ลมใต้ปีกความฝัน
ของนักเขียนดวงตาพิการ
พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์
Small Talk
สัมภาษณ์ : วันดี สันติวุฒิเมธี
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
Image
แฟนหนังสือสำนักพิมพ์ผีเสื้อคงคุ้นชื่อ พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ เป็นอย่างดี เพราะเธอเป็นนักเขียนดวงตาพิการคนแรกของสำนักพิมพ์ที่มีผลงานพ็อกเกตบุ๊กมาแล้วสามเล่ม คือ เล่มแรก จนกว่าเด็กปิดตาจะโต เล่มที่ ๒ ก ไก่เดินทางนิทานระบายสี และผลงานล่าสุดเล่มที่ ๓ มีชื่อว่า เห็น

หลังเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอทำงานเป็นบรรณาธิการฝึกหัดที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นเวลา ๒ ปี ก่อนจะลาพักเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความสำเร็จทั้งการศึกษาและอาชีพนักเขียนของเธอได้รับความชื่นชมในวงกว้าง ทำให้สังคมไทยมองเห็นความสามารถของผู้พิการทางการมองเห็นเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เบื้องหลังความสำเร็จของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสวยหรู เพราะกว่าจะก้าวเดินมาจนถึงจุดที่สังคมยอมรับชื่นชม พ่อแม่ต้องผ่านความทุกข์ระทมเมื่อลูกสาวคนเล็กต้องสูญเสียดวงตาไปทีละข้าง พี่สาวคนโตต้องรับบทพี่ผู้เข้มแข็ง ช่วยน้องสาวทำการบ้านก่อนตนเองเสมอ  ขณะที่ตัวเธอเองก็ต้องก้าวข้ามความเหงา โดดเดี่ยว และการถูกปฏิเสธจากสังคมวัยเยาว์มานับครั้งไม่ถ้วน  ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ครอบครัวกิตติสิริพันธุ์ใช้ความรักอันยิ่งใหญ่ที่โอบกอดทุกคนไว้ เป็นแสงสว่างนำทางสู่ปลายอุโมงค์แห่งความสำเร็จของเธอในวันนี้

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราชวนทั้งคุณแม่ คุณพ่อ และน้องพลอย มาตั้งวงสนทนาร่วมกัน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวเป็นกำลังใจให้แก่ครอบครัวที่มีลูกพิการ ด้วยความเชื่อที่ว่าหากเราเปิดโอกาสให้เด็กพิการได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ เราจะพบความสามารถอีกมากมายซุกซ่อนอยู่ในหัวใจอันเข้มแข็งของพวกเขาและเธอ
อยากให้คุณแม่เล่าให้ฟังว่ารู้ได้อย่างไรว่าน้องพลอยมองไม่เห็น
แม่ : ตอนท้องน้องพลอยก็ปรกติดี แต่หลังจากคลอดน้องพลอยกลับไปอยู่บ้าน แม่เริ่มสังเกตว่าตาลูกเหมือนตาแมว เลยพาไปหาหมอหลายโรงพยาบาล คุณหมอตอบตรงกันว่าน้องพลอยเป็นมะเร็งที่จอประสาทตา คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้แค่ ๓ ปีเท่านั้น

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาแม่ก็ร้องไห้ทุกวัน แต่เรายังไม่หมดหวัง พยายามหาทางรักษาทุกทาง พออายุครบ ๔ เดือน ต้องผ่าตัดลูกตาออกข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งพยายามรักษาต่อ เข้าออกโรงพยาบาลทุก ๒ อาทิตย์ พอ ๒ ขวบ หมอตัดสินใจผ่าตาออกอีกข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังสมองและอวัยวะส่วนอื่น  หลังจากนั้นต้องให้คีโมและฉายแสง แล้วคอยติดตามผลการรักษา จนน้องพลอยอายุ ๑๐ ขวบ
ตอนที่รู้ว่าน้องพลอยต้องมองไม่เห็นตลอดชีวิต หลังจากนั้นพ่อแม่ทำอะไรบ้าง
แม่ : ตอนแรกก็ยอมรับไม่ได้นะ วิ่งพาลูกไปหาหมอทุกที่ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์ แม่กินเจมื้อเช้าตลอด ๑๐ ปีที่เข้าออกโรงพยาบาล ฟังเสียงสวดมนต์แทนเสียงเพลง ใช้ธรรมะรักษาใจ  มะเร็งจะเกิดกับใครก็ได้ แต่เมื่อเกิดกับลูกเรา เราก็ต้องยอมรับความจริง ก่อนวันผ่าตัดดวงตาข้างแรกออกไป แม่รู้สึกเคว้งคว้างมาก นอนกอดลูกไว้แนบอกจนหัวใจเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน ตอนนั้นไม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราอีกนานเท่าไร คิดแค่ว่าเราต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด

พ่อ : มีบางคนบอกว่าปล่อยให้ลูกตายไปเถอะ อย่าไปรักษาเลย เพราะถึงยังไงก็ตาบอด บางคนบอกให้เอาไปฝากสถานสงเคราะห์ แต่เราคิดว่าลูกมองไม่เห็น ถ้ายกลูกให้คนอื่น ใครจะมารักลูกเรา เราไม่เคยคิดจะยกลูกให้ใคร คิดแค่ว่าจะทำยังไงให้เขาอยู่รอดในสังคม
น้องพลอยเริ่มไปโรงเรียนตั้งแต่อายุเท่าไร  
เข้าโรงเรียนแบบไหนบ้างจนจบปริญญาตรี

แม่ : แม่พาไปเข้าโรงเรียนสาธิตละอออุทิศตั้งแต่ ๒ ขวบ โรงเรียนนี้มีกลุ่มงานบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มเด็กพิการและครอบครัว (Early Intervention : EI) น้องพลอยจึงได้เรียนอักษรเบรลล์ตั้งแต่เล็ก แล้วค่อยย้ายไปโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพตอนขึ้นชั้นประถมฯ หลังจากนั้นก็ย้ายไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ก่อนจะสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิธีการดูแลเด็กที่มองไม่เห็นต้องเตรียมพร้อมเรื่องอะไรบ้าง
แม่ : ครูจะแนะนำว่าเด็กที่ไม่มีดวงตา มือและเท้าจะสำคัญมาก เราต้องช่วยสร้าง “ตา” ให้เขาจากประสาทสัมผัสอื่น ๆ ในช่วงลูกยังเด็ก พ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นดวงตาให้ลูกก่อน ระหว่างนั้นเราก็ต้องสร้าง “ตา” ใหม่ให้ลูกไปด้วย บางคนคิดว่าลูกตาบอดทำอะไรไม่ได้ พ่อแม่ต้องคอยเป็นดวงตาให้ตลอด แต่เรากลับมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอยู่กับเขาตลอดชีวิต เราต้องสร้าง “ตา” ให้เขาดูแลตนเองให้ได้ เขาจะได้ไม่เป็นภาระกับคนอื่น
ช่วยเล่าวิธีสร้าง “ตา” ให้ฟังหน่อย
แม่ : เราต้องดูแลกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้แข็งแรง คอยบีบนวดให้บ่อย ๆ และต้องยอมสละเวลา พาลูกหยิบจับทำทุกอย่างด้วยตนเอง เช่น เวลาไปตลาดก็พาไปฝึกสัมผัสรูปร่างผัก ผลไม้ และฝึกดมกลิ่น ฝึกทำงานบ้าน เพื่อให้เขาดูแลตนเองได้  เวลาไปห้างก็พาเขาไปเล่นของเล่นเหมือนเด็กทั่วไป เพื่อให้เขาใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ แทนดวงตา เช่น เล่นตัวต่อเลโก้ ระบายสีตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์  การพัฒนาประสาทสัมผัสส่วนอื่น ๆ ที่เหลือมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ลูกสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ไม่รู้สึกแปลกแยกจากเด็กที่มองเห็น
คนในครอบครัวแบ่งหน้าที่กันดูแลน้องพลอยยังไงบ้าง 
แม่ : น้องพลอยเป็นลูกสาวคนที่ ๒ มีพี่สาวชื่อส้ม อายุห่างกัน ๓ ปี ตอน ๑๐ ปีแรกที่น้องพลอยต้องเข้าออกโรงพยาบาล พ่อจะเป็นคนทำงานหาเงินเป็นหลักและดูแลพี่ส้ม แม่จะเป็นคนไปอยู่เฝ้าน้องพลอยเวลาไปโรงพยาบาล  ส่วนพี่ส้มจะคอยเป็นเพื่อนเล่นและดูแลน้องพลอยทำการบ้าน  แม่จะบอกให้พี่ส้มรักและดูแลน้อง ไม่ว่าพี่ส้มจะเล่นอะไร น้องพลอยก็จะได้เล่นเหมือนกัน  ถ้ามีการบ้านต้องช่วยน้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน แล้วค่อยทำของตัวเอง  ส่วนแม่ก็จะมาดูว่าพี่ส้มทำเรียบร้อยไหม  บางทีพี่ส้มก็จะน้อยใจเหมือนกัน เพราะเขาต้องรับผิดชอบดูแลน้องมากกว่าพี่สาวทั่วไป พี่ส้มจึงเป็นผู้ใหญ่เกินวัยตั้งแต่ยังเล็ก และถูกคาดหวังจากพ่อแม่ให้เป็นเด็กเข้มแข็ง เพราะแม่เชื่อว่าถ้าคนพี่เข้มแข็ง คนน้องก็จะยืนได้ตาม

