ยิ้มสวย ป่วย ป่วน
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพ : นายดอกมา
Image
ยิ้มเป็นพฤติกรรมมีเสน่ห์และลึกลับไม่น้อย ดังที่คนจำนวนมากอาจนึกถึงยิ้มของ “โมนาลิซา” ที่เลโอนาร์โด ดาวินชี วาดไว้หลายร้อยปีก่อนว่ารอยยิ้มนั้นมีเสน่ห์อย่างยิ่ง เพราะเหตุใดกันแน่

รอยยิ้มยังมีหลากแง่มุมที่อาจทำให้แปลกใจได้ เช่น รอยยิ้มสะท้อนให้เห็นถึงความสุขของผู้ยิ้มจริงหรือ  คำถามนี้ตอบไม่ยากนัก เพราะมีงานวิจัยมากมายที่แสดงความเชื่อมโยงดังกล่าว

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือมีนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ตีพิมพ์ผลงานใน ค.ศ. ๒๐๐๑ ว่าเราอาจใช้ภาพถ่ายของ

นักศึกษาหญิงในหนังสือรุ่นทำนายความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ในครอบครัวอีก ๓๐ ปีต่อมาได้ด้วย ! นักศึกษาหญิงเจ้าของภาพรอยยิ้มอย่างจริงใจและชัดแจ้งมีชีวิตแต่งงานราบรื่นและมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าหากเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ไม่ยิ้มหรือยิ้มน้อยกว่า

รอยยิ้มอาจเป็น “ประตูดวง” เพราะทำให้คนที่ได้พบเห็นปฏิบัติกับเจ้าของรอยยิ้มพิมพ์ใจดีกว่าคนที่ไม่ยิ้ม เรื่องนี้ไม่ขึ้นกับความสวย เพราะนักวิจัยควบคุมปัจจัยนี้แล้ว

ความน่าสนใจของงานวิจัยนี้ยังไม่จบ

นักวิจัยใช้หนังสือรุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๐ มาวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าเป็นรอยยิ้มแบบจริงใจหรือเสแสร้ง (ยิ้มสองแบบนี้จะอธิบายละเอียดตอนท้าย)
Image
สิ่งที่พบคือเมื่อนักศึกษาพวกนี้อายุราว ๒๗ ปี (หลังเรียนจบแล้ว ๕ ปี) คนไหนที่เคยมีภาพยิ้มกว้างมากในหนังสือรุ่นก็พบว่าแต่งงานแล้วเป็นส่วนมาก

กล่าวอีกอย่างได้ว่า รอยยิ้มอาจนำไปสู่การแต่งงานมากกว่า

ที่เด็ดกว่านั้นก็คือเมื่อติดตามชีวิตของเจ้าของภาพในหนังสือรุ่นต่อไปถึงอายุราว ๕๒ ปี พบว่าสาว ๆ ที่ส่งยิ้มหวานไว้ในภาพมีความสุขในชีวิตสมรสมากกว่าด้วย !

อีกการทดลองหนึ่งของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเดอพอว์ สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาภาพในหนังสือรุ่นร่วมกับภาพวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ก็ได้ผลลัพธ์สอดคล้องกันว่าหากคนเหล่านี้ยิ้มอย่างจริงใจก็มีแนวโน้มจะหย่าร้างน้อยกว่าตามไปด้วย

สรุปว่า แค่ภาพรอยยิ้มในหนังสือรุ่นก็ทำนายอนาคตบางอย่างได้แล้ว-น่าทึ่งจริง ๆ !

นักวิจัยที่ศึกษาภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กก็มี ซึ่งรูปภาพจะเป็นทางการน้อยกว่าในหนังสือรุ่นอยู่หน่อย โดยศึกษาภาพต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนระดับปริญญาตรีแล้วมาดูอีกทีตอนใกล้จบ สิ่งที่พบก็คือนักศึกษาที่ใช้ภาพโปรไฟล์หน้ายิ้มมักสรุปว่าพึงพอใจกับชีวิตการเรียนและสังคมมหาวิทยาลัยมากกว่าหากเทียบกับกลุ่มควบคุมคือพวกที่ไม่ยิ้ม

เรื่องสุขภาพดีล่ะ มีอะไรเกี่ยวข้องกับรอยยิ้มบ้างหรือไม่
Image
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวย์นสเตตศึกษาเปรียบเทียบภาพของผู้เล่นในเมเจอร์ลีกเบสบอลรวม ๒๐๐ คน เลือกคนที่ลงสนามตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๒ โดยเปรียบรอยยิ้มจริงกับเสแสร้งและที่ไม่ยิ้มเลย ผลลัพธ์คือในหมู่นักกีฬาอาชีพเหล่านี้ หากเป็นคนที่ยิ้มอย่างจริงใจในรูปภาพต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มจะมีอายุยืนยาวกว่า

หากเทียบปีต่อปี โอกาสเสียชีวิตของพวกนักยิ้มจะมีแค่เพียงครึ่งเดียวของพวกไอ้เสือยิ้มยาก !

