) เน้นจุดมุ่งหมายของการใช้ประโยชน์ จำแนกไม้ประดับ (ornamental plants) ออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ไม้ดอก (flowering plants) คือไม้ประดับที่ให้ดอกสวยงามโดดเด่นกว่าส่วนต้นและใบ และไม้ใบ (foliage plants) คือไม้ประดับที่มีใบโดดเด่นสวยงามกว่าดอก ทั้งรูปทรง ลวดลาย สีสันที่งดงามแปลกตา
หนังสือ ไม้ใบ Foliage Plants โดย ภวพล ศุภนันทนานนท์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของไม้ใบว่า ย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราชราว ๖๐๐ ปี เมื่อมนุษย์สร้างสวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Gardens of Babylon) และนำต้นไม้มาปลูกเพื่อความสวยงาม
กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (ราว ค.ศ. ๑๖๕๓) เซอร์ฮิวจ์ แพลต (Sir Hugh Plat) นักเขียนและนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ เสนอแนวคิดการปลูกต้นไม้ในบ้าน แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ชาวยุโรปเริ่มแยกห้องนั่งเล่นออกมาต่างหากจากห้องอื่น ๆ แล้วนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ไม้หัวต่าง ๆ มาประดับตกแต่ง เนื่องจากอุณหภูมิค่อนข้างเย็น ทำให้ต้นไม้ส่วนใหญ่ภายในห้องนั่งเล่นเป็นไม้ดอกจากเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ ชาวยุโรปเริ่มใช้ห้องนั่งเล่นเป็นสถานที่รับแขก ตกแต่งห้องด้วยของประดับต่าง ๆ เพื่อแสดงฐานะ หนึ่งในนั้นคือไม้ประดับหายากจากเขตร้อน เมื่อกระจกมีราคาถูกลง ผู้คนสามารถติดตั้งกระจกเป็นบานหน้าต่าง นอกจากช่วยให้แสงส่องเข้ามาในบ้าน ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในห้อง เกิดการจัดไม้ประดับตกแต่งตามมุมห้องและริมหน้าต่าง ชาวยุโรปเริ่มนิยมปลูกไม้กระถาง ไม้ใบเป็นพรรณไม้ส่วนหนึ่งที่นิยมปลูกในยุคนั้น เมื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ มีราคาถูกลง การปลูกไม้ประดับก็ยิ่งแพร่หลาย มีการวางต้นไม้ไว้กลางห้องรับแขกหรือห้องโถงที่มีอากาศอบอุ่นพอที่จะเลี้ยงพืชจากเขตร้อนได้
เดิมนักสำรวจต้องพึ่งพาทุนทรัพย์ของกษัตริย์ในการเดินทางไปรวบรวมพรรณไม้จากสถานที่ต่าง ๆ ความต้องการต้นไม้ของชนชั้นสูงหรือนักลงทุนทำให้เกิดการออกสำรวจ พรรณไม้แปลก ๆ ทยอยเดินทางออกมาจากป่าลึกของทวีปต่าง ๆ ทั้งเอเชีย อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย รวมทั้งนิวซีแลนด์ เข้ามาอยู่ในคอลเลกชันของพฤกษาชนผู้ร่ำรวย ต้นไม้นานาชนิดถูกจิตรกรบันทึกลงบนแผ่นกระดาษ กลายเป็นภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
“ไม้ใบ” มีประวัติความผูกพันกับมนุษย์มายาวนานหลายพันปี นับตั้งแต่สวนลอยแห่งบาบิโลนที่มีการนำต้นไม้ขึ้นไปปลูกประดับ จนเมื่อชาวยุโรปเริ่มปลูกไม้กระถาง ไม้ใบก็เป็นพรรณไม้ที่ได้รับความนิยม ยิ่งเมื่อนักสำรวจออกเดินทางไปยังทวีปต่างๆ ทำให้มีพรรณไม้แปลกๆ จากป่ามาสู่มือพฤกษชน ด้วยการดูแลเอาใจใส่ ต้นไม้จากอีกซีกโลก
จึงสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในประเทศที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิด
เมื่อผู้คนมีโอกาสปลูกไม้ใบมากขึ้นก็พบว่ามีรูปทรงและขนาดใบเข้ากับสภาพแวดล้อมที่บ้านทำให้บ้านน่าอยู่และสวยขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาสีสันของดอก และยังเป็นของตกแต่งบ้านที่แสดงถึงรสนิยมและฐานะของเจ้าของบ้านอีกด้วย
ยุควิกตอเรีย (ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑) ชาวอังกฤษหันมาสนใจปลูกต้นไม้ในภาชนะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขวดแยมหรือถ้วยชา ไม้ใบที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมาก ได้แก่ ไอวี่ (Hedera helix), เปเปอโรเมีย [Peperomia obtusifolia (L.) F.Dietr.], วาสนา [Dracaena fragrans (L.) Ker Gawl], ละอองดาว (Hypoestes phyllostachya Baker), ลิ้นมังกร (Sansevieria trifasciata) และไม้ใบสกุลฟิโลเดนดรอน (Philodendron) ซึ่งล้วนเป็นไม้ใบที่ทนทาน
