ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
หลังวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ๆ โลกมักจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ความเคยชินในการกินอยู่แบบพึ่งพาตลาด พ่อค้า ระบบเกษตรอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร street food ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ถูกเขย่าอย่างแรงด้วยเหงื้อมมือของโรคร้าย พื้นที่ส่วนรวมหดแคบ เหลือเพียงปัจเจกบริเวณอันจำกัด หนทางใหม่ๆ ที่ใครหลายคนไม่เคยคิดมาก่อน อย่างปลูกผักสวนครัว เก็บผักยืนต้น ถูกนำมาวางแผนคำนวณเป็นหนทางรอดอย่างชนิดเหลือเชื่อ
ผมคิดว่าผู้คนจะหลุดพ้นจากความเคยชินจำเจ ไม่อาจ "กินตามใจปาก" ได้อย่างน้อยก็ในสองสามเงื่อนไข คือเมื่อไปเที่ยวในที่แปลกๆ สภาวะสงคราม และเหตุโรคระบาดรุนแรง ซึ่งผลพวงของมันอาจพลิกผันให้มนุษย์เปิดใจรับรสชาติใหม่ๆ ในสภาวะเงื่อนไขที่จำกัดจำเขี่ย บนความสัมพันธ์รวมหมู่ไว้ด้วย
น่าตื่นเต้นอยู่เหมือนกันที่สูตรนี้มีอายุถึง ๑๐๐ ปีมาแล้วมันคือ "ข้าวยำ" นั่นเอง แต่ไม่ใช่ข้าวยำสุดปักษ์ใต้ที่เรารู้จัก เป็นข้าวยำแบบภาคกลาง ผมปรับสูตรของตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (ปี ๒๔๕๒) กับสูตรของตำรับสายเยาวภา (ปี๒๔๗๘) รวมกัน
ข้าวยำของวังภาคกลางใช้น้ำพริกเผา กุ้งแห้งป่นน้ำปลาหรือน้ำเคย มะนาว น้ำตาลคลุกกับข้าวสวยหุงร่วนๆ เป็นตัว เอาให้ถูกรสถูกลิ้นเราเลยนะครับ
แล้วหั่นซอยผักที่จะกินจนละเอียดคลุกกับข้าวให้เข้ากันดี ตรงนี้เหมือนข้าวยำปักษ์ใต้ แต่ที่จัดว่าเด็ดก็คือผักตามตำราเก่าสองเล่มนี้ มีอะไรที่เราๆ ท่านๆ นึกไม่ถึงว่าจะกินได้ แถมเป็นผักที่ขึ้นตามข้างทางบ้าง ผักยืนต้นที่ทางราชการปลูกประดับเรียงแถวตามสวนสาธารณะบ้าง จนนึกออกเลยนะครับ ว่าแค่เราวิ่งจ็อกกิงหรือปั่นจักรยานออกกำลังผ่านไป ก็ต้องแวะเด็ดกลับบ้านได้เป็นกระจาดแน่นอน
เช่น ใบอ่อนของมะกรูด มะขวิด มะตูม ส้มซ่า ราชพฤกษ์ พิกุล หรือเถาวัชพืชข้างทาง อย่างใบตดหมา ยอดดีปลี ใบกะเพรา ใบบัวบก และอย่าลืมดอกไม้สวยๆ อย่างดอกราชพฤกษ์เหลืองๆ พวงชมพู อัญชัญ เฟื่องฟ้าล่ะครับ เรียกว่าเป็นการปั่น (หรือวิ่ง)-เก็บ-กินจริงๆ เลยแหละ
ข้าวยำสูตรนี้มีอยู่จริง ส่งต่อมายังคนรุ่นเราในรูปของเอกสารเก่า ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่า เราอยากจะลองคืนชีพสำรับร้อยปีนี้ ในสภาวะการรับมือโรคระบาดโควิด-๑๙ หรือเปล่าเท่านั้นแหละครับ...