ชุมนุม 
“ม่าเหมี่ยว”

เรื่องและภาพ :  นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

Image

ม่าเหมี่ยววัดม่วง บางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เอื้อเฟื้อภาพ : คุณเอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อปี ๒๕๖๒

Image

เมื่อครั้งที่ดิฉันยังร่ำเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงทะเบียนเลือกเรียนวิชา “ปรัชญาการเมือง”  ของคณะรัฐศาสตร์

ศึกษาจำเพาะแนวคิดของนักปรัชญากรีกคนสำคัญคือ โสกราติส เพลโต อริสโตเติล และนักปรัชญาการเมืองตะวันตกยุค ๑๐๐ กว่าปีก่อนอีกหลายคน  ครั้นปลายเทอม นักศึกษาทุกคนต้องทำรายงานฉบับเป้งส่งอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ให้เราเลือกทำตามอยาก สนใจประเด็นไหนว่าตามสะดวก ดิฉันก็เอาเลย เขียนรายงานหัวข้อ “ปรัชญาความยุติธรรมจากเพลโตถึงสังข์ทอง”

นั่นทำให้ดิฉันต้องศึกษาแนวคิดของเพลโตควบคู่ไปกับการอ่าน สังข์ทอง บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ อย่างละเอียด 

ในบทละครนอก สังข์ทอง นี้เอง เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้รู้จักคนป่าผัวเมียนุ่งใบไม้อยู่ป่าลึก ปรากฏในบางตอนของ สังข์ทอง  คนป่าเหล่านั้น เจ้า-ไพร่ โบราณไทย เรียกชื่อเขาว่า “ม่าเหมี่ยว”

โดยปรกติคนไทยทั่วไปรู้จัก “ม่าเหมี่ยว” ในรูป-นามของผลไม้ชนิดชมพู่ประเภทหนึ่ง มีลูกสีแดงออกม่วงเข้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว 

หรือถ้าเป็นเด็ก ๆ รุ่นดิฉัน เราจะรู้จัก “ม่าเหมี่ยว” เพิ่มขึ้นอีกหน่อยว่าเป็นชื่อของเด็กหญิงแก่นแก้ว ในเรื่องสั้นภาคนิทานเด็กของนักเขียน “สุมาลี” ที่เขียนเป็นตอน ๆ อยู่ใน สตรีสารภาคพิเศษ 

ส่วนชื่อ “ม่าเหมี่ยว” อันหมายถึง “แมลงปีกดำใช้ทำยา” ดังที่อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ระบุไว้ใน พจนานุกรม ไทย-ไทย ของท่านนั้น  ดิฉันไม่เคยรับรู้มาก่อน มารู้จัก ประจักษ์ได้ ก็เมื่อพยายามเปิดหาความหมายของม่าเหมี่ยวในพจนานุกรมหลากหลายฉบับ จนไปพบข้อมูลว่าเป็นชื่อเรียกแมลงชนิดหนึ่งด้วย

ดิฉันจึงไม่ลดละ พยายามสืบค้นข้อมูลนี้ต่อ ได้พบใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กล่าวถึงความหมายของม่าเหมี่ยวอันเกี่ยวข้องกับแมลงไว้ว่า

“กระดิ่งทอง น.  ชื่อแมลงพวกด้วงชนิด Martianus dermestoides Chevrolat ในวงศ์ Tenebrionidae ลำตัวยาว ๖-๗ มิลลิเมตร กว้าง ๒-๓ มิลลิเมตร สีน้ำตาลเกือบดำตลอดทั้งลำตัว ขา และปีก กินของแห้งทั้งพืชและสัตว์โดยเฉพาะเมล็ดบัว นิยมนำมาเลี้ยง ด้วยเมล็ดบัวแห้ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ โดยเชื่อว่าเมื่อนำมารับประทานจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ, ม่าเหมี่ยว ก็เรียก”

ม่าเหมี่ยวในวรรณคดี

ดังที่กล่าวแล้วว่าดิฉันได้รู้จักม่าเหมี่ยวเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี โดยได้ข้อมูลมาจากบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ที่เคยอ่านอย่างละเอียดทุกตัวอักษร เพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย

จากนั้นดิฉันก็พลิก ๆ เปิด ๆ สืบค้นเรื่องของม่าเหมี่ยวไม่ลดละ ทำมาเรื่อย ๆ ได้เก็บข้อมูลเรื่องของม่าเหมี่ยวในวรรณคดีไทย ประมวลมาดังนี้

ใน สังข์ทอง ตอนที่ ๗ ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ มีกล่าวถึงลูกเขยทั้งหกคร่ำครวญถึงการตรากตรำลำบากของตนเทียบกับม่าเหมี่ยว

“เมื่อนั้น
เขยใหญ่ทั้งหกตกประหม่า   
แกล้งทูลเลี้ยวลดปดพ่อตา
แต่เช้าข้าก็ไปไม่เชือนแช  

ลงตีอวนฉุดลากที่ปากลัด  
ปากเป้ากัดจมูกลูกเป็นแผล  
ในแม่น้ำลำคลองทั้งสองแคว
ไม่มีปลาเลยแต่สักตัวเดียว 

สู้ทนแดดแผดร้อนไปยังค่ำ  
จนตัวลอกออกดำเหมือนม่าเหมี่ยว  
อุตส่าห์บุกขึ้นบกรกเรี้ยว 
ไปได้ปลาหน่อยเดียวที่ในบึง”

และใน สังข์ทอง ตอนที่ ๘ พระสังข์ตีคลี ท้าวสามนต์หัวเราะยิ้มเยาะพระสังข์ ด้วยอารมณ์ประมาณ

“เมื่อนั้น  
ท้าวสามนต์หัวเราะเยาะยิ้มอยู่  
เออราวกับใครเขาไม่รู้  
รำคาญหูจู้จี้ไปทีเดียว  

ขืนจะให้ไปดูลูกเขยเงาะ  
มันสิเหมาะหนักหนาเหมือนม่าเหมี่ยว
อย่าอวดโอ้โป้ปดลดเลี้ยว  
พระอินทร์มาเขียวเขียวไม่เชื่อเลย   

แล้วตรัสกับเสนานินทาเมีย
ตะแก่เสียจริตผิดแล้วเหวย  
รูปทองที่ไหนเล่าเฝ้าชมเชย  
เงาะเงยน่าเกลียดขี้เกียจไป”

“ม่าเหมี่ยว” ที่รัชกาลที่ ๒ ทรงเอ่ยเปรียบไว้ แน่ ๆ คือ ตัวดำ และดู “บ้าน ๆ”  เร่อร่าเป็นที่สุดกระมัง

ส่วนกวีสุนทรภู่เคยกล่าวถึง “ม่าเหมี่ยว” ไว้ในบทละคร พระอภัยมณี ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา

“เหล่าคนป่าม่าเหมี่ยวเที่ยวเป็นฝูง
บ้างอุ้มจูงลูกเต้าเลียบเขาเขิน”

ส่วนใน นิราศอิเหนา ของท่านสุนทรภู่ กล่าวถึงม่าเหมี่ยว
ไว้ดังนี้

“อรหันนั้นหน้าเหมือนมนุษย์  
ปีกเหมือนครุฑครีบเท้ามีเผ้าผม  
พวกม่าเหมี่ยวเที่ยวเดินเนินพนม
ลูกเล็กล้มลากจูงเหมือนฝูงคน  

เหล่าเลมาะเงาะป่าคุลาอยู่  
เที่ยวกินปูเปี้ยวป่าผลาผล  
สิงโตตื่นยืนหยัดสบัดตน  
เห็นผู้คนโผนข้ามลำเนาเนิน”

ม่าเหมี่ยวใน นิราศอิเหนา นี้ คุณพ่อของดิฉัน อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เล่าให้ฟังว่า ได้อ่านมาตั้งแต่เรียนชั้น ม. ๔ (คือ ม. ๑ ในยุคปัจจุบัน) จากหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนช่วยมิตร อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง พ่อสงสัยมากว่าม่าเหมี่ยวคือตัวอะไร กลับมาถามแม่ (ย่านวล เพ็งแก้ว) ผู้เป็นชาวนาชาวบ้านควนขนุน  ย่านวลบอกพ่อว่าม่าเหมี่ยวคือคนป่าตัวดำ หัวเข่าไม่มีลูกสะบ้า  ถ้ามันล้มลงไปจะลุกลำบาก ต้องตะกายพื้นคืบไปหาต้นไม้หรือโขดหิน ใช้มือโหนค้ำตัว ถึงจะยืนขึ้นมาได้

เรื่องเล่าของพ่อทำให้รู้ว่าชาวบ้านภาคใต้รู้จักม่าเหมี่ยวมาแล้วตั้งแต่โบราณ

แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ใน พจนานุกรม ไทย-ไทย ของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของม่าเหมี่ยวในฐานะของคนป่าผู้มีลักษณะเฉพาะไว้ว่า 