ปลายยุควิกตอเรียเป็นช่วงที่การเลี้ยงไม้ใบเฟื่องฟูถึงขีดสุด มีการพิมพ์แค็ตตาล็อกและใบสั่งซื้อต้นไม้ทางไปรษณีย์ วงการไม้ใบตื่นตัวชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ต่อมาพรรณไม้หลายชนิดจะถูกนำเข้ามาปลูกในอังกฤษและยุโรป ทำให้ผู้คนหันไปสนใจพืชแปลก ๆ ชนิดอื่น แต่กระแสความนิยมไม้ใบก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม
Philodendron gloriosum
ไม้ใบหลายสกุลในวงศ์อะราซีอี ไม่ว่าจะเป็นมอนสเตอรา ฟิโลเดนดรอน เอพิเพรมนัม หรือราฟิโดฟอรา เป็น “ไม้เลื้อย” หรือไม้เลื้อยอิงอาศัย รูปร่างอาจแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ เช่นเมื่อยังเล็กมีใบเรียบรูปหัวใจ เมื่อเติบใหญ่ใบจะเริ่มฉีกเป็นหยักเว้าหรือมีรู
ที่สหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เศรษฐกิจฟื้นตัว ผู้คนในสหรัฐฯ เริ่มสนใจไม้ใบ มีเนิร์สเซอรีไม้ประดับผลิตไม้ใบออกมาจำหน่ายเป็นกระถาง
ปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ การปลูกต้นไม้ในที่ทำงานได้รับความนิยม คนอเมริกันเรียกไม้ใบเหล่านั้นว่า work plants ลักษณะเด่นคือทนทานต่อทุกสภาพอากาศและอดน้ำได้ในช่วงหยุดงาน ด้วยการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ต้นไม้จากอีกซีกโลกเจริญเติบโตได้ดีในประเทศที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิด ไม้ใบที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ลิ้นมังกร ยางอินเดีย ละอองดาว ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลายชนิดปลูกเลี้ยงและซื้อขายกันมานาน แต่ยังเป็นสินค้าขายดีที่ราคาไม่ตกลงจากเดิม
ในส่วนของประเทศไทย ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเริ่มใช้ไม้ใบประดับตกแต่งบ้านมาตั้งแต่เมื่อไร คาดว่าเริ่มแพร่หลายสมัยรัชกาลที่ ๕ สังเกตจากภาพถ่ายยุคเก่าที่มีไม้กระถางพวกปาล์มและเฟินตั้งประกอบฉาก ไม้ประดับได้รับความนิยมในหมู่เชื้อพระวงศ์แล้วแพร่หลายไปยังผู้ที่มีฐานะและประชาชนทั่วไป
ผู้บุกเบิกวงการไม้ใบในประเทศไทยมีหลายท่าน แต่ละท่านเชี่ยวชาญเรื่องพรรณไม้แตกต่างกัน เช่น ดร. ปิฏฐะ บุนนาค เชี่ยวชาญเรื่องปาล์ม, สุปราณี คงพิชญานนท์ และ พีระพงศ์ สาคริก บุกเบิกเรื่องคล้า, ดร. ชอบ คณะฤกษ์ ริเริ่มการเล่นไม้ด่าง, สิทธิพร โทณวนิก พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้แก่สาวน้อยประแป้งและฟิโลเดนดรอน, สุรัตน์ วัณโณ เสาะแสวงหาและปลูกเลี้ยงหน้าวัวใบเป็นคนแรก ๆ, ปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพันธุ์ไม้ด่าง อะโกลนีมา และลิ้นมังกร
Epipremnum aureum
“Marble Queen”
พลูราชินีหินอ่อน
ห้ อ ง พั ก ย่ า น ค ล อ ง ห้ า ป ทุ ม ธ า นี
ห้องพักของ ธงชัย สีฟ้า ตั้งอยู่ย่านคลองห้า ปทุมธานี พื้นที่หน้าห้องราว ๑x๓ เมตร บวกกับท้ายห้องราว ๒x๒ เมตร ถูกปรับสภาพเป็นแปลงเพาะเลี้ยงไม้ใบ จำนวนรวมกันไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ กระถางหน้าห้องตามแนวระเบียงที่มีคนเดินผ่าน เขาเลือกเลี้ยงฟิโลฯ ก้านส้ม (Philodendron billietiae Croat), พลูราชินีหินอ่อน (Epipremnum aureum “Marble Queen”), พลูด่างสามสีหรือพลูใบแอปเปิล, พลูงาช้าง (Epipremnum aureum “Ivory”), โชคเก้าชั้น (Anthurium “Renaissance”) ฯลฯ
พื้นที่ท้ายห้องซึ่งอยู่ติดกับห้องน้ำเปิดโล่งรับแสงสว่าง เขาปูพรมแทบทุกตารางนิ้วด้วยฟิโลเดนดรอน (Philodendron), มอนสเตอรา (Monstera) และไม้ใบชนิดต่าง ๆ จนแทบไม่มีที่ว่าง ได้แก่ ก้ามกุ้งด่าง