พ่อ : พี่ส้มต้องรับหน้าที่คอยดูแลน้องหลายเรื่อง น้องก็รู้ว่าพี่เหนื่อยที่ต้องดูแลเขา พี่น้องสองคนนี้จึงสนิทและรักกันมาก
Image
Image
อยากให้เล่าถึงพี่ส้มให้ฟังหน่อย
พลอย : เราเป็นพี่น้องที่รักกันมากจนเพื่อนหลายคนอิจฉา (ยิ้ม) ตอนอยู่ชั้นประถมฯ พี่ส้มชวนพลอยเล่นทุกอย่างเหมือนเด็กทั่วไป อย่างเช่น ลิงชิงบอล วิ่งไล่จับ ฟันดาบ พอขึ้นชั้นมัธยมฯ ต้องย้ายจากโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ ไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป เวลามีการบ้าน พลอยต้องขอให้พี่ส้มช่วยอ่านการบ้านให้ฟัง ตอนนั้นเริ่มเกรงใจพี่ส้ม เพราะเขาก็มีการบ้านของตัวเองเหมือนกัน  พี่ส้มต้องนอนดึกมาก แล้วไปหลับในห้องเรียน แต่พอเรียนมหาวิทยาลัย เราเริ่มดูแลตัวเองได้ และเริ่มรู้จักคนอื่นมากขึ้น ภาระที่เคยกระจุกอยู่ที่พี่ส้มก็มีคนมาช่วยแบ่งเบา  ตอนนี้พี่ส้มแต่งงานและมีลูกแล้ว แม้ว่าเราจะมีเวลาคุยกันน้อยลง แต่ถ้ามีปัญหาอะไรก็จะมาเล่าให้กันฟัง
เวลาออกไปนอกบ้านหรือไปโรงเรียน เจอคนล้อเลียน คนในครอบครัวรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ยังไง
แม่ : ถ้าเจอคนมองมาหรือพูดอะไรที่ทำให้เราสะเทือนใจ แม่ก็จะกอดลูกไว้แล้วเดินหนีไป พอลูกโตขึ้นไปโรงเรียน เจอเพื่อนล้อเลียน แม่ก็สอนให้ลูกอดทนกับคำพูดที่ฟังแล้วไม่ชอบใจและผ่านมันไปให้ได้
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าชีวิตในโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ กับโรงเรียนทั่วไปแตกต่างกันยังไงบ้าง
พลอย : ตอนไปโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ เจอเพื่อนที่มองไม่เห็นเหมือนกัน พลอยไม่ได้รู้สึกว่าความพิการเป็นปัญหาเพราะทุกอย่างออกแบบมาสำหรับคนตาบอดหมด แต่ตอนเรียนมัธยมฯ ต้องเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป พลอยจะเลือกเรียนหนังสืออย่างเดียว เวลามีกิจกรรมโรงเรียน พลอยจะหลีกเลี่ยงตลอด เพราะไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น อย่างเช่นตอนไปเข้าค่ายลูกเสือ เรากลัวว่าถ้าเขาคิดเกมมาให้คนมองเห็น แล้วเราเป็นคนตาบอด เขาคงจะโกลาหลว่าทำไงดี ก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ไปดีกว่า เพราะไม่รู้จะรับมือกับสถานการณ์ตรงนั้นยังไง พอหลัง ๆ ปรับตัวได้ก็ค่อยเพิ่มการร่วมกิจกรรมกับเพื่อนมากขึ้น เพราะเรารู้แล้วว่าเราก็ทำได้เหมือนคนอื่น ๆ
Image
เคยมีปัญหาเวลาเล่นกับเด็กวัยเดียวกันที่มองเห็นบ้างไหม แล้วแก้ปัญหายังไง
พลอย : ตอนเด็ก ๆ เคยไปเที่ยวบ้านญาติ แล้วพวกพี่ ๆ น้อง ๆ นั่งเล่นตัดตุ๊กตากัน เราเล่นด้วยไม่ได้ รู้สึกเซ็งมาก พอไปบอกผู้ใหญ่ว่าเราไม่รู้จะเล่นอะไรดี เขาก็ลองให้เล่นหนังยางสองวงมาใส่นิ้วแล้วบิดให้กลายเป็นสี่วง ตอนนั้นถามตัวเองว่าทำไมเราต้องมาเล่นอะไรที่ไร้สาระมากขนาดนี้ เราต้องเล่นอะไรที่สนุกกว่านี้สิ ผู้ใหญ่ช่างไม่เข้าใจความเซ็งของเราเลย

