Blind Experience 
อวดประสบการณ์ละครเพลง
The Little Prince 2020
โลกใบใหญ่
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ในวาระ เจ้าชายน้อย ครบรอบ ๗๗ ปี
ทั่วโลกจึงเตรียมจัดกิจกรรมใหญ่

ประเทศไทยก็กำลังเตรียมนำเสนอละครเวที The Little Prince 2020

ไม่เพียงเป็นการนำ เจ้าชายน้อย มาแสดงเป็นครั้งที่ ๓ หลัง “คณะละครสองแปด” เคยส่งละครเวทีสู่สายตาผู้ชมที่ศูนย์
ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ เมื่อปี ๒๕๓๔ และปี ๒๕๔๐ ตามด้วย “สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา)” จากนั้นทิ้งห่างถึง ๒๓ ปี จึงได้ข่าวดีว่า “Blind Experience” เปิดออดิชันหาผู้เหมาะสมร่วมสร้างประสบการณ์เปล่งแสงในจักรวาลเจ้าชายน้อย

ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนที่โลกนี้เคยมี เพราะเป็นการเสพเจ้าชายน้อยรูปแบบหกมิติ


สารคดี มีโอกาสติดตามเบื้องหลังการคัดเลือกนักแสดงจากจำนวนผู้สมัครนับร้อยสู่รอบไฟนอลที่จะเหลือนักแสดง ๒๘ คนเท่านั้น
เป็นหญิง ๑๓ คน และชาย ๑๕ คน 

ฟังเรื่องเล่าของคนเบื้องหลัง และเห็นเรื่องราวก่อนจะเป็นการแสดงที่ทำให้ เจ้าชายน้อย เป็นมากกว่าละครเวที
สนามคัดสรรตัวละคร
เมื่อการแสดงของปีที่แล้วจบลง หน้าที่ครั้งใหม่ของ Blind Experience ก็เริ่ม

รู้กันว่าจุดขายคณะละครคือให้ผู้ชม “ปิดตาดูละครเวที” เพื่อรับ “ประสบการณ์ใหม่”

วันแรกของเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ผู้มีรายชื่อเข้ารับคัดเลือกรอบไฟนอลต่างมารายงานตัว ไม่เพียงพวกเขาต้องแต่งกายด้วยชุดพร้อมเคลื่อนไหวสะดวก เตรียมเพลงถนัดมาขับร้องอวดศักยภาพในเวลาแสนสั้นเพียง ๓๐ วินาที ยังต้องพร้อมสำหรับการแสดงออดิชันแบบกลุ่มด้วย

“นอกจากทักษะพื้นฐานที่นักแสดงต้องมี ร้องเพลงได้ เล่นละครดี สำหรับ Blind Experience ยังต้องการการทำงานเป็นทีม ต้องเข้าใจมนุษย์ด้วยกันและสนุกกับการมีปฏิสัมพันธ์ เพราะการแสดงของที่นี่ต้องใช้ทักษะสื่อสารมากถึงหกอย่าง ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และจินตนาการ ถ้านักแสดงทำได้ดีผู้ชมจะสัมผัสสิ่งเหล่านั้นได้  เราไม่ต้องการคนที่โดดเด่นกว่าใคร เวทีนี้ทุกคนเท่ากัน ต้องทำทุกอย่าง ทั้งเล่นเป็นตัวเอก ตัวรอง และผลัดมาทำเสียงลม ฝน ฟ้าร้อง เพื่อให้คนอื่นเล่นต่อ เพราะบรรยากาศมีคุณค่าไม่น้อยกว่าตัวละคร”

พิรุฬห์ลักษณ์ แจ่มอำพร ผู้กำกับการแสดงเผยสิ่งสำคัญที่มองไม่เห็นด้วยดวงตา

“เราอยากขยายรายละเอียดเล็ก ๆ ใน เจ้าชายน้อย เช่น ตอนฝูงนกป่าพาเจ้าชายน้อยท่องจักรวาล หรือตอนสุนัขจิ้งจอกเจอเจ้าชายน้อย ซึ่งแถวนั้นมีต้นไม้กี่ต้นเราจะทำให้ต้นไม้เหล่านั้นมีชีวิต ทุ่งข้าวสาลีก็น่าจะร้องเพลงได้”

ณัฐฐาพิรุฬห์ แจ่มอำพร พี่สาวและผู้ร่วมกำกับฯ ช่วยเสริมว่า หน้าที่ของพวกเธอยังต้องจัดวางระยะห่างระหว่างนักแสดงกับผู้ชมอย่างมีระบบเพราะมีผลต่อความรู้สึก
“ละครในแบบ Blind Experience ผู้ชมจะอยู่ร่วมกันบนเวที ให้ปิดตาดูละครโดยมีนักแสดงเคลื่อนไหวรอบตัวผู้ชมและไม่หยุดกับที่  บางเวลามีกลิ่นฟุ้งทั่วห้อง ปล่อยให้เสียงเพลงไหลเวียนตลอด  เราคำนึงว่าเสียงใกล้เกินไปก็อาจหนวกหู อยู่ไกลเกินก็อาจไม่ได้ยินสิ่งเหล่านี้มีผลต่อหัวใจผู้ชม  บางเพลงสามารถกำหนดหัวใจผู้ชมให้เต้นตามจังหวะดนตรีได้  นี่คือความยากของการแสดงแบบ blind ที่ทีมงานต้องฝึกฝนอย่างหนัก”
สรรพสิ่งที่พวกเธอว่า เราได้เห็นการจำลองขึ้นแล้วในห้องที่กำลังคัดตัวนักแสดง

ขณะที่กลุ่มแรกแสดง เราคาดผ้าปิดตาสีดำที่ได้รับแจก ฝากจินตนาการไว้กับเหล่านักแสดงที่ขับเคลื่อนไปด้วยเสียงพูดเสียงร้องอันทรงพลัง และเสียงนานาจากฉากวรรณกรรม เจ้าชายน้อย ต่อเมื่อการแสดงกลุ่มแรกจบลงเราจึงเลือกเปิดตาชมกลุ่มที่ ๒ เพื่อรับรู้เบื้องหลังต่าง ๆ

ได้เห็นการเคลื่อนไหวคล่องแคล่วของหนุ่มสาวที่รู้จักร่างกายตนและควบคุมได้ดีเยี่ยม วิ่งปรู๊ดปร๊าดขณะใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ คอยหยอดนั่นส่งนี่ให้ผู้ชมไม่ขาดสาย อย่างลมพัด เสียงงู จังหวะฝีเท้าผ่านเร็ว ๆ ฯลฯ แบบไม่กังวลว่าจะลื่นล้มหรือพลั้งไปทำผู้ชมเจ็บ  พวกเขายังรวมใจเป็นหนึ่งสื่อสารผ่าน ตัวช่วยกำเนิดเสียง อย่างเหล็ก โซ่ หม้อ กระทะ กระป๋อง ทัพพี ถุงพลาสติก กระดาษ ผืนผ้า ฯลฯ ซึ่งต้องว่องไวมาก บางฉากมีเวลา ๑-๒ วินาทีเท่านั้น หากมีสิ่งใดไม่เป็นไปตามแผน เพื่อนที่เหลือต้องช่วยเข้าไปซ่อมให้ไวที่สุดเพื่อความสมบูรณ์ในโลกจินตนาการ
Image
“ยิ่งในวันแสดงจริงนอกจากเรื่องหูได้ฟังเสียง จมูกได้รับกลิ่นแล้ว เราจะให้ผู้ชมได้สัมผัสละครด้วยมิติต่าง ๆ ให้มากที่สุด อย่างฉากเจ้าชายน้อยพบพนักงานสับรางรถไฟก็อาจมีทีมงานช่วยเขย่าตัวผู้ชมให้ได้บรรยากาศเหมือนนั่งรถไฟ บางฉากอาจให้ผู้ชมลองพับ ปะ หรือแม้แต่ชิมรสชาติของบางอย่าง”

อีกสิ่งสำคัญที่สองผู้กำกับฯ ใส่ใจคือความ
สมจริงที่ต้องเข้าไปอยู่ในหัวใจผู้ชม

“เราเน้นให้ผู้ชมได้รับสารทัดเทียมกัน ฉะนั้นจึงมีผู้พิการทางสายตาร่วมเป็นทีมงานหรือเป็นครูสอนการแสดงให้ เขาจะบอกได้ว่าสิ่งที่เราสื่อสารเป็นอย่างไร ผู้พิการทางสายตาได้รับจริงไหม เพราะต่อให้คนสายตาปรกติปิดตา แต่สิ่งที่ได้รับก็ย่อมต่างจากผู้พิการทางสายตา”

เป็นได้ว่ากล่องใส่ลูกแกะของนักบินในจินตนาการของผู้พิการทางสายตา

อาจไม่ใช่กล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเจาะสามรูแบบที่เราเคยเห็นจากหนังสือ
สิ่งสำคัญมองไม่เห็นด้วยดวงตา
“ในจินตนาการเรา งูเหลือมกลืนช้างคงมีลักษณะเหมือนกระดองเต่า”

โสภณ ทับกรอง หัวเราะสนุกเมื่อนึกถึงโครงสร้างเจ้าเต่าที่เคยสัมผัส

“ปรกติคนตาบอดจะจินตนาการได้ต่อเมื่อมีสิ่งอ้างอิงเวลาสัมผัส เรารู้จักงูเหลือมก็จริง แต่ไม่เคยจับ และรู้ว่าช้างตัวใหญ่มาก ฉะนั้นถ้างูตัวผอม ๆ ยาว ๆ เขมือบช้างเข้าไปก็คงไม่ผอมเหมือนเดิมและคงต้องป่อง ๆ อยู่กลางท้องนั่นละ ก็เลยจินตนาการเองว่าท้องงูเหลือมคงดันตัวขึ้นเป็นทรงนูนสูง ๆ เหมือนกระดองเต่า”

หนุ่มวัย ๒๖ ปี อธิบายว่าเขาประสบอุบัติเหตุทำให้กลายเป็นผู้พิการทางสายตาตั้งแต่ ๘ ขวบ และได้รู้จัก เจ้าชายน้อยผ่านหนังสือเสียงครั้งแรกตอนอายุ ๑๓-๑๔ ปี จึงพอจินตนาการได้บางอย่าง
“ครั้งแรกที่อ่าน สนุกในแบบจินตนาการของเด็กวัยมัธยมฯ พอช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้อ่านถึงห้ารอบ แต่ละรอบให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน รอบแรกตื่นเต้นที่เจอฉากคุ้นจากที่เคยอ่านเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เหมือนเห็นตัวเองอยู่ในนั้น คงเพราะเป็นวัยที่โตแล้วมีประสบการณ์ชีวิตให้เชื่อมโยงกับบางคำพูดของตัวละคร  รอบ ๒ อ่านแบบตั้งข้อสงสัยว่าตัวละครคิดอย่างไรจึงทำแบบนั้น พอหายสงสัยแล้วรอบต่อ ๆ มาจึงอ่านแบบผ่อนคลายเพราะอยากสนุกกับมัน แต่ก็สนุกน้อยลงจากที่เคยอ่านตอนเด็กอยู่ดี อาจเพราะเราเอาผู้คนในชีวิตจริงไปเปรียบเทียบ”
Image
ถึงอย่างไรเขาก็รู้สึกดีที่ได้อ่าน เจ้าชายน้อยครั้งแรกตอนมองไม่เห็น

เพราะทำให้มีอิสระในการสร้างภาพและสีสันตัวละครด้วยตนเอง

“การเป็นเด็กไม่ใช่อายุ แต่คือความเดียงสาที่หาคำตอบของการกระทำไม่ได้ คนส่วนใหญ่ชอบสำนวน ‘สิ่งสำคัญมองไม่เห็นด้วยตา’ เพราะพวกเขามีดวงตาปรกติ จึงคิดว่าถ้าไม่ได้ตัดสินอะไรจากสายตาคงได้เห็นความงามบางอย่าง แต่สำหรับเราประโยคนี้ไม่ได้ปลื้มมาก เพราะเราใช้ชีวิตอยู่กับการมองไม่เห็นมานานแล้วจึงตีความสำนวนนี้อีกแบบ ว่าการมองไม่เห็นทำให้เรามองเห็นทุกอย่างละเอียดขึ้น”

โสภณร่วมงานกับ Blind Experience ตั้งแต่ใช้ชื่อ Blind Theatre ออกแบบละครเวทีให้ผู้พิการทางสายตาดูร่วมกับคนสายตาปรกติ เวลานั้นเขาเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงที่โรงเรียนสอนคนตาบอดในช่วงเดียวกับที่ทีมละครไปหาข้อมูลจึงได้แลกเปลี่ยนจนนำไปสู่กระบวนการออกแบบละครเวทีร่วมกัน  กระทั่งวันนี้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบอาชีพที่ SPARK Drama Studio ในฐานะครูสอนศิลปะการแสดงแก่บุคคลทั่วไปและผู้พิการทางสายตาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางอาชีพให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพที่มีต่อความรับรู้เดิมของผู้คนในสังคม
“สำหรับคนมองไม่เห็นจะให้เขาทำตามได้ต้องใช้ร่างกายช่วยสัมผัส แค่บอกให้ยกมืออาจทำไม่ได้เพราะไม่เห็นว่ายกมืออย่างไร  ในอดีตเราอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนตาบอดจะเป็นนักแสดงหรือนักเต้น แต่ทุกวันนี้เราออกแบบการสอนด้วยสัมผัสอื่น ๆ เพียงแต่คนตาบอดอาจใช้ ๓ ชั่วโมงจึงได้ผลในระดับเดียวกับคนปรกติ ๑ ชั่วโมง หลักสูตรพวกนี้ไม่มีตำรา ต้องใช้ประสบการณ์เรียนรู้ทุกวัน เรากล้าพูดเต็มปากว่าปัจจุบันเป็นไปได้ เพราะเรากำลังทำอยู่”
ยังไม่แน่ว่าละครเวที The Little Prince 2020 จะมีผู้พิการทางสายตาร่วมแสดงไหม แต่แน่ใจได้ว่าหากมีผู้พิการทางสายตาร่วมชม เขาจะได้อรรถรสไม่แพ้คนสายตาปรกติ
The Little Prince
ฉบับ Blind Experience

ชาวคณะละครเวที Blind Experience บอกตรงกันว่า

พวกเขาอยากเล่า “เจ้าชายน้อย” มุมใหม่ที่ไม่ทำลายของเดิม

เจ้าชายน้อย ในแบบผมจะมีตัวละครใหม่ขึ้นมาสร้างสถานการณ์เปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์”

ศุภวัฒน์ หงษา ผู้รับผิดชอบจัดทำบทและเพลงประกอบละครเวที The Little Prince 2020 แย้มโครงในใจ

“เพื่อนสามคนก่อตั้งบริษัทร่วมกันและกำลังคิดค้นนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นจึงเดินทางมาแอฟริกาเพื่อแสวงหา ได้เจอผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างความไม่เข้าใจ แต่สอนให้เรียนรู้ชีวิต ได้พบเจ้าชายน้อยและแลกเปลี่ยนข้อคิด  ตัวเจ้าชายน้อยเดินทางมาจนพบความจริงบางอย่างแล้วเลือกที่จะกลับดวงดาวไปหาดอกไม้ที่ตนรักเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่สร้างมา มนุษย์สามคนเห็นพ้องว่าต้องมีวิธีที่ดีกว่านั้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากลึก
Image
“เหตุผลของแต่ละฝ่ายต่างสร้างความหวั่นไหวในใจกันและกันให้ขบคิดว่าสิ่งที่ตนต่างคิดว่าถูกแล้วแท้จริงถูกไหม  หลังสองฝ่ายแยกย้ายเดินทางต่อเป็นเวลาที่ต่างได้ทบทวน เจ้าชายน้อยตัดสินใจกลับไปหาดาวทุกดวงที่ผ่านมาอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เคยตัดสินความเป็นผู้ใหญ่ของพวกเขา ขณะเดียวกันสิ่งที่เจ้าชายน้อยแลกเปลี่ยนไว้ก็ทำให้เพื่อนสามคนเริ่มแตกความคิด แยกย้ายไปเปลี่ยนแปลงโลกตามทางตนซึ่งไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะทุกทางต่างงดงาม  เราจะชวนตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าชายน้อยและมนุษย์ทั้งสามจึงเลือกปลายทางต่างกัน”

เขาว่าน้ำหนักของเรื่องยังเน้นเจ้าชายน้อย เพียงอยากให้ผู้ชมออกจากโรงละครด้วยความรู้สึกเปิดใจรับสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ชิงตัดสินสิ่งใดด้วยอคติ

“ผมกำลังคิดอีกมุกว่าน่าจะมีตัวละครหนึ่งเดินสวนมา หน้าที่ของเขาคือส่งสารบางอย่างให้เจ้าชายน้อยตกผลึกแล้วเลือกย้อนกลับไปหาดวงดาวทั้งหลาย ตอนนี้บทยังไม่นิ่ง”

ชายผู้รังสรรค์บทให้ความหวังว่าบางวันอาจได้รับเกียรติจาก อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร “เจ้าชายน้อยของไทยในปี ๒๕๔๐” มาร่วมเวทีด้วยก็ได้ แต่ผู้ชมจะรู้หรือไม่ รู้ด้วยวิธีไหน ยังยากเดาเพราะปิดตาดู

“นี่คือเสน่ห์ของละครเวทีในแบบของเรา ผู้ชมมองเห็นหรือไม่เห็นก็จะได้รับ experience แน่นอน แต่จะต่างกันตามจินตนาการของแต่ละคน”

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Blind Experience ด้วยแนวคิดอยากทำให้ผู้ชมแยกไม่ออกว่ากำลังดูละครหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้นกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ คือได้อยู่กับปัจจุบันขณะ
“เมื่อมองไม่เห็น ไม่มีอะไรทำให้วอกแวก ผู้ชมจะมีสมาธิตั้งใจฟังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา ทำความเข้าใจกับเนื้อหาซึ่งเขาอาจทำหล่นหาย เวลาที่เปิดตาดูปรกติ  ปีที่ผ่านมามีผู้ชมเกินครึ่งที่ไม่เคยดูละครเวทีใด ๆ มาก่อนเลยในชีวิต เขาต้องการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ”
ถึงอย่างนั้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ก็เป็นเพียงกลยุทธ์เข้าถึงคนกลุ่มใหม่

“ผมยังเชื่อว่าสิ่งที่ดึงดูดให้คนจ่ายเงินมาดูละครจริง ๆ คือคอนเทนต์ที่แข็งแรงและคนในสังคมรู้สึกร่วม มันมีความหมายมากกว่าแสงสีเสียงหรือเอฟเฟกต์หวือหวา ปีนี้จึงเลือก เจ้าชายน้อย ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มีสารกระทบใจเรื่องความเยาว์วัย เป็นศาสดาของคนที่รักความสัมพันธ์ แม้จะเป็นหนังสือเชิงปรัชญา แต่คนหมู่มากกลับเข้าถึงง่าย และหัวใจของเรื่องที่ว่า ‘สิ่งสำคัญมองไม่เห็นด้วยตา’ ก็ตรงคอนเซปต์ Blind Experience”

แค่ฟังแผนในใจวันที่เพิ่งคัดเลือกนักแสดงรอบไฟนอล สัมผัสบรรยากาศจำลองบทแบบไร้ฉากยังรู้สึกสนุกตาม  หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตุลาคม ๒๕๖๓ เราจะได้ปิดตาดูของจริง
The Little Prince 2020 
อาจเป็น “first experience”
สำหรับหลายคนก็ได้