(Philodendron pedatum variegated), พินนาคด่าง (Philodendron bipinnatifidum variegated), แบล็กคาร์ดินัล (Philodendron “Black Cardinal”), เรดคองโก (Philodendron “Red Congo”), พิงก์พรินเซส (Philodendron “Pink Princess”), ไวต์พรินเซส (Philodendron “White Princess”), ลิ้นมังกรสยามซิลเวอร์ (Sansevieria “Siam Silver”), ยางอินเดียด่าง (Ficus elastica Roxb. ex Hornem variegated), กล้วยฟลอริดาด่าง (Musa Florida variegated), ไทรใบสัก (Ficus lyrata), คล้าโมเสก (Calathea musaica), กระชิดด่าง [Streblus taxoides (K.heyne) Kurz “Khoi nam” variegated], พลูระเบิดด่าง (Monstera sp. “Karstenianum” variegated), กวักมรกตด่าง (Zamioculcas zamiifolia variegated), เสน่ห์จันทร์บุษราคัมด่าง (Homalomena rubescens variegated), บอนกระดาดด่าง [Alocasia macrorrhizos (L.) G.Don variegated], เฟินไพโรเซียด่าง C.V.Morton variegated], เสือพรานสองสี (Aglao-nema pictum bicolor), เสือพรานสามสี (Aglaonema pictum tricolor) ฯลฯ
และอีกหนึ่งต้นที่เขาชื่นชอบมากเป็นพิเศษ วางกระถางข้างเตียงในห้องนอนที่แยกจากโถงกลาง คือพลูจีบด่าง (Philodendron sp. variegated)
Monstera deliciosa "Thai constellation"
ธงชัย ชายวัย ๔๐ ต้น ๆ เป็นคนรักของเก่าและเคยเลี้ยงเฟินมาก่อน ของประดับห้องของเขาคือภาพถ่ายขาวดำเก่า ๆ กับเทปคาสเซ็ต
ต้นปี ๒๕๖๓ มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชนหลายแห่งต้องปรับตัว นำไปสู่การทำงานที่บ้าน หลายคนเกิดความรู้สึกผูกพันกับที่พักอาศัยมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่พักแทบจะตลอด ๒๔ ชั่วโมง ธงชัยก็เช่นกัน
ในช่วงนั้นเอง เหล่าดารานักแสดงเริ่มโพสต์ภาพไม้ใบของตัวเองลงสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อมีคนกดไลก์ กดแชร์ จึงทำให้ภาพของไม้ใบหน้าตาแปลก ๆ ที่หลายคนไม่เคยเห็นได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างและกลายเป็นเทรนด์ถ่ายภาพตนเองคู่กับต้นไม้
ช่วงนั้นเองที่เริ่มเกิด “กระแส” ไม้ใบ
หลังจากมาตรการล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลาย ตลาดต้นไม้สวนจตุจักรกลับมาเปิดให้บริการ ธงชัยไปเดินดูต้นไม้ และเลือกซื้อมอนสเตอราไทยคอนฯ ด่าง (Monstera deliciosa Thai constellation variegated) และไทรใบสักด่าง (Ficus lyrata variegated) นำมาเลี้ยงที่หอพัก เป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไม้ใบอย่างจริงจัง
“ผมชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ส่วนมากเป็นตระกูลเฟิน พอช่วงหลังโควิดเขาเริ่มเปิดให้ออกไปข้างนอก ผมก็ไปเดินดูต้นไม้ที่สวนจตุจักร ตอนนั้นกระแสไม้ใบกำลังมา อยากได้ไม้ใบมาจัดสวนที่ห้อง ก็เลยเริ่มศึกษา เริ่มสะสม”
จากต้นสองต้น เขาทดลองปลูกมาเรื่อย ๆ ต้นไม้ส่วนใหญ่หาซื้อจากตลาดต้นไม้สวนจตุจักร บางส่วนสั่งซื้อจากเพจต้นไม้ต่าง ๆ ต้นไม้ถูกจัดใส่กล่องนำมาส่งถึงห้อง ส่วนหนึ่งเขานำมาจากบ้านเกิดจังหวัดเพชรบุรี และยังมีที่เขาเพาะขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง
“ซื้อมาแล้วก็ต้องคอยดูแล หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมหลายเรื่อง ทั้งน้ำ ปุ๋ย อากาศ วัสดุปลูกที่เหมาะสมกับต้นไม้ การป้องกันและรักษาไม้ใบจากโรคและแมลง อย่างเรื่องแสงก็สำคัญ เพราะไม้ใบส่วนมากชอบแสงรำไร รับแสงตรง ๆ แรง ๆ ไม่ได้”
หอพักของธงชัยถูกสร้างตามแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวแสงจะเฉียงเข้าหลังห้องทางทิศใต้ แทนที่จะขึง “สแลน” หรือตาข่ายพรางแสง เขากลับใช้เฟินสไบนางแขวนตรงช่องหน้าต่างแทน
“เพื่อไม่ให้ต้นไม้ได้รับแสงโดยตรง แต่ก็มีบางต้นได้รับแสงตรง ๆ นะ เพราะเฟินสไบนางไม่ได้คลุมเต็มพื้นที่ แต่ก็แค่บางเวลา ไม่ใช่ทั้งวัน”
ผมพบว่าคนเลี้ยงไม้ใบมักเป็นคนช่างสังเกต ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นคนช่างเอาใจใส่ อาจเป็นเพราะต้นไม้แต่ละต้นต้องการการดูแลไม่เหมือนกัน
“ตระกูลมอนสเตอราหรือฟิโลเดนดรอนเขาต้องการแสงรำไร ถ้าไม้ใบอื่น ๆ อาจจะรับแสงเยอะกว่าได้ เช่น กล้วยฟลอริดา ซึ่งผมเคยเจอปัญหาหนอนเจาะ เล่นเอาเกือบตาย พอดีมีหน่อใหม่ขึ้นมาเลยรอดตาย ถ้าเป็นมอนฯ หรือฟิโลฯ จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องหนอน สิ่งที่ต้องระวังคือเชื้อราที่รากกับลำต้น”
