Antoine de Saint-Exupéry 
นักบินผู้มองโลกด้วยสายตากวี
EP.02
เรื่อง : อริยา ไพฑูรย์
“ผมอาจเด็กเกินไปที่จะรู้จัก
รักใครก็ได้”

ลูย เลแว็ก เดอ วีลมอแร็ง
แซ็งแต็กซูว์เปรีมีความรักครั้งแรกในวัย ๒๒

หลังปลดประจำการจากสตราสบูร์กเขากลับปารีสและได้พบกับ ลูย เลแว็ก เดอ วีลมอแร็ง (Louise Lévêque de Vilmorin) ซึ่งต่อมาเป็นนักเขียน กวี และนักหนังสือพิมพ์  ทั้งคู่มีกำหนดจะหมั้นกัน แต่ต้องล้มเลิกไปเสียก่อน ส่วนหนึ่งเพราะอาชีพนักบินของเขาทำให้แม่ของลูยไม่ค่อยชอบใจนัก  ในยุคสมัยที่การบินยังเป็นเรื่องใหม่และเสี่ยงอันตราย การขึ้นบินแต่ละครั้งสำหรับภรรยาที่รออยู่ที่บ้านก็เหมือนการ เตรียมตัวเป็นม่าย  และใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ซึ่งเป็นปีที่เดิมทีจะมีงานหมั้นนั่นเอง เครื่องบินของแซ็งแต็กซูว์เปรีก็เกิดอุบัติเหตุ ตกลงมาขณะกำลังไต่ขึ้นไปที่ความสูง ๓๐๐ ฟุต นายทหารที่โดยสารไปด้วยกระดูกหัก ส่วนแซ็งแต็กซูว์เปรีซึ่งเป็นคนขับได้รับบาดเจ็บทั้งตัว 

ลูยส่งน้องสาวมาเยี่ยมและยื่นคำขาดไม่ให้เขาขึ้นบินอีก เธอไม่อาจทนใช้ชีวิตครอบครัวที่ต้องเสี่ยงแบบนี้ได้  เขายอมรับข้อเสนอ และหลังจากออกจากโรงพยาบาล ในช่วงที่ร่างกายยังไม่หายดี เขาก็ทำตามสัญญาด้วยดี

แน่นอนว่าหลังจากนั้นเขาก็กลับไปเป็นนักบินอีก และความรักครั้งแรกกับ ลูย เลแว็ก เดอ วีลมอแร็ง ก็จบลง
“เราไม่ควรฟังดอกไม้พูด แค่เฝ้ามองและดอมดมเธอก็พอแล้ว”
กอนซูเอโล ซุนซิง เด ซันโดบัล ก็เช่นเดียวกับดอกกุหลาบ เธอสวยสง่า แม้จะตัวเล็กและดูบอบบาง มีความทะนงตนสูง และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ต้องเจ็บปวดอยู่บ่อยครั้ง  

กอนซูเอโลเกิดที่อาร์เมเนีย ในเอลซัลวาดอร์  
เธอมักจะเล่าว่าพ่อของเธอเป็นเจ้าของไร่กาแฟขนาดใหญ่ แต่ไม่เคยพูดถึงรายละเอียดอื่น ๆ  เธอเล่าว่าเกิดในขณะแผ่นดินไหว บ้านทั้งหลังถล่มลงมา แม่เสียชีวิต เธอคลอดก่อนกำหนด แต่ตามหลักฐานข้อมูลในช่วงปีที่เธอเกิด ในอาร์เมเนียไม่ปรากฏแผ่นดินไหว 
Image
Image
แซ็งแต็กซูว์เปรีพบรักกับกอนซูเอโล
ไม่แน่ชัดว่าทั้งสองพบกันได้อย่างไร กอนซูเอโลเองก็ไม่เคยเล่าเรื่องได้ตรงกันเลยในแต่ละครั้ง แต่วันที่เธอพบแซ็งแต็กซูว์เปรีนั้น เขาอายุ ๓๐  เธอเป็นแม่ม่าย ผ่านการหย่าร้างมาแล้วสองครั้ง เธอเล่าว่า

แซ็งแต็กซูว์เปรีพาเธอขึ้นบินชมท้องฟ้ายามค่ำคืนเหนือรีโอเดอลาปลาตาในคืนแรกที่พบกัน  หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเขาก็ขอเธอแต่งงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ด้วยจดหมายความยาว ๘๐ หน้า ซึ่งที่จริงคือร่างแรก ๆ ของเรื่อง เที่ยวบินกลางคืน นั่นเอง แต่มีลายเซ็นแซ็งแต็กซูว์เปรีพร้อมข้อความขอเธอแต่งงาน  ต้นฉบับนี้มีจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แซ็งแต็กซูว์เปรีเองก็ไม่เคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ 

ทั้งคู่แต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส แต่ความสัมพันธ์ไม่ค่อยราบรื่นนัก และเป็นความเจ็บปวดที่แสนเศร้าในชีวิตของเขา  มีการเปิดเผยว่าทั้งคู่ต่างนอกใจกันไปมีสัมพันธ์กับคนอื่น

ระหว่างที่แซ็งแต็กซูว์เปรีหายสาบสูญไปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๔ กอนซูเอโลเริ่มเขียนบันทึกถึงช่วงชีวิตที่อยู่กับเขา และเก็บใส่กล่องในห้องใต้หลังคาที่บ้าน  เธอเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๗๙ ขณะนั้นยังไม่มีการพบร่องรอยของแซ็งแต็กซูว์เปรี 

มีผู้พบบันทึกของเธอและตีพิมพ์ออกมาในอีก ๒ ทศวรรษหลังจากเธอเสียชีวิต  หนังสือเล่มนี้ชื่อ The Tale of the Rose : The Love Story Behind the Little Prince พิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ปัจจุบันแปลไปแล้วเกือบ ๒๐ ภาษา
“เขาเป็นเจ้าของภูเขาไฟสองลูก มันเหมาะมากสำหรับการอุ่นอาหารเช้า เขามีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วลูกหนึ่งด้วย”
กอนซูเอโล เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี เกิดที่ซอนโซนาเต ทางตะวันตกของสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ ดินแดนแห่งภูเขาไฟ เมืองเล็ก ๆ อันเป็นบ้านเกิดของเธอมีภูเขาไฟสามลูก สงบแล้วสองลูก แต่ยังอาจปะทุขึ้นมาได้ คือภูเขาไฟอีซัลโกและซันตาอานา ซึ่งปะทุล่าสุดใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ปัจจุบันก็ยังมีกลิ่นกำมะถันและควันไฟโชยออกมานาน ๆ ครั้ง  ส่วนอีกลูกเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว คือภูเขาไฟเซอร์โรเบร์เด
“เริ่มตั้งแต่นิวซีแลนด์และออสเตรเลียที่ลุกขึ้นมาจุดตะเกียงแล้วเข้านอน จากนั้นก็เป็นระบำโคมไฟของจีนและไซบีเรีย แล้วนักแสดงก็เข้าหลังฉาก ปล่อยให้รัสเซียกับอินเดียออกมาจุดโคมต่อ หลังจากนั้นก็เป็นแอฟริกาและยุโรป ตามด้วยอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ...”
ในอาชีพของนักบิน ทั้งนักบินขนส่งไปรษณีย์ ทั้งนักบินทหารในช่วงสงคราม แซ็งแต็กซูว์เปรีบินผ่านมาทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้นก็แต่ออสเตรเลียอย่าลืมว่านั่นคือคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นยุคแรกของการบิน การขึ้นบินแต่ละครั้งคืออันตรายถึงชีวิต แต่กระนั้นเขาก็กระหายที่ได้อยู่บนนั้น ได้ควบคุมเจ้าเครื่องจักรขึ้นสู่ท้องฟ้า และมองลงมายังโลกเบื้องล่างยังมนุษย์ที่แสนเล็กกระจ้อยร่อย มนุษย์ผู้ต้องการเนื้อที่เพียงเล็กน้อยในการดำรงชีวิต แต่กลับคิดว่าตนเองต้องการพื้นที่มหาศาลและในห้องนักบินเล็ก ๆ แคบ ๆ นั่นเองที่พาเขาสู่โลกอันกว้างไกลของความคิด โลกที่เขาครุ่นคำนึงถึงความหมายของชีวิต อะไรทำให้ชีวิตมีคุณค่า และอะไรคือสิ่งที่มีค่าในชีวิต
Image
ภูเขาไฟที่เอลซัลวาดอร์ บ้านเกิดของกอนซูเอโล 
“บางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนักหรอก กับการทิ้งงานบางอย่างไว้นานเกินไป แต่ถ้าเกี่ยวกับต้นไทรละก็ มันจะเป็นหายนะเลยทีเดียว ผมรู้จักดาวดวงหนึ่งที่มีคน หลังยาวอาศัยอยู่ เขาไม่ได้กำจัดต้นไทรสามต้น”
หลังลาออกจากอาชีพนักบินใน ค.ศ. ๑๙๓๓ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มก่อตัวคุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ  ฮิตเลอร์ก่อตั้งพรรคนาซีและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี  ช่วงนี้แซ็งแต็กซูว์เปรีเริ่มสนใจประเด็นเกี่ยวกับสังคมและการเมือง เขาผันตัวไปเป็นนักข่าวอยู่ระยะหนึ่ง แล้วกลับไปบินเพื่อสร้างสถิติอีก และประสบอุบัติเหตุจนต้องนอนพักระยะยาว จึงใช้เวลาเขียน เที่ยวบินกลางคืน จนสำเร็จ  หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาได้รับเชิญไปปรากฏตัวที่อเมริกาหลายครั้ง และกลายเป็นที่รู้จักของชาวอเมริกัน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น เขากลับเข้ารับราชการทหารในกองบินลาดตระเวน และแอบออกบินเองเป็นระยะ ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาถูกกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์จับกุมตัวขณะบินผ่านเยอรมนีโดยไม่ได้รับอนุญาต  สถานทูตฝรั่งเศสในเยอรมนีเป็นผู้ช่วยเหลือให้ออกมาได้  ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ฝรั่งเศสและเกรตบริเตนประกาศสงครามกับเยอรมนี แต่เยอรมนีก็บุกเข้ายึดฝรั่งเศสได้สำเร็จในปีถัดมา อังกฤษจึงถอนกำลังทหารออกจากฝรั่งเศส

ระหว่างสงคราม แซ็งแต็กซูว์เปรีออกบินลาดตระเวนอีกหลายครั้งจนวาระสุดท้ายของชีวิต และเกิดหนังสือสำคัญขึ้นอีกหลายเล่มซึ่งมาจากห้วงคิดในระหว่างบินลาดตระเวน  เขาพร้อมจะปกป้องประเทศของตัวเอง แต่ไม่เห็นด้วยกับการทิ้งระเบิด เพราะทำให้ผู้ที่ไม่ได้ร่วมสู้รบด้วยต้องเสียชีวิตจำนวนมาก 

แซ็งแต็กซูว์เปรีเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาจะช่วยประเทศของเขาได้  เมื่อสำนักพิมพ์ในนิวยอร์กเชิญเขาไปอเมริกา เลอง แวร์ (Leon Werth) แนะนำว่าเขาควรจะใช้โอกาสนี้ชักชวนให้ชาวอเมริกันต่อสู้กับนาซี เพราะการต่อสู้ครั้งนี้เป็นหน้าที่ของมนุษยชาติทั้งมวล
Image
แซ็งแต็กซูว์เปรีเดินทางไปอเมริกาโดยทางเรือซึ่งมีผู้อพยพลี้ภัยร่วมเดินทางด้วยจำนวนมาก เขาต้องอยู่ร่วมห้องกับชายผู้หนึ่งซึ่งปรากฏว่าเป็นลูกชายของเรอนัวร์ ศิลปินเอกของโลก  ฌ็อง เรอนัวร์ (Jean Renoir) เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูด ทั้งคู่ไปถึงอเมริกาในวันสุดท้ายของ ค.ศ. ๑๙๔๐ พอดี  ในช่วงที่ไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส เขายังเคยไปพักที่บ้านในฮอลลีวูดของเรอนัวร์ด้วย

ชาวฝรั่งเศสที่อพยพมาอยู่ในอเมริกาก็มีความเห็นแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และแซ็งแต็กซูว์เปรีเองก็กลับถูกโจมตีและต่อต้านจากทุกฝ่าย เพราะเขาไม่เข้าร่วมกับฝ่ายไหนเลย  อิทธิพลของฮิตเลอร์และนาซียังคงขยายขอบเขตเข้าครอบคลุมโลก ในฐานะนักเขียน แซ็งแต็กซูว์เปรีครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเขาจะมีบทบาทช่วยอะไรได้บ้าง ในเมื่ิอการล็อบบีไม่เป็นผล และเขากลับกลายเป็นศัตรูของทุกฝ่ายไปเสียแล้ว 

ภาพของต้นไทรในเรื่อง เจ้าชายน้อย เป็นสื่อหนึ่งที่เขาแสดงเพื่อต่อต้านการขยายพันธุ์ของเผด็จการ เป็นเผ่าพันธุ์ที่ต้องเร่งกำจัดตั้งแต่ยังเป็นหน่ออ่อน เพราะเมื่อมันชอนไชไปทั่วโลกแล้ว ก็มีแต่จะแตกเป็นเสี่ยง ๆ เท่านั้น
“ภาษาเป็นบ่อเกิดของ
ความเข้าใจผิด”

ช่วงที่มาอยู่อเมริกานี้เองที่เขาเริ่มสนิทสนมกับครอบครัวนักบินผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกา ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) ผู้บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นคนแรก กับ แอนน์ มอร์โรว์ ลินด์เบิร์ก (Anne Morrow Lindbergh) ภรรยาผู้เป็นกวี นักเขียน และนักบินด้วยเช่นกัน  ชาร์ลส์มีความเห็นตรงข้ามกับแซ็งแต็กซูว์เปรีอย่างชัดเจน  แซ็งแต็กซูว์เปรีไม่พูดภาษาอังกฤษ และ แอนน์ มอร์โรว์ ก็พูดฝรั่งเศสได้  การสื่อสารด้วยภาษาเดียวกันอย่างสนิทใจทำให้เกิดความสนิทสนมเป็นพิเศษ และต่อมาก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตในความสัมพันธ์ของทั้งคู่

สมัยเรียนที่โรงเรียนประจำในสวิตเซอร์แลนด์ แซ็งแต็กซูว์เปรีเคยยืนยันที่จะไม่พูดภาษาเยอรมัน เมื่อถูกครูตำหนิด้วยภาษาเยอรมัน เขาจะตอบกลับด้วยภาษาฝรั่งเศส  สำนักพิมพ์ในอเมริกาอยากให้แซ็งแต็กซูว์เปรีเรียนพูดภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง และหว่านล้อมเขาอยู่บ่อยครั้ง แต่เขาอ้างว่าภาษาฝรั่งเศสเขาก็ยังเรียนรู้ไม่หมดเลย และเขาอยากพูดด้วยภาษาที่ถนัด มากกว่าถูกเข้าใจผิดในภาษาที่ไม่เชี่ยวชาญ
“ผู้ใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจอะไรเอาเสียเลย เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายมากสำหรับเด็ก ๆ ที่จะต้องคอยป้อนคำอธิบายแก่พวกเขาอยู่เสมอ ๆ”
ฟร็องซัว ดาเก (François d'Agay) หลานชายของแซ็งแต็กซูว์เปรี ให้สัมภาษณ์ไว้ในวัย ๙๔ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๙) ว่ายังจำช่วงเวลาวันหยุดแสนอบอุ่นที่บ้านแซ็ง-โมรีซได้ โดยเฉพาะวันที่น้าชายกลับมาที่บ้าน  แซ็งแต็กซูว์เปรีกลับมาไม่บ่อย แต่ทุกครั้งก็จะนำเอาบรรยากาศอันสนุกสนานกลับมาเสมอ เขาจะขับรถจากปารีสในตอนกลางคืนและมาถึงในรุ่งเช้า เข้ามาอย่างเร็วจนฝุ่นกระจายและไก่แถวนั้นหนีกันกระเจิง เขาเคยขับเครื่องบินสีขาวแดงของตัวเองมาวนรอบบ้านด้วย

น้าชายรู้วิธีเล่นและสื่อสารกับเด็ก ๆ พูดด้วยภาษาเดียวกับเด็ก และมองเห็นในสิ่งที่เด็กเห็น  เขาเข้าได้ดีกับเด็ก ๆ ทั้งหลาน ๆ ลูก ๆ ของเพื่อน หรือเด็กที่พบเจอในโอกาสต่าง ๆ  ฌ็อง-ปีแยร์ ดีซ็องเกรอแมล (Jean-Pierre Dizengremel) อายุ ๑๐ ขวบขณะพบแซ็งแต็กซูว์เปรีที่กรุงเอเธนส์  พ่อกับแม่ของเขาเชิญแซ็งแต็กซูว์เปรีและกอนซูเอโลมารับประทานอาหารที่บ้านหลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ฌ็อง-ปีแยร์จำไม่ได้ว่ามีการสนทนาอะไรกันบ้างบนโต๊ะอาหาร แต่ภาพที่ยังจำได้เสมอคือร่างอันสูงสง่าของแซ็งแต็กซูว์เปรี และภาพที่เขาแบ่งอาหารในจานให้แมว และเป่าฟองสบู่ให้มันแตกใส่หน้าสุนัขที่บ้าน
“แด่ เลอง แวร์”
เลอง แวร์ เป็นนักเขียนฝรั่งเศสเชื้อสายยิว อายุมากกว่าแซ็งแต็กซูว์เปรี ๒๒ ปี  ทั้งคู่รู้จักกันใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และกลายเป็นเพื่อนสนิทต่างวัย  แวร์รู้ข่าวการหายไปของแซ็งแต็กซูว์เปรีจากรายงานข่าวทางวิทยุ ตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าแซ็งแต็กซูว์เปรีอุทิศเรื่อง เจ้าชายน้อย ให้ตนเอง

แวร์ผู้นี้เองที่แนะนำให้แซ็งแต็กซูว์เปรีใช้ชื่อเสียงที่มีในนิวยอร์กโน้มน้าวและหว่านล้อมให้ชาวอเมริกันหันมาช่วยฝรั่งเศสต่อต้านนาซี  แม้จะไม่สำเร็จโดยตรง แต่ระหว่างพักระยะยาวที่นิวยอร์ก แซ็งแต็กซูว์เปรีก็สื่อสารความคิดเรื่องสงครามออกมาเป็นหนังสือหลายเล่ม ทั้ง Pilote de Guerre (นักบินยามสงคราม), Lettre à un Otage (จดหมายถึงตัวประกัน)และแน่นอน Le Petit Prince (เจ้าชายน้อย)
เครื่องบิน Lockheed P-38
เตรียมขึ้นบินในยามพระอาทิตย์ตก ซึ่งจะกลายเป็นเที่ยวบินสุดท้าย

“ผู้ชายคนนี้อาจถูกคนอื่น ๆ อย่างพระราชา คนหลงตัวเอง คนขี้เมา หรือนักธุรกิจ ดูถูกเหยียดหยาม แต่เขาเป็นคนเดียวที่ฉันเห็นว่าไม่ตลกเลย บางทีอาจเป็นเพราะเขาเป็นคนที่เห็นแก่คนอื่นมากกว่าตัวเอง”
สิ่งที่แซ็งแต็กซูว์เปรีเห็นว่ามีคุณค่าที่สุดก็คือภาระหน้าที่อันยังประโยชน์แก่ผู้อื่น เขาพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้งในหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งในนวนิยาย บทกวี จดหมาย และเมื่อไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ  

ในทัศนะของเจ้าชายน้อย ดวงดาวของคนจุดโคมจึงเป็นดวงดาวที่เขาอยากอยู่ด้วยมากที่สุด นักบินในเรื่อง ไปรษณีย์ใต้ ยอมฝ่าอันตรายถึงชีวิตเพียงเพราะมีคนจำนวนหนึ่งเฝ้ารอจดหมายที่อาจจะมาจากคู่รัก หรือข่าวคราวจากสนามรบถึงพ่อแม่ของทหารหนุ่ม  ความกล้าหาญ ความเสียสละ และภาระหน้าที่นี้เองที่ทำให้ชีวิตของนักบินมีคุณค่า

ที่สำคัญการทำหน้าที่นั้นต้องเกิดจากสำนึกหรือมโนธรรมที่ดีด้วย  การผจญภัยในความหมายของเขาจึงเป็นสิ่งนี้ ผจญภัยเสี่ยงอันตรายเพื่อบรรลุถึงหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง เพื่อยกระดับจิตใจตัวเองให้สูงขึ้น และการจะยกระดับจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นก็คือต้องกระทำหน้าที่ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น นี่เองที่ทำให้เขารักจะเป็นนักบินขนส่งไปรษณีย์มากกว่านักบินในกองทัพอากาศ เพราะสงครามไม่ใช่การผจญภัยและไม่ใช่ภาระหน้าที่ของมนุษย์ในความหมายของเขา
“ผมรู้ดีว่าเขากลับไปยังดวงดาวของเขาแล้ว เพราะในเช้าวันรุ่งขึ้น ผมไม่พบร่างของเขาเลย มันคงไม่หนักเกินกว่าที่เขาจะเอาไปด้วย”
เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ เจ้าชายน้อย ได้รับการตีพิมพ์ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ขณะที่ตัวผู้เขียนเองเดินทางออกจากอเมริกาเพื่อร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศสในแอลจีเรีย 

๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี พาเครื่องบินลาดตระเวน P-38 ขึ้นบิน อันที่จริงเครื่องบินชนิดนี้ถูกจำกัดอายุของนักบินไว้ไม่เกิน ๓๕ ปี ขณะนั้นแซ็งแต็กซูว์เปรี ๔๔ ปีแล้ว และบาดแผลจากอุบัติเหตุเมื่อหลายปีก่อนก็ยังคงทำให้ร่างกายของเขาไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม  เขาถูกห้ามขึ้นบิน ทำได้เพียงเป็นครูสอนนักบินเท่านั้น ด้วยประสบการณ์และความชำนาญของเขา  แต่เขาก็หาทาง หาช่องว่าง หาเหตุผล จนได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินจนได้ 
Image
ประกาศพิธีรำลึกหลังการหายสาบสูญไประหว่างปฏิบัติหน้าที่ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี พิธีจัดขึ้นวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ที่โบสถ์ Saint Vincent de Paul 
วันนั้นเองเครื่องบินลาดตระเวน P-38 ก็พา อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี หายสาบสูญขณะมุ่งหน้าไปยังตอนใต้ของฝรั่งเศส  ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  เป็นเวลากว่า ๕๐ ปีที่การหายสาบสูญของเขากลายเป็นปริศนา 

จนกระทั่งเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๘ ฌ็อง-โกลด บียองโก (Jean-Claude Bianco)  ชาวประมงบนเกาะรีอูว์ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตอนใต้ของเมืองมาร์แซย์ พบสร้อยข้อมือติดขึ้นมาขณะหาปลา เป็นสร้อยข้อมือเงินสลักชื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี กับกอนซูเอโล รวมทั้งชื่อและที่อยู่สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือให้เขา  ที่สร้อยนั้นยังมีเศษผ้าของเสื้อนักบินติดอยู่ด้วย แต่ยังไม่มีใครพบชิ้นส่วนร่างของเขาและของเครื่องบิน 

สองปีต่อมา ลุก ว็องแรล (Luc Vanrell) นักประดาน้ำ พบชิ้นส่วนของเครื่องบินจมอยู่ก้นทะเลในบริเวณเดียวกับที่พบสร้อยข้อมือ และในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ก็พบซากเครื่องบินทั้งหมดที่เหลืออยู่  ปีถัดมา หลังจากพิสูจน์จนแน่ชัดแล้ว กองทัพอากาศฝรั่งเศสก็ประกาศว่า นี่คือเครื่องบินลำที่ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ขับขึ้นลาดตระเวน
ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔

ลีโน ฟอน การ์ทเซิน (Lino von Gartzen) นักประวัติศาสตร์ผู้สืบค้นเรื่องราวของเครื่องบินที่ถูกยิงตกระหว่างสงคราม พบว่าในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔  ฮอร์สท์ ริพเพิร์ท (Horst Rippert) นักบินชาวเยอรมัน ออกบินลาดตระเวนในบริเวณเดียวกับแซ็งแต็กซูว์เปรี  เขาเล่าว่าเขาเห็นเครื่องบินฝรั่งเศสลำหนึ่งรุกล้ำเข้ามาเหนือน่านฟ้าฝรั่งเศสในเขตยึดครองของเยอรมนี
Image
สร้อยข้อมือเงินสลักชื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ที่ชาวประมงเก็บได้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
Image
กอนซูเอโลในพิธีรำลึกถึงแซ็งแต็กซูว์เปรี ร่วมกับนายทหร ระดับผู้ใหญ่ของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๔๘
“เขาบินอยู่ใต้ผม ผมเห็นตำแหน่งเขาแล้ว จึงย้ายไปอยู่ด้านหลังและยิงเขาตกลงไป...ผมมองไม่เห็นนักบิน และแม้จะเห็น ผมก็ไม่มีทางรู้ว่านั่นคือแซ็งแต็กซูว์เปรี  ถ้ารู้ว่านั่นคือแซ็งแต็กซูว์เปรี ผมไม่มีวันยิงเขาหรอก

“ผมหวังมาตลอดว่านั่นจะไม่ใช่เขา”

แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่านั่นใช่เขาหรือไม่ ไม่มีใครพบชิ้นส่วนร่างกายของนักบินผู้นั้นเลย 

เขาถูกยิง หรือเป็นเพียงอุบัติเหตุ หรือเป็นความตั้งใจ

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าบริเวณนั้นห่างจากเส้นทางบินของเขาพอสมควร เป็นไปได้หรือไม่ว่าเขาไม่ได้ถูกยิงตก แต่เขาตั้งใจที่จะจากไป  มีลางบอกเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าแซ็งแต็กซูว์เปรีอาจตั้งใจฆ่าตัวตาย  ในช่วงนั้นเขาพูดถึงความตายบ่อยครั้ง ทั้งในจดหมายและในการบอกลาเพื่อน ๆ  

เขาลงท้ายบ่อย ๆ ว่า ถ้าเขาจากไปก็ไม่เสียใจเลย หรือไม่ก็ เขาไม่สนความตายหรอก  เพื่อนบางคนของเขาตั้งข้อสังเกตว่าช่วงนั้นเขาดูเศร้า ดูไม่เหมือนคนที่อยากจะมีชีวิตอยู่ และเตรียมการหลายอย่างคล้ายพร้อมจะจากไป

อาจเป็นไปได้ว่าเขาตั้งใจ และไม่ใช่เพราะความเศร้าหรือโดดเดี่ยวในชีวิต แต่เป็นเพราะเขาค้นพบแล้วว่ามนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร  เขาได้สื่อสารถึงสิ่งที่คิดและเชื่อไว้ในหนังสือทุกเล่มที่พิมพ์ออกมา  ท้ายที่สุดเขาก็พบว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดคือสื่อไปถึงเด็ก ๆ และผู้ที่ยังมีความเป็นเด็กอยู่ข้างใน เพราะเด็ก ๆ เท่านั้นที่จะเข้าใจ และเมื่อ เจ้าชายน้อย ได้รับการตีพิมพ์

นั่นก็หมายความว่า ภารกิจของ
ชีวิตเขาสำเร็จแล้ว  
ผลงานที่ตีพิมพ์
ในช่วงที่ยังมีชีวิต

Image
๑๙๒๖
“L’Aviateur” (นักบิน)
เรื่องสั้น ตีพิมพ์ในนิตยสาร Le Navire d’Argent และหลังจากนั้นถูกนำมาใช้เป็นบทแรกในรวมกวีนิพนธ์ของเขา Un Sens a` la Vie (รู้สึกแห่งชีวิต) ซึ่งพิมพ์หลังจากที่เขาหายสาบสูญ
๑๙๒๙
Courrier Sud (ไปรษณีย์ใต้)
เรื่องราวความกล้าหาญและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของนักบินผู้บุกเบิกเส้นทางการบิน 
๑๙๓๑
Vol de Nuit (เที่ยวบินกลางคืน)
นิยายซึ่งอิงจากประสบการณ์การเป็นนักบินขนส่งไปรษณีย์ และบุกเบิกเส้นทางบินในอเมริกาใต้  ตัวละครมาจากบุคคลที่แซ็งแต็กซูว์เปรีพบขณะทำงานที่นั่น 
๑๙๓๘
The Wild Garden
พิมพ์แจกเพื่อน ๆ เนื่องในวันปีใหม่ เพียง ๑,๐๐๐ เล่ม และส่วนหนึ่งถูกนำมาพิมพ์ซ้ำใน Terre des Hommes (แผ่นดินของเรา)
๑๙๓๙
Terre des Hommes 
(แผ่นดินของเรา)

เรื่องราวมิตรภาพ ความรัก ความกล้าหาญ ของนักบินในยุคบุกเบิก เป็นเล่มที่ให้ภาพเด่นชัดถึงความคิดของแซ็งแต็กซูว์เปรีเกี่ยวกับชีวิตและความหมายได้รับยกย่องว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดของแซ็งแต็กซูว์เปรีด้วย
๑๙๔๒
Pilote de Guerre
(นักบินยามสงคราม)

เล่าถึงช่วงเป็นนักบินในกองทัพอากาศฝรั่งเศส และบินเดี่ยวไปยังอารัส ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส
๑๙๔๓
Le Petit Prince (เจ้าชายน้อย) 
๑๙๔๓
Lettre a` un Otage
(จดหมายถึงตัวประกัน)

เป็นอีกเล่มหนึ่งที่อุทิศให้ เลอง แวร์ เล่าถึงช่วงที่กำลังจะลี้ภัยไปอยู่อเมริกา และไปอยู่โปรตุเกสระยะหนึ่ง ท่ามกลางสงคราม ความทุกข์เศร้า และความสิ้นหวังของชีวิตผู้คน ซึ่งต่างก็เหมือนตกเป็นตัวประกันของสงคราม
หลังจากเขาหายสาบสูญ มีสำนักพิมพ์นำบันทึก บทความ งานเขียนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ หรือบางเรื่องก็เป็นแค่ร่างแรกตีพิมพ์ออกมาอีกประมาณ ๑๐ เล่ม  ในจำนวนนี้มีเล่มหนึ่งซึ่งพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ชื่อ Citadelle (ป้อมปราการ) เป็นงานที่ยังเขียนไม่เสร็จ เนื้อหาพูดถึงความสำคัญของจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ซึ่งเขาได้ครุ่นคิดระหว่างใช้ชีวิตท่ามกลางทะเลทราย และอีกเล่มเป็นจดหมายที่เขาเขียนถึงคนหนุ่มสาว