หลังจากนั้นเลยคิดวิธีการเล่นคนเดียว เรียกว่าเอนเตอร์เทนตัวเราเองก็ได้ (หัวเราะ) เช่น เอาตุ๊กตาสองตัวมานั่งคุยโต้ตอบกันระหว่างมือซ้ายมือขวา หรือเอารูบิก (ของเล่นกลไกรูปลูกบาศก์สี่เหลี่ยม มีหกสีหกด้าน) มาติดอักษรเบรลล์ชื่อสีต่าง ๆ จนเราเล่นคนเดียวได้ เวลาอยากเล่นอะไรจะถามตัวเองว่าทำยังไงให้ฉันเล่นได้ รู้สึกว่าการบอกคนอื่นว่าเราไม่มีอะไรเล่นเป็นเรื่องเสียฟอร์มและเสียศักดิ์ศรีมาก (หัวเราะ) ตอนอยู่ชั้นประถมฯ ในกระเป๋านักเรียนมีอุปกรณ์ประดิษฐ์หลายอย่างพกไว้ทำของเล่นเอง ทั้งคัตเตอร์ กาว วงเวียน ไม้บรรทัด อุปกรณ์ที่พี่ส้มมีเราต้องมี พี่ทำได้เราก็ทำได้
เวลาเศร้า น้องพลอยทำอย่างไรที่จะผ่านพ้นความรู้สึกนี้ไปให้ได้
พลอย : พลอยมีแหล่งสนับสนุนทางอารมณ์หลายอย่าง อย่างแรกคือครอบครัว ไม่ว่าพลอยจะเศร้ากับสิ่งที่เจอมาภายนอกแค่ไหน แต่พอกลับมาบ้านแล้ว พลอยก็ได้เจอพ่อกับแม่ที่รักเรามาก ๆ เป็นหลุมหลบภัยให้เราได้ อย่างที่ ๒ คือเล่นเปียโน บางทีแย่มากจนดิ่งลงกับความเศร้าไม่รู้จะไปต่อยังไง พลอยก็จะไปนั่งเล่นเปียโนเพื่อเบรกความคิดของเราไปอยู่ที่เสียงดนตรี ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านออกไป แล้วค่อยกลับมาจัดการกับมันใหม่ อย่างที่ ๓ คือไปนอน ไม่ใช่เพราะเราเหนื่อยกาย บางทีเราคิดหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไปนอนพักเพื่อเยียวยาตัวเองได้เหมือนกัน