เขายกตัวอย่างการดูแลรักษาต้นไม้ว่า
“ผมมีมอนสเตอรา อัลโบ ฮอลแลนด์ อยู่สามต้น ตอนที่ได้มาเหมือนเขาอาการไม่ค่อยดี ผมเห็นใบเขาตก ๆ ดูแปลก ๆ ก็เลยรื้อกระถาง ปรากฏว่ามีราขึ้นที่ราก ก็ต้องตัดส่วนที่ขึ้นราออก ทายากันราแล้วเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่ ต้นหนึ่งเอาใส่ถุงอบ อีกต้นหนึ่งไม่ใส่ ดูแลรักษามาจนวันนี้ ทั้งสองต้นมีใบใหม่ออกมาสวยงามมาก”
Philodendron “Pink Princess”
“พิงก์พรินเซส” โดดเด่นด้วยใบสีเขียวแซมชมพู มีผู้นำเข้ามาในเมืองไทยพร้อมไม้ประดับอื่นๆ นานกว่า ๓๐ ปี แต่เพิ่ง “ดังระเบิด” เมื่อนางเอกสาวชื่อดังถ่ายภาพโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์
ความหลากหลายของรูปใบเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของไม้ใบที่หลายคนหลงรัก ไม้ประดับประเภทนี้ดอกไม่โดดเด่น ใบต่างหากที่ถือเป็นจุดขาย
“ใบไม้แต่ละชนิดจะมีลายแตกต่างกัน แต่ละใบไม่เหมือนกัน รวมทั้งความหลากหลายของสี เขามีทั้งสีเหลือง แดง ชมพู ขาว ถ้าเป็นไม้ใบด่างก็ลุ้นว่าแต่ละใบที่ออกมาจะด่างยังไง จะด่างมากด่างน้อย หรืออาจจะไม่ด่างเลยก็ได้ ทุกวันเราจะคอยสังเกตว่าใบใหม่ใกล้จะออกแล้วนะ แล้วจะด่างไหม ทุกใบใหม่ที่เกิดขึ้นมาลายก็จะไม่ซ้ำ เราได้เห็น ได้ลุ้นตลอดผมชอบตรงนั้น นี่เป็นเสน่ห์ของไม้ใบที่เจริญเติบโต เราได้ดูแลจนมีใบใหม่ออกมา”
ทุกวันนี้กิจวัตรประจำวันของพนักงานราชการวัย ๔๐ ต้น ๆ คือคอยสังเกตต้นไม้กว่า ๒๐๐ ต้น ว่าแต่ละต้นมีสภาพอย่างไร เป็นอยู่สุขสบายดีหรือไม่
“เราจะคอยสังเกตว่าต้นไม้แต่ละต้นมีอาการเป็นยังไง มีโรคมีอะไรหรือเปล่า ต้องคอยรดน้ำ คอยให้ยาบ้าง ตื่นเช้ามาก็ดูแทบทุกวัน บางครั้งถ้าต้องไปไหนหลาย ๆ วัน กลับมาก็ต้องรีบมาดูต้นไม้ก่อน”
ว่าน-จิตรทิวัส พรประเสริฐ ช่างภาพของผม ก็เป็นอีกคนที่กำลังตกหลุมรักไม้ใบ
หลังซื้อไทรใบสักเป็นต้นแรกตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ราวเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ผ่านมาเกือบปี ว่านเล่าว่าทุกวันนี้สิ่งที่เขาทำเป็นอันดับแรกหลังตื่นนอนคือเดินวนรอบ ๆ บ้าน สำรวจไม้ใบในกระถางว่ามีพัฒนาการอย่างไร
ถ้าต้นไม้แตกใบใหม่เขาจะดีใจ
“เย้ ! น้อง (คำเรียกแทนต้นไม้) มีใบใหม่” ว่าแล้วก็ถ่ายภาพต้นไม้อัปโหลดลงสื่อสังคมออนไลน์
“จะเป็นป่าแล้ว !”
“หน่อมาแว้ว !”
“สามเกลอ วากิว A5 เริ่มแฉกอยู่ต้นเดียว”
“ความงามของไม้เขียว มุมหนึ่งที่ชอบคือกอ Monstera เผลอแป๊บเดียวจะท่วมหัวละ” คือสเตตัสของเขา ล่าสุดขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับ ภาพและข้อความของว่านก็เด้งขึ้นมาทางหน้าเฟซบุ๊ก
“Rhaphidophora sp. ของบ้านเรา ส่วนตัวคิดว่ามีความน่ารักกว่า Monstera deliciosa จากทางอเมริกาใต้ เต็มฟอร์มมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ช่องระหว่างใบจะกว้างกว่า รูน้อยกว่า อาจเป็นตัวอย่างของ convergent evolution ได้”
กิจกรรมทั้งหลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ของว่านตลอดระยะเวลาเกือบปีนับตั้งแต่เริ่มเลี้ยงไม้ใบ
ที่ริมระเบียงหน้าห้องพักของธงชัย หลังถ่ายภาพเขากับต้นไม้ ก่อนกลับผมถามเขาว่าความคลั่งไคล้ไม้ใบเทียบได้หรือไม่กับเฟินหรือของเก่าที่เขาสะสมมานาน ชายที่กำลังตกหลุมรักไม้ใบหัวปักหัวปำตอบกลับมาอย่างไม่ลังเล
“ผมชอบไม้ใบมากกว่า เพราะได้เห็นเขาเติบโต บางชนิดอาจจะไม่ได้ออกใบใหม่ทุกเดือน ต้องรอนาน เหมือนจะเบื่อ แต่ก็ยังลุ้นว่าเขาจะมีใบใหม่เมื่อไร อย่างต้นเสน่ห์นางพิมหรือปอแก้วที่เป็นไม้โขด โตช้ามาก ตอนแรกที่ผมได้มาเป็นใบด่างแต่หลัง ๆ กลับสีเขียวปรกติ ผมก็ต้องคอยตัดใบที่เขียวปรกติออกไปเพื่อไล่ตาด่าง หลายเดือนผ่านไปเหมือนจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เราก็ยังต้องลุ้นต่อ การเลี้ยงไม้ใบต้องคอยสังเกต ยิ่งเลี้ยงหลายชนิดก็ต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ ผมเลยรู้สึกชอบ รู้สึกผูกพัน ถ้าเป็นเฟินจะเลี้ยงง่าย แค่รดน้ำอาทิตย์ละสองครั้งเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับของสะสม สมมุติว่าพระเครื่องหรือของเก่า เวลาผ่านไปเขาก็เหมือนเดิม ไม่ได้เติบโตขึ้นหรือมีใบมากขึ้นเหมือนไม้ใบ”
