กินพืช
ต้านเชื้อโรค
Holistic 
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
Image
พลันเมื่อปรากฏข่าวไวรัสโคโรนาซึ่งมีที่มาจากการกินสัตว์ป่าอย่างค้างคาว กระแสการกินพืชก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่เสริมภูมิต้านทานให้ร่างกาย ซึ่งมีมากมายในบ้านเรา

สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกแต่ไม่ค่อยพูดถึงมากนักคือการกินเนื้อสัตว์กับการดื้อยาปฏิชีวนะ องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การดื้อยาปฏิชีวนะเป็นภัยคุกคามหลักต่อยาสมัยใหม่ นับวันการรักษาการติดเชื้อจากโรคปอด วัณโรค โกโนเรีย ยิ่งยากขึ้น

รายงานฉบับล่าสุดของคณะทำงานเฉพาะกิจเรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะ องค์การอนามัยโลกตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๖๒ ระบุว่า หากไม่ลงมือทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้ ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า (ปี ๒๕๗๓) การดื้อยาปฏิชีวนะจะผลักให้คนเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีดจำนวน ๒๔ ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิต ๑๐ ล้านคนในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า (ปี ๒๕๙๓) จากปัจจุบันที่มีผู้เสียชีวิตจากภาวะดื้อยาปฏิชีวนะทั่วโลก ๗ แสนคนต่อปี ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคร้ายอย่างมะเร็งเสียอีก

ก่อนหน้านี้เซอร์อะเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลกเมื่อ ๗๕ ปีที่แล้วเคยเตือนว่าจะเกิดภาวะนี้ขึ้น เพราะผู้คนจะใช้ยาปฏิชีวนะแบบอ่อน ๆ อย่างง่ายดาย การที่เชื้อโรคสัมผัสกับยาในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายนี้เองทำให้มันดื้อยา และจะสูญเสียพลังของยาปฏิชีวนะไป
ทว่าสิ่งที่เฟลมมิงไม่ได้คาดการณ์ไว้คือ มนุษย์ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ  ภายหลังการค้นพบยาชนิดนี้ไม่นาน นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งใช้วันว่างช่วงวันหยุดคริสต์มาสทดลองและพบว่าไก่ที่ได้รับยาปฏิชีวนะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว  นับแต่นั้นมาจึงเริ่มใช้ยานี้ในสัตว์เลี้ยง แล้วคนป่วยเพราะดื้อยาปฏิชีวนะก็เกิดขึ้นทั่วโลกจากการกินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยยาปฏิชีวนะ
ปัจจุบันยาปฏิชีวนะถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์มากกว่ารักษามนุษย์ โดยใช้ป้องกันการเจ็บป่วยและหวังผลให้สัตว์โตเร็วขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของยาปฏิชีวนะใช้เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตและควบคุมการติดเชื้อในสัตว์ หากคำนวณจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกคาดการณ์ว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เลี้ยง เช่น วัว หมู ไก่ จะเพิ่มขึ้นเป็น ๖๗ เปอร์เซ็นต์ 

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์ที่มีแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะหรือเรียกกันว่าซูเปอร์บักส์ เชื้อดื้อยาเหล่านั้นจะเข้าสู่ร่างกายของเรา แล้วแพร่เชื้อไปสู่แบคทีเรียดีอื่น ๆ ในลำไส้ เมื่อคนคนนั้นเจ็บป่วยจะไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ ดังเช่นกรณีนโม เด็กชายวัย ๙ ขวบเศษที่ไม่สบาย ไข้ไม่ลดนาน ๑๐ วัน แพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเททระไซคลีน
ล่าสุดมีการกล่าวถึงยาโคลิสทินซึ่งว่ากันว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของมนุษย์ เพราะยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ ประสบปัญหาดื้อยาไปหมดแล้ว มีการใช้ยาโคลิสทินในการเลี้ยงหมูอย่างแพร่หลายเพื่อทำให้หมูโตเร็ว  ต่อมาพบแบคทีเรียดื้อยาโคลิสทิน
ในจีนเมื่อปี ๒๕๔๘  และปัจจุบันพบแบคทีเรียดื้อยาชนิดนี้ใน ๕๐ ประเทศทั่วโลก แม้ปัจจุบันจีนออกกฎหมายห้ามใช้ยาโคลิสทินในสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่ามาตรการเหล่านี้จะปกป้องยาที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของมนุษย์ได้หรือไม่
โรคภัยและภัยพิบัติบางชนิดเกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่กับคนบางกลุ่ม แต่ภาวะดื้อยาปฏิชีวนะกลับพบทั่วโลก ไม่เลือกชนชั้นวรรณะและไร้พรมแดนขวางกั้น และกลายเป็นหายนภัยที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึง
มาริน แม็กเคนนา (Maryn McKenna) ผู้เขียนหนังสือ Big Chicken : The Incredible Story of How Antibiotics Created Modern Agriculture and Changed the Way the World Eats (ไก่ยักษ์ : เรื่องราวอันเหลือเชื่อของยาปฏิชีวนะที่สร้างการเกษตรแบบสมัยใหม่และเปลี่ยนแปลงวิถีการกินของชาวโลกไปอย่างสิ้นเชิง) เคยกล่าวว่า แต่ไหนแต่ไรภาคการเมืองและภาคธุรกิจไม่เคยเปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือภาคประชาสังคม นั่นคือการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เลี้ยง ซึ่งประชาคมบางประเทศทำสำเร็จมาแล้ว

ทว่าการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและให้บังเกิดผลนั้นมักใช้เวลายาวนาน กลุ่มคนนิยมกินพืชจึงให้คำแนะนำว่า เราในฐานะผู้บริโภคควรป้องกันตัวเองด้วยการกินอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยยาปฏิชีวนะให้น้อยลง หรือไม่กินเลยจะดีที่สุด 
ซึ่งจะทำได้มากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับวิธีการและทางเลือกของแต่ละคน

อาหารเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านไวรัส
การกินพืชผักผลไม้ไม่ได้มีผลในการฆ่าหรือต้านเชื้อไวรัสโดยตรงแต่พืชบางชนิดมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อร่างกายแข็งแรงโอกาสติดเชื้อก็น้อยลงหรือหายเจ็บป่วยเร็วขึ้น 

• ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่วงอก คะน้า อุดมวิตามินซี 
• กล้วย ถั่วลูกไก่หรือถั่วชิกพี อุดมวิตามินบี 6
• บรอกโคลี อัลมอนด์ อุดมวิตามินอี
• ถั่วบราซิล อุดมซีลีเนียม
• ขมิ้น สารสกัดจากขมิ้น (curcumin)
มีฤทธิ์ต้านไวรัส