“ชื่อคนป่าดงพวกหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นพวกไม่มีสะบ้าหัวเข่า”

คนใต้คงจะจำกันมาแม่น ๆ ว่า ม่าเหมี่ยวไม่มีกระดูกสะบ้าหัวเข่า เพราะเมื่อดิฉันอ่านจากนิยามที่อาจารย์เปลื้อง ณ นคร กล่าวไว้ ดูจะตรงกับที่ย่านวลบอกพ่อล้อม เพ็งแก้วไว้ตั้งแต่ ๗๐ กว่าปีก่อน ไม่ต่างกันเลย

ม่าเหมี่ยวในงานศิลปะ

เมื่อดิฉันมาทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัวตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา ก็ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะดูงานปูนปั้นตามวัด งานแกะสลัก งานประติมากรรมตามปราสาทหิน งานประติมากรรมพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และจะต้องอ่านจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วิหาร คอสองศาลาการเปรียญตามวัดต่าง ๆ ในสมุดไทยทั่วทุกภูมิภาคของไทย ให้เข้าใจ-รู้เรื่องให้ได้

เมื่อลงพื้นที่ดูวัดในเขตเมืองกรุงเทพฯ-ธนบุรี ภาคกลางภาคตะวันตก เชียงใหม่ ลาว ดิฉันก็ได้พบ “สหายเก่า” ม่าเหมี่ยว แทรกอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ทศชาติ และมหาชาติเวสสันดรชาดก เขียนขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ อยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีม่าเหมี่ยวปูนปั้นปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งดิฉันได้ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๔๐ เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ 

Image


จิตรกรรมม่าเหมี่ยวในสมุดภาพไตรภูมิ เลขที่ ๑๐/ก
ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒

ม่าเหมี่ยวธนบุรี

ม่าเหมี่ยวในหลักฐานเก่าแก่สุดที่หาพบได้ในตอนนี้ คือจากสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐/ก 

สมุดภาพเล่มนี้ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) มอบให้หอพระสมุด เมื่อปี ๒๔๔๓ และอายุเวลาของสมุดไทยขาวฉบับนี้มีระบุไว้ในหนังสือ สมุดภาพไตรภูมิฉบับ กรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒ ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๒ ว่า

“เมื่อพิจารณาจากประวัติความเป็นมา สภาพของเอกสารและอักขรวิธีที่ปรากฏในเล่มแล้ว เชื่อว่าเอกสารเล่มนี้น่าจะจำลองขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔”

ในสมุดภาพไตรภูมิเล่มคัดลอกจากสมัยธนบุรีนี้ มีจิตรกรรมโบราณที่ทางเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติให้คำอธิบายใต้ภาพไว้ในการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๔๒ ว่า “แผนที่โบราณ : แสดงภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ และคนป่าในป่าหิมพานต์” (ภาพที่ ๑)

“คนป่า” หญิงชายนุ่งใบไม้ ผู้หญิงผมฟูเปลือยนม ผู้ชายมีหนวดเครา ไว้ผมเปียแบบเจ๊กจีน ชี้นิ้วไปยังวัวป่าสีเข้มยืนข้างโขดหิน  เรารู้จักชื่อ-นามจากวรรณคดียุคต้นรัตนโกสินทร์ว่าคือ “ม่าเหมี่ยว” ทั้งสองคนมองเห็นหัวเข่าไม่มีลูกสะบ้า ในขณะที่คน เทวดา ผี เปรต กินรี ที่วาดไว้ในสมุดไทยเล่มนี้ต่างมีลูกสะบ้าหัวเข่าทั้งนั้น

ที่ดูพิกลอีกอย่างหนึ่งก็คือ หน้าตาหนุ่มม่าเหมี่ยวเหมือนจะวิตกกังวล แต่สาวม่าเหมี่ยวออกอาการรื่นรมย์ใจดี

อย่างน้อยคนป่าม่าเหมี่ยวอายุเวลาเก่าแก่สุดคู่นี้ ก็บอกคุณลักษณะของเขาเป็นพื้นฐานกับเราไว้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า ม่าเหมี่ยวยุคธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ เขาอยู่เป็นคู่หญิง-ชายในป่าหิมพานต์ นุ่งใบไม้ ไม่มีสะบ้าหัวเข่า เดินเทิ่ง ๆ ไปมาในหมู่ต้นไม้ โขดเขา ส่ำสัตว์นานา

ทีนี้มาว่าด้วยประติมากรรมม่าเหมี่ยวกันบ้าง

กลางปี ๒๕๔๐ ช่วงลงทำงานภาคสนามที่วัดไทร ริมคลองสนามชัย ย่านบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี ดิฉันได้พบวิหารวัดไทร มีหน้าบันเป็นลายพรรณพฤกษาดอกพุดตาน สวย น่ารัก  ที่เด่นมากคือ ในหมู่ต้นไม้ มีม่าเหมี่ยวชายโอบม่าเหมี่ยวหญิงที่กำลังถือผลไม้ลูกเบ้อเริ่ม (ภาพที่ ๒) ม่าเหมี่ยวสองคนเคียงคู่นี้ นวยนาดรื่นรมย์อยู่กับลายปูนปั้นหน้าบันวิหารวัดไทรมาเป็น ๑๐๐-๒๐๐ ปีแล้วกระมัง ดูอายุน่าจะยุคปลายอยุธยา-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 

Image


ม่าเหมี่ยวปูนปั้น หน้าบันวิหารวัดไทร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ถ่ายเมื่อปี ๒๕๔๑

ดิฉันถ่ายรูปคุณทวดม่าเหมี่ยวปูนปั้นคู่นี้มาด้วยความปลาบปลื้ม เพราะไม่เคยเห็นปูนปั้นม่าเหมี่ยวที่ไหนเช่นนี้มาก่อน และเป็นม่าเหมี่ยวอยู่สูงสุดที่เคยเห็น เพราะเหมือนเหาะขึ้นไปประดับอยู่บนหน้าบันวิหาร

คราวนี้มาว่าด้วยจิตรกรรมม่าเหมี่ยวของเมืองธนบุรีกันบ้าง

ม่าเหมี่ยววัดราชสิทธาราม (ภาพที่ ๓) เป็นจิตรกรรมอายุเวลาประมาณสมัยรัชกาลที่ ๑-๒  คุณทวดม่าเหมี่ยวในภาพชุดนี้ยังไม่นุ่งใบไม้ แก้ผ้าล่อนจ้อน เดินเทิ่ง ๆ อยู่ในป่า สาวม่าเหมี่ยวเดินแบกขนุน รับภาระหนัก ส่วนหนุ่มม่าเหมี่ยวเดินหัวเราะเบิกบาน  งานหนักเป็นของผู้หญิงเลยนะนี่ ช่างบันทึกความจริงทางสังคมซ่อนไว้ชวนให้กระตุกคิด เพราะในยุคสังคมที่ไพร่ชายต้องเข้าเดือนออกเดือน ไปทำงานอยู่กับนาย งานบ้านงานจัดการในครอบครัวผู้หญิงไทยต้องทำ ต้องรับผิดชอบ วางแผนจัดการแทบทั้งหมด

การเขียนภาพม่าเหมี่ยวไว้ในจิตรกรรมฝาผนัง  ดิฉันมีความเห็นว่าน่าจะเป็นการแบ่งเขต บ่งชี้ให้ได้ดูได้รู้ว่า ป่าเขตที่ม่าเหมี่ยวโผล่ตัวโผล่หน้าออกมาเป็นป่าลึก เพราะในจิตรกรรมจะเขียนต้นไม้ ป่า ภูเขาไว้มาก ดูยากว่าเขตไหนป่าลึกเขตไหนป่าโปร่ง  หากป่าใดในจิตรกรรมมีม่าเหมี่ยวโผล่มา ที่ตรงนั้นย่อมเป็นป่าลึก ลึกลับ ยากจะเข้าถึง มีเพียงม่าเหมี่ยวและพวกสัตว์หิมพานต์เท่านั้นสามารถอยู่อาศัยในป่าดิบดงลึกขนาดนั้นได้

Image


ม่าเหมี่ยวไม่นุ่งใบไม้ จิตรกรรมฝาผนังวัดราชสิทธาราม ธนบุรี กรุงเทพฯ ถ่ายเมื่อปี ๒๕๔๑

ม่าเหมี่ยวยุคถัดมา คือม่าเหมี่ยววัดดาวดึงษาราม จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดนี้เป็นเรื่องพระมโหสถ ฝีมือหลวงเสนีย์บริรักษ์ ครูคงแป๊ะ จิตรกรเชื้อสายจีนสมัยรัชกาลที่ ๓ ม่าเหมี่ยวของครูคงแป๊ะทั้งคู่นุ่งใบไม้ ดูแล้วยังไม่มีสะบ้าหัวเข่า ยืนขาเหยียดตรงอ้อร้อคุยกันอยู่บนโขดหิน

ถัดมาคือม่าเหมี่ยววัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง (คลองชักพระ) ธนบุรี ราวปลายรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๔ หนุ่มสาวม่าเหมี่ยวนุ่งใบไม้ เห็นชัดว่าใบเบ้อเริ่ม คล้าย ๆ พวกใบพลวง ใบสัก  ภาพเขียนม่าเหมี่ยววัดกำแพงหลุดล่อน เหลือไม่ครบหัว ไม่ครบตัว เห็นนมยานเป็นร่องรอยว่านี้คือม่าเหมี่ยวสาวยืนเคียงม่าเหมี่ยวหนุ่ม

ในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ยังมีภาพม่าเหมี่ยวอยู่อีกที่วัดทองธรรมชาติ ริมน้ำเจ้าพระยา แถบคลองสาน ฝั่งธนบุรี พุทธสถานแห่งนี้เป็นวัดสำคัญมาตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการบูรณะขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ มีการเขียนจิตรกรรมขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นภาพพุทธประวัติอันมีที่มาจากปฐมสมโพธิกถา ซึ่งในภาพชุดนี้ก็ได้มีหนุ่มม่าเหมี่ยวฉุดมือสาวม่าเหมี่ยวที่ล้มนอนตะแคงเค้เก้อยู่ในป่าริมโขดเขาข้างบึงบัว

สองม่าเหมี่ยววัดทองธรรมชาติดึงลากทุลักทุเลยามล้ม ลุกด้วยตัวเองลำบาก เพราะในภาพปรากฏชัดว่าม่าเหมี่ยวทั้งคู่ไม่มีลูกสะบ้า

ถัดจากวัดทองธรรมชาติไปไม่ไกล คือวัดทองนพคุณที่มีจิตรกรรมงามเขียนไว้เป็นฝีมือครูช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ กล่าวว่าของดีในพระอุโบสถคือภาพเขียนบนผนังทั้งสี่ด้านนี้ ท่านสมภารวัดชื่อพระครูกสิณสังวร ผู้เป็นศิษย์ของขรัวอินโข่ง เขียนภาพทั้งหมดนี้ไว้ มีการจัดภาพและใช้สีงามแปลกตามาก


ม่าเหมี่ยววัดนายโรง  ธนบุรี กรุงเทพฯ ถ่ายเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒

ในมุมเล็ก ๆ แทบจะลับตา พ่อ แม่ ลูก ม่าเหมี่ยววัดทองนพคุณก็ใช้ชีวิตเรื่อย ๆ อยู่ในดงป่า คนแม่ถือผลไม้หรือช่อดอกไม้อะไรสักอย่าง กำลังชี้ให้ลูกม่าเหมี่ยวหันไปดูพ่อม่าเหมี่ยวที่ยืนเกาะยืนดันโขดหินอยู่ไม่ห่าง  เป็นครอบครัวม่าเหมี่ยวที่อยู่กันไป ทำสิ่งชอบ ๆ ไป ในขณะที่โลกรอบ ๆ ตัว พวกเขาในภาพชุดเดียวกันก็อลเวงกันไป พวกเขายังคงใช้ชีวิตในป่าลึก...ที่มุมภาพมาอย่างเงียบเชียบจนถึงบัดนี้

วัดฝั่งธนฯ ยังมีม่าเหมี่ยวภาพเด็ดมาก ๆ อยู่ที่โบสถ์
วัดนายโรง (ภาพที่ ๔) แทรกอยู่ในจิตรกรรมทศชาติชาดก อายุเวลาประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นภาพครอบครัวม่าเหมี่ยวมากันครบทั้งพ่อ-แม่-ลูก  พ่อแม่ม่าเหมี่ยวแบกแตงโมมาคนละลูก เป็นแตงโมลักษณะเดียวกับที่ดิฉันเคยกินตอนเด็ก ๆ คือลูกโตรี เปลือกสีเขียวอ่อน มีลายยาวเป็นเส้น ผ่าเข้าไปเนื้อแดงก่ำ เม็ดโตสีน้ำตาลเข้มออกดำ

ตอนถ่ายภาพม่าเหมี่ยววัดนายโรงมานั้น ดิฉันมองไม่ค่อยเห็นรายละเอียดอะไรมากนัก เพราะในโบสถ์วัดนายโรงแสงสลัวมัวซัวมาก เพียงแต่แปลกใจ...พ่อม่าเหมี่ยวซึ่งกำลังและเล็มแตงโมอย่างเพลินอารมณ์ ไยต้องเอามือปิดตาลูกน้อยม่าเหมี่ยวไว้ให้มิดชิดด้วย แตงโมมีปัญหาอะไร ผิดปรกติตรงไหน

พอกลับมาเปิดภาพครอบครัวม่าเหมี่ยววัดนายโรงขยายดูเต็มจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ดิฉันถึงกับผงะ ไม่รู้คุณแม่-คุณพ่อม่าเหมี่ยวจะขี้เกียจร้อยใบไม้มานุ่งกันอุจาดแล้วรึไง ถึงได้ทำตัวอะร้าอร่ามขนาดนั้น  ครูช่างยุครัชกาลที่ ๔ เขียนภาพนี้ไว้ได้ทะลึ่งทะเล้นเหนือบรรยาย ทั้งยังลงสีแตงโมซะแดงโร่ ให้ดูแล้วชวนสะดุ้งเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อตัวบางส่วนของพ่อม่าเหมี่ยวที่พอจะประชันกันได้ จนต้องแก้ปัญหาไม่ให้อุจาดสายตาด้วยการปิดตาลูกน้อยซะ 


ม่าเหมี่ยววัดเปาโรหิตย์  ธนบุรี กรุงเทพฯ ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๓

ในโบสถ์วัดเปาโรหิตย์ ฝั่งธนบุรี ด้านหลังพระประธาน ดิฉันได้พบม่าเหมี่ยวร่างผอมสูงนุ่งใบไม้ เดินอยู่ข้างโขดเขา (ภาพที่ ๕) หญิงเปลือยอกผิวขาว ชายผิวคล้ำ ทั้งคู่นุ่งใบไม้ ขาเหยียดตรงไม่มีสะบ้าหัวเข่า สูงขึ้นไปมีนกอรหันผมกระเซิงคู่หนึ่งชำเลืองแลตาเยิ้มจีบกันอยู่

ช่างเขียนจิตรกรรมวัดเปาโรหิตย์เขียนภาพแขนขวาม่าเหมี่ยวชายให้ไขว้แขนซ้ายของม่าเหมี่ยวหญิงไว้ประหลาดมาก ดูงอข้อมืออย่างพิกล เห็นแล้วสงสัยว่ามนุษย์ปรกติเขาทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ

ม่าเหมี่ยวกรุงเทพฯ

ขยับมาฝั่งกรุงเทพฯ เข้าไปที่พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม งานจิตรกรรมฝาผนังที่นี่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และมีการเขียนซ่อมช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ดิฉันได้เข้าไปกราบพระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงหลายครั้ง และได้เดินชมผลงานจิตรกรรมของครูช่างโบราณอย่างลุ่มหลงรื่นรมย์ใจยิ่ง และแน่นอนดิฉันได้พบ “ครอบครัวม่าเหมี่ยว” พ่อแม่ลูกสองคนอยู่ในดงไม้ ที่เมื่อปรากฏม่าเหมี่ยวแล้วที่นั้นย่อมเป็นป่าลึก (ภาพที่ ๖) ที่พิเศษยิ่งคือครูช่างเขียนใบไม้ให้แม่ม่าเหมี่ยวนุ่งปิดไม่มิดทุกอวัยวะ และมีลูกม่าเหมี่ยวยืนงอขาตะกายแม่อยู่ อันบ่งชี้ให้เห็นว่าม่าเหมี่ยวต้องมีลูกสะบ้าแน่นอนจึงสามารถงอขาได้

ดังนั้นที่พจนานุกรมฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ว่าม่าเหมี่ยวไม่มีลูกสะบ้า จึงมีหลักฐานขัดแย้งปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในจิตรกรรมม่าเหมี่ยวซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่วัดสุทัศน์นี้เอง

ม่าเหมี่ยวในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ยังมีปรากฏอยู่อีกภาพ หนุ่มสาวม่าเหมี่ยวนุ่งใบไม้สีทองลายดำสวยเช้ง มีใบไม้ร้อยประดับเหมือนเป็นกำไลข้อมือข้อเท้า และสวมคอไว้งดงาม  หนุ่มม่าเหมี่ยวผิวคล้ำถือไม้เท้า ส่วนสาวม่าเหมี่ยวผิวผ่องผมเรียบสวย เธออุ้มถุงสมบัติประมาณถุงเงินถุงทองเดินอยู่ในป่า ดูท่าคู่นี้จะเป็นม่าเหมี่ยวระดับเจ้าคนนายคน ไม่ใช่ม่าเหมี่ยวบ้าน ๆ อย่างที่มีลูกน้อยตะกายแม่ม่าเหมี่ยวหัวยุ่งหย็องที่เขียนไว้ไม่ไกลกันนัก

ในยุคสมัยถัดมา วัดหลวงฝั่งกรุงเทพฯ ยังมีการเขียนภาพม่าเหมี่ยวไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่วิหารพระศาสดา 

จิตรกรรมฝาผนังที่นี่เขียนไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ดิฉันไปเดินส่องอยู่หลายรอบ ได้เห็นม่าเหมี่ยวโผล่ออกมาจากแนวป่าลึก ทั้งคู่นุ่งใบไม้เครื่องแต่งกายประจำตัว (ภาพที่ ๗) จิตรกรเขียนให้ม่าเหมี่ยวชายผิวคล้ำหันหลังโอบม่าเหมี่ยวหญิงผิวผ่องโชว์นมกลมบ๊อกยืนอยู่ริมดงไม้  ต้นไม้ที่เห็นมีระยะใกล้ไกลมองลึกเข้าไปได้ อย่างที่เรียกว่าเป็นจิตรกรรมซึ่งได้อิทธิพลจากศิลปะตะวันตก


ม่าเหมี่ยว วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ 
ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

Image


ม่าเหมี่ยววัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพฯ ถ่ายเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒

ม่าเหมี่ยวภาคกลาง

ความที่ดิฉันหลงรักม่าเหมี่ยว บ้าม่าเหมี่ยว รวบรวมภาพและเรื่องราวม่าเหมี่ยวมาจากทุกแห่งหนเท่าที่จะหาได้ กัลยาณมิตรที่รู้จริต รู้ทางของดิฉัน ก็มักสงเคราะห์-อนุเคราะห์ช่วยให้ภาพให้ข้อมูลที่ดิฉันรักและบ้าไม่เลิก-อยู่สม่ำเสมอ  

เมื่อพี่เอนก นาวิกมูล ไปลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรี
อยุธยา ได้กรุณาอนุเคราะห์ถ่ายภาพจิตรกรรมม่าเหมี่ยวในโบสถ์วัดม่วง อำเภอบางปะหัน ส่งมาให้  ม่าเหมี่ยวคู่นี้ยืนอยู่ใต้ภาพเขาพระสุเมรุ บริเวณผนังด้านสกัดหลังพระประธาน (ภาพเปิดเรื่อง) ให้อิ่มใจว่าอยุธยาเมืองหลวงเก่าของเราก็มีม่าเหมี่ยว 

Image

พี่เอนกเขียนบอกสั้น ๆ ว่า ม่าเหมี่ยวคู่นี้นายเสงวาดไว้เมื่อปี ๒๔๔๔ 

ม่าเหมี่ยววัดม่วง บางปะหัน ก็ออกอาการเช่นเดียวกับม่าเหมี่ยววัดอื่น ๆ คือม่าเหมี่ยวสาวรับภาระเป็นคนแบกผลไม้ เธอหน้าบูดงอง้ำ ส่วนม่าเหมี่ยวชายก็โอ้โลมปฏิโลมเข้าไปโอบไหล่ฉุดแขนเหมือนง้อไม่เลิก แต่ที่แน่ ๆ ม่าเหมี่ยววัดม่วงคงต้องมีลูกสะบ้าหัวเข่า เพราะนายเสงวาดแนวกล้ามเนื้อขาเข่าให้เห็นเป็นรอยริ้วไว้ เหมือนมนุษย์ปรกติที่มีลูกสะบ้าหัวเข่า

เรื่องของม่าเหมี่ยวกับกัลยาณมิตรยังมีอีกกรณีคือ ผศ. ฟ้อน เปรมพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้ถ่ายภาพม่าเหมี่ยวในจิตรกรรมฝาผนังวัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ส่งมาให้ดิฉัน (ภาพที่ ๘)

จิตรกรรมวัดสมุห์เขียนขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ ราวปี ๒๔๐๐ เล่าเรื่องประเพณีชีวิตชาวไทยวนสระบุรี ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีม่าเหมี่ยวร่วมชีวิตร่วมวัฒนธรรมมาด้วยกัน  ม่าเหมี่ยววัดสมุห์เที่ยวท่องอยู่ริมป่า ทั้งคู่ยืนเข่าแข้งเหยียดตรงเพะ ม่าเหมี่ยวชายผิวคล้ำก้มหน้าขณะใช้มือขวาชี้ให้ม่าเหมี่ยวสาวผิวผ่องแหงนดูอะไรสักอย่าง ส่วนมือซ้ายของม่าเหมี่ยวชายกลับล้วงไปใต้ใบไม้ที่นุ่งอยู่ 

ที่ฝาผนังวัดโบสถ์ ริมน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ก็มีจิตรกรรมม่าเหมี่ยวอยู่ เขียนขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เห็นม่าเหมี่ยวหญิงชายดูเหมือนอายุอ่อนเยาว์วัยสะรุ่นยืนหน้าจิ้มลิ้มอยู่สองคนที่ชายป่า และเหมือนกับภาพม่าเหมี่ยวอื่น ๆ ที่ดูแล้วชวนงง คือต่างฝ่ายต่างชี้นิ้วไปคนละทาง 

Image


ม่าเหมี่ยว วัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

เห็นแล้วนึกไม่ออก อะไรเป็นเหตุให้จิตรกรพากันเขียนภาพบรรดาม่าเหมี่ยวตามวัดต่าง ๆ ให้มองไปคนละทิศ ชี้ไปคนละทาง  ภาพคนละทิศละทางเช่นนี้ต้องการสื่อถึงอะไร ? ต้องการบอกเล่าเรื่องใดกันแน่ ? ดูพิกลมาก ๆ 

ยังมีภาพม่าเหมี่ยวที่น่าสนใจอยู่อีกที่วัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ 

วัดกิ่งแก้วมีภาพม่าเหมี่ยวหญิงชายนุ่งใบไม้ ถือถัง ถือหอก ไต่โขดผา บ่งบอกว่าม่าเหมี่ยวยุคนี้ล่าสัตว์เก็บของป่า เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน และม่าเหมี่ยวต้องมีสะบ้าหัวเข่าแน่ ๆ ถึงป่ายปีนที่สูงได้ (ภาพที่ ๙)

จิตรกรรมวัดกิ่งแก้วเขียนขึ้นสมัยปลายรัชกาลที่ ๖ เล่าเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก พระมาลัยโปรดสัตว์ ฤๅษีดัดตน และมีภาพน่ารัก ๆ ร่วมสมัยในชุมชนชาวบ้านไทยอยู่หลากหลาย ประเภทเจ๊กลากรถเข็น อาแปะหาบของขาย เทวดาสีไวโอลิน แต่ถึงกระนั้นในภาพร่วมสมัยชุดนี้ ยังมีภาพม่าเหมี่ยวที่เคยเดินอยู่ในป่าหิมพานต์ตั้งแต่ยุคธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์ เข้ามาร่วมสังฆกรรมอยู่ด้วย แต่ร่วมสมัยโลกในยุครัชกาลที่ ๖ ด้วยการสวมหมวกขนนกแบบอินเดียนแดง

ม่าเหมี่ยววัดกิ่งแก้วนี้พิเศษมาก หนุ่มม่าเหมี่ยวประดับหัวด้วยแผงขนนกเหมือนกับพวกอินเดียนแดง ขณะกำลังเงื้อหอก ล่ากวางด้วยลีลาเหมือนพวกอินเดียนแดงด้วย ขณะที่ม่าเหมี่ยวตามวัดอื่น ๆ มีแต่ถือลูกขนุน เก็บผลไม้กิน ลากหางตะกวดก็พอมีบ้าง แต่ชนิดเงื้อหอกล่าสัตว์นี้ได้เห็นอยู่เพียงในจิตรกรรมวัดกิ่งแก้วเท่านั้น


ม่าเหมี่ยว จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ
ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

ดิฉันส่งภาพหนุ่มม่าเหมี่ยวสวมหมวกขนนกไปให้พี่เอนก นาวิกมูล ช่วยดู  พี่เอนกตอบมาว่าจิตรกรรมหนุ่มสวมหมวกขนนกเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๖ เช่นนี้ยังมีอยู่ในภาพมารผจญหลังพระประธานในโบสถ์วัดตะล่อม ฝั่งธนบุรี