Philodendron
“White Princess”
ฟิโลเดนดรอน “ไวต์พรินเซส”
ส ว น ห ล ว ง ร. ๙
งานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. ๙ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ นอกจากผู้จัดจะประดับประดาสถานที่ด้วยไม้ดอกกว่า ๗ แสนต้น จัดนิทรรศการไม้เมืองหนาวจากต่างประเทศ ภายในงานยังรวบรวมร้านขายต้นไม้จากทุกสารทิศ ทั้งชนิดไม้ดอก ไม้ผล ไม้ใบ ไม้ป่า
นอกจากตั้งใจมาเดินสำรวจตลาดต้นไม้ ผมกับว่านนัดสัมภาษณ์ ภวพล ศุภนันทนานนท์ ผู้เขียนหนังสือ ไม้ใบ Foliage Plants ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน หนังสือขายดีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ และพิมพ์ซ้ำอีกถึงสองครั้งในปีที่แล้ว คือเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ๒๕๖๓ ผมคิดว่ายอดจำหน่ายหนังสือที่มีการพิมพ์ซ้ำถึงสองครั้งในปีเดียวน่าจะสะท้อนสถานการณ์บางอย่างในวงการต้นไม้ได้อย่างดี
เท่าที่ผมกับว่านสังเกตด้วยสายตา งานพรรณไม้งามฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ ๓๓ มีร้านขายไม้ใบเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ ภวพลก็ให้ความเห็นว่าช่วงนี้ที่มาแรงที่สุดเป็นไม้ใบ
“เดินงานสวนหลวงฯ ตลอด ๒-๓ ปีหลัง สิ่งที่เห็นชัดว่าเปลี่ยนไปคือไม้ใบมาแรงมาก โดยเฉพาะปีนี้ที่มีตัวแรง ๆ ราคาแพง ๆ เยอะขึ้น อย่างปีก่อนอาจจะแค่มีร้านขายไม้ใบมากขึ้น แต่ไม้ใบที่เลี้ยงกันในตอนนั้นก็ยังเป็นต้นไม้ธรรมดา ๆ ไม่ได้หายากมากนัก ผมคิดว่าระยะหลังคนเลี้ยงไม้ใบต้นธรรมดานานเข้าก็เริ่มเบื่อ คนขายก็มองหาต้นแปลกใหม่ไปเรื่อย ราคาก็เลยสูงตาม”
เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับ “กระแส” หรือความนิยมที่เปลี่ยนไปเมื่อไม้ใบมาแรงว่า สมัยก่อนเวลามางานต้นไม้จะเห็นว่าต้นไม้ที่ขายดีคือไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผัก รวมทั้งพวกผลไม้ ถ้าเป็นไม้ดอกก็ต้องเฟื่องฟ้าหรือโป๊ยเซียนต้นใหญ่ ๆ แต่มาเดินงานต้นไม้ช่วงหลัง ๆ จะเห็นว่าร้านเหล่านั้นค่อย ๆ หายไปแล้ว
“มันจะไปอยู่ตามงานเกษตรจังหวัด งานกาชาด คืองานที่คนเดินเที่ยวชมงานเป็นคนที่บ้านมีพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งสำหรับคนเมืองมีน้อยมาก แม้กระทั่งกล้วยไม้ที่เคยบูมมาก ๆ บูมมาหลายยุค ถึงยุคนี้ก็ค่อนข้างจะตาย คือเขาอาจจะยังขาย ยังมีคนสนใจ แต่ผมคิดว่าไม่ค่อยมีใครเลี้ยงจริง ๆ จัง ๆ”
เขาคิดว่าเหตุผลสำคัญมีสองประการ คือ เลี้ยงไม่รอด กับไม่เลี้ยง
“ก็ต้องไปคิดต่อว่าเพราะอะไร เท่าที่ผมคิดไว้มันน่าจะเป็นเพราะคนเมืองสมัยใหม่ไม่ค่อยมีพื้นที่”
ภวพลให้ความเห็นว่าคนเมืองสมัยนี้ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านที่พักคือคอนโดมิเนียม ตึกสูง ต้นไม้ที่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองที่มีพื้นที่ในห้องจำกัดจะหายไปหมด
“คนสมัยนี้ไม่มีเวลามานั่งเลี้ยงไม้ดอกหรอกครับ เขาอยากได้อะไรที่ง่าย ๆ อยากได้อะไรที่สะดวกสบาย พอให้มองเห็นเป็นสีเขียว ดูจากคนรอบตัวหรือเพื่อนรุ่นเดียวกัน จากคนที่ไม่เคยสนใจต้นไม้ พอมาถึงวัยที่ต้องซื้อคอนโดฯ หรือซื้อบ้าน ก็เริ่มมองหาอะไรเขียว ๆ อะไรที่ตอบโจทย์ก็ต้องเป็นไม้ใบ เพราะไม้ใบใช้แดดค่อนข้างน้อย ไม่ได้ต้องการแดดเยอะเหมือนไม้ดอก ทนร่ม ทนอยู่เป็นไม้ประดับในอาคารได้”
เมื่อเมืองเริ่มแออัดด้วยตึกระฟ้า ผู้คนโหยหาความเป็นธรรมชาติ การปลูกไม้ประดับภายในอาคารบ้านเรือนจึงได้รับความนิยมมากขึ้น
ผมถามเขาว่าเวลานี้ไม้ใบชนิดใดได้รับความนิยมมากที่สุด ภวพลซึ่งปลูกไม้ประดับมาแล้วหลายชนิด เช่น สับปะรดสี กระบองเพชร ให้ความเห็นว่าเป็นพวกพลูฉลุ พลูฉลุด่าง รวมทั้งโอบลิกัวที่ตอนนี้น่าจะราคาแพงมาก
