หนูชื่อเต่ามะเฟือง
ลัลลั้ลลา มาม้ามา
ออกจากไข่มาลงทะเลกัน
โลกใบใหญ่
เรื่องและภาพ : มงคลสวัสดิ์ เหลืองวรพันธ์
คืนที่ ๒ เวลา ๒๐.๔๕ น. ลูกเต่ากว่า ๔๐ ตัว
ขึ้นจากหลุมทรายพร้อมกัน
น่าตื่นเต้นและน่ายินดีที่ฤดูกาลวางไข่ของเต่ามะเฟืองปีนี้มีแม่เต่าวางไข่ถึง ๑๑ รัง
รังแรกมาเร็วกว่าปีก่อน ๆ ปรกติแม่เต่าจะวางไข่ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ พบแม่เต่าขนาดใหญ่ น้ำหนักกว่า ๕๐๐ กิโลกรัม ขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
สิบวันต่อมาแม่เต่าวางไข่ที่หาดบ่อดาน จังหวัดพังงา
๔ มกราคม ๒๕๖๓ รังที่ ๓ เป็นข่าวใหญ่ เมื่อไข่เต่ามะเฟืองถูกคนขโมยจากหาดท้ายเหมือง มีรางวัลนำจับถึง ๑ แสนบาท แต่ไม่สามารถจับผู้ร้ายได้
ภายในเดือนมกราคมเต่ามะเฟืองวางไข่มากถึงเจ็ดรัง พบที่เกาะภูเก็ตสามรังและจังหวัดพังงาอีกสี่รัง
เดือนกุมภาพันธ์ แม่เต่ามะเฟืองสามตัววางไข่ไล่เลี่ยกัน
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ที่หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ๙ กุมภาพันธ์ ที่หาดบ่อดาน จังหวัดพังงา และวันที่ ๑๐ รังสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูวางไข่ ที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ปรกติแม่เต่าหนึ่งตัวจะวางไข่สองถึงสี่ครั้ง โดยทิ้งระยะห่างประมาณ ๑๒ วัน
รั้วไม้สองชั้นกั้นขึ้นเพื่อป้องกันมนุษย์มาขโมยและสัตว์มาคุ้ยเขี่ย
มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าตลอดเกือบ ๖๐ วัน
หลังจากแม่เต่าวางไข่ ระยะเวลาฟักไข่จะอยู่ในช่วง ๕๕-๖๕ วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของหลุมทรายที่อยู่ลึกลงไป ๖๐-๘๐ เซนติเมตร เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) เป็นเต่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่ยาว ๒๑๐ เซนติเมตร และหนักถึง ๙๐๐ กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำ มีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาวเจ็ดสัน
เต่ามะเฟืองอาศัยอยู่ในทะเลเปิด ดำน้ำได้ลึกถึง ๑,๒๘๐ มตร อาหารหลักคือแมงกะพรุน พบในประเทศไทยช่วงฤดูวางไข่บริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต
ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๖๒
วันที่ ๒๖ มีนาคม รังที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ครบกำหนด ๕๕ วันที่จะฟักออกเป็นตัว
รังนี้แม่เต่าขึ้นมาวางไข่หน้าวิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมือง ๑๐๕ ฟอง และได้รับการย้ายไข่เต่ามาไว้ในเขตอุทยานฯ เพื่อความสะดวกในการเฝ้าระวัง
เมื่ออาทิตย์อัสดง ท้องฟ้าเริ่มมืดมิด อุณหภูมิเหนือพื้นผิวลดลงต่ำกว่าหลุมไข่ด้านล่าง อุณหภูมิที่แตกต่างจะเป็นตัวกำหนดการเคลื่อนที่ของลูกเต่า โดยจะเคลื่อนที่ช่วงที่อุณหภูมิสูงเปลี่ยนเป็นอุณหภูมิต่ำในช่วงกลางคืนหรือเช้า
จนกระทั่งเวลา ๑๙.๓๐ น. ลูกเต่าสองตัวขึ้นมาจากหลุมทรายลึกกว่า ๖๐ เซนติเมตร
อีก ๑ ชั่วโมงต่อมา ลูกเต่าขึ้นมาพร้อมกันกว่า ๒๐ ตัว พวกมันคลานลงทะเลทันที ทุกคนดีใจมาก เต่าทุกตัวแข็งแรง พายคู่หน้าขนาดยาวตวัดบนผืนทรายอย่างแคล่วคล่อง
ลูกเต่าออกจากไข่กว่า ๔๐ ตัว ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ รอเวลาพลบค่ำ
เพื่อเลี่ยงอุณหภูมิร้อนจัดและอันตรายจากศัตรู
ระยะทาง ๔๕ เมตรจากปากหลุมถึงทะเลใช้เวลาไม่นานนัก ลูกเต่าจากบกได้สัมผัสน้ำเป็นครั้งแรก ถูกคลื่นซัดไปมาและว่ายลงสู่ทะเลอย่างคล่องแคล่ว
ค่ำคืนนั้นมีลูกเต่าขึ้นมาเพียง ๒๖ ตัว
ลูกเต่าจะว่ายน้ำไม่หยุด ๕-๖ วัน เพื่อออกสู่ทะเลลึก โดยอาศัยพลังงานจากถุงไข่แดงบริเวณหน้าท้อง
...
เช้าวันถัดมาเวลา ๐๖.๐๐ น. เจอลูกเต่าอยู่ในคอกที่กั้นไว้หนึ่งตัว เจ้าหน้าที่นำมาใส่กล่องโฟม รองด้วยผ้า ให้เต่าน้อยว่ายน้ำ โดยยังไม่ปล่อยสู่ทะเลตอนกลางวัน เพราะเกรงว่าลูกเต่าอาจตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
บ่ายวันนั้นอากาศร้อนมาก ท้องฟ้าไร้หมู่เมฆ มีลูกเต่าทยอยโผล่หัวออกมาประปราย
เจ้าหน้าที่นำผ้าใบมาคลุมกันแดดและฉีดน้ำทุกชั่วโมง
ตกเย็นลูกเต่าโผล่หัวจากทรายนับได้ถึง ๔๐ ตัว สร้างความปีติให้เจ้าหน้าที่ทุกคน
จนกระทั่งเวลา ๑๙.๔๕ น. ลูกเต่าสองสามตัวเริ่มคลานออกมา เวลาใกล้เคียงกับคืนแรกมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก ลูกเต่ากว่า ๔๐ ตัวต่างพรูขึ้นมาจากทราย สร้างความดีใจและวุ่นวายให้เจ้าหน้าที่ไปพร้อมกัน เพราะต้องช่วยกันนับจำนวนและดูแลให้ลูกเต่าคลานลงทะเลอย่างปลอดภัย
คืนที่ ๒ ลูกเต่าฟักเป็นตัวมากถึง ๔๗ ตัว
เจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยง นำทางให้ลูกเต่าเดินลงสู่ทะเลด้วยตัวเองทันทีหลังขึ้นจากทราย ระยะทางราว ๕๐ เมตร
ลูกเต่าว่ายน้ำอย่างคล่องแคล่วเมื่อคลื่นซัดลงทะเล และจะว่ายต่อไป ๕-๖ วันโดยไม่หยุดพัก เพื่อออกสู่ทะเลลึกที่ปลอดภัย
...
เช้าวันที่ ๓ พบลูกเต่าสองตัว ตัวหนึ่งมีเชื้อราขาวขึ้นบนแผ่นหลังจาง ๆ แต่ร่างกายยังคงแข็งแรงดี เจ้าหน้าที่แยกใส่กล่องโฟม
เย็นวันนี้มีเต่าโผล่หัวขึ้นมาเพียงไม่กี่ตัว คืนนั้นทั้งคืนมีเต่าขึ้นมาเพียง ๑๐ ตัว แต่ยังมีไข่เต่าเหลืออยู่ ๒๒ ฟอง
เช้าวันที่ ๔ ไม่มีลูกเต่าให้เห็น จนกระทั่งบ่ายมีลูกเต่าขึ้นมาหนึ่งตัว มีเชื้อราขึ้นชัดเจน
พลบค่ำเจ้าหน้าที่เปิดหลุม ยังมีไข่อีก ๒๑ ฟอง ลึกลงไปกว่า ๕๐ เซนติเมตร พบเปลือกไข่จำนวนมาก มีไข่ไม่ได้รับการผสม ๑๑ ฟอง ได้รับการผสม แต่หยุดพัฒนา (มีตัวอ่อนแล้ว) ๗ ฟอง ตายโคม ๓ ฟอง
...
จากไข่ทั้งหมด ๑๐๕ ฟอง และทำการย้ายรัง รวมไปถึงให้ลูกเต่าฟักเป็นตัวตามธรรมชาติถึง ๔ คืน มีลูกเต่าฟักเป็นตัวปล่อยลงสู่ทะเลทั้งหมด ๘๔ ตัว อัตราการรอด ๘๙.๔ เปอร์เซ็นต์ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นยิ่งนัก
ทุกคนตั้งความหวังเล็ก ๆ ว่า สักวันหนึ่งลูกเต่าที่จากไปจะกลับมาวางไข่ที่นี่อีกครั้ง
แม้อัตราการรอดจนถึงตัวเต็มวัยจะมีเพียง ๑ ใน ๑,๐๐๐ เท่านั้น...
ขอขอบคุณ
ปรารพ แปลงงาน
หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติ
ทางทะเลที่ ๒ จังหวัดภูเก็ต
ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส
หฤษฎ์ชัย ฤทธิช่วย
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
พชรพล รักษ์แป้น
ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
ปฏิบัติหน้าที่วิทยาศาสตร์