“เหล็กขูด”
อารมณ์ขันสุดสยิว
ของชาวใต้
hidden (in) museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ไอ้ไหรเหอ... ตัวอยู่ในป่าตาอยู่ในครัว
ไอ้ไหรเหอ... ชื่ออยู่ในครัวตัวอยู่ในป่า
ไอ้ไหรเหอ... ทั้งไขทั้งเคย อยู่บนหลัง
“เหล็กขูด” (ภาษาถิ่นใต้) คือเฉลยของปริศนาที่คนภาคกลางรู้จักในชื่อ “กระต่ายขูดมะพร้าว”
เพื่อให้ได้เนื้อมะพร้าวมาปรุงอาหาร เดิมใช้ช้อนขูดเนื้อเป็นฝอย ต่อมาพัฒนาเป็นฟันซี่ บางชุมชนใช้ซีกไม้ไผ่บากรอยเป็นซี่สำหรับขูด กระทั่งรู้จักตีเหล็กเป็นแผ่นบางตัดรูปโค้งมน ใช้ตะไบถู ทำซี่เล็ก ๆ คล้ายฟันเลื่อยยื่นยาวออกมาเป็นเครื่องมือขูดดูคล้ายฟันกระต่าย ยิ่งเมื่อนำไปประกบกับไม้เนื้อแข็งรูปลำตัวสัตว์เพื่อใช้เป็นที่นั่ง เวลาใช้งานจึงยิ่งดูคล้ายกระต่ายกำลังใช้ฟันขูดมะพร้าว
ชวนมาดู “ห้องวัฒนธรรมมะพร้าว” บนพื้นที่ของ “กลุ่มอาคารหลังคาบลานอ” ในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ตั้งอยู่ที่เกาะยอ เมืองสงขลา ว่าด้วยวิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวใต้ที่ผูกพันกับการใช้ประโยชน์จากต้นมะพร้าว ไม่เพียงแสดงภาชนะจากกะลาอย่างกระบวยตักน้ำ ทัพพี ช้อน ชาม หรืออุปกรณ์ช่วยคั้นน้ำกะทิ ปอกเปลือกมะพร้าว จัดระเบียบมะพร้าวที่ยังไม่ใช้ ยังมีเครื่องดนตรีซออู้ เครื่องแต่งบ้านอย่างโคมไฟหรือเครื่องประดับอย่างต่างหู หวี กำไล ฯลฯ เด็ดสุดยกให้มุมจัดแสดงเหล็กขูดนับร้อยตัว
และทุกตัวล้วนผ่านการใช้สอยจริงตามครัวเรือน
สะท้อนภาพอดีตยุคที่การประดิษฐ์เหล็กขูดถือเป็นพื้นที่อวดฝีมือเชิงช่างหัตถศิลป์ หนุ่ม ๆ หลายบ้านสนุกกับจินตนาการดัดแปลงลำตัวสัตว์ ทำส่วนหัว-หางเป็นรูปสัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ สัตว์ป่า ทั้งหมา แมว แพะ ตะพาบ จระเข้ กบ ช้าง หมีตะครุบหอย หรือรูปคนดึงหางเต่า ผู้ชายนอนหงาย ผู้หญิงนอนชันเข่า นอนตะแคง ฯลฯ (แต่ยังเรียกเหล็กขูดหรือกระต่ายขูดมะพร้าวอยู่ดี) นอกจากบริเวณใช้นั่งจะนิยมทำจากไม้ ยังมีทำจากโลหะและกระดูกสัตว์ เหล็กขูด
บางตัวได้รับการออกแบบให้พ่วงหน้าที่เป็นที่วางหนังสืออ่านหรือทำเป็นกระเป๋ากล่องไม้ไว้ใส่ของกระจุกกระจิกเวลาขนไปใช้สอยตามงานบุญต่าง ๆ
จริงอยู่ว่ารูปแบบหลากหลายของเหล็กขูดนั้นสะท้อนอัตลักษณ์ชาวใต้ แต่การมองเห็นก็ขึ้นกับจินตนาการอันกว้างไกลตามพื้นฐานประสบการณ์ ความรู้ และอุปนิสัยของแต่ละคน จึงไม่แปลกที่ใครจะใช้เวลาเพ่งพินิจแล้วรู้สึกเอ็นดู ฉงนสงสัย หรือยิ้มหัวกับเหล็กขูดบางตัว อย่างรูปอวัยวะเพศชายที่สร้างความขบขันแก่ผู้พบเห็น เพราะคนขูดมะพร้าวมักเป็นหญิง หรือรูปหญิงสาวนอนหงายแสดงท่าทีเสมือนเชื้อเชิญชายหนุ่มให้รีบมาทำหน้าที่พ่อบ้านก็น่าจะเปลี่ยนความน่าเบื่อในภารกิจขูดมะพร้าวเป็นความหรรษาได้
อื้อฮือ ! เมื่อเห็นเหล็กขูดตัวหนึ่งแปลกกว่าใครในพิพิธภัณฑ์
คืออวัยวะเพศที่มีทั้ง “เพศชายและเพศหญิงในตัวเดียวกัน”
เป็นการประดิษฐ์ที่คำนึงถึงโครงสร้างของตัวเหล็กขูดที่เหมาะแก่การใช้งานจึงทำเป็นรูปม้านั่งให้ขูดมะพร้าวได้เป็นหลักแล้วออกแบบให้อวัยวะเพศชายอยู่ในสภาพกำลังแข็งตัวขึ้นรับกับที่เสียบตาเหล็กขูด และเพิ่มอวัยวะเพศหญิงไว้ด้านตรงข้าม ซ่อนนัยปรัชญาตะวันออก “ของคู่กัน” เช่นหยินกับหยาง หรือความแข็งกับความอ่อน กล่าวกันว่าเหล็กขูดตัวนี้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ อย่างน้อยที่สุดได้สอนปรัชญาสำคัญแก่ผู้พบเห็นอย่างมีอารมณ์ขัน
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา
สถาบันทักษิณคดีศึกษา
มหาวิทยาลัยทักษิณ
หมู่ ๑ บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันอังคาร)
เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐ น.
ค่าเข้าชม เด็ก ๑๐ บาท, นักศึกษา ๒๐ บาท,
ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท และชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท
โทรศัพท์ ๐-๗๔๕๙-๑๖๑๑-๒