คำว่า “ฮิตที่สุด” กับราคา “แพงที่สุด” จับมือไปด้วยกัน แต่บางครั้งต้นที่ได้รับความนิยมอาจไม่ใช่ต้นที่ราคาแพงที่สุดก็เป็นได้ ยกตัวอย่าง ฟิโลเดนดรอน “ไวต์พรินเซส” (Philodendron “White Princess”) หรือใบไม้สกุลอะโลคาเซีย (Alocasia) เวลานี้ก็ได้รับความนิยม แต่ราคาไม่แพงนัก จะฮิตหรือไม่ฮิตยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผมถามต่อว่าแล้วไม้ใบที่ชอบมากที่สุดของเขาคืออะไร ชายร่างสูงใหญ่ที่นั่งอยู่ตรงหน้าตอบว่า “ผมชอบไปหมด ไม่ได้มีต้นไหนที่ชอบเป็นพิเศษ”
เมื่อผมคาดคั้นจะเอาคำตอบก็ได้รู้รายละเอียดที่ทำให้เขาชอบไม้ใบหลายอย่าง
“ผมชอบหลายอย่าง ฟิโลฯ ก็ชอบ อะโกลนีมาก็ชอบ จริง ๆ ผมชอบต้นไม้ต้นเล็ก ๆ หรือไม่ก็เป็นต้นไม้ที่มันกลายพันธุ์ สมมุติใบสีเขียว แต่ผมชอบใบแดงใบด่าง ต้นใหญ่ก็ชอบที่กลายไปเป็นต้นแคระ ต้นเล็กก็ชอบที่มันกลายเป็นต้นใหญ่ ผมชอบอะไรที่มันต่างไปจากปรกติ สนุกที่เห็นการกลาย เหมือนต่อจิ๊กซอว์หาชิ้นที่มันไม่ค่อยมี”
ย้อนกลับไปในอดีต ภวพลสนใจต้นไม้ตั้งแต่ประมาณ ป. ๓ - ป. ๔ เพราะมีคุณตาปลูกต้นไม้
“ต้นไม้ที่ตาปลูกมีโป๊ยเซียน บอนไซ ว่าน เป็นต้นไม้คนแก่หรือต้นไม้ผู้ใหญ่ในยุคที่ต้นไม้ชนิดนั้น ๆ กำลังบูม คุณตาเลี้ยงมาเรื่อยในบ้านตึกแถวที่มีพื้นที่อยู่บนดาดฟ้า ผมเห็นแต่ไม่ได้ชอบมาก แล้วอยู่ ๆ วันหนึ่งก็เกิดความสนใจขึ้นมา เริ่มจากปลูกต้นไม้ทั่ว ๆ ไป พวกพริก มะลิ หลังจากเริ่มเลี้ยงก็เลยหาอะไรมากกว่านั้น ที่มันไม่ได้เห็นกันตามปรกติ แรก ๆ เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ชอบอะไรก็หามาเลี้ยง ต่อมาจริงจังกับกล้วยไม้ ทิลแลนด์เซีย (สับปะรดสี) ซึ่งตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้เลี้ยงได้ดีมากนัก เลี้ยงแล้วตาย แต่ก็ยังชอบ ซื้อมาเลี้ยงใหม่ แล้วตอนหลังก็หันมาสนใจแค็กตัส (กระบองเพชร) จำได้ว่าช่วงนั้นแพงมาก”
เขาสาธยายต่อไปอีกว่า
“เรื่องต้นไม้ผมว่ามันแล้วแต่คนชอบ ไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าอะไร ต้นไม้หลาย ๆ อย่างที่มันบูมขึ้นมาก็เริ่มจากคนชอบอาจจะแค่คนเดียว หันมาสนใจ หยิบจุดเด่นออกมาเล่าให้คนอื่นฟังว่ามันเด่นยังไง อธิบายได้ว่ามันสวยยังไง พอมีคนเริ่ม ‘อิน’ หรือมีความรู้สึกร่วมตามไปกับเรา ก็เริ่มเป็นหมู่คณะ มีคนมาสนใจเยอะขึ้น อันที่จริงทุกต้นมันก็สวยหมดแหละ แล้วแต่ว่าเราจะจับจุดเด่นอะไรมันออกมา”
โป๊ยเซียน กล้วยไม้ กระบองเพชร สับปะรดสี สามหรือสี่ทหารเสือที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงมาก่อนหน้านี้และยังคงได้รับความนิยมข้ามกาลเวลา แม้จะตกลงบ้าง เป็นตัวอย่างที่ดี
“เสน่ห์ของกระบองเพชรผมคิดว่ามันอยู่ที่ฟอร์มที่ไม่เหมือนกันเลยสักต้น แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน รูปร่างอาจจะคล้าย ๆ กัน แต่ pattern ของแหลมของลายจะไม่เหมือนกันเป๊ะ มัน unique เหมือนลายนิ้วมือคน มี variation มีความหลากหลายของหนามสูงมาก ถ้าเป็นกล้วยไม้ เสน่ห์ของมันอยู่ที่ดอก ดอกมีสีสันสวยงามและรูปร่างไม่เหมือนกัน กล้วยไม้เป็นพืชไม้ดอกที่วงศ์ค่อนข้างใหญ่ มีความหลากหลายสูง ตั้งแต่ดอกเล็กจิ๋วไม่มีสีสัน แต่มีกลิ่นหอมเพื่อล่อแมลง ไปจนถึงดอกใหญ่ไม่มีกลิ่น บางชนิดดอกไม่สวย แต่ใบสวย หรืออย่างโป๊ยเซียนก็มีจุดเด่นที่ดอก คือมีทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ ดอกสีสด มีความหลากหลายให้เลือกเล่นตามความชอบของแต่ละคน แต่ตอนนี้กลุ่มที่ชอบต้นไม้พวกนี้มักจะเป็นคนมีอายุ
“สำหรับไม้ใบ ผมคิดว่ามีเสน่ห์ เพราะมันอยู่ได้ทุกสถานที่ ตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงนอกบ้าน คนอยู่คอนโดฯ หรือคนอยู่ในบ้านก็เลี้ยงได้ และเขามีเสน่ห์ตรงฟอร์มใบไม่เหมือนกัน มีทั้งใบกลม ๆ ใบหยัก ใบรูปสามเหลี่ยม ใบรูปลูกศร ใบแบบพัด ใบประกอบแบบขนนก สอดคล้องกับการใช้งานเรื่องประดับบ้าน ฟังก์ชันการใช้งานมันแตกต่างจากโป๊ยเซียน ที่เห็นชัดคือโป๊ยเซียนเป็นไม้แดด ไม้ดอกกับแดดเป็นของคู่กัน ถ้าไม่มีแดดก็เลี้ยงยาก ไม่เหมือนไม้ใบที่สามารถอยู่ในร่ม แต่ก็มีบางตัวทนแดดได้เหมือนกัน โดยสรุปแล้วคือไม้ใบในบ้านมีให้เลือกหลากหลายมากกว่าไม้ดอก”
