ถุงยางอนามัยสตรี
เพราะโลก (โรค) นี้
ไม่ได้มีแต่ผู้ชาย
hidden(in)museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เมื่อเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
ไม่ควรเป็นเรื่องปกปิด
ปี ๒๕๕๓ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงกำเนิดพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัยในพื้นที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกตำราสร้างความสำคัญด้านการป้องกันตั้งครรภ์และโรคติดต่อ
ในตู้กระจกยาวกลางห้องเล็ก ๔x๕ เมตร เรียงระเบียบด้วยถุงยางอนามัยหลากยี่ห้อที่มีในประเทศ นำเข้า ส่งออก ความที่พิพิธภัณฑ์เริ่มจากเป็นสถานปฏิบัติการสำหรับวิจัยและทดสอบถุงยางอนามัยทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ จึงมีผลิตภัณฑ์ตัวอย่างของบริษัทที่ส่งมาทดสอบมาตรฐานเพื่อขอใบรับรอง สะสมไว้เป็นวิทยาทานแก่ผู้มาดูงานด้านปฏิบัติการของไทย มีทั้งยี่ห้อแรกที่ผลิตในไทยและเลิกผลิตแล้ว บรรจุภัณฑ์ที่ระลึกออกแบบสร้างสรรค์ให้ดูเท่ น่ารัก สีสันลูกกวาด ไปจนยี่ห้อดังที่ยังหาซื้อได้ แต่รุ่นใหม่ ๆ แทบไม่มี เนื่องจากผู้ผลิตต่างมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานจึงไม่ต้องส่งมาตรวจที่นี่อีก
บรรดาตัวอย่าง สะดุดใจ “ถุงยางอนามัยสตรี” ที่ล้วนนำเข้า-ไม่มีผลิตในไทย คิดค้นโดย Lasse Hessel สูตินรีแพทย์ชาวเดนมาร์ก ในปี ๒๕๒๘ ด้วยแรงจูงใจที่ผู้ชายปฏิเสธการใช้ถุงยางอนามัย เพราะคิดว่าส่งผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ ผู้หญิงจึงมีสิทธิ์ป้องกันตนเพื่อลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ถุงยางอนามัยสตรียี่ห้อแรกจดลิขสิทธิ์ในอเมริกาปี ๒๕๓๑ ปีต่อมาอังกฤษก็ผลิตบ้าง ช่วงแรกทำจากโพลิยูรีเทน (polyurethane) เป็นถุงโปร่งแสง ขนาดปานกลางยาว ๑๕ เซนติเมตร ปลายมนตัน อ่อนนุ่ม บาง แต่เหนียวทน มีวงแหวนยืดหยุ่นสองฝั่ง ปากถุงกว้าง ๗ เซนติเมตร ยื่นออกมาปิดนอกช่องคลอด ก้นถุงมีวงแหวนอีกอันกว้าง ๕.๕ เซนติเมตร เมื่อสอดสุดจะครอบปากมดลูกพอดีเพื่อยึดกระชับถุงยางไม่ให้หลุด แต่มีรายงานว่าผลิตภัณฑ์รุ่นแรกทดสอบไม่ดีพอ ขณะมีเพศสัมพันธ์จึงรู้สึกอึดอัด เกิดเสียงแปลก หรือหลุดออก ยี่ห้อต่อ ๆ มาจึงผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์ (nitrile latex) ขนาดเล็กลง ไม่เกิดเสียง หรือย่นขณะใช้
กรมควบคุมโรคของไทยก็เคยซื้อมาแจกหญิงบริการ แต่ไม่ได้รับความสนใจ เช่นเดียวกับแม้จะใช้ทางทวารหนักได้ แต่กลุ่มชายรักชายก็ไม่นิยม ผ่านมาจนปี ๒๕๖๔ ก็ยังไม่แพร่หลาย ด้วยขนาดเทอะทะ ต้องสอดใส่ช่องคลอด และมีห่วงที่ขอบถุงยางโผล่นอกปากช่องคลอดทำให้บางคู่นอนเสียอรรถรสซ้ำหาซื้อยากและราคาสูง (ร้านค้าออนไลน์อันละ ๗๐-๑๕๐ บาท) ถึงอย่างนั้นก็มีข้อดีตรงหลังร่วมเพศฝ่ายชายไม่ต้องรีบถอนอวัยวะเพศเพื่อถอดถุงยางอนามัย คู่รักจึงได้ใกล้ชิดกันยาวนานขึ้น
ยุคที่การปลอดโรคและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เป็นเรื่องใหญ่ บริษัท IXu LLC จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาลูกเล่นเพื่อผู้หญิง ถุงยางอนามัยสตรีรุ่น VA w.o.w จึงฝังเครื่องสั่นขนาดจิ๋วตรงวงแหวนช่วยให้ถึงจุดสุดยอดและใส่ล่วงหน้าก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง ๘ ชั่วโมง ในอนาคตยังวางแคมเปญให้ “ว้าว” สมชื่อต่อ โดยจะมีถุงยางอนามัยสตรีที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนหรือควบคุมผ่านรีโมตได้
แต่กว่าจะถึงวันนั้น วันนี้ลองมารู้จักจุดเริ่มต้นของชิ้นส่วนที่สะท้อนความห่วงใยผู้หญิงก่อน
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
เราคลุกคลีกับถุงยางอนามัยมาเป็น ๑๐ ปีจึงมองเป็นเรื่องเคยชิน ผู้หญิงพกไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นการรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและคู่นอน แต่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้าง ฉะนั้นอย่าว่าแต่ใช้ถุงยางอนามัยสตรี ผู้หญิงจะพกถุงยางให้คู่นอนก็ถูกมองด้วยภาพลักษณ์ไม่ดี แม้กระทรวงสาธารณสุขจะส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ทุกคนต้องพก แต่ผู้ปกครองและหลายโรงเรียนก็ไม่ยอมรับ ไทยเป็นประเทศที่แจกถุงยางอนามัยฟรีให้ผู้มีรายได้น้อยหรือเยาวชนได้ป้องกัน แต่หลายคนไม่มั่นใจอาจเพราะบรรจุภัณฑ์ไม่สวย แต่เชื่อมั่นที่หน่วยงานราชการแจกได้เพราะจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามพระราชบัญญัติที่ผู้ผลิต-นำเข้าต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ในแง่คุมกำเนิดเดี๋ยวนี้มีหลายทางเลือก แต่ในแง่การป้องกันโรคถุงยางอนามัยยังเป็นทางเดียว สังเกตไหมว่าทุกวันนี้มียาต้านโรคเอดส์ แต่ผู้คนก็ยังติดโรคเพศสัมพันธ์สูง เพราะยานั้นไม่ได้ครอบคลุมไปยังโรคอื่นอีกมากมายซึ่งอันตรายไม่น้อยกว่าเอดส์”
วันเพ็ญ ดวงสว่าง
นักฟิสิกส์รังสีชำนาญการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข
พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย
สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ (อาคาร ๙ ชั้น ๘) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ (หยุดวันนักขัตฤกษ์)
เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
ชมฟรี แต่ต้องติดต่อล่วงหน้า
โทรศัพท์ ๐-๒๙๕๑-๐๐๐๐ ต่อ ๙๙๙๕๔-๕