อินเดียนแดงวัดตะล่อมที่เขียนขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงต้นรัชกาลที่ ๗ เป็นหนึ่งในฝูงชนนานาเผ่าพันธุ์ของกองทัพพญามาร ดังที่จิตรกรไทยโบราณนิยมเขียนฝรั่ง เจ๊ก จีน กะเหรี่ยง ยักษ์ คนนอกพุทธศาสนาไว้ในกองทัพมารอย่างเป็นปรกติมาหลายร้อยปีแล้ว

เห็นดิฉันสนใจเรื่องม่าเหมี่ยวมาก หลงรักม่าเหมี่ยว บ้าม่าเหมี่ยวถึงขนาด พี่เอนกก็เลยอนุเคราะห์ส่งภาพม่าเหมี่ยวที่ค้นเจอมาให้เรื่อย ๆ

ภาพล่าสุดที่เพิ่งส่งมาให้ดิฉันคือภาพม่าเหมี่ยวสามคน ล้มลุกคลุกคลานอยู่ที่ผนังโบสถ์วัดหนองโนเหนือ อำเภอเมือง สระบุรี จังหวัดสระบุรี (ภาพที่ ๑๐) ม่าเหมี่ยวสามคนของที่นี่ น่าจะเป็นชายแก่ แม่เฒ่า (นมยาน) กับสาวน้อย (นมกลม) หล่อนถูกชายแก่ดึงแขน ฉุดรั้งขาเหยียดชี้ บ่งชัดว่าทั้งสามคนนี้เป็นม่าเหมี่ยวที่หัวเข่าไม่มีลูกสะบ้า  ไม่แน่ใจนักว่าเป็นพ่อดึงแขนลูกสาว หรือชายเฒ่าฉุดสาวไปทำเมีย เพราะภาพวาดไว้พิกลมาก

ข้ามจากสระบุรีมาทางฝั่งตะวันออก ดิฉันเพิ่งไปวัดไผ่-ล้อม จังหวัดจันทบุรี มาเมื่อต้นปี ๒๕๖๓ เข้าไปดูจิตรกรรมในพระอุโบสถหลังเก่า จิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพพุทธ-ประวัติและทศชาติชาดก สีงามนุ่ม ดูแล้วน่าจะเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ยืนดูเพลิดเพลินสักพัก ก็ได้พบกับคนรักของดิฉัน นั่นคือม่าเหมี่ยว (ภาพที่ ๑๑)

จิตรกรรมม่าเหมี่ยววัดไผ่ล้อมเมืองจันทบุรีโทนสีนิ่มนวลดีแท้ หนุ่มถือช่อดอกไม้จูงมือสาวอ้อยอิ่งชมป่า ไม่ไกลนักยังมีกวาง “ย่างเยื้องชำเลืองเดิน”

๑๐
ม่าเหมี่ยววัดหนองโนเหนือ จังหวัดสระบุรี 
ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมไทยประเพณี โดย วรรณิภา ณ สงขลา

Image

Image

๑๑
ม่าเหมี่ยววัดไผ่ล้อม จังหวัดจันทบุรี ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓

ม่าเหมี่ยวภาคตะวันตก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดิฉันบ้าไม่เลิกเรื่องม่าเหมี่ยว ไปดูจิตรกรรมวัดไหน ๆ จะคอยจดจ้องสืบเสาะค้นหาม่าเหมี่ยวอยู่เสมอ วันไหนพอปลีกตัวได้ดิฉันก็จะไปวัด ไปคุยกับพระ ขอหลวงพ่อหลวงพี่ให้ท่านช่วยเปิดโบสถ์ อนุญาตให้กราบพระงาม ให้ชมจิตรกรรมฝาผนังวัดต่าง ๆ ด้วยเถิด

ไปวัดหน่อพุทธางกูร เมืองสุพรรณบุรี ดิฉันได้เข้าโบสถ์ไปชมจิตรกรรมงามบรรเจิด เขียนมาตั้งแต่สมัยประมาณรัชกาลที่ ๓  เข้าไปเดินจด ๆ จ้อง ๆ ดูจิตรกรรมพุทธประวัติอันเป็น “ภาพแก่น” แสดงเนื้อหาหลัก  แต่ความสนใจของดิฉันมักไปอยู่กับภาพชีวิตชาวบ้านอันเป็น “ภาพกาก” แสนระทึกอารมณ์ที่ครูช่างเขียนแทรกไว้ตามมุมต่าง ๆ เพียงกวาดตาผ่านไปวาบ ๆ ก็ได้พบหนุ่มสาวม่าเหมี่ยวยืนบนโขดผา ชำเลืองมองหนุ่มกินนรจับนมสาวกินรี แสนจะประเจิดประเจ้อดีแท้ (ภาพที่ ๑๒)

จิตรกรรมวัดหน่อพุทธางกูรนี้เป็นฝีมือของช่างลาวเวียงจันทน์ชื่อ “คำ” ช่างคำถูกกวาดต้อนมาในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่างคำมาอยู่ในกรุงเทพฯ ความที่เป็นช่างเขียนมาแต่เดิมจึงถูกเกณฑ์ให้ไปเขียนภาพจิตรกรรมวัดสุทัศน์  จบงานนี้ช่างคำตระเวนตามหาญาติพี่น้องของตนที่มาจากเวียงจันทน์ด้วยกัน จนสืบทราบว่ากระจัดพลัดพรายมาอยู่ไกลถึงเมืองสุพรรณฯ  ช่างคำติดตามมาจนได้พบกัน และได้มาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน่อพุทธางกูร มีช่างเทศที่เป็นลูกเขยมาช่วยเขียนภาพด้วยอีกคนหนึ่ง เมื่อเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรเสร็จแล้ว ช่างคำยังได้ไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่โบสถ์วัดประตูสาร ตำบลรั้วใหญ่ กลางเมืองสุพรรณบุรีอีกด้วย

Image

๑๒
ม่าเหมี่ยววัดหน่อพุทธางกูร จังหวัดสุพรรณบุรี
ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐

ผนังข้างพระประธานวัดประตูสารมีภาพชาวบ้านนั่งอึกลางป่า กะเหรี่ยงลุยป่าก็มี ลาวแบกบั้งไฟเตรียมจุดงานศพก็ด้วย เจ๊กจุดประทัดเป็นแผง ๆ รังควานสมาธิพราหมณ์ก็ยังเขียนไว้ จิตรกรรมคนต้มข้าว สูบกัญชาก็ไม่พลาดที่จะบันทึกไว้ นานาสารพัด ดูกันสนุกมาก ๆ  และที่ดิฉันตามหามาแอบซุกอยู่ตรงประตูทางเข้าโบสถ์ก็คือภาพม่าเหมี่ยว (ภาพที่ ๑๓)

หนุ่มม่าเหมี่ยวนั่งเหยียดขาตรงแน่ว ฉุดมือสาวม่าเหมี่ยว โอ้โลมกันน่ารัก ด้านซ้ายของสองม่าเหมี่ยวมีนกกระเต็นเอียงคอฉอเลาะเกาะกิ่งไม้อยู่เคียงใกล้

ดิฉันถ่ายภาพนี้มาเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ แต่ไปดูอีกครั้งเมื่อช่วงคริสต์มาสของปี ๒๕๖๒ สีเริ่มหม่นมัวไปมาก หากหนุ่มม่าเหมี่ยวก็ยังตาหวานปรอยอ้อยส้อยฉุดมือสาวร่วมเผ่าพันธุ์ไม่มีวันปล่อยอยู่เช่นเดิม

ไม่ไกลจากเมืองสุพรรณฯ ดิฉันสำรวจต่อไปที่จังหวัดกาญจนบุรี ถ้าจะดูจิตรกรรมงามสุดยอดของเมืองกาญจน์ ต้องไปดูที่วัดเทวสังฆาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเหนือ” วัดเหนือเป็นวัดเก่าแก่โบราณอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าขุนเณร ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “สมภารเสี่ยง” เป็นผู้สร้างวัดเหนือ และได้มีการสร้างพระอุโบสถใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับได้มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังในช่วงประมาณปี ๒๔๓๕ เล่าเรื่องราวพุทธประวัติไว้อย่างงดงาม  หากภาพเด็ดยิ่ง ๆ ที่ได้พบก็คือคุณ “ม่าเหมี่ยว” สามคู่ชู้ชมเบียดแทรกอยู่ในภาพพุทธประวัติ 

๑๓
ม่าเหมี่ยววัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี 
ถ่ายเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ม่าเหมี่ยวคู่แรกนั้นน่ารักมาก หนุ่มม่าเหมี่ยวยืนพิงโขดผาถือช่อดอกไม้หรือลูกไม้สีแดง ๆ ไปฝาก สาวม่าเหมี่ยวยืนอ้อยอิ่งชม้ายตา ยื่นมือมารับ ดวงหน้าอาบอารมณ์ละมุนละไม (ภาพที่ ๑๔)