Monstera adansonii
มอนสเตอรา อะแดนโซเนีย
Monstera esqueleto
มอนสเตอรา เอสคิวเลโต
Monstera obliqua
มอนสเตอรา โอบลิกัว
ส ว น จ ตุ จั ก ร แ ล ะ ส ว น ห ล ว ง ร. ๙
โลกไม้ใบกว้างใหญ่เหลือคณนา ทุกครั้งที่เดินทางไปเก็บข้อมูลตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าโรงเพาะชำไม้ใบ ร้านอาหารตลาดต้นไม้ ผมมักถามเจ้าของต้นไม้ว่าไม้ใบมีทั้งหมดกี่ชนิด ทุกคนตอบกลับมาแทบจะทันทีว่าไม่สามารถนับได้ นก-นภารัตน์ จุ่มศรี เจ้าของร้าน Philo By Me สวนจตุจักร และมาออกบูทที่สวนหลวง ร. ๙ เป็นประจำทุกปี แจกแจงความหลากหลายของไม้ใบให้ผมฟังว่า
“เหมือนปู่ย่าเราเป็นวงศ์อะราซีอี พ่อแม่เราเป็นสกุลฟิโลเดนดรอน พ่อแม่มีพี่น้องซึ่งก็จะเป็นน้า เป็นอา เป็นป้าของเราหลายสิบสกุล เช่น สกุลอะโลคาเซีย สกุลแอนทูเรียม สกุลเอพิเพรมนัม สกุลมอนสเตอรา สกุลอะโกลนีมา พ่อแม่ของเรารวมถึงลุงป้าน้าอา ต่างก็มีลูก บางคนมีลูกหลายสิบคน บางคนมีหลายร้อยคนหรือหลายร้อยชนิด สมมุติเราเป็นฟิโลเดนดรอน บิลเลียเต ชื่อเล่นฟิโลฯ ก้านส้ม เราก็มีพี่น้องหลายร้อยคน ชื่อฟิโลฯ เขียว, ฟิโลฯ ก้ามเกลี้ยง, ฟิโลฯ ก้ามกุ้ง ลุงป้าของเราก็มีลูกเป็นพันชนิด แยกออกไป”
ไม้ใบมีหลายวงศ์ เฉพาะวงศ์อะราซีอี (Araceae) ที่สมาชิกส่วนหนึ่งชาวไทยรู้จักดีในชื่อ “ว่านไม้มงคล” ชนิดต่าง ๆ ปลูกกันมานมนาน ความจริงแล้วเป็นพืชที่กระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วโลก เฉพาะวงศ์นี้มีสมาชิกมากกว่า ๑๑๗ สกุล มากกว่า ๓,๐๐๐ ชนิด สกุลที่กำลังได้รับความนิยม เช่น สกุลมอนสเตอรา (Monstera) ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ มีประมาณ ๔๗ ชนิด
Labisia sp. “ว่านนางตัด” ใบเป็นลอน หลังใบออกสีแดงเรื่อๆ ถือเป็น “rare item” หรือต้นไม้หายากชนิดหนึ่ง มีตำนานเล่าว่าคนเล่นของขลังจะใช้ใบไม้ตระกูลนี้ตัดเหล็กไหลให้ขาดจากกันได้
สกุลฟิโลเดนดรอน (Philodendron) ชื่อสกุลมาจากภาษากรีกสองคำ คือ philo แปลว่ารัก และ dendron แปลว่าต้นไม้ สื่อถึงลักษณะที่ชอบขึ้นอยู่กับต้นไม้ใหญ่ กระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาใต้ ทรงใบมีหลายแบบ มีมากกว่า ๔๕๐ ชนิด
สกุลอะโกลนีมา (Aglaonema) กระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบตามป่าชื้น มีมากกว่า ๒๕ ชนิด ที่โด่งดังมาก ๆ ในอดีต และยังเป็นไม้ใบหายากราคาแพง เช่น อะโกลนีมา “ดุจอัญมณี” ที่มีใบเป็นสีแดงสวย ยังคงซื้อขายกันในตลาดไม้ประดับจนถึงปัจจุบัน นอกจากตัวเดิมแล้วยังกลายพันธุ์จากการปั่นตาจนเป็นใบสีขาว สีชมพู
สกุลอะโลคาเซีย (Alocasia) กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียและออสเตรเลีย มักขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นหรือตามริมลำธารที่มีความชื้นสูง มีประมาณ ๘๐ ชนิด
สกุลแอนทูเรียม (Anthurium) ขยายพันธุ์ในอเมริกากลางและใต้ มีรากขนาดใหญ่ออกตามข้อใบ เมื่ออายุมากขึ้นลำต้นจะเป็นแท่งสูง มีรากคอยพยุง รู้จักกันในชื่อว่า “หน้าวัว” คนส่วนใหญ่จะรู้จักหน้าวัวในฐานะ “ไม้ดอก” น้อยคนจะรู้ว่าหน้าวัวหลายชนิดมีใบสวยงามกว่าดอก เรียกกันว่า “หน้าวัวใบ” สกุลนี้มีอยู่เกือบ ๑,๐๐๐ ชนิด
ที่ไล่เรียงมาแค่วงศ์อะราซีอี ยังมีวงศ์อื่น ๆ อีก เช่น วงศ์โมราซีอี (Moraceae) ที่มีทั้งไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้ต้น ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับคือสกุลฟิคัส (Ficus) หรือสกุลไทร เช่น ยางอินเดีย ไทรใบสัก ยางและไทรแต่ละชนิดยังแยกย่อยเป็นไทรใบสักแคระ ไทรใบสักด่าง ยางอินเดียใบดำ ยางอินเดียด่างประเหลือง ยางอินเดียด่างครีม ยางอินเดียแคระ รวมกันแล้ววงศ์นี้มีมากกว่า ๔๘ สกุล มากกว่า ๑,๒๐๐ ชนิด
และทุกวันยังมีไม้ใบชนิดแปลก ๆ ถูกค้นพบและนำตัวออกจากป่าทั่วโลกมาเพาะเลี้ยงเพาะพันธุ์ ดูแลกันและกัน เป็นไม้ใบไม้บ้านอย่างไม่มีวันหมดสิ้น
