(เบื้องหลัง)
ภาพถ่ายสารคดี
สนทนาสารคดี
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
นี่คือสารคดีเรื่องการถ่ายภาพสารคดี ผมเขียนเรื่องนี้ขณะลงพื้นที่ปัตตานีเพื่อทำสารคดีกับเพื่อนช่างภาพเมื่อช่วงกลางเดือนที่แล้ว ตั้งใจว่าจะให้เบื้องหลังการทำงานครั้งนี้เป็นสารคดีอีกเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาว่าด้วยวิธีการถ่ายภาพสารคดี
ต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่าภาพถ่ายสารคดีไม่ใช่ภาพประกอบแต่เป็นการเล่าเรื่องผ่านชุดภาพ เช่นเดียวกับที่นักเขียนเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ แต่ครั้นมาตีพิมพ์เคียงคู่อยู่ด้วยกัน บ่อยครั้งภาพถ่ายสารคดีมักถูกเรียกว่าภาพประกอบ การเรียกขานด้วยคำนี้อาจทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นฝ่ายรอง เป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนตามของงานเขียน ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
ในสารคดีเรื่องหนึ่ง ๆ ที่มีภาพตีพิมพ์อยู่คู่กับเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร สารคดี รูปและเรื่องมีศักดิ์ศรีเท่ากัน เป็นส่วนเสริมส่งกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดเป็นส่วนประกอบของอีกฝ่าย นักเขียนเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ขณะที่ช่างภาพก็เล่าเรื่องเดียวกันผ่านชุดภาพถ่าย
กระบวนการทำงานก็คู่ขนานกันไป ระหว่างที่นักเขียนทำการบ้านอ่านข้อมูลก่อนลงพื้นที่ วิจิตต์ แซ่เฮ้ง เพื่อนช่างภาพที่จะทำเรื่องปัตตานีด้วยกัน ก็ทำการบ้านวางแผนงานของเขา
“ใช้สูตรเดียวกับการวางโครงเรื่องของงานเขียน” นั่นหมายถึงช่างภาพก็ต้องศึกษาข้อมูลไม่ต่างจากนักเขียน แล้วตีความสื่อผ่านภาพ “แยกส่วนต่าง ๆ ทำเป็นแผนผังแสดงความสัมพันธ์ ประเด็นหลัก ประเด็นรอง แยกเป็นส่วน ๆ ให้ครอบคลุมเรื่องที่จะทำ”
หลักพื้นฐานข้อหนึ่งของภาพถ่ายนั้น เป็นงานที่ต้องจบจากในพื้นที่ ต่างจาก
นักเขียนที่ยังมีโอกาสกลับมาค้นคว้าหาทางประกอบสร้างตัวเรื่องขึ้นภายหลังก็ได้นักเขียนเล่าเรื่องด้วยปลายปากกาผ่านหน้ากระดาษ อาจพอเลือกที่นั่งทำงานได้ แต่ภาพถ่ายเขียนด้วยแสง การเลือกช่วงเวลาถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
การวางแผนก่อนลงพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญลำดับต้น ๆ สำหรับช่างภาพ ดูตารางหรือช่วงเวลาที่เหมาะกับการถ่ายภาพ รวมถึงส่วนที่เรียกว่า จินตนาการ ในงานถ่ายภาพ
งานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี จัดในช่วงสัปดาห์หลังตรุษจีน แต่การศึกษาข้อมูล เพื่อนช่างภาพเห็นจุดสำคัญของงานอยู่ที่พิธีลุยไฟ เขาต้องไม่พลาดถ่ายเหตุการณ์ที่เหมาะจะเล่าด้วยภาพถ่ายเช่นนี้ ซึ่งบางกรณีอาจไม่ใช่จุดที่งานเขียนให้ความสำคัญก็ไม่เป็นไร
ในหัวเรื่องเดียวกัน การเล่าผ่านเรื่องและรูปอาจเลือกจุดเน้นไม่ทับซ้อนกันทั้งหมดก็ได้
และที่สำคัญในการนำเสนอต้องเป็นชุดภาพที่เล่าเรื่อง
“หลักง่าย ๆ ต้องมีภาพเปิดที่ทำให้อยากตามดูต่อ จากนั้นจะเล่าเรื่องตามลำดับเวลา หรือตามประเด็น อย่างเรื่องลุยไฟงานเจ้าแม่ฯ นอกจากภาพรวม นักเล่าเรื่องต้องมีรายละเอียด เปลวไฟจากทางมะพร้าว มือที่สาดเกลือลงในกองไฟ อิริยาบถ หน้าตาของคนหามเกี้ยวย่ำผ่านกองไฟ”
บางวันเราออกจากในเมืองไปเก็บข้อมูลแถวชายทะเลและวิถีประมงพื้นบ้านของชาวมุสลิมแถบหมู่บ้านตันหยงเปาว์ต่อเนื่องถึงบ้านบางตาวา ซึ่งเป็นย่านมีชื่อเรื่องการทำปลาเค็ม โดยเฉพาะปลากุเลาเค็มที่มีราคากิโลละเป็นพันบาท แต่แนวฝั่งแถวปากแม่น้ำบางตาวาประสบปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง ซึ่งมีการแก้ปัญหาด้วยการวาง “ตุ๊กตาญี่ปุ่น” แท่งซีเมนต์ทรงกระบอกที่มีแง่งแขนขาเก้งก้าง เรียงรายไปตามแนวฝั่งน้ำ เป็น subject หนึ่งที่ช่างภาพต้องการนำเสนอในเรื่อง
“จะให้มีมิติต้องถ่ายย้อนแสง และแสงที่ดีที่สุดต้องเป็นเช้าและเย็น” ช่างภาพที่มีประสบการณ์จะรู้เรื่องนี้ แต่มากกว่านั้นคือจินตนาการ
“การคะเนคาดเดาเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้า เย็นแล้วเรือคงกำลังจะกลับฝั่ง ผ่านแนวตุ๊กตาเข้ามา แล้ววางคอมโพสฯ ให้มีแผงตากปลาอยู่ในภาพด้วย ก็จะช่วยเสริมส่งรูปที่จะเล่า ทำให้รูปมีเรื่องราว คนดูเห็นแล้วรู้ว่าจะบอกเล่าเรื่องอะไร”
หลังลุยงานในพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งนี้ด้วยกันเป็น ๑๐ วัน เพื่อนช่างภาพผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเกิน ๒๐ ปี เป็นครูสอนถ่ายภาพในค่ายสารคดีมาเป็น ๑๐ ปีอีกด้วย เผยสูตรที่เป็นเสมือนหลักการเบื้องหลังของภาพถ่ายนับพัน ๆ ภาพจากปัตตานีในทริปนี้ รวมทั้งในการทำงานถ่ายภาพทั้งหลายว่า ล้วนตั้งอยู่บนหลักห้าประการ ที่เรียกโดยรวมว่า EDFAT
E
entire ภาพมุมกว้าง
ที่เห็นภาพรวมของเรื่อง
D
details เน้นให้เห็นรายละเอียด
อารมณ์ แบบเจาะลึกใกล้ชิด
F
frame การจัดวางองค์ประกอบ
ในกรอบสี่เหลี่ยม ในเฟรมแนวตั้งและแนวนอน
A
angles มุมกล้อง มุมมองผ่าน
เลนส์ขนาดใกล้-ไกล มองจากมุมบนที่เรียกว่า
สายตานก หรือมุมเงยที่เรียกว่ามุมมด เป็นต้น
T
time การเลือกช่วงเวลา แสง
จังหวะการกดชัตเตอร์ที่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนกรอบหรือขอบเขตแนวคิดการถ่ายภาพสารคดี ที่จะทำให้ถ่ายภาพได้ครอบคลุมครบถ้วน ได้ภาพหลากหลายเพียงพอสำหรับการนำมาคัดเลือกเป็นภาพชุดเล่าเรื่อง
เป็นแนวทางการถ่ายภาพเบื้องต้นที่ช่างภาพหัดใหม่สามารถนำไปทดลองใช้เริ่มต้นฝึกถ่ายภาพ ส่วนการพัฒนาทักษะฝีมือในขั้นสูงขึ้นไปต้องไม่ลืมว่ามีภาพถ่าย มีภาษาภาพ มีสัญลักษณ์ที่สามารถสื่อสารกับทุกคนได้อย่างเป็นสากล
ในงานเขียนเราสามารถสื่อผ่านตัวหนังสือได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็มีข้อจำกัดสำหรับคนต่างชาติต่างภาษา ขณะที่ภาพถ่ายไม่ถูกจำกัดด้วยภาษา อยู่ที่ว่าช่างภาพจะสื่อให้คนดูที่มีพื้นฐานแตกต่างหลากหลายกันไปเข้าใจเนื้อสารในภาพถ่ายใบเดียวกันได้