ตั้งแต่เด็กพลอยจะคิดว่าเราเศร้าได้ แต่อย่าเศร้านาน เวลาเรารู้สึกแย่กับโลกรอบตัว ไม่รู้จะจัดการยังไงดี สุดท้ายแล้วเราจะหาทางเอาความคิดว่าโลกรอบตัวเราแย่หรือตัวเราแย่ออกไป ด้วยการพยายามมองอีกมุมหนึ่ง หรือบางทีก็แค่ยอมรับว่าวันนี้ไม่ดี แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะดีก็ได้ พลอยมักจะหาวิธีคิดใหม่ ๆ ให้ตัวเอง เพราะถ้าเราคิดอีกแบบหนึ่งก็จะให้ผลที่ต่างออกไป

อีกหนึ่งความโชคดีคือพลอยเกิดมาในครอบครัวที่แม่พูดเรื่องพุทธศาสนามาตั้งแต่เล็ก ถ้าเราเครียดหรือเศร้านานไป พอคุยกับแม่ แม่ก็จะบอกว่าเดี๋ยวก็ผ่านไป ธรรมะช่วยทำให้เรารู้เท่าทันความทุกข์ มองเห็นว่าความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ทำให้เราไม่จมอยู่กับความเศร้านานเกินไปนัก
"เวลาอยากเล่นอะไรจะถามตัวเองว่าทำยังไงให้ฉันเล่นได้ รู้สึกว่าการบอกคนอื่นว่าไม่มีอะไรเล่นเป็นเรื่องเสียฟอร์มและเสียศักดิ์ศรีมาก"
รู้สึกกังวลใจเรื่องอาชีพของลูกบ้างไหม
พ่อ : พ่อไม่ได้กังวลใจอะไร เวลาลูกมาปรึกษาตอนจะเข้ามหาวิทยาลัย ถามว่าหนูมองไม่เห็นจะเรียนอะไรดี พ่อก็บอกว่าเป็นครู นักวิชาการ นักเขียนก็ได้ เพราะตอนเรียนลูกชอบประกวดแต่งกลอน เรียงความ แต่เราพยายามให้เขาตัดสินใจเอง