จากนั้นถัดไปยังผนังอีกฟาก ดูแล้วพิจารณาไม่ถูกว่าเป็นม่าเหมี่ยวคู่เดิมหรือไม่ แต่หนุ่มสาวม่าเหมี่ยวทำในสิ่งชอบ ๆ อยู่ชายป่า เขาคงไม่คิดว่าประเจิดประเจ้ออะไร เหมือนจะด่าเอาด้วยซ้ำว่าอีพวกตาผี มาเล็งแล มาแอบดูชีวิตส่วนตัวของเขา อุตส่าห์หลบไปทำสิ่งชอบ ๆ อยู่ในป่าลึก ดันมีคนทะลึ่งไปแอบดูเขาได้

จากนั้นหนุ่มสาวม่าเหมี่ยวคู่นี้คงเริ่มตั้งครอบครัวแล้วกระมัง เขาอยู่ด้วยกัน ช่วยเก็บหาของป่า ล่าสัตว์มาเป็นภักษาหาร จึงได้แบกลูกขนุนหรือทุเรียนอะไรสักอย่าง กับลากหางตัวเหี้ยไปเป็นอาหาร 

ภาพม่าเหมี่ยววัดเหนือยังเป็นหลักฐานยืนยันอย่างหนักแน่นถึงการที่พจนานุกรมภาษาไทยหลายฉบับบอกไว้ว่าม่าเหมี่ยวไม่มีสะบ้าเข่านั้นไม่เป็นความจริง ม่าเหมี่ยววัดเหนือมีสะบ้าเข่าแน่ หากอยากจะงอเข่าเพื่อทำกิจกรรมชอบ ๆ ม่าเหมี่ยววัดเหนือก็งอเข่าได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่มีเก้อเขินแข้งขัดใด ๆ

๑๔
ม่าเหมี่ยววัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี 
ถ่ายเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๒

ความที่จดจ้องสืบเสาะภาพม่าเหมี่ยวไม่ละไม่เลิก ทำให้ดิฉันยิ่งมุ่งมั่นค้นหาม่าเหมี่ยวในจิตรกรรมไทยตามวัดเมืองเพชรบุรีบ้านเกิด หาแล้วหาอีก สอดส่องจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วิหารเมืองเพชรฯ อยู่หลายปีไม่เคยพบ จนเกือบแทงบัญชีสูญไปแล้ว  จนเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ดิฉันได้ไปดูจิตรกรรมบริเวณคอสองศาลาการเปรียญวัดเกาะแก้วสุทธาราม ความที่ไม่เคยคาดหวังใด ๆ มาก่อนเลยได้ดีใจสุดขีด  ดิฉันได้พบหนุ่มสาวม่าเหมี่ยวเนื้อตัวสีสด ท่วงท่ากระปรี้กระเปร่า เขียนไว้แจ่มใสน่ารัก เดินอยู่ริมโขดหินในป่าลึก ม่าเหมี่ยวหนุ่มแบกท่อนไม้ ม่าเหมี่ยวสาวเดินหิ้วผลไม้สำราญอารมณ์ ไม่มีระมัดระวังไอ้เสือโคร่งสองตัวที่ซุ่มคอยงาบ เตรียมลากไปกินอยู่ตรงโขดเขาเขิน (ภาพที่ ๑๕)

ศาลาวัดเกาะเคยมีตัวเลขจารึกไว้ตรงขอบประตูว่าสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๔๓๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ (แต่ตอนนี้เลือนหายไปหมดแล้ว) ส่วนจิตรกรรมคอสองในศาลาที่เขียนเรื่องปฐมสมโพธินั้น เป็นผลงานของครูช่างใหญ่เมืองเพชรฯ ยุคนั้นสองท่าน คือ พ่อละมุด และครูหวน ตาลวันนา (๒๔๐๔-๒๔๙๕)

ภาพม่าเหมี่ยวเมืองเพชรฯ ที่ศาลาวัดเกาะจึงน่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะเป็นฝีมือครูช่างคนไหนในสองท่านนี้ ไม่มีระบุไว้ แต่ดูแล้วเป็นภาพม่าเหมี่ยววัดเกาะที่ยังสวยสมบูรณ์อยู่มาก และทำให้ดิฉันโล่งใจยิ่งที่เมืองเพชรบุรี บ้านเกิด ดินแดนแห่งจิตรกรรมฝาผนังโบราณงามสุด ๆ แห่งหนึ่งของเมืองไทย ไม่พลาดที่จิตรกรเมืองเพชรฯ ได้เขียนรูปคนป่าม่าเหมี่ยวเป็นหลักฐานสำคัญเหลือไว้ให้

๑๕
ม่าเหมี่ยวศาลาการเปรียญ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี 
ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ม่าเหมี่ยว
เชียงใหม่-ลาว

ทางเหนือก็มีม่าเหมี่ยวด้วยเช่นกัน

ประมาณปี ๒๕๕๗ ดิฉันได้เข้าไปชมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจิตรกรรมโดดเด่นมาก เขียนไว้ในช่วงรัชสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (๒๓๙๙-๒๔๑๓) หรือประมาณรัชกาลที่ ๔ เป็นฝีมือสล่าครูช่างสองท่าน คือ เจ๊กเส็ง และหนานโปตา

สล่าสองท่านนี้ เจ้ามหาชีวิตเชียงใหม่ได้ส่งไปศึกษาดูงานจิตรกรรมชั้นเยี่ยมของกรุงสยามที่วัดพระแก้ว วัดสุทัศน์ วัดโพธิ์ เมืองกรุงเทพฯ และยังได้ไปดูงานศิลปะงดงามถึงกรุงอังวะ ผลงานของสองสล่านี้จึงมีกลิ่นอายขนบจารีตศิลปะไทยภาคกลางเจือผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ด้วย

อันที่จริงดิฉันไปชมจิตรกรรมที่วิหารลายคำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  ในปี ๒๕๕๗ ดิฉันก็ไปชมจิตรกรรมวิหารลายคำอย่างละเอียด ดูแล้วดูอีก แง้มประตู พลิกบานหน้าต่างทุกบาน ดูไม่เลิก ดูอย่างดื่มด่ำ  คนเราลองมันพยายาม “หาเรื่อง” ก็มักจะ “ได้เรื่อง” เสมอ 

ข้างประตูทางเข้าวิหารลายคำ ฟากที่หนานโปตาเขียนภาพสุวรรณหงส์ชาดกไว้ ดิฉันก็ได้เห็น “ม่าเหมี่ยว” คู่หนึ่ง ยืนนวยนาดอยู่ข้างนกอรหัน หนุ่มม่าเหมี่ยวโอบไหล่สาวม่าเหมี่ยวด้วยอารมณ์นิ่มนวลหวานรัญจวนนัก ทั้งคู่มีช่อใบไม้ประดับผม ข้อมือ ข้อเท้า งามประณีตยิ่ง และทั้งคู่ขาตรงเหยียด เก็บเอกลักษณ์ม่าเหมี่ยวรุ่นโบราณเอาไว้อย่างแจ่มชัด คือไม่มีลูกสะบ้า (ภาพที่ ๑๖)

ม่าเหมี่ยวในวิหารลายคำนี้บอกชัดเจนว่าสล่าครูช่างเชียงใหม่ก็รู้จักคนป่าม่าเหมี่ยวที่อยู่ตามป่าลึกโขดเขินเนินเขา ไม่ห่างไกลจากที่อยู่ของนกอรหัน เป็นคตินิยมเดียวกันกับม่าเหมี่ยวภาคกลาง แต่เมื่อคนป่าม่าเหมี่ยวขยับย้ายถิ่นมาอยู่เมืองเหนือ ทั้งคู่ก็ได้แต่งโฉมปรุงกลิ่นขยับรูปลักษณ์ให้แช่มช้อย หวานสนิท เหมือนวัฒนธรรมเมืองเหนือ ที่งดงามด้วยดอกไม้ เครือเถาเกี่ยวกระหวัดพรรณพฤกษา ชวนชื่นตาอภิรมย์ใจ 

ต่างกันมากกับม่าเหมี่ยวหัวกระเซิง หน้าตาเถื่อน ๆ บ้าน ๆ นุ่งห่มใบไม้กะเร้อกะรัง ปิดของลับยังแทบไม่มิด แถมยังขยุ้มขย้ำกินแตงโมอย่างเถิดเทิงอารมณ์อยู่ที่วัดนายโรง ฝั่งธนฯ

แต่ไม่ได้หมายความว่าม่าเหมี่ยวเชียงใหม่งามกว่า ดีกว่าม่าเหมี่ยววัดนายโรง เพราะความจริงก็คือสมบัติถิ่นไหน ย่อมเหมาะกับชีวิตและขนบประเพณีในถิ่นกำเนิดตรงนั้น ครั้นพอย้ายถิ่นไปจุติในอีกพื้นที่ ก็มีการปรับหน้า แปลงโฉม ให้เข้ากับแผ่นดินใหม่ ชีวิตใหม่ เป็นธรรมชาติปรกติของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ปรับได้ก็อยู่ต่อ ปรับไม่ได้ก็ตายไป สูญสลายไป