ไม้ใบบางชนิดยังมีลักษณะคล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก
Monstera obliqua “โอบลิกัว” เป็นพลูฉลุสุดหายาก เนื้อใบบาง รูฉลุเว้าลึก บางชนิดเมื่อโตเต็มวัยใบแทบฉีกเป็นริ้วละเอียด เหมือนมีผมเส้นเล็กๆ มารั้งใบไว้ไม่ให้ขาด
Monstera adansonii Aurea variegated
“พลูฉลุด่างเหลือง” รูไม่กว้าง และฟอร์มใบต่างจากโอบลิกัว
มอนสเตอรา อะแดนโซเนีย (Monstera adansonii) หรือ “พลูฉลุ” มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นมอนสเตอรา เอสคิวเลโต (Monstera esqueleto) หรือ “พลูฉลุยักษ์” และมอนสเตอรา โอบลิกัว (Monstera obliqua) ที่เป็นพลูฉลุสุดหายาก ทั้งสามชนิดต่างก็มีรู แต่พลูฉลุอย่างแรกรูไม่กว้าง และฟอร์มใบไม่สวยนักในสายตาคนส่วนใหญ่ (แต่ผมเป็นอีกหนึ่งเสียงที่คิดว่ามันสวยมากทีเดียว) ขณะที่โอบลิกัวมีเนื้อใบบางเฉียบ รูฉลุเว้าลึก เมื่อโตเต็มวัยใบแทบฉีกเป็นเส้น เล็กเหมือนเส้นผม นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างไม้ใบราคาหลายสิบบาทกับหลายหมื่นบาท
ไม้ใบต่างชนิดกันอาจมีรูปร่างคล้ายกัน ในทางตรงกันข้าม ไม้ใบชนิดเดียวกันเมื่ออยู่ในช่วงอายุต่างกัน กลับแตกต่างจนคิดว่าเป็นต้นไม้คนละต้น เหมือนคนเติบโตแล้วรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้
ไม้ใบหลายชนิดเป็นไม้เลื้อยที่ใบมีลักษณะแตกต่างกันตามช่วงอายุ ส่วนใหญ่เมื่อยังเล็กมีใบเรียบ แต่เมื่อโตขึ้นจะหยักเว้าและมีรู ตัวอย่างชัดเจนที่สุดอยู่ปลายจมูกเรานี่เอง
ไม้ใบสกุลเอพิเพรมนัม (Epipremnum) ชื่อมาจากภาษากรีกสองคำ คือ epi แปลว่าไปข้างหน้า และ premnon แปลว่าลำต้น รวมกันหมายถึงลำต้นที่ทอดเลื้อยไปข้างหน้า บ้านเรารู้จักกันในชื่อ “พลูด่าง” ไม้ประดับสุดฮิตตลอดกาล นิยมปลูกเลี้ยงตามบ้าน ทั้งในแจกัน กระถาง บ้างก็ปลูกในอ่างปลา ลองปล่อยให้พลูด่างเลื้อยขึ้นไม้ใหญ่หรือเกาะผนัง ใบของพวกมันจะมีขนาดโตขึ้นตามสิ่งที่เกาะเลื้อยและเปลี่ยนรูปไป จากไม้ใบเล็ก ๆ ที่มีขอบใบเรียบเล็กกระจุ๋มกระจิ๋ม อาจกลายเป็นใบไม้ใหญ่ขอบใบหยักเป็นริ้วห่มคลุมต้นไม้ที่ตัวเองเลื้อยเกาะ
Epipremnum pinnatum Albo variegated
“พลูฉีกด่าง” เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัย เมื่อได้เลื้อยเกาะหลักจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และค่อยๆ เปลี่ยนรูปร่าง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก คือ epi แปลว่าไปข้างหน้า และ premnon แปลว่าลำต้น หมายถึงลำต้นที่ทอดเลื้อยไปข้างหน้า
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือไม้ใบสกุลมอนสเตอรา คนเลี้ยงนิยมปล่อยให้เลื้อยขึ้นหลักหรือเลื้อยขึ้นต้นไม้ ถ้าเป็นชนิดมอนสเตอรา ดีลิซิโอซา (Monstera deliciosa) หรือ “พลูฉีก” หรือ “มอนฯ ไจแอนต์” เมื่อยังเล็กใบเป็นรูปหัวใจ เมื่อโตขึ้นข้างใบจะแตกเป็นริ้วและมีรูตรงกลางประปรายคล้ายรูบนก้อนเนยแข็ง แลดูแปลกตาและสวยงาม เป็นที่มาของชื่อ Swiss cheese plant หรือ window leaf
เคน-ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค นักแสดงที่มีผลงานหนัง-ละครหลายเรื่อง เล่าให้ผมฟังว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของไม้ใบก็คือการเปลี่ยนรูปร่างของใบไปในแต่ละช่วงอายุ
“เขาไม่ได้มีแค่ฟอร์มเดียว บางต้นมีสามฟอร์ม บางต้นมีห้าฟอร์ม บางทีเราเลี้ยงตั้งแต่ใบยังไม่แตกแฉก เลี้ยงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเขาเริ่มแตกแฉก เริ่มโต ก็เปลี่ยนไปอีกแฉกหนึ่ง โตไปอีกก็เปลี่ยนไปอีกแฉกหนึ่ง”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เคนเฝ้าประคบ-ประหงมดูแลไม้ใบเหล่านี้ได้ทุกวันไม่รู้จักเบื่อ
Monstera borsigiana Albo variegated
ใบด่างเกิดจากความผิดปรกติของสายพันธุ์ ทำให้พื้นที่สีเขียวที่สามารถสังเคราะห์แสงมีน้อย แต่กลับมีสีสันต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ขาว เหลือง เทา ฟ้า ใบด่างมักมีลายเส้นและสีสันสวยงามแปลกตา ราวกับใบไม้เล่นละเลงสีกัน