แม่ : แม่ก็ไม่ได้วางแผนอะไรให้ลูก เพราะคิดว่าทุกคนต้องมีทางเดินของตนเอง เขาจะค้นหาตัวเขาเองเจอว่าทำอะไรได้บ้าง
Image
การมองไม่เห็นเป็นอุปสรรคต่อการเขียนบ้างไหม
พลอย : ตอนช่วงมัธยมฯ เคยรู้สึกว่า ถ้าให้เราเขียนหนังสือจริง ๆ ก็คงจะยากนะ เพราะเรามองไม่เห็น คงจะเขียนได้แต่ความคิด บรรยายภาพไม่ได้ แล้วเราจะเขียนให้สนุกได้ยังไงก็ยังนึกไม่ออก แต่ตอนนี้คิดว่างานเขียนเป็นเรื่องของการนำเสนอความคิดและประสบการณ์ ทุกคนไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น ก็มีความคิดและประสบการณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจสำหรับถ่ายทอดได้ทั้งนั้น
ทำไมถึงเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ 
พลอย : คิดว่าขอให้ได้อ่านหนังสือเยอะ ๆ ไว้ก่อนแล้วกัน ถ้าอ่าน ๆ ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็คงจะนึกออกว่าเราจะเขียนยังไงมั้ง  ตอนก่อนเข้าเรียนคณะนี้ก็กังวลเหมือนกัน แต่เรียนจริงก็เริ่มปรับความคิดใหม่ว่า เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่เราต้องเลือกอ่านวรรณกรรมที่มีเนื้อหาและภาษาดี ๆ ข้อดีของการเรียนคณะนี้คือทำให้เราได้รู้จักหนังสือดี ๆ หลากหลายประเภทจากทั่วโลก
คนที่เรียนคณะอักษรฯ ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ถ้าไม่มีหนังสือเสียง น้องพลอยทำยังไง
พลอย : เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เช่น ถ้ามีโจทย์ให้เลือกอ่านหนังสือเล่มไหนก็ได้ภายในหมวดต่าง ๆ เราก็ไปดูในหมวดนั้นว่าเรื่องไหนที่มีหนังสือเสียง หรือมีไฟล์ให้เราเข้าถึงได้ หรือถ้าในหมวดนั้นไม่มีหนังสือเสียงเลยจริง ๆ เราถึงจะมาพิจารณาเลือกเรื่องที่สั้น ๆ เวลาเอาไปให้คนช่วยอ่านเขาก็จะได้อ่านจบเร็ว  หรือในกรณีของการสอบ มีการกำหนดหนังสือเฉพาะเจาะจงว่าต้องอ่านเล่มนี้เท่านั้น แล้วไม่มีหนังสือเสียง เราก็ต้องคิดแล้วว่ามีใครจะช่วยเราอ่านหนังสือเล่มนี้ได้บ้าง ทำยังไงจะอ่านจบทันเวลา  เราต้องเชื่อก่อนว่าเราแก้ปัญหาได้ แล้วเราก็ค่อย ๆ คิดหาทางแก้ปัญหาไปทีละขั้นโดยพิจารณาจากสิ่งที่เรามี
ช่วยเล่าถึงที่มาของพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรก จนกว่าเด็กปิดตาจะโต ให้ฟังหน่อย
พลอย : ตอนอยู่ปี ๓ เทอม ๒ ได้เรียนวิชาบรรณาธิการกับครูมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ วิชานี้มีการบ้านให้เขียนบันทึกทุกวัน หนังสือเล่มนี้รวบรวมจากการบ้านที่เขียนส่งครูมกุฏตอนเรียนวิชานี้ ก่อนหน้านั้นก็เขียนบันทึกบ้าง แต่ไม่ได้เขียนทุกวัน
Image
พ่อแม่รู้สึกอย่างไรบ้างที่ลูกมองไม่เห็น แต่เรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มีผลงานเขียนตีพิมพ์รวมเล่ม และมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ
พ่อ : ตอนวันปฐมนิเทศ ผมเจออาจารย์ที่คณะบอกว่า น้องพลอยต้องอ่านหนังสือมากกว่าคนปรกติเยอะเลยนะ ผมนึกในใจว่า โธ่ ลูกเอ๊ย... ไม่ต้องเรียนดีหรอก เอาผ่านก็พอ แต่เขาก็ตั้งใจเรียนจนได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากที่เขาพยายามจนประสบความสำเร็จด้วยตนเอง

แม่ : การมีงานทำเป็นสิ่งที่แม่ภูมิใจมากที่สุด เพราะรู้สึกว่าลูกได้รับการยอมรับจากสังคม เราอยากให้สังคมมองลูกเป็นคนปรกติเหมือนคนทั่วไปที่เรียนจบแล้วมีงานทำ
น้องพลอยคิดว่าอะไรทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต
พลอย : ลึก ๆ แล้วพลอยเป็นคนขี้กลัว ไม่ค่อยมั่นใจในตนเอง แต่เป็นคนชอบลองทำอะไรที่เห็นว่าสนุก แล้วเป็นคนชอบวางแผนก่อนลงมือทำ ถ้าตั้งใจทำอะไรแล้วต้องมีเป้าหมายและพยายามทำจนกว่าจะถึงที่สุดของเรา พลอยรู้สึกว่าคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้เรามีความภูมิใจเข้ามาในชีวิตอยู่เรื่อย ๆ
พ่อแม่มีคำแนะนำอะไรบ้างสำหรับครอบครัวที่มีลูกดวงตาพิการ
แม่ : เราต้องเริ่มจากความเชื่อมั่นว่าเด็กตาบอดไม่ได้สร้างภาระให้พ่อแม่ เพียงแต่เราต้องสร้างตาของเขาขึ้นมาเองให้ได้ ต้องสอนลูกให้รู้จักความเข้มแข็ง และรู้จักการมองคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ เพราะบางทีคนรอบข้างไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือเด็กพิการยังไง เราก็ต้องบอกความต้องการของเราให้คนอื่นรู้ด้วยเหมือนกัน แล้วอะไรที่เราทำได้ เราต้องช่วยตัวเอง ไม่ใช่พึ่งพาเขาไปตลอด