เหมือนคนป่าม่าเหมี่ยวเผยอัตลักษณ์ให้เห็นในสมุดไทยตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา-ธนบุรี แล้วไปฉายโฉมอยู่กับจิตร-กรรมฝาผนังทั่วภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ไปไกลถึงเชียงใหม่ แล้วยังข้ามน้ำโขงไปไกลถึงแผ่นดินลาว

๑๖
ม่าเหมี่ยววัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ 
ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

ดิฉันไม่เคยคาดฝันหรือคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ไปพบคนป่าสุดรักที่เมืองลาว จนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ได้ไปเยี่ยมชมวัดสีสะเกด นครเวียงจันทน์ วัดประจำรัชกาลเจ้าอนุวงศ์ ที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นในปี ๒๓๖๑ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ ของประเทศไทย และเป็นวัดเดียวในนครเวียงจันทน์ที่ไม่ถูกเผาทำลายเป็นเถ้าถ่านในครั้งที่กองทัพสยามบุกมาจับตัวเจ้าอนุวงศ์ช่วงปี ๒๓๗๐-๒๓๗๑

ดิฉันได้บันทึกสิ่งที่พบไว้ในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ กลางนครเวียงจันทน์ ดังนี้

“มีเรื่องแสนปลื้ม แสนดีใจยิ่ง ๆ  ในโบสถ์วัดสีสะเกดมีจิตรกรรมเก่างามมาก  เข้าโบสถ์ไปกวาดสายตาดู ตื่นเต้นสุด ๆ ไปเจอม่าเหมี่ยวแสนรัก เขายืนตัวเล็ก ๆ ข้างโขดหินอยู่เหนือประตู ภาพเล็กมาก แต่เข้าไปปุ๊บเห็นเลย น่ารักมาก เขาช่างน่ารักจริง ๆ

แสนเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ ยืนจด ๆ จ้อง ๆ อยู่พักใหญ่ เจ้าหน้าที่ลาวเดินมาคุยด้วย ชื่อน้องสิทธิเดช เพียงวงษ์ เป็นหัวหน้าหน่วยงานพิพิธภัณฑ์สถานโบราณ นครหลวงเวียงจันทน์ น้องเดชบอกมีระเบียบครับพี่ ถ่ายภาพไม่ได้ 

พยายามขอน้อง น้องไม่อนุญาต ประเทศลาวระเบียบเคร่งครัดมาก แต่น้องสิทธิเดชดูเป็นคนสนใจความรู้ และมาถามเรื่องตัวม่าเหมี่ยวคืออะไร 

เฝ้าเดินวนดูม่าเหมี่ยวหลายรอบ ไม่ได้ดูภาพอื่นเลย ใจจดจ่ออยู่กับม่าเหมี่ยว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ท้ายสุดหมดหนทาง เลยเลิกคิด พอเถอะ คิดไปก็ทำอะไรไม่ได้ !

เวลานี้ทำได้เพียงเดินไปกราบพระประธานโบสถ์วัดสีสะเกดที่อยู่ตรงหน้า อธิษฐานจิตขอภาพม่าเหมี่ยวจากท่าน

อธิษฐานกราบพระเสร็จ ลุกขึ้นมายืนดูม่าเหมี่ยวลาว แสนรักแสนอาลัย... ยืนอยู่แป๊บหนึ่งน้องสิทธิเดชเดินมาหา เลยสบโอกาสเปิดภาพม่าเหมี่ยวจากวัดต่าง ๆ ในเมืองไทยที่มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือให้ดู  เราแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนไลน์กัน พร้อมกับส่งไลน์ภาพม่าเหมี่ยวที่มีอยู่ให้น้องเดช 

๑๗
ม่าเหมี่ยววัดสีสะเกด นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
เอื้อเฟื้อภาพ : คุณสิทธิเดช เพียงวงษ์ ถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๒

สิทธิเดชยืนดูอยู่ชั่วครู่ เขายิ้มกว้าง บอกกลับมาว่า ‘พี่เอียดครับ ผมถ่ายภาพทุกภาพในโบสถ์นี้ไว้ น่าจะมีม่าเหมี่ยวคู่นี้ด้วย ภาพอยู่ในแลปทอปผม ผมจะส่งให้พี่เอียดทางไลน์นะครับ’ 

ฟังแล้ว โอ้...เหลือเชื่อ แทบไม่น่าเชื่อ !  พระประธานโบสถ์วัดสีสะเกดศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ”

หลังจากนั้นไม่กี่วัน น้องสิทธิเดชก็ส่งภาพม่าเหมี่ยวลาวมาให้ทางไลน์ เป็นม่าเหมี่ยวนุ่งใบไม้ ลายเส้นบริเวณหัวเข่าบอกชัดว่าม่าเหมี่ยวลาวมีลูกสะบ้า (ภาพที่ ๑๗)  ครูช่างลาว
เขียนม่าเหมี่ยวคู่นี้ไว้ด้วยสีสันละมุนละไมนัก อายุเวลาของภาพประมาณ ๒๐๐ ปี เก่าแก่โบราณเหลือรอดไฟสงครามสมัยรัชกาลที่ ๓ มาได้ถึงปัจจุบัน 

เมื่อได้ชมภาพม่าเหมี่ยวที่วัดสีสะเกดในครั้งนี้ ดิฉันมีความเห็นด้วยเช่นกันว่าช่างลาวน่าจะรู้จัก-ได้รับอิทธิพลมาจากงานพุทธศิลปะเมืองสยาม หรือหากจะเป็นความรู้ดั้งเดิมมีมาแต่โบราณลาวด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ควรจะได้มีการศึกษาสืบค้น สำรวจหาหลักฐานจากวรรณคดีลาวและจิตรกรรมลาวในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ไม่กี่เดือนถัดมา ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ น้องสิทธิเดชก็ได้ส่งภาพม่าเหมี่ยวอีกคู่หนึ่งที่ช่างลาวเขียนไว้หลังพระประธานในโบสถ์วัดสีสะเกดมาให้  ดิฉันไม่เคยเห็นม่าเหมี่ยวคู่นี้มาก่อน  ม่าเหมี่ยวลาวสองคนหลังพระประธานวัดสีสะเกดกำลังปีนโขดเขา แข้งขางอ เห็นชัดว่ามีลูกสะบ้าหัวเข่า ม่าเหมี่ยวหนุ่มสาวลาวแสนน่ารักคู่นี้ฉอเลาะชี้ชวนกันชื่นมื่น ไม่ไกลนักมีนกอรหันในป่าหิมพานต์เหยียดแขนกระพือปีก (ภาพที่ ๑๘) เป็นสัตว์แปลก คนป่าแปลก ๆ ที่อยู่ใกล้กันในป่าลึก ป่าหิมพานต์ เช่นเดียวกับม่าเหมี่ยวเชียงใหม่และอีกหลายม่าเหมี่ยวในวัดเมืองไทย ที่มักยืนอยู่ไม่ไกลจากนกอรหัน

Image

๑๘
ม่าเหมี่ยววัดสีสะเกด นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
เอื้อเฟื้อภาพ : คุณสิทธิเดช เพียงวงษ์ ถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

คุณทวด-
คุณเหลนม่าเหมี่ยว

ตลอด ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ ที่ดิฉันได้สืบค้นติดตามหาข้อมูลเกี่ยวกับคนป่าม่าเหมี่ยวมาอย่างไม่ลดละ ดิฉันมักหวนคิดไปถึงจุดเริ่มต้นที่ดิฉันได้เห็นจิตรกรรมม่าเหมี่ยวเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร ที่วัดไหน

นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก 

ความทรงจำที่ติดค้างมามีเพียงว่าดิฉันได้รู้จักชื่อม่าเหมี่ยวจากวรรณคดี สังข์ทอง เป็นที่แรกนั้นน่ะคงใช่แน่นอน แต่ภาพม่าเหมี่ยวที่เห็นครั้งแรก หากประมวลไปก็คงเห็นมาตั้งแต่ทำงานอยู่ที่วารสารเมืองโบราณ และสำนักพิมพ์สารคดีนั่นละกระมัง  ครั้นได้กลับไปทบทวนความทรงจำในยุคต้น ๆ ของการรู้จักม่าเหมี่ยว ดิฉันก็ได้ข้อมูลดีมาก ๆ ชัดเจนมาก ๆ ลงรากลึกมาก ๆ มาจาก “ลุงหนุ่ย” คุณศรัณย์ ทองปาน ที่เคยลงทำงานภาคสนามด้วยกันในจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ ๒๐ กว่าปีก่อน

