เจ้าชายน้อย
ในภาษาถิ่นของไทย
เรื่องและภาพ : สายพร อัสนีจันทรา
Image
“สุขสันต์วันเกิดนะ เจ้าชายน้อย” 
เวลาบ่ายคล้อยของวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ความรักและมิตรภาพพาฉันเข้ามาเดินบนดินแดนแห่งความฝันใต้ต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านกระจัดกระจายออกเป็นวงกว้าง ดวงดาวหลากสีสันห้อยจากกิ่งไม้ลงมาทักทายผู้คนด้านล่าง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งหญิงและชาย หลากเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม  ทุกคนมาร่วมงานวันเกิดเล็ก ๆ บรรยากาศอบอุ่นกันเองเต็มไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มยินดีที่จะได้รู้จักกับ “เจ้าชายน้อย” องค์ใหม่แห่งล้านนาและปกาเกอะญอ

เจ้าชายน้อย หนังสือเล่มเล็กบาง ๆ แสดงเรื่องราวการเดินทางไปยังจักรวาลแห่งหนึ่งของหัวใจบริสุทธิ์ตามประสาเด็กธรรมดา แต่ระหว่างก้าวของการเดินทางกลับเต็มไปด้วยความคิดและความจริงเสมือนเป็นคัมภีร์เล่มใหญ่ให้คนอ่านค้นหาและตีความตามวัยและประสบการณ์ แม้เนื้อหาโดยรวมอ่านง่ายไม่ซับซ้อน แต่ทุกข้อความลึกซึ้งและเป็นจริง “เจ้าชายน้อย” เกิดขึ้นและมีอายุเกินครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ก็ยังคงแข็งแรงมีพลังท้าทายความคิดคนอย่างไม่รู้จบสิ้น เป็นเสน่ห์ให้มีการตีพิมพ์มากกว่า ๓๐๐ ภาษา และมีแนวโน้มว่าจะมี เจ้าชายน้อย เกิดขึ้นใหม่อีกเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับวันนี้ที่หลายคนบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังตาย ฉันกลับยืนต่อคิวอย่างตื่นเต้นเพื่อสัมผัสและรับขวัญเจ้าชายน้อยล้านนาและปกาเกอะญอที่กำลังลืมตามองโลกมนุษย์

“กรือนานานา กรือนานานา...” เสียงเตหน่าและเพลงจากพี่น้องปกา-เกอะญอที่ไร้เครื่องขยายเสียงกล่อมบรรยากาศในงานให้อบอุ่นยิ่งกว่าเดิม
Image
กำเนิดเจ้าชายน้อย
ภาษาถิ่นในไทย

“...วัตถุประสงค์หนึ่งของมูลนิธิคือต้องการที่จะช่วยเผยแพร่หนังสือ เจ้าชายน้อย เป็นภาษาต่าง ๆ ...ประเทศไทยเราก็มีภาษาถิ่นเยอะแยะเลยที่น่ารักมาก...ก็เลยทำโครงการนี้ขึ้น เราก็หาคนแปล เขาก็ให้ทุนสนับสนุนในการพิมพ์” สุพจน์ โลห์คุณสมบัติ ชายวัยกลางคนผู้ริเริ่มโครงการหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่น เล่าถึงที่มาของ เจ้าชายน้อยล้านนากับปกาเกอะญอด้วยน้ำเสียงและใบหน้าภูมิใจมีความสุข

เบื้องหลัง เจ้าชายน้อย สองภาษาถิ่นที่คลอดออกมานี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฌ็อง-มาร์ก พร็อพสท์ เพื่อเจ้าชายน้อย และมูลนิธิแบร์นาร์ด แห่งเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากมิตรภาพระหว่างเพื่อนมิตรและแรงความรักจากใจใน เจ้าชายน้อย ทำให้เกิดแนวคิดอยากเผยแพร่วรรณกรรมอันทรงคุณค่าเรื่องนี้ผ่านภาษาถิ่นต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและงดงามทางอักขระในตัวเอง ควรแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป 

สุพจน์เลือกภาษาถิ่นล้านนาเป็นภาษาแรกสำหรับให้กำเนิด เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่น เพราะภาษาล้านนาใช้อักษรธรรมในการเขียนซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นงดงาม เกิดขึ้นและใช้มานานตั้งแต่สมัยโบราณ จนปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นบนป้ายตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในเมืองเหนือ

อย่างไรก็ตามมีคนท้องถิ่นน้อยคนนักที่ยังใช้และให้ความสำคัญกับอักษรธรรมนี้  เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นล้านนาจึงเป็นเสมือนยาบำรุงให้คนท้องถิ่นกลับมาให้คุณค่าความหมายกับภาษาตัวเอง ให้อักษรธรรมในภาษาถิ่นล้านนากลับมาหายใจเฉิดฉายได้อีกครั้งผ่านวรรณกรรมมหัศจรรย์เล่มนี้
Image
Image
เจ้าชายน้อยองค์ต่อมาเดินออกมาผ่านภาษาปกาเกอะญอ ภาษาของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หนึ่งในชาติพันธุ์ที่มีบทบาทผูกพันกับไทยมานาน เป็นชาติพันธุ์ที่มีองค์ความรู้ มีปราชญ์ท้องถิ่นจำนวนมาก และมีความคิดหลายอย่างคล้ายปรัชญาใน เจ้าชายน้อย  ทางโครงการจึงเลือกภาษาถิ่นปกาเกอะญอให้กำเนิดเจ้าชายน้อยองค์ที่ ๒ ตามมา

เจ้าชายน้อย ฉบับภาษากะเหรี่ยงทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นมีความสุขเป็นพิเศษ และทำให้ฉันภูมิใจในภาษาที่พูดมาแต่เด็กมากกว่าเก่า จนอดใจไม่ไหวที่จะควักธนบัตรจากก้นกระเป๋าออกมาแลก เพื่อพาเจ้าชายองค์น้อยกลับบ้านบนดอยให้คนที่บ้านได้ชื่นได้ชมและมีความสุขร่วมกัน
อู้กำเมืองกับเจ้าจ๋ายน่อย
“ไหว้ศาลเจ้าแม่ และแขกผู้มีเกียรติ...”

ประโยคทักทายจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดี ก่อนจะกล่าวถึง “เจ้าจ๋ายน่อย” หรือ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นล้านนาว่าเป็นการปริวรรต ไม่ใช่การแปล

เจ้าชายน้อยล้านนาเกิดจากการถอดอักษร หรือแปลงข้อความต้นฉบับภาษาไทยของ อริยา ไพฑูรย์ มาเป็นภาษาถิ่นล้านนาซึ่งใช้อักษรธรรมเป็นตัวเขียน  ทำให้ ดอกเตอร์ดิเรก อินจันทร์ นักวิชาการศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า “เจ้าจ๋ายน่อยใส่เตี่ยวสะดอผ้าเมือง แต่อู้กำไทย”

ทั้งสองท่านนี้ใช้วิธีปริวรรตสร้าง “เจ้าจ๋ายน่อย” เพราะภาษาถิ่นล้านนากินพื้นที่กว้าง มีหลายพื้นที่หลายชุมชน แต่ละพื้นที่ใช้สำนวนต่างกัน การจัดเรียงอักขระก็ต่างกัน และในด้านการใช้อักษรธรรมล้านนาก็มีหลายแบบให้ใช้ต่างกันตามยุคตามสมัย  การหาข้อตกลงที่เป็นกลางเพื่อการแปลจึงค่อนข้างซับซ้อนและเป็นเรื่องใหญ่ ในเวลาที่จำกัดการปริวรรตจึงเป็นทางออกให้เกิดเจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นล้านนา

ข้ามผ่านด่านการปริวรรตแล้ว เจ้าชายน้อยล้านนาก็ใช่ว่าจะเดินทางราบรื่น เพราะอักษรธรรมมีตัวอักษรพิเศษที่ไม่ตรงตามภาษาไทย  เมื่อนำเข้าโรงพิมพ์โปรแกรมต่าง ๆ จึงรองรับไม่เต็มที่ทำให้คำบางคำผิดอักขระวิธี จำเป็นต้องอาศัยการแทรกสัญลักษณ์พิเศษแทนเป็นการแก้ปัญหา

เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นล้านนามิได้มีไว้แค่ให้คนล้านนาอ่านอย่างเดียว แต่คนไทลื้อ ไทเขินที่มีความรู้เรื่องอักษรธรรม ก็อ่านเล่มนี้ได้เช่นกัน
Image
การเดินทางของ
ซอปาอะโพควาชิ

“ต่าอะกาโดะเน เปอถี่เตอเซแทเลยแหมะคลีบ๋า” แปลเป็นภาษาไทยว่า “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา” ประโยคอมตะใน เจ้าชายน้อย ที่บอกให้รู้ความลับของชีวิตนี้ เป็นความคิดสากลที่อยู่ในภาษาไหนก็งดงาม ในภาษาปกาเกอะญอก็เช่นกัน

“...นึกว่าเจ้าชายน้อยเกิดจะมีเด็ก ๆ มาเยอะ กลับมีแต่เจ้าชายใหญ่ เขี้ยวว่าวแล้ว ฮ่าฮ่าฮ่า” พะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านหนองเต่า เปิดการสนทนาพร้อมเสียงหัวเราะ แล้วพูดถึงความเชื่อมโยงของ “ซอปาอะโพควาชิ” หรือ เจ้าชายน้อย กับปกาเกอะญอ โดยเฉพาะเรื่องราวความผูกพันกับเลข ๗ ใน เจ้าชายน้อย ที่พูดถึงดาวทั้งเจ็ดดวง ปกาเกอะญอก็มีเรื่องของฟ้า เจ็ดซ้อน ดินเจ็ดชั้นที่คล้ายกัน

เจ้าชายน้อย ในภาษาปกาเกอะญอเกิดจากการถอดผสมการแปลของพะตีจอนิในวัยเกิน ๗๐ ร่วมกับลูกชาย โดยลูกอ่านให้พะตีจอนิฟัง แล้วให้แกทำความเข้าใจและเชื่อมโยงข้อคิด ข้อความต่าง ๆ ใน เจ้าชายน้อย เข้าสู่ภาษาและวัฒนธรรมปกาเกอะญอ จากนั้นก็เล่าออกมาให้เขียนอีกครั้งโดยใช้ “อักษรไก่เขี่ย” มี ผศ. ดร. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เป็นบรรณาธิการตรวจต้นฉบับก่อนส่งพิมพ์

ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไม่ได้อยู่ร่วมกันทั้งหมด ส่วนหนึ่งอยู่เมืองไทย ส่วนหนึ่งอยู่รัฐกะเหรี่ยงในพม่า และอีกส่วนอพยพไปอยู่ประเทศที่ ๓  การพิมพ์ ซอปาอะโพควาชิ จึงเลือกใช้อักษรไก่เขี่ยหรือ “หลิ ชอ แวะ” ซึ่งเป็นตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดของชาวปกาเกอะญอ และใช้สำนวนแบบเชียงใหม่ผสมสำนวนสากลของปกาเกอะญอ  คนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ดีจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมปกาเกอะญอทั้งแบบสากลและแบบเชียงใหม่
การเจอกันครั้งแรกของ ซอปาอะโพควาชิกับชายวัยใกล้ ๗๐ นายเลโข่ ไม่มีชื่อสกุล ชาวปกาเกอะญอแห่งชายแดนไทย-พม่า ริมฝั่งสาละวิน
Image
สุวิชานพูดถึงคุณค่าของ ซอปาอะโพควาชิ ที่มีชีวิตเกิดขึ้นมาว่า ซอปาอะโพควาชิ นำเสนอวิถีวัฒนธรรมด้านภาษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของปกาเกอะญอสู่สากลให้สาธารณชนรับรู้และทำให้ปกาเกอะญอได้เรียนรู้วรรณกรรมระดับโลกผ่านภาษาตนเอง อีกทั้งยังสร้างความภูมิใจและเป็นการอนุรักษ์ภาษาให้มีชีวิตต่อไปไม่ถูกกลืนหายตามสังคมที่แตกต่าง

จบการสนทนาไปนานแล้ว แต่ฉันยังประทับใจไม่หาย ขอบคุณ ซอปาอะโพควาชิ ที่ทำให้เซกอ (เสื้อทอมือของผู้ชายปกาเกอะญอ) สีแดงไปสดใสคู่เด็กชายผมทองบนปกหลัง เจ้าชายน้อย
รอเธออยู่นะเจ้าชายยาวี
เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนาและปกาเกอะญอได้รับการตอบรับดีเกินคาด โดยเฉพาะฉบับล้านนาที่เดินทางท่องโลกออกไปก่อน “เจ้าจ๋ายน่อย” ทำให้ผู้หลงรักเจ้าชายน้อยทั่วโลกรู้จักภาษาล้านนาในฐานะภาษาถิ่นหนึ่งของไทยที่มีความงดงาม และอีกไม่นานซอปาอะโพควาชิ ก็คงจะตามรอยไม่ต่างกัน

เจ้าชายน้อยทำให้ท้องถิ่นล้านนาและพี่น้องปกาเกอะญอมีความสุขแล้ว ต่อไปโครงการหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับท้องถิ่นจะพาเจ้าชายน้อยไปโลดแล่นสร้างความประทับใจต่อที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่าน เจ้าชายน้อย ฉบับภาษายาวี

ทีมงานเริ่มการเดินทาง มีการวางแผนพูดคุยกับอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แล้วระดับหนึ่ง แต่ยังต้องเดินทางอีกไกล เพราะภาษายาวีมีรายละเอียดสูง

ไม่ว่าจะไกลแค่ไหนฉันก็จะรอ เพราะฉันเชื่อว่าเธอทำได้ วันหนึ่งเราคงได้พบกัน “เจ้าชายน้อยแห่งยาวี”
เพราะเธอปลุกวัฒนธรรมการอ่าน
เธอจึงปลุกฉันให้ตื่น