มนุษย์ถ้ำ ริมฝั่งโขง
เรื่องและภาพ : ทีมห้วยงู
พ่อใหญ่หมอน วัย ๖๘ ปี ผู้ตัดสินใจมาใช้ชีวิตริมแม่น้ำโขง ธรรมชาติคงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเขา ผู้หลงรักความสงบและเรียบง่าย
“มันเย็นซำบายนี่แหล่ว กะเลยอยู่”
(มันเย็นสบายนี่แหละก็เลยอยู่)
คำตอบเรียบง่ายจาก “พ่อใหญ่หมอน” หลังจากจบคำถามที่ว่าเป็นมาอย่างไรถึงได้มาอยู่ที่นี่
การมาของ
“พ่อใหญ่หมอน
มนุษย์ถ้ำ”
หากเอ่ยถึง “พ่อใหญ่หมอน” มนุษย์ถ้ำแห่งบ้านผาชัน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราช-ธานี คงมีน้อยคนมากที่ไม่รู้จัก
“พ่อใหญ่หมอน” หรือนายกาลี ธรรมเที่ยง วัย ๖๘ ปี ผู้ผ่านยุคสมัยมาค่อนศตวรรษ เคยทำไร่ ทำนา เย็บผ้า ก่อนปลงใจต่ออาชีพหาปลาที่เป็นภูมิปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เด็ก
ชายสูงวัยหาใช่โดดเดี่ยวไร้ญาติ ภรรยาของพ่อใหญ่เล่าว่าก่อนหน้าที่สามีตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง ก็เป็นอย่างใคร ๆ ทั่วไป แต่งงาน มีลูก เลี้ยงชีพและครอบครัวด้วยการทำนาแต่เช้าแล้วไปหาปลา พอตกเย็นก็เข้าบ้าน
แต่แล้วจากเช้าไปเย็นกลับเริ่มเป็นห่างหาย นานทีจึงกลับบ้าน
สิ่งที่เผยให้เห็นเหตุคือที่พักริมโขง เป็นบ้านพักตากอากาศที่เงินหลายร้อยล้านบาทก็ไม่อาจหาซื้อได้
พ่อใหญ่หมอนอาศัยหินผาขนาดมหึมาเป็นหลังคา ใช้ไม้ค้ำผูก เกิดเป็นสถานพักผ่อนสำหรับตัวเองและผู้แวะเวียนมา
ใคร ๆ ต่างก็เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ถ้ำพ่อใหญ่หมอน” และเรียกพ่อใหญ่หมอนว่า “มนุษย์ถ้ำ”
เมื่อน้ำโขงสูงขึ้น พ่อใหญ่หมอนจะย้ายขึ้นมาชั้น ๒ เรียกได้ว่าที่พักสร้างไว้เป็นคอนโดฯ กันเลยทีเดียว
พ่อใหญ่หมอนอาบน้ำที่น้ำตกถ้ำเต่าในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ฝั่งตรงข้าม “ถ้ำพ่อใหญ่หมอน”
คอนโดฯ พ่อใหญ่หมอน
พวกเราลงเรือประมงชาวบ้านมาถึงถ้ำพ่อใหญ่หมอนในราวบ่าย ๓ โมง แดดกำลังร่ม ลมกำลังเย็น
พ่อใหญ่หมอนงีบหลับสบายยามบ่าย พอรับรู้การมาถึงของคนต่างถิ่นก็กุลีกุจอควานหาเสื้อใส่ พร้อมส่งยิ้มแรกที่เห็นเหงือกและฟันน้อย ๆ ต้อนรับ
“เพิ่นมาเล่นนำเด้อพ่อใหญ่ มื้อนี้เพิ่นสิมานอนนำ เบิ่งลูกหลานแหน่เด้อ” (เขามาหานะ วันนี้พวกเขาจะมาพักด้วย ดูแลลูกหลานหน่อยนะ) นี่คือคำที่ “อ้ายวิทย์” หรือ “พี่วิทย์” ฝากพวกเราไว้ก่อนพาเรือประมงของแกกลับไป
พวกเราตะลึงงันกับภาพที่เห็น นี่หรือถ้ำพ่อใหญ่หมอน จะเรียกว่าถ้ำ เพิงพัก หรืออะไรดีจึงจะเหมาะสม
ที่พักสร้างขึ้นง่าย ๆ โดยการอาศัยหินผาเป็นหลังคาและผนังทึบด้านหนึ่งของ “บ้าน” ส่วนด้านที่หันสู่แม่น้ำโขงเปิดโล่งมีเพียงราวกั้นและเสาค้ำยันจากไม้ต้นเล็ก ๆ ที่นั่งและนอนยกพื้นด้วยไม้น้อยชิ้น กันส่วนที่นอนปูลาดด้วยเสื่อสีสดใส ผ้าห่ม หมอน มุ้ง วิทยุ ไฟฉาย ฯลฯ มีพร้อม ห่างไปไม่ไกลมีห้องส้วม ห้องครัวกลางแจ้ง ที่ข้าวของเครื่องใช้เพียงพอสำหรับชีวิต
พ่อใหญ่หมอนชวนพวกเราคุยเป็นการใหญ่ เรื่องราวต่าง ๆ พรั่งพรูผ่านรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เป็นเอกลักษณ์ พูดไปหัวเราะไป นั่นแหละ “พ่อใหญ่หมอน”
สักพักพ่อใหญ่ชวนเดินสำรวจทั่วบริเวณ ที่พักนี้อยู่ใกล้แม่น้ำ ซอกซอยของหินผาคือเส้นทางที่พาไปยังจุดต่าง ๆ กระบวยตักน้ำที่พ่อใหญ่ทำขึ้นห้อยเรียงรายตามทางเดิน หินผาแต่ละขั้นคือบันไดสูงชัน เส้นทางนี้คือสิ่งที่พ่อใหญ่หมอนสร้างขึ้นให้ชีวิตของตัวเอง ธรรมชาติกับชีวิตปรับเข้าหากันได้อย่างเหมาะสม
พ่อใหญ่หมอนอาศัยหินผาขนาดมหึมาเป็นหลังคา
ใช้ไม้สร้าง “บ้าน” มีเพียงเสื่อเก่า ๆ และของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น
นอกจากอาศัยกินนอนที่หน้าผา ยังคอยเก็บของที่ลอยมากับน้ำ เช่นรองเท้า เสมือนเป็นผู้พิทักษ์รักษาความสะอาดให้แม่น้ำโขง ถ้าไม่รักแม่น้ำโขงจริงคงไม่เลือกมาใช้ชีวิตที่ริมโขงแบบนี้
บนสุดเป็นลานหินระดับพื้นดินเดินต่อไปยังหมู่บ้านผาชันได้ พ่อใหญ่พาเดินไปยังจุดชมวิวที่ภูมิใจนำเสนอ มองเห็นแม่น้ำโขงทั้งสองฟากฝั่ง น้ำตกถ้ำเต่าในเขตประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม แนวหินผาที่ขนาบข้างแม่น้ำจนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ สายลมพัดมาเย็นสบาย แตะต้องกาย สัมผัสผิว จมูกสูดดมกลิ่นดิน กลิ่นหิน และอากาศบริสุทธิ์ ให้ความสดชื่นและแจ่มใสอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่พ่อใหญ่หมอนที่เลือกมีความสุขกับสายน้ำคงไม่ได้ใช้เส้นทางขึ้นลงบ่อยครั้งนัก รู้ได้จากการนั่งหายใจหอบและตะโกนบอกให้เราพูดคุยดังขึ้น “เมื่อยมาละหูอื้อเด้อ เด็กน้อยซุมนี้มันเฮ็ดบาปผู้เฒ่า” (เหนื่อยแล้วหูอื้อ เด็กพวกนี้ทำร้ายคนแก่) พ่อใหญ่หมอนพูดจบก็นั่งหัวเราะตามแบบฉบับของตน
การเดินจากที่พักด้านล่างขึ้นที่พักชั้นบนและลานหินสูงชัน พวกเราเองก็ต้องใช้ความพยายามปีนป่าย ที่พักแห่งนี้สร้างความอัศจรรย์ใจเมื่อได้พบเห็น พวกเราจึงขอเรียกว่า “คอนโดฯ พ่อใหญ่หมอน” ก็แล้วกัน
กินอยู่อย่าง
พ่อใหญ่หมอน
วันที่ไม่มีแสงสว่างเลยเราอาจมองเห็นตัวเองแม้ในความมืด
มองดูนาฬิกายังไม่ทันจะถึง ๒ ทุ่ม อาหารเย็นผ่านไปแล้วอย่างเรียบง่าย อ่อมไก่ ส้มตำ ข้าวเหนียว และลาบบ่าง (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง คล้ายกระรอก แต่มีปีกคล้ายค้างคาว) มื้ออาหารรสเลิศที่รายล้อมด้วยความมืด แต่มีแสงสว่างจากไฟฉายและดวงดาว
หลังหนังท้องตึง หนังตาก็เริ่มตก พ่อใหญ่หมอนเข้าที่นอนก่อนใครๆ ผ่านไปไม่นานเสียงเรือกล (เรียกว่า เรือ-กรน ก็น่าจะได้) ที่ขับเคลื่อนโดยพ่อใหญ่ก็ติดเครื่อง ดังก้องทั่วเวิ้งฟ้าและแม่น้ำ แต่สำหรับพวกเราแล้วยังข่มตาข่มใจให้หลับไม่ลง เมื่อมองออกไปในความมืด ท้องฟ้าเกลื่อนด้วยดวงดาวเล็กใหญ่ส่องประกายแสง บ้างอยู่รวมกันเป็นกระจุก บ้างกระจาย บ้างกะพริบแสงเศร้า ๆ ดวงเดียวโดดเดี่ยว หนึ่งในพวกเราชี้ให้ดูหางของทางช้างเผือกที่ทอดผ่านฟากฟ้า ลานสายตาทำให้เรามองเห็นสิ่งนี้
มีเพียงคนที่มองดวงดาวเท่านั้นจึงจะเห็นดวงดาว
พ่อใหญ่หมอนอาศัยหินผาขนาดมหึมาเป็นหลังคา ใช้ไม้สร้าง “บ้าน” มีเพียงเสื่อเก่า ๆ และของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น
ยินเสียงแม่น้ำไหลไม่หยุดนิ่ง แมลงกลางคืนร้องระงมขับกล่อมค่ำคืน น้ำตกถ้ำเต่าดังก้องสะท้อนมาถึง น้ำตกถ้ำเต่า - ห้องอาบน้ำส่วนตัวที่พ่อใหญ่หมอนพายเรือไปอาบน้ำเมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา เกื้อกูลต่อชีวิตเรียบง่าย
ค่ำคืนดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ ความสงบมักทำให้ตะกอนความคิดเกาะกลุ่มตกผลึก พลันความคิดหนึ่งผุดขึ้น อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนบางคนเลือกปลีกตนเองออกมาจากผู้คนและวิถีชีวิตเดิม ๆ และจะดีแค่ไหนถ้าคนเราได้ดำรงชีวิตตามเส้นทางที่ตนเลือก
“เลามีทุกแนว แต่เลาเลือกความสันโดษตามวิถีของเลา เลามักแนวนั้น” (แกมีทุกอย่าง แต่แกเลือกความสันโดษตามวิถีของแก แกชอบอย่างนั้น) คำบอกกล่าวจากภรรยาพ่อใหญ่หมอนที่ใช้สรรพนาม “เลา” หมายเรียกผู้อาวุโสอย่างให้ความเคารพ
เมื่อคนเราเงียบเสียงลงจะได้ยินเสียงสิ่งอื่นชัดเจนขึ้น และที่ชัดที่สุดในค่ำคืนนั้นคงจะหนีไม่พ้น “เรือ-กรน” พ่อใหญ่หมอนหลับฝันไปถึงไหนแล้วนะ ล่วงกว่า ๕ ทุ่ม คงถึงเวลาที่พวกเราจะปล่อยให้ชีวิตหลับใหล ณ ริมฝั่งน้ำในค่ำคืนวิเศษ ก่อนที่พรุ่งนี้เช้าชีวิตจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ดวงอาทิตย์ของพรุ่งนี้จะส่องแสงด้วยความเรียบง่าย “หิวกะกิน ง่วงกะนอน อยู่แนวนี่แหล่ว” (หิวก็กิน ง่วงก็นอน อยู่แบบนี้แหละ) ปรัชญาชีวิตที่พ่อใหญ่หมอนสอนคนรุ่นหลัง
The old man
and the sea ;
The old man and
the Mekong River
เพลงหมอลำจากวิทยุธานินทร์รุ่นเก่าปลุกโสตประสาทให้ตื่นขึ้น เป็นสัญญาณว่าชีวิตของชายชราริมฝั่งแม่น้ำเริ่มวันใหม่ เสียงไม้พายเคลื่อนผ่านผืนน้ำ พ่อใหญ่หมอนเตรียมออกหาปลาแล้ว นาฬิกาจากโทรศัพท์บอกเวลาราวตี ๒
“เช้าจั่งออกไปปลด ตอนนี้ไปวางอวนก่อน” (เช้าค่อยออกไปปลด ตอนนี้ไปวางอวนก่อน) ชายสูงวัยร้องบอกจากในเรือเมื่อเห็นพวกเราเตรียมออกไปด้วยทั้งที่เพิ่งเข้านอนเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น อากาศเย็นลงอีกจนถึงขั้นรู้สึกหนาว
หกโมงเช้า ท้องฟ้ายังไม่สว่างดี “อ้ายวิทย์” พาเรือประมงติดเครื่องยนต์ของแกมาตามนัด อากาศยังคงเย็นชื่น ยามนี้พ่อใหญ่หมอนพายเรือลำเล็กนำหน้าไปยังจุดวางอวนที่ทอดไปตามแนวตลิ่ง ลำไม้ไผ่เล็กยาวคล้องสายอวนวางเป็นระยะ ๆ นวัตกรรมที่ชาวประมงสืบทอดเป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น พ่อใหญ่หมอนค่อย ๆ ถอดอวนจากไม้ไผ่ทีละลำ ปลดอวนทีละเมตรอย่างเย็นใจ
มีเพียงคนที่รอคอยได้เท่านั้นจึงจะเห็นดวงจันทร์ส่องแสงนวลสวย การรอคอยปลาให้ติดอวนก็เช่นกัน
“เฮาสิเร่งให้ปลามาติดอวนบ่ได้” (เราจะเร่งให้ปลามาติดอวนไม่ได้) เสียงพ่อใหญ่ให้ข้อคิด
พวกเราเรียนรู้จากพ่อใหญ่ว่าช่วงน้ำขึ้นวางอวนจะไม่ค่อยได้ปลา มีแต่เทาน้ำหรือสาหร่ายน้ำจืดที่จะลอยมาติดอวน สมัยก่อนจะบอกได้ว่าช่วงเวลาไหนปลาชุกชุม แต่ทุกวันนี้ฤดูกาลเปลี่ยนไป แม่น้ำโขงขึ้นและลงไม่เป็นเวลาเหมือนก่อน คาดการณ์ยากว่าวางอวนช่วงไหนจะได้ปลามากและตัวใหญ่ ถ้าได้แต่ปลาตัวเล็ก ๆ ก็ต้องรอช่วงให้น้ำลดลงอีกหน่อย
แม่น้ำโขงไม่ได้มอบแค่อาหาร แต่ยังมอบความสุขและรอยยิ้มให้หลาย ๆ คน พ่อใหญ่หมอนคือหนึ่งในนั้น
ช่วงนี้ปลาไม่มากเลยไม่ค่อยเห็นชาวบ้านลงมาหาปลา พากันหันไปทำงานอย่างอื่น เช่น รับจ้างนอกหมู่บ้าน บางคนก็ทำไร่สวนของตัวเอง ส่วนพ่อใหญ่หมอนที่ไม่ค่อยกลับขึ้นหมู่บ้านก็มีลูกสาวคอยนำอาหารอย่างเช่นเนื้อหมูและของกินอื่น ๆ มาให้
ดวงอาทิตย์สาดส่องท้องฟ้าจนคลายความมืด พ่อใหญ่หมอนยังค่อย ๆ ปลดอวนและเก็บปลา ส่วนพวกเรานั้นความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสธรรมชาติระริกอยู่ในอก กลิ่นแม่น้ำลอยมาแตะจมูก เสียงแม่น้ำกระทบซอกหิน แสงสีทองและแดดอ่อน ๆ อาบไล้สรรพสิ่ง ฯลฯ ส่งความรู้สึกลึกล้ำ
พวกเราดีใจเมื่อเห็นปลาตัวแรกติดอวน แต่พ่อใหญ่กลับบอกว่าได้เท่านี้เหมือนไม่ได้อะไรเลย ถึงกระนั้นรอยยิ้มก็ยังมีให้เห็น เสียงหัวเราะกังวานเหนือสายน้ำ สองมือที่ผ่านประสบการณ์มากมายสาวอวนขึ้นมาบนลำเรือ ปลาอีเก้งตัวเล็ก บาง และก้างเยอะ เพิ่มขึ้นทีละตัวสองตัว และแล้วพ่อใหญ่ก็ยกอวนติดปลาตัวเท่าแขนขึ้นมา พวกเราพากันโห่ร้องดีใจ ลิงโลดเหมือนเจอขุมทรัพย์ เจอแอ่งน้ำกลางทะเลทราย แต่พ่อใหญ่หมอนกลับบอกว่าปลายังตัวเล็กอยู่
การหาปลาของพ่อใหญ่หมอนในวันนี้สิ้นสุดลงราว ๗ โมงครึ่ง ได้ปลากดเหลืองตัวใหญ่ที่สุดซึ่งกลายเป็นอาหารเลิศรสของพวกเราในมื้อเช้า
ต้มปลากดเหลืองและย่างปลาอีเก้ง อร่อยเหาะไปเกือบถึงดาวอังคารเลยละ
ปลาแม่น้ำโขงที่ตัวเล็กบาง แต่รสชาติหวานอร่อย ไม่รู้เพราะความสดของปลาหรือเพราะรอยยิ้มคนย่าง
แม่น้ำ เวิ้งฟ้า
ชะง่อนหินผา และชีวิต
วิถีชีวิตพ่อใหญ่หมอนและลำน้ำโขงบอกเล่าเรื่องราวผ่านความเรียบง่าย สะท้อนแนวคิดชีวิตที่พึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน แม่น้ำให้ชีวิตแก่พ่อใหญ่หมอน พ่อใหญ่หมอนก็มอบชีวิตดูแลแม่น้ำเช่นกัน
พ่อใหญ่หมอนจัดการเก็บรองเท้าที่ลอยมากับลำน้ำจนกลายเป็นเหมือนงานจัดแสดงรองเท้าไร้คู่ หมวกกันน็อกก็ด้วย มันถูกจัดเรียงจนดูคล้ายอนุสรณ์สถานหมวกร้างของผู้คนนิรนาม เศษขยะ ขวดพลาสติกที่รวบรวมไว้ตามแนวหิน ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่พ่อใหญ่หมอนสะสมผ่านกาลเวลา แม้ไม่ตั้งใจ แต่เมื่อผ่านไปมันก็เพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
หินผาตั้งตระหง่านฟ้า แม่น้ำไหลผ่านเป็นสาย ระยับแดดที่สะท้อนผืนน้ำ ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างใส ฯลฯ ธรรมชาติสรรค์สร้างความงามให้ชีวิต กังวานเสียงหัวเราะ รอยยิ้มฉีกกว้าง หากจะกล่าวว่าพ่อใหญ่หมอนมีชีวิตแปลกแยกก็คงไม่ถูกต้องนัก
เพราะความสุขและชีวิตเรียบง่ายกลมกลืนกัน ณ ที่แห่งนี้แล้ว
แดดอ่อน ๆ สะท้อนผืนน้ำเบื้องหลังของชายชรา แม้มันจะเกิดขึ้นและจบลงคล้าย ๆ กันทุกวัน แต่แสงเช้าของวันใหม่ยังให้ความหวังกับทุกผู้คนเสมอ
ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน