Image

ทำไมกลัวไวรัสแต่ไม่กลัวฝุ่น ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพ : นายดอกมา

Image

ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวภัยพิบัติชวนตกใจหลายข่าว ในจำนวนนี้มีข่าวฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมาเล่นงานคนเมืองกรุงและอีกหลายจังหวัดอย่างสาหัส และข่าวการระบาดของโรคอุบัติใหม่ “COVID-19” ที่มีสาเหตุมาจากไวรัสโคโรนา เริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

แม้จะมีคนกังวลทั้งสองเรื่องอยู่มาก แต่หลายคนกลับตระหนกตกใจข่าวการระบาดของโรคจากไวรัสโคโรนามากกว่ากรณีของฝุ่นพิษ ดูได้จากคนที่ไม่ได้อยู่ในที่เสี่ยงเจอกับผู้ป่วย หรือไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีนต่างวิตกกันอย่างหนักที่วิ่งหาซื้อหน้ากากไม่ได้ (หรือกลุ้มใจที่หาได้ แต่มีราคาแพง)  แต่ในทางกลับกันมีการจัดแข่งขันวิ่งกลางเมืองที่มีคนเข้าร่วมหลายหมื่นคน ขณะที่ระดับฝุ่นในอากาศถึงขั้นเป็นอันตราย แถมนักวิ่งบางคนยังมองว่านี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ร่างกายที่แข็งแรงสู้ได้ทุกอย่าง - ซึ่งไม่จริง !

ทำไมคนจำนวนมากจึงดูเหมือนกลัวโรคจาไวรัส “มากกว่า” โรคจากฝุ่น ?

ไกลตาประเมินต่ำ 
ตำตาประเมินสูง

มีงานวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ให้คำตอบได้ เป็นเรื่องของการประเมินความเสี่ยงสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง (overestimating and underestimating risk)

ตัวอย่างที่ใช้ทดสอบก็มีตั้งแต่เรื่องใหญ่ระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เรื่องส่วนตัวที่กระทบส่วนรวม เช่นเงินบำนาญและเงินออมครัวเรือน ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว แต่อาจพ่วงคนอื่นด้วย เช่น การสูบบุหรี่ พฤติกรรมการขับรถยนต์ ฯลฯ

ปรากฏการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปได้ตรงกันในแทบทุกการทดลองคือ หากเป็นเรื่องรุนแรงชวนตกอกตกใจและเกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือดูแล้วน่าจะใกล้ตัว (ไม่ว่าจะใกล้ตัวจริงหรือไม่จริงก็ตาม) คนมักจะประเมินความเสี่ยง “สูงกว่าความเป็นจริง” แต่ในทางกลับกันอุบัติการณ์ที่ส่งผลระยะยาวหรือประเมินว่าไกลตัวกว่า จะถูกมองว่ามีอันตราย “ต่ำกว่าความเป็นจริง”

ในกรณีที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คืออันตรายจาก COVID-19 ซึ่งอันที่จริงแล้วโอกาสติดเชื้อไม่มากเลย โดยเฉพาะหากไม่ได้เข้าพื้นที่เสี่ยงอย่างสนามบิน รถไฟฟ้า หรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน แต่ข่าวที่ออกถี่ ๆ มีภาพการตรวจอุณหภูมินักท่องเที่ยว ฉีดฆ่าเชื้อในเครื่องบิน หรือข่าวร้าย ๆ การป่วยและตายของผู้ติดเชื้อ ต่างก็มีส่วนช่วยกระพือความกลัวได้มากทีเดียว

ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตก็ชวนให้ตกใจ ยังไม่นับข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ที่ว่าคนติดเชื้อมีนับล้าน ขณะที่มีคนตายเป็นแสน  แม้ว่าหากพิจารณาให้ดีแล้วอัตราผู้เสียชีวิตจะลดลงเรื่อย ๆ ตามรูปแบบโรคระบาดใหญ่มาตรฐาน จนถึงตอนที่เขียนบทความนี้ก็ต่ำกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์แล้ว และยังพบด้วยว่ายาต้านไวรัสอื่น เช่นเอชไอวี ก็มีผลช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย

ในทางกลับกัน ฝุ่นพิษที่กระจายไปทั่วประเทศจนหาพื้นที่หลีกเลี่ยงได้น้อยมากนั้น ส่งผลกระทบกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึงและป้องกันยากมาก โดยเฉพาะผู้ทำงานกลางแจ้ง (การใส่หน้ากากป้องกันทั้งวันนั้นเป็นทุกรกิริยาเป็นอย่างยิ่ง) อีกทั้งยังส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งระยะสั้น เช่นก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ กับคนที่เป็นภูมิแพ้หรือแม้แต่คนทั่วไป และยังสะสมและส่งผลระยะยาวกับทุกคนอย่างไม่มียกเว้น เช่นลดสติปัญญาในเด็กเล็ก

แต่เรื่องนี้กลับถูกละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยในแทบทุกระดับ แม้แต่ระดับประเทศซึ่งควรจะถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงที่ต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้นและยาวอย่างเหมาะสมก็ตาม

Image

ความเฟลในสายเลือด

พลาด ๆ เช่นนี้ อาจฝังอยู่ในสายเลือดและยากจะแก้ไข

ในมุมมองทางวิวัฒนาการ คนยุคโบราณจะวุ่นอยู่กับภารกิจตรงหน้า ไม่ค่อยมีโอกาสคิดไกล ๆ ถึงเรื่องอนาคต เช่นบรรพบุรุษของเราอาจเจอหมี เสือ สิงโต หรือสัตว์ร้ายได้ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลว่าเมื่อเจอแล้วก็ต้องประเมินเหตุการณ์ให้ “ใหญ่” ไว้ก่อน คือ อาจตายได้ ถ้าไม่หนีให้เร็ว

หากมองแล้วคิดว่าเป็นหมีทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ ความเข้าใจผิดแบบนี้เรียกว่า “ผลบวกลวงหรือผลบวกเทียม (false positive)” ก็ไม่ได้ก่อความเสียหายอะไรมาก แค่เหนื่อยเปล่าที่วิ่งหนีสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ในทางกลับกัน หากประเมินผิด เจอหมีแล้วกลับไม่คิดว่าเป็นหมี คราวนี้ความซวยก็อาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้

แต่ถ้าเป็นปัญหาในระยะยาวล่ะ ? ในมุมมองทางวิวัฒนาการ หากช่วงที่ว่ายาวเกินกว่าระยะเวลาที่เราจะมีลูกหลานได้ ก็แทบจะไม่ถือว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำ เพราะเราได้ถ่ายทอดยีนไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้ใช้อธิบายได้ดีว่า ปัญหาอย่างเรื่องการสูบบุหรี่แล้วเป็นมะเร็งปอดอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นไม่ได้ทำให้สิงห์นักสูบเป็นห่วงสักเท่าไรนัก หากเทียบกับความรู้สึกดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้จากนิโคตินในบุหรี่แต่ละมวน บางคนถึงกับปลอบใจตัวเองว่า โอ๊ย กว่าจะถึงตอนนั้นอาจตายเพราะอย่างอื่นแล้วก็ได้

โดยไม่ได้คำนึงว่า ถ้าอยู่ถึงตอนนั้นจริงจะทรมานมากมายมหาศาลกว่าจะ...ตาย

เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ “ภาวะโลกร้อน (global warming)” ก็เช่นกัน ดูเหมือนไกลตัวมาก เพราะจนเราตายไปแล้วกรุงเทพฯ ก็ยังไม่จมอยู่ใต้น้ำ...อีกตั้ง ๑๐๐ ปีแน่ะ อะไรเทือกนั้น ดังนั้นการรับมืออย่างที่คุณน้อง เกรตา ทุนเบิร์ก บอกว่า “เหมือนไฟไหม้ผมบนหัวเราอยู่” นั้น จึงเป็นการเปรียบเทียบที่ตรงไปตรงมาและเปลี่ยนความรับรู้เรื่องอันตรายให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

Image

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอย่าใช้คำที่ฟังแล้วไกลหรือเบาเสียเหลือเกินอย่างที่นักวิชาการใช้อยู่ คือ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” แต่ควรเปลี่ยนมาใช้คำที่ให้ภาพชัดเจนและส่อถึงความถี่มากขึ้น คือ “ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (extreme weather)” จะทำให้สาธารณชนมองเห็นและยอมรับอันตรายได้ง่ายขึ้น

ผลผ่าดี 
ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การประเมินผลดีหรือประโยชน์ที่จะได้เกินจริง ขณะที่ประเมินผลเสียหรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่ำกว่าความเป็นจริง เหมือนจะเป็นระบบอัตโนมัติตั้งต้น (default) ที่ติดตัวเรามาแต่เกิด

ขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ มีรายงานฉบับหนึ่งเผยแพร่เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๘ (https://doi.org/10.1111/risa.13204) ในวารสาร Risk Analysis (การวิเคราะห์ความเสี่ยง) โดยคณะศาสตราจารย์ยานีฟ ฮาน็อช (Yaniv Hanoch) จากมหาวิทยาลัยพลิมัท ทีมวิจัยให้อาสาสมัครอายุ ๑๙-๗๖ ปี รวม ๓๗๓ คน สมมุติตัวเองว่าเป็นโรคต่างกัน ตั้งแต่โรคเลือด ฟัน หู ไต ฯลฯ และจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยหมอที่ร่วมการวิจัยจะต้องให้ข้อมูลการรักษาอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

แต่ผลข้างเคียงที่บอกกับอาสาสมัครจะไม่จริง เป็นแบบที่ผู้ทดลองคิดขึ้นเอง

จากนั้นให้อาสาสมัครเลือกให้คะแนนความสำเร็จหรือความเสี่ยงสำหรับการรักษาแต่ละแบบ สิ่งที่พบก็คือ โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าร่วมทดลองจะให้คะแนนผลดี “สูงกว่า” ค่ากลางโดยเฉลี่ยที่น่าจะเป็น เช่น คนที่เป็นโรคฟันจะให้คะแนน ๔๘ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่ากลุ่มควบคุม (ที่ได้ข้อมูลจริงทั้งหมด) ที่ให้ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ แต่พอหันไปมองเรื่องความเสี่ยงจากผลข้างเคียง ในกรณีโรคฟัน ความเสี่ยงจากการเกิดเหงือกอักเสบได้รับการประเมินอยู่ที่ ๔๖ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ควรอยู่ที่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ 

ความแตกต่างมากที่สุดเป็นกรณีการผ่าตัดเนื้องอกที่ไต อาสาสมัครประเมินความเสี่ยงเป็นอัมพาตไว้ที่ ๔๓ เปอร์-เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าความเสี่ยงแท้จริงที่ ๕๓ เปอร์เซ็นต์ อย่างมีนัยสำคัญ

ผลการทดลองจึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาสาสมัครประเมินผลดีสูงเกินจริง ขณะที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าจริง

การประเมินมีความเสี่ยง

อีกการทดลองหนึ่ง (https://doi.org/10.1080/00224499.2012.710664) ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ นักวิจัยสำรวจ (ผ่านเว็บไซต์) กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี ๗๕๙ คน โดยเป็นผู้หญิง ๕๘ เปอร์เซ็นต์ พบว่านักศึกษาประเมินประโยชน์จากพฤติกรรมการป้องกันทางเพศสัมพันธ์ผ่านการใช้ถุงยางและยาคุมกำเนิด “ต่ำกว่าจริง” ขณะที่ประเมินพฤติกรรมความเสี่ยง เช่น การดื่มก่อนมีเซ็กซ์ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มก่อนมีเซ็กซ์ ความถี่ของการมีเซ็กซ์ ฯลฯ “สูงกว่าจริง” หากเทียบกับกลุ่มควบคุม

การประเมินค่าต่ำหรือสูงกว่าจริงเช่นนี้เหมือนกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเห็นได้ว่าการประเมินเรื่องความเสี่ยง ผลดีหรือประโยชน์ และการคิดหามาตรการรับมือนั้นยากลำบากมาก ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่ธรรมชาติของนิสัยมนุษย์เองที่รับรู้เรื่องเฉพาะหน้าได้ดีกว่าเรื่องในอนาคตจึงมักแตกตื่นกับเรื่องเฉพาะหน้ามาก ยิ่งในสมัยนี้หากได้รับการกระตุ้นและย้ำเตือนผ่านสื่อด้วยรูปภาพและตัวเลขคนเจ็บป่วยและคนเสียชีวิต

การตระหนักรู้และการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้อย่างกว้างขวางอาจช่วยลดความแตกตื่น ทำให้เกิดความตระหนัก แต่ไม่ตระหนกกับปัญหาที่เผชิญอยู่มากเกินไป โดยมีความเข้าใจว่าเรากำลังทำสิ่งที่ฝืนสัญชาตญาณเดิมที่มีติดตัวและช่วยให้มนุษย์รอดชีวิตในป่ามาได้นานเป็นแสน ๆ ปีมาแล้ว

การขจัดหรือจำกัดความกลัวด้วยความรู้จึงเป็นเรื่องยากมาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้