พ่อ : ความรักและความเอาใจใส่ลูกคือสิ่งสำคัญที่สุด ผมมีลูกคนโตมองเห็น คนเล็กมองไม่เห็น แต่ผมรักลูกเท่ากัน เพียงแต่เด็กที่มองไม่เห็นเราต้องเอาใจใส่มากกว่าเด็กปรกติ อย่ามองว่าเขาเป็นปมด้อยหรือพิการแล้วพัฒนาไม่ได้  ถ้าเราเอาใจใส่เขาทุกเรื่อง เราก็จะเห็นการพัฒนาของเขาดีขึ้นเรื่อย ๆ
ความสุขของพ่อแม่อยู่ตรงไหน
พ่อ : ตรงที่เราเห็นลูกเติบโตไปในทางที่ดี เขามีความตั้งใจเรียนหนังสือมาตั้งแต่เล็ก เขาเคยบอกว่าถ้าหนูมองเห็น หนูจะอ่านหนังสือให้หมดห้องสมุดเลย พอเห็นลูกรักการอ่าน ผมรู้เลยว่าลูกต้องตั้งใจเรียนแน่นอน ตอนย้ายไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป วันแรกที่ไปส่ง เขาบอกว่า พ่อไม่ต้องห่วงหนูนะ หนูจะตั้งใจเรียนไม่แพ้คนตาดีเลย ฟังแค่นี้ก็หมดห่วงและมีความสุขแล้ว เวลาไปรับที่โรงเรียน ผมจะถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง เวลาไปไหนเราจะจูงมือเขาตลอด บางคนอาจมองมาด้วยความสงสารที่เรามีลูกมองไม่เห็น แต่เขาไม่รู้หรอกว่าเรามีความสุขมากแค่ไหนที่ได้จับมือลูกเดินคุยกันไปเรื่อย ๆ
Image
Image
"ผมรักลูกเท่ากัน เพียงแต่เด็กที่มองไม่เห็นเราต้องเอาใจใส่มากกว่าเด็กปรกติ อย่ามองว่าเขาเป็นปมด้อยหรือพิการแล้วพัฒนาไม่ได้"
น้องพลอยรู้สึกยังไงที่เกิดมาในครอบครัวนี้
พลอย : โห...พลอยคิดว่าเป็นความโชคดีและเป็นบุญที่พลอยเกิดมาเจอครอบครัวที่มีพ่อแม่และพี่สาวที่รักเราแบบนี้  เราเกิดมาในครอบครัวที่เขารักและมีเวลาให้เราในวันที่เราล้ม เขาจะคอยประคองให้เราไปข้างหน้าเสมอ พ่อกับแม่มักจะวางแผนให้เราอยู่เงียบ ๆ โดยไม่ได้บังคับให้เราทำและไม่เคยคาดหวังรางวัลใด ๆ เขาปล่อยให้เราโตอย่างมีอิสระ ให้เราคิดเอง

พลอยไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบทุกด้าน เราไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวย อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ หรือพ่อแม่ไม่เคยทะเลาะกันเลย ครอบครัวนี้ทำให้พลอยได้มองเห็นความเป็นจริงของชีวิตว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ ทุกครอบครัวย่อมมีปัญหา บางครอบครัวมีปัญหาแล้วไม่คุยกับลูก ลูกไม่เคยรับรู้  แต่ครอบครัวเรา เวลาเขาเจออะไรมาจะเล่าให้เราฟังตลอด ทำให้เรามองเห็นความเป็นจริงของชีวิตรอบด้าน ทั้งความรัก ความทุกข์ ความสุข มีปัญหาที่ต้องก้าวผ่านไปด้วยกัน
เป็นธรรมชาติของชีวิตที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว ทุกคน