Living with Foliage with Plants
ไม้ใบของคนรักไม้ใบ
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ถ่ายภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
Image
Philodendron evansii
ฟิโลเดนดรอน อีวานซี
“วิทย์” ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง
นักจัดสวน Little Tree Landscape
“เสน่ห์ของไม้ใบแต่ละต้นก็ไม่ต่างกันนะ เพียงแต่มันวาไรตี มีหลากหลาย เจาะจงยากจริง ๆ ว่าชอบไม้ใบต้นไหนมากที่สุด ไม่เหมือนไม้ยืนต้น ตอบได้ทันทีว่าชอบก้ามปู  สำหรับไม้ใบถ้าให้เลือกคงเป็นอีวานซี ต้นไม้เก่าแก่ของที่บ้าน เลี้ยงกันมานาน ตั้งอยู่ในสวนมานานมาก วันหนึ่งก็ยกไปประกวดงานบ้านและสวนแฟร์  ยกแทบไม่ไหว เพราะเขาต้นใหญ่ ใบแผ่กว้าง แล้วปลูกในกระถางดิน ตอนแรกเรียกรถปิกอัปมารับ ปรากฏว่าขนขึ้นไม่ได้ ที่ไม่พอ ต้องเปลี่ยนเป็นรถหกล้อใหญ่ ทั้งคันขนอีวานซีไปต้นเดียวเลย  ได้รางวัลยอดเยี่ยมการประกวดพรรณไม้ประเภท ‘ไม้ใบ’ ประจำปี ๒๕๖๒ 

“อีวานซีหาไม่ได้ง่าย ๆ ในยุคนี้  เมื่อก่อนก็ไม่ง่าย ต้องเป็นนักสะสมคนสำคัญเท่านั้นที่มี  ถึงแม้จะมีคนนำอีวานซีมาซื้อขายกันหลายสิบปีแล้ว แต่พอไม่ได้เป็นไม้เศรษฐกิจที่ทุกบ้านมี ทุกสวนมี ทุกคนปลูก ถึงวันที่ไม้ใบฮิตก็เลยไม่มีปริมาณ จัดเป็นต้นไม้หายาก ไม่ค่อยมีในท้องตลาด  

“ถ้าให้เลือกก็เลือกต้นนี้ อีวานซี ใบอาจมีตำหนิบ้าง แต่ก็ยังสวยอยู่”
Image
Philodendron joepii
ฟิโลเดนดรอน โจปิอาย
สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์
นักค้นหาพันธุ์ไม้แปลกทุกมุมโลก

ฟิโลฯ โจปิอาย เป็นพืชที่มีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษา เป็นไม้หายากมาก มีลักษณะต่างจากฟิโลฯ ชนิดอื่น ๆ คือขอบใบ
เว้าเข้าไปทั้งสองข้างคล้ายถูกแมลงกัดแทะ  เขาไม่ใช่แค่ must have (ต้องมี) แต่เป็น wish list (รายการสิ่งที่ปรารถนา) ของผม และเป็นต้นไม้ในฝันของนักสะสมทั่วโลก ตอนนี้เหมือนดาราหน้าใหม่ที่กำลังมาแรง ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก  

ฟิโลฯ โจปิอาย ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือแยกหน่อ ตำแหน่งที่วางต้องอากาศถ่ายเทดี ไม่ทึบแสง รดน้ำสม่ำเสมอ วัสดุปลูกต้องโปร่งชื้น ระบายน้ำได้  ก่อนหน้านี้ผมก็เคยมี แต่ขายไป ต้นนี้เป็นต้นใหญ่ ประมูลมาได้เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ มีใบประมาณ ๑๐ ใบ ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาท  

“ได้มาแล้วก็ใช้จัดสวนได้ทันที เรียกว่าตั้งแล้วสวนสวยขึ้นทันที ไม่ต้องรอเวลา” 
Image
Aglaonema pic tum tricolor
เสือพรานสามสี
“โอห์ม” ภวพล ศุภนันทนานนท์
ผู้เขียนหนังสือ ไม้ใบ Foliage Plants

“เสือพรานสามสีเป็นต้นไม้ที่สีเหมือนด่าง แต่ไม่ได้ด่าง  เราชอบต้นไม้ที่สีของใบแพตเทิร์นประมาณนี้  ที่เป็นแบบไล่สีเขียวหลาย ๆ เฉดในใบเดียวกัน และมีหลายลักษณะ จะมีลักษณะที่เขียวเยอะเป็นลายพรางสลับเต็มทั้งใบ หรือมีเส้นสีเงินเป็นทางตามแนวเส้นกลางใบตั้งแต่โคนถึงปลาย และมีทั้งแบบใบแหลม ใบกลม

“ความจริงเสือพรานสามสีเป็นต้นไม้ที่เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว แต่ถูกจำกัดอยู่ในมือของนักสะสม  เป็นไม้ใบที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ชอบอากาศชื้น เดิมราคาก็ไม่ได้ถูกมาก ประมาณ ๑,๐๐๐ บาทบวกลบ เพิ่งจะปีสองปีนี้ที่ราคากระโดดขึ้นตามความต้องการของตลาด หลังจากมีคนรู้จักเยอะขึ้น 

“สำหรับผมนี่เป็นต้นที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว”
Monstera borsigiana albo 
(Holland) variegated
มอนสเตอรา บอร์ซิเกียนา อัลโบ ฮอลแลนด์ ด่าง
ธงชัย สีฟ้า
พนักงานราชการ

“ตอนที่ได้มาเหมือนเขาอาการไม่ค่อยดี  ดูแลรักษามาจนวันนี้เขาดูงามขึ้นเยอะ มีใบใหม่แตกออกมา  มอนสเตอราฯ ฮอลแลนด์ ด่าง เป็นไม้ใบที่เราดูแลเป็นพิเศษแล้วเขารอด มีใบใหม่ออกมาสวย ก็เลยยิ่งรู้สึกชอบเป็นพิเศษ  ถ้าตอนนั้นเขาตายไปคงเสียดายมาก และถ้าไม่ได้ลงมือรักษาก็คงเสียใจ ก่อนหน้านี้เคยมีบางต้นที่เรารักษาไม่ทันก็มี

“สภาพแวดล้อมและแสงมีผลกับต้นไม้เยอะ  การปลูกต้นไม้หลังห้องทำให้ต้นไม้เราโตช้า และอาจจะเกิดโรคเกิดแมลงได้ง่าย ไม่เหมือนเลี้ยงในระบบปิดหรือสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า เขาจะโตเร็วกว่า  ต้นไม้ชนิดเดียวกันวางหลังห้องเรา กับวางโรงเรือนชื้น ๆ มันชอบแบบหลังอยู่แล้ว หรือวางใต้ต้นไม้ก็ดีกว่าวางในร่มอาคาร เพราะปูนบางทีก็คายความร้อน

“ที่หลังห้อง เราเลือกใช้เฟินสไบนางมาแขวนกันความร้อน ช่วยพรางแสง และพอจะช่วยเรื่องความชื้นได้บ้าง แต่ถามว่าดีกว่าโรงเรือนไหม มันสู้ไม่ได้อยู่แล้วละ ความร้อนมีเยอะกว่า การระบายอากาศยากกว่า

“แต่เมื่อเรามีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ก็ต้องเอาอย่างนี้ครับ”

Image
Sansevieria ‘‘Chao Phra Ya’’ and Aglaonema ‘‘Suk Som Jai Pong’’
ลิ้นมังกร ลูกผสม “เจ้าพระยา”  และ แก้วกาญจนา (อะโกลนีมา) ลูกผสม “สุขสมใจปอง”
“จิ๋ว” ปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง
อุปนายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย, นักปรับปรุงพันธุ์

“สมัยก่อนลิ้นมังกรจะยาว ๆ เก้งก้าง โฉ่งฉ่าง คนบางคนไม่นิยม แต่ลิ้นมังกรใบสั้นฟอร์มกระชับ เรียกว่าทรงคอมแพกต์ ไซซ์มินิ ต้นเล็ก ๆ ไม่ใหญ่ไม่โต เลี้ยงในคอนโดฯ เลี้ยงในห้องง่ายกว่า  ลิ้นมังกรเป็นไม้ฟอกอากาศในบ้านที่ทนที่สุด อดน้ำเดือนหนึ่งไม่ตาย ตั้งทั้งปียังได้  แฉะหน่อยก็ยังปรับตัวอยู่ได้ ต้นที่เห็นนี้เป็นสีใหม่ ๆ ของลิ้นมังกร เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์  

“อีกต้นคือสุขสมใจปอง มีประวัติยาวนาน เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ขายดีที่สุด ลูกผสมระหว่างโคชินกับขันหมากชาววัง ทุกวันนี้ประกวดทีไรก็ยังติดอันดับหนึ่งในสามหรือหนึ่งในห้า หรือเข้าชิงยอดเยี่ยม

“การผสมคือการสร้างต้นไม้ต้นใหม่ ๆ สร้างลูกผสมใหม่ให้เกิดความแตกต่างจากต้นเดิม เราเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ก็ต้องคำนึงถึงความสวยงาม ความแข็งแรง สีสันสดใส เลี้ยงง่าย โรค แมลงทำอะไรเขาไม่ค่อยได้  ใช้งานคงทน รายละเอียดต่าง ๆ เช่น มีใบหนา ก้านแข็ง ตั้งอยู่ในร่มได้นาน  

“มีองค์ประกอบหลายอย่างถึงจะเป็นต้นไม้ที่ได้รับความนิยมสูง”

Image
Philodendron spiritus sancti
ฟิโลเดนดรอน สปิริตัส แซงก์ติ
“จอม” ศรุฒ สุวรรณภักดี 
นักแสดงและเจ้าของเพจ Live with plants

“เริ่มต้นจากชอบอักษรย่อของต้นไม้กับชื่อของเราที่ตรงกัน สปิริตัส แซงก์ติ (spiritus sancti) เรียกกันทั่วไปว่าเอสเอส (ss) ตรงกับชื่อผม ศรุฒ สุวรรณภักดี (Sarut Suwanpakdee) ภาษาอังกฤษ ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว s นามสกุลก็ตัว s เหมือนกัน  แล้วก็ชอบลักษณะของรูปใบที่เป็นทรงยาว รวมทั้งความหายากของเขา ก็เลยยิ่งชอบมากเป็นพิเศษ  นี่เป็นไม้ใบที่นักสะสมต้องการเก็บมาครอบครอง  เราก็คือหนึ่งในนั้น เป็นไม้ในฝัน

“จริง ๆ แล้วเอสเอสดูแลไม่ยาก แต่การเพาะพันธุ์อาจจะยากนิดหน่อย ถ้าเราดูแลไม่ดี มีโอกาสเน่าหรือยุบตัวไป  เอสเอสเป็นต้นไม้ที่เพาะพันธุ์ทำจำนวนยาก ถึงมีค่ามากและมีราคาสูง  ต้นนี้ถ้าซื้อขายผมว่าใบละแสนกว่าบาท  เมืองไทยน่าจะมีอยู่หลัก ๑๐ ต้น แต่ก็มีคนที่นำเข้ามาขายด้วย อยู่ที่ว่าคนซื้อต่อสามารถเลี้ยงได้ดีหรือเปล่า ถ้าเลี้ยงไม่ดีก็อาจตาย เพราะเป็นไม้ชำยาก

“ปลูกต้นไม้ต่างจากเล่นละคร  มันเป็นงานที่เราต้องบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ มากกว่า ละครเหมือนเราไปถึงกองถ่ายก็ทำตามผู้กำกับฯ ทำตามบทละคร แต่ปลูกต้นไม้เราต้องเริ่มมาตัดชำเอง  ต้นไม้ชนิดไหนเพาะพันธุ์อย่างไร เลี้ยงดูอย่างไร ต้องดูแลใส่ใจ 

“ต้องศึกษาตลาดเองว่าตอนนี้ต้นอะไรราคาเป็นยังไง  มันละเอียดอ่อน”

Image
Monstera obliqua
มอนสเตอรา โอบลิกัว
“นก” นภารัตน์ จุ่มศรี 
เจ้าของร้าน Philo By Me 

“ชื่อทางการตลาดเรียกว่าโอบลิกัวยักษ์ ไม่ใช่ทั้งพันธุ์เปรูและไม่ใช่พันธุ์แอมะซอนัส (Amazonas) ชอบต้นนี้เพราะยังไม่ค่อยมีในประเทศไทย คนขายไปเดินป่าต่างประเทศมาช่วงก่อนเกิดโควิดแล้วบอกว่าน่าจะเป็นโอบลิกัวชนิดหนึ่ง ตอนที่ได้มาเป็นท่อน ท่อนหนึ่งมีสี่ใบ เลี้ยงมาประมาณ ๑ ปีครึ่ง ใบทั้งสี่ที่เห็นตอนนี้เป็นใบที่แตกออกมาใหม่ ขยายพันธุ์ขายไปแล้วชุดหนึ่ง ต้นละ ๒ แสนบาท

“เสน่ห์ของโอบลิกัวยักษ์คือรูปทรงใบที่มีรูขนาดใหญ่ แล้วขอบใบบาง ๆ ส่วนที่อยู่ติดกับรูเหมือนมีเส้นส่วนเกิน ถ่างใบให้ตึงจะเห็นรายละเอียดแปลก ๆ ของเส้นบาง ๆ ตรงขอบใบ  สมมุติว่าเส้นขอบใบที่เชื่อมรูอาจจะยาวแค่ ๓ มิลลิเมตรก็ได้ แต่กลายเป็นว่ามันยาว ๘ มิลลิเมตร ก็เลยมีส่วนย้วยเหมือนกับหนังยางที่ยืดแล้ว  เราว่ามันแปลก ขอบใบมีเส้นยาวเกินจำเป็นที่ไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม นี่เธอย้วยออกมาทำไมกันนะ แล้วเวลาถ่างใบให้ตึงก็จะเห็นความไม่สมมาตร  

“บางคนเรียกต้นรูเดียว แต่ไม่แน่นะ เพิ่งเห็นเขามาปีกว่าอาจจะมีรูมากกว่านี้ก็ได้ ยังตอบไม่ได้ว่านี่เต็มฟอร์มหรือยัง

“เราเลี้ยงไม้ใบเพราะชอบ ไม่ได้เลี้ยงเพราะมูลค่า ต้นละ ๑๐๐ กว่าบาทก็สวย  การทำไม้ใบส่วนหนึ่ง
คือเราต้องชอบ ถ้าชอบก็อยู่กับเขาได้ 

“ถึงบางช่วงขายไม่ได้ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนมากเกินไป”

Image
Monstera obliqua
มอนสเตอรา โอบลิกัว
“เคน” ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค
นักแสดง

“โอบลิกัวเปรูเป็นสายพันธุ์ที่เซ็กซี่ มีเสน่ห์ พลิ้วไหว เท่าที่ผมศึกษาข้อมูลจากตำราต้นไม้ของต่างประเทศ มีคนไปหาโอบลิกัวมาเลี้ยงกันตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว แต่ในเมืองไทยผมคิดว่ายังไม่ค่อยมีให้เห็น ก็เลยลองตามหา จนได้พบกับโอบลิกัวจากเปรู  ในใจคิดว่าโอบลิกัวน่าจะมีหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ฟอร์ม เลยลองตามหาฟอร์มต่าง ๆ มาดูอีก  จนถึงตอนนี้ผมกับเพื่อนช่วยกันรวบรวมมาได้แล้วประมาณเจ็ดฟอร์ม นอกจากฟอร์มเปรูที่พบเป็นแบบแรกแล้ว ก็มีฟอร์มเอกวาดอร์ซึ่งมีสองแบบ มีฟอร์มแอมะซอนัส (Amazonas) แต่ละแบบก็มาจากแต่ละประเทศ

“ผมชอบมอนสเตอรา ตอนแรก ๆ ชนิดที่ชอบที่สุดคือ Monstera Thai constellation ถึงเวลานี้ก็ยังชอบมาก แต่พอได้รู้จักไม้ใบหลายชนิด ได้เห็นว่าแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นไม่เหมือนกัน  กลายเป็นว่าชอบทั้งหมด ดูได้ทั้งหมด ที่ผมมีอยู่เยอะ ๆ ก็พวกมอนสเตอรา ค่อย ๆ เก็บสะสมไป  

“ต้นอื่นชนิดอื่นก็เลี้ยงไว้ เราชอบที่ได้เฝ้าดูเขาเจริญเติบโต อยากเห็นและอยากรู้ระยะเวลาที่เขาใช้ในการเติบโต เวลาที่เขาแตกใบออกมาเรื่อย ๆ ว่าจะเป็นยังไง”

Image
Philodendron maximum
ฟิโลเดนดรอน แมกซิมัม
เสวก ริ้วบำรุง
Little Tree Garden สวนสามพราน

Image
“ไม้ใบกลุ่มฟิโลฯ ชอบน้ำมาก วันละสองเวลายิ่งดี ถ้าอากาศ อย่างนี้ ฝนไม่ตก  ชอบชื้น แต่ไม่ชอบแฉะ พอเจอน้ำเข้าก็ยิ่งงาม เราคนอยู่กับต้นไม้ ถ้าไม่มีต้นไม้ก็เหงา

“เล่นไม้มาก็หลายอย่าง นึกไม่ถึงว่าฟิโลฯ จะมาแรงขนาดนี้ ทำเงินกันมหาศาล  เกษตรอย่างอื่นก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่มาแรงหวือหวาอย่างฟิโลฯ แรงเหลือเชื่อแล้วฮิตนาน เหมือนราคาปั่น แต่ซื้อกันจริง คนรุ่นเก่า ๆ ที่ไม่รู้ยังไม่เชื่อเลยว่าไม้อะไรต้นนิดเดียวต้นละแสน พูดแล้วเหมือนโกหก

“ฟิโลฯ มีเป็นร้อย ๆ ชนิด ได้ลูกผสมก็กลายเป็นอีกอย่าง คนเขาตั้งชื่อใหม่ บางตัวเราชอบ แต่บางตัวทำเงินให้  อย่างฟิโลฯ แมกซิมัมผมเคยขายผิดราคาไป ๔๐ กว่าต้น จากที่ขายไป ๑๐,๐๐๐ เขาไปขายกันต่อ ๒๕,๐๐๐

“ตอนแรก ๆ ผมบ่น ต้นนี้เลี้ยงยาก ขยายพันธุ์ไม่ออก ฝรั่งมาขอซื้อ แต่มันทำยาก วันดีคืนดีก็ทำสำเร็จขึ้นมา ได้มาเป็นร้อยต้น ทำจำนวนออกมาได้มาก  

“สังเกตว่าถ้าตัดจากต้นใหญ่ตาไม่ค่อยแตก ก็เลยมาหวงต้นเล็ก ๆ  ต้นเล็กก็ต้องเก็บรักษาไว้”

Image
Anthurium clarinervium
แอนทูเรียม คลาริเนอร์เวียม
จิตรทิวัส พรประเสริฐ
นักเขียนและช่างภาพ

“ชอบเพราะเส้นใบสวย รูปทรงแปลกเป็นรูปหัวใจ ฟอร์มใบบาลานซ์ สมมาตรกัน  เราเป็นคนชอบต้นไม้ที่มีใบเป็นกำมะหยี่อยู่แล้ว แล้วนี่เส้นใบชัดเป็นสีเงิน สวยมาก

“ที่บ้านมีอยู่สองต้น วางไว้ในสวน ใต้สแลน  ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเขาชอบที่โปร่ง  ในธรรมชาติขึ้นตามซอกผาหินปูน วัสดุปลูกต้องใช้หินภูเขาไฟเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ ใช้หินภูเขาไฟผสมประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ 

“เขาเป็นไม้โตช้า ช้ามาก ไม่เหมือนฟิโลเดนดรอนหรือมอนสเตอรา หนึ่งเดือนอาจจะออกแค่ใบเดียว หรือ ๒ เดือนหนึ่งใบ  ซื้อมา ๓ เดือนแล้วตอนนี้เพิ่งออกใบใหม่มาสองใบ ขนาดเท่าเดิม แต่ราคาในท้องตลาดเห็นว่าเพิ่มขึ้นแล้วประมาณสามเท่า  เหตุผลที่แพงขึ้นในช่วงสั้น ๆ น่าจะเป็นเพราะว่าคนมีฟิโลฯ กับมอนฯ กันเยอะแล้ว ก็เลยหันมาเก็บหน้าวัวใบ

“คนอาจจะทยอยเก็บทีละตัว ๆ ไปเรื่อย ๆ มันก็เกิดเป็นกระแส”

Image
Epipremnum aureum
พลูด่าง
สุรัตน์ วัณโณ
บ้านก้ามปู

Image
“ผมชอบหมด ชอบหมดจริง ๆ มันไม่มีอะไรที่เป็นพิเศษ ชอบทุกอย่างเลย ต้นไม้นี่ เฟิน ปาล์ม ผมก็ชอบ ปลูกจนเต็มบ้านไปหมด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร พลูเราก็ปลูกทิ้ง ๆ ไว้ แล้วตัดมาใส่กระถาง เนี่ยดูสิ ตัดมาจิ้ม ๆ ไว้อย่างนี้ ไม่มีใครทำ  ชอบเพราะมันใช้งานได้ดี เอามาจิ้ม ๆ แล้วมันก็น่ารัก สวย คุณยอมรับไหม เอาไปวางหน้ากระจกก็ดี  มันอยู่ที่คนดูแล กว่าจะได้อย่างนี้ มันต้องมีหลักการ  เอาใบที่มันแคระ ๆ แกร็น ๆ มารวมกัน มันก็สวย ต้นใหญ่ ๆ ก็จิ้ม ๆ ไป เวลาเราทำก็ขายได้ ๑๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท มันต้องมีเทคนิค กระถางเล็กก็ต้องใบเล็ก ใบเล็กก็ต้องมาอยู่กระถางเล็ก ใบใหญ่ก็อยู่กระถางใหญ่ ถ้าเราเอาไปปลูกลงดินให้เลื้อยก็ใหญ่ เป็นธรรมดา ที่บ้านก็ลงดินไว้ มันก็เลื้อยสะเปะสะปะไป

“เราก็ไปเลือกตัดมา เอาเฉพาะที่แกร็น ๆ มาใส่กระถางไว้ มันก็น่ารักดี”