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่ารอยยิ้มแสดงให้เห็นว่าคนผู้นั้นรับมืออารมณ์ลบได้
ดีกว่า โดยเลือกคนที่เพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นอาสาสมัครเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต จากนั้นนักวิจัยจะนำวิดีโอการสัมภาษณ์นี้ไปวิเคราะห์รอยยิ้มหรือการหัวเราะ

สิ่งที่พบก็คือยิ่งอาสาสมัครคนไหนยิ้มหรือหัวเราะเมื่อพูดถึงผู้จากไปมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งจัดการกับความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นได้ดีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อวัดที่ช่วงเวลา ๒๕ เดือนหลังการสูญเสีย

อีกการทดลองที่น่าสนใจและแปลกดีก็คือมีนักวิจัยที่ศึกษานักชกยูเอฟซี (UFC, Ultimate Fighting Championship) ที่ชกกันแบบอาวุธรอบตัว ใช้ศิลปะการป้องกันตัวผสมผสานหลายอย่าง ผลลัพธ์เมื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างรูปภาพก่อนการชกกับผลการชกพบว่า

Image
นักชกที่ชนะมักยิ้มน้อยกว่าพวกที่แพ้แต่เมื่อถามบรรดาผู้ชมก็มีแนวโน้มจะมองว่าพวกนักชกที่ยิ้มดูจะมี “หน่วยก้าน” ดีกว่า แม้ว่าผลการชกจะสรุปออกมาตรงกันข้ามก็ตาม !

เขียนมาถึงตรงนี้ดูเหมือนการยิ้มจะส่งผลดีเต็มไปหมด แต่ตามประสางานวิจัยอย่างที่เน้นบ่อย ๆ ว่า ต้องสอบทาน ทำซ้ำเรื่อย ๆ เพิ่มจำนวนตัวอย่าง เปลี่ยนไปใช้วิธีการใหม่ ๆ ที่ดีกว่า รัดกุมกว่าเดิม
มีงานวิจัยที่แย้งงานวิจัยข้างต้นอยู่เหมือนกัน เช่นมีงานตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้าที่เรียกว่าเป็น metadata โดยครอบคลุมการทดลองมากถึง ๓๐๐ การทดลองในช่วงเวลาเกือบ ๕๐ ปี

สิ่งที่พบก็คือข้อมูลแสดงว่าการยิ้มส่งผลต่อความสุข...น้อยมาก ซึ่งก็อาจเป็นเพราะการยิ้มของคนเรามีไม่น้อยกว่า ๑๗ แบบ ครอบคลุมตั้งแต่ยิ้มแบบยั่วยวนเพศตรงข้าม ตระหนกตกใจ หวาดกลัว ไปจนถึงยิ้มด้วยความอับอายหรือโกหก ฯลฯ โดยทั้งหมดจะแตกต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ

เรื่องนี้คล้ายกรณีที่มักคิดกันว่าคนที่ผิวปากร้องเพลงน่าจะกำลังอารมณ์ดี ซึ่งไม่จริงเสมอไป บางครั้งอาจอยู่ในอารมณ์เหงาหรือเซ็งก็ได้

อีกการทดลองหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่าการทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าขยับจนคล้ายกับหน้ายิ้มจะช่วยทำให้คนรู้สึกมีความสุขมากขึ้นจริงหรือไม่ มีอาสาสมัครร่วมมือกันทำถึง ๑๗ ห้องปฏิบัติการ แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่สามารถทำซ้ำการทดลองต้นแบบได้ จนทำให้ความเชื่อที่ว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการยิ้มกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นกลายเป็นข้อสงสัยว่าอาจจะไม่จริงเท่าไร
Image
Image
ขอจบด้วยวิธีการแยกแยะ “ยิ้มจริง” ออกจาก “ยิ้มเสแสร้ง”

นักจิตวิทยารู้มานานแล้วว่ายิ้มที่ตั้งอกตั้งใจ ยิ้มจากหัวจิตหัวใจแบบที่เรียกว่า “ยิ้มดูเชน (Duchenne smile)” นั้น สังเกตได้จากกล้ามเนื้อสองมัดสำคัญคือ ไซโกเมติก เมเจอร์ (zygomatic major) และออร์บิคิวลาริส ออคิวไล (orbicularis oculi) โดยมัดแรกอยู่ที่แก้มและเป็นตัวดึงให้ริมฝีปากยกขึ้น ส่วนมัดหลังเป็นกล้ามเนื้อที่ล้อมรอบกระบอกตา ซึ่งบีบรัดหางตาจนเกิดเป็น “ตีนกา” นั่นเอง

มัดกล้ามเนื้อทั้งสองจะทำงานประสานกันราว ๒/๓ ของวินาทีไปจนถึง ๔ นาที ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบบส่องกระจกคือคนที่เห็นก็อยากจะยิ้มตอบกลับ

รอยยิ้มแบบนี้จะพบในผู้ป่วยจิตเภทแบบที่เรียกว่าโรคดูเชนโดยตั้งตามชื่อนักกายวิภาคชาวฝรั่งเศส กีโยม ดูเชน

แม้สมัยนี้เราจะมีเทคนิคให้เลือกมากมาย แต่ในยุคของดูเชนยังขาดเทคนิคดี ๆ อยู่ การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นการตอบสนองของกล้ามเนื้อเพื่อแสดงอารมณ์ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก จนไม่อาจทดลองกับคนเป็น ๆ ได้แล้วเขาทดลองอย่างไร

เขาทดลองกับนักโทษที่โดนประหารชีวิตโดยการตัดหัว !
Image