ศรัณย์วิเคราะห์ที่มาของคุณทวดม่าเหมี่ยวให้ฟังว่า ในเชิงจิตรกรรมและประติมากรรม คำศัพท์ช่างไทยเรียกตัวคนป่าว่าม่าเหมี่ยว เท่าที่เห็นมาเริ่มมีภาพปรากฏในช่วงอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา มีในสมุดข่อยและปูนปั้นประดับหน้าบัน วิหารวัดไทร ซึ่งมีรูปทรงอาคารเก่าถึงยุคอยุธยาตอนปลาย

สำหรับต้นแบบม่าเหมี่ยวมาจากไหน ศรัณย์ว่ายังไม่มีคำตอบ แต่เคยเห็นจิตรกรรมเปอร์เซียวาดเป็นรูปอดัมกับอีฟตอนถูกขับออกจากสวนอีเดน  จิตรกรรมรูปอดัมกับอีฟของเปอร์เซียแสดงเป็นภาพชายหญิงกึ่งเปลือย นุ่งแต่ใบไม้ บางครั้งก็ยืนจับมือกัน บางครั้งก็ยืนข้างกันเฉย ๆ (ภาพที่ ๑๙) เขาตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบนี้หรือเปล่าที่เป็นต้นแบบให้ช่างไทยเขียนรูปม่าเหมี่ยว เพราะเราต้องไม่ลืมว่าในยุคอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ดังเช่นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อิทธิพลศิลปวัฒนธรรมเปอร์เซียปรากฏชัดเจน  อย่างที่กล่าวกันว่าเครื่องสวมหัวขุนนางที่เรียกว่า “ลอมพอก” ก็ดี ฉลองพระองค์ “อย่างเทศ” ที่เป็นเสื้อแขนยาว ตัวยาวก็ดี ล้วนมาจากเปอร์เซีย ลวดลายกระหนกที่ออกช่อเป็นหัวสัตว์ต่าง ๆ ก็เป็นลวดลายแบบเปอร์เซีย แม้แต่วงมโหรีที่มีซอสามสาย รำมะนา กรับ ก็เป็นดนตรีราชสำนักเปอร์เซีย 

๑๙
อาดัมกับอีฟ ในงานศิลปะเปอร์เซีย 
ที่อาจเป็นต้นแบบของรูปลักษณ์ม่าเหมี่ยวในเมืองไทย 
ภาพจาก https://images.app.goo.gl/kCgGRW2jcx86oQ596

ถ้าอย่างนี้แล้วม่าเหมี่ยวจะมาจากเปอร์เซียด้วยอีกอย่างหนึ่งจะเป็นไรไป

หากเป็นดังที่ศรัณย์เสนอความเห็นไว้ รูปลักษณ์ของคุณทวดม่าเหมี่ยวเมืองไทย ดูจะเดินทางระหกระเหินมาแสนไกล ยาวนานยิ่ง ๆ จนได้หุงต้มออกมาลงตัว ให้เห็นเป็นชุมนุมม่าเหมี่ยวอยู่ในนานาอารามโบสถ์วิหาร สรรค์สร้างขึ้นเป็นม่าเหมี่ยวหลากรูปลักษณ์ทั้งไทยภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ข้ามโขงไปเป็นม่าเหมี่ยวลาว ที่ยังไม่เปลี่ยนเครื่องแบบ คือนุ่งห่มเพียงใบไม้อยู่เช่นเดิม

รูปลักษณ์ม่าเหมี่ยวจากนานาวัดที่ดิฉันได้ค้นพบ นับจากคุณทวดม่าเหมี่ยวรุ่นปลายอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงสมัยปลายรัชกาลที่ ๖ ยาวนานร่วม ๒๐๐ ปี ติดตาดิฉันอย่างยิ่งครั้นเมื่อได้เห็นภาพอดัมกับอีฟนุ่งใบไม้ในภาพศิลปเปอร์เซียดูแล้วก็เห็นด้วยคล้อยตามที่คุณศรัณย์วิเคราะห์ไว้จริง ๆ 

ถือเป็นคุณทวดม่าเหมี่ยวของเมืองไทยที่แตกดอกออกผลเป็นศิลปะลูกหลานม่าเหมี่ยวสืบอายุมาร่วม ๒๐๐ ปี ม่าเหมี่ยวที่ดิฉันได้เห็นมาอายุใหม่สุดนั้น จิตรกรไทยเขียนไว้ที่วัดกิ่งแก้ว เมืองสมุทรปราการ อายุอานามประมาณสมัยรัชกาลที่ ๖ ประมาณ ๑๐๐ ปีได้กระมัง จนเคยคิดว่าการวาดภาพม่าเหมี่ยว ผลิตศิลปะเกี่ยวกับม่าเหมี่ยว จบลงแล้ว จากหลักฐานรุ่นท้าย ๆ ที่ไปเจอในวัดกิ่งแก้ว 

แต่แล้วเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ชมผ้าเสร็จดิฉันก็ลงมายังร้านค้าศิลปาชีพที่อยู่ชั้นล่าง เดินดูข้าวของในร้าน ดูไปดูมาแต่กลับแทบถลึงตามองผนังร้านค้าด้วยความตกใจ ดีใจยิ่ง ๆ ชนิดต้องเอามืออุดปากทันทีไม่ให้ร้องว้าว ว้าว ว้าว วี้ด วี้ดออกมา !

เพราะบนวอลล์เปเปอร์ลายไทยประยุกต์ ใช้ปิดผนังร้านศิลปาชีพในพิพิธภัณฑ์ผ้าแห่งนี้ มิเพียงมีแต่รูปพระ ชายแบกของ หัวม้า พระรามน้าวศร และลายไทยต่าง ๆ นานาสารพัดเท่านั้น หากบนผนังรอบตัว ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ดิฉันยังได้พบสองม่าเหมี่ยว...ยืนเคียงคู่จิ้มลิ้มอยู่ด้วยกัน (ภาพที่ ๒๐)

๒๐
ม่าเหมี่ยวในวอลล์เปเปอร์ 
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมมหาราชวัง

โอ้โฮ ! วอลล์เปเปอร์ปี พ.ศ. ปัจจุบันยังมีม่าเหมี่ยวมายืนปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่กับเขาด้วย 

ม่าเหมี่ยว...คุณแน่จริง ๆ ไม่มีตกขบวนกับเขาเลยนะคะ ดูแล้วแสนชื่นใจนัก 

ได้ชมภาพม่าเหมี่ยวในร้านศิลปาชีพแล้ว ดิฉันยังสงสัยต่อไปอีก เออหนอ...ดีไซเนอร์หรือมัณฑนากรผู้ออกแบบวอลล์เปเปอร์ปิดผนังชุดนี้ เขาไปเอาต้นแบบม่าเหมี่ยวถือคันเบ็ดหรือไม่ก็ไม้สอยมะม่วงแบบนี้มาจากม่าเหมี่ยววัดไหน ?

มีม่าเหมี่ยววัดไหนหนอที่ถือคันเบ็ดหรือไม้สอยผลไม้ จนมาเป็นแรงบันดาลใจให้พลพรรคม่าเหมี่ยวได้เข้ามามีที่ยืนอยู่บนผนังร้านค้าแห่งนี้  

ให้ดิฉันได้เฝ้ามองอย่างลุ่มหลง มองไปน้ำตาจะไหล ซาบซึ้งใจเหลือเกิน

ถ้าคุณเคยหลงรักสิ่งใดมาก ๆ บ้าไม่เลิกตลอด ๒๐ กว่าปี คุณจะเข้าใจดีว่าดิฉันสามารถดีใจแทบล้มผลึ่งลงไปกองกับพื้นด้วยใจปีติขนาดไหนที่ได้เห็นม่าเหมี่ยวเดินออกจากสมุดข่อย เดินออกจากวัด มาอยู่บนวอลล์เปเปอร์ในเขตพระบรมมหาราชวังของปี พ.ศ. นี้ 

ยาวนาน ๒๐๐ กว่าปีเชียวนะ กับการเดินทางของเรื่องราวกับศิลปกรรมม่าเหมี่ยว 

ที่ยังมีชีวิตโลดเต้น เริงร่า อยู่กันมาถึงทุกวันนี้  

ขอขอบคุณ
อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว, คุณเอนก นาวิกมูล, ผศ. ฟ้อน เปรมพันธุ์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี), คุณศรัณย์ ทองปาน, อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ (มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี), คุณสิทธิเดช เพียงวงษ์ (หัวหน้าหน่วยงานพิพิธภัณฑ์สถานโบราณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว),  คุณโอบเดือน คชรินทร์, คุณปารณัฐ สุขสุทธิ์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคุณณัฐพร วิวรรณ (สาละวินโพสต์)