เมื่อ “ตำนาน” และ
“โปสเตอร์ต่อต้านอเมริกา”
กลายเป็น “ที่รองแก้ว”
ASEAN Capitalization
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามใช้ระบอบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศ มีพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Party of Vietnam - CPV) ผูกขาดอำนาจบริหาร แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่ต่างจากประเทศอื่นคือระบบเศรษฐกิจ
เวียดนามหันมาใช้ระบบทุนนิยมแบบตลาด (market economy) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๖ โดยนโยบาย “จินตนาการใหม่” (Dồi Mơi - โด่ยเหมย) เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยรัฐบาลมาเป็นระบบทุนนิยมเช่นเดียวกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนับแต่นั้น
ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ “อดีต” ของเวียดนามก็ถูกแปลงให้เป็น “สินค้า” ในแบบที่คนเวียดนามรุ่นก่อนอาจนึกไม่ถึง
เรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ของเวียดนามที่นิยมนำมาผลิต “สินค้า” แบ่งเป็นสองประเภท คือ ตำนาน นิทาน เรื่องเล่าจากยุคเวียดนามโบราณ กับเรื่องสมัยสงครามเวียดนามที่กินเวลาราว ๓ ทศวรรษ (ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๗๕)
ดังตัวอย่างจาก “ที่รองแก้ว” ที่เราหยิบยกมาให้ชมกันในฉบับนี้
ภาพจากตำนานที่เราเห็นบนที่รองแก้วส่วนหนึ่งเป็นภาพพิมพ์ไม้แบบโบราณจากหมู่บ้านดงโห่ (Đông Hồ) จังหวัดบ๊ากนิงห์ (Bắc Ninh) ที่อยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางเหนือราว ๓๕ กิโลเมตร ที่นี่ผลิตงานภาพพิมพ์แบบนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ หรือตรงกับสมัยราชวงศ์หลี (Lý) ของเวียดนาม
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่อง “ภาพวาดดงโห่” (Đông Hồ painting) ในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” เรื่องที่นำเสนอในภาพวาดดงโห่มักเป็นสิ่งของที่เชื่อว่าเป็นมงคล ตำนาน/บุคคลในประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าพื้นถิ่น และกิจกรรมทางสังคม
สีหลักที่ใช้วาดประกอบไปด้วยสีดำ แดง เหลือง เขียว และขาว บางภาพถูกออกแบบมาให้อยู่คู่กัน เช่น ภาพ “เด็กแฝด” คนหนึ่งจับไก่ คนหนึ่งจับเป็ด (หมายถึงชื่อเสียง ความมั่งคั่ง และเกียรติยศ)
ในความเป็นจริงภาพวาดดงโห่เป็น “สินค้า” มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยผลิตจำหน่ายช่วงตรุษ (Tết) หรือเทศกาลปีใหม่เพื่อใช้ตกแต่งบ้านเรือนเท่านั้น แต่พอถึงศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ เกิดพัฒนาการสำคัญคือ ช่างเริ่มนำเหตุการณ์ร่วมสมัยมาใส่ไว้ เช่น การพัฒนาสู่ความเป็นตะวันตก (ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑) โดยทำเป็นภาพชุดสี่ภาพ เป็นภาพคนเวียดนามแสดงกิริยาท่าทางแบบฝรั่งเศส
ภาพที่ได้รับความนิยมมากก็เช่น “งานแต่งงานของหนู” แสดงภาพหนูยกขบวนเดินแถวเอาของกำนัลไปให้แมวเพื่อขอให้แมวปล่อยคู่หนูบ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงานได้เฉลิมฉลองอย่างมีความสุขที่แปลกกว่าภาพวาดดงโห่คือโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda poster)
ที่กลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน (pop culture) และในที่สุดก็กลายเป็นสินค้า
เท่าที่ปรากฏข้อมูล โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในเวียดนามเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษ ๑๙๔๐ และ ๑๙๕๐ ผู้ผลิตคือศิลปินที่ยึดมั่นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ คนเหล่านี้ผลิตชิ้นงานจำนวนมากเพื่อกระตุ้นอุดมการณ์ชาตินิยมตลอดช่วงสงครามกับฝรั่งเศสและอเมริกาซึ่งจะยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๗๕
ต้นแบบโปสเตอร์เหล่านี้มาจากสห-ภาพโซเวียต เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามส่งนักศึกษาไปเรียนรู้ศาสตร์การผลิตโปสเตอร์ประเภทนี้โดยตรง ลักษณะเฉพาะของโปสเตอร์แบบนี้คือสีสันฉูดฉาด เนื้อความชัดเจนเข้าใจง่าย เช่น ประณามการทิ้งระเบิดของอเมริกัน สรรเสริญ โฮจิมินห์ เสนอบทบาทของสตรีในฐานะกำลังรบแนวหลัง
หลังยุคสงครามเวียดนาม โปสเตอร์แบบนี้ก็ยังทำหน้าที่สื่อสารนโยบายรัฐมาจนถึงปัจจุบันโดยนักท่องเที่ยวจะพบเห็นได้ทุกหัวมุมถนน ไม่ว่าจะเป็นรณรงค์เรื่องสุขภาพอนามัย ประชาสัมพันธ์การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ
เพียงแต่หน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการเป็น “สินค้า” ในระบบทุนนิยม เช่น โปสเตอร์สำหรับนักสะสม ลายสกรีนเสื้อยืด ไปจนถึงจานรองแก้ว
โฮจิมินห์ บิดาเอกราชของเวียดนามเคยกล่าวว่า “การโฆษณาชวนเชื่อช่วยเผยแพร่และสื่อสารหลักการของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐ กฎหมาย การเมืองท้องถิ่น ก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ก้าวหน้า”
แน่นอน ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเวียดนาม สงครามที่ยาวนานนับชั่วอายุคนจบลงด้วยชัยชนะของคอมมิวนิสต์ตามที่ โฮจิมินห์ คาดหวัง
แต่ท้ายที่สุด แม้แต่คอมมิวนิสต์ก็หนีไม่พ้นระบบทุนนิยม
“ที่รองแก้ว” ที่ขายกันเต็มตลาดของที่ระลึกเหล่านี้คือหลักฐานแห่งชัยชนะที่ว่านั้น
ประเภทสินค้า :
ที่รองแก้วลายดงโห่
และโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อเวียดนาม
สถานที่จำหน่าย :
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ราคา :
ชิ้นละ ๒๐,๐๐๐ ด่ง
(ประมาณ ๓๐ บาท)
อ้างอิง : https://www.